ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
25-04-2024, 18:49
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สภากาแฟ  |  ธรรมะกับการเมือง 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
ธรรมะกับการเมือง  (อ่าน 2447 ครั้ง)
ชาวบ้าน
สมาชิกสามัญขั้นที่ 3
****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 101


« เมื่อ: 30-05-2008, 02:52 »

“ภาวะจำเป็นต้องทิ้งธรรมะ”


            กล่าวโดยสรุปจากประเด็นในคราวที่แล้ว  สำหรับท่านพุทธทาสภิกขุ  การเมืองย่อมเป็นเรื่องศีลธรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  และศีลธรรมต้องเกี่ยวเนื่องกับการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน  ทั้งนี้เพราะสาระและจุดมุ่งหมายหลักของศีลธรรม อยู่ที่การสร้างความเป็นปรกติ
            ในกระบวนการสร้างความเป็นปรกตินี้  ต้องกระทำในระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์  นับแต่ระดับบุคคล ชุมชน สังคม ไปจนถึงระดับโลกเลยทีเดียว กระบวนการนี้ย่อมนำมาสู่การเมือง
            และเนื่องจากมนุษย์ทุกคนต่างรู้สึกเดือดร้อนในความไม่ปรกติ  ใฝ่หาความเป็นปรกติแห่งชีวิต (ตามความคิดเห็นหรือหลักการของตน)  มนุษย์ทุกคน รวมทั้งพุทธบริษัท ทั้งพระเณร ชาววัดชาวบ้าน  จึงล้วนเป็น “นักการเมืองโดยความรู้สึก”
            ความรู้สึกดังกล่าวนี้  เป็นที่มาของความสนใจ ความคิด ทฤษฎี แนวทาง วิถีปฏิบัติ ทัศนะ ความเชื่อ รวมทั้งอุดมคติอุดมการณ์ทางการเมืองต่างๆ
            ตรงนี้ โยงมาถึงประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งของท่านพุทธทาสภิกขุ ว่าด้วยท่าทีพื้นฐานต่อธรรมะและการเมือง
นั่นคือประเด็นที่ท่านใช้คำว่า “อิสรภาพในการใช้สติปัญญาแก้ปัญหา” หรือ “อิสรภาพในการตัดสินใจ”
            ท่านพุทธทาสหยิบยกแนวโน้มหนึ่งที่ชัดเจนในโลกปัจจุบัน มากล่าวถึงอย่างน่าสนใจ  ท่านเรียกแนวโน้มหรือท่าทีที่มักยึดถือกันแพร่หลายนี้ว่า “ภาวะจำเป็นต้องทิ้งธรรมะ”
            “ภาวะจำเป็นต้องทิ้งธรรมะ”  คือ “การตกอยู่ในห้วงของความกลัว”  เป็นความรู้สึกต่อภาวะจำเป็นตามสภาพในโลกปัจจุบัน  ซึ่งอำนาจใหญ่ หรืออำนาจของประเทศใหญ่ ขยายตัว กดดัน บีบคั้นสังคมต่างๆ และประเทศต่างๆ ไปทั่ว  ทำให้ประเด็นทางการเมืองไม่อาจหนีไปไหนได้  นอกจากวนเวียนอยู่กับเรื่องความอยู่รอด เรื่องของอำนาจ เรื่องของผลประโยชน์
            ดังที่ท่านกล่าวว่า
             “ทีนี้มองดูถึงประเทศแต่ละประเทศ รวมทั้งประเทศเราด้วย มันตกอยู่ในหลุม ในบ่อ ในโชคร้าย ที่จะไม่เป็นไปเพื่อศีลธรรม คือว่าตกอยู่ในห้วงแห่งความกลัว....ก็ไม่กล้าชะเง้อไปมองศีลธรรม  ก็เอาแต่เรื่องการเมืองประโยชน์ เลยไม่รู้จักการเมืองที่ประกอบด้วยธรรม ที่จะช่วยได้.... ฉะนั้นจึงตกอยู่ในภาวะจำเป็นที่ต้องทิ้งพระธรรม  แม้ว่าจะเป็นประเทศพุทธบริษัท มันก็จำเป็นที่จะต้องทิ้งพระธรรม”
            ในสภาพเช่นนี้  ท่านเห็นว่าเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ผู้คนในสังคมทั้งหลายต้องตกอยู่ใน “หลุม” ใน “บ่อ” ใน “ความโชคร้าย” ที่ต้องคำนึงถึงแต่การเอาตัวรอด ไม่อาจมีอิสรภาพในการใช้สติปัญญา วินิจฉัยติดสินใจเกี่ยวกับความจริง ความเป็นธรรม หรือความยุติธรรมทางการเมืองสำหรับตนเองได้  ดังที่ท่านกล่าวต่อไปว่า
            “นี่ก็เรียกว่า ตกอยู่ในภาวะจำเป็นต้องทิ้งธรรมะ  ก็น่าเห็นใจ  ประเทศทั้งหลายในโลก โดยเฉพาะประเทศเล็กทั้งหลาย ซึ่งมีมาก จำเป็นจะต้องทิ้งความจริง ความยุติธรรม หรือธรรมะ ไปเอาตัวรอดกันก่อน แล้วนักการเมืองก็ต้องหมุนไปแบบนั้นหมด”
            คำกล่าวที่ว่า “แล้วนักการเมืองก็ต้องหมุนไปแบบนั้นหมด” นับว่ามีความสำคัญยิ่ง  เพราะท่านพุทธทาสกำลังกล่าวถึงท่าทีพื้นฐานแบบหนึ่ง  ที่เป็นหลักสำคัญของการเมืองในโลกสมัยใหม่
            ท่าทีพื้นฐานแบบนี้เน้น “ภาวะจำเป็น” ของการเมือง และ “ความเป็นจริง” ของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจและผู้มีอำนาจในรัฐต่างๆ  ว่า เป็นเรื่องของอำนาจ เป็นเรื่องความอยู่รอด ความเข้มแข็ง  การช่วงชิงความได้เปรียบ การแข่งขัน การครอบงำ และการยึดครอง
            เพราะฉะนั้น  จึงป่วยการที่จะคำนึงถึงความดีงาม ความเป็นธรรม หรือความยุติธรรม
            เมื่อพูดถึงรัฐและอำนาจทางการเมือง  “ภาวะความจำเป็น”  ย่อมทำให้รัฐทุกรัฐและผู้มีอำนาจ (นักการเมือง) ทุกแห่งหน  ไม่อาจคิดถึงอะไรอื่นได้  นอกจากความอยู่รอด ความมั่นคง ความได้เปรียบ และอำนาจครอบงำ
            นี้ย่อมหมายความว่า ผู้ปกครอง ผู้มีอำนาจ หรือนักการเมือง จะต้องพร้อมที่จะใช้ทุกวิธีการ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว --- แม้ว่าจะต้องละเมิดศีลธรรมหรือบรรทัดฐานว่าด้วยความเป็นธรรมใดๆ ก็ตาม ก็จำต้องทำ
            สำหรับผู้ที่เน้น “ความเป็นจริง” ในแบบนี้  ศีลธรรมอาจเป็นสิ่งที่ดีสำหรับบุคคลหรือสังคมทั่วๆไป   แต่สำหรับรัฐและการเมืองแล้ว  สิ่งที่เราต้องเผชิญอยู่ตลอดเวลาก็คือ สิ่งที่ท่านพุทธทาสเรียกว่า “ภาวะจำเป็นต้องทิ้งธรรมะ” นี่เอง
            ผู้ที่ศึกษารัฐศาสตร์คงทราบดีว่า  ในทางรัฐศาสตร์ของตะวันตก ท่าทีแบบนี้เกี่ยวเนื่องกับทัศนะและข้อถกเถียงที่นำเสนอโดย มาเคียเวลลี (Machiavelli) ตั้งแต่ช่วงต้นคริสต์ศวรรษที่สิบหก  จนเกิดเป็นสำนักคิดหรือลัทธิที่เรียกกันว่า มาเคียเวลเลียน (Machiavellian) หรือ มาเคียเวลลิสม์ (Machiavellism) นั่นเอง
            สำหรับสำนักหรือลัทธิที่ยึดถือแนวทางดังกล่าวนี้  เรื่องของธรรมะไม่อาจนำมาใช้กับรัฐและการเมืองได้ หรือหากจะนำมาใช้ ก็มุ่งหมายเพื่อสร้างความยอมรับ หรืออำพรางเจตนาเล่ห์กลต่างๆ ให้ดูสวยงาม หรือเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของผู้นำให้ดูน่าเลื่อมใสเท่านั้น
            เพราะความเป็นจริงของอำนาจและการเมืองนั้น  ย่อมพิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า  การเมืองที่ประกอบด้วยธรรมะนั้นไม่มีที่ทางในประวัติศาสตร์ ล้วนแต่ต้องล่มสลายลง ล้วนแต่ต้องพ่ายแพ้แก่กำลังอำนาจที่เหนือกว่า หรือเล่ห์เพทุบายมายาการที่แยบยลซับซ้อนกว่า  ซึ่งอาจจำแลงมาในภาพลักษณ์ของความดีและความยุติธรรมเสียด้วยซ้ำ
            บางคนถึงกับสรุปอย่างฟันธงเลยว่า  การเมืองที่ประกอบด้วยธรรมะนั้น ไม่เคยมีอยู่ และไม่มีทางมีอยู่ได้  หากมี ก็เป็นแค่มายาภาพที่สร้างขึ้นมาเพื่อหลอกกันเองในระหว่างผู้มีอำนาจ และหลอกให้ผู้ที่อยู่ใต้ปกครองศรัทธาเชื่อถือ ยอมรับในอำนาจของตน
            สำหรับผู้ที่ศึกษาความสัมพันธ์หรือการเมืองระหว่างประเทศ  ก็คงคุ้นกับจุดยืนสองแบบ
            แบบหนึ่งคือ จุดยืนแบบ realism ที่มีผู้แปลเป็นภาษาไทยว่า “สัจนิยม”  ซึ่งก็คือ หลักการหรือคติที่เน้นย้ำความสำคัญของ “ภาวะความจำเป็นที่ต้องทิ้งธรรมะ” นี้  และจุดยืนอีกแบบหนึ่ง  (ซึ่งพวกที่เรียกสำนักของตัวเองว่า “สัจนิยม” นี้ตั้งชื่อเรียกให้)  คือ “อุดมคตินิยม” หรือ idealism   ซึ่งเน้นการอยู่ร่วมกันอย่างมีความเป็นธรรมและสันติภาพที่ยั่งยืนเป็นเป้าหมาย
            ผมจะไม่กล่าวถึงรายละเอียดในเรื่องนี้ต่อไป  แต่เราจะเห็นได้ว่า ท่าทีที่ท่านพุทธทาสเรียกว่า “ภาวะจำเป็นต้องทิ้งธรรมะ” นี้  เป็นประเด็นที่สำคัญมาก  มีผู้ยึดถือกันโดยทั่วไป  และแท้ที่จริงแล้ว ไม่เพียงแต่ผู้ปกครองหรือผู้มีอำนาจเท่านั้นที่ยึดถือและอ้างภาวะแบบนี้  คนเป็นจำนวนมากในทุกสังคมก็ล้วนคล้อยตามหรือเชื่อในภาวะจำเป็นดังกล่าวนี้ด้วย
            ในสังคมไทย ความเชื่อหรือท่าทีแบบนี้ถูกแสดงผ่านเรื่องราวที่สำคัญๆ มากมาย  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่อง สามก๊ก  ซึ่งถูกใช้สร้างความรู้สึกหรือท่าทีแบบมาเคียเวลเลียน หรือ “สัจนิยม” อย่างชัดเจนมาโดยตลอด  เพราะผู้นำทางการเมืองในเรื่องนี้ทั้งหมด  พร้อมที่จะละเมิดศีลธรรมใดๆ ก็ตาม เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบและชัยชนะ
            การเมืองไทยในระบอบรัฐสภานับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา  ก็มักดำเนินไปด้วยการเปรียบเปรย  การอ้างคติความเชื่อ บุคลิกภาพ ตลอดจนแผนการและการกระทำการของตัวละครในเรื่องสามก๊กนี้  จนอาจถือเป็น “วาทกรรม” ที่ใหญ่โตอย่างหนึ่งของสังคมไทยก็ว่าได้
            ความอยู่รอด ความมั่นคง ความเข้มแข็ง ความเจริญ การพัฒนา ฯลฯ ของประเทศไทย รัฐไทย หรือชาติไทย  ก็เป็นข้ออ้างทางศีลธรรมที่ทรงพลังที่สุด เหนือข้อพิจารณาทางศีลธรรมอื่นๆ มาตลอด  ไม่ว่ารัฐหรือผู้นำจะกระทำการอย่างไร ด้วยวิธีการใดก็ตาม
            ท่านพุทธทาสภิกขุแลเห็นถึงอาการ “ตกอยู่ในห้วงแห่งความกลัว ไม่กล้าชะเง้อไปมองศีลธรรม”  ดังกล่าว อันทำให้การเมือง “ต้องทิ้งความจริง ความยุติธรรม หรือธรรมะ”   และท่านก็เห็นว่า สำหรับ “ประเทศเล็กทั้งหลาย”  นี้นับเป็นเรื่อง “น่าเห็นใจ”
            แต่แน่นอนว่า ท่าทีเช่นนี้ไม่อาจกลายเป็นสิ่งที่ดีงามโดยตัวของมันเองได้  ภาวะจำเป็นกับภาวะที่พึงประสงค์นั้น เป็นคนละเรื่องกัน  ยิ่งการที่ภาวะจำเป็นนี้จะถูกตอกย้ำ และปฏิบัติจนกลับกลายเป็นบรรทัดฐานแทนที่บรรทัดฐานอื่นๆ เสียแล้ว  ย่อมเป็นเรื่องเลวร้ายอย่างยิ่งสำหรับการเมือง
            ท่านพุทธทาสเตือนให้เราตระหนักถึงอาการตกอยู่ในหลุมบ่อหรือความโชคร้ายแห่งภยาคติแบบนี้   และเสนอว่า ในอันที่จะมีอิสรภาพทางสติปัญญาสำหรับวินิจฉัยเกี่ยวกับการเมือง  เราต้องกล้าที่จะข้ามพ้นความกลัว กล้าที่จะ “ชะเง้อมอง” ให้หลุดจากวังวนวิธีคิดแบบนี้
            ท่านเน้นย้ำว่า “เพราะฉะนั้นความหวังที่ว่า ศีลธรรมกลับมา  ธรรมะกลับมานี้  ควรจะอยู่ในความหวัง  ไม่ควรจะสิ้นหวัง ไม่ควรจะเลิกเสีย  แล้วก็หวังให้มากๆ ไว้ดีกว่า  เพราะว่าถ้ามันไม่ได้เต็มนั้น แล้วมันก็จะได้พอสมควร  ถ้าเราหวังน้อยเกินไป มันไม่ได้ แล้วมันจะหมดเลย”
            การเมืองเป็นเรื่องของความหวังทางสังคม  ซึ่งไม่ควรปล่อยให้ข้ออ้างว่าด้วย “ภาวะจำเป็นต้องทิ้งธรรมะ” ใดๆ มาครอบงำจนโงหัวไม่ขึ้น



จาก http://www.buddhadasa.in.th/site/articles/politic/2.php
บันทึกการเข้า

----เราต่างมาจากทั่วทุกสารทิศ มีชีวิตกันรวมอยู่ในป่าเขา จากบ้านเกิดเมืองนอน ถึงไพรลำนำ ด้วยพวกเรามีอุดมการณ์อันเดียวกัน----
หน้า: [1]
    กระโดดไป: