ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
19-04-2024, 20:32
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  ชายคาพักใจ  |  สิ้นเสียง 'ตะแล็บแก๊บ’ 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
สิ้นเสียง 'ตะแล็บแก๊บ’  (อ่าน 1576 ครั้ง)
login not found
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 3,523



« เมื่อ: 30-04-2008, 12:47 »

สิ้นเสียง 'ตะแล็บแก๊บ’
โดย ผู้จัดการรายวัน    28 เมษายน 2551 06:53 น.

      
   
   
      
แบบฟอร์มส่งโทรเลข

คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
รูปปั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช (พระบิดาแห่งไปรษณีย์ไทย)

เครื่องรับส่งสัญญาณมอร์สแบบวิทยุ

เครื่องรับฟังสัญญาณมอร์ส

เครื่องส่งสัญญาณมอร์สแบบคันเคาะ

ผู้ใช้บริการส่งโทรเลข

ที่ทำการโทรเลข

พนักงานไปรษณีย์นับจำนวนคำเพื่อคิดค่าบริการส่งโทรเลข

พนักงานส่งโทรเลขพิมพ์ข้อมูลส่งไปยังปลายทาง

พนักงานทดลองส่งโทรเลขผ่านคันเคาะรหัสมอร์ส

ชีวิน มีสุวรรณ พนักงานไปรษณีย์ระดับ 6

ชุมสายโทรเลข อาคาร CAT Tower

      
‘Telegraph’ ที่คนไทยสมัยก่อนเรียกเพี้ยนเป็นตะแล็บแก๊บ เป็นชื่อของโทรเลขที่ใครหลายๆ คนหลงลืมเสน่ห์ SMS รุ่นเดอะนี้ไปแล้ว
       
       ถ้าลองเปรียบเทียบปริมาณคนเคยส่งโทรเลขกับคนเคยส่งเอสเอ็มเอส คงจะเป็นปริมาณที่แตกต่างกันได้อย่างชัดเจน อีกทั้งคนรุ่นใหม่คงไม่สามารถให้คำนิยามของคำว่า รหัสมอร์ส หรือแม้แต่ความหมายที่ถูกต้องของโทรเลขได้แน่ แต่ถ้าลองถามดูว่าส่งเอสเอ็มเอสมีขั้นตอนอย่างไรคงจะตอบได้อย่างชัดถ้อยชัดคำทีเดียว
       
       การยกเลิกบริการโทรเลขคงเป็นเรื่องน่าเสียดายสำหรับใครหลายคนที่เคยมีความผูกพัน หรือเคยใช้บริการมาหลายต่อหลายครั้ง แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การยกเลิกบริการโทรเลขครั้งนี้เป็นเพราะนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ให้ความรวดเร็วทันใจในการรับข้อความได้ก้าวเข้ามาแทนที่โทรเลข จนทำให้โทรเลขที่เคยได้รับความนิยมสูงสุดหมดความหมายไปตามกาลเวลา
       
       หัวใจบุรุษส่ง (โทรเลข)
       
       การเป็นผู้เชื่อม ประสานงาน และเป็นสื่อกลางให้กับประชาชนของพนักงานโทรเลขในยุคเก่า ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นสิ่งที่เขาเหล่านี้ต้องเผชิญกับมันในทุกๆ วัน มากบ้างน้อยบ้างตามแต่ยุคสมัยที่มีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาแทนที่ คุณเคยมีความรู้สึกเสียดายสิ่งของที่คุณรักบ้างหรือไม่ หากเคย ก็คงเช่นเดียวกันกับพนักงานโทรเลขเหล่านี้ที่เหมือนสูญเสียของที่เขารักออกจากชีวิตไปโดยปริยาย
       
       ชีวิน มีสุวรรณ พนักงานไปรษณีย์ระดับ 6 ผู้ทำหน้าที่ให้บริการส่งโทรเลขตรงเคาน์เตอร์ เขามีความผูกพันที่ยาวนานนับ 3 ทศวรรษกับบริการรับ-ส่งโทรเลข เปรียบหน้าที่เหล่านี้เสมือนการทำกิจวัตรประจำวันของตัวเอง
       
       “ผมทำงานด้านโทรเลขตั้งแต่ปี 2513 ถึงตอนนี้ก็นับว่าเป็นเวลา 38 ปี ตอนแรกผมเริ่มทำงานจากเป็นผู้พิมพ์ข้อความส่ง จากที่ใช้เครื่องพิมพ์ดีดรุ่นโบราณ พัฒนาเป็นคอมพ์พีซี จนกระทั่งตอนนี้เปลี่ยนหน้าที่มาเป็นผู้รับข้อความโทรเลขตรงเคาน์เตอร์แทน”
       
       ชีวินกล่าวให้ทราบถึงยุคที่โทรเลขรุ่งเรืองสูงสุด ถือได้ว่าค่าบริการจากโทรเลขนับเป็นรายได้หลักของไปรษณีย์เลยก็ว่าได้ แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ความนิยมส่งโทรเลขก็ลดลงด้วย รายได้จากส่วนนี้ก็น้อยลงเหลือเพียงเดือนละ 5,000 บาทต่อเดือน สวนทางกับรายจ่ายที่มีมากขึ้น อีกทั้งกระแสโลกาภิวัตน์ที่พัฒนาก้าวหน้าขึ้น ทำให้มีเทคโนโลยีอื่นๆ ที่รวดเร็วกว่าเข้ามาทดแทน
       
       วิจิตร พรหมมี พนักงานนำจ่ายโทรเลขและอีเอ็มเอส ผู้ทำหน้าที่ส่งโทรเลขมานานกว่า 18 ปี กล่าวว่ารู้สึกเสียดายที่บริการโทรเลขจะต้องยกเลิกไป แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เทคโนโลยีใหม่จะเข้ามาทดแทน
       
       ความแตกต่างของการส่งโทรเลขในยุคเก่ากับตอนนี้มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน เพราะในอดีตการส่งโทรเลขจะเป็นข้อความที่สื่อถึงความรู้สึก แต่ในยุคปัจจุบันการส่งโทรเลขจะเน้นไปในส่วนของการทวงหนี้มากกว่า
       
       “ผมว่าเสน่ห์ของโทรเลขนั้นอยู่ที่ข้อความที่ส่งมีความกะทัดรัด เข้าใจง่าย ซึ่งการส่งโทรเลขเมื่อ 10 ปีที่แล้วเป็นการส่งเกี่ยวกับข่าวสารเล็กๆ น้อยๆ หรือข้อความสั้นๆ เช่น ญาติไม่สบายกลับบ้านด่วน ระยะหลังเป็นการส่งโทรเลขเกี่ยวกับการทวงหนี้ จากพวกธนาคารต่างๆ ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าอัตราการใช้ส่งมีปริมาณลดลง” วิจิตรกล่าว
       
       สุรชัย จันทร์พรหม พนักงานไปรษณีย์ระดับ 7 นายเวรโทรเลข ทำหน้าที่ส่วนบริการโทรเลขมากว่า 30 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2515 มีหน้าที่หลักในการรับ-ส่งโทรเลข โดยจะนั่งกับเครื่องตลอด สมัยก่อนเป็นภาพเขียนสัญญาณมอร์ส โดยการเคาะรหัสมอร์ส ช่วงนั้นกำลังมีการเปลี่ยนสัญญาณมอร์ส มาเป็นโทรพิมพ์หรือเรียกว่า เครื่องโอกิ เป็นเครื่องใหญ่พิมพ์ด้วยการส่งสัญญาณรหัสแถบส่งออกไปจากนั้นต้องแปลเป็นตัวอักษร
       
       “ผมเองก็ภูมิใจที่ได้ทำงานให้โทรเลข เพราะมีคนที่จะมาพึ่งพาเรา โดยเรามีหน้าที่นำข่าวข้อมูลความทุกข์ สมัยก่อนอย่างพ่อเจ็บ แม่ป่วยก่อน ญาติเสีย หรือนอนโรงพยาบาลเราก็มีหน้าที่ส่งสารไปให้แก่คนรับเพื่อให้เขามาทันเวลาเพื่อมาดูแลกัน อีกทั้งเป็นสื่อกลางให้ทุกคนได้พบปะ เจอหน้ากันในยามทุกข์
       
       “ลักษณะของข้อความที่เจอก็จะเป็นข้อความแปลกๆ ข้อความบอกรักก็มีแบบหวือหวา ลักษณะของแฟนก็มีการให้มาหากัน เช่น ถ้ามีไม่ต้องมา ถ้าไม่มีให้รีบมาด่วน ซึ่งที่มาของข้อความนี้มันมาจากตอนที่เริ่มธุรกิจเรือ เมื่อก่อนถ้าเรือเข้าไม่ต้องมา ถ้าเรือไม่เข้าให้มาด่วน ซึ่งเป็นข้อความเกี่ยวกับธุรกิจการส่งออกที่ตอนหลังวัยรุ่นดัดแปลงมาใช้เพื่อสื่อสารแทนการนับระยะปลอดภัย
       
       “ช่วงนี้บุคคลทั่วไปนิยมส่งโทรเลขหากันมากขึ้น เนื่องจากโทรเลขกำลังจะปิดบริการ ซึ่งมักเป็นข้อความที่บ่งบอกถึงความรำลึกอย่าง ‘โทรเลขฉบับนี้ส่งถึงแม่เป็นฉบับสุดท้ายแล้วนะคะ รักแม่มาก’ หรือ ‘ข้อความนี้เป็นข้อความประวัติศาสตร์นะ ให้เก็บไว้ให้ดีด้วย’ เป็นต้น”
       
       อนาคตบุรุษ (โทรเลข)
       
       เป็นที่แน่นอนว่าพนักงานประจำฝ่ายโทรเลขต้องแยกย้ายกันไป เพราะเมื่อสงครามสงบ ทหารก็ต้องพักรบกลับบ้าน เฉกเช่นเดียวกัน ซึ่งทางไปรษณีย์ไทยและ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ได้วางหมากกระดานนี้ด้วยการส่งมอบพนักงานในส่วนโทรเลขออกไปประจำตามศูนย์ไปรษณีย์อื่นๆ ใกล้บ้าน
       
       สุรชัยเล่าว่า “การยกเลิกโทรเลขส่งผลกระทบที่ตามมา คือคงต้องไปดูที่เรื่องงาน เพราะเคยทำงานด้านโทรเลขมาตลอด ทั้งที่เมื่อก่อนเราต้องเรียนทั้งโทรเลขและไปรษณีย์ควบคู่กันไป ซึ่งปัจจุบันเหตุการณ์การทำงาน การปฏิบัติหน้าที่ ระบบที่เปลี่ยนไป อายุเรามากขึ้น ทุกวันนี้ต้องมาใช้คอมพิวเตอร์ให้คล่อง เพื่อมารับหน้าที่ใหม่ที่หนีไม่พ้น ซึ่งทำให้การทำงานใหม่ไม่คล่องตัว เพราะอายุที่มากขึ้นประกอบไม่เคยทำงานด้านอื่นมาเลย ซึ่งต้องมีการพึงพาปรึกษาหารือกับคนที่เป็นคอมพิวเตอร์”
       
       ผู้ใช้คือหัวใจของเรา
       
       ในฐานะของผู้ดำเนินการส่งสาร พนักงานทุกคนรวมถึงชีวิน แน่นอนว่าย่อมมีอารมณ์ร่วมไปกับข้อความในโทรเลข ยิ่งผู้ส่งมีข้อความที่เร่งด่วน ความสงสารก็ส่งผลให้ต้องรีบเร่งทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้ใช้บริการให้ได้มากที่สุด
       
       ชีวินเล่าว่า “เคยมีกรณีที่มีคนตาย พรุ่งนี้จะเผา แต่เขาติดต่อกันผ่านทางอื่นไม่ได้ แต่พอเรารู้ว่าเป็นเรื่องด่วน เราก็สงสาร สามารถช่วยได้แค่ส่งให้เร็วที่สุด ให้ปลายทางรีบนำโทรเลขไปจ่ายแบบเร่งด่วน”
       
       ความผูกพันที่มีมานานของพนักงานโทรเลขกับบริการที่มอบด้วยใจ ย่อมเสียดายบริการที่ต้องปิดตัวลงไปอย่างแน่นอน ชีวินตอบว่า
       
       “มันเสียเสียดาย อาลัยอาวรณ์นะ เพราะเรายังเห็นคุณค่าของมันอยู่ ถึงแม้โทรเลขจะเป็นเพียงข้อความสั้นๆ แต่สามารถสื่อความรู้สึกได้ชัดเจน มันแฝงไปด้วยความหมายนานัปการ แล้วทั่วโลกก็ยังมีบริการโทรเลขอยู่เลย แต่เราก็หนีไม่พ้นที่จะต้องปิดตัวโทรเลขลง”
       
       สถิติการใช้บริการโทรเลขแสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า กลุ่มผู้ใช้บริการส่วนใหญ่จะเป็นบริษัททวงหนี้ซึ่งมีปริมาณมากถึง 99 เปอร์เซ็นต์ แต่กลุ่มประชาชนทั่วไปมีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น นั่นย่อมหมายความว่าการยกเลิกบริการโทรเลขแทบจะไม่มีผลกระทบกับผู้ใช้บริการ
       
       มีแหล่งข่าวผู้หนึ่งได้แสดงทัศนคติว่า การปิดโทรเลขที่อาจมาจากการขาดทุนด้วยเพราะความล้ำสมัยเข้ามาแทนที่ เท่ากับว่าเป็นการปิดโทรคมนาคมพื้นฐานของคนไทย ถึงแม้บริการโทรเลขอาจจะดูเชย ล้าสมัย ไม่จำเป็นกับคนในสังคมเมืองแล้ว แต่หากเราได้มองถึงคนในชนบทที่ห่างไกล เขาอาจไม่มีโทรศัพท์มือถือ หรืออาจไม่จำเป็นต้องมีเครื่องมือสื่อสารที่รวดเร็วทันใจเหมือนคนในเมืองที่พร้อมสรรพไปด้วยเทคโนโลยี โทรเลขก็นับเป็นบริการที่สำคัญของบุคคลเหล่านั้น เพราะสามารถตอบโจทย์ความต้องการสื่อสารหรืออาจเป็นบริการสำรองในกรณีที่บริการสื่อสารอื่นๆ ขัดข้องได้
       
       มุมมองของผู้ใช้
       
       ณ วันนี้ถ้าถามถึงคนที่เคยมีประสบการณ์ในการส่งโทรเลข คงหาได้ยากเต็มที เพราะถ้าไม่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป เห็นทีคงต้องมีบ้านที่มีภูมิลำเนาในเขตต่างจังหวัดและอยู่นอกตัวเมืองออกไป เราถึงจะเจอคนที่เคยส่งข้อความ โดยวิธีทางโทรเลขแทนการใช้จดหมาย โทรศัพท์ หรือการติดต่อทางอื่น แล้วแต่อุปกรณ์สมัยนั้นจะเอื้ออำนวย
       
       สิทธิโชติ ทองเจือเพชร ข้าราชการบำนาญ ผู้เคยใช้บริการโทรเลขได้เล่าถึงการส่งข้อความทางโทรเลขสมัยก่อนว่า
       
       “การส่งข้อความโทรเลขต้องไปที่ไปรษณีย์ โดยเขียนที่อยู่ของผู้รับ และที่อยู่ของเราด้วยอย่างละเอียดและถูกต้อง เพื่อให้บุรุษไปรษณีย์ส่งได้เร็วยิ่งขึ้น ส่วนข้อความในการส่งจะคิดจำนวนคำสัมพันธ์กับจำนวนเงิน ถ้าจำนวนคำมากก็เสียเงินมาก ดังนั้น จึงต้องส่งข้อความให้สั้นที่สุด แต่ต้องได้ใจความสมบูรณ์ตามที่เราต้องการ การคิดราคาเป็นคำนั้นน่าจะแพงไปตามสมัย การส่งโทรเลขไม่ได้ส่งที่ไปรษณีย์ที่เดียว สามารถส่งทางสถานีรถไฟได้ด้วย”
       
       ในยุคที่การสื่อสารยังไม่พัฒนาไปพร้อมกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย โทรศัพท์ยังไม่พร้อมให้บริการกับคนในสมัยนั้น การส่งจดหมายและการรับส่งข้อความทางโทรเลข ระยะเวลาในการรับก็ประมาณวันสองวัน แล้วแต่ระยะทางของปลายทางของผู้รับที่ส่งโทรเลขไปถึง
       
       พิศมัย ทองเจือเพชร ข้าราชการบำนาญอีกคนหนึ่ง เล่าว่า “การส่งข้อความทางโทรเลขในสมัยนั้น เป็นข้อความสั้นๆ ต้องได้ใจความเขียนลงกระดาษประมาณประโยคสองประโยค เรื่องที่ส่งนั้นก็เป็นเรื่องด่วน เขียนพร้อมกับที่อยู่บ้านเลขที่ของเราและปลายทาง พร้อมยื่นให้ช่องโทรเลขที่ไปรษณีย์ ไปรษณีย์ก็จะจัดการเคาะตัวอักษรตามข้อความที่เราเขียนให้ โดยจะนับเป็นจำนวนคำคำละ 1 บาท ซึ่งระยะเวลาในการรับส่ง หากข้ามจังหวัดก็ประมาณ 2 วัน ถ้าในจังหวัดเดียวกัน ตอนเช้าส่ง ตอนเย็นได้ การส่งข้อความเร่งด่วนทางโทรเลขถือว่าทันสมัยสุด เพราะ โทรศัพท์ยังไม่ค่อยมีใครใช้ หรือหากบ้านไหนมีโทรศัพท์ อีกบ้านหนึ่งไม่มี ก็ต้องใช้ส่งวิธีการส่งโทรเลขเหมือนเดิม จดหมายก็ยังถือว่าช้ากว่าการส่งโทรเลข ซึ่งข้อความที่เคยส่งให้อีกทางรับรู้คือ ลูกตนสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้”
       
       ไพวัลย์ สินสูงเนิน วัย 58 ปี ผู้ช่วยพยาบาล ในโรงพยาบาลรัฐบาลแห่งหนึ่ง ครั้งเมื่อสมัยก่อนที่ยังอยู่บ้านต่างจังหวัดและเคยใช้บริการโทรเลข เล่าว่า
       
       “เท่าที่จำความได้การส่งโทรเลขสมัยก่อนจะต้องส่งข้อความให้สั้นที่สุด ซึ่งข้อความส่วนใหญ่ที่ส่ง นอกจากจะเป็นข้อความที่สั้น กระชับ และได้ใจความแล้ว เรื่องที่ส่งคงหนีไม่พ้นเรื่องเกิด เจ็บ ตาย หรือเรื่องเร่งด่วน เดือดร้อนจริงๆ เช่น พ่อตายกลับด่วน ลูกไม่สบาย ส่งทะเทียนบ้านมาให้ด้วย
       
       “ปัญหาที่พบนั้นก็คือเรื่องบางเรื่องเป็นเรื่องด่วนที่รอไม่ได้จึงอาจเจอความล่าช้า รอนานอยู่บ้าง แต่อาจดีกว่าจดหมายหรือโทรศัพท์ ซึ่งสมัยนั้นยังไม่ค่อยมีให้บริการหรือถ้ามีค่าบริการก็แพงมาก ประกอบกับไม่มีบริการตั้งโต๊ะตามตลาดเหมือนสมัยนี้ และบริการการส่งข้อความทางโทรเลขผ่านไปรษณีย์ในสมัยนั้นก็รวดเร็วและสะดวกสุดแล้ว”
       
       อวสานโทรเลข
       
       ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ ตั้งแต่เรื่องของเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาทดแทน ภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นและไม่คุ้มค่า รวมไปถึงประเทศผู้ผลิตเครื่องรับ-ส่งโทรเลขผลิตน้อยลง การหาซื้ออะไหล่จึงยากและมีราคาสูงขึ้น เมื่อการให้บริการขาดทุนลงทุกปี แนวโน้มการนำกลับมาใช้ใหม่ก็คงไม่เหลือ แต่ทั้งนี้ทาง บมจ. กสท โทรคมนาคม ก็ได้เตรียมบริการที่จะนำมาทดแทนบริการโทรเลขที่ยกเลิกไปประกอบด้วย บริการอีเอ็มเอส จดหมาย ธนาณัติออนไลน์ แฟกซ์ โทรศัพท์พื้นฐาน และโทรศัพท์มือถือระบบเซลโฟน เพราะบริการดังกล่าวก็สามารถตอบสนองการสื่อสารได้เฉกเช่นเดียวกับโทรเลข
       
       คงจะจริงกับประโยคที่ว่า ‘คนเรามักจะไม่รู้คุณค่าสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว จนเมื่อวันหนึ่งต้องสูญเสียมันไป’ เพราะจากคำบอกเล่าของพนักงานทุกฝ่ายที่บริการด้านโทรเลขจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ช่วงนี้มีหลายคนที่มาส่งโทรเลขเพื่อส่งท้ายก่อนที่บริการโทรเลขจะถูกยกเลิกไป
       
       การยกเลิกบริการการสื่อสารที่นับว่ารวดเร็วและสะดวกสุดในสมัยก่อน อย่างบริการการส่งข้อความผ่านโทรเลข ก็กำลังใกล้เข้ามาถึงจุดอวสานทุกที อาจเหลือเพียงอุปกรณ์ไว้ให้ลูกหลานได้ดู ได้ศึกษา หรือเหลือเพียงแต่คำบอกเล่าของคนโบราณที่มีโอกาสสัมผัสกับการรับส่งโทรเลข ซึ่งในปัจจุบันอาจเป็นเพียงกลิ่นไอของความคลาสสิกของคำบอกเล่าจากบุคคลเหล่านี้ เพราะสมัยนี้ยังหาคนส่งที่ส่งโทรเลขในสมัยนั้นได้ยากเต็มที
       
       บริการโทรเลขจะหยุดให้บริการในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ หากใครสนใจจะใช้บริการโทรเลขดูสักครั้งก็ลองแวะเข้ามาเยี่ยมชม ทดลองส่งโทรเลขได้ที่ที่ทำการไปรษณีย์กลาง บางรัก ที่จะจัดนิทรรศการอำลาโทรเลขตั้งแต่วันที่ 24-30 เมษายนนี้
       
       ****************
       
       เรื่อง-วลี เถลิงบวรตระกูล,หทัยรัตน์ เอมอ่อง
       
       กำเนิดโทรเลขในไทย
       
       โทรเลขให้บริการในไทยมานานนับ 133 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2418 สมัยรัชกาลที่ 5 โดย William Henry Read ที่เข้ามาขอสัมปทานตั้งบริษัทขึ้นและได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ช่วงปลายรัชกาลที่ 4 แต่ Mr. Read ไม่สามารถดำเนินการตามกำหนดได้ จนสมัยต้นรัชกาลที่ 5 Mr. Read กลับมายื่นเรื่องอีกครั้ง แต่รัชกาลที่ 5 ไม่ทรงยอมมีพระบรมราชานุญาตให้ Mr. Read จัดทำ และทรงพระราชดำริว่าประเทศไทยตกลงจะดำเนินกิจการโทรเลขเอง
       
       กิจการโทรเลขพัฒนาไปอย่างก้าวหน้า หลังจากเปิดบริการสำหรับประชาชนทั่วไป รวมทั้งมีบริการที่ทำการโทรเลขอีกหลายแห่ง ทำให้บริการเป็นที่นิยมมากขึ้น โดยในสมัยนั้นค่าบริการคิดเป็นคำละ 1 เฟื้องหรือเท่ากับ 12 สตางค์
       
       ในระยะเริ่มแรกการรับ-ส่งโทรเลขในไทยยังคงใช้รหัสมอร์สที่เป็นสัญญาณสากลแปลเป็นอักษรโรมัน โดยเครื่องที่ใช้ในการรับส่งเป็นเครื่องแถบ สัญญาณที่รับส่งทางสายจะเข้ามาในเครื่องรับและบังคับเครื่องรับขีดเครื่องหมายสั้นๆ ยาวๆ ลงบนกระดาษแถบ แล้วใช้วิธีอ่านแปลรหัสสัญญาณมาเป็นภาษาอังกฤษ
       
       จนกระทั่งปี พ.ศ.2496 สมาน บุณยรัตพันธุ์ ได้คิดค้นเครื่องโทรพิมพ์ภาษาไทยได้สำเร็จทำให้การรับส่งโทรเลขในประเทศไทยดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ไม่ต้องแปลภาษาไปมาให้สับสนอีก
       
       การพัฒนาของเครื่องรับ-ส่งโทรเลขจะแบ่งเป็น 3 ยุคใหญ่ๆ คือตั้งแต่ยุคที่เคาะรหัสมอร์ส มาเป็นเครื่องโทรพิมพ์ จนมาถึงยุคคอมพิวเตอร์พีซีในปัจจุบัน
       
       แต่แล้ววันหนึ่งก็ถึงจุดเปลี่ยนของโทรเลข แน่นอนว่าเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่าจะต้องเข้ามาทดแทนเทคโนโลยีเก่าๆ วงการรหัสมอร์สต้องกระเทือนทันทีเมื่อ Alexander Graham Bell สามารถประดิษฐ์เครื่องโทรศัพท์เครื่องแรกได้สำเร็จ การสื่อสารโดยสามารถส่งเสียงผ่านสายได้ย่อมรวดเร็วกว่าการเคาะแปลรหัส ทำให้ความนิยมเริ่มลดน้อยลง แต่ยังคงมีบริการให้เห็นมาจนถึงปัจจุบัน

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9510000049064
-------------------------------------------------------------------------------------------------

เทคโนโลยีเปลี่ยน ย่อมต้องมีสิ่งล้าสมัยจนเลิกใช้ไป
แต่....ก็อดเสียดายไม่ได้ เคยเรียนเคยส่งมาตอนเด็กๆ
รวมถึงมุกขำขันหลายๆเรื่องจากโทรเลข ต่อไปคงจะไม่มีใครเข้าใจ

แต่...หากวันหนึ่งเทคโนโลยีใช้ไม่ได้
จะยังมีใครจำภูมิปัญญาระหัสมอสที่ประยุกต์ใช้ได้หลายหลากมากกว่าได้บ้างหรือเปล่า

 
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
    กระโดดไป: