ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
14-05-2025, 18:01
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สภากาแฟ  |  มุมมอง"จรัญ ภักดีธนากุล" "ตุลาการภิวัตน์"ไม่มีวันดับ 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
มุมมอง"จรัญ ภักดีธนากุล" "ตุลาการภิวัตน์"ไม่มีวันดับ  (อ่าน 2211 ครั้ง)
ปุถุชน
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 10,332



« เมื่อ: 28-04-2008, 14:18 »

มุมมอง"จรัญ ภักดีธนากุล" "ตุลาการภิวัตน์"ไม่มีวันดับ




 
"เลิกกักขฬะรุนแรงใส่กัน แล้วก็หาทางออกที่สาม กันพวกรุนแรงออกไปให้อยู่วงนอก เอาคนที่มีระบบเข้ามาเป็นแกนนำในทุกๆ จุดสังคม แล้วลืมความบาดหมางในอดีต เพิ่มความสมานสามัคคี ยึดคติรู้รักสามัคคีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แทนที่จะปล่อยให้พวกชั่วร้าย จาบจ้วง ล่วงเกิน มีกันอย่างกว้างขวาง "

ห้วงเวลาที่บ้านเมืองประสบภาวะวิกฤตจนเกิดความเสื่อมศรัทธาต่อผู้ปกครอง "สถาบันตุลาการ" ถูกเรียกร้องให้เข้ามาช่วยชี้ทิศเพื่อนำพาสังคมก้าวข้ามความมืดบอด ดังนั้นช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาศาลจึงถูกขนานนามให้เป็น "อัศวินม้าขาว"

ทว่าเมื่อศาลเปิดประตูออกมามากขึ้น ยิ่งเป็นการเปิดช่องให้กระแสการเมืองถาโถมเข้าขย้ำศาลอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะบทบาทการเข้ามากู้วิกฤตหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทำให้ฝ่ายการเมืองอ้างความไม่ชอบธรรมจากรัฐประหารรุมโถมโรมรันตุลาการที่เข้ามามีบทบาทในทุกตำแหน่งในองค์กรอิสระ กระทั่งการได้มาซึ่ง "ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" ก็ไม่อาจละเว้นต่อการวิพากษ์ได้

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า การสรรหาตุลาการเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ เกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ถือได้ว่าตุลาการหลายคนมีบทบาทกับกระบวนการร่างและสรรหาอยู่ไม่น้อย ประเด็นนี้จึงทำให้ฝ่ายที่เสียประโยชน์จ้องเขม็งว่า ตุลาการชุดนี้จะเข้ามาประหัตประหารหรือไม่ เพราะหนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้มีชื่อ "จรัญ ภักดีธนากุล" ผู้ที่ครั้งหนึ่งมีบทบาทพะบู๊เสียจนทำให้เข้าตากรรมการ

"มติชน" มีโอกาสจับเข่าคุยก่อนที่จะเข้าดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ

- การเข้ารับตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นส่วนหนึ่งของตุลาการภิวัตน์หรือไม่

ไม่น่าจะเกี่ยวกัน คำว่าตุลาการภิวัตน์ไม่มีนิยามศัพท์หรือแก่นแกนที่แน่นอน แล้วแต่ความคิดเห็นของแต่ละคนว่าจะใช้คำนี้ในกาลใด สำหรับผมไม่คิดว่า ผมอยู่ในกระบวนการตุลาการภิวัตน์ในความหมายอย่างแคบ เพราะตุลาการภิวัตน์ในความหมายของผม หมายถึงตุลาการที่อยู่ในฐานะและตำแหน่งตุลาการแล้วทำกิจกรรมออกมาให้เกิดผลในทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม มากกว่าในทางคดีที่เคยทำ ถือเป็นการทำงานให้บ้านเมือง นั่นแหละตุลาการภิวัตน์

- กระแสต่อต้านขวางไม่ให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาก เพราะมีภาพเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลชุดนี้หรือไม่

ผมไม่คิดว่า ตัวเองมีพฤติกรรมอะไรที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล พยายามทำทุกอย่างเพื่อช่วยสถาปนารัฐบาลให้มั่นคงอยู่บนความชอบธรรมและความถูกต้อง อยู่ในฐานะที่จะทำประโยชน์ให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุด ไม่เคยคิดว่าจะทำอะไรเพื่อเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลใด อันนี้เป็นหลักที่ใช้กับทุกรัฐบาล เรามีรัฐบาลเพื่อให้หาคนเข้ามารับภาระหน้าที่ดูแลทุกข์สุขกับประชาชนและประเทศชาติให้มีสถานภาพน่าเคารพนับถือ น่าคบหาสมาคมในสายตาของเพื่อนร่วมโลก

- ช่วงที่ทำงานกับรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ (จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี) ก็ใช้หลักนี้

ทุกรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลไหน ต้องช่วยกันทั้งนั้น เพราะรัฐบาลมีขึ้นเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน เราจะไม่เลือกฝักฝ่ายว่ารัฐบาลนี้ไม่ใช่พวกเรา เราจะไม่ช่วยมันหรือเราต้องกำราบมัน ไม่ใช่ ประเทศนี้ต้องมีรัฐบาล รัฐบาลต้องมีองคพยพ มีโครงสร้างที่สามารถทำงานได้

- บางพรรคการเมืองผวาที่ท่านเข้ารับตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเกรงว่า จะเข้ามาดูสำนวนการยุบพรรคเป็นการเฉพาะ

อันนี้อาจจะเป็นเรื่องนอกเหนือความรู้ ความเข้าใจของคน คนอื่นคิดอย่างไร เราบังคับไม่ได้ แต่ขอให้ตรวจสอบตัวเองให้แน่ใจว่า ทำสิ่งนั้นๆ เพื่ออะไร อยู่บนหลักการและความถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ ถ้าทำโดยถูกต้องชอบธรรม ก็ไม่มีปัญหา

- พอ ส.ส.พรรคพลังประชาชนเห็นหน้าค่าตาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้วก็อาจจะกลัวว่า มีธงจะยุบพรรค

เราจะประเมินคนที่หน้าตาไม่ได้ ต้องคบกันไปนานๆ ดูจากพฤติกรรมในอดีตที่ยาวนาน จะไปตัดสินคนที่พฤติกรรมในแง่มุมเดียว มันไม่ค่อยแม่น ผมอยากให้สังคมดูภาพรวมว่าคนคนนี้ เคยทำความเสียหายแก่ประเทศชาติหรือทำคุณประโยชน์ ควรดูว่าเขามีหลักคิด หลักปฏิบัติอย่างไร เขาปฏิบัติตรงกับหลักคิดที่ยึดถือหรือไม่ ถ้าประเมินแล้วเห็นว่า น่าจะไว้วางใจให้ทำงานชิ้นนั้น ก็ควรให้เขาทำ ถ้าประเมินแล้วเห็นว่าไม่ควรปล่อยให้ทำภารกิจนั้นก็ไม่ควรให้เขาเข้าอยู่ในตำแหน่ง ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร ไม่ว่าจะมีฐานะสูงส่งแค่ไหน มีสติปัญญาแค่ไหน เพราะตำแหน่งต่างๆ ของประเทศไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อคนของใคร แต่สร้างขึ้นเพื่อให้คนที่เหมาะสมมาทำหน้าที่ ดังนั้นอย่า****อักโขโลกณะ****เลือกคนที่เราชอบหรือไม่ชอบ แต่ขอให้เลือกคนเหมาะกับงาน

- ช่วงเวลาที่ผ่านมาอาจจะมีบทบาทในการวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับระบอบทักษิณ ประเด็นนี้อาจทำให้รัฐบาลระแวงได้

ผมไม่มีความรู้สึกต่อต้านระบอบทักษิณหรือระบอบอะไร ผมต่อต้านระบอบธนานิยม ธนบัตรนิยม หรือการใช้จ่ายเงินคอร์รัปคน คอร์รัปข้าราชการ คอร์รัปคนในวงการเมืองให้เว้นออกไปกติกา ความถูกต้อง เป็นธรรม เพราะเรายังให้ความเคารพกับคนตามวัฒนธรรม เราไม่เคยก้าวร้าวกับใคร ซึ่งเราต้องตั้งหลักให้กับประเทศชาติให้แม่นยำว่าจะต้องยึดมั่นอยู่บนระบอบอะไรที่มีคุณภาพมาตรฐาน

- การที่เห็นรายชื่อและภูมิหลังของตุลาการรัฐธรรมนูญแล้วฟันธงว่าจ้องจะมายุบพรรคร่วมรัฐบาลนั้นแสดงว่าพรรคพลังประชาชนกลัวเกินเหตุ

(นิ่งคิด)....เราไม่อาจจะรู้วาระจิตของคนใดคนหนึ่งได้ แต่ไม่คิดว่ามีเหตุต้องหวาดระแวงกัน

- แสดงว่าการเข้ามาทำหน้าที่ในศาลรัฐธรรมนูญก็มีความบริสุทธิ์ใจอย่างแท้จริง

(นิ่งคิดนาน) ....ผมคิดว่าผมเหมาะที่จะทำงานตุลาการมากกว่างานบริหาร คนหรือสังคมจะมองอย่างไร ผมไม่ทราบ ในเมื่อมีโอกาสที่เลือกได้ ผมก็เลือกมาทำงานทางฝ่ายตุลาการ ซึ่งไม่วุ่นวาย ไม่ขัดแย้ง ไม่ต้องปะทะเหตุการณ์อะไรเหมือนฝ่ายบริหาร โดยสภาพงานทางตุลาการจะสงบกว่า เรื่องนี้อยู่ที่ว่า พอใจกับชีวิตแบบไหน ถนัดงานแบบไหน และตรงไหนที่ศักยภาพของเราจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมมากที่สุด เราก็เลือกสถานะนั้น

- การตัดสินผันตัวเองจากปลัดกระทรวงยุติธรรม มาสมัครตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเพราะกลัวการเช็คบิลหรือไม่

ไม่ใช่ เพราะผมไม่กลัวการเช็คบิล อ่า..ผมต้องออกจากกระทรวงยุติธรรม เพราะวันแรกที่ผมมารับภาระนั้น ผมประกาศเจตนากับพี่น้องในกระทรวงยุติธรรมว่า ผมไม่ได้มาอะไรล่ะ...เสวยสุขในตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรมนะ ผมมารับภาระในช่วงที่ประเทศชาติหรือสังคมต้องการให้ผมมาทำงานตรงนี้ ผมก็จะมา เสร็จภารกิจผมก็จะกลับศาล นี่คือคำพูดตั้งแต่ต้นและพูดมาตลอด ถ้าผมอยู่กระทรวงยุติธรรมต่อไป ผมจะเสียคน จะเสียคำพูด เสียผู้ใหญ่ แล้วก็...ลูกศิษย์ลูกหาที่เราเคยสอนเขา เขาจะรู้สึกอย่างไร อย่างไรเสียเราก็ต้องออกจากกระทรวงยุติธรรม

- เมื่อมาอยู่ศาลรัฐธรรมนูญก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า จะถูกฝ่ายการเมืองดึงเป็นพวกอยู่ตลอด เพราะคดีที่จะเข้าสู่ศาลส่วนใหญ่จะเกี่ยวเนื่องกับการเมือง

คดีอะไรก็แล้วแต่....ถ้ามาถึงศาลแล้ว ศาลจะต้องตัดสินให้ตรงไปตรงมา ถูกต้อง เป็นธรรม นี่คือหลักคิดของคนที่อยู่ฝ่ายตุลาการ ส่วนผลจะเป็นคุณแก่การเมืองฟากไหน ฝ่ายไหน อันนั้นเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้และเป็นผลของคนที่ทำงานฝ่ายตุลาการปฏิเสธไม่ได้ เพราะมันมีผลกระทบต่อการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม เราจะเอาแต่ด้านดี ด้านประโยชน์โดยไม่ยอมรับด้านเสียไม่ได้ ขอเพียงว่าให้ศาลรัฐธรรมนูญตั้งหลักไว้ อยู่บนหลักความเป็นอิสระ ไม่ศิโรราบรับคำสั่งจากฝั่งไหนเด็ดขาดและไม่ประจบสอพลอเข้าไปรับใช้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเด็ดขาด เราต้องตั้งหลักให้ตรงและทำโดยมีกฎหมายเป็นแนวทางและเอาประโยชน์สุขของประเทศชาติเป็นเป้าหมาย

- หลักที่จะนำมาใช้ในการพิจารณาคดีต่างๆ ในศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นหลักนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์

ทั้ง 2 หลัก ไม่มีอะไรแตกต่างกันหรอก เพราะมุ่งที่เป้าหมายเดียวกัน คือ ประโยชน์และความสุขของมหาชนชาวสยาม เพียงแต่ใช้สำนวนวาทะ ตรรกะที่แตกต่างกัน กฎหมายลายลักษณ์อักษรเป็นเพียงเครื่องมือที่จะนำมาใช้สนับสนุนให้เหตุผลหรือเป้าหมายนั้นถูกต้อง ตรงกันข้ามถ้าเป้าหมายนั้นผิดให้เอากฎหมายกี่ร้อยบทมายัน มาค้ำยัน ก็ช่วยไม่ได้ ทางรัฐศาสตร์เขาอาจจะใช้คำว่า รัฐประศาสนโยบาย ซึ่งถ้อยคำก็เป็นเพียงภาษาหรือวาทะที่คอยสนับสนุนเป้าหมายให้แม่นยำเพื่อประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่เท่านั้น แต่ไม่ได้เพื่อประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือพรรคใดพรรคหนึ่ง ตรงนี้เป็นความยากที่คนทำงานให้กับสาธารณะจะต้องทำ ใครแม่นยำกว่าใคร คนนั้นก็ทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นได้มาก ทำให้เกิดโทษได้น้อย ...ให้มั่นใจเถิดว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลยุติธรรม รวมทั้งศาลทหาร ควรจะต้องได้รับการสถาปนาให้เป็นองค์กรฝ่ายตุลาการที่เป็นอิสระ เป็นกลาง เที่ยงตรง สุจริตธรรมและความถูกต้องชอบธรรมให้ได้ แล้วทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำ

- รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เปิดพื้นที่ให้ตุลาการมีบทบาทในการเมืองมากขึ้น หลังจากนี้ศาลควรปรับเปลี่ยนบทบาทตัวเองหรือไม่

มันขึ้นอยู่กับว่าสังคมได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์จากการที่รัฐธรรมนูญขอให้สถาบันตุลาการมีส่วนร่วมในการดูแลประเทศในบางพื้นที่ ถ้าประเมินออกมาแล้วมันไม่ได้ประโยชน์มันมีแต่ความเสียหาย มาเป็นผู้ทำหน้าที่สรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ก็ดี ทำหน้าที่สรรหาองค์กรอิสระต่างๆ ก็ดี แล้วคอร์รัปหรือทำให้มันไม่ให้อยู่ในคุณภาพมาตรฐาน ไม่ตรงไปตรงมา ไปรับสินบาทคาดสินบนเขา อย่างนี้ต้องล้ม ต้องเลิก แต่ถ้าเขาออกมาแล้วเขาทำตรงไปตรงมา ไม่มีพรรค ไม่มีพวก ไม่มีฝัก ฝ่าย ถึงแม้ว่าจะไม่ถูกใจคนก็ถือว่านี่คือการสร้างหลักให้บ้านเมือง

- การที่ศาลมีบทบาทเช่นนี้ก็กำลังถูกท้าทายจากฝ่ายการเมือง มีกระแสเรียกร้องให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งโดยตรง

นี่เป็นความคิดเห็นของคน โดยเฉพาะสังคมประชาธิปไตยมีได้หลากหลาย อยู่ที่ว่าความเห็นใดจะเป็นคุณประโยชน์มากกว่าคำพูดที่เป็นวาทะคารม ก่อนหน้านี้เรามี ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วลองคิดสิว่าทำความเสียหายหรือทำคุณให้กับประเทศชาติมากกว่ากัน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วกี่เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งมี ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของฝ่ายการเมืองอีก คิดผลงานออกมาแล้วมีความเสียหายมากแค่ไหน ส่วน ส.ว.ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งสองระบบนั้นเป็นการวางระบบที่พยายามหาคนที่เป็นกลางทางการเมืองเข้ามาทำหน้าที่ให้มากที่สุด หลังจากการประนีประนอมความคิดกันแล้ว ซึ่งที่มาของ ส.ว.ไม่ได้ถ้าดึงดันไปด้านใดด้านหนึ่ง และไม่ได้ถอยเข้าคลอง เป็นการออกแบบใหม่ที่ประนีประนอม 2 แนวคิดที่ต่างกัน แนวคิดอย่างนี้น่าจะเป็นต้นแบบกับการแก้ไขความขัดแย้ง เพราะเป็นการหาทางเลือกที่สามเพื่อลดขัดแย้งรุนแรง

- ท้ายที่สุด ส.ว.ก็เป็นปัจจัยให้กับฝ่ายการเมืองพาเหรดเข้ามาแย่งชิงพื้นที่ทางอำนาจ โดยกล่าวหาว่า ส.ว.สรรหามาจาก คมช.

คำกล่าวหานั้นเป็นความจริงหรือเปล่าล่ะ ใครเป็นคนสรรหา เขาให้ คมช.สรรหาหรือเปล่าหรือให้นอมินี คมช.สรรหาหรือเปล่าล่ะ (นิ่งไปชั่วขณะ) และตอนนี้ผมก็ยังมั่นใจว่า ส.ว.ทั้ง 74 คน มีความชอบธรรมในการทำงานต่อ เพราะเราหาสูตรอะไรที่ดีกว่านี้ไม่ได้ และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สังคมขอใช้บริการฝ่ายตุลาการ ฝ่ายตุลาการเองไม่เคยแยแสหรือสนใจเป็นภารกิจเหล่านี้

- หากมีการแก้รัฐธรรมนูญโดยอาจลดบทบาทไม่ให้มาเกี่ยวเนื่องกับกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระ ศาลพร้อมจะกลับที่ตั้งเหมือนเดิมหรือไม่

ถามผมตอนนี้ไม่ได้ เพราะตอนนี้ผมไม่ได้ตรงนั้น แต่เท่าที่ผมรู้ คนที่อยู่ในศาลไม่ได้คิดว่าการออกมาแบบนี้ได้เป็นประโยชน์กับคนที่อยู่ในศาลเลย มันเป็นภาระมากกว่า

- มองอย่างไรกับสถานการณ์บ้านเมืองที่เริ่มวุ่นวาย ซึ่งรัฐธรรมนูญถือเป็นชนวน

ผมไม่คิดว่ารัฐธรรมนูญเป็นมูลเหตุ แต่มองว่ากิเลสตัณหาในใจของคนที่มันรุนแรงแล้วกระโจนเข้าใส่ โดยพยายามหาแง่มุมที่ทำคุณประโยชน์ให้กับกลุ่มตัว พวกตัว สุดแท้แต่ว่าช่องทางนั้นมันจะไปตกอยู่ที่ไหน รัฐธรรมนูญก็เป็นเพียงเบี้ยตัวหนึ่งที่ถูกเดิน โดยคนที่กำลังต่อสู้กัน ทะเลาะวิวาทกัน ไม่ยอมอะไรล่ะ...หาทางออกที่สามให้กับบ้านเมือง

- หากบ้านเมืองเดินไปสู่ทางตันโดยไม่มีทางออก สถาบันตุลาการที่ครั้งหนึ่งประมุข 3 ศาลเคยมาจับมือและร่วมหาทางออกร่วมกันจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่

หลังจากที่เราได้รับบทเรียนเจ็บปวดแสนสาหัสมาครั้งหนึ่งแล้ว ผมไม่คิดว่าเราจะเดินไปสู่ทางตันอีกครั้ง บทเรียนครั้งนั้นน่าจะทำให้เราฉลาดขึ้น ผมไม่คิดว่าจะต้องมอบภาระให้ศาลขนาดนั้น

- บทเรียนความวุ่นวาย 2-3 ปีที่ผ่านมาคืออะไร

บทเรียนที่ชัดเจนคือ การแตกสามัคคี ทำลายความเจริญก้าวหน้าของสังคมไทย มีความทุจริตฉ้อฉล ทำลายความสมบูรณ์สุขของสังคมไทย โดยที่คนไทยไม่รู้ตัว มีการใช้อำนาจรัฐ อำนาจเลว อำนาจเถื่อนของนักเลงหัวไม้ อันธพาล เข้าห้ำหั่นทำลายคนที่มีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับตนหรืออยู่ฟากฝั่งตรงกันข้ามก็เถอะ เนี่ย!! คือสิ่งที่ทำลายสังคมเรา

- สถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ก็ดูจะมืดมน

มันมืดมนเพราะปกคลุมด้วยกิเลสปัญหามากไป ถ้าลดละทิฐิมานะ ลดละพวกพ้อง ละความเจ็บช้ำคับแค้น อาฆาต ลดละ อุดมคติ อะไรที่มันฝังหัวของทุกฝ่ายให้เบาลง แล้วคิดถึงประโยชน์แห่งมหาชนให้มาก ความมืดมนก็จะไม่มีเลย มันมีทางออกได้เยอะแยะ แต่เขาไม่ออกกัน เราเองก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์อย่างนั้นขึ้นมาอีก

- มองการเคลื่อนตัวระหว่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและรัฐบาลจะนำไปสู่ทางตันจนทำให้ประมุขของ 3 ศาลออกมาผ่าทางตันอีกครั้งหรือไม่

ผมไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์อย่างนั้น ถ้าเกิดอีกก็แสดงว่าเป็นเวรกรรมของคนไทยที่ไม่รู้จักเรียนรู้จากประสบการณ์ ซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้นด้วยซ้ำ ถ้าเพียงแต่รู้จักลดราวาศอกบ้าง

- เชื่อว่าจะไม่มีวิกฤตศรัทธาจนทำให้เกิดตุลาการภิวัตน์ภาคสอง

ผมไม่เห็น....ผมมองโลกในแง่ดี เราน่าจะช่วยกันประคับประคองประเทศชาติให้เดินก้าวต่อไปข้างหน้า แล้วก็ทำได้ไม่ยากหรอก เลิก..กักขฬะรุนแรงใส่กัน แล้วก็หาทางออกที่สาม กันพวกรุนแรงออกไปให้อยู่วงนอก เอาคนที่มีระบบเข้ามาเป็นแกนนำในทุกๆ จุดของสังคม แล้วก็ควรลืมความบาดหมางในอดีตซะบ้าง และเพิ่มอะไรที่เป็นความสมัครสมานสามัคคี โดยอาจจะยึดคติรู้รักสามัคคีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทางก็ได้ แทนที่จะปล่อยให้พวกอะไรล่ะ..ชั่วร้าย จาบจ้วง ล่วงเกิน มีกันอย่างกว้างขวาง

- นี่ถือเป็นทางออกที่สามของสังคมไทย

ใช่ ทางออกที่สาม คือ ความสามัคคี เพราะเราต้องรู้ถึงหายนะที่มันเกิดจากความแตกสามัคคี มันลึกซึ้งและรุนแรงมาก จนทำความเสียหายให้กับประชาชนและประเทศชาติมาก การแตกความสามัคคีจะรุนแรงก็ต่อเมื่อคนที่มีความคิดความรุนแรงในภาคต่างๆ ดังนั้นการคัดหรือสนับสนุนคนเข้าทำงานแถวหน้าของแต่ละฝ่ายต้องไม่ทิ้งคุณสมบัติเหล่านี้ ต้องเพิ่มบทบาทให้คนที่มีแนวทางประนีประนอมในใจ

- ก่อนหน้านี้ อ.ธีรยุทธ บุญมี (อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์) วิเคราะห์ว่า บ้านเมืองกำลังเผชิญยุค 5 เสื่อม และหนึ่งความเสื่อมนั้น คือ ความเสื่อมในคำเตือนของผู้ใหญ่

ไม่ถึงขนาดนั้นมั้ง (ลากเสียงยาว) ผมยังเห็นผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราเต็มไปหมด ที่เราสามารถเคารพนับถือและพร้อมจะก้มลงกราบได้ แต่มันมากขึ้น และมันก้าวล่วงจ้วงจาบ จนไม่มี "อปจายนมัย" หรือความไม่เคารพต่อผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านไม่มี ไม่ใช่ว่าผู้ใหญ่เหล่านั้นไม่กล้าออกมา คนเหล่านั้นอยู่เหนือความกลัวแล้วทั้งนั้น "เวลาท่านพูดไม่ได้พูดเพื่อประโยชน์ของท่าน ท่านทำเพื่อประโยชน์ของพวกเจ้าเอง ฉะนั้นเมื่อพวกเจ้าไม่เอา ไม่ฟัง ก็ตามใจเจ้า" เขาจะออกมาเต้นทำไมในเมื่อสิ่งที่ท่านเตือน ท่านบอกไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อท่านเลย

- ในอนาคตจะมีภาวะแบบนั้นเกิดขึ้นไหม

เราก็ต้องมีส่วนด้วย และคนส่วนใหญ่ต้องรู้จักแยกแยะให้ออกด้วยว่า ใครเป็นพาล ใครเป็นบัณฑิต ไม่อย่างนั้นมันก็มีคนถ่***เต็มเมือง เพราะการใช้คำบริภาษจาบจ้วงคนพาลย่อมเก่งกว่า (หัวเราะ)

- หากเกิดวิกฤตถึงขั้นปะทะกันจนนองเลือด ศาลยังจะถือว่าเป็นผู้ใหญ่เป็นที่พึ่งหวังให้กับคนในบ้านเมืองอีกอยู่ไหม

ผมไม่คิดว่าเราจะต้องปะทะกันถึงขั้นนองเลือด คนไทยไม่ใช่คนบ้าระห่ำแบบนั้น คนส่วนใหญ่เขาก็มีสติสัมปชัญญะ มีปัญญาพอที่จะรู้ว่า ไอ้นั่นมันเป็นคนอยู่ในสังคมป่าเถื่อน ที่ถูกผู้นำหัวรุนแรงปลุกปั่น และเข้าห้ำหั่นจนเป็นเหนือ เป็นใต้ แล้วก็ไม่รู้ผิด ถูก ผมไม่คิดว่าคนไทย จะโง่และยอมอย่างนั้น เพราะฉะนั้นไม่มีการนองเลือด คนไทยจำนวนมากไม่มีทางยอมเป็นสาวกให้พวกหัวรุนแรง ที่ไม่เห็นจะทำประโยชน์อะไรให้กับบ้านเมือง

ผมยังมั่นใจว่าเราไม่ฆ่ากัน เพราะเรามีความเป็นอารยะพอ เพราะหลายเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ยืนยันถึงอารยชนในประเทศนี้ ไม่งั้นเราเลิกทาสโดยไม่มีสงครามไม่ได้ เพราะการเลิกทาสครั้งนั้นเป็นการเลิกทาสที่นุ่มนวลที่สุดในโลก ไม่อย่างนั้นเราคงไม่สามารถต้านทานทฤษฎีโดมิโนได้ เราคงแบ่งเป็นไทยเหนือ ไทยใต้ หรือไทยอะไรอีกหลากหลายแบบหลายประเทศแล้ว สุดท้ายเราก็มีทางของเรา นี่คือศักยภาพของคนไทยโดยรวม ดังนั้นพวกหัวรุนแรงอย่าหวังเลยว่า จะมาปลุกระดมขึ้นเป็นวีรบุรุษผู้กล้าท่ามกลางการนองเลือดของคนไทย ซึ่งเรื่องนี้เราต้องช่วยกัน ประคับประคองอย่าให้เกิด อย่าชี้นำสังคมไปอย่างนั้น แล้วปรามพวกทำนายทายทักไปตามความมืดบอด เราต้องเชื่อว่า "ต้องไม่เป็นอย่างนั้น" (เน้นเสียง) แล้วความเชื่อนี้จะแผ่กระจาย เพราะเราจะยอมให้ใครมาทำให้เกิดสภาวการณ์เช่นนั้นอีกไม่ได้

- ตุลาการภิวัตน์จะยังคงเกิดขึ้นอีกหรือไม่

คนที่เป็นตุลาการ เป็นผู้พิพากษา ปฏิบัติภารกิจในทางตุลาการให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ให้ดีขึ้น ต้องมี....(เน้นเสียง) ต้องมีอยู่ตลอดเวลา และต้องมีอย่างจริงจังมากขึ้น การพูดในที่นี้ไม่ใช่ตุลาการภิวัตน์อย่างความหมายที่พูดกัน ไม่จำเป็นต้องอยู่บนบัลลังก์เท่านั้น ตุลาการภิวัตน์อาจจะนำประสบการณ์ความรู้ในการทำงาน เช่น กฎหมายเรื่องนี้มันทำร้ายประชาชน มันทำให้เกิดความอยุติธรรมในแผ่นดิน ทำให้เกิดความคับแค้นในจิตใจผู้บริสุทธิ์เป็นอันมาก ท่านต้องเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายตัวนั้นได้ ต้องมีช่องทางให้ท่านทำ และนี่คือการทำภารกิจของตุลาการภิวัตน์ที่นำมาเชื่อมต่อในกระบวนการนิติบัญญัติ แต่ไม่ใช่ออกมานั่งอยู่ในสภาเสียเอง เว้นแต่จะลาออกมา

หน้า 11

 
http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01pol01280451&day=2008-04-28&sectionid=0133
 
 


 
บันทึกการเข้า

“หัวใจของการเมือง คือ ความไม่เห็นแก่ตัว หากเห็นแก่ตัวและพรรคของตัวแล้ว จะเห็นแก่มวลชนได้อย่างไร ดังนั้น นักการเมืองควรมีศีลธรรม ยึดถือธรรม บูชาธรรมยิ่งกว่าคนธรรมดา เมื่อเราทราบดีว่า การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมปัจจุบันมีปัญหาที่ต้องแก้ไข หากผู้ที่อาสาเข้ามายังจะใช้วิธีการเดิมๆ อีก ย่อมจะแก้ไขไม่ได้ เพราะปัจจุบันเป็นผลของอดีต และจะเป็นเหตุของอนาคต ต้องคิดให้ดี พูดให้ดี และทำให้ดี ในอนาคตจึงจะมีความหวังได้ มิฉะนั้นผู้สนับสนุนผู้ถูกร้อง(พ.ต.ท.ทักษิณ) จะต้องผิดหวังในที่สุด”


อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประเสริฐ นาสกุล ได้มีคำวินิจฉัยส่วนตัวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีความผิดในคดีซุกหุ้น......
หน้า: [1]
    กระโดดไป: