"ควันหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ"
โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ มติชนรายสัปดาห์ วันที่ 08 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 25 ฉบับที่ 1299
ไม่ถึงสัปดาห์ คนไทยก็คงลืมการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมาไปแล้ว นอกจากคนไทยเป็นคนลืมเรื่องที่สำคัญง่ายๆ แล้ว เหตุผลที่ลืมส่วนหนึ่งมาจากเล่ห์กลทางการเมืองที่รัฐบาลเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ
รัฐบาลของท่านนายกฯ ทักษิณสร้างปรากฏการณ์ทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหลายอย่างในการเมืองไทย เป็นรัฐบาลที่ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายติดต่อกันถึง 2 ครั้ง เป็นรัฐบาลพลเรือนที่อยู่ครบเทอม 4 ปีเป็นรัฐบาลแรกและพรรคไทยรักไทยได้วางแผนที่จะเป็นรัฐบาลติดต่อกันไปอย่างน้อยอีก 20 ปี นอกจากนั้นบุคลิกผู้นำที่เด็ดขาดของท่านนายกฯ ทักษิณแล้ว รัฐบาลของท่านยังมีฐานทางนโยบายที่ดึงดูดความสนใจของคนทั้งประเทศจนหลายคนช่วยกันขนาดนามนโยบายของท่านว่า ประชานิยม ผลงานทางการเมืองที่สร้างมาอย่างยากลำบากดังที่กล่าวมานี้มีหลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า รัฐบาลของท่านนายกฯ ทักษิณเป็นรัฐบาลพลเรือนที่มั่นคงที่สุดหลังยุคทหาร
ถ้าดูในแง่หนึ่งก็คงใช่ ฐานที่มั่นในรัฐสภาบอกกับเราเช่นนั้น ไม่มีรัฐบาลไหนที่มีเสียงสนับสนุนในรัฐสภามากถึง 377 เสียงขนาดนี้มาก่อน ส่วนฝ่ายค้านนอกจากมีเสียงข้างน้อยแล้ว พรรคฝ่ายค้านก็อยู่ในสภาพย่ำแย่ พรรคประชาธิปัตย์กำลังปรับเปลี่ยนทั้งผู้นำใหม่ ภาพลักษณ์ใหม่และนโยบายใหม่ พรรคชาติไทยเองไม่สามารถละทิ้งพรรคการเมืองของ คุณบรรหาร ศิลปอาชา ได้ มิหนำซ้ำ พรรคชาติไทยอาจจะเข้าร่วมรัฐบาลได้ทุกเมื่อ ถ้าสถานการณ์ทางการเมืองเอื้ออำนวยและผลประโยชน์ลงตัว
ถ้าดูพลังทางการเมืองต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อการเมืองไทย เช่น พลังของกองทัพ อาจจะกล่าวได้ว่า กองทัพอยู่ในช่วงของการขาดเอกภาพและขาดผู้นำที่มีทั้งอำนาจและบารมีมากพอที่จะนำกองทัพได้เหมือนสมัยก่อน ในเวลาเดียวกัน รัฐบาลท่านนายกฯทักษิณแสนจะฉลาด ท่านได้สร้างเครือข่ายผู้นำใหม่ในกองทัพอย่างสลับซับซ้อนและเป็นผลดีต่อทั้งตัวท่านและรัฐบาล ส่วนพลังการเมืองอื่นๆ และกลุ่มเคลื่อนไหวอื่นๆ นับว่าขาดพลังต่อรอง ขาดการจัดตั้งอันเป็นลักษณะทั่วไปของพลังการเมืองไทยหลังยุคทหารที่เกิดขึ้นเช่นนี้มานานแล้ว
อย่างไรก็ตาม การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีคมนาคม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ก็มีความสำคัญอยู่ในตัวเอง เพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่เตือนรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคไทยรักไทยหลายอย่างดังต่อไปนี้ความมั่นคงทางการเมือง
การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมาได้บอกแก่สังคมไทยว่า รัฐบาลที่มีเสียงข้างมากแต่กลับเป็นรัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพทางการเมือง ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองเกิดจากข้างในของพรรคไทยรักไทยเองเป็นด้านหลัก หลังการเลือกตั้งได้ไม่นาน แกนนำของพรรคไทยรักไทยได้ประกาศถึงแผนการในอนาคตคือการสร้างพรรคไทยรักไทยให้เป็นสถาบันทางการเมือง (Institutionalization) คำประกาศนี้ช่างสวยหรูจริงแต่ไม่ได้ยืนอยู่บนความเป็นจริงทางการเมืองเลย
พรรคไทยรักไทยได้กวาดต้อน ส.ส.จากพรรคต่างๆ ด้วยหลายวิธีการดังที่รู้กันอยู่ แล้วพรรคไทยรักไทยก็ทำศัลยกรรมตกแต่ง ส.ส.เหล่านั้นด้วยการเปลี่ยนสีเสื้อ ใส่สูทโก้หรูภายใต้โลโก้พรรคไทยรักไทย แน่นอน แกนนำของพรรคไทยรักไทยได้ลงทุนด้วยเงินจำนวนไม่น้อยตกแต่งที่ทำการพรรคใหม่ จัดห้องใหม่ จัดเครื่องมือและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ นานา เช่นเครื่องคอมพิวเตอร์
ประเด็นก็คือว่า แกนนำของพรรคไทยรักไทยเชื่อหรือว่านี้คือ กระบวนการสร้างความเป็นสถาบันทางการเมืองให้กับพรรคไทยรักไทย
สูท เครื่องคอมพิวเตอร์และที่ทำการพรรคเป็นเครื่องปลอบใจหรือการเรียกเงินว่าจ้างจากแกนนำพรรคกันแน่ ?
พฤติกรรมของ สส.พรรคไทยรักไทยไม่เคยเปลี่ยนไปจากเดิมเลย ตอนนี้ ส.ส.ของพรรคเพียงซ้ายหันขวาหันตามอำนาจและเงินบริจาคของแกนนำของพรรคไทยรักไทยเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เอง การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ จึงเป็นปาหี่ครั้งมโหฬาร แกนนำของพรรคปวดหัวกับแรงต่อต้านของ ส.ส.กลุ่มวังน้ำเย็นและต้องคอยระมัดระวังพฤติกรรมของ ส.ส.ทุกคนและทุกฝีก้าว
นี่เป็นเพียง 5 เดือนแรก แกนนำของพรรคไทยรักไทยจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะไม่มีครั้งต่อๆ ไปและไม่มีการต่อรองจากกลุ่มอื่นๆ.................................................................................................................................................................................
ปัญหาที่รออยู่ข้างหน้า
ผมกำลังไม่แน่ใจว่า รัฐบาลที่มีเสียงข้างมากประเมินอารมณ์ความรู้สึกของสังคมไทยต่ำเกินไปหรือเปล่า เพราะหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาลไม่ได้เตรียมตัวแก้ปัญหาต่างๆ อะไรเลย นอกจากการเปลี่ยนหรือสลับตำแหน่งรัฐมนตรี ผมกำลังมีความรู้สึกแปลกๆ ว่า รัฐบาลทักษิณ 2 บริบททางการเมืองและเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากกว่าที่ใครคาดคิด
ตอนนี้ ประชาชนกำลังตื่นจากความฝัน เราเริ่มจะได้ยินกันหนาหูมากขึ้นว่า เศรษฐกิจไทยไม่ได้ดีอย่างที่รัฐบาลโม้เอาไว้มาก ปัญหารากฐานหลายอย่างเริ่มปรากฏให้เราเห็นอีกครั้งหนึ่ง เช่นปัญหาหนี้สินครัวเรือน ปัญหาการว่างงานและแรงกดดันทางสังคมก็จะติดตามมา พร้อมกันนั้น รัฐบาลได้ประกาศนโยบายการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นไปมาก แต่ทำไมการทุจริตคอร์รัปชั่นกลับยิ่งปรากฏให้เห็นเป็นจำนวนมากขึ้นและมากขึ้นในยุคของรัฐบาลทักษิณ 2
ในเวลาเดียวกัน ถ้าความจำของคนไทยสั้น คนไทยเป็นคนลืมง่าย มีใครจำได้บ้างไหมว่า ท่านผู้นำของเราสัญญาอะไรกับเราบ้าง เรื่องหนึ่งที่พอจำกันได้คือ
อีก 3 ปีจะไม่มีคนจนในประเทศไทยไง
http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2005q3/article2005july08p4.htm 4 เดือนแรก 5 เดือนแรก แตกต่างกันมากน้อยอย่างไร... 
ถ้ารัฐบาลทำความเสียหายตั้งแต่วันแรกเข้าทำงานบริหารประเทศ จะต้องปล่อยเวลาไปถึง 3-4 ปีไหม
ปล. ลิ่วล้อ'บัตรเติมเงิน' เอาสะดวก ไม่ใส่ใจค้นคว้า คัดจาก'ใบบอก' ก็พิมพ์ใส่เครื่องคอมพิวเตอร์.....ฮ่า ฮ่า ฮ่า ฮ่า