“คุณคำนูณดูช่อง 11 เมื่อคืนนี้หรือเปล่า ช่วง 5 ทุ่ม...”
แฟนรายการ “ยามเฝ้าแผ่นดิน” คนหนึ่งโทรศัพท์มาให้ข้อมูลเมื่อเวลาประมาณ 8 โมงเช้าวันศุกร์ที่ 25 เมษายน 2551
ระหว่างผมนั่งอยู่ในห้องรับรองสมาชิก อาคารรัฐสภา 2 ท่านและภรรยาท่านดูรายการทาง ASTV
ช่วงต้นสัปดาห์วันจันทร์วันอังคารที่ 21 – 22 เมษายน 2551 ที่ผมนำข่าวสาร ข้อมูล ปรากฏการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้น ณ สน.ปทุมวัน
รวมทั้ง “ความบังเอิญอย่างร้ายกาจ” มาบอกเล่าหน้าจอ พอมาดู NBT ช่วงรายการ “กรองสถานการณ์ วาไรตี้” คืนนั้น ก็เลยตกใจกับภาพที่เห็น
และนอกจากจะได้โทรศัพท์เข้าไปต่อว่าที่เบอร์ 0-2275-4225 ของ NBT แล้ว ยังโทรศัพท์ไปที่ นสพ.ไทยโพสต์ด้วย
ผมอึ้งอีกตามเคย เพราะไม่ได้เปิดดูช่อง 11 หรือ NBT ในช่วงเวลานั้น จึงต้องขวนขวายไปหาเทปรายการย้อนหลัง
โดยดูจากเว็บไซด์
www.prd.go.th/prdTv ของกรมประชาสัมพันธ์เอง
พบว่าเป็นความจริง
คุณอดิศักดิ์ ศรีสมเป็นผู้ดำเนินรายการตามปกติ สนทนากันในหัวข้อ “ทำท้อง...ทำแท้ง” แขกรับเชิญมี 3 คน
คือ ศ.นพ.ประมวล วีรุตมเสน อดีตเลขาธิการแพทยสภา, รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และคุณจิตรา คชเดช ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย
สุภาพสตรีท่านสุดท้ายที่นั่งอยู่มุมขวาสุดของจอนี่แหละที่ท่านเห็นว่าเป็นปัญหา
เพราะเสื้อที่สวมออกอากาศคืนนั้นเป็นเสื้อยืดสีดำสกรีนประเด็นรณรงค์ทางการเมืองที่แหลมคมประเด็นหนึ่ง
“ไม่ยืน – ไม่ใช่อาชญากร”
“คิดต่าง – ไม่ใช่อาชญากรรม”
เป็นเสื้อลักษณะเดียวกับที่ท่านเห็นมีคนสวมใส่รณรงค์หน้า สน.ปทุมวันเมื่อวันอังคารที่ 22 เมษายน 2551
ที่เห็นเห็นได้จำแม่นจากหน้าจอ ASTV ข้อความ “ไม่ยืน” กับ “คิดต่าง” นั้นเห็นไม่ชัดทุกช็อต เพราะคุณสุภาพสตรีหันหน้าไปทางขวา
และมีผมบัง แต่คำว่า “ไม่ใช่อาชญากร” กับ “ไม่ใช่อาชญากรรม” เห็นชัดเจนทีเดียว
แฟนรายการท่านนี้ให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม “ข้าราชการ” ที่นั่นปล่อยให้ออกมาได้อย่างไร เพราะช่อง 11
น่าจะยังคงมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย” เป็นหน่วยราชการใน “กรมประชาสัมพันธ์” อยู่
การรณรงค์ประเด็นหมิ่นเหม่นี้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงบ่ายวันอังคารที่ 22 เมษายน 2551 ที่สน.ปทุมวัน
นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง เจ้าของฉายา “แมมมอธ” แกนนำกลุ่ม 19 กันยาต้านรัฐประหาร
ซึ่งเป็นองค์กรแนวร่วมของ นปก. ไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์แห่งหนึ่งเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2550
จนเกิดเหตุวิวาทกับนายนวมินทร์ วิทยากุล ต่างฝ่ายต่างแจ้งความซึ่งกันและกัน
แมมมอธถูกแจ้งความว่ากระทำความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ฐานดูหมิ่นพระมหากษัตริย์
คณะกรรมการว่าด้วยฐานความผิดนี้ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีมติว่าเป็นความผิด จึงให้ สน.ปทุมวันแจ้งข้อหาเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2551
แมมมอธขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อหามาเป็นเมื่อวันอังคารที่ 22 เมษายน 2551 เวลา 13.30 น.
ก่อนหน้านั้น ตั้งแต่หลังเกิดเหตุใหม่ ๆ มีการรณรงค์ของนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง และผู้สนับสนุน
ในโลกไซเบอร์มาโดยตลอด ในเว็บบอร์ดยอดนิยมต่าง ๆ โดยเฉพาะเว็บบอร์ดสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
และเว็บบอร์ดที่มีชื่อและเนื้อหาวิพากษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งแพร่กระจายเป็น “ฟอร์เวิร์ดเมล์” ไปทั่ว
และก่อนจะเข้ารับทราบข้อหา ก็มีการรณรงค์ลงชื่อให้กำลังใจ นัดแนะกันไปตั้งขบวนสนับสนุนหน้า สน.ปทุมวัน
หน้า สน.ปทุมวันบ่ายวันอังคารก่อนจึงมีป้ายสนับสนุนการไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีเต็มไปหมด ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง สวมเสื้อรณรงค์เหมือนกับที่คุณจิตรา คชเดชใส่มาออกอากาศที่ NBT ในอีก 2 วันต่อมา
ผมเห็นว่าเป็นเรื่องน่าพิจารณาอย่างยิ่ง เพราะเป็นรูปธรรมแสดงให้เห็นถึงบริบทที่ผมเขียนในคอลัมน์นี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วและที่พูดทาง ASTV ในคืนวันเดียวกัน จึงตัดสินใจนำเหตุการณ์นี้มาเล่าต่อทาง ASTV ในคืนวันอังคารที่ 22 เมษายน 2551 หลังเหตุการณ์เกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมง
ในมุมมองที่เห็นต่างออกไปจากข้อความที่สกรีนบนเสื้อและป้ายรณรงค์
โดยสรุป ผมเห็นว่า....
การไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี ไม่ใช่อาชญากรในความหมายทั่วไป
แต่อาจมองอีกมุมหนึ่งได้ว่าเข้าข่ายเป็นอาชญากรต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ความคิดเห็นต่างโดยทั่วไปไม่ใช่อาชญากรรมแน่นอน แต่ความคิดเห็นต่างบางประเภทที่มุ่งเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ย่อมมองอีกมุมหนึ่งได้ว่าเป็นอาชญากรรมต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ไม่มีระบอบประชาธิปไตยที่ไหนในโลกให้สิทธิเสรีภาพโดยไร้ขอบเขต !
และระบอบประชาธิปไตยทั่วโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ล้วนมีกลไกและมาตรการการโค่นล้มระบอบจากภายในระบอบเอาไว้ เพื่อไม่ให้เกิดคนอย่างอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ที่อาศัยช่องทางของระบอบประชาธิปไตยก้าวขึ้นมาสู่อำนาจแล้วโค่นระบอบประชาธิปไตยลง
โฆษณาทุกประเภทต้องเสียสตางค์ให้สถานีเป็นจำนวนสูง
โฆษณาบางประเภทแม้เสียสตางค์ให้แล้ว ยังมีกฎหมายกำหนดให้ต้องมี “คำเตือน” กำกับไว้ เป็นต้นว่าการลงทุนในหุ้นประเภทต่าง ๆ หรือเครื่องดื่มบำรุงกำลังนานาชนิด
โฆษณาความคิดทางการเมือง ทางสังคม หรือทางส่วนตัวลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ที่นักฟุตบอลในลีกระดับนำของโลก ยังต้องฉวยโอกาสเฉพาะตอนตนเองยิงประตูได้วิ่งเปิดเสื้อชั้นนอกออกมาโชว์หน้ากล้องให้เห็นข้อความเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่กี่วินาทีเท่านั้น
แต่ที่ NBT คืนนั้น “บังเอิญ” เปิดโอกาสให้คนใส่เสื้อรณรงค์สนับสนุนการไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีมาออกอากาศได้เป็นเวลา 2 เบรก ได้อย่างง่ายดาย
แม้ผมจะเชื่อว่าข้าราชการที่นั่น และพนักงานบริษัทเอกชนที่ร่วมผลิตรายการ จะไม่มีเจตนาทำให้เกิดความเสียหาย เพราะน่าจะไม่รู้ประเด็นข่าวของนายโชติศักดิ์ อ่อนสูงที่เกิดขึ้นก่อนเพียง 2 วัน
แต่ก็อยากให้ให้ทั้งข้าราชการและผู้ร่วมผลิตรายการทั้งหลายรับรู้ไว้
และใช้ความระมัดระวังให้มากขึ้น
เพราะเหตุ “บังเอิญ” ที่ไม่มีใครตั้งใจทำนองนี้ก่อให้เกิดเรื่องใหญ่มานักต่อนักแล้ว !