ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
27-09-2024, 22:49
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สภากาแฟ  |  นักวิชาการเสนอทางออกตั้งกก.รวมกลุ่มพลังปัญญา ศึกษารธน. 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
นักวิชาการเสนอทางออกตั้งกก.รวมกลุ่มพลังปัญญา ศึกษารธน.  (อ่าน 1663 ครั้ง)
ปุถุชน
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 10,332



« เมื่อ: 29-05-2008, 09:41 »

นักวิชาการเสนอทางออกตั้งกก.รวมกลุ่มพลังปัญญา ศึกษารธน.

เวทีนักวิชาการอภิปรายการแก้ รธน. เสนอทางออกตั้งกก. รวมกลุ่มพลังปัญญาศึกษารธน. เน้นไม่ต้องรีบแก้ หวังได้รธน.ดีที่สุด “ตระกูล” อัด “สมัคร” เลิกทำประชามติ สูญเงินเปล่า-สร้างความแตกแยกเพิ่มขึ้น “สมชาย” เปรียบสังคมตาบอดคลำช้าง คิดต่างคือศัตรู “เจษฎ์” เตือนถอยคนละก้าว ยุติความขัดแย้ง

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : วานนี้(28พ.ค.)จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการอภิปรายทางวิชาการเรื่อง “วิเคราะห์ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550” จัดโดยศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย (Thailand Democrat Watch) คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีนักวิชาการเข้าร่วม ได้แก่ ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ตระกูล มีชัย อาจารย์คณะรัฐศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.เจษฎ์ โทณวนิก นักวิชาการอิสระ และศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา เป็นผู้ดำเนินรายการ

ศ.ดร.นันทวัฒน์ กล่าวว่า ตนวิตกกังวลในหลายประเด็น เพราะการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ ขอย้อนเมื่อก่อนการปฏิวัติใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ซึ่งเป็นช่วงมีปัญหาทางการเมืองเยอะ กระแสแก้ไขรัฐธรรมนูญก็มีเยอะ ครั้งหนึ่งที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เคยบอกจะให้มหาวิทยาลัยยื่นข้อเสนอว่าจะแก้ไหนได้บ้าง รัฐธรรมนูญปี 40 เห็นอยู่แล้วว่ามีปัญหาแน่ และยังรอให้มีการแก้ไขอยู่ และเมื่อมาดูรธน.ปี50 ก็มีปัญหามากพอสมควรมีเสียงคัดค้านในหลายประเด็น แต่ที่แปลกคือเมื่อมีการลงประชามติรัฐธรรมนูญปี 50 แล้วเสียงของการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เงียบไป เมื่อมีการเลือกตั้งมีพรรคเดียวที่หัวหน้าพรรคเสนอตั้งกรรมการขึ้นมาศึกษาประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่พอจัดตั้งรัฐบาลแล้วข้อเสนอนี้เงียบไปอีก ตนได้เคยเสนอผ่านไปยังฝ่ายต่างๆ ว่าควรมีคณะกรรมการขึ้นมาศึกษารัฐธรรมนูญปี 50

ศ.ดร.นันทวัฒน์ กล่าวว่าคิดว่ารัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษา เพราะหากมีคณะกรรมการขึ้นมาดูคงไม่เกิดกระแสคัดค้านแรงขนาดนี้ รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายชัดเจน คือจะแก้มาตรา 237 ก่อน ส่วนตัวเห็นด้วยในการแก้ไขทั้งฉบับ เพราะคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่รัฐธรรมนูญปี 50 สมบูรณ์ เพราะมีเวลาในการร่างที่จำกัด และอยู่ในสภาวะที่เกิดการปฏิวัติด้วย การจะแก้รัฐธรรมนูญต้องตัดการเมืองออก แก้โดยไม่มีใครเกี่ยวข้อง ตั้งแต่มีการเขียน รธน.มา เราลองแล้วทุกรูปแบบตั้งแต่ให้ทหารเขียน ทหารเลือกมาเขียน หรือเอาคนนอกมาเขียน ไม่ว่าอย่างไหนเราก็เห็นแล้วว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาทุกรูปแบบ แต่รูปแบบที่เป็นนักวิชาการแท้ๆ ยังไม่มี ตนยังคิดว่า ถ้าผู้เขียนรัฐธรรมนูญเป็นวิชาการจริงๆ จะเป็นไปได้หรือไม่ ส่วนสภาจะไปรับแก้ไขต่อไปก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ศ.ดร.นันทวัฒน์ กล่าวต่อว่า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องมีผู้นำที่มีทั้งความรู้ และบารมี วันนี้ยังไม่เห็นใครที่มีความเป็นผู้นำในการแก้รัฐธรรมนูญได้อย่างแท้จริง ตอนต้นรัฐบาลบอกจะแก้มาตรา 237 อันเดียว ซึ่งตนไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว แต่ถ้าแก้ทั้งฉบับเห็นด้วย ต่อมาจึงได้พ่วงมาตรา 309 ด้วย แต่เมื่อมีการคัดค้านจึงเกิดการแก้ไขทั้งฉบับในวันนี้

“หลังการเลือกตั้งน่าจุดประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ ฝ่ายที่ได้รับ และไม่ได้รับเลือกตั้งก็โทษรัฐธรรมนูญทั้งหมด ทำไมได้รับเลือกตั้งมาแล้วไม่ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาทันที เพราะเมื่อไม่ตั้งขึ้นมาศึกษาอยู่ๆ จะมาแก้เลยเป็นเหตุให้สังคมยอมรับได้ยาก ยกเว้นแต่ตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลาง และไม่ควรรีบเร่งในการแก้ไข เพราะจะมีปัญหาว่ารัฐธรรมนูญปี 51 ไม่ได้ดีไปกว่ารัฐธรรมนูญ ปี 50 เลย ที่เคยทำการศึกษามาว่ารัฐธรรมนูญ ปี 40 มีปัญหา ทำไมเรายังวิ่งกลับไปหาอีก ทำไมไม่แก้รัฐธรรมนูญปี 40 ให้ดี ให้ละเอียดเพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด และแท้จริงถาวร” ศ.ดร.นันทวัฒน์ กล่าว

รศ.สมชาย กล่าวว่า คิดว่าการพูดถึงเรื่องนี้ในปัจจุบันมีความสำคัญตน จะไม่เติมเชื้อไฟให้เกิดความเกลียดชังมากขึ้น และตนเห็นว่าคนที่เห็นต่างไม่ใช่คนที่ต้องฆ่ากัน เราควรคิดถึงทางออกของสังคมไทย เพราะตกอยู่กับความขัดแย้งมาพอสมควร ปฏิเสธไม่ได้ว่าการให้ความเห็นจะมีส่วนต่อการสนับสนุน หรือลดทอนฝ่ายที่เคลื่อนไหวอยู่ขณะนี้ การเมืองกับวิชาการบางครั้งก็แยกออกจากกันได้ ตนแยกออกเป็น 4 ประเด็นคือ 1.มุมมองจาก 2 ขั้วต่อการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะคิดว่าการแก้ไขรธน.มาจากจุดยืนทางการเมืองค่อนข้างสูง

ขั้วแรกคือ พรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นักวิชาการบางส่วน กลุ่มนี้คิดว่า การแก้ขไรธน.ครั้งนี้เป็นการยกเลิก แก้ไขเพราะมีความขัดแย้งต่อผลประโยชน์ เช่น แก้บางมาตรา แก้ให้มีผลประโยชน์ได้เสีย หรือการแก้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

ขั้วที่สองคือ พรรคพลังประชาชน นักวิชาการบางส่วน และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) โดยอ้างว่าใช้สิทธิของส.ส.ในการแก้รธน.ตามมาตร 291 ขจัดการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ขจัดการแทรกแซงของระบอบอำมาตยาธิปไตย ซึ่งหมายถึงระบอบการปกครองแบบข้าราชการเพื่อข้าราชการ หรือระบบอุปถัมน์

สังเกตุได้ว่า 2 ขั้วนี้อยู่กันคนละโลกต่างคนต่างมอง ตนเห็นว่าการแก้ไขรธน.ถูกมองจากจุดยืนทางการเมืองมาก จึงทำให้คำอธิบายทางวิชาการบางครั้งเห็นว่าดีแล้วแต่พอเข้าไปอยู่ทางการเมืองก็ถูกบิดเบือน

2.ตำแหน่งแทนที่ความขัดแย้งในครั้งนี้ มีความขัดแย้งสืบเนื่องมา ช่วง 3 ปีหลัง มี 5 เรื่องสำคัญ คือ 1.ในช่วงรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณปี 2548 2.ช่วงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 3.การลงประชามติรับรธน. 4.การเลือกตั้งวันที่ 23 ธ.ค.2550 และ 5.การยื่นแก้ไขรธน.เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2551 นี่คือ 5 จุดสำคัญที่เป็นปมขัดแย้งทางการเมืองที่มีผลสืบเนื่องกัน

3.สงครามตาบอดคลำช้าง เห็นต่างคือศัตรู เป็นเรื่องของคนตาบอด 2 กลุ่ม ฝ่ายหนึ่งปิดตาบอกว่า รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณเลวสุด เป็นเผด็จการทุนนิยม ทุนนิยมสามาน หันมาหนุนรัฐประหาร ใครไม่เห็นด้วยคือชั่วสุด และมองไม่เห็นด้านลบการเมืองชนชั้นนำที่ไร้การตรวจสอบของรัฐธรรมนูญเหมือนกับสว.มาจากการสรรหา ฝ่ายที่สอง ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เป็นเผด็จการ มองไม่เห็นด้านลบของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณที่มีการแทรกแซงองค์กรอิสระ ปัจจุบันสังคมไทยอยู่ในสภาวะแบบนี้

“ที่น่ากลัวคือสังคมไทยกำลังมองฝ่ายที่เห็นต่างคือศัตรู ซึ่งบรรยากาศทางสังคมเป็นส่วนกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศทำให้เรารู้สึกเกลียดชัง ถ้าสังคมอนุญาตให้มีการกระตุ้นผ่านสื่อบ่อยๆ การตีกันไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เห็นต่างไม่ใช่ศัตรู หากมีทางเลือกว่าต้องยืนอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง ผมเห็นว่าต้องเป็นความรับผิดชอบของสถาบันการศึกษาและนักวิชาการที่ไม่สามารถทำอะไรได้เลยหรือน่อมแน้ม” รศ.สมชายกล่าว

4.พวกสองไม่เอา คือไม่เอาอะไรเลย มีข้อเสนอคือ เราเผชิญหน้าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างไร 1.ด้วยจำนวนมือข้างมากในสภา คือพรรคพลังประชาชนที่จะแก้ไขรธน. การคัดค้านเกิดขึ้นสูง เพราะคนไม่วางใจในการแก้ของพปช. 2.แก้ด้วยจำนวนเท้านอกสภาคือ แบบพันธมิตร การทำรัฐประหารเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้น้อยมาก หรือไม่แก้ปัญหาอะไรเลย และไม่สามารถนำสังคมไปสู่ความสมานฉันได้เลย

รศ.นายตระกูลกล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 50 ตนวิจารณ์ตลอดว่า บางเรื่องตนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย แต่เมื่อดูร่างที่เสนอเข้าสู่สภา และพยายามติดตามจากสื่อก็ยังไม่รู้วาประเด็นจริงๆ ที่ต้องการแก้คืออะไร สิ่งที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี บอกให้ลงประชามติ เป็นทางออกจริงหรือ การตัดสินใจของประชาชนจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ปัญหาคือใช่เหตุผลที่แท้จริงหรือ แล้วรัฐบาลจะนำมาแก้ไขหรือไม่ ถ้าเป็นอย่างนี้ตนยืนยันได้เลยว่าลงประชามติครั้งนี้รัฐบาลชนะแน่ แต่อยากถามว่ามันใช่ทางออกแล้วหรือ หากสมมติว่ามีนักวิชาการทุกมหาลัยทำเป็นข้อเสนอมาให้รัฐบาลจะเอาหรือไม่ แต่ไม่จำเป็นต้องรีบแก้ เพราะถ้าไม่แก้ใน 60 วัน ข้าวราคาจะตกหรือ น้ำมันจะถูกลง หรือเพราะกลัวคนที่อยู่เบื้องหลังจะมีปัญหา จะตีตนไปก่อนไข้ทำไม ไปคิดเองว่าศาลจะตัดสินอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าไม่รีบทุกคนถอยออกหมด สิ่งสำคัญคือใครจะเป็นคนห้าม ที่ไม่ใช่การทำรัฐประหาร

“หากเราปล่อยให้ทุกฝ่ายชนกัน ก็จะเกิดเหตุการที่รุนแรงยิ่งกว่าเหตุการพฤษภาทมิฬ แต่ปัญหาคือกลุ่มพลังอื่นๆ คือกลุ่มพลังทางปัญญาและกลุ่มพลังความคิดเงียบหายไปหมดเลย หากหาทางออกไม่เจอก็ต้องปล่อยไปให้ชนกัน การเผชิญหน้าก็จะขยายไปเรื่อยๆ ก็แก้ไม่ได้ มันมืดบอดทางปัญญาและความคิดที่จะแก้ไขสถานการณ์การเมืองไทย ดูจากสื่อมวลชนก้เห็นชัดว่าแบ่งเป็น 2 ทาง ผมพยายามหาทางที่ 3 คือมีการตั้งคณะกรรมการศึกษาแต่เพราะมีเสียงตอบรับน้อยนี่คือปัญหา ผมดูจากสาระในร่างแก้ไขเห็นว่าเนื้อหาที่เสนอมาไม่ใช่เป็นการแก้ไข แต่เป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการจองล้างจองผลาญกัน ของ 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ทำรัฐประหาร ส่วนอีกกลุ่มที่พยายามใช้เสียงในสภา ถ้าปล่อยให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบนี้เรื่องก็ไม่จบ หรือพันธมิตรจะกดดันให้รัฐบาลลาออกเรื่องก็ไม่จบเช่นกัน”รศ.ตระกูล กล่าว

รศ.ตระกูล กล่าวว่า ปัญหาการเมืองกับการแก้รัฐธรรมนูญน่าจะยุติได้ถ้ามีกลุ่มทางปัญญาของไทยมาพูดคุยกันอย่างจริงจัง ไม่มีฝ่ายไม่มีพวก หาทางออกทางการเมืองเสนอต่อสาธารณชนว่ามีทางออกอย่างนี้หรือจะรอให้ถึงจุดแตกหักเพราะจะเกิดการนองเลือด เราคงไม่อยากให้มีการเลือดตกยางออกกันอีก ประชาชนโดยทั่วไปยังขาดความรู้ความเข้าใจในรัฐธรรมนูญอยู่ ซึ่งกลุ่มทางปัญญาต้องรวมตัวกันและเสนอความคิดออกมา ให้สื่อมวลชนช่วยเผยแพร่เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

“ผมขอร้องคุณสมัครเลิกความคิดการลงประชามติว่าจะแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญ เพราะไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรถ้าจะแก้ แก้อะไร แก้ผ้าหรือ แก้ผ้ายังรู้ว่าแก้อะไร แก้ตรงไหน เสียดายเงิน 2 พันล้าน ถ้าอยากจะใช้เงินจริงๆ เอามาให้ผู้มีปัญญาไม่ใช่แต่นักวิชาการเท่านั้นให้มาศึกษาและหาประเด็นที่ตกผลึก หาข้อยุติที่ยอมรับได้ แล้วนำมาให้ความรู้กับประชาชน แต่หากตกลงไม่ได้ค่อยทำประชามติ เช่น จะให้มีสภาเดียวหรือ 2 สภา อย่าดันทุรังออกเสียงงประชามติเพราะไม่ใช่แค่เสียเงินอย่างเดียว แต่สร้างความแตกแยกหนักขึ้นไปอีก ยืนยันว่าบทบาทราชกการยังถูกครอบงำจากผู้มีอำนาจทางการเมืองที่จะใช้อิทธิพลบอกให้ประชาชนกากบาทรับ” รศ.นายตระกูลกล่าว

ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เป็นขั้วทางความคิดหรือไม่ แต่เป็นทิฐิ เพราะการเมืองต้องมีขั้วอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ายอมรับในความเห็นต่างได้หรือไม่ แล้วจะเปิดใจในสิ่งที่ไม่เห็นด้วยได้อย่างไร เรื่องรัฐธรรมนูญเราเข้าใจหรือยังว่ามันคืออะไร การเสนอทำประชามติคือการทำปาหี่อย่างหนึ่ง ถ้าเราไม่ถอยคนละก้าวสังคมไปไม่ได้ ตนไม่เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับไหนจะดี เพราะหากดูเรื่องดีเรื่องไม่ดี ตนเห็นว่ากฎหมายทุกฉบับเป็นปัญหาได้ทั้งนั้น คนที่คิดว่าควรแก้ไข การที่จะแก้มันต้องใช้คนรู้มาแก้

“การที่บอกว่าไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยให้เหตุผลว่ามาจากรัฐประหาร ถ้าคิดอย่างนั้นก็ต้องดูตั้งแต่เริ่มแรก ไม่เช่นนั้นรัฐบาลนี้อยู่ไม่ได้ สภาก็อยู่ไม่ได้ ทุกกระบวนการที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญ 50 ก็อยู่ไม่ได้ ถ้าไม่อย่างนั้นก็อย่าหยิบยกขึ้นมาพูด อย่ามาบอกให้ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งมา และรัฐบาลอยู่ต่อ เพราะนี่คือการเกลียดตัวกินไข่ว่าแต่เขาอีเหนาเป็นเอง หากองค์กรที่มาจากการรัฐประหารได้หมดวาระไปแล้วพ.ต.ท.ทักษิณจะกลับมา โดยมีเงื่อนไขของการแก้รธน.ทั้งหมด หรือตลอดจนตีกลับสำนวนของคตส. ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีองค์กรขึ้นมาตรวจสอบในคดีของพ.ต.ท.ทักษิณและรัฐมนตรี ถ้าไม่ถอยคนละก้าวไม่ว่าใครเรื่องก็ไม่จบ มีสิ่งเดียวที่ให้สังคมเดินไปข้างหน้าได้คือถอยคนละก้าว” ดร.เจษฎ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างที่มีการสัมมนาได้มีรศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาตร์ศาสตร์ ภาควิชาการปกครอง เข้ามาร่วมฟังสัมมนา และได้ถามคำถามทำไมพรรคประชาธิปัตย์ถึงเป็นขั้วเดียวกับพันธมิตรประชาชนประชาธิปไตย เพราะสมัยที่มีเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้ออกมาร่วมเดินบนท้องถนน เล่นการเมืองแต่ในสภา แต่มาวันนี้พรรคปชป.ออกมาร่วม และเป็นขั้วเดียวกันกับพันธมิตร ถือว่าไม่มีความเป็นธรรม และมีการยึดหลักการว่า อะไรก็ตามที่มาจากรัฐประหารก็ต้องอยู่ไม่ได้ เช่นคมช.ก็ต้องพ้นอำนาจ เพราะฉะนั้นรัฐบาลนี้ก็มาจากอำนาจของคมช. ซึ่งรัฐบาลก็ต้องอยู่ไม่ได้เหมือนกัน ซึ่งตนอยากจะบอกว่าตอนนั้นคนที่มีความสุขมากที่สุดคือ พ.ต.ท.ทักษิณ และคณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน
ส่งต่อให้ผู้อื่น  พิมพ์ข่าวหน้านี้ บันทึกข่าวลงเครื่อง
 
http://www.bangkokbiznews.com/2008/05/29/news_261723.php



ผมคิดว่าเนื้อหาของการอภิปรายนี้ สะท้อนเหตุการณ์ การเมือง และ สังคมไทยในขณะนี้อย่างน่าสนใจ
จึงนำมาให้อ่าน ได้รับรู้มุมมองของนักวิชาการ เปรียบเทียบกับทัศนะ คำพูดของนักการเมืองไทยและนักเคลื่อนไหวในขณะนี้...
บันทึกการเข้า

“หัวใจของการเมือง คือ ความไม่เห็นแก่ตัว หากเห็นแก่ตัวและพรรคของตัวแล้ว จะเห็นแก่มวลชนได้อย่างไร ดังนั้น นักการเมืองควรมีศีลธรรม ยึดถือธรรม บูชาธรรมยิ่งกว่าคนธรรมดา เมื่อเราทราบดีว่า การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมปัจจุบันมีปัญหาที่ต้องแก้ไข หากผู้ที่อาสาเข้ามายังจะใช้วิธีการเดิมๆ อีก ย่อมจะแก้ไขไม่ได้ เพราะปัจจุบันเป็นผลของอดีต และจะเป็นเหตุของอนาคต ต้องคิดให้ดี พูดให้ดี และทำให้ดี ในอนาคตจึงจะมีความหวังได้ มิฉะนั้นผู้สนับสนุนผู้ถูกร้อง(พ.ต.ท.ทักษิณ) จะต้องผิดหวังในที่สุด”


อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประเสริฐ นาสกุล ได้มีคำวินิจฉัยส่วนตัวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีความผิดในคดีซุกหุ้น......
วิหค อัสนี
ขาประจำขั้น 2
******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 946



« ตอบ #1 เมื่อ: 29-05-2008, 16:06 »

ถ้าพวกนักการเมืองพรรคร่วมรัฐบาล ยังมีเศษๆ ของสามัญสำนึก และจิตสำนึกที่เห็นแก่บ้านเมืองอยู่บ้าง

ก็ควรที่จะออกมาผลักดันแนวทางปฏิรูปการเมืองรอบใหม่ ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ เปิดโอกาสให้สังคมทุกส่วนเข้ามามีส่วนร่วม

นอกจากนี้ ไม่มีทางไหนที่จะจบอย่างสวยหรู และเป็นผลดีกับพวกเขาหรอก ...ไม่มีเลย

บันทึกการเข้า

_______ดังนี้แล
__เปลวไฟจักลุกโชน
___หามีวันดับลงได้
_ตราบที่ในมือพวกสูเจ้า
ยังแต่น้ำมันเตาให้ราดรดไป
หน้า: [1]
    กระโดดไป: