เลยไป copy เนื้อหาเกี่ยวกับครุฑ มาประกอบ
ครุฑ : พญานกแห่งเวหา สัญลักษณ์แทนองค์พระมหากษัตริย์
ครุฑ เป็นสัตว์หิมพานต์ ในเทพนิยายที่เราค่อนข้างคุ้นหูคุ้นตาเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ เพราะเป็นสัญลักษณ์ที่เราพบเห็นกันอยู่เสมอตามที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน้าธนาคาร ห้างร้านบางแห่ง บนธนบัตร บนเรือพระที่นั่ง ฯลฯ
โดยเฉพาะในสถานที่หรือทรัพย์สินทางราชการ วรรณกรรมหลายเรื่องก็มีการกล่าวถึงครุฑ เช่น เรื่องอุณรุท แต่ที่คนไทยรู้จักกันดี ก็คือครุฑในเรื่องกากี อย่างไรก็ตาม แม้คนส่วนใหญ่จะได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับครุฑมาบ้างแล้ว แต่เชื่อว่าคงมีคนอีกไม่น้อยที่ยังไม่ค่อยทราบประวัติของครุฑ
ครุฑยังมีความเกี่ยวข้องกับคนไทยหลายอย่าง โดยเฉพาะการถือว่าครุฑเป็นสัญลักษณ์สำคัญเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ของไทยก็มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ด้วยว่าไทยเราได้รับลัทธิเทวราชของอินเดียที่ถือว่าพระมหากษัตริย์คืออวตารของพระนารายณ์ ดังนั้น ครุฑซึ่งเป็นผู้มีฤทธิ์มากและเป็นพาหนะของพระนารายณ์ จึงเป็นสัญลักษณ์แทนพระมหากษัตริย์ ดังที่ปรากฏอยู่ในดวงตราหรือพระราชลัญจกรประจำพระองค์ ประจำแผ่นดิน ประจำราชวงศ์ และประจำรัชกาล เป็นต้น
ซึ่งจากการที่เราใช้ “ตราครุฑ” เป็นพระราชลัญจกรสำหรับประทับหนังสือราชการแผ่นดินที่เป็นพระบรมราชโองการ และใช้พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ประทับหนังสือราชการแผ่นดินมาแต่โบราณกาล ต่อมาจึงได้มีการใช้ ตราครุฑ เป็นหัวกระดาษของหนังสือของราชการทั่วๆไปด้วย เพื่อให้ทราบว่างานนั้นเป็นราชการ
ส่วนรูปครุฑที่เป็นธงแทนองค์พระมหากษัตริย์นั้นเรียกว่า “ธงมหาราช” เป็นรูปครุฑสีแดงอยู่บนพื้นธงสีเหลือง เริ่มใช้ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ธงมหาราชนี้เมื่อเชิญขึ้นเหนือเสา ณ พระราชวังใดแสดงว่าพระมหากษัตริย์ประทับอยู่ ณ ที่นั้น
สำหรับครุฑที่ปรากฏอยู่ในขบวนเรือหลวงก็มีอยู่ ๓ ลำคือเรือครุฑเหินเห็จ เป็นหัวโขนรูปพญาครุฑสีแดงยุดนาค เรือครุฑเตร็จไตรจักรเป็นหัวโขนรูปพญาครุฑสีชมพูยุดนาค และ เรือนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ ๙ เป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ เป็นเรือที่สร้างขึ้นในรัชกาลปัจจุบัน
นอกเหนือจากการที่ “ตราครุฑ” ปรากฏในส่วนราชการต่างๆแล้ว ในภาคเอกชนก็สามารถรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราครุฑหรือตราแผ่นดินในกิจการได้ด้วย โดยเริ่มมีมาแต่รัชกาลที่ ๕ ซึ่งเดิมเป็นตราอาร์ม โดยมีข้อความประกอบว่า “โดยได้รับพระบรมราชานุญาต” ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ได้เปลี่ยนตราแผ่นดินเป็นตราพระครุฑพ่าห์ การพระราชทานตรานี้ แต่เดิมถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่จะพระราชทานตามพระราชอัธยาศัย
อมรรัตน์ เทพกำปนาท
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
http://talk.sanook.com/knowledge/knowledge_01534.php