ไม่ต้องห่วงหรอกครับ ฝั่งเรารู้ไส้กันมานานแล้ว แต่ไหนๆ คุณไทยทรู้ทก็เปิดประเด็นแล้ว เอามาแปะหน่อยแล้วกัน
เปิดปมทับซ้อนโอฬาร ไชยประวัติ
การลาออกของโอฬาร ไชยประวัติ จากการเป็นกรรมการ บมจ.การบินไทย เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 49 และต่อมาลาออกจากตำแหน่งรองประธานกรรมการ บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น เกิดขึ้นจากปัญหาที่พนักงานการบินไทยสงสัยการทับซ้อนที่อาจเอื้อประโยชน์ให้กับไทยแอร์เอเชียซึ่งเป็นบริษัทลูกของชิน ตลอดจนมีข้อสงสัยว่าตำแหน่งต่างๆของนายโอฬารที่ดำรงอยู่ในบริษัทต่างๆมีความโยงใยที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้มีอำนาจหรือไม่
คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด กรณีการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่าง บมจ. กฟผ. กับ บมจ. ชินคอร์ปอเรชั่น ในยุคที่ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ย้ำชัดเจนว่า โอฬาร ไชยประวัติ เป็นกรรมการจัดตั้ง กฟผ. โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะ เป็นกรรมการ ชินคอร์ป และ เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยชินวัตร (ธุรกิจของทักษิณ) ปัญหาจากกรณีนี้เป็นเสี้ยวหนึ่งของเส้นทางที่สังคมสงสัยว่าจะเป็นเครื่องยืนยันถึงความไม่โปร่งใส และการทับซ้อนของผลประโยชน์ที่มีเงื่อนงำในยุคทักษิณหรือไม่
เพราะ เป็นกรรมการ ชินคอร์ป และ เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยชินวัตร (ธุรกิจของทักษิณ) ปัญหาจากกรณีนี้เป็นเสี้ยวหนึ่งของเส้นทางที่สังคมสงสัยว่าจะเป็นเครื่องยืนยันถึงความไม่โปร่งใส และการทับซ้อนของผลประโยชน์ที่มีเงื่อนงำในยุคทักษิณหรือไม่
โอฬาร เกี่ยวข้องกับสารพัดองค์กร ที่คาดไม่ถึงว่าจะโยงใยกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และ การขายหุ้นชินคอร์ปอเรชั่นให้กับสิงคโปร์ได้ ความเกี่ยวข้องเหล่านี้แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ
(1) กลุ่มพลังงาน สัมพันธ์กับ บมจ.กฟผ. บมจ.ปตท. และ บมจ.ไทยออยล์
(2) กลุ่มการบิน สัมพันธ์กับ บมจ.การบินไทย จำกัด บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น และ ไทยแอร์เอเชีย
(3) กลุ่มการซื้อขายหุ้น บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่สัมพันธ์กับ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
กลุ่มพลังงาน
การเป็นกรรมการ ปตท. และ เป็นกรรมการจัดตั้ง กฟผ มีวงจรที่น่าสนใจ คือ วันที่ 29 กรกฎาคม 2546 ก่อนจะเป็นคณะกรรมการแปรรูป กฟผ. เพียง 3 เดือน โอฬาร ไชยประวัติ เป็น ประธานกรรมการตรวจสอบ ปตท. และ ต่อมาหลังจากที่เข้าไปเป็นกรรมการจัดตั้งบมจ.กฟผ.แล้ว นายโอฬารก็เข้าไปเป็นกรรมการ บมจ.ไทยออยล์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของปตท. เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2547
เนื่องด้วย ไทยออยล์ มีบริษัทลูก คือ บริษัทไทยออยล์พาวเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าที่มีสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าให้กับ บมจ.กฟผ. เป็นระยะเวลา 25 ปี จึงสังเกตเห็นความโยงใยโยงใยได้ว่า โอฬาร เป็นกรรมการปตท. และไทยออยล์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้าให้กับ กฟผ. รวมทั้งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดตั้ง กฟผ.
ประเด็นที่น่าสงสัย คือ เมื่อศาลปกครองสุงสุดพิพากษาว่า การที่โอฬารเข้าไปเกี่ยวข้องกับการแปรรูป กฟผ. เป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อน วงจรการเป็นกรรมการของนายโอฬาร ทั้ง 3 บริษัทนั้น มีวาระซ่อนเร้นอะไรหรือไม่
กลุ่มการบิน
ปัญหาเรื่องทับซ้อนของกลุ่มการบินนี้มิใช่เกี่ยวพันเฉพาะโอฬารเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับบุคคลจำนวนมากที่ใกล้ชิดกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูง
วันที่ 5 ตุลาคม 2544 โอฬาร ไชยประวัติ และ ทนง (ลำไย) พิทยะ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการการบินไทย โดยที่ ทนง ขณะนั้นเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ส่วน โอฬาร เป็นกรรมการ ชินคอร์ป ต่อมา มิถุนายน 2545 ทนง ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการการบินไทย และในที่สุด วันที่ 19 กันยายน 2546 บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ก็จัดตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคลด้วยทุนจดทะเบียน 400 ล้านบาท ซึ่งถือหุ้นโดย เอเชียเอวิเอชั่นของบริษัทชินคอร์ปที่มีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท
หลังจากที่ก่อตั้งไทยแอร์เอเชีย ซึ่งเป็นธุรกิจการบินเช่นเดียวกับการบินไทย โดยมีทนง และ โอฬาร เป็นกรรมการแล้ว ทนง ยังคงเป็นประธานกรรมการการบินไทยไปจนกระทั่งได้รับปูนบำเหน็จให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในวันที่ 11 มีนาคม 2548 หลังจากทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 และต่อมาก็ย้ายไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก่อนที่ตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์จะขายหุ้นชินคอร์ปให้กับสิงคโปร์
ส่วน โอฬาร ได้เลื่อนตำแหน่งไปเป็นรองประธานกรรมการชินคอร์ปในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2547
เส้นสายที่โยงใยกับการบินไทยยังเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นอีกหลายๆท่าน โดยเฉพาะกรรมการบริษัทการบินไทยที่ผูกพันกับอำนาจรัฐและผู้มีอำนาจ เช่น
วันชัย สารทูลทัต ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็น ประธานกรรมการ
ศุภรัตน์ ภวัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง เป็น รองประธานกรรมการ
สมใจนึก เองตระกูล ประธานกรรมการ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นอดีตปลัดกระทรวงการคลัง ที่ดำรงตำแหน่งกรรมการการบินไทยมาหลายสมัย
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี
วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานคณะกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเกี่ยวพันโอฬาร ไชยประวัติ ผู้เป็นที่ปรึกษาของธนาคาร
ประสิทธ์ ดำรงชัย กรรมการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเคยเป็นกรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสียงข้างน้อย 1 ต่อ 8 ที่อยู่ข้างทักษิณ ชินวัตร กรณีซุกหุ้น ปี 2544 ทั้งยังเป็นพยานในการพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ยืนยันว่า ทักษิณ ไม่จงใจปกปิดทรัพย์สิน
ชลิต พุกผาสุก ผู้บัญชาการทหารอากาศ
เมื่อย้อนไปพิจารณาผู้เป็นกรรมการการบินไทยมาในชุดก่อนๆ ยังพบว่าบุคคลสำคัญที่น่าสนใจว่าจะมีส่วนโยงใยถึงผู้มีอำนาจเช่น คงศักดิ์ วันทนา สันต์ ศรุตานนท์ สุชัย เจริญรัตนกุล และ วิษณุ เครืองาม
กลุ่มการซื้อขายหุ้น บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น
เพราะ โอฬาร เป็นรองประธานกรรมการบมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น เป็นกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดการ ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน) องค์กรทั้ง 3 แห่งนี้จึงโยงใยถึง โอฬาร ไชยประวัติ อย่างไม่ต้องสงสัย แต่ที่น่าสงสัย ก็คือ ความโยงใยเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขายหุ้น บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ให้กับ เทมาเส็กจากสิงคโปร์ หรือไม่
องค์กรสำคัญที่เกี่ยวข้องกับบิ๊กดีลครั้งนี้คือ บริษัท กุหลาบแก้ว จำกัด ซึ่งจดทะเบียนเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2549 ด้วยทุนจดทะเบียน 4 พันล้านบาท ก่อนการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปครั้งนี้เพียง 6 วัน โดยมีพงส์ สารสิน เป็นประธานกรรมการชินคอร์ปคนใหม่
การขายหุ้นครั้งนี้ ไทยพาณิชย์ เกี่ยวข้องในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้ง ร้อยละ 9.9 และไทยพาณิชย์ ยังมีส่วนเกี่ยวโยงกับการจัดสรรทุนให้กับ กุหลาบแก้ว และ เทมาเส็ก โดยที่ โอฬาร คือ ผู้มีอิทธิพลสูงมากในธนาคารไทยพาณิชย์ เพราะเหตุที่บริหารธนาคารนี้มาตั้งแต่ 2525 และปัจจุบันยังเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดการ ธนาคารไทยพาณิชย์
ทั้งนี้ ชินคอร์ปอเรชั่น คือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่มี โอฬารเป็นรองประธานกรรมการชินคอร์ป
ขณะที่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คือ ผู้ตรวจสอบและดำเนินการซื้อขายหุ้นให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยมี โอฬาร เป็น กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ความเกี่ยวโยงของ 3 องค์กร จึงอนุมานได้ว่า โอฬาร ไชยประวัติ น่าจะเป็นบุคคลที่เข้าใจและรับรู้เหตุการณ์อย่างใกล้ชิดถึงการขายหุ้นชินคอร์ป จำนวน 73,300 ล้านบาท ให้กลุ่มทุนจากสิงคโปร์ โดยไม่ต้องจ่ายภาษีแม้แต่สตางค์แดงเดียว
เส้นสายใยโยงโอฬาร ไชยประวัติ
การเป็นกรรมการในองค์กรต่างๆของโอฬาร ไชยประวัติ ดัง 3 กลุ่มความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันได้นี้ จึงเป็นสิ่งที่น่าสงสัยว่า ความโยงใยของรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นของรัฐ กับ บริษัทชินคอร์ปอเรชั่นซึ่งเป็นเอกชน จะสะท้อนความสัมพันธ์ด้านผลประโยชน์ทับซ้อน ในยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่
ความโยงใยขององค์กรใน 3 กลุ่มนี้อาจมีส่วนสัมพันธ์กันโดยไม่ตั้งใจ จึงมีคำถามที่พึงหาคำตอบต่อไปว่า
(1) โอฬารเป็นกรรมการที่สัมพันธ์กับองค์กรในกลุ่มพลังงานที่น่าสงสัยว่าจะเกี่ยวพันกับการดำเนินการบางอย่างหลังตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ได้รับเงินจากการขายหุ้นชินคอร์ปอเรชั่นหรือไม่ ?
(2) โอฬารเป็นกรรมการ บมจ.การบินไทย พร้อมกับเป็นกรรมการ ชินคอร์ป ซึ่งมีบริษัทลูกเป็นไทยแอร์เอเชีย ข้อน่าสงสัย คือ การที่โอฬาร เป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ และ บริษัทเอกชน ที่เกี่ยวพันกับธุรกิจการบิน นั้น ทำให้ ชินคอร์ป มีมูลค่าที่สูงขึ้นหรือไม่ ?
(3) การที่ชินคอร์ปมีมูลค่าสูงขึ้น ยังมีส่วนต่อการได้ผลประโยชน์จากการขายหุ้นให้กับเทมาเส็กจากสิงคโปร์หรือไม่ ?
(4) การที่โอฬารเป็นผู้มีอิทธิพลสูงมากในธนาคารไทยพาณิชย์ มีส่วนต่อการจัดสรรทุนเพื่อซื้อขายหุ้นนี้หรือไม่ ?
(5) การที่โอฬารเป็นกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะยิ่งอำนวยความสะดวกให้เกิดบิ๊กดีลครั้งนี้หรือไม่ ?
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมโยงทั้งหมดของกลุ่มพลังงาน กลุ่มการบิน และกลุ่มการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปที่สะท้อนปัญหาการทับซ้อนทางผลประโยชน์ที่โยงใยระหว่างกิจการของรัฐ กับ กิจการของชินคอร์ป อาจเป็นเรื่องบังเอิญ แต่คงยืนยันได้ว่า "การที่ โอฬาร ไชยประวัติ รู้จักและสนิทสนม กับ ทักษิณ ชินวัตร คงไม่ใช่เหตุบังเอิญ"
http://www.seree.net/index.php?option=com_content&task=view&id=673&Itemid=34