หุ้น"กฟผ."แท้ง มติศาลปกครอง
ชัยชนะ - แกนนำมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคร่วมยินดีภายหลังศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้เพิกถอนการกระจายหุ้นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) ในตลาดหลักทรัพย์ โดยเห็นว่าการพระราชกฤษฎีกาการแปรรูป กฟผ.ขัดต่อกฎหมายที่ศาลปกครอง ถนนสาทรใต้ เมื่อบ่ายวันที่ 23 มีนาคม
ศาลปกครองสูงสุด พิพากษาเพิกถอน 2 พระราชกฤษฎีกาแปรรูป"กฟผ." ระบุปมขัดข้อกฎหมาย แต่งตั้ง"โอฬาร ไชยประวัติ" กรรมการบริษัทชินคอร์ป ไม่เป็นกลาง ส่วน"ปริญญา นุตาลัย"ถือเป็นข้าราชการการเมือง "ทักษิณ"ยอมรับมึน โบ้ยให้ไปถาม"วิเศษ" จำลอง-กลุ่มพันธมิตร รุมถามหาความรับผิดชอบของรัฐบาล กระทรวงพลังงานเตรียมคืนเงินหุ้นพร้อมดอกเบี้ยให้พนักงาน กฟผ.
เพิกถอน2พ.ร.ฎ.แปรรูป"กฟผ."
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 23 มีนาคม ที่ศาลปกครองสูงสุด นายจรัญ หัตถกรรม ตุลาการหัวหน้าศาลปกครองสูงสุด พร้อมองค์คณะได้นั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.5/2549 เป็นคดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับพวกรวม 11 คน ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรีกับพวก 5 คน ต่อศาลปกครองสูงสุดว่าการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดอำนาจสิทธิและประโยชน์ของบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2548 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2548 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีกลุ่มเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคพร้อมกับเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำโดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ร่วมฟังคำพิจารณาคดี
นายจรัญอ่านคำพิพากษาว่า ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับ ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2548 ซึ่งเป็นวันที่ใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เนื่องจากการออกพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ระบอบเหรี้ยแม้ว คืนชีพ เจ๊มิ่ง สู้ต่อไป
http://manager.co.th/Business/ViewNews.aspx?NewsID=9510000071237ชี้คุณสมบัติ"โอฬาร"ขัดกม.
ผู้สื่อข่าวรายงานในคำพิพากษาวินิจฉัยในประเด็นนายโอฬาร ไชยประวัติ ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท พบว่านายโอฬารมีคุณสมบัติต้องห้ามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ที่ห้ามผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับกิจการของ กฟผ.เข้ามาเป็นกรรมการ โดยนายโอฬารเป็นกรรมการในบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นหลักในบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับการสื่อสารและโทรคมนาคม
ขณะที่ กฟผ.เองมีระบบรับส่งข้อมูลด้วยใยแก้วนำแสง และมีการจัดตั้งบริษัท กฟผ.โทรคมนาคม เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมและการสื่อสารทุกชนิด จึงถือว่าบริษัทชินคอร์ปจึงมีประโยชน์ได้เสียกับ กฟผ. นอกจากนั้นนายโอฬารยังเป็นกรรมการในบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถือว่านายโอฬารเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ในคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท อันเป็นการขัดต่อหลักความเป็นกลาง คำสั่งแต่งตั้งนายโอฬารเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทจึงขัดต่อกฎหมาย
วินิจฉัย"ปริญญา"ขรก.การเมือง
ส่วนการแต่งตั้งนายปริญญา นุตาลัย เป็นประธานกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนถือว่ามีลักษณะต้องห้ามเช่นกัน เนื่องจากนายปริญญาดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในทางกฎหมายถือว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงมีลักษณะต้องห้ามเป็นกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตามระเบียบของคณะกรรมการทุนรัฐวิสาหกิจว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2543
บทบัญญัติพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจสิทธิและประโยชน์ของบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) ไม่มีบทบัญญัติใดที่จำกัดอำนาจการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นอำนาจมหาชนที่เป็นอำนาจเฉพาะของรัฐ แต่ กฟผ.ยังมีอำนาจในการกำหนดเขตเดินสายส่งไฟฟ้าหรือสายจำหน่ายไฟฟ้าไปใต้ เหนือ กลาง หรือภาคพื้นดินของบุคคลใด โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกิจการผลิตไฟฟ้า
ด้วยเหตุผลข้างต้น ศาลปกครองสูงสุดจึงเห็นว่าในขั้นตอนที่เป็นสาระสำคัญในการเปลี่ยนทุนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นหุ้นของบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะการกระทำของคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ถือว่าได้เสียไปทั้งหมด หรือไม่มีผลตามกฎหมาย ย่อมมีผลให้การดำเนินการต่อมา รวมทั้งมติของคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติเปลี่ยนทุนของ กฟผ.เป็นหุ้นและจัดตั้งบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) รวมทั้งการออกพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับเสียไปด้วย ศาลจึงมีคำพิพากษาเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่ศาลอ่านคำพิพากษากลุ่มเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคตะโกนแสดงความดีใจเป็นระยะ หลังจากศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น ร้องตะโกนด้วยความดีใจ บางคนถึงกับร้องไห้
"จำลอง"ตอกย้ำรัฐบาลล้มเหลว
ทางด้าน พล.ต.จำลองให้สัมภาษณ์ว่า คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดถือเป็นการตอกย้ำถึงความพ่ายแพ้ของรัฐบาลอย่างชัดเจน โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีที่พยายามจะนำ กฟผ.เข้าตลาดหลักทรัพย์ให้ได้ทั้งที่กระบวนการแปรรูปมีความไม่ชอบมาพากลหลายประการ โดยเฉพาะผลประโยชน์ทับซ้อนของตระกูลชินวัตรกับการแปรรูปครั้งนี้ หากเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในต่างประเทศ นายกฯก็ต้องลาออกสถานเดียว ครั้งนี้นายกฯทักษิณยังไม่ยอมลาออก ทำตัวเป็นซุปเปอร์หนาในวันที่ 25 มีนาคมนี้คงต้องขอความร่วมมือจากประชาชนให้เดินทางมาชุมนุมกันให้มืดฟ้ามัวดินเพื่อร่วมกันขับไล่
นายปริญญา นุตาลัย อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีเป็นแนวคิดของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในคู่มือกำหนดนิยามของผู้ช่วยรัฐมนตรีชัดเจนว่า ตำแหน่งนี้ไม่ใช่ข้าราชการการเมือง ไม่ใช่ข้าราชการประจำ แต่มีฐานะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการเมือง ขอยืนยันว่าไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ ทั้งสิ้น
"ทักษิณ"มึนโบ้ยให้ไปถาม"วิเศษ"
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังที่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่าต้องดูคำพิพากษา ส่วนไหนที่ศาลและผู้ร้องไม่สบายใจ และศาลเห็นด้วย อะไรที่เป็นความไม่พอใจของผู้บริโภค อะไรที่ยังไม่เข้าใจ หรือทั้งไม่เข้าใจและไม่พอใจก็ต้องทำให้เกิดความเข้าใจกันก่อน เมื่อเข้าใจแล้วและพอใจก็ทำ และเมื่อเข้าใจแล้วและไม่พอใจก็ไม่ทำก็แค่นั้นเอง เพราะรัฐบาลนี้มีหน้าที่ทำงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ถ้าประชาชนไม่สบายใจ ไม่เห็นด้วยก็ไม่ทำ
ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องนี้ถือเป็นการทำผิดขั้นตอนตามกฎหมายหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า "ก็ต้องไปดู ผมวิจารณ์อะไรไม่ได้ เป็นหน้าที่ของกระทรวงพลังงานต้องไปดูในรายละเอียด แต่เรื่องนี้ไม่กระทบต่อการแปรรูปที่ผ่านมา เพราะคนละเรื่องกัน อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนรายละเอียดต่างๆ ต้องถามรัฐมนตรีพลังงาน (นายวิเศษ จูภิบาล) อีกครั้งหนึ่ง ผมไม่ทราบ ตอนนี้ยังมึนอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างก็ต้องว่ากันไปตามกติกา โดยหลักแล้วทุกคนก็ต้องเคารพกติกา"
"วิเศษ"เผยรับซื้อหุ้น-คืนภาษี-ดบ.
นายวิเศษ จูภิบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังเรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องกับการแปรรูป กฟผ.ได้แก่ นายไกรสีห์ กรรณสูต กรรมการผู้อำนวยการ กฟผ.พร้อมผู้บริหาร นายอารีพงศ์ ภู่ชะอุ่ม รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ใช้เวลาเกือบ 5 ชั่วโมง ว่าได้มอบหมายให้อัยการสรุปสำนวนคดีที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ที่ประชุมรับทราบ หลังจากนั้นที่ประชุมได้มอบหมายให้ กฟผ.เร่งหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อหารือถึงการปฏิบัติตามข้อกฎหมายต่างๆ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครอง เช่น เรื่องการทำธุรกรรมต่างๆ ระหว่างการเป็นบริษัทมหาชนของ กฟผ. รวมถึงการให้กฟผ.กลับมาเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
นายวิเศษกล่าวว่า ส่วนผลกระทบการดำเนินงานนั้น กฟผ.คงต้องหาแหล่งเงินทุนไปใช้ลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้ารูปแบบอื่น คงทำได้โดยที่กระทรวงการคลังไม่ต้องค้ำประกัน เพราะกระทรวงการคลังมีนโยบายชัดเจนที่จะไม่ค้ำประกันรัฐวิสาหกิจ ส่วนเรื่องหุ้นพนักงาน กฟผ.คงต้องรับซื้อคืนทั้งหมด โดยอยู่บนหลักการว่าจะไม่ให้พนักงานเสียประโยชน์ คือต้องคืนทั้งภาษีและดอกเบี้ยให้พนักงาน แต่สำหรับการปรับขึ้นเงินเดือน 15% ก่อนหน้านี้ ไม่เกี่ยวกับการแปลงสภาพเป็นบริษัท จึงไม่จำเป็นต้องเรียกคืน
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการเรียกร้องให้รัฐบาลและบอร์ด กฟผ.รับผิดชอบด้วยการลาออก จะดำเนินการอย่างไร นายวิเศษกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ทราบ แต่ยังไม่ได้หารือกับนายกรัฐมนตรี
ต่อข้อซักถามว่า กระบวนการที่ผิดพลาดในการตั้งคนที่ขาดคุณสมบัติมาเป็นกรรมการการแปรรูป ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ นายวิเศษกล่าวว่า "เรื่องนี้เกิดขึ้นก่อนที่ผมเป็นรัฐมนตรี ผมไม่ทราบ ต้องไปดูว่าใครเป็นคนแต่งตั้ง"
รบ.ยังลุยนโยบายปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ
ที่พรรคไทยรักไทย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า รัฐบาลเคารพคำพิพากษาของศาลปกครอง แม้ว่าจะมีผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมายบางคนเห็นข้อขัดแย้งทางกฎหมายบางประการ แต่คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดถือเป็นที่สิ้นสุดและไม่สามารถอุทธรณ์หรือฎีกาต่อได้ อีกทั้งคณะรัฐมนตรีได้พ้นจากหน้าที่ไปตั้งแต่การยุบสภา เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ หลังการเลือกตั้งที่จะพิจารณาแนวทางการดำเนินการอย่างไรต่อไป โดยนำคำพิพากษาของศาลปกครองมาเป็นแนวทาง
เมื่อถามว่า การที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ออกกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ยกเลิก ทางรัฐบาลจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดพิพากษาในส่วนของคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท เป็นเรื่องที่เป็นประเด็นโต้แย้งทางวิชาการจึงต้องรอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
เมื่อถามว่า หากพรรคไทยรักไทยได้เป็นรัฐบาลในสมัยหน้า จะเดินเรื่องการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจต่อไปหรือไม่ นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า ยังมีนโยบายปฏิรูปต่อไป ส่วนแนวทางต่อไปต้องรอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ และต้องนำคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดมาพิจารณา ซึ่งหากวิเคราะห์คำพิพากษาของศาลปกครองเป็นประเด็นเรื่องขั้นตอนการแปรรูป ไม่ใช่หลักการแปรรูปที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ที่มีส่วนให้แปรรูปต่อไปได้ เพราะรัฐวิสาหกิจมีความจำเป็นที่จะต้องทำให้เกิดประสิทธิภาพ และการขยายโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาประเทศ การแปรรูปจึงเป็นแนวทางหนึ่งของการปฏิรูป โดยต้องมาดูว่าจะมีการแปรรูปอะไรบ้าง
เมื่อถามว่า หากพรรคไทยรักไทยได้กลับมาเป็นรัฐบาลยืนยันแปรรูปต่อไปหรือไม่ นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า การปฏิรูปไม่เหมือนการแปรรูป เพราะ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ยังมีบทบาทการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจอยู่ต่อไป ซึ่งการแปรรูปที่สำคัญจะทำให้เกิดการปฏิรูป เช่น กรณีบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ที่เกิดความหลากหลายทางการบริการ แม้แต่ กฟผ.ก็เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้โครงสร้างพื้นฐานของประเทศมีความมั่นคงมากขึ้น แต่จะมีการแปรรูปหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
ปชป.จี้"ทักษิณ"โชว์สปิริตออก
นายกรณ์ จาติกวณิช รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐบาลควรจะต้องรับผิดชอบ เนื่องจากเป็นการใช้ พ.ร.ฎ.ที่ไม่ถูกต้อง โดยพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งภาคประชาชน คงต้องศึกษาเพิ่มเติมว่าจะดำเนินการทางกฎหมายอย่างไรได้บ้าง แต่ตามมาตรฐานของประเทศที่อิงตามระบอบประชาธิปไตย ในเมื่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นนโยบายหลักของพรรคไทยรักไทย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ควรรับผิดชอบด้วยการลาออก แต่คิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณคงไม่ลาออก เพราะเรื่องที่ร้ายกว่านี้ ทั้งข้อกล่าวหาเรื่องทุจริต การซุกหุ้น การเลี่ยงภาษี ก็ยังไม่ลาออก
นายกรณ์กล่าวว่า รัฐบาลควรกลับไปพิจารณาว่า จะแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร เพราะคำพิพากษาของศาลปกครองจะทำให้มี 2 กฟผ. คือ กฟผ.ที่เป็นบริษัทมหาชนจำกัด (บมจ.) และ กฟผ.ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะมีการตั้ง บมจ.กฟผ.ตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ และมีการโอนทรัพย์สินและอำนาจทั้งหมดของ กฟผ.รัฐวิสาหกิจให้แก่ บมจ.กฟผ.แล้ว การคืนทรัพย์สินจาก บมจ.กฟผ.ให้รัฐวิสาหกิจ กฟผ.น่าสนใจในแง่เทคนิค เพราะผู้ถือหุ้น บมจ.กฟผ.คือ กระทรวงการคลัง ส่วนผู้ถือหุ้นรัฐวิสาหกิจคือรัฐ การโอนทรัพย์สินกลับก็ต้องทำภายใต้กฎหมายมหาชน ต้องถือว่ากระทรวงการคลังกับรัฐเป็นบุคคลเดียวกัน ดังนั้น ผู้มีสิทธิลงคะแนนอนุมัติหรือไม่คือ ผู้ถือหุ้นรายย่อย คือพนักงาน กฟผ. นอกจากนี้ยังมีเรื่องหุ้นที่ขายให้พนักงาน กฟผ. เพราะได้เสียภาษีไปแล้ว รัฐบาลอย่าแก้ปัญหาด้วยการแก้ พ.ร.ฎ. ในจุดที่ศาลปกครองชี้ว่าผิดเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาทบทวนในหลายเรื่องเช่น สิทธิการเวนคืนที่ดิน สายส่งที่ไว้ในบริษัทที่จะนำไปขายให้ประชาชนไม่เหมาะสมที่จะนำไปแปรรูป
ทายอนาคตไทยไม่ต่างอาร์เจนตินา
นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยกล่าวว่า ไม่เห็นด้วยและคัดค้านการนำหุ้น กฟผ.เข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะเป็นรัฐวิสาหกิจของประเทศ และไม่เห็นด้วยกับที่จะนำสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเข้าตลาดหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็น การประปา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง เพราะผลประโยชน์จะตกกับคนบางกลุ่มเท่านั้น และต่อไปประเทศจะมีสภาพไม่ต่างจากประเทศอาร์เจนตินาในขณะนี้
นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่า ความรับผิดชอบที่รัฐบาลมีต่อกรณีการแปรรูป กฟผ.นั้น ไม่เฉพาะนายกรัฐมนตรีเท่านั้นที่ต้องแสดงความรับผิดชอบ แต่เป็นคณะรัฐมนตรีทั้งคณะที่ต้องร่วมกันทำ เนื่องจากพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับ ที่ประกาศออกมานั้น ผ่านความเห็นชอบของ ครม.แล้ว จึงถือว่าเป็นความรับผิดชอบของ ครม.ทั้งคณะ และผลจากการดำเนินการดังกล่าวเท่ากับว่าเป็นการเสนอสิ่งที่ไม่ดีขึ้นทูลเกล้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงพิจารณา ฉะนั้น นอกจากรัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วย เพราะการออกโรดโชว์ กระจายหุ้นต่างๆ ทำให้เกิดความสูญเสียงบประมาณของ กฟผ.และรัฐบาลจำนวนมาก
นายวีระศักดิ์กล่าวอีกว่า อยากตั้งข้อสังเกตว่ากระบวนการที่ริเริ่มให้มีการแปรรูป กฟผ.นั้น รัฐบาลได้ตั้งนายโอฬาร ชัยประวัติ รองประธานชินคอร์ปมาเป็นกรรมการแปรรูป กฟผ.ด้วย ถือว่ามีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาด้วยหรือไม่ เพราะเอไอเอสและชินคอร์ป เป็นคู่สัญญาที่สำคัญของ กฟผ.มานานแล้ว ในเรื่องการใช้ไฟเบอร์ออฟติคและใยแก้วนำแสง จึงอยากฝากประเด็นให้สังคมช่วยกันติดตาม และทวงถามความรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าวด้วย
ทีมกม.แปรรูปยอมรับเหนือคาดหมาย
นายวิชัย จึงรักเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ กล่าวว่า การตัดสินของศาลปกครองครั้งนี้อยู่เหนือความคาดหมาย และทำให้ทีมงานของฝ่ายกฎหมายสำนักรัฐวิสาหกิจต้องทำงานอย่างหนัก เพราะเกิดปัญหาที่ยุ่งยากมาก คงต้องพยายามค่อยๆ แกะข้อกฎหมายไปทีละเปลาะว่าหลังจากนี้จะดำเนินการอะไรได้บ้าง เพราะถ้าในส่วนของคดีปกครองขณะนี้ได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่ต้องมาดูว่ามีเครื่องมืออื่นทางด้านกฎหมายที่จะดำเนินการใดๆ ได้บ้าง
ผู้สื่อข่าวถามถึงคำสั่งศาลปกครองดังกล่าวจะกระทบต่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการไปแล้ว และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในอนาคตอย่างไร นายวิชัยกล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ ขอกลับไปดูข้อกฎหมายก่อน โดยได้มอบหมายให้ทีมงานฝ่ายกฎหมายของสำนักรัฐทำงานอย่างใกล้ชิดกับทีมงานของกระทรวงพลังงาน
เผยงบฯแปรรูป"กฟผ."90ล.ละลาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแปรรูป กฟผ.ที่ผ่านมาใช้งบประมาณในการดำเนินการประมาณ 90 ล้านบาท แยกเป็นงบฯในการประชาสัมพันธ์และจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมถึงการชี้แจงข้อมูลให้นักลงทุนในประเทศ จำนวน 80 ล้านบาท และเป็นงบฯสำหรับชี้แจงข้อมูลให้นักลงทุนต่างประเทศอีก 10 ล้านบาท
สำหรับงบประมาณในการว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงินทั้ง 6 บริษัท กฟผ.ยังไม่ได้จ่าย เพราะที่ปรึกษาทางการเงินจะได้รับเงินเป็นเปอร์เซ็นต์จากการเข้าตลาดหุ้นของ กฟผ.
รายงานข่าวแจ้งว่า แผนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ของ กฟผ.ต้องชะงักเป็นครั้งที่ 3 หลังจากครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2547 ที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจได้รวมตัวต่อต้านการเข้าจดทะเบียน โดยมีการชุมนุมใหญ่ที่ กฟผ.สำนักงานใหญ่บางกรวย เป็นผลให้นายสิทธิพร รัตโนภาส ผู้ว่าการ กฟผ.ขณะนั้น ต้องถูกตั้งกรรมการสอบและลาออกไปในที่สุด
ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2548 โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ระงับการขายหุ้น กฟผ.ในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากต้องรอพิจารณาว่าพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ก่อนจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปจองซื้อหุ้นเพียงวันเดียว
"กฟผ."คืนสภาพเดิม-ไม่ใช่"บ.มหาชน"
รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า การที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับย้อนหลังตั้งแต่วันที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2548 ทำให้มีผลเสมือนว่า พระราชกฤษฎีกาที่ให้ยกเลิก พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นโมฆะจะทำให้ กฟผ.ถูกยุบเลิกไปแล้วคืนสู่สถานะเดิม กฟผ.จึงไม่ใช่บริษัทมหาชนอีกต่อไปจะส่งผลให้การแปลงสินทรัพย์ของ กฟผ.เป็นหุ้นถูกยกเลิกไปด้วย
สำหรับหุ้นที่ กฟผ.ขายให้แก่พนักงานไปแล้ว รศ.ดร.วรเจตน์กล่าวว่า อาจต้องคืนเงินค่าหุ้นเพราะเท่ากับไม่มีการซื้อขายหุ้น ทั้งนี้ กระบวนการดังกล่าวอาจใช้ต้องใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ เช่นเดียวกับการโอนอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของ กฟผ.ไปให้บริษัทมหาชนจะยกเลิกไปด้วยเช่นกัน
พนง.กฟผ.นัดถกซื้อคืนหุ้น
นายศิริพงษ์ บุญปลีก พนักงาน กฟผ. อดีตรองเลขาธิการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟผ. กล่าวว่า ภายหลังรับทราบคำพิพากษาของศาลปกครอง พนักงาน กฟผ.ถือว่าได้รับชัยชนะจากการต่อสู้ของพนักงานที่ยืดเยื้อมายาวนาน สัปดาห์หน้าจะมีการประชุมใหญ่ร่วมกันระหว่างพนักงาน กฟผ. รัฐวิสาหกิจ และผู้บริหาร เพื่อพิจารณาประเด็นแนวทางการซื้อคืนหุ้น กฟผ. และการเรียกคืนภาษีจากการซื้อขายหุ้น รวมถึงระบบโครงสร้างการบริหารงาน กฟผ.ในอนาคต โดยเฉพาะบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ผู้ว่าการ กฟผ. ที่ควรจะเป็นลูกหม้อ กฟผ. มิใช่มาจากใบสั่งของนักการเมือง ที่เป็นปัญหาทำให้ถูกฝ่ายการเมืองแทรกแซงมาโดยตลอด และว่าวันที่ 28 มีนาคมนี้ พนักงาน กฟผ.จะร่วมกันทำบุญเลี้ยงพระครั้งใหญ่เพื่อเป็นสิริมงคล
เล็งฟ้องคืนรัฐวิสาหกิจอีก7แห่ง
นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แถลงว่า ในฐานะที่เป็น 1 ใน ผู้ร่วมยื่นเรื่องฟ้องศาลปกครองให้พิจารณายกเลิกการนำ กฟผ.เข้าตลาดหลักทรัพย์ ขอเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องที่จัดการผ่านร่างกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับ แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากประเด็นนี้ ถือเป็นความผิดที่ชัดเจน ในเร็วๆ นี้จะหารือร่วมกับมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเตรียมยื่นฟ้องศาลปกครองให้พิจารณาเกี่ยวกับการคืนรัฐวิสาหกิจอีก 7 แห่ง ที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ ประกอบด้วย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ หรือ ร.ส.พ. คาดว่าจะมีการยื่นฟ้องศาลปกครองภายใน 1 เดือน โดยใช้บรรทัดฐานคำพิพากษา กฟผ.เป็นแนวทาง
แหล่งที่มา : นสพ.มติชน
ขอบคุณสื่อมวลชนทุกแขนงมา ณ โอกาสนี้
--------------------- ย้อนความทรงจำ ใช้ชัยชนะครั้งนั้น ถือเป็น ชัยชนะครั้งสำคัญที่สุด ท่ามกลางวิกฤตระบอบแม้ว
มันกลับมาอีกแล้ว..... โอฬาร ชัยประวัติ
ต้องแฉ ๆๆๆๆ อีกแล้ว