ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
20-04-2024, 04:22
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สภากาแฟ  |  ชาวนารู้ทัน “หมัก”แหกตารับจำนำข้าว "ม็อบชาวนา"รัฐหลอก-ซื้อเวลา นัดประท้วง 9 มิ.ย 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
ชาวนารู้ทัน “หมัก”แหกตารับจำนำข้าว "ม็อบชาวนา"รัฐหลอก-ซื้อเวลา นัดประท้วง 9 มิ.ย  (อ่าน 1112 ครั้ง)
oho
ขาประจำขั้น 2
******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 712


« เมื่อ: 05-06-2008, 09:23 »

“หมัก”แหกตารับจำนำข้าว "ม็อบชาวนา"รัฐหลอก-ซื้อเวลา
 
4 มิถุนายน 2551 22:32 น.
 
 
       “สมัคร” ลนลานสยบม็อบชาวนาฐานเสียงพรรคชาติไทย ฉวยโอกาสเข็นโครงการรับจำนำข้าวนาปรัง ประกันราคา 14,000 บาทต่อตันทันที ดันคลังสั่งธ.ก.ส.ปล่อยกู้ 5 พันล้านให้โรงสีรับซื้อแทนมอบให้อคส.ดูแล “มิ่งขวัญ” โดนแทงข้างหลังเจอ “หมัก” ซัดไร้น้ำยาแก้ปัญหาข้าว สมาคมชาวนาฯ อัดรัฐฯหลอกล่อซื้อเวลาหนีปัญหาม็อบ ขณะที่เครือข่ายหนี้ชาวนาฯ ชี้เป็นเกม “เตะหมูเข้าปากห-ม-า” โรงสี-นายทุนการเมืองทำนาบนหลังคนรอสวาปามเหมือนเคย   ลั่นชุมนุมใหญ่แน่ 9 มิ.ย.นี้     ส่วนนโยบายขึ้นราคาน้ำตาลอุ้มชาวไร่อ้อย ธ.ก.ส.ยังยึกยักปล่อยกู้
       
       วานนี้ (4 มิ.ย.) นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี นำทีมแถลงข่าวการแก้ไขปัญหาราคาข้าวภายหลังการเรียกประชุมรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง 11 กระทรวง รวมทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.)
       
       นายสมัคร กล่าวว่า ผลการประชุมมีมติให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 3 ชุด เพื่อดูแล 3 ขั้นตอนในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง โดยกำหนดราคารับจำนำ 14,000 บาทต่อตัน จากปริมาณข้าวในฤดูกาลนี้ที่ออกมาประมาณ 2.5 แสนตัน เพื่อแก้ไขสถานการณ์ราคาข้าวที่สูงมากผิดปกติและเมื่อราคาต่ำก็ตกลงมากผิดปกติ เนื่องจากมีขบวนการและวิธีการที่ทำให้เป็นเช่นนั้น การรับจำนำข้าวครั้งนี้ กระทรวงการคลัง เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการ
       
       นายสมัคร กล่าวว่า ราคาที่รับจำนำเป็นราคาที่จะแก้ปัญหา ซึ่งระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ถ้าใครไม่มาไถ่คืนข้าวก็จะไปแปรรูป เพราะฉะนั้นการคืน ถ้ามูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น ราคา 15,000 บาท ก็จะคืนให้ 1,000 บาท เป็นตัวเงินโดยไม่ได้เอาข้าวกลับคืนไป
       
       นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงการคลัง กล่าวว่า คลังได้มอบหมายให้ธ.ก.ส. เป็นผู้ดำเนินการเรื่องการให้เงินสนับสนุนกับโรงสี ซึ่งทาง ธ.ก.ส. ได้จัดทำรายละเอียดมาเสนอต่อที่ประชุม ซึ่งมีรัฐมนตรี 11 คนพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว ส่วนการกำกับดูแลนายกฯ ให้นโยบายว่า ให้รัฐมนตรีที่อยู่ในพื้นที่ดูแลโดยจัดเป็นเขตเป็นโซน เพื่อให้กลไกต่างๆ เดินไปด้วยความถูกต้อง โปร่งใส และให้ผู้ว่าฯ เป็นผู้ควบคุมกลไก
       
       นาย ธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการ ธกส. กล่าวว่า ข้าวเปลือกนาปรังที่รับจำนำในช่วงนี้จะไม่เหมือนข้าวนาปีที่เป็นข้าวแห้ง ขึ้นยุ้ง จำนำแล้วโรงสีเก็บได้ไม่ต้องไปอบ แต่ข้าวนาปรังขณะนี้เป็นข้าวสด มีความชื้นสูง บวกกับภาวะฝนในช่วงมรสุมจึงเป็นข้าวเปียก เมื่อจำนำแล้วจะเก็บเป็นข้าวเปลือกไม่ได้ ต้องส่งข้าวเปลือกไปตามกระบวนการแปรรูปเป็นข้าวสารแล้วเก็บสต็อก
       
       สำหรับกลไกการทำงานของคณะกรรมการ 3 ชุด นายธีรพงษ์ กล่าวว่า คณะกรรมการชุดแรกทำงานเพื่อรับจำนำข้าวเปลือก ชุดที่ 2 คือรับข้าวเปลือกไปแปรรูป และชุดที่ 3 รับข้าวแปรรูปเสร็จจัดการขายข้าวสาร โดยกระทรวงพาณิชย์และรัฐบาล จะช่วยขายข้าวเพื่อนำเงินมาคืนสู่ระบบ
       
       "ผมเรียนท่านนายกฯว่า ขอในเรื่องการให้มีทีมทำงาน หลายคนอาจจะนึกถึงการจำนำแล้วก็ห่วง คราวนี้เราให้ความสำคัญใน 2 เรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่คือเรื่องการทำงาน กับเรื่องของการดูแล ไม่ให้เกิดความเสียหาย เรื่องสต็อก ผมขอให้รายงานเป็นรายวัน ดังนั้นถ้าเห็นใครขนข้าวผิดปกติก็จะเล่นตัวเลขกันรายวัน" นายธีระพงษ์ กล่าว
       
       ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ยังกล่าวว่า ขอให้กระทรวงเกษตรฯ ดูแลเกษตรกรไม่ให้นำข้าวที่ไม่ใช่ของตนเองและไม่ใช่ข้าวของกลุ่มสหกรณ์มาจำนำ อย่าไปเที่ยวรับซื้อเพราะตนให้เฉพาะข้าวของสหกรณ์และเกษตรกร
       
       "อย่าไปทำเรื่องรับซื้อราคาต่ำ แล้วมาจำนำเรา ผมถือว่าเรื่องนี้เป็นการทุจริต ผมมีหน้าที่ที่จะต้องดูแล ขณะเดียวกันก็ต้องป้องกันการรั่วไหลเงินของรัฐ ซึ่งเป็นภาษีของประชาชนทุกคนด้วย" นายธีระพงษ์กล่าว
       
       นายสมัคร ให้สัมภาษณ์อีกครั้งหลังการแถลงข่าวถึงสถานการณ์ราคาข้าวว่า ไม่อยากพูดให้กระทบกระเทือนผู้ส่งออก และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาข้าวหายจากโกดังอีก รัฐบาลจึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 3 ชุด ส่วนการจัดการกับคนที่ทำให้ราคาข้าวผิดปกตินั้น นายสมัคร กล่าวว่าเป็นเล่ห์กลทางการค้า คงไปจัดการอะไรไม่ได้
       
       อนึ่ง รัฐมนตรี ที่ร่วมประชุมกับนายสมัคร ประกอบด้วย นพ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รมช.คลัง นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข นายสุพล ฟองงาม รมช.มหาดไทย นายพงศ์กร อรรณนพพร รมช.ศึกษาธิการ นายบุญลือ ประเสริฐโสภา รมช.ศึกษาธิการ พ.ต.ท.บรรณยิน ตั้งภากรณ์ รมช.พาณิชย์ นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รมช.พาณิชย์ และนาย ธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัด ธกส.
       

       เสียบ“มิ่งขวัญ”ไร้กึ๋นแก้ปัญหาข้าว
     
      แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในการประชุมของนายสมัคร กับรัฐมนตรี 11 คน เพื่อแก้ไขปัญหาราคาข้าวนั้น นายสมัคร ได้ตำหนิการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาราคาข้าวได้ จนทำให้เกษตรกรเกิดความไม่พอใจและเตรียมก่อม็อบชาวนาเข้ากรุงเทพฯ เพื่อประท้วง รัฐบาลจึงต้องแก้ไขปัญหาเร่งด่วนด้วยการเปิดโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังขึ้นมาในทันที
       
       “นายสมัคร ได้ให้เหตุผลของการเปิดรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังอย่างเร่งด่วนในครั้งนี้ ว่านายกฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะเรื่องข้าวเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ รอช้าไม่ได้อีกแล้ว”แหล่งข่าว กล่าว
       
       การเปิดรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังครั้งนี้ กำหนดราคาตันละ 1.4 หมื่นบาท สำหรับข้าวเปลือกเจ้า และตันละ 9,000 บาท สำหรับข้าวเปลือกเหนียว โดยมอบหมายให้ ธ.ก.ส. เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ไม่ได้ให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นผู้ดำเนินการเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งเท่ากับเป็นการตัดกระทรวงพาณิชย์ ออกจากการรับจำนำครั้งนี้

       
       ธ.ก.ส.เท 5 พันล้าน - โรงสี เฮรับ     
 
       รายงานข่าวแจ้งว่า การรับจำนำเบื้องต้น กระทรวงการคลัง จะเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ โดยให้ธ.ก.ส. เข้าไปรับจำนำ และจะทำการสีแปรข้าวเปลือกเป็นข้าวสารทันที เพื่อเก็บไว้รอขาย คาดว่าจะใช้วงเงินมากกว่า 5 พันล้านบาท หรืออาจมากกว่านั้น ซึ่งส่วนที่เกิน 5 พันล้านบาท ทางกระทรวงการคลังยืนยันในที่ประชุมว่าจะรับผิดชอบให้
       
       แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการโรงสี กล่าวว่า พอใจกับนโยบายของนายสมัคร ที่เปิดโครงการรับจำนำ เพราะที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จนทำให้ราคาข้าวสารและข้าวเปลือกตกต่ำอย่างมาก เนื่องจากถูกผู้ส่งออก 4-5 รายใหญ่กดราคา แต่พอนายกรัฐมนตรีประกาศว่าจะรับจำนำ ทำให้ราคาข้าวสารในประเทศปรับขึ้นมาถึงตันละ 4,000 บาททันที หรือจาก 1.9 หมื่นบาท เป็น 2.3 หมื่นบาท และมีแนวโน้มจะปรับราคาขึ้นอีก
       
       นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า ขณะนี้ราคาข้าวในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่รัฐบาลออกมาประกาศรับจำนำข้าว แต่มองว่าราคารับจำนำข้าวขาวความชื้น 15% ที่ตันละ 1.4 หมื่นบาท เป็นราคาที่สูงเกินไป รัฐบาลควรพิจารณาจากต้นทุนของชาวนาบวกกำไรที่เหมาะสม ไม่ใช่การนำราคาข้าวที่สูงที่สุดมาใช้เป็นราคารับจำนำ เพราะราคาในประเทศที่สูงขึ้นมากจะส่งผลการส่งออกที่จะทำได้ยากขึ้น
     
 
       สมาคมชาวนาฯ อัดรัฐฯ ยื้อเวลา       

       นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า ชาวนายังไม่พอใจนโยบายรัฐบาล แม้จะพอใจราคาที่ 14,000 บาท แต่การที่ออกข่าวว่าจะรับซื้อข้าวจากชาวนาทันที ไม่เชื่อว่าจะเป็นจริง เป็นแค่การดึงเวลาไม่ให้ชาวนาก่อม็อบวันที่ 5 มิ.ย.เท่านั้น แต่สมาคมฯ ก็จะให้โอกาสรัฐบาล ไม่เคลื่อนไหวชุมนุม จะขอดูความจริงใจรัฐบาลว่าจะกำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกเมื่อใด หากยังชักช้าชาวนาพร้อมชุมนุมใหญ่ทั่วประเทศร่วมกับกลุ่มรถบรรทุกทันที
       
       “หากรัฐไม่กำหนดวันชัดเจน หรือประกาศวันรับจำนำช้ากว่าวันที่ 15 มิ.ย. ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวนาเก็บเกี่ยวแล้ว ก็พร้อมออกมาเคลื่อนไหวทันที เพราะที่นายกรัฐมนตรี ประกาศว่าพร้อมรับซื้อทันทีนั้น ไม่เชื่อว่าจะทำได้แน่”นายประสิทธิ์ กล่าว

       
       ชี้ “เตะหมูเข้าปากห-ม-า” เหมือนเดิม
       
       นายชรินทร์ ดวงดารา ที่ปรึกษาเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า โครงการรับจำนำข้าวนาปรังที่รัฐบาลประกาศออกมานั้น เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ ผลประโยชน์จะตกอยู่กับคนกลางคือ โรงสี และกลุ่มลานตาก ชาวนาต้องจำนำข้าวผ่านโรงสีที่ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ให้เป็นกลไกรับจำนำและแปรสภาพ ขณะที่ข้าวซึ่งมีความชื้นสูงก็ต้องผ่านกระบวนการตากให้แห้งเสียก่อน ลานตากที่ใหญ่ในเขตภาคกลางก็เป็นของตระกูลโพธสุธน ดังนั้น ชาวนาจะถูกกดราคาเพราะข้าวมีความชื้นมาก ราคารับจำนำจริงๆ สูงสุดก็ประมาณ 9,000 บาทต่อตันเท่านั้น
       
       “ระบบนี้ใช้มานานหลายสิบปีแล้ว ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง ชาวนาจะได้เพียงเล็กน้อย ความจริงแล้วเป็นโครงการที่เอื้อประโยชน์ทำมาหากินกัน อย่าลืมว่าเครือข่ายพรรคชาติไทย ซึ่งมีฐานเสียงในเขตภาคกลางมีธุรกิจหลักคือข้าว” ที่ปรึกษาเครือข่ายหนี้สินชาวนาฯ กล่าว
       
       นายชรินทร์ กล่าวต่อว่า แนวทางที่ชาวนาจะได้ประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย คือ ธ.ก.ส.รับจำนำจากชาวนาโดยตรง โดยรับจำนำแล้วให้ชาวนาตากข้าวและเก็บข้าวไว้ ขณะเดียวกันก็ต้องชะลอหนี้โดยยืดเวลาออกไปจนกว่าชาวนาจะขายข้าวได้ วิธีการนี้รัฐฯอ้างว่าการรับจำนำชาวนาโดยตรงเป็นเรื่องยาก จะเกิดการคอร์รัปชั่น ทั้งที่ไม่เคยทำเลย มีแต่ผ่านโรงสีทั้งนั้นแล้วก็เห็นๆ กันอยู่ว่าในระบบการรับจำนำแบบเดิมๆ คอร์รัปชั่นกันขนาดไหน

       
       9 มิ.ย.เครือข่ายหนี้สินฯ นับหมื่นดีเดย์ชุมนุมใหญ่
       
       นายชรินทร์ ดวงดารา ที่ปรึกษาเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัญหาหนี้สินชาวนาที่รุมเร้าสมาชิกถูกยึดทรัพย์ ขายทอดตลาด อยู่ทุกวันยังไม่ได้รับการแก้ไขจากรัฐบาลสมัครทั้งที่ผ่านมาเกือบ 4 เดือนแล้ว ที่ผ่านมาตัวแทนเครือข่ายหนี้สินฯ ได้ขอเข้าพบพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ดูแลกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรฯ เพื่อขอให้ช่วยเหลือ แต่ได้พบเพียงนายอรรคพล สรสุชาติ เลขาฯของพล.ต.สนั่น ซึ่งการพูดคุยหลายครั้งที่ผ่านมายังไม่มีอะไรคืบหน้า ดังนั้นเครือข่ายฯ จึงมีมติจะเคลื่อนไหวชุมนุมใหญ่ในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ ที่กรุงเทพฯ โดยคาดว่าจะมีสมาชิกเครือข่ายฯ เข้าร่วมไม่ต่ำกว่าหมื่นคน
       
       “เรามาแน่ร้อยเปอร์เซนต์ และจะชุมนุมยืดเยื้อจนบรรลุเป้าหมาย ต้องมีการจัดประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการรับซื้อหนี้เกษตรกรที่ติดอยู่กับสถาบันการเงินต่างๆ เพราะที่ผ่านมากองทุนฯ เพิ่งซื้อหนี้ได้แค่ 4 พันรายเท่านั้นจากที่ขึ้นทะเบียน 2 แสนราย” นายชรินทร์ กล่าว
       
       นายชรินทร์ กล่าวว่า ปัญหาหนี้สินที่สะสมพอกพูนจนบีบรัดให้ชาวนาต้องถูกยึดทรัพย์ ขายทอดตลาด ชีวิตที่ติดบ่วงหนี้ ทำให้ชาวนาไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ จากราคาข้าวไม่ว่าจะถูกหรือแพง เพราะเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวต้องรีบข้าวขายทันทีเพื่อเอาเงินใช้หนี้

       
       สร้างภาพสยบม็อบชาวนา ฐานเสียง “ประภัตร”
       
       แหล่งข่าวแกนนำกลุ่มชาวนาในเขตภาคกลาง ให้ข้อมูลว่า สมาคมชาวนาไทย ที่ออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลประกันราคาข้าวครั้งนี้ ถือเป็นกลุ่มชาวนาที่เป็นฐานเสียงของนายประภัตร โพธสุธน ส.ส. สุพรรณบุรี สังกัดพรรคชาติไทย ซึ่งในแวดวงแกนนำกลุ่มชาวนาต่างรู้ดีว่าสมาคมดังกล่าวเป็นตัวแทนของกลุ่มโรงสีที่ยกเอาชาวนาขึ้นมาอ้าง เพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ต่างๆ ซึ่งการเคลื่อนไหวเพื่อให้รัฐบาลเข้ารับจำนำข้าวเปลือกในราคา 14,000 บาทต่อตัน ในช่วงที่รัฐบาลกำลังมีปัญหารุมเร้าหลายด้าน ถือเป็นกลยุทธ์ที่ได้ชัยชนะกันทั้งสองฝ่าย คือ รัฐบาลได้สร้างภาพ สร้างผลงานสยบม็อบชาวนา ขณะที่สมาคมชาวนาฯ ได้รับการประกันข้าวราคาตามข้อเรียกร้องโดยโครงการรับจำนำ
       
       แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมองลึกลงไปในรายละเอียดแล้ว ข้าวนาปรังที่เริ่มทยอยออกมาในฤดูกาลนี้ประมาณ 2.5 ล้านตันนั้น ราคาที่โรงสีรับจำนำข้าวซึ่งมีความชื้น 25% ชาวนาจะได้ราคาแค่ 7,000 – 8,000 บาท/ตัน สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาทเท่านั้น ส่วนราคาข้าวเปลือก 14,000 บาท/ตัน แท้จริงแล้วจึงเป็นราคาที่รัฐบาลประกันให้กับโรงสีมากกว่า
   
   
       ชาวไร่อ้อยงง ธ.ก.ส.ยึกยักปล่อยกู้
       
       นายดำริ สุโขธนัง รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) เปิดเผยหลังการประชุมกอน.วานนี้(4มิ.ย.) ว่า กอน.เตรียมที่จะนำเสนอระเบียบเกี่ยวกับวิธีการจัดเงินรายได้เข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.)เพื่อชำระหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.) เข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อพิจารณาไม่เกิน 2 สัปดาห์นี้ ขณะเดียวกัน 46 โรงงานก็พร้อมจะเซ็นรับรองในการยืนยันปฏิบัติตามระเบียบส่งรายได้เข้ากท.จากการปรับขึ้นน้ำตาลหน้าโรงงาน 5 บาทต่อกิโลกรัม(กก.)เพื่อนำไปชำระหนี้ธ.ก.ส. เพื่อทำให้ธ.ก.ส.มั่นใจปล่อยกู้
       
       “ธ.ก.ส.ต้องการให้โรงงานเซ็นรับรองครั้งแรกโรงงานเองก็ไม่มั่นใจว่าเป็นการเซ็นค้ำประกันหรือไม่ก็ปรากฏว่าแค่เป็นการรับรองปฏิบัติตามเท่านั้นซึ่งโรงงานทั้งหมดจะเซ็นรองรับแนบไว้กับระเบียบเพื่อยืนยันผ่าน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายให้จึงคาดว่าธ.ก.ส.จะสามารถปล่อยกู้ให้ชาวไร่ได้ไม่เกินเดือนนี้”นายดำริกล่าว
       
       นายราชัย ชูศิลป์กุล เลขาธิการสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เดิมทีธ.ก.ส.จะปล่อยกู้เพิ่มค่าอ้อย 169 บาทต่อตันหรือคิดเป็นเงินกู้ 1.2 หมื่นล้านบาทโดยกำหนดเริ่มจ่าย 27 พ.ค.แต่ปรากฏว่าธ.ก.ส.ยังไม่พิจารณาโดยต้องการให้โรงงานเซ็นรับรองว่าจะปฏิบัติตามระเบียบเกี่ยวกับการนำเงินรายได้จากการขึ้นน้ำตาลหน้าโรงงาน 5 บาทต่อกก.ให้กับกท.เสียก่อนจึงจะยอมปล่อยกู้ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่าธ.ก.ส.คิดอะไรอยู่เพราะถึงอย่างไรโรงงานก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบอยู่แล้ว
       
       “ชาวไร่ต้องการเงินอย่างเร่งด่วนซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นอย่างไรก็หวังว่าใน 2 สัปดาห์ทางกท.คงจะได้ข้อสรุปกับธ.ก.ส. คิดว่าคงไม่น่ามีปัญหาอะไร”นายราชัย กล่าว
       
       แหล่งข่าวจากโรงงานน้ำตาลกล่าวว่า ไม่เข้าใจธ.ก.ส.ว่าทำไมต้องให้เซ็นรับรองว่าจะส่งเงินทั้งที่ระเบียบกอน.ก็มีชัดเจนแล้วว่าถ้าไม่ทำตามก็สามารถห้ามขนย้ายน้ำตาลแค่กฎข้อนี้โรงงานก็แย่แล้ว หรือมีปัญหาอะไรมากกว่านั้นน่าจะพูดให้ชัดเจนไปเลย


 
 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05-06-2008, 09:34 โดย oho » บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
    กระโดดไป: