ก่อนหน้านี้ได้เกริ่นถึงเรื่องที่พันธมิตรได้บุกเข้าทำเนียบเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2551 ไปแล้ว ซึ่งเป็นเหตุให้ คตส.ไม่ได้มีการประชุมนัดพิเศษขึ้น
มาวันนี้ได้อ่านข่าวพบชิ้นหนึ่ง เลยขอก๊อปมาให้อ่านด้วยกัน
ปิดฉากคตส.1ปี9เดือน"ระทึกศาลรธน.ปลดจิ๊กซอว์คอรัปชั่นเชิงนโยบาย" http://www.komchadluek.net/2008/06/23/x_pol_k001_208285.php?news_id=208285คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งเข้ามารับภารกิจตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 30 เป็นระยะเวลา 1 ปี 9 เดือน กำลังจะสิ้นสุดวาระการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 30 มิถุนายนนี้
ในโอกาสนี้ คตส.ได้ออกหนังสือที่ระลึกเพื่อเผยแพร่ผลงานการปฏิบัติหน้าที่ ขั้นตอนการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่น พร้อมทั้งปัญหาอุปสรรคในการทำงาน การดำเนินการแก้ไข เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา วิเคราะห์วิจัย ปรับปรุงระบบการตรวจสอบการทุจริต คอรัปชั่น ให้ประชาชนได้รับทราบด้วย
ผลการตรวจสอบการกระทำความผิดของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พบว่าทุจริตคอรัปชั่น จำนวน 13 โครงการ รวมทั้งสิ้น 21 กรณี มีมูลค่าความเสียหายประมาณ 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งมีการสั่งอายัดเงินในสถาบันการเงินต่างๆ ทั้งสิ้น 6.5 หมื่นล้านบาทแล้ว
คดีที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการ ได้แก่ 1.การตรวจสอบการก่อสร้างและจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์บริษัทห้องปฏิบัติกลาง ตรวจสอบผลิตภัณฑ์และอาหาร จำกัด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยพบว่าบริษัทเอกชนที่ฮั้วประมูลได้ประโยชน์กว่า 300 ล้านบาท 2.คดีการตรวจสอบกรณีทุจริตเกี่ยวกับการจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร ทำรัฐเสียหายกว่า 1,900 ล้านบาท อยู่ระหว่างการไต่สวน และ 3.คดีตรวจสอบกรณีร่ำรวยผิดปกติ กรณีซื้อสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของ คตส. ได้แก่ 1.การตรวจสอบโครงการก่อสร้างระบบจ่ายไฟฟ้า และเครือข่ายท่อร้อยสายของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีมติฟ้อง อดีต รมว.คมนาคม อดีตปลัดคมนาคม และกลุ่มบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายท่อ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท ก่อนที่จะส่งให้อัยการสูงสุด (อสส.) ฟ้องภายในสัปดาห์นี้
2.คดีกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและพวก กระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการระบบขนส่งทางรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ทำรัฐเสียหาย 1,200 ล้านบาท
3.โครงการบ้านเอื้ออาทร 3 คดี คือ กรณีกล่าวหานายวัฒนา เมืองสุข และพวก ทุจริตในโครงการร่มเกล้า-บางพลี กรณีกล่าวหานางชวนพิศ ฉายเหมือนวงศ์ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กับพวก ทุจริตในโครงการเมืองใหม่บางพลี และโครงการร่มเกล้า กรณีเจ้าหน้าที่การเคหะแห่งชาติ กล่าวหานายพิทยา เจริญวรรณ กับพวก ทุจริตในโครงการอรัญประเทศ
4.กล่าวหานายเจตวัฒน์ วิชิต กับพวก ทุจริตการจัดซื้อในโครงการ กบินทร์บุรี
5.การตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างเอกชน โดยการเคหะแห่งชาติ โครงการบ้านเอื้ออาทร คลอง 9 รวมทั้งหมด ทำรัฐเสียหายกว่า 1,400 ล้านบาท
คดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการสูงสุด ได้แก่ 1.โครงการจัดซื้อจัดจ้างปรับเปลี่ยนสายพานลำเลียงกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสาร และเครื่องตรวจวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 ในสนามบินสุวรรณภูมิ โดยส่งฟ้องนักการเมือง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจ นิติบุคคล และนักธุรกิจ รวม 26 ราย พร้อมทั้งให้ผู้กระทำผิดร่วมกันคืนทรัพย์สิน ความเสียหายประมาณ 6,937 ล้านบาท โดยส่งให้ อสส. เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2551
2.การอนุมัติเงินกู้ของผู้บริหารธนาคารกรุงไทยให้แก่บริษัทในเครือกฤษดามหานคร โดยปล่อยเงินกู้เกินวงเงิน 3,500 ล้านบาท โดยผู้ถูกกล่าวหาเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี กับพวก รวม 31 ราย
3.คดีพ.ต.ท.ทักษิณ บริหารราชการแผ่นดินเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของตนเองและพวกพ้อง รวม 4 กรณี
ได้แก่ 1.การออกคำสั่งแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต ทำให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เสียหาย 30,667 ล้านบาท 2.การแก้ไขสัญญาลดสัดส่วนแบ่งรายได้ค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า (พรีเพด) เอื้อบริษัทเอกชน ทำ ทศท.สูญรายได้ 70,872.03 ล้านบาท
3.การแก้ไขสัญญาข้อตกลงปรับเกณฑ์การตัดส่วนแบ่งรายได้ให้ทีโอที เพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัทเอกชน อนุญาตให้บริษัท เอไอเอส ใช้เครือข่ายร่วม แต่ให้หักค่าใช้จ่ายจากรายรับ เป็นการกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยให้เอกชนเข้าร่วมงาน พ.ศ. 2535 ทำให้ ทศท.และ กสท.สูญรายได้กว่า 18,970,579,711 บาท ตลอดอายุสัมปทาน แต่เอไอเอสได้ประโยชน์กว่า 18,970,579,711 บาท เป็นเหตุให้หุ้นชินคอร์ป ที่อดีตนายกรัฐมนตรีถือหุ้นระหว่างการดำรงตำแหน่ง มีมูลค่าสูงขึ้น ก่อนที่จะมีการขายหุ้นดังกล่าว
และ 4.การละเว้น อนุมัติ ส่งเสริม สนับสนุนธุรกิจดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศโดยมิชอบ เพื่อเอื้อประโยชน์บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับดาวเทียมไอพีสตาร์ พบหลักฐานเชื่อได้ว่าอดีตนายกรัฐมนตรียังคงถือหุ้นบริษัทชินฯ และได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร จากการขายหุ้นให้กลุ่มทุนเทมาเส็ก รวม 6,722,880,932.05 บาท ตั้งแต่ปี 2545-2548 รวมทั้งเงินปันผลจากหุ้นดังกล่าว 76,621,603,061.05 บาท จึงเห็นควรให้ศาลสั่งทรัพย์สินจำนวน 76,621,603,061.05 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ปปช.พ.ศ. 2542 มาตรา 80
4.คดีกล่าวหานายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง กับพวกกระทำผิดในการตอบข้อหาหรือกรณีจัดเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป
คดีอยู่ระหว่างการสรุปสำนวนคดีฟ้องเพื่อฟ้องคดีต่อศาลเอง ได้แก่ 1.คดีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ให้เงินกู้แก่รัฐบาลพม่า ทำให้เสียหาย 670,436,201.25 บาท กระทรวงการคลังได้รับความเสียหาย 140,349,000 บาท ขณะที่บริษัทครอบครัวอดีตนายกรัฐมนตรีและพวกพ้องได้ประโยชน์ 593,492,815.96 บาท โดยสั่งฟ้องอดีตนายกรัฐมนตรี
2.โครงการจัดซื้อต้นกล้ายางพาราและปลูกยาง 90 ล้านต้น ของวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำรัฐเสียหาย 1,440 ล้านบาท ฟ้องผู้กระทำความผิด 44 ราย และให้ชดใช้เงินคืน 1,109.69 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ได้แก่ 1.กรณีหลีกเลี่ยงภาษีของภรรยาอดีตนายกรัฐมนตรี และผู้ใกล้ชิด 3 คน ตามคดีหมายเลขดำที่ อ.1149/2550 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2550 2.กรณีซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษกของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยอดีตนายกรัฐมนตรีกับภริยา ตกเป็นจำเลย
3. คดีหวยบนดินหรือเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยฟ้องนักการเมือง 32 คน เจ้าหน้าที่กองสลาก 16 คน ซึ่งอยู่ในขั้นตอนรอการพิจารณารับคดีของศาลฎีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อฟังผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2550 หรือไม่
คดีที่ส่งเรื่องให้กรมสรรพากรดำเนินการ ได้แก่ 1.กรณีผู้ใกล้ชิดอดีตนายกรัฐมนตรี รับหุ้นจากภริยาอดีตนายกรัฐมนตรี โดยไม่ชำระภาษี 546 ล้านบาท
2.กรณีบุตร ธิดา ของอดีตนายกรัฐมนตรี ซื้อหุ้นบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) จากบริษัท แอมเพิลริช อินเวสต์เมนท์ จำกัด คนละ 164.6 ล้านหุ้น รวม 329.2 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1 บาท ก่อนจะขายให้กลุ่มทุนเทมาเส็กในราคา 49.25 บาท ซึ่งต้องเสียภาษีจำนวนเงิน 11,809,294,773.42 บาท
3.กรณีบริษัทแอมเพิลริช อินเวสต์เมนท์ จำกัด ประกอบกิจการในประเทศไทย ตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร รอบบัญชีปี 2546-2549 รวม 4 ปี แต่มิได้ยื่นแบบแสดงเสียภาษี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 15,857,829,505.17 บาท
นอกจากนี้ บริษัทต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและนำส่งกรมสรรพากร กรณีขายหุ้นชินคอร์ป ให้แก่บุตร ธิดา ของอดีตนายกรัฐมนตรี คิดเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากกรณีซื้อขายและโอนหุ้นบริษัทชินฯ ทั้งหมดเป็นเงิน 33,279,413,075.32 บาท แต่กรมสรรพากร ยังไม่ได้ดำเนินการไต่สวน
คตส.ได้แสดงความเป็นห่วงกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 เรื่องการแต่งตั้ง คตส.กับ พ.ร.บ.ต่ออายุการทำงานของ ซึ่งจะส่งผลให้ พ.ต.ท.ทักษิณชนะคดีโดยไม่ต้องออกแรงสู้ และเงิน 7.3 หมื่นล้านบาท ที่ถูก คตส.อายัดย่อมจะถูกถ่ายโอนกลับคืนมา รวมทั้งคดีอื่นๆ อาทิ ทุจริตซื้อรถ-เรือ ดับเพลิงของ กทม.
ขณะที่ คตส.มุ่งมั่นรักษาความเป็นธรรมของบ้านเมือง จะต้องถูกฟ้องทั้งทางแพ่งและอาญา 16 คดี รวมเรียกค่าเสียหายกว่า 1 แสนล้านบาท