ศาลปกครองกลาง ไม่รับฟ้อง ส.ว-พีเน็ต วินิจฉัยนายก ฯ กลับนั่งเก้าอี้หลังประกาศลาพักโดยไม่ชอบ ชี้คดีอยู่ในอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 216 และ 96 ด้าน "การุณ" เตรียมหารือ ส.ว. เข้าชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ นายกฯ พ้นตำแหน่งตาม 215
วันนี้(1 มิ.ย.) ที่ศาลปกครองกลาง นายประนัย วณิชชานนท์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง เจ้าของสำนวนคดีหมายเลขดำ 962/2549 มีคำสั่งไม่รับฟ้อง คดีที่นายการุณ ใสงาม ส.ว. บุรีรัมย์ นายสกุล สื่อทรงธรรม กรรมการมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย(พีเน็ต) และนายวรินทร์ เทียมจรัส เลขาธิการพีเน็ต ร่วมกันยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรี(ครม.) และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดี 1-2 ในความผิดเรื่อง เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีที่นายกรัฐมนตรีกลับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบหลังการประกาศลาพักการปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2549 ซึ่งผู้ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-2 พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ 5 เมษายน 2549 เป็นต้นไป พร้อมทั้งยื่นขอต่อศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับการปฏิบัติหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินต่อไป
โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 216 วรรคหนึ่ง (2) บัญญัติไว้ว่า ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อลาออก และมาตรา 216 วรรคสองให้นำบทบัญญัติมาตรา 96 มาใช้บังคับกับการสิ้นสุดของความเป็นรัฐมนตรีในกรณีลาออก ซึ่งมาตรา 96 บัญญัติให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานสภานั้น โดยประธานสภาต้องส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่ และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว ให้ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งคำวินิจฉัยนั้นไปยังประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องตามมาตรา 216 วรรคหนึ่ง จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าวเห็นได้ว่ากรณีที่มีปัญหาว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเพราะลาออกหรือไม่นั้น รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย
เมื่อพิจารณาคำฟ้องและคำขอ และข้อเท็จจริงในสำนวนคดีแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสาม มีความประสงค์ ขอให้ศาลปกครองวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีได้สิ้นสุดลงเฉพาะตัวเพราะลาออก เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ลาพักการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 215 วรรคสองตลอดไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่ แต่เมื่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรคสอง ประกอบกับมาตรา 96 บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่มีอำนาจวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว กรณีจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะรับไว้พิจารณาและวินิจฉัยได้ ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ โดยเมื่อศาลไม่อาจรับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาได้ จึงไม่จำต้องพิจารณาคำขอให้กำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวอีกต่อไป
ภายหลังนายวรินทร์ เทียมจรัส กล่าวว่า เมื่อศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องออกมาเช่นนี้ ก็จะเสนอให้นายการุณ ซึ่งรักษาการ ส.ว.บุรีรัมย์ และเป็นผู้ฟ้องคดีนี้ด้วย ให้นำคำสั่งศาลไปหารือกับรักษา ส.ว. เพื่อรวบรวมรายชื่อ ส.ว. ให้ได้ครบตามจำนวน ที่จะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดต่อไป
http://www.matichon.co.th//breaking-news/breaking-news.php?nid=20060601-141113ศาลเดียวกันหรือเปล่าคะ?