ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
29-03-2024, 06:11
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สภากาแฟ  |  พรรคมารภาค 2? [ลูกอีช่างปะ ไม่ทำหน้าที่เล้ย] 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
พรรคมารภาค 2? [ลูกอีช่างปะ ไม่ทำหน้าที่เล้ย]  (อ่าน 987 ครั้ง)
eAT
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,066



« เมื่อ: 28-04-2008, 11:45 »

เดี๋ยวนี้ทำไม ลูกอีช่างปะ ไม่ทำหน้าที่เล้ย

------------------------------
พรรคมารภาค 2?

บทนำมติชน

http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01edi01280451&day=2008-04-28&sectionid=0102

สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้มีแนวโน้มจะปะทุเป็นความรุนแรงได้อย่างง่ายดายจากเหตุแห่งความขัดแย้ง แตกต่างทางความคิด กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 พรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลต้องการเร่งแก้ไขแบบยกเครื่องทั้งฉบับ โดยนำเอารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาเป็นหลัก แต่มีหลาย ฝ่ายไม่เห็นด้วย เช่น พรรคประชาธิปัตย์ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ฯลฯ ที่ผ่านมาก็เห็นกันชัดแจ้งแล้วว่า กลุ่มมวลชนที่อยู่ฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาล "สมัคร" แสดงพฤติกรรมต่อต้านด้วยการโชว์อวัยวะเพศในที่สาธารณะ การขว้างปาเข้าใส่มวลชนฝ่ายพันธมิตรและถูกช่างภาพช่อง 7 จนได้รับบาดเจ็บ การยกขบวนไปด่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ถึงบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ ฯลฯ พันธมิตรประกาศว่าจะจัดชุมนุมประชาชนทันทีที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่รัฐสภาเพื่อคัดค้านต่อต้าน

ก่อนที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 จะดำเนินไปตามขั้นตอนและกระบวนการดังบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 นั่นคือ การเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อกันในญัตติดังกล่าวเสนอต่อประธานรัฐสภา สำหรับพรรคร่วมรัฐบาลมีด้วยกัน 6 พรรค ประกอบด้วยพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคประชาราช ในแง่จำนวน ส.ส.ที่จะหาให้ได้ 1 ใน 5 มิใช่เรื่องยาก แต่จากสถานการณ์ทางการเมืองที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ควรที่พรรคร่วมรัฐบาล 5 พรรค ยกเว้นพรรคพลังประชาชนที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการกำหนดประเด็นแก้ไขและเร่งรัดให้แก้ไขโดยสำเร็จ จะได้พิจารณาทบทวนให้รอบคอบว่าจะเอาด้วยกับพรรคพลังประชาชนหรือแสดงความเป็นอิสระที่จะไตร่ตรองผลดี ผลเสียก่อนจะตัดสินใจเด็ดขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง

พรรคร่วมรัฐบาลคงจำได้ว่า ก่อนจะเข้าร่วมกับพรรคพลังประชาชน ได้มีคำแถลงในลักษณะเป็นเงื่อนไขหรือข้อแม้ 5 ข้อ ต่อพรรคพลังประชาชนว่าจะต้องปฏิบัติตาม ได้แก่ 1.ต้องจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ 2.ไม่จาบจ้วงต่อประธานองคมนตรี 3.ไม่มีการล้างแค้นทางการเมือง สร้างความปรองดองในชาติ 4.ไม่นิรโทษกรรมกับผู้ที่กระทำผิด 5.พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ก็ไม่มีคำตอบจากนายสมัคร สุนทรเวช อย่างเป็นกิจจะลักษณะ กระนั้น 5 พรรคดังกล่าวก็คือเข้าร่วมรัฐบาล นั่นเท่ากับว่าประชาชนให้โอกาสในการบริหารประเทศ จนถึงวันนี้มีการกระทำหลายอย่างเกิดขึ้นซึ่งสวนทางกับข้อเสนอ 5 ข้อ พรรคร่วมรัฐบาลควรจะแสดงท่าทีออกมาบ้างแต่ก็ยังไม่มีวี่แววใดๆ

พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 5 พรรคคงไม่ลืมว่า การเกิดเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 หรือเมื่อ 16 ปีก่อน เป็นเพราะพรรคที่ร่วมรัฐบาลกับพรรคสามัคคีธรรมในขณะนั้นเกาะแน่นอยู่กับเก้าอี้และให้การสนับสนุน พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่ พล.อ. สุจินดาผิดคำพูดที่เคยให้ไว้กับสาธารณชนว่าจะไม่เป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังถูกประชาชนภายใต้การนำของ องค์กรชื่อ "สมาพันธ์ประชาธิปไตย" ชุมนุมประท้วง ขับไล่ การอดข้าวของ ร.ต.ฉลาด วรฉัตร และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นตัวเร่งให้กระแสความไม่พอใจรัฐบาล "สุจินดา" มากขึ้นตามลำดับ กระทั่งนำไปสู่การปราบปรามของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร มีคนบาดเจ็บและล้มตายเป็นจำนวนมาก แม้จะมีคนเจ็บคนตายและคนสูญหายไปจำนวนมาก แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้รัฐบาล "สุจินดา" อยู่รอด ตอนนั้นพรรครัฐบาลต่างถูกตราหน้าว่าเป็น "พรรคมาร" เป็นที่อัปยศอดสูอย่างยิ่ง

การประชุมหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล 6 พรรคในวันที่ 28 เมษายนนี้ ควรที่หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลจะได้เสนอต่อนายสมัครว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแบบขนานใหญ่ที่เสนอญัตติกันเอง ตั้งคณะกรรมาธิการกันเองและเกิดประโยชน์กับพรรคพวกตัวเองนั้น ในแง่เทคนิควิธีของการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ไม่อาจทำได้ เพราะอาจมีการแปรญัตติมากมายหลายประเด็น ทั้งประเด็นเล็ก ประเด็นย่อย ประเด็นน้อย ประเด็นใหญ่ ทั้งถ้อยคำ ซึ่ง ส.ส. และ ส.ว.ทุกคนมีสิทธิขอแปรญัตติได้ ถ้าแปรญัตติกันเป็นร้อยคน เป็นพันเรื่อง การประชุมจะยุ่งยากที่สุด นี่ยังไม่พูดกรณีที่หากมีประชาชนเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 5 หมื่นรายชื่อเพื่อเสนอญัตติแก้ไขเข้าไปร่วมด้วยก็จะยิ่งยุ่งยากเข้าไปอีก และไหนขบวนการต่อต้านนอกรัฐสภาที่ต่อต้านการแก้ไขซึ่งอาจมีอีกกลุ่มก่อความรุนแรง เพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือดในวิกฤตรัฐธรรมนูญปี 2551 และเพื่อไม่ให้ได้ชื่อว่า "พรรคมาร" ภาค 2 พรรคร่วมรัฐบาลจึงควรจะปฏิเสธการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของพรรคพลังประชาชน
บันทึกการเข้า
eAT
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,066



« ตอบ #1 เมื่อ: 28-04-2008, 13:48 »

แปะ เพิ่ม 

----------------------------------
มุมมอง"จรัญ ภักดีธนากุล" "ตุลาการภิวัตน์"ไม่มีวันดับ

http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01pol01280451&day=2008-04-28&sectionid=0133


 
"เลิกกักขฬะรุนแรงใส่กัน แล้วก็หาทางออกที่สาม กันพวกรุนแรงออกไปให้อยู่วงนอก เอาคนที่มีระบบเข้ามาเป็นแกนนำในทุกๆ จุดสังคม แล้วลืมความบาดหมางในอดีต เพิ่มความสมานสามัคคี ยึดคติรู้รักสามัคคีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แทนที่จะปล่อยให้พวกชั่วร้าย จาบจ้วง ล่วงเกิน มีกันอย่างกว้างขวาง"

ห้วงเวลาที่บ้านเมืองประสบภาวะวิกฤตจนเกิดความเสื่อมศรัทธาต่อผู้ปกครอง "สถาบันตุลาการ" ถูกเรียกร้องให้เข้ามาช่วยชี้ทิศเพื่อนำพาสังคมก้าวข้ามความมืดบอด ดังนั้นช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาศาลจึงถูกขนานนามให้เป็น "อัศวินม้าขาว"

ทว่าเมื่อศาลเปิดประตูออกมามากขึ้น ยิ่งเป็นการเปิดช่องให้กระแสการเมืองถาโถมเข้าขย้ำศาลอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะบทบาทการเข้ามากู้วิกฤตหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทำให้ฝ่ายการเมืองอ้างความไม่ชอบธรรมจากรัฐประหารรุมโถมโรมรันตุลาการที่เข้ามามีบทบาทในทุกตำแหน่งในองค์กรอิสระ กระทั่งการได้มาซึ่ง "ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" ก็ไม่อาจละเว้นต่อการวิพากษ์ได้

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า การสรรหาตุลาการเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ เกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ถือได้ว่าตุลาการหลายคนมีบทบาทกับกระบวนการร่างและสรรหาอยู่ไม่น้อย ประเด็นนี้จึงทำให้ฝ่ายที่เสียประโยชน์จ้องเขม็งว่า ตุลาการชุดนี้จะเข้ามาประหัตประหารหรือไม่ เพราะหนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้มีชื่อ "จรัญ ภักดีธนากุล" ผู้ที่ครั้งหนึ่งมีบทบาทพะบู๊เสียจนทำให้เข้าตากรรมการ

"มติชน" มีโอกาสจับเข่าคุยก่อนที่จะเข้าดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ

- การเข้ารับตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นส่วนหนึ่งของตุลาการภิวัตน์หรือไม่

ไม่น่าจะเกี่ยวกัน คำว่าตุลาการภิวัตน์ไม่มีนิยามศัพท์หรือแก่นแกนที่แน่นอน แล้วแต่ความคิดเห็นของแต่ละคนว่าจะใช้คำนี้ในกาลใด สำหรับผมไม่คิดว่า ผมอยู่ในกระบวนการตุลาการภิวัตน์ในความหมายอย่างแคบ เพราะตุลาการภิวัตน์ในความหมายของผม หมายถึงตุลาการที่อยู่ในฐานะและตำแหน่งตุลาการแล้วทำกิจกรรมออกมาให้เกิดผลในทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม มากกว่าในทางคดีที่เคยทำ ถือเป็นการทำงานให้บ้านเมือง นั่นแหละตุลาการภิวัตน์

- กระแสต่อต้านขวางไม่ให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาก เพราะมีภาพเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลชุดนี้หรือไม่

ผมไม่คิดว่า ตัวเองมีพฤติกรรมอะไรที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล พยายามทำทุกอย่างเพื่อช่วยสถาปนารัฐบาลให้มั่นคงอยู่บนความชอบธรรมและความถูกต้อง อยู่ในฐานะที่จะทำประโยชน์ให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุด ไม่เคยคิดว่าจะทำอะไรเพื่อเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลใด อันนี้เป็นหลักที่ใช้กับทุกรัฐบาล เรามีรัฐบาลเพื่อให้หาคนเข้ามารับภาระหน้าที่ดูแลทุกข์สุขกับประชาชนและประเทศชาติให้มีสถานภาพน่าเคารพนับถือ น่าคบหาสมาคมในสายตาของเพื่อนร่วมโลก

- ช่วงที่ทำงานกับรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ (จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี) ก็ใช้หลักนี้

ทุกรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลไหน ต้องช่วยกันทั้งนั้น เพราะรัฐบาลมีขึ้นเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน เราจะไม่เลือกฝักฝ่ายว่ารัฐบาลนี้ไม่ใช่พวกเรา เราจะไม่ช่วยมันหรือเราต้องกำราบมัน ไม่ใช่ ประเทศนี้ต้องมีรัฐบาล รัฐบาลต้องมีองคพยพ มีโครงสร้างที่สามารถทำงานได้

- บางพรรคการเมืองผวาที่ท่านเข้ารับตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเกรงว่า จะเข้ามาดูสำนวนการยุบพรรคเป็นการเฉพาะ

อันนี้อาจจะเป็นเรื่องนอกเหนือความรู้ ความเข้าใจของคน คนอื่นคิดอย่างไร เราบังคับไม่ได้ แต่ขอให้ตรวจสอบตัวเองให้แน่ใจว่า ทำสิ่งนั้นๆ เพื่ออะไร อยู่บนหลักการและความถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ ถ้าทำโดยถูกต้องชอบธรรม ก็ไม่มีปัญหา

- พอ ส.ส.พรรคพลังประชาชนเห็นหน้าค่าตาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้วก็อาจจะกลัวว่า มีธงจะยุบพรรค

เราจะประเมินคนที่หน้าตาไม่ได้ ต้องคบกันไปนานๆ ดูจากพฤติกรรมในอดีตที่ยาวนาน จะไปตัดสินคนที่พฤติกรรมในแง่มุมเดียว มันไม่ค่อยแม่น ผมอยากให้สังคมดูภาพรวมว่าคนคนนี้ เคยทำความเสียหายแก่ประเทศชาติหรือทำคุณประโยชน์ ควรดูว่าเขามีหลักคิด หลักปฏิบัติอย่างไร เขาปฏิบัติตรงกับหลักคิดที่ยึดถือหรือไม่ ถ้าประเมินแล้วเห็นว่า น่าจะไว้วางใจให้ทำงานชิ้นนั้น ก็ควรให้เขาทำ ถ้าประเมินแล้วเห็นว่าไม่ควรปล่อยให้ทำภารกิจนั้นก็ไม่ควรให้เขาเข้าอยู่ในตำแหน่ง ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร ไม่ว่าจะมีฐานะสูงส่งแค่ไหน มีสติปัญญาแค่ไหน เพราะตำแหน่งต่างๆ ของประเทศไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อคนของใคร แต่สร้างขึ้นเพื่อให้คนที่เหมาะสมมาทำหน้าที่ ดังนั้นอย่า****อักโขโลกณะ****เลือกคนที่เราชอบหรือไม่ชอบ แต่ขอให้เลือกคนเหมาะกับงาน

- ช่วงเวลาที่ผ่านมาอาจจะมีบทบาทในการวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับระบอบทักษิณ ประเด็นนี้อาจทำให้รัฐบาลระแวงได้

ผมไม่มีความรู้สึกต่อต้านระบอบทักษิณหรือระบอบอะไร ผมต่อต้านระบอบธนานิยม ธนบัตรนิยม หรือการใช้จ่ายเงินคอร์รัปคน คอร์รัปข้าราชการ คอร์รัปคนในวงการเมืองให้เว้นออกไปกติกา ความถูกต้อง เป็นธรรม เพราะเรายังให้ความเคารพกับคนตามวัฒนธรรม เราไม่เคยก้าวร้าวกับใคร ซึ่งเราต้องตั้งหลักให้กับประเทศชาติให้แม่นยำว่าจะต้องยึดมั่นอยู่บนระบอบอะไรที่มีคุณภาพมาตรฐาน

- การที่เห็นรายชื่อและภูมิหลังของตุลาการรัฐธรรมนูญแล้วฟันธงว่าจ้องจะมายุบพรรคร่วมรัฐบาลนั้นแสดงว่าพรรคพลังประชาชนกลัวเกินเหตุ

(นิ่งคิด)....เราไม่อาจจะรู้วาระจิตของคนใดคนหนึ่งได้ แต่ไม่คิดว่ามีเหตุต้องหวาดระแวงกัน

- แสดงว่าการเข้ามาทำหน้าที่ในศาลรัฐธรรมนูญก็มีความบริสุทธิ์ใจอย่างแท้จริง

(นิ่งคิดนาน) ....ผมคิดว่าผมเหมาะที่จะทำงานตุลาการมากกว่างานบริหาร คนหรือสังคมจะมองอย่างไร ผมไม่ทราบ ในเมื่อมีโอกาสที่เลือกได้ ผมก็เลือกมาทำงานทางฝ่ายตุลาการ ซึ่งไม่วุ่นวาย ไม่ขัดแย้ง ไม่ต้องปะทะเหตุการณ์อะไรเหมือนฝ่ายบริหาร โดยสภาพงานทางตุลาการจะสงบกว่า เรื่องนี้อยู่ที่ว่า พอใจกับชีวิตแบบไหน ถนัดงานแบบไหน และตรงไหนที่ศักยภาพของเราจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมมากที่สุด เราก็เลือกสถานะนั้น

- การตัดสินผันตัวเองจากปลัดกระทรวงยุติธรรม มาสมัครตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเพราะกลัวการเช็คบิลหรือไม่

ไม่ใช่ เพราะผมไม่กลัวการเช็คบิล อ่า..ผมต้องออกจากกระทรวงยุติธรรม เพราะวันแรกที่ผมมารับภาระนั้น ผมประกาศเจตนากับพี่น้องในกระทรวงยุติธรรมว่า ผมไม่ได้มาอะไรล่ะ...เสวยสุขในตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรมนะ ผมมารับภาระในช่วงที่ประเทศชาติหรือสังคมต้องการให้ผมมาทำงานตรงนี้ ผมก็จะมา เสร็จภารกิจผมก็จะกลับศาล นี่คือคำพูดตั้งแต่ต้นและพูดมาตลอด ถ้าผมอยู่กระทรวงยุติธรรมต่อไป ผมจะเสียคน จะเสียคำพูด เสียผู้ใหญ่ แล้วก็...ลูกศิษย์ลูกหาที่เราเคยสอนเขา เขาจะรู้สึกอย่างไร อย่างไรเสียเราก็ต้องออกจากกระทรวงยุติธรรม

- เมื่อมาอยู่ศาลรัฐธรรมนูญก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า จะถูกฝ่ายการเมืองดึงเป็นพวกอยู่ตลอด เพราะคดีที่จะเข้าสู่ศาลส่วนใหญ่จะเกี่ยวเนื่องกับการเมือง

คดีอะไรก็แล้วแต่....ถ้ามาถึงศาลแล้ว ศาลจะต้องตัดสินให้ตรงไปตรงมา ถูกต้อง เป็นธรรม นี่คือหลักคิดของคนที่อยู่ฝ่ายตุลาการ ส่วนผลจะเป็นคุณแก่การเมืองฟากไหน ฝ่ายไหน อันนั้นเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้และเป็นผลของคนที่ทำงานฝ่ายตุลาการปฏิเสธไม่ได้ เพราะมันมีผลกระทบต่อการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม เราจะเอาแต่ด้านดี ด้านประโยชน์โดยไม่ยอมรับด้านเสียไม่ได้ ขอเพียงว่าให้ศาลรัฐธรรมนูญตั้งหลักไว้ อยู่บนหลักความเป็นอิสระ ไม่ศิโรราบรับคำสั่งจากฝั่งไหนเด็ดขาดและไม่ประจบสอพลอเข้าไปรับใช้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเด็ดขาด เราต้องตั้งหลักให้ตรงและทำโดยมีกฎหมายเป็นแนวทางและเอาประโยชน์สุขของประเทศชาติเป็นเป้าหมาย

- หลักที่จะนำมาใช้ในการพิจารณาคดีต่างๆ ในศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นหลักนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์

ทั้ง 2 หลัก ไม่มีอะไรแตกต่างกันหรอก เพราะมุ่งที่เป้าหมายเดียวกัน คือ ประโยชน์และความสุขของมหาชนชาวสยาม เพียงแต่ใช้สำนวนวาทะ ตรรกะที่แตกต่างกัน กฎหมายลายลักษณ์อักษรเป็นเพียงเครื่องมือที่จะนำมาใช้สนับสนุนให้เหตุผลหรือเป้าหมายนั้นถูกต้อง ตรงกันข้ามถ้าเป้าหมายนั้นผิดให้เอากฎหมายกี่ร้อยบทมายัน มาค้ำยัน ก็ช่วยไม่ได้ ทางรัฐศาสตร์เขาอาจจะใช้คำว่า รัฐประศาสนโยบาย ซึ่งถ้อยคำก็เป็นเพียงภาษาหรือวาทะที่คอยสนับสนุนเป้าหมายให้แม่นยำเพื่อประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่เท่านั้น แต่ไม่ได้เพื่อประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือพรรคใดพรรคหนึ่ง ตรงนี้เป็นความยากที่คนทำงานให้กับสาธารณะจะต้องทำ ใครแม่นยำกว่าใคร คนนั้นก็ทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นได้มาก ทำให้เกิดโทษได้น้อย ...ให้มั่นใจเถิดว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลยุติธรรม รวมทั้งศาลทหาร ควรจะต้องได้รับการสถาปนาให้เป็นองค์กรฝ่ายตุลาการที่เป็นอิสระ เป็นกลาง เที่ยงตรง สุจริตธรรมและความถูกต้องชอบธรรมให้ได้ แล้วทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำ

- รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เปิดพื้นที่ให้ตุลาการมีบทบาทในการเมืองมากขึ้น หลังจากนี้ศาลควรปรับเปลี่ยนบทบาทตัวเองหรือไม่

มันขึ้นอยู่กับว่าสังคมได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์จากการที่รัฐธรรมนูญขอให้สถาบันตุลาการมีส่วนร่วมในการดูแลประเทศในบางพื้นที่ ถ้าประเมินออกมาแล้วมันไม่ได้ประโยชน์มันมีแต่ความเสียหาย มาเป็นผู้ทำหน้าที่สรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ก็ดี ทำหน้าที่สรรหาองค์กรอิสระต่างๆ ก็ดี แล้วคอร์รัปหรือทำให้มันไม่ให้อยู่ในคุณภาพมาตรฐาน ไม่ตรงไปตรงมา ไปรับสินบาทคาดสินบนเขา อย่างนี้ต้องล้ม ต้องเลิก แต่ถ้าเขาออกมาแล้วเขาทำตรงไปตรงมา ไม่มีพรรค ไม่มีพวก ไม่มีฝัก ฝ่าย ถึงแม้ว่าจะไม่ถูกใจคนก็ถือว่านี่คือการสร้างหลักให้บ้านเมือง

- การที่ศาลมีบทบาทเช่นนี้ก็กำลังถูกท้าทายจากฝ่ายการเมือง มีกระแสเรียกร้องให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งโดยตรง

นี่เป็นความคิดเห็นของคน โดยเฉพาะสังคมประชาธิปไตยมีได้หลากหลาย อยู่ที่ว่าความเห็นใดจะเป็นคุณประโยชน์มากกว่าคำพูดที่เป็นวาทะคารม ก่อนหน้านี้เรามี ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วลองคิดสิว่าทำความเสียหายหรือทำคุณให้กับประเทศชาติมากกว่ากัน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วกี่เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งมี ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของฝ่ายการเมืองอีก คิดผลงานออกมาแล้วมีความเสียหายมากแค่ไหน ส่วน ส.ว.ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งสองระบบนั้นเป็นการวางระบบที่พยายามหาคนที่เป็นกลางทางการเมืองเข้ามาทำหน้าที่ให้มากที่สุด หลังจากการประนีประนอมความคิดกันแล้ว ซึ่งที่มาของ ส.ว.ไม่ได้ถ้าดึงดันไปด้านใดด้านหนึ่ง และไม่ได้ถอยเข้าคลอง เป็นการออกแบบใหม่ที่ประนีประนอม 2 แนวคิดที่ต่างกัน แนวคิดอย่างนี้น่าจะเป็นต้นแบบกับการแก้ไขความขัดแย้ง เพราะเป็นการหาทางเลือกที่สามเพื่อลดขัดแย้งรุนแรง

- ท้ายที่สุด ส.ว.ก็เป็นปัจจัยให้กับฝ่ายการเมืองพาเหรดเข้ามาแย่งชิงพื้นที่ทางอำนาจ โดยกล่าวหาว่า ส.ว.สรรหามาจาก คมช.

คำกล่าวหานั้นเป็นความจริงหรือเปล่าล่ะ ใครเป็นคนสรรหา เขาให้ คมช.สรรหาหรือเปล่าหรือให้นอมินี คมช.สรรหาหรือเปล่าล่ะ (นิ่งไปชั่วขณะ) และตอนนี้ผมก็ยังมั่นใจว่า ส.ว.ทั้ง 74 คน มีความชอบธรรมในการทำงานต่อ เพราะเราหาสูตรอะไรที่ดีกว่านี้ไม่ได้ และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สังคมขอใช้บริการฝ่ายตุลาการ ฝ่ายตุลาการเองไม่เคยแยแสหรือสนใจเป็นภารกิจเหล่านี้

- หากมีการแก้รัฐธรรมนูญโดยอาจลดบทบาทไม่ให้มาเกี่ยวเนื่องกับกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระ ศาลพร้อมจะกลับที่ตั้งเหมือนเดิมหรือไม่

ถามผมตอนนี้ไม่ได้ เพราะตอนนี้ผมไม่ได้ตรงนั้น แต่เท่าที่ผมรู้ คนที่อยู่ในศาลไม่ได้คิดว่าการออกมาแบบนี้ได้เป็นประโยชน์กับคนที่อยู่ในศาลเลย มันเป็นภาระมากกว่า

- มองอย่างไรกับสถานการณ์บ้านเมืองที่เริ่มวุ่นวาย ซึ่งรัฐธรรมนูญถือเป็นชนวน

ผมไม่คิดว่ารัฐธรรมนูญเป็นมูลเหตุ แต่มองว่ากิเลสตัณหาในใจของคนที่มันรุนแรงแล้วกระโจนเข้าใส่ โดยพยายามหาแง่มุมที่ทำคุณประโยชน์ให้กับกลุ่มตัว พวกตัว สุดแท้แต่ว่าช่องทางนั้นมันจะไปตกอยู่ที่ไหน รัฐธรรมนูญก็เป็นเพียงเบี้ยตัวหนึ่งที่ถูกเดิน โดยคนที่กำลังต่อสู้กัน ทะเลาะวิวาทกัน ไม่ยอมอะไรล่ะ...หาทางออกที่สามให้กับบ้านเมือง

- หากบ้านเมืองเดินไปสู่ทางตันโดยไม่มีทางออก สถาบันตุลาการที่ครั้งหนึ่งประมุข 3 ศาลเคยมาจับมือและร่วมหาทางออกร่วมกันจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่

หลังจากที่เราได้รับบทเรียนเจ็บปวดแสนสาหัสมาครั้งหนึ่งแล้ว ผมไม่คิดว่าเราจะเดินไปสู่ทางตันอีกครั้ง บทเรียนครั้งนั้นน่าจะทำให้เราฉลาดขึ้น ผมไม่คิดว่าจะต้องมอบภาระให้ศาลขนาดนั้น

- บทเรียนความวุ่นวาย 2-3 ปีที่ผ่านมาคืออะไร

บทเรียนที่ชัดเจนคือ การแตกสามัคคี ทำลายความเจริญก้าวหน้าของสังคมไทย มีความทุจริตฉ้อฉล ทำลายความสมบูรณ์สุขของสังคมไทย โดยที่คนไทยไม่รู้ตัว มีการใช้อำนาจรัฐ อำนาจเลว อำนาจเถื่อนของนักเลงหัวไม้ อันธพาล เข้าห้ำหั่นทำลายคนที่มีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับตนหรืออยู่ฟากฝั่งตรงกันข้ามก็เถอะ เนี่ย!! คือสิ่งที่ทำลายสังคมเรา

- สถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ก็ดูจะมืดมน

มันมืดมนเพราะปกคลุมด้วยกิเลสปัญหามากไป ถ้าลดละทิฐิมานะ ลดละพวกพ้อง ละความเจ็บช้ำคับแค้น อาฆาต ลดละ อุดมคติ อะไรที่มันฝังหัวของทุกฝ่ายให้เบาลง แล้วคิดถึงประโยชน์แห่งมหาชนให้มาก ความมืดมนก็จะไม่มีเลย มันมีทางออกได้เยอะแยะ แต่เขาไม่ออกกัน เราเองก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์อย่างนั้นขึ้นมาอีก

- มองการเคลื่อนตัวระหว่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและรัฐบาลจะนำไปสู่ทางตันจนทำให้ประมุขของ 3 ศาลออกมาผ่าทางตันอีกครั้งหรือไม่

ผมไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์อย่างนั้น ถ้าเกิดอีกก็แสดงว่าเป็นเวรกรรมของคนไทยที่ไม่รู้จักเรียนรู้จากประสบการณ์ ซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้นด้วยซ้ำ ถ้าเพียงแต่รู้จักลดราวาศอกบ้าง

- เชื่อว่าจะไม่มีวิกฤตศรัทธาจนทำให้เกิดตุลาการภิวัตน์ภาคสอง

ผมไม่เห็น....ผมมองโลกในแง่ดี เราน่าจะช่วยกันประคับประคองประเทศชาติให้เดินก้าวต่อไปข้างหน้า แล้วก็ทำได้ไม่ยากหรอก เลิก..กักขฬะรุนแรงใส่กัน แล้วก็หาทางออกที่สาม กันพวกรุนแรงออกไปให้อยู่วงนอก เอาคนที่มีระบบเข้ามาเป็นแกนนำในทุกๆ จุดของสังคม แล้วก็ควรลืมความบาดหมางในอดีตซะบ้าง และเพิ่มอะไรที่เป็นความสมัครสมานสามัคคี โดยอาจจะยึดคติรู้รักสามัคคีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทางก็ได้ แทนที่จะปล่อยให้พวกอะไรล่ะ..ชั่วร้าย จาบจ้วง ล่วงเกิน มีกันอย่างกว้างขวาง

- นี่ถือเป็นทางออกที่สามของสังคมไทย

ใช่ ทางออกที่สาม คือ ความสามัคคี เพราะเราต้องรู้ถึงหายนะที่มันเกิดจากความแตกสามัคคี มันลึกซึ้งและรุนแรงมาก จนทำความเสียหายให้กับประชาชนและประเทศชาติมาก การแตกความสามัคคีจะรุนแรงก็ต่อเมื่อคนที่มีความคิดความรุนแรงในภาคต่างๆ ดังนั้นการคัดหรือสนับสนุนคนเข้าทำงานแถวหน้าของแต่ละฝ่ายต้องไม่ทิ้งคุณสมบัติเหล่านี้ ต้องเพิ่มบทบาทให้คนที่มีแนวทางประนีประนอมในใจ

- ก่อนหน้านี้ อ.ธีรยุทธ บุญมี (อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์) วิเคราะห์ว่า บ้านเมืองกำลังเผชิญยุค 5 เสื่อม และหนึ่งความเสื่อมนั้น คือ ความเสื่อมในคำเตือนของผู้ใหญ่

ไม่ถึงขนาดนั้นมั้ง (ลากเสียงยาว) ผมยังเห็นผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราเต็มไปหมด ที่เราสามารถเคารพนับถือและพร้อมจะก้มลงกราบได้ แต่มันมากขึ้น และมันก้าวล่วงจ้วงจาบ จนไม่มี "อปจายนมัย" หรือความไม่เคารพต่อผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านไม่มี ไม่ใช่ว่าผู้ใหญ่เหล่านั้นไม่กล้าออกมา คนเหล่านั้นอยู่เหนือความกลัวแล้วทั้งนั้น "เวลาท่านพูดไม่ได้พูดเพื่อประโยชน์ของท่าน ท่านทำเพื่อประโยชน์ของพวกเจ้าเอง ฉะนั้นเมื่อพวกเจ้าไม่เอา ไม่ฟัง ก็ตามใจเจ้า" เขาจะออกมาเต้นทำไมในเมื่อสิ่งที่ท่านเตือน ท่านบอกไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อท่านเลย

- ในอนาคตจะมีภาวะแบบนั้นเกิดขึ้นไหม

เราก็ต้องมีส่วนด้วย และคนส่วนใหญ่ต้องรู้จักแยกแยะให้ออกด้วยว่า ใครเป็นพาล ใครเป็นบัณฑิต ไม่อย่างนั้นมันก็มีคนถ่***เต็มเมือง เพราะการใช้คำบริภาษจาบจ้วงคนพาลย่อมเก่งกว่า (หัวเราะ)

- หากเกิดวิกฤตถึงขั้นปะทะกันจนนองเลือด ศาลยังจะถือว่าเป็นผู้ใหญ่เป็นที่พึ่งหวังให้กับคนในบ้านเมืองอีกอยู่ไหม

ผมไม่คิดว่าเราจะต้องปะทะกันถึงขั้นนองเลือด คนไทยไม่ใช่คนบ้าระห่ำแบบนั้น คนส่วนใหญ่เขาก็มีสติสัมปชัญญะ มีปัญญาพอที่จะรู้ว่า ไอ้นั่นมันเป็นคนอยู่ในสังคมป่าเถื่อน ที่ถูกผู้นำหัวรุนแรงปลุกปั่น และเข้าห้ำหั่นจนเป็นเหนือ เป็นใต้ แล้วก็ไม่รู้ผิด ถูก ผมไม่คิดว่าคนไทย จะโง่และยอมอย่างนั้น เพราะฉะนั้นไม่มีการนองเลือด คนไทยจำนวนมากไม่มีทางยอมเป็นสาวกให้พวกหัวรุนแรง ที่ไม่เห็นจะทำประโยชน์อะไรให้กับบ้านเมือง

ผมยังมั่นใจว่าเราไม่ฆ่ากัน เพราะเรามีความเป็นอารยะพอ เพราะหลายเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ยืนยันถึงอารยชนในประเทศนี้ ไม่งั้นเราเลิกทาสโดยไม่มีสงครามไม่ได้ เพราะการเลิกทาสครั้งนั้นเป็นการเลิกทาสที่นุ่มนวลที่สุดในโลก ไม่อย่างนั้นเราคงไม่สามารถต้านทานทฤษฎีโดมิโนได้ เราคงแบ่งเป็นไทยเหนือ ไทยใต้ หรือไทยอะไรอีกหลากหลายแบบหลายประเทศแล้ว สุดท้ายเราก็มีทางของเรา นี่คือศักยภาพของคนไทยโดยรวม ดังนั้นพวกหัวรุนแรงอย่าหวังเลยว่า จะมาปลุกระดมขึ้นเป็นวีรบุรุษผู้กล้าท่ามกลางการนองเลือดของคนไทย ซึ่งเรื่องนี้เราต้องช่วยกัน ประคับประคองอย่าให้เกิด อย่าชี้นำสังคมไปอย่างนั้น แล้วปรามพวกทำนายทายทักไปตามความมืดบอด เราต้องเชื่อว่า "ต้องไม่เป็นอย่างนั้น" (เน้นเสียง) แล้วความเชื่อนี้จะแผ่กระจาย เพราะเราจะยอมให้ใครมาทำให้เกิดสภาวการณ์เช่นนั้นอีกไม่ได้

- ตุลาการภิวัตน์จะยังคงเกิดขึ้นอีกหรือไม่

คนที่เป็นตุลาการ เป็นผู้พิพากษา ปฏิบัติภารกิจในทางตุลาการให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ให้ดีขึ้น ต้องมี....(เน้นเสียง) ต้องมีอยู่ตลอดเวลา และต้องมีอย่างจริงจังมากขึ้น การพูดในที่นี้ไม่ใช่ตุลาการภิวัตน์อย่างความหมายที่พูดกัน ไม่จำเป็นต้องอยู่บนบัลลังก์เท่านั้น ตุลาการภิวัตน์อาจจะนำประสบการณ์ความรู้ในการทำงาน เช่น กฎหมายเรื่องนี้มันทำร้ายประชาชน มันทำให้เกิดความอยุติธรรมในแผ่นดิน ทำให้เกิดความคับแค้นในจิตใจผู้บริสุทธิ์เป็นอันมาก ท่านต้องเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายตัวนั้นได้ ต้องมีช่องทางให้ท่านทำ และนี่คือการทำภารกิจของตุลาการภิวัตน์ที่นำมาเชื่อมต่อในกระบวนการนิติบัญญัติ แต่ไม่ใช่ออกมานั่งอยู่ในสภาเสียเอง เว้นแต่จะลาออกมา

บันทึกการเข้า
eAT
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,066



« ตอบ #2 เมื่อ: 28-04-2008, 15:18 »

ปล่อยไว้ไม่ได้แล้ว

บทนำมติชน

http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01edi01290451&day=2008-04-29&sectionid=0102

แม้กาลเวลาจะล่วงผ่านมากว่าปีครึ่ง นับแต่เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร วันที่ 19 กันยายน 2549 ประเทศชาติมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยพรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ด้วยการผสมกับอีก 5 พรรค นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่การโจมตี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ของคนบางกลุ่มบางพวกยังคงดำเนินต่อไป ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 เมษายน วันเดียวกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จัดชุมนุมอภิปรายคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มีกลุ่มบุคคลยกขบวนไปชุมนุมและโจมตี พล.อ.เปรมที่บ้านสี่เสาเทเวศร์

ความจริงการกระทำที่มีลักษณะบังอาจจาบจ้วงมิได้จำกัดแค่ประธานองคมนตรี ซึ่งเคยถูกมวลชนนำโดยแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ยกขบวนกันไปล้อมบ้านสี่เสาฯ ใช้วัสดุสิ่งของต่างๆ ทุบ ตี ขว้างเข้าใส่บริเวณบ้านและบริเวณใกล้เคียง นอกจากนี้ยังมีการใช้ตัวหนอนซึ่งเป็นอิฐปูพื้นถนนขว้างเข้าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ จนเกิดการปะทะกันและมีผู้ได้รับบาดเจ็บไปหลายราย แกนนำ นปก.ถูกตำรวจจับกุม ตั้งข้อหาหลายข้อหาและนำตัวไปขังที่เรือนจำลาดยาว บางเขน เหตุเกิดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2550 หากทว่า สถาบันเบื้องสูงก็โดนกระทบไปด้วย และดูเหมือนจะรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ กระทั่ง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเป็นห่วงในโอกาสไปปาฐกถาในงานสัมมนาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาภาวะผู้นำเชิงยุทธศาสตร์ความเป็นเลิศหัวข้อ "ยุทธศาสตร์กู้ชาติและเข็มทิศใหม่เพื่อผ่าทางตันทางการเมือง" ที่ศูนย์พัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ สวนดุสิต วันที่ 25 เมษายน ว่า มีกระบวนการไม่หวังดี กระบวนการล้มปืน ล้มทุน ล้มเจ้า ซึ่งสื่อมวลชนได้นำเสนอเป็นข่าวไปแล้ว

วาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นมาจากคนบางพวกบางฝ่ายที่อ้างตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ต้องการต่อต้านขับไล่เผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นคำว่า ศักดินา อภิสิทธิ์ชนฯลฯ โดยกระทำผ่านเวทีต่างๆ และเผยแพร่ผ่านสื่ออันหลากหลาย อาทิ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ที่จัดทำขึ้นเป็นกระบอกเสียงของตัวเอง สำนักข่าวต่างประเทศ นิตยสารต่างประเทศ ซีดี เว็ปไซต์ แผ่นปลิว แถลงการณ์ ฯลฯ หากมองให้ทะลุลงไปถึงเบื้องลึกเบื้องหลังก็จะพบว่า คนเหล่านี้มีเจตนาต้องการกระทบกระเทียบไปถึงสถาบันเบื้องสูง นับวันแต่จะเหิมเกริมมากขึ้นโดยไม่กริ่งเกรงตัวบทกฎหมายและความรู้สึกของคนไทยทั่วไป คิดเพียงว่า ตัวเองมีสิทธิที่จะพูด จะทำอะไรก็ได้ คนอื่นไม่เกี่ยว ที่น่าเสียดายก็คือ ผู้ที่เป็นแกนนำบางคนยังดำรงตำแหน่งทางการเมือง และมีบบทบาทสำคัญต่อความเป็นไปของบ้านเมืองอยู่ในเวลานี้

รัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ใช้เป็นกฎหมายสูงสุด เริ่มมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2475 จนถึงรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ใช้ในขณะนี้บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ (มาตรา Cool, พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย (มาตรา 10), การเลือกและแต่งตั้งองคมนตรีหรือการให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่งให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย (มาตรา 13) แต่ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ความแตกแยกทางความคิด ในระยะ 1-2 ปีมานี้ ทำให้พระมหากษัตริย์ถูกล่วงล้ำก้ำเกินอย่างจงใจมากขึ้นตามลำดับ เป็นการกระทำที่กล่าวได้ว่า เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายอาญาอย่างชัดแจ้ง แต่ดูเหมือนไม่ค่อยได้มีการดำเนินการตามกฎหมายกันเท่าไร่

คณะรัฐมนตรีทั้ง 36 คน ภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่เพียงแต่จะต้องปฏิบัติตัวให้เป็นแบบอย่างของความจงรักภักดีแด่พระมหากษัตริย์ ทั้งการพูดและการกระทำให้สมกับที่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ว่า "ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทุกประการ" (มาตรา 175) ยังจะต้องบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่มีพฤติการณ์ล่วงละเมิดพระมหากษัตริย์อย่างเคร่งครัดและจริงจังไปพร้อมๆ กันด้วย

คนในรัฐบาลของนายสมัครพึงรับรู้ว่า จากเหตุการณ์ในอดีตช่วง 2-3 ปีมานี้ รัฐบาลถูกเพ่งเล็งและถูกกล่าวหาว่า เป็นส่วนหนึ่งของการที่ไม่จงรักภักดี บางคนมีคดีความที่รอการพิสูจน์ในกระบวนการศาลยุติธรรม การต่อสู้อยู่ที่การกระทำในวันนี้ว่าจะปล่อยให้ใครต่อใครจาบจ้วงองคมนตรีและสถาบันเบื้องสูงต่อไป หรือจะลงไปจัดการเพื่อระงับยับยั้งมิให้การกระทำอันมิบังควรเกินเลยไปมากกว่านี้
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 29-04-2008, 20:54 โดย eAT » บันทึกการเข้า
eAT
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,066



« ตอบ #3 เมื่อ: 13-05-2008, 22:33 »

เห็นข่าวนี้ รีบเอามาแปะ เป็นข่าวสำคัญมาก แต่ไม่เห็นมีคนพูดถึงเลย
 
--------------------

วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11021

สธ.ชี้อันตราย"กระบอกสุญญากาศ" ใช้ผิดวิธีนกเขาขาดเลือดไม่ขันตลอด



นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงปัญหาเรื่องการ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศของผู้ชายว่า ในปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีการพยายามแสวงหาวิธีในการแก้ไขปัญหาที่จะช่วยให้อวัยวะเพศแข็งตัว และสามารถปฏิบัติกิจกรรมทางเพศได้เหมือนกับผู้ชายปกติ จึงมีการจำหน่ายอุปกรณ์ชนิดหนึ่งคือ กระบอกสุญญากาศ ออกวางจำหน่ายตามท้องตลาดและสื่อต่างๆ ได้แก่ นิตยสาร วารสาร หนังสือพิมพ์ เป็นต้น โดยโฆษณาอวดอ้างว่า สามารถเพิ่มขนาดและยืดความยาวของอวัยวะเพศชายภายใน 1 เดือน ทำให้แข็งแรง ทนทานต่อการบีบรัดและเสียดสีได้มากยิ่งขึ้น ช่วยทำให้เกิดการหลั่งที่ช้าลง และแก้ปัญหาการไม่แข็งตัวของอวัยวะเพศได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว กระบอกสุญญากาศเป็นเพียงอุปกรณ์ที่ช่วยให้องคชาติแข็งตัว โดยการสร้างสุญญากาศรอบองคชาติและดึงเลือดมาสู่องคชาติทำให้พองโต ขยายตัวขึ้นเท่านั้น

นายชวรัตน์กล่าวต่อไปว่า การใช้กระบอกสุญญากาศก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายได้ ดังนั้น ก่อนการตัดสินใจใช้ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางก่อน สำหรับการใช้งานให้ใช้ได้ครั้งละไม่เกิน 30 นาที หากใช้เกินเวลาที่กำหนดจะทำให้อวัยวะขาดเลือดและสูญเสียหน้าที่อย่างถาวรได้ ทั้งนี้ ห้ามใช้อุปกรณ์ ดังกล่าวเมื่อมีการใช้ยาหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เนื่องจากอาจเกิดอันตรายจากการใช้เครื่องมือนั้นๆ ได้ และข้อควรระวังคือ อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บบวมภายในอวัยวะเพศหรือถุงอัณฑะ ไส้เลื่อน หรือเกิดเม็ดเลือดแดงแตกได้

นพ.ชาตรี บานชื่น เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวเสริมว่า สาเหตุของอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เกิดได้จาก 2 สาเหตุ คือ สาเหตุทางกาย ได้แก่ อายุที่เพิ่มขึ้น โรคประจำตัวบางอย่าง เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ เป็นต้น อีกสาเหตุหนึ่งคือสาเหตุทางจิตใจ ได้แก่ ความเครียด ความวิตกกังวล ความรู้สึกผิด ความซึมเศร้า เป็นต้น นอกจากนี้ สาเหตุที่เป็นไปได้อีกอย่างหนึ่งคือ การสูบบุหรี่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ การไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดดำและแดง และการมีฮอร์โมนผิดปกติ เช่น มีฮอร์โมนเพศชายไม่เพียงพอ ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศคือ การบำรุงรักษาสุขภาพให้ดีทั้งกายและจิตใจ โดยการเลือกรับประทานอาหารครบทั้ง 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารกลุ่มที่ก่อให้เกิดโทษกับ ร่างกาย ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ทั้งอาหาร ที่รับประทานและจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว อย่างไรก็ตาม อย. ได้มีการติดตามตรวจสอบเครื่องมือแพทย์ที่มีการ อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงอยู่เสมอ ซึ่งหากพบ อย. จะดำเนินการตามพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ฉบับใหม่คือ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
    กระโดดไป: