ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
20-04-2024, 18:59
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สภากาแฟ  |  ธีรยุทธซัด‘รบ.ลูกกรอก’ ..! มี2กุมารทองคะนองฤทธิ์ อัดอยู่ในยุคชั่วครองเมือง ชคม. 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
ธีรยุทธซัด‘รบ.ลูกกรอก’ ..! มี2กุมารทองคะนองฤทธิ์ อัดอยู่ในยุคชั่วครองเมือง ชคม.  (อ่าน 1026 ครั้ง)
Aha555
สมาชิกสามัญขั้นที่ 3
****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 168



« เมื่อ: 01-05-2008, 16:24 »

“ธีรยุทธ” วิพากษ์แสบเปรียบรัฐบาล “ลูกกรอก 1” ชี้วิบัติ “ชั่วครองเมือง” 
 
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 1 พฤษภาคม 2551 13:32 น.
http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9510000051002
 
 
  “ธีรยุทธ” วิพากษ์รัฐบาลหมัก เปรียบเสมือน “ลูกกรอก 1” มี “รักเลี้ยบ-ยมมิ่ง” มี “กุมารทองคะนองปากกับกุมารทองอำนาจ” เป็นองค์ประกอบสำคัญ เตือนหาก 2 กุมารทองไม่เลิกทะเลาะกับคนไปทั่ว ก็จะเกิดการต่อต้านมากขึ้นภายใน 6 เดือน-1 ปีข้างหน้า ขณะเดียวกัน ให้ระวังยุควัฏจักรวิบัติ “นักการเมืองชั่วครองเมือง ระบุ ถ้ายังมุ่งแก้ รธน.ให้ตัวเองพ้นผิดจะเข้าสู่วิกฤตรอบสอง
       
       วันนี้ (1 พ.ค.) นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้วิเคราะห์การเมืองไทย โดยชี้จุดอ่อนจุดแข็งของรัฐบาลภายใต้การนำของ นายสมัคร สุนทรเวช โดยเปรียบเทียบเป็น รัฐบาล “ลูกกรอก 1”
       
       ทั้งนี้ ในเอกสารการวิเคราะห์ของเขาได้แยกให้เห็นรายละเอียดดังนี้
           
วิเคราะห์การเมืองไทย
     
ธีรยุทธ บุญมี
       
1   โอกาสของประเทศไทย

       
       โลกกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เศรษฐกิจอเมริกาถดถอย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และเอเชียก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในหัวรถจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก มีการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ด้านเศรษฐกิจการเงิน ด้านวัฒนธรรม ด้านประชากร ฯลฯ ใหม่หมด ไทยต้องปรับโครงสร้าง (restructuring) ตัวเอง เพื่อฉวยประโยชน์ให้มากที่สุด เนื่องจากประชากรเอเชียที่ร่ำรวยขึ้นมีจำนวนมาก ทำให้อาหารและวัตถุดิบราคาสูงขึ้น เป็นโอกาสที่ดีของภาคเกษตรวัตถุดิบของไทย ไทยยังมีความสามารถเป็นผู้นำด้านวัฒนธรรม การบริการ การแพทย์ และการท่องเที่ยว ที่จะเติบโตขึ้นอีกมหาศาลได้ ในทางภูมิศาสตร์ไทยยังเป็นศูนย์กลางทางคมนาคม ขนส่งและจัดการสินค้าวัตถุดิบ (logistic hub) ได้ดี และยังเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงวัฒนธรรมจีน อินเดีย เอเชียอาคเนย์ที่ดีได้ด้วย รัฐบาลต้องฉวยโอกาสนี้ให้ดี อย่าหมกมุ่นกับการแก้ปัญหาตัวเอง
       
       
2  จุดแข็ง จุดอ่อน และโอกาสของรัฐบาลพลังประชาชน

       
       1. ปัจจุบันความคิดประชาธิปไตยเลือกตั้งปักหลักมั่นคงในประเทศไทย ทุกฝ่ายรวมทั้งวงวิชาการไม่ควรมีอคติว่าพรรคใดควรได้จัดตั้งรัฐบาล พปช. มีความชอบธรรมเต็มที่ที่จะจัดตั้งรัฐบาลไปได้ 4 ปี แต่คนจะยอมรับฝีมือในการบริหาร การลุแก่อำนาจ หรือความซื่อสัตย์สุจริตหรือไม่ ยังเป็นอีกปัญหาหนึ่ง
       
       ชาวบ้านชมชอบพปช. หรือทรท. จนชนะการเลือกตั้งท่วมท้นมา 3 หนติดต่อกัน เป็นโอกาสดีที่พปช. จะสร้างสิ่งดีๆ ที่ยั่งยืนให้แก่ชาวบ้านได้ 3 ด้านคือ ก) ยกระดับความมั่นใจในอำนาจตัวเองของชาวบ้านทั่วประเทศ แทนที่จะทำให้ประชาชนเสพติดอยู่กับผลประโยชน์ของประชานิยม ข) พปช. มีโอกาสทำให้ประชาชนภาคต่างๆ มีความทัดเทียมกันมากขึ้น ถ้าดำเนินนโยบายถูกต้อง จัดสรรงบประมาณที่ไม่สร้างหนี้ให้ชนบท แต่หันมาสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การสื่อสาร คมนาคม การศึกษาวิจัย การแพทย์ สุขภาพอนามัย ค) สนับสนุนความทัดเทียมทางวัฒนธรรมชาวบ้านภาคต่างๆ กลุ่มต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ และจะเกิดประโยชน์ระยะยาวแก่เศรษฐกิจท่องเที่ยวและความสมานฉันท์ในประเทศ
       
       2. จุดอ่อนของรัฐบาลกุมารทองหรือรัฐบาลลูกกรอก 1
       พปช. ถูกกล่าวหาว่าเป็นนอมินีของทรท. เรามักแปลนอมินีว่าหุ่นเชิด ซึ่งไม่ตรงนัก เพราะหุ่นไม่มีชีวิตจิตใจ นอมินีมักเป็นบุคคลที่อ่อนวัยวุฒิกว่า ด้อยคุณวุฒิ ความฉลาดกว่าเจ้าของ แต่มีความซื่อสัตย์จงรักภักดีสูง ในวัฒนธรรมไทยมีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งคือการเลี้ยงลูกกรอก ซึ่งผู้มีอาคมปลุกเสกจากทารกที่หมดอายุขัยไปแล้วให้กลับมามีอิทธิฤทธิ์ ควบคุมจิตใจให้ซื่อสัตย์ จงรักภักดี คอยช่วยทำงานให้ จึงควรแปลนอมินีว่า “ลูกกรอก” และเรียกรัฐบาลสมัคร สุนทรเวชว่า รัฐบาลลูกกรอก 1 ซึ่งลูกกรอกคณะนี้มีระดับผู้นำอยู่ 2 ตนคือ รักเลี้ยบ ยมมิ่ง มีฤทธิ์เดชฉกาจฉกรรจ์ ส่วนหัวหน้าคณะลูกกรอกมี 2 ตน เป็นกุมารทองคะนองฤทธิ์ ตนที่หนึ่งเป็นกุมารทองคะนองปาก คิดอะไรก็พูดอย่างนั้นทันที จนสร้างศัตรูไปทั่วทุกกลุ่ม กุมารทองตนที่ 2 คะนองอำนาจ ชอบอยู่กระทรวงที่มีอำนาจ เชื่อมั่นว่าอำนาจจะสามารถทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องเกรงใจใคร
       
       รัฐบาลคณะลูกกรอกแม้จะมีฤทธิ์เดช แต่ด้อยวัยวุฒิ คุณวุฒิ ความสามารถกว่าจอมขมังเวทผู้เป็นเจ้าของ จึงทำให้ความชอบธรรมไม่สูงเท่าที่ควรจะเป็น สองกุมารทองผู้นำก็ทะเลาะกับผู้คนไปในทุกๆ เรื่อง ทำให้รัฐบาลตกอยู่ในฐานะมีตำแหน่งอำนาจได้แต่ปกครองไม่ได้ ภายใน 6 เดือนถึง 1 ปีคาดว่าจะถูกผู้คนต่อต้านหนักมากขึ้น แต่รัฐบาลน่าจะอยู่ได้ยาวกว่านี้ จุดอ่อนของพปช. ก็อยู่ตรงนโยบายประชานิยม ซึ่งเกิดข้ออ่อนหลายอย่างคือ
       
       ก. การจัดตั้งรัฐบาลต้องเอาตัวแทนจากท้องถิ่นมาเป็นรัฐบาลมากขึ้น จึงขัดแย้งกับชนชั้นกลางในกทม. และตัวจังหวัดใหญ่ต่างๆ ที่คาดหวังการตั้งรัฐบาลที่มีผู้เชี่ยวชาญหรือมืออาชีพเป็นหลัก
       
       ข. ระบอบพรรคการเมืองไทยอยู่กับการซื้อเสียงจ่ายเงินให้ชาวบ้าน จึงต้องถอนทุนคืน การคอร์รัปชั่นในสมัยรัฐบาลชุดนี้จะนำไปสู่การคัดค้านของสังคมอย่างกว้างขวาง และขยายตัวเป็นการขับไล่รัฐบาลได้
       
       ค. จะเกิดความขัดแย้งผลประโยชน์ระหว่างจอมขมังเวท กุมารทอง และบรรดาลูกกรอก
       
       ง. ทั้งพวกรักทักษิณและพวกคัดค้านทักษิณมีกลุ่มที่มีความคิดสุดขั้วแฝงอยู่ ในพวกรักทักษิณมีสุดขั้วเชิงอุดมการณ์ที่ต้องการเปลี่ยนประเทศอย่างสุดโต่ง ซึ่งจะเป็นตัวเร่งให้ความขัดแย้งในสังคมเกิดเร็วขึ้นและขยายตัวได้ง่าย
       
       จ. ปัญหาเศรษฐกิจมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะปัญหาเงินเฟ้อ บุคลากรของพปช. ขาดความเป็นมืออาชีพ อาจทำให้ปัญหาแรงขึ้นกลายเป็นจุดอ่อนสำคัญของรัฐบาลได้
       
       
       
       
3 แนวโน้มอนาคต

       1. วัฏจักรวิบัติ: ระวังอย่าก้าวจากยุค คมช. สู่ยุค  ชคม..
       
       ในอดีตการเมืองไทยตกอยู่ภายในวงจรอุบาทว์คือ มีการซื้อเสียงเลือกตั้งนำไปสู่รัฐบาลเลือกตั้ง ซึ่งคอร์รัปชั่นกว้างขวางเพื่อถอนทุนคืน จนผู้คนเอือมระอา เกิดการปฏิวัติ นำไปสู่การต่อต้านคัดค้านของพลังต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แล้วเกิดการเลือกตั้งซื้อเสียงเป็นวงจรไปเรื่อยๆ ปัจจุบันซึ่งเป็นยุคโลกาภิวัตน์ ทุนและความคิดเสรีนิยมขยายตัวไร้ขอบเขต จนทะเลาะกับชุมชน สถาบันสังคมต่างๆ และยังเป็นการเมืองยุคประชานิยม ปัญหาจึงกินลึกลงไปอีกกลายเป็นวัฏจักรวิบัติ กล่าวคือ มี คมช. (การปฏิวัติ) เกิดการต่อต้านจากฝ่ายประชาธิปไตยและรากหญ้า จนมีเลือกตั้ง ตั้งรัฐบาล ซึ่งเกือบทุกๆ ชุดจะโกงกินมโหฬารและใช้อำนาจบาตรใหญ่ และปิดกั้นไม่ให้มีการตรวจสอบลงโทษ กลายเป็นยุค ชคม. หรือนักการเมืองชั่วครองเมือง   (การกล่าวเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการตราหน้าบุคคลหรือคณะบุคคลเป็นการเจาะจง แต่เป็นการเตือนนักการเมืองโดยรวมอย่างจริงจังว่าอย่าก้าวไปสู่จุดนั้น ซึ่งจะเป็นความเสียหายร้ายแรงมากกว่าทุกครั้งในประวัติศาสตร์ไทย) นักการเมือง ชมค.จะถูกต่อต้านจากชนชั้นกลาง ภาคสังคม ประชาชนที่ต้องการรักษาคุณธรรมและความสมดุลให้สังคม ปฏิเสธการขยายอำนาจอย่างไม่มีขีดจำกัด จนกลายเป็นความขัดแย้งวุ่นวาย เกิดการปฏิวัติหรือคมช. ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ฝ่ายประชาธิปไตยเลือกตั้งและกลุ่มรากหญ้าอีก วนเวียนเป็นวัฏจักรไปเช่นนี้
       
       ปฏิวัติ เกิดคมช.
       พลังประชาธิปไตยเลือกตั้งรากหญ้าคัดค้านการปฏิวัติ
       ชนชั้นกลางภาคสังคมเดินขบวน คัดค้านการคอร์รัปชั่น ใช้อำนาจบาตรใหญ่

       เลือกตั้ง เกิด ชคม.
       ความขัดแย้งเชิงซ้อน
       
       จนในที่สุดเกิดเป็นความขัดแย้งเชิงซ้อน นอกจากความขัดแย้งประชาธิปไตยกับเผด็จการ ความขัดแย้งเสรีนิยมสุดขั้วกับสถาบันต่างๆ ในประเทศแล้ว จะเกิดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับชนชั้นกลางในเมือง กลายเป็นความขัดแย้งของคนทั้งชาติอีกด้วย
       
       ประเทศมี 10 ปัจจัยเอื้อความรุนแรง จึงอยู่ในความเสี่ยงสูงมาก
       
       เราผ่านวิกฤติทักษิณมา 1 รอบ ซึ่งได้สร้างผลเสียแก่ประเทศมากมหาศาล และหากรัฐบาลยืนกรานแก้รัฐธรรมนูญให้ตัวเองพ้นผิด พวกพ้องหลุดจากคดี ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นวิกฤติรอบ 2 แต่เนื่องจากครั้งนี้ประเทศมีปัญหามากมาย ความขัดแย้งเริ่มต้นจะไม่เข้มข้นเท่าครั้งก่อน แต่จะยืดเยื้อยาวนาน ไม่มีคนแพ้คนชนะ รัฐบาลจะปราบปรามประชาชนก็ไม่ได้ พันธมิตรก็ไม่มีข้ออ้างล้มรัฐบาล ทหารก็ต้องไม่รัฐประหารอีกต่อไปแล้ว อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มสูงว่าจะเกิดความรุนแรงด้วยเหตุปัจจัยคือ
       
       1. การมองปัญหาอย่างแยกส่วนตัดตอน การรอมชอมสมานฉันท์คนในชาติหลังจากเกิดวิกฤติครั้งใหญ่ จะเกิดขึ้นได้ต้องสร้างให้มีพื้นที่แห่งความเข้าใจร่วมกันก่อน ซึ่งควรจะมองเหตุการณ์อย่างไม่บิดเบือน และเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจริง ไม่มองแบบแยกส่วน ซึ่งจุดนี้มองต่างกันอย่างมากคือ สังคมไทยโดยทั่วไปมองต้นตอเกิดจากการคอร์รัปชั่น และการใช้อำนาจยับยั้งไม่ให้มีการตรวจสอบการคอร์รัปชั่นของรัฐบาล ทรท. สิ่งที่ คตส. ป.ป.ช. ได้ทำมา คือการเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริง (facts) แก่สังคมและศาล ทักษิณและพวกพ้องจะผิดหรือไม่ผิดขึ้นอยู่กับศาลจะเป็นผู้ตัดสิน แต่กลุ่มกองเชียร์ทักษิณมองปัญหาเลื่อนมาอยู่ที่เผด็จการรัฐประหาร และใช้วิธีการไม่ให้เรื่องไปจบลงที่ศาล โดยการแก้รัฐธรรมนูญ เปลี่ยนแปลงองค์กรอิสระ เมื่อมองต่างกัน ใช้ตรรกะต่างกัน วิกฤติก็ไม่จบ



       
       2. วัฒนธรรมไทยไม่เอื้อต่อการแก้วิกฤติ สังคมไทยแต่ดั้งเดิมเป็นสังคมกลุ่มอุปถัมภ์ และนิยมวัฒนธรรมการใช้อำนาจ เราไม่ได้แก้ปัญหาโดยใช้กฎระเบียบกติกา ในอดีตเรามีวัฒนธรรมแบบศรีธนญชัย   แต่ปัจจุบันได้เกิดวัฒนธรรมศรีตะแบงไช คือบรรดานักการเมืองผู้มีอำนาจส่วนใหญ่ได้พัฒนาตัวเองเป็นหลวงศรีตะแบงไช นอกจากตะแบงการตีความกฎหมาย อำนาจและผลประโยชน์แล้ว ยังชอนไชทะลุทะลวงกฎหมายรัฐธรรมนูญ รวมทั้งสถาบัน องค์กรอิสระ กระบวนการทางกฎหมายและยุติธรรมอย่างต่อเนื่องด้วย    หัวโจกใหญ่ของบรรดาหลวงศรีตะแบงไชก็คือตะแบงชะเวตี้ ที่ตะแบงตั้งแต่เรื่องซุกหุ้นว่าบกพร่องโดยสุจริต แต่ก็ยังซุกหุ้นตัวเองไว้ในกองทุนต่างประเทศต่อมาอีกเกือบสิบปี ตะแบงว่าช่วยเหลือต่างประเทศ แต่กลับเอาเข้าพกเข้าห่อตัวเอง ตะแบงว่าจะเปิดเสรีคมนาคม แต่ประโยชน์กลับเข้าบริษัทของครอบครัว ตะแบงว่าจะไม่ยุบสภา แต่ก็ยุบสภา ตะแบงว่าจะไม่เล่นการเมือง แต่ก็ชักใยพรรคการเมืองใหม่ และเตรียมสร้างภาพพจน์ล้างมลทินตัวเองอยู่ตลอดเวลา สักวันหนึ่งคนกลุ่มตะแบงชะเวตี้นี้จะทำให้เสียบ้านเสียเมืองในที่สุด
       
       3. กลไกแก้ไขปัญหาทางสังคมคือการใช้เหตุผล โดยสื่อมวลชน นักวิชาการ ผู้นำทางความคิดใช้ไม่ได้ในปัจจุบัน เพราะความหลากหลายมีมาก และการแบ่งขั้ว ดึงดันเอาชนะกันสูงมากเกินไป เมื่อคนไม่เชื่อเหตุและผลก็จะหันไปหาความรุนแรงได้ง่าย
       
       4. พรรคการเมืองแตกขั้ว คนไม่ศรัทธาในกระบวนการแก้ปัญหาของรัฐสภาที่ปกป้องคนโกง โดยเฉพาะนับตั้งแต่กรณีคอร์รัปชั่น CTX เป็นต้นมา
       
       5. กลไกข้าราชการมีส่วนซ้ำเติมปัญหาให้เป็นวิกฤติรุนแรงขึ้น เพราะเกิดโลภคติในผลประโยชน์ เกิดภยาคติกลัวสูญเสียตำแหน่ง ไม่ยอมทำหน้าที่ของตัวเอง
       
       6. โดยปัจจัยทางสังคมจิตวิทยา ในภาวะสับสนขาดความชัดเจนในโครงสร้างอำนาจและข้อมูลข่าวสารที่เรียกว่าการไม่ลงรอยในการรับรู้ (cognitive dissonance) เช่น ครม. ควรจะมีอำนาจ แต่คนรับรู้ว่ายังมีผู้มีอำนาจจริงอยู่อีกชุดหนึ่ง หรือพลเอกเปรมที่เกษียณอายุไปนานแล้ว แต่ยังมีความเชื่อว่ายังคุมอำนาจในกองทัพอยู่ สภาพเช่นนี้จะเกิดคำนินทาว่าร้าย ข่าวลือได้ง่าย เกิดจิตวิทยามวลชน เชื่อกันไปปากต่อปาก พัฒนาเป็นความเชื่อว่าแต่ละฝ่ายคิดการร้าย หรือมีแผนการที่ชั่วร้ายอยู่ นำไปสู่ความเกลียดชังและพัฒนาเป็นความรุนแรงในที่สุด
       
       7. คนไทยอยู่ในความตึงเครียดมานาน เบื่อหน่ายกับการเมือง ส่งผลให้ขีดความอดทนลดต่ำลง เกิดความรุนแรงได้ง่าย ดังจะเห็นได้จากกรณีตีหัวทนายความ กระโดดถีบในสภา ขว้างปาอิฐหินใส่ผู้ชุมนุม โชว์ของลับ ฯลฯ
       
       8. ภาวะดังกล่าวทำให้คนไทยอ่อนไหวต่อสิ่งที่มากระทบต่อความเชื่อร่วม (collective belief) เช่น อุดมการณ์ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ จากเรื่องเล็กพัฒนาเป็นเรื่องใหญ่ได้ ต้องมองปัญหาอย่างมีสติ อดกลั้น ปัญหาเหล่านี้เคยเกิดมาในหลายประเทศ ถ้าเป็นคดีความศาลมักต้องชั่งน้ำหนักสัดส่วนระหว่างสิทธิเสรีภาพบุคคล ซึ่งกำลังขยายตัว กับสิทธิความเชื่อของกลุ่ม
       
       9. ระวังกระบวนการสร้างคนไทยด้วยกันเป็น “พวกอื่น” กระบวนการนี้ทางปรัชญามองว่าเกิดจากการจินตนาการภาพขึ้นจากสิ่งชั่วร้ายในจิตใจ ที่เราคิดขึ้นเองไปให้กับคนที่ต่างไปจากเราในภาวะสับสน ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นคนไทยด้วยกันเองจะถูกมองเป็นคนอื่น พวกอื่น ดังเช่นสมัย 6 ตุลาคม 2519 นักศึกษาถูกสร้างภาพเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นปีศาจ เป็นยักษ์มาร เป็นต้น
       
       10. ความต่างเชิงวัฒนธรรมระหว่างประชากรภาคต่างๆ อาจถูกวิกฤติครั้งนี้นำไปสู่ความขัดแย้งร้าวลึกได้
       
       รัฐบาลต้องหาทางแก้ไขทั้ง 10 ปัจจัยความรุนแรงดังกล่าว ที่สำคัญเฉพาะหน้าคือต้องแยกม็อบระหว่างฝ่ายพันธมิตรกับฝ่ายรักทักษิณออกจากกันอย่างเด็ดขาด เพื่อป้องกันความรุนแรงที่พร้อมจะขยายตัวดังกล่าวมาแล้ว

       
       

4 ทางออก ประชาธิปไตยสมดุลคือทางออก
       
       ในเชิงโครงสร้างวิกฤติที่ยังดำรงอยู่เป็นปัญหาระหว่างกลุ่มทุนเลือกตั้งผนวกกับชาวบ้าน ภายใต้อุดมการณ์ประชาธิปไตยเลือกตั้ง ขัดแย้งกับกลุ่มชนชั้นกลาง เทคโนแครต ชนชั้นนำไทย ภายใต้อุดมการณ์ประชาธิปไตยที่มีการถ่วงดุล ตรวจสอบ ประเทศไทยได้พัฒนามาถึงขั้นที่ทั้งสองฝ่ายมีพลังทัดเทียมกัน จึงจะไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดชนะได้เด็ดขาด ประเทศไทยดำรงอยู่ไม่ได้ถ้าฝ่ายประชาธิปไตยเลือกตั้งขยายอำนาจของตนตามอำเภอใจอย่างไม่มีขอบเขต และก็อยู่ไม่ได้เช่นกันถ้าจะหวนกลับไปสู่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือยุคอมาตยาธิปไตย ทางออกเชิงโครงสร้างคือการอยู่อย่างสมดุล มีทั้งประชาธิปไตยเลือกตั้งซึ่งประชาชนยอมรับ และอำนาจตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญที่มีที่มาอิสระทำงานอย่างได้ผล ปราศจากอคติและการเกรงกลัวภัยจากนักการเมือง ภาคสังคมและประชาชนเข้มแข็งในการตรวจสอบวิจารณ์รัฐบาลมากขึ้น
       
       ทางออกในเชิงปฏิบัติ คือ พปช. ทำตามหน้าที่ของตัวเองที่ได้รับจากการเลือกตั้ง คือการบริหารประเทศให้ได้ดี เพราะมีฐานเสียงที่หนักแน่น มีโอกาสเป็นรัฐบาลต่อเนื่องหลายสมัยอยู่แล้ว ไม่ควรรีบร้อนแก้รัฐธรรมนูญ บ้านเมืองก็หมดปัญหา คตส. ปปช. เร่งทำคดีอย่างเต็มที่ และถ้าศาลได้พิจารณาคดีความต่างๆ อย่างเที่ยงตรงยุติธรรมและรวดเร็วทันกาล ก็จะคลี่คลายปัญหาลงไปได้
       
       ควรสร้างบรรทัดฐานที่ดีในการแก้รัฐธรรมนูญ
       
       เราควรสร้างบรรทัดฐานในการแก้รัฐธรรมนูญให้ถูกต้อง อย่าให้เกิดประเพณีว่าพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากสามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ตามอำเภอใจ เพื่อประโยชน์ตัวเอง ควรให้ภาคสังคม ภาคประชาชนมีส่วนร่วม ให้มีประชาพิจารณ์หรือมีประชามติ ให้มีกรรมการร่วมพรรคฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาลพิจารณาร่วมกัน ให้มี สสร. 3 เป็นต้น ผู้เขียนมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ทำได้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม บนหลักการดังนี้คือ
       
       1. สปิริตของรัฐธรรมนูญ 2550 คือจำกัดอำนาจบริหารไม่ให้ล้นเกิน และป้องกันการคอร์รัปชั่น ซื้อเสียง แต่การจัดความสัมพันธ์อำนาจต่างๆ มีปัญหาอยู่บ้าง
       
       2. รัฐธรรมนูญประเทศไทยปัจจุบันแบ่งออกเป็น 4 อำนาจคือ อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ และอำนาจตรวจสอบ ต้องเคารพลักษณะหน้าที่ขอบเขตของแต่ละอำนาจ จัดวางความสัมพันธ์แต่ละอำนาจให้ถูกต้อง จำแนกแยะที่มาของอำนาจต่างๆ ให้ชัดเจนเหมาะสม
       
       3. รัฐธรรมนูญมาตรา 237 ซึ่งลงโทษยุบพรรคเมื่อกรรมการบริหารทำผิด ควรได้รับการถกเถียงอย่างกว้างขวางในนักวิชาการสายนิติศาสตร์ เพราะกฎหมายนี้ได้มีบทบัญญัติลงโทษกลุ่ม (collective) เมื่อบุคคล (individual) ทำผิด จะเป็นการย้อนยุคหรือไม่ และจะบรรลุวัตถุประสงค์ป้องกันการซื้อเสียงหรือไม่ แต่การรีบร้อนแก้ไขของ พปช. เพื่อให้ตัวเองพ้นผิดก็ไม่ควรทำ เพราะเป็นการทำลายหลักการการปกครองโดยกฎหมาย (rule of law) เช่นกัน

       
 

 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01-05-2008, 17:12 โดย Aha555 » บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
    กระโดดไป: