ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
28-04-2024, 17:55
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สภากาแฟ  |  'ธีรยุทธ' ติง 'สมัคร' ไม่ควรโดดถีบ 'อานันท์ - ประเวศ' (รวมเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ) 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
'ธีรยุทธ' ติง 'สมัคร' ไม่ควรโดดถีบ 'อานันท์ - ประเวศ' (รวมเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ)  (อ่าน 1160 ครั้ง)
Can ไทเมือง
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13,486



เว็บไซต์
« เมื่อ: 05-04-2008, 20:29 »

'ธีรยุทธ บุญมี'ชี้ปัจจุบันคนไทยก็เข้าสู่ภาวะ 5 เสื่อม
 
'ธีรยุทธ บุญมี'ชี้ปัจจุบันคนไทยก็เข้าสู่ภาวะ 5 เสื่อม ถึงทางตัน อาจเกิดวิกฤต การเร่งรีบแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่ทางออก อาจอาจเหลือเพียงหลักการปกครองโดยกฎหมาย และศาลยุติธรรมเป็นหลัก ระบุการตัดสินยุบพรรค-ผู้พิพากษาเข้าเป็นกรรมการสรรหาไม่ใช่ตุลาการภิวัตน์

หมายเหตุ'มติชน ออนไลน์' นายธีรยุทธ บุญมี ผู้อำนวยการสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย แสดงปาฐกถา ในงาน 100ปี ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2551 เรื่อง ตุลาการภิวัตน์กับการรอมชอมในสังคมไทย

ตุลาการภิวัตน์พลังขับเคลื่อนใหม่ในสังคมไทย

1. อะไรคือตุลาการภิวัตน์

กระบวนการตุลาการภิวัตน์มองอย่างกว้างที่สุดก็คือ กระบวนการที่อำนาจตุลาการปรับตัวเองอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอัตวินิจฉัยของตัวเอง เพื่อให้ตัวเองปฏิบัติภาระหน้าที่รองรับการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ของยุคสมัยได้ดี ไม่ใช่เป็นการปรับตัวภายใต้การกำกับของอำนาจอื่นเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง แต่ต้องเป็นการปรับตัวเพื่อภารกิจของยุคสมัยอย่างต่อเนื่อง

ด้านหลักๆ ของตุลาการภิวัตน์ (Judicial review) ก็คือ

ก. การขยายพื้นที่ความยุติธรรมให้กว้างขวางขึ้น ให้ภาคประชาชน-สังคมมีโอกาสฟ้องร้องดำเนินคดีได้กว้างขวางขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ประชาชน-สังคมได้ปกป้องสิทธิของตนเอง กำกับตรวจสอบนักการเมืองและภาครัฐได้ดีขึ้น

ข. ตุลาการภิวัตน์คือการรอมชอมระหว่างสิทธิที่ขัดแย้งกัน ในท่ามกลางโลกที่ซับซ้อนขึ้น สิทธิเสรีภาพอย่างหนึ่งอาจขัดแย้งกับสิทธิเสรีภาพอีกอย่างหนึ่ง หรือของคนกลุ่มหนึ่งอาจขัดกับของคนอีกกลุ่มหนึ่ง เช่น เขตกรุงเทพฯ ทางการต้องการทะลุซอยตันเพื่อช่วยระบายการจราจร แต่ชาวบ้านในซอยต้องการอยู่อย่างเงียบสงบ หรือกลุ่มเกย์ต้องการบริจาคโลหิตเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ แต่สภากาชาดไทยวิตกเรื่องความเสี่ยง หรือเด็กหญิงมุสลิมในฝรั่งเศสต้องการคลุมหน้าไปโรงเรียน แต่ทางการมองเป็นการสร้างความแปลกแยก หรือกลุ่มอนุรักษ์ทั่วโลกต้องการรักษาสภาพแวดล้อม แต่กลุ่มทุนต้องการพัฒนาตั้งโรงไฟฟ้า โรงงาน เหมืองแร่ ฯลฯ หน้าที่ของตุลาการภิวัตน์ คือการตัดสินคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งนี้อย่างสมเหตุสมผล สมประโยชน์ทุกฝ่าย

ค. การรักษาหลักความเสมอภาคเท่าเทียมกันให้กับประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องความเสมอภาคของคนกลุ่มน้อย ความเสมอภาคทางเพศ สิทธิสตรี สิทธิเด็ก คนชรา การดูแลความเสมอภาคในโอกาสการทำงานของสตรี คนกลุ่มน้อย

ง. การเอื้ออาทรต่อคนจน คนชั้นล่างของสังคม ก็เป็นส่วนหนึ่งของตุลาการภิวัตน์ได้ ถ้าฝ่ายบริหารปล่อยปละละเลย เช่น การพิจารณาคดีความโดยยึดหลักสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม อาทิ สิทธิในที่อยู่อาศัย สิทธิในอาชีพ ที่ทำกิน สิทธิในสุขภาพและสวัสดิการต่างๆ

จ. ตุลาการภิวัตน์คือการตรวจสอบกำกับฝ่ายบริหาร ในโลกปัจจุบันรัฐฝ่ายบริหารขยายบทบาทอำนาจของตัวเองกว้างขวางมากขึ้น เกิดมีรัฐวิสาหกิจ องค์กรกำกับดูแลทรัพย์แผ่นดินต่างๆ ซึ่งมีฐานะเป็นเสมือนรัฐบาลย่อยๆ (mini government) เกิดความขัดแย้งสิทธิผลประโยชน์กับประชาชนกลุ่มต่างๆ มากมาย ในต่างประเทศทั่วโลก อาทิ เยอรมัน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย เดนมาร์ก กรีซ เบลเยียม ไซปรัส ไอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ แอฟริกาใต้ บอทสวานา อิสราเอล อินเดีย ญี่ปุ่น ซิมบับเว ฯลฯ จึงได้มอบหมายให้ฝ่ายตุลาการมีอำนาจในการตรวจสอบความถูกต้องตามกฎหมายของฝ่ายบริหารในมิติต่างๆ

ถ้าพิจารณาเหตุการณ์ในประเทศไทยที่ผ่านมา มีคดีความที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของตุลาการภิวัตน์ไม่มากนัก อาทิเช่น การตัดสินคดีการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ปตท. ซึ่งขัดแย้งกับองค์กรผู้บริโภค การตัดสินคดียุคพรรคไทยรักไทย ในข้อหาสร้างความเสียหายให้กับการปกครองระบอบประชาธิปไตย และคดีอื่นๆ อีกไม่มากนัก จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจบทบาทของตุลาการภิวัตน์ให้ชัดเจน เพื่อสนับสนุนให้ตุลาการภิวัตน์ได้มีบทบาทที่เป็นคุณกับประชาชนและประเทศต่อไป

2. อะไรไม่ใช่ตุลาการิวัตน์

มีประเด็นใหญ่ๆ หลายประเด็นที่สาธารณชนเข้าใจไขว้เขวว่าเป็นตุลาการภิวัตน์ แต่ที่จริงไม่ใช่ ดังนี้คือ

ก. การร่างรัฐธรรมนูญและการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถกเถียงกันกว้างขวางในปัจจุบัน ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของตุลาการภิวัตน์ หากแต่เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ (legislation)

ข. การตัดสินคดียุบพรรคชาติไทย มัชฌิมา พลังประชาชนหรือไม่ ก็ไม่ใช่ตุลาการภิวัตน์ หากแต่เป็นปัญหาที่เกิดจากฝ่ายนิติบัญญัติที่ตรากฎหมายรัฐธรรมนูญบังคับไว้ อำนาจตุลาการทำหน้าที่ตัดสินเท่านั้น นักวิชาการด้านกฎหมายต้องถกเถียง (ก) ความชอบธรรมสมเหตุสมผลของข้อกฎหมายดังกล่าว (ข) ความถูกต้องตามปรัชญาหรือหลักกฎหมาย (ค) วิธีการแก้ไขที่ถูกต้องถ้าจำเป็นต้องแก้

ค. บทบาทในการดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เป็นกรรมการสรรหาองค์กรอิสระต่างๆ สรรหาสว. ก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตุลาการภิวัตน์ ไม่ได้เป็นแม้กระทั่งส่วนหนึ่งของหลักวิชานิติศาสตร์ด้วยซ้ำ หากแต่เป็นแนวคิดจากสายรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่ต้องการสร้างอำนาจตรวจสอบที่เป็นอิสระได้จริงๆ จึงต้องมอบหมายให้ศาลได้เป็นผู้สรรหา เพราะวิเคราะห์โดยแนวคิดสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์แล้ว สถาบันศาลยังเป็นสถาบันสังคมสถาบันเดียวที่ธำรงความเป็นอิสระไว้ได้มากที่สุด บทบาทของศาลในเรื่องนี่จึงไม่เกี่ยวข้องกับตุลาการภิวัตน์ และไม่เกี่ยวข้องว่ารัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระต่างๆ มีที่มาหรือมีความเป็นประชาธิปไตยมากน้อยเพียงไร ซึ่งเป็นเรื่องคนละประเด็น และเป็นสิ่งที่สังคมไทยโดยรวมต้องช่วยกันขบคิดอีกรอบหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ง. การดำรงตำแหน่งของผู้พิพากษาในองค์กรต่างๆ ภายหลังรัฐประหาร 19 ก.ย. ก็ไม่ใช่เรื่องของตุลาการภิวัตน์ แต่เป็นเรื่องความสมัครใจของท่านเหล่านั้น รวมทั้งนักวิชาการ อดีตข้าราชการ ที่จะมีส่วนคลี่คลายวิกฤติในสังคมไทย โดยที่ไม่จำเป็นว่าท่านเหล่านั้นทั้งหมดจะเห็นด้วยกับการรัฐประหาร ผู้เขียนเองก็ถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนเผด็จการ ทั้งที่โดยความเป็นจริงผู้เขียนไม่เคยเบี่ยงเบนความคิดจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน ไม่เคยสนับสนุนระบอบทักษิณ ไม่เคยรับรู้ สนับสนุน หรือเห็นชอบกับการรัฐประหาร ไม่เคยใยดีกับตำแหน่งอำนาจวาสนาหลังรัฐประหาร ถือเป็นและได้ทำหน้าที่ที่จะวิจารณ์คมช. และรัฐบาลสุรยุทธ์ ให้คลี่คลายวิกฤติและไม่สืบทอดอำนาจ

3. ความสัมพันธ์หลักนิติรัฐ (the Rule of Law) และหลักประชาธิปไตย (Democracy)

นักคิดแนวอุดมคติเสรีนิยมใหม่มองว่า สิ่งต่างๆ ในโลกสามารถลดทอนลงมาเหลือเพียงสิทธิของปัจเจกบุคคล และกระบวนการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย ถ้าเคารพสองสิ่งนี้ สังคม ประเทศ โลกจะดีขึ้นเอง

นักคิดที่มองโลกที่ซับซ้อนทั้งทางประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลง โดยภาพรวมของความเป็นจริงมากขึ้นมองว่า โลกประกอบไปด้วยหลายส่วนที่เชื่อมโยงกัน มีความสำคัญทัดเทียมกัน จำป็นต้องเคารพทุกๆ ส่วน จึงจะทำให้สังคม ประเทศ โลก ประคองตัวไปสู่ความสุข ความเสมอภาค ของผู้คนได้ดีขึ้น ส่วนต่างๆ นี้คือ หลักการปกครองโดยหลักกฎหมาย (Rule of Law) หลักประชาธิปไตยของประชาชน (Democracy) หลักสิทธิต่างๆ ของประชาชน (Bills of Rights) หลักการตรวจสอบโดยตุลาการ (Judicial review) หลักการอดทนอดกลั้น (Tolerations) หลักการเอื้อาทรต่อกัน (Welfare หรือ Fraternality) หลักเหล่านี้อาจมีเนื้อหาไม่ดีได้ เช่น ประเทศสังคมนิยมก็อ้างการปกครองโดยหลักกฎหมาย เผด็จการรัฐสภาก็อ้างความเป็นประชาธิปไตย การยึดหลัก 5 ประการนี้จึงต้องเน้นด้านที่ดีของแต่ละหลักการด้วย ซึ่งจะได้สรุปคร่าวๆ ดังนี้

ก. การปกครองโดยหลักกฎหมาย (Rule of Law) มีมาตั้งแต่สมัยโบราณไม่ต่ำกว่า 2,000-3,000 ปี การปกครองหน่วยการเมืองขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการปกครองใดล้วนต้องยึดถือการปกครองโดยหลักกฎหมาย การปกครองระบอบประชาธิปไตยก็ต้องยึดหลักการปกครองโดยกฎหมาย แต่ต้องเน้นให้การปกครองโดยหลักกฎหมายมีเนื้อหากฎหมายที่ยุติธรรม และมีการปฏิรูปกฎหมายให้มีลักษณะที่เหมาะสมกับยุคสมัยอยู่เสมอ

การปกครองโดยกฎหมายจึงสำคัญ เพราะเป็นหลักการเก่าแก่ที่สุดของมนุษย์ นั่นคือ การที่มนุษย์ซึ่งมีธรรมชาติอยู่เป็นกลุ่ม เมื่ออยู่เป็นกลุ่มจะยอมรับกฎเกณฑ์ (กฎหมาย) ของกลุ่ม จนถึงขั้นยอมตกลงเสียสละชีวิตของตนได้ เช่น ในยามศึกสงคราม กรณีฉุกเฉิน หรือกรณีที่ตัวเองทำความผิดร้ายแรง จะสังเกตได้ว่านี่เป็นหลักเชิงสังคมวิทยา ซึ่งดำรงอยู่มาช้านานโดยไม่ได้ขึ้นต่อหลักประชาธิปไตยใดๆ เลย

ข. หลักประชาธิปไตยของประชาชน (Democracy) เน้นการเลือกตั้งของประชาชน เพื่อคัดเลือกอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และดูแลความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ เป็นมิติสำคัญที่สุดของการเมืองปัจจุบัน แต่ก็มีความคิดที่จะพัฒนาให้เป็นประชาธิปไตยทางตรง (direct democracy) ประชาธิปไตยที่ถกเถียงพิจารณ์ปัญหาต่างๆ อย่างกว้างขวาง (deliberative democracy) มากขึ้น


เนื่องจากประชาธิปไตยเลือกตั้งอาจนำไปสู่ลัทธิเสียงส่วนใหญ่ หรือโดยเผด็จการรัฐสภา หรือการปกครองโดยแกนนำของพรรคได้ง่าย จึงต้องมีหลัก 2 หลักมาคอยถ่วงดุลไว้คือ

ค. หลักสิทธิของประชาชน (Bills of Rights) ซึ่งกำหนดสิทธิด้านต่างๆ ตั้งแต่สิทธิรุ่นที่หนึ่ง คือ เสรีภาพด้านต่างๆ ของประชาชน สิทธิรุ่นที่สอง คือ สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม สิทธิรุ่นที่สาม คือ สิทธิแยกย่อยต่าง เช่น สิทธิเด็ก สตรี คนพิการ เกย์ เลสเบี้ยน สิทธิชุมชน ฯลฯ ไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญ หรือแยกไว้ต่างหากก็ได้

ง. หลักการตรวจสอบโดยตุลาการ (ตุลาการภิวัตน์ หรือ Judicial review)

จ. หลักอดทนอดกลั้น (Toleration) ถือเป็นส่วนหนึ่งของหลักเสรีนิยม สอดคล้องกับโลกปัจจุบันซึ่งมีความหลากหลายของบุคคล กลุ่ม ลัทธิ ความเชื่อ จึงมีสิทธิต่างๆ ซึ่งขัดแย้งกันมาก กรณีที่หาข้อรอมชอมกันไม่ได้ ก็ต้องอาศัยการตัดสินของอำนาจตุลาการ ซึ่งปัจจุบันมักใช้หลักการถ่วงดุล หรือคำนึงสัดส่วน (balancing หรือ proportionality) ระหว่างวิธีการกับเป้าหมาย ระหว่างส่วนน้อยกับส่วนใหญ่ ระหว่างสิทธิต่างๆ ให้เกิดความสมเหตุสมผลมากที่สุด

ฉ. หลักความเอื้ออาทรต่อผู้ที่ประสบเคราะห์กรรมอยู่ในชะตากรรมที่เลวร้าย นักคิดไม่ยอมรับหลักการนี้ทั้งหมด โดยเฉพาะในกลุ่มเสรีนิยมใหม่ ที่เชื่อระบบตลาดหรือระบบเลือกตั้งอย่างเดียว แต่ศาลในหลายประเทศได้เน้นจุดนี้มากพอสมควร

ประเทศไทยเริ่มถลำเข้าสู่วิกฤติตีบตันไร้ทางออก

1. ประเทศไทยกับภาวะ 5 เสื่อม

ในอดีตคนไทยเชื่อว่าเมื่อครบพุทธกาล พ.ศ. 5,000 จะเกิดปัญจอันตรธานหรือความเสื่อม 5 ประการคือ ปริยัติ คือการศึกษาธรรมะเสื่อม ปฏิบัติ คือการปฏิบัติธรรมเสื่อม ตรัสรู้เสื่อม เพศสมณะเสื่อม พระสงฆ์เหลือเพียงจีวรเหน็บหู และสุดท้ายพระธาตุศักดิ์สิทธิ์คุ้มบ้านคุ้มเมืองเสื่อม ปัจจุบันคนไทยก็เข้าสู่ภาวะ 5 เสื่อม อาจเหลือเพียงหลักการปกครองโดยกฎหมาย (rule of law) และศาลยุติธรรมที่ดำรงอยู่เป็นหลัก ภาวะ 5 เสื่อมมีดังนี้

1) ความสามัคคีในบ้านเมืองเสื่อม ที่สำคัญในหมู่ประชาชนระดับรากหญ้าเริ่มเกิดปัญหา คือการแบ่งเป็นหมู่เหล่า เป็นท้องถิ่นนิยม ภาคนิยม เป็นระดับรากหญ้าที่นิยมทักษิณกับชนชั้นกลางที่ไม่เอาทักษิณ การที่พรรคฝ่ายทักษิณได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งท่วมท้น ไม่ได้เกิดจากปัจจัยซื้อเสียงหรือประชานิยมอย่างเดียว แต่เกิดจากความน้อยเนื้อต่ำใจ ถูกดูหมิ่นดูแคลนของชาวบ้านอีสาน-เหนือจากส่วนกลางและชนชั้นนำไทย จึงเกิดทิฐิมานะที่จะแสดงสิทธิเสียงของตนในการเลือกพรรคของทักษิณ ซึ่งเข้าถึงใกล้ชิดชาวบ้านมากกว่าชนชั้นนำซึ่งห่างไกล แปลกแยก เราต้องพิจารณาจริงจังว่านี่เป็นปัญหาที่อาจจะร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ที่ต้องเยียวยาแก้ไข ความขัดแย้งดังกล่าวจะยังดำรงอยู่ต่อไปอีกอย่างน้อย 1-2 สมัยเลือกตั้ง

2) ภาคการเมืองเสื่อม การคอร์รัปชั่น ใช้อำนาจไม่ชอบธรรมของพรรคการเมือง นักการเมือง เป็นต้นเหตุของวิกฤติ กลไกสำคัญของภาคการเมืองคือรัฐสภาและการเลือกตั้ง ไม่สามารถคลี่คลายวิกฤติและบริหารประเทศอย่างได้ผลได้ สภาเริ่มเป็นที่ทะเลาะโจมตีมีเหตุรุนแรงเหมือนการเมืองนอกสภา

3) ภาคสังคม คือ สถาบันวิชาการ สื่อ เสื่อม แตกแยกทางความคิดความเห็น เครื่องมือหลักของภาคสังคมคือการถกเถียงด้วยเหตุด้วยผล ไม่สามารถคลี่คลายปัญหาได้

4) กองทัพ อดีตข้าราชการ เทคโนแครต ชนชั้นนำ ที่เรียกรวมๆ ว่าอมาตยาธิปไตยก็เสื่อม เพราะพิสูจน์ตัวเองว่ามีความคิดล้าหลังไม่ทันสถานการณ์ ไม่สามารถบริหารวิกฤติอย่างมีประสิทธิภาพได้

5) คุณธรรมเสื่อม คนไทยเริ่มมองว่าคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องธรรมดา โกงก็ได้ขอให้ทำงาน

ประเทศไทยอาจเหลือเพียงสถาบันเดียวคือศาลยุติธรรม ซึ่งมีหลักการปกครองโดยหลักกฎหมาย (rule of law) ที่จะมาช่วยคลี่คลายวิกฤตการณ์ในที่สุด ทั้งนี้เพราะในอนาคตคดีความต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับรัฐบาลทักษิณ คมช. และองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งที่จะเกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน จะเข้าไปคับคั่งที่ศาล ทั้งนี้ศาลย่อมพิพากษาตัดสินโดยปราศจากอคติล่วงหน้า โดยหลักดุลยพินิจที่ดี (discretion) โดยหลักการสมเหตุสมผล (reasonableness) โดยหลักความยุติธรรม (fairness) และการคำนึงบริบทประวัติศาสตร์ สังคม โดยรวมด้วย (proportionality) ถ้าทุกฝ่ายยอมรับการตัดสินของศาล วิกฤติในไทยก็อาจคลี่คลายได้ในที่สุด

2. ประเทศไทยเริ่มถลำเข้าสู่วิกฤติตีบตันที่ไร้ทางออก เพราะคนไทยไม่มีกลไกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ดีพอ

1) คนไทยไม่มีกลไกที่ดีในการแก้ไขความขัดแย้ง (conflict  resolution) มาแต่ไหนแต่ไร ในอดีตมักอาศัยแนวประเพณีคือ มี “ผู้ใหญ่” คอยไกล่เกลี่ย แต่ปัจจุบันไม่ได้ผล เพราะ “ผู้ใหญ่” ในบ้านเมืองเหลือน้อย บางส่วนความคิดเริ่มล้าสมัย ถูกท้าทายอำนาจบารมีจากอำนาจรุ่นใหม่ เกิดอาการต่างคนต่างใหญ่ ต่างถูกต้อง ไม่มีใครฟังใคร

2) การที่คนไทยปล่อยปละละเลยในปัญหาการโกงกินบ้านเมือง การใช้อำนาจมิชอบ ถือว่าเป็นธุระไม่ใช่ เป็นการซ้ำเติมให้บ้านเมืองวิกฤติอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ในอดีตซึ่งบ้านเมืองไม่ซับซ้อนก็ไม่เป็นปัญหามากนัก แต่เมื่อบ้านเมืองมีขนาดใหญ่ซับซ้อนขึ้น ปัญหาที่หมักหมมจึงแสดงอาการออกมาอย่างรุนแรงจนไม่มีหนทางแก้ไข

3) ความเสื่อม 5 ประการ บวกกับรัฐบาลพปช. อ่อนแอ สถานการณ์ถูกซ้ำเติมโดยการรีบร้อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะมีโอกาสนำไปสู่การชุมนุมเผชิญหน้าของพลังแต่ละฝ่าย การเมืองไทยจึงจะอยู่ในภาวะตีบตัน เพราะรัฐประหารไม่ใช่ทางออก การปราบปรามปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็ไม่ใช่ทางออก คนไทยจะตึงเครียด หวาดกลัว วิตกกังวลไปยาวนาน มีโอกาสปะทุเป็นความรุนแรงย่อยๆ (ดังเกิดขึ้นในกรณีชกต่อยในสภา) และขยายลุกลามได้ง่าย

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?id=26345&catid=1
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06-04-2008, 14:08 โดย CanCan » บันทึกการเข้า

Can ไทเมือง
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13,486



เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 05-04-2008, 21:49 »

Video Clip 'ธีรยุทธ' ติง 'สมัคร' ไม่ควรโดดถีบ 'อานันท์ - ประเวศ'

"ผมคิดว่านายกรัฐมนตรีสมัคร ไม่ควรรีบกระโดดถีบท่านอานันท์หรือคุณหมอประเวศ เดี๋ยวมันจะเป็นพรรคนักถีบไป ในเรื่องเสนอความเห็นแก้รัฐธรรมนูญ เพราะผมมองว่ารัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่มากที่สุดของประชาชน"

http://www.oknation.net/blog/nationtv/2008/04/05/entry-1

ปัจจุบันเกิดความเสื่อมสามัคคีคนในชาติ คุณธรรม ความน่าเชื่อถือของภาคการเมือง กองทัพ นักวิชาการตลอดจนคนชั้นนำของประเทศ จนน่าวิตกว่า สังคมไทยจะอยู่ในภาวะตีบตันที่ไม่เห็นทางออก

อยากเห็นรัฐบาลเปิดรับฟังความคิดเห็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง และไม่ใช้อำนาจเข้าไปแทรกแซงขบวนการยุติธรรม

"ผมคิดว่านายกรัฐมนตรีสมัคร ไม่ควรรีบกระโดดถีบท่านอานันท์หรือคุณหมอประเวศ เดี๋ยวมันจะเป็นพรรคนักถีบไป ในเรื่องเสนอความเห็นแก้รัฐธรรมนูญ เพราะผมมองว่ารัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่มากที่สุดของประชาชน"

ธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    อีก 2 สัปดาห์รอประเมินสถานการณ์บ้านเมือง และผลงานของรัฐบาลสมัคร


--------------------------------------------------------------------------------
ติดตาม Video Uncuts อ.ธีรยุทธ  ฉบับเต็มได้ที่ http://www.oknation.net/blog/kebtok
บันทึกการเข้า

Can ไทเมือง
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13,486



เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 06-04-2008, 12:09 »

'ธีรยุทธ'เตือน'สมัคร 'อย่าโดดถีบ'อานันท์-ประเวศ' เชื่อม็อบยืดเยื้อแน่ถ้าพปช.ยังดื้อแก้ รธน.
มติชน     วันที่ 05 เมษายน 2551 - เวลา 21:37:34 น. 
 
' ธีรยุทธ' วอน 'สมัคร ' อย่าโดดถีบ  'อานันท์-ประเวศ' ให้หาทางออกร่วมกันเตือนรีบแก้รธน.ทำการเมืองตีบตัน ชี้ม็อบยืดเยื้อถ้า'พปช.' ยังดึงเกมแก้ ม.237  'แม้ว'สำทับแก้รธน.เพื่อปชช. ม็อบ 'หนุน-ต้าน' ออกโรงยึดคนละเวทีสู้ เตรียมชุมนุมใหญ่หลังสงกรานต์ อดีต สสร.จับมือพันธมิตรถอดถอน รมต.แก้ไขเพื่อตัวเอง

' ธีรยุทธ' ชี้คนไขว้เขว'ตุลาการภิวัตน์'

เมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ห้องสถาบันเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ  ' ตุลาการภิวัตน์ กับการรอมชอมในสังคมไทย '  ในงาน 100 ปี ชาตกาลศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ตอนหนึ่งว่า มีหลายประเด็นที่สาธารณชนเข้าใจไขว้เขวว่าเป็นตุลาการภิวัตน์ แต่ที่จริงไม่ใช่ บางเรื่องเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น การดำรงตำแหน่งของผู้พิพากษาในองค์กรต่างๆ ภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน ซึ่งเป็นความสมัครใจของแต่บุคคล การร่างและแก้ไขรัฐธรรมนูญ การตัดสินคดียุบพรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคพลังประชาชน ที่ตุลาการทำหน้าที่ตัดสินเท่านั้น รวมถึงการเป็นกรรมการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เป็นกรรมการสรรหาองค์กรอิสระต่างๆ ก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตุลาการภิวัตน์ แต่เป็นแนวคิดจากสายรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่ต้องการสร้างอำนาจตรวจสอบที่เป็นอิสระ จึงต้องมอบหมายให้ศาลเป็นผู้สรรหา บทบาทของศาลจึงไม่เกี่ยวข้องกับตุลาการภิวัตน์ และไม่เกี่ยวข้องว่ารัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องคนละประเด็นและเป็นสิ่งที่สังคมไทยโดยรวมต้องช่วยกันขบคิดอีกรอบหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ยันไม่ได้สนับสนุนเผด็จการ

' ผมก็ถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนเผด็จการ ทั้งที่ความเป็นจริงผมไม่เคยเบี่ยงเบนความคิดจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน ไม่เคยสนับสนุนระบอบทักษิณ ไม่เคยสนับสนุนหรือเห็นชอบกับการรัฐประหาร ไม่เคยไยดีกับตำแหน่งอำนาจวาสนาหลังรัฐประหาร แต่ยินดีที่จะทำหน้าที่จะวิจารณ์ คมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) และรัฐบาลสุรยุทธ์ให้คลี่คลายวิกฤตและไม่สืบทอด ความจริงก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายน หนึ่งวัน ทั้งผม นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิบการบดี มธ. และคณบดีอีก 5 คณะของ มธ. ได้หารือกันเพื่อแก้ไขวิกฤตของบ้านเมืองและกำลังจะเสนอทางออก แต่ก็เกิดการรัฐประหารขึ้นเสียก่อน'  นายธีรยุทธกล่าว

เตือนรีบแก้รธน.ทำการเมืองตีบตัน

นายธีรยุทธยังแสดงความเห็นว่า ขณะนี้ประเทศไทยเริ่มถลำเข้าสู่วิกฤตที่ตีบตันไร้ทางออก โดยกำลังพบกับภาวะ 5 เสื่อม คือ 1.ความสามัคคีในบ้านเมืองเสื่อม 2.ภาคการเมืองเสื่อม 3.ภาคสังคมเสื่อม 4.กองทัพ อดีตข้าราชการ เทคโนแครต ชนชั้นนำ ที่เรียกรวมๆ ว่าอมาตยาธิปไตยเสื่อม และ 5.คุณธรรมเสื่อม มีเพียงศาลยุติธรรมสถาบันเดียวที่ยังพึ่งหวังได้ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยุคนี้ได้ถลำเข้าสู่วิกฤตตีบตันที่ไร้ทางออก เพราะคนไทยไม่มีกลไกแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ดีพอ ในอดีตมีประเพณีให้ผู้ใหญ่คอยไกล่เกลี่ย แต่ปัจจุบันผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเหลือน้อยและเกิดอาการต่างคนต่างใหญ่ไม่มีใครฟังใคร ประกอบกับคนไทยปล่อยปละละเลยในปัญหาการโกงกินบ้านเมือง เมื่อบวกกับรัฐบาลพรรคพลังประชาชนอ่อนแอ และถูกซ้ำเติมด้วยการรีบร้อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะมีโอกาสนำไปสู่การชุมนุมเผชิญหน้าของพลังแต่ละฝ่าย

' การเมืองไทยจึงอยู่ในภาวะตีบตัน เพราะรัฐประหารไม่ใช่ทางออก การปราบปรามปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็ไม่ใช่ทางออก คนไทยจะตึงเครียด หวาดกลัว วิตกกังวลไปยาวนาน มีโอกาสปะทุเป็นความรุนแรงย่อยๆ ดังที่เกิดขึ้นในกรณีชกต่อยในสภา ซึ่งจะขยายลุกลามได้ง่าย ' นายธีรยุทธกล่าว (

ชี้พปช.ยื้อแก้ม.237ม็อบยืดเยื้อ

จากนั้นนายธีรยุทธให้สัมภาษณ์ว่า การที่รัฐธรรมนูญให้ตุลาการเข้าไปมีส่วนในการสรรหาองค์กรอิสระ หรือเข้าไปอยู่ในองค์กรอิสระนั้น จะทำให้เกิดวิกฤต เนื่องจากคณะร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้กำหนดไว้ ซึ่งตุลาการก็ปฏิบัติหน้าที่ไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยเชื่อว่าตุลาการจะสามารถแยกแยะหน้าที่ออกว่าเป็นตุลาการหรือคณะกรรมการสรรหา แต่หากเกิดปัญหา สังคมก็ต้องทำใจว่า เป็นการทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระไม่ใช่การทำหน้าที่ศาล อย่างไรก็ตาม ฝ่ายการเมืองไม่ควรแทรกแซงหรือไปล้มล้างกระบวนการตรวจสอบของศาล และไม่ควรไปสกัดกั้นหรือดึงคดีออกจากกระบวนการยุติธรรม ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหา ประชาชนมีความเคลือบแคลงสงสัยการทุจริตต่างๆ เพราะสังคมรับรู้แล้วว่ามีเรื่องการทุจริตเกิดขึ้นจึงอยากให้คดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่พรรคพลังประชาชนดึงดันที่จะพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 เพื่อที่จะหนีคดียุบพรรคจะทำให้เกิดปัญหาความวุ่ยวายเกิดขึ้นหรือไม่ นายธีรยุทธกล่าวว่า ถ้าดึงดันไปมากๆ ทุกส่วนก็จะมีการชุมนุมยืดเยื้อและหากปล่อยให้ปัญหาคุกรุ่นการชุมนุมจะยืดเยื้อยาวนาน ผลเสียก็จะเกิดต่อเศรษฐกิจ และสังคม

อย่าโดดถีบความเห็น 'อานันท์-ประเวศ'

' เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ไม่ควรรีบออกมากระโดดถีบความคิดเห็นของนายอานันท์ (ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี) และ นพ.ประเวศ (วะสี ราษฎรอาวุโส) ไม่งั้นถูกมองว่าพรรคนี้เป็นพรรคนักกระโดดถีบ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ใช่เกี่ยวกับนักการเมืองเท่านั้น ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องมีส่วนในการแก้ไข การที่นายสมัครพูดว่า คณะรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญก็ไม่ถูกนัก เพราะความจริงการรัฐประหารที่เกิดขึ้น เนื่องจากมีการทะเลาะเบาแว้งกันทุกฝ่าย ส่งผลเดือดร้อนไปทั่ว' นายธีรยุทธกล่าว และว่า นายสมัครน่าจะใช้จังหวะนี้เป็นโอกาส เชิญนายอานันท์ และ นพ.ประเวศ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิในสังคมหารือกันว่า ควรแก้รัฐธรรมนูญอย่างไรให้เกิดความเหมาะสมและเกิดความพึงพอใจกันทุกฝ่าย ไม่ใช่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว เพราะทุกฝ่ายต้องการประชาธิปไตย บ้านเมืองใสสะอาด ไม่โกงกิน

เมื่อถามว่า สถานการณ์การเมืองในปัจจุบันแตกต่างจาก 14 ตุลาคม 2516 อย่างไร นายธีรยุทธกล่าวว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ซับซ้อนกว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาหลายเท่า เพราะเหตุการณ์ 14 ตุลาในที่สุดจะหาทางแก้ปัญหาในคำตอบสุดท้ายได้ แต่นับตั้งแต่เกิดการทุจริตเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ขึ้น กลไกรัฐสภาก็หมดความน่าเชื่อถือไป ทำให้สังคมในวันนี้ไม่มีคำตอบ ทางเดียวที่จะเป็นออก คือ ทุกฝ่ายต้องตั้งสติให้ดีๆ และร่วมกันหาทางออกให้บ้านเมือง หลังจากนี้ 2 สัปดาห์ ตนจะเปิดแถลงข่าวอีกครั้งเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองในยุครัฐบาลของนายสมัครอีกครั้ง

'แม้ว' สำทับแก้รธน.เพื่อปชช.

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่ท่าอาศยานสุวรรณภูมิ ก่อนเดินทางไปประเทศกัมพูชา กรณีฝ่ายค้านเป็นห่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าเป็นการแก้เพื่อพรรคพลังประชาชนว่า แน่นอนนักการเมืองก็ต้องทำงานเพื่อประชาชน ทำงานเพื่อตัวเองไม่ได้หรอก เมื่อถามว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะทำให้เกิดวิกฤตขึ้นมาอีกหรือไม่ พล.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า ไม่มีอะไรจริงๆ อย่าคิดมาก อยากให้ทุกคนมองโลกและประเทศในแง่ดี ช่วยกันทำมาหากินหันหน้าเข้าหากัน อย่าทะเลาะกันอย่าไปเห็นหน้าแล้วหมั่นไส้ มันไม่ดี ผู้สื่อข่าวถามว่า ส่วนตัวอยากให้มีการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า ตนไม่เกี่ยวกับการเมืองแล้ว แค่อยากให้ทุกคนมองโลกแง่ดี ทำงานเพื่อบ้านเมือง เมื่อถามว่า มองการแก้รัฐธรรมนูญอย่างไร พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า อะไรก็แล้วแต่ที่เป็นระบอบประชาธิปไตยดีที่สุด การทำให้เป็นประชาธิปไตยมากๆ ดีที่สุด

' มาร์ค' ติงอย่าสร้างเงื่อนแตกแยก

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกระแสการต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เชื่อว่ากระแสนี้ก็คงต้องมี ส่วนตัวอยากให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เกิดจากการเห็นร่วมกันว่า มีความจำเป็นหรือไม่ เชื่อว่ามีกลุ่มผู้สนับสนุนตนเช่นกัน เพราะถ้าต้องการให้รัฐธรรมนูญดีขึ้นกว่าเดิม การแก้ไขไม่ควรสร้างความขัดแย้งเพิ่มขึ้น และไม่ควรแก้ไขเพื่อผลประโยชน์ของบางกลุ่ม

' ผมอยากให้รัฐบาลทบทวนท่าที เพราะเราไม่ควรสร้างเงื่อนไขให้เกิดความแตกแยก แม้ว่ารัฐบาลจะมีเสียงข้างมากอยู่ในรัฐสภา แต่อย่าลืมว่าวิกฤตของบ้านเมืองครั้งที่ผ่านมา เกิดจากการยึดเอาความคิดว่าตนเองมีเสียงข้างมากจนทำให้เกิดปัญหา ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้เหตุผล ผมมั่นใจว่าจะมีทางออก ถ้าทุกคนหลีกเลี่ยงความรุนแรงและมาใช้เหตุผล โดยยึดผลประโยชน์ส่วนรวม ผมมั่นใจว่าบ้านเมืองจะเดินหน้าไปได้อย่างแน่นอน ผมอยากให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาของประชาชนก่อนที่จะทำเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ตนเอง'  นายอภิสิทธิ์กล่าว

'อ๋อย' ให้เร่งแก้ทั้งฉบับใน3เดือน

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย แถลงสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ของรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ที่โรงแรมเรดิสัน พระราม 9 ว่า พรรคการเมืองทุกพรรคต่างเห็นชอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญแทบทั้งสิ้น จึงควรแก้ไขส่วนที่สำคัญๆ ทั้งหมดและให้เร็วที่สุด หากไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย รัฐบาลจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองได้ และต่อไปจะเริ่มส่งผลให้เกิดวิกฤตกับบ้านเมืองมากกว่านี้ จึงควรแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบยกเครื่องหรือทั้งฉบับ โดยหมวด 1 และหมวด 2 นั้นเป็นมาตรฐานอยู่แล้ว ส่วนที่เหลือให้นำรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มาเป็นหลัก โดยเร่งแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน หากรอไปอีก 1-2 ปี วิกฤตต่างๆ ที่ถูกซ่อนไว้ในรัฐธรรมนูญจะเริ่มออกทำให้ไม่สามารถแก้ไขได้ นอกจากนี้ ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยพรรคการเมืองหารือกับองค์กรประชาธิปไตยต่างๆ ว่าสมควรที่จะมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เหมือนปี 2540 อีกหรือไม่

จวกวิปรัฐบาลทำคนสับสน

' ข้อเสนอของคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ที่จะแก้ไข 4-5 มาตรานั้น ยังไม่ครอบคลุมให้เป็นประชาธิปไตยได้ และผมก็สับสนกับข้อเสนอของวิปรัฐบาลที่เปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง และพูดกันเพียงเรื่องการแก้ไขกี่มาตราเท่านั้น ไม่ได้กำหนดเวลาในการแก้ไข รวมทั้งยังไม่มีการอธิบายหลักเหตุผลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประชาชนเข้าใจอย่างจริงจัง'  นายจาตุรนต์กล่าว และว่า ส่วนที่สำคัญที่จำเป็นต้องแก้ไข คืออำนาจหน้าที่และบทบาทของสมาชิกรัฐสภากับอำนาจหน้าที่และบทบาทของผู้ที่มาจากการแต่งตั้ง โดยไม่ต้องห่วงข้อวิจารณ์ว่า ส.ส.แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง เพราะทั่วโลกต่างยอมรับเป็นกติกาว่าสมาชิกรัฐสภาเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยตรง และปัญหาใหญ่ที่ต้องมีการแก้ไขครั้งนี้คือ คนที่ไม่ทำผิดจะต้องถูกลงโทษเหมือนคำที่ว่า พระปราชิกรูปหนึ่งไม่ใช่หมายความว่า พระจะต้องปราชิกทั้งวัดหรือต้องไปยุบวัด

จวกนักนิติศาสตร์ขาดปชต.

นายจาตุรนต์กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะมีการเคลื่อนไหวขององค์กรประชาธิปไตยและประชาชนออกมาเรียกร้อง ซึ่งเป็นความขัดแย้งอีกรูปแบบหนึ่ง ส่วนกระแสต้านการแก้ไขนั้นเป็นธรรมดาที่จะต้องมีอยู่แล้ว แต่สำหรับนักวิชาการด้านนิติศาสตร์หลายคนที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านนั้น ส่วนใหญ่ยังใช้มุมมองของกฎหมายแพ่งในการเสนอความเห็นคัดค้าน หลายคนเคยร่วมงานและร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงเป็นธรรมดาที่จะออกมาปกป้องสิ่งที่เคยทำให้ คมช. แต่ปัญหาสำคัญของนักนิติศาสตร์เมืองไทยคือ ขาดการเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตย การเคลื่อนไหวต่อต้านนั้นมีมาตั้งแต่ความพยายามล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ชมรม ส.ส.ร.50รอท่าทีแก้รธน.

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา ในฐานะอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.50) กล่าวว่า ขณะนี้ชมรม สสร.กำลังรอความชัดเจนจากวิปรัฐบาลว่า จะแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร จะมีการแก้มาตราใดบ้าง โดยเฉพาะมาตรา 309 จะยกเลิกทั้งหมด หรือแก้ไขเพิ่มเติมบางวรรค หรือจะเป็นแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะความหมายของการดำเนินการไม่เหมือนกัน โดยชมรม สสร.50 มองเห็นว่ารัฐบาลไม่มีเอกภาพ และไม่มีความชัดเจนในการสื่อสารให้สาธาณะชนเข้าใจว่า แก้รัฐธรรมนูญแล้วประเทศชาติได้ประประโยชน์อะไร และชมรม ส.ส.ร.50 จะมีการนัดประชุมหารือกันอีกครั้งในวันที่ 8 เมษายน บริเวณอาคารรัฐสภา 2 เพื่อติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

' ล่าสุดทราบว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเท่ากับเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง ไม่ต่างกับการทำปฏิวัติรัฐประหาร เรายังคงยืนกรานในการดำเนินการตามมาตรา 122 และ 270 อยู่ และไม่กังวลว่าจะเป็นการขัดขวางผลประโยชน์ใคร เนื่องจากเป็นการดำเนินการตามช่องกฎหมายที่เปิดไว้' นายสุรชัยกล่าว และว่า มาตรา 122 ของรัฐธรรมนูญสามารถดำเนินการได้หลายทาง โดยช่องทางที่คิดว่าจะมีผลต่อการตัดสินใจของกลุ่มที่มีการเคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้มากที่สุดคือ การถอดถอนจากตำแหน่ง ตามมาตรา 271 วรรคสาม ที่ระบุว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนบุคคลตามมาตรา 274 ออกจากตำแหน่งได้ ตามมาตรา 164 เพราะเป็นสัญญาณเตือนที่สามารถทำได้โดยภาคประชาชนอย่างแท้จริง
 
บันทึกการเข้า

Can ไทเมือง
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13,486



เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 06-04-2008, 12:13 »

บทความหมอประเวศ: เรื่องรัฐธรรมนูญ
 
แก้รัฐธรรมนูญมาตรา237 แก้ที่ตัวเองตัดกรรมแก้หลักการก่อเวร

พรรคร่วมรัฐบาลได้มีมติจะแก้รัฐธรรมนูญมีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย และเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ ถ้าการถกเถียงใช้เหตุใช้ผลใช้ประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นที่ตั้งก็เป็นเรื่องที่ดี มีความเป็นอาริยะดีกว่าการใช้อำนาจ การเอาสีข้างเข้าถูหรือการข่มขู่แบบอันธพาล ซึ่งเป็นอนาริยะ คนไทยต้องร่วมกันขับเคลื่อนประเทศด้วยวิถีอาริยะ จึงจะพ้นวิกฤติได้ วิถีอนาริยะจะนำประเทศเข้าไปสู่ความรุนแรง สังคมไทยควรจะร่วมกันวิเคราะห์การแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญ ในที่นี้จะจำกัดอยู่จำเพาะมาตรา 237

1.การใช้เงินซื้อเสียงคือต้นเหตุวิกฤติทางการเมือง

การเมืองจะเป็นไปด้วยดีมีประโยชน์ต่อประเทศต่อเมื่อนักการเมืองมีความสุจริต มีความรู้ความสามารถ ตั้งใจอุทิศตัวเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ใช่เข้ามาโดยหวังตักตวงผลประโยชน์เข้าตัวเอง

การเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมามีการใช้เงินจำนวนมากไปซื้อเสียงเพื่อเข้าสู่อำนาจทางการเมืองจนเรียกกันว่าMoney Politics หรือระบบเงินเป็นใหญ่หรือธนาธิปไตย ธนาธิปไตยทำให้การเมืองบิดเบี้ยวไปจากนิยามของนักการเมืองที่ดีข้างต้นในเรื่องความสุจริต ความรู้ความสามารถ การอุทิศตัวเพื่อส่วนรวม ความไม่ตักตวงผลประโยชน์เข้าตนเอง

เมื่อขาดนักการเมืองคุณภาพคุณธรรมก็บริหารบ้านเมืองไม่ได้ผล สังคมรังเกียจ แล้วก็เกิดปฏิวัติรัฐประหารซึ่งก็แก้ปัญหาไม่ได้เกิด เป็นวงจรน้ำเน่าทางการเมืองวนเวียนอยู่อย่างนั้น ทำให้ประเทศไม่สามารถพัฒนาไปสู่ความเจริญอย่างแท้จริงได้

ในเมื่อการใช้เงินซื้อเสียงคืออุปสรรคของประเทศจึงมีความพยายามที่จะสกัดกั้นการใช้เงินซื้อเสียงด้วยประการต่างๆ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ธนาธิปไตยยังครองพื้นที่ทางการเมืองไทยเรื่อยมา ในร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ผู้ร่างจึงพยายามหากลไกที่จะสกัดกั้นธนาธิปไตยโดยวางยาให้แรง รัฐธรรมนูญมาตรา 237 คือยาแรงขนานนั้น แต่ก็ต้องมาดูกันว่าจะได้ผลหรือไม่

2.รัฐธรรมนูญมาตรา 237 วรรคสอง ของมาตรา 237 มีความดังต่อไปนี้ 

ถ้าการกระทำของบุคคลตามวรรคหนึ่งปรากฏหลักฐานอันเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารของพรรคการเมืองผู้ใด มีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลยหรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้ว มิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ตามมาตรา 68 และในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมือง และกรรมการบริหารพรรคการเมืองดังกล่าวมีกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง

เจตนารมณ์ของมาตรานี้คือให้พรรคการเมืองมีความรับผิดชอบร่วมกันดูแลซึ่งกันและกันอย่าให้ทำผิด ถ้าหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรครู้เห็นหรือปล่อยปละละเลยให้ทำผิด ต้องถูกยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง การบัญญัติโทษให้แรงโดยหวังว่าจะเกิดความกลัวเกรงไม่กล้าทำผิด แต่ก็ปรากฏว่ามีกรณีการทำผิดตามมาตรานี้ และถูกส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาซึ่งอาจถูกตัดสินให้ยุบพรรคชาติไทย มัชฌิมาธิปไตย และพลังประชาชน

ประเด็นของการจะแก้รัฐธรรมนูญมาตรา237 คือ ถ้ามีการทำผิดให้ลงโทษเฉพาะตัวบุคคลไม่ให้ยุบพรรค

3.ประเด็นที่เกิดตามมาจากการแก้มาตรา 237  

การแก้มาตรา237 ดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกิดประเด็นตามมามากมาย เช่น

(1) ขนาดมีบทลงโทษที่หนักยังไม่เกรงกลัว ถ้าแก้ไขให้เบาก็จะยิ่งไม่เกรงกลัวในการทำผิดยิ่งกว่านี้ การเมืองก็จะไม่พ้นวิกฤติ บ้านเมืองก็จะติดขัดต่อไป

(2) การมีบทลงโทษที่หนัก ถ้าเราไม่ทำผิดเสียอย่าง บทลงโทษที่ว่าหนักก็ไม่มีปัญหาอะไรแก่เรา ที่ว่ารัฐธรรมนูญไม่ดีๆ นั้น ที่จริงรัฐธรรมนูญไม่ดี หรือผู้ปฏิบัติผิดรัฐธรรมนูญไม่ดี

(3) ถ้าเราทำผิดกฎหมายแล้ว แทนที่จะแก้ที่ตัวเองกลับไปแก้กฎหมาย ตรรกะนี้ถ้านำไปใช้กันได้ก็จะเกิดเรื่องน่าเกลียดน่ากลัวที่พิลึกพิลั่นต่อไปได้มาก หวังว่าโจรคงจะไม่ขอแก้กฎหมายให้การเป็นโจรไม่มีความผิด หรือนักเรียนขอแก้ไขวินัยโรงเรียน หรือขอแก้การสอบให้ง่ายเข้า

(4) จริงอยู่พรรคร่วมรัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภา อาจใช้อำนาจของเสียงข้างมากแก้รัฐธรรมนูญได้ แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าคือการใช้อำนาจนั้นทำเพื่อตัวเองหรือเพื่อความถูกต้องดีงามของบ้านเมือง

(5) ถ้ามีข้อสงสัยในเรื่องทำเพื่อตัวเองหรือเพื่อความถูกต้องดีงามในบ้านเมือง แม้จะแก้รัฐธรรมนูญได้ แต่จะมีต้นทุน (Cost) ที่สูงมาก คือขาดความเชื่อถือไว้วางใจ (Trust) เช่นว่าถ้าใช้อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเองได้ ต่อไปรัฐบาลจะทำอะไรๆ อย่างอื่นเพื่อตัวเองอีกหรือไม่

(6) รัฐบาลที่ขาดความเชื่อถือไว้วางใจจากสังคมอยู่ได้ยาก ทำอะไรๆ จะลำบากไปหมด หรืออาจเกิดการต่อต้านขึ้นมาได้ ถ้าเราดูในประวัติศาสตร์ของจีน ซึ่งมีการบันทึกที่ยาวนานที่สุดจะเห็นได้ว่าเมื่อรัฐบาลขาดความชอบธรรม จะเกิดความกระด้างกระเดื่อง เกิดกบฏ หรือเกิดการลุกฮือของราษฎร  จนเป็นเหตุให้เปลี่ยนราชวงศ์อยู่บ่อยๆ 

(7) รัฐบาลจะมั่นคงต่อเมื่อตั้งอยู่ในความถูกต้อง พยายามรักษาน้ำใจของคนในชาติ มีเสน่ห์ดึงดูดผู้คนเข้ามารวมพลังสร้างชาติบ้านเมือง มีวจีสุจริต มิใช่โฮกฮากขากถุยทะเลาะกับผู้คน หาความสัตย์มิได้เป็นประจำวัน 

(Cool การแก้ไขตัวเองเป็นการตัดกรรม แต่การแก้ไขหลักการจะก่อเวรต่อๆ ไปอีกไม่มีที่สิ้นสุด จนอาจถึงเกิดจลาจลในบ้านเมือง

(9) คนไทยพึงรู้เท่าทันว่า คนที่ฉลาดๆ บางคนที่ออกแบบวางตัวองค์ประกอบของรัฐบาล อาจจงใจให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายในบ้านเมือง ต้องระวังอารมณ์ ใช้การต่อสู้ที่เป็นวิถีอาริยะให้มากที่สุด เพื่อป้องกันการจลาจล

4.การต่อสู้ตามวิถีอาริยะ

เมื่ออำนาจจักรภพอังกฤษอันเกรียงไกรที่สุดในโลกเข้าครอบครองกดขี่อินเดียอินเดียไม่มีอำนาจทางพละกำลังที่จะไปต่อสู้กับอังกฤษได้เลย อังกฤษเป็นฝ่ายขาดความชอบธรรม หรือเป็นอธรรม คนอินเดียที่ต่อสู้เพื่ออิสรภาพของตนเองเป็นฝ่ายธรรมะ ในธรรมาธรรมะสงครามคราวนั้น มหาตมะ คานธี ได้นำการต่อสู้ด้วยอหิงสธรรม ฝ่ายธรรมะมีชัยในที่สุด อังกฤษยอมปล่อยอินเดียเป็นอิสระ

คนขาวได้ใช้อำนาจเข้าปกครองประเทศแอฟริกาใต้และใช้สิทธิเหยียดผิว(Apartheid) อย่างรุนแรง คนแอฟริกาใต้ที่พยายามต่อสู้เพื่ออิสรภาพของตนเองถูกสังหารและถูกจองจำไปเป็นอันมากท่ามกลางความกดดันจากประชาคมโลก คนขาวที่ปกครองแอฟริกาใต้อยู่ก็ไม่กล้าลงจากอำนาจเพราะกลัวคนดำจะแก้แค้น เนลสัน แมนดาลา ผู้นำต่อสู้เพื่ออิสรภาพได้รับความเชื่อถือจากทุกฝ่ายสัญญาว่าจะใช้อหิงสธรรม คนขาวจึงกล้าลงจากอำนาจปล่อยให้แอฟริกาใต้มีอิสรภาพ

การใช้อำนาจครอบงำเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเป็นอธรรม จะก่อให้เกิดการต่อสู้เพื่ออิสรภาพเสมอ การใช้อำนาจครอบงำอินเดียของคนอังกฤษและครอบงำแอฟริกาใต้ของคนขาวเป็นสิ่งที่ตรงไปตรงมาเห็นได้ง่าย แต่อำนาจครอบงำโดยเงินขนาดมหึมาที่เข้ามายึดอำนาจทางการเมืองนั้นซับซ้อนมากกว่า  การต่อสู้เพื่อปลดแอกจากการครอบงำต้องใช้ความจริง ความมีเหตุมีผล สันติวิธี อยู่ภายในกรอบของกฎหมาย มีความสุภาพ และอหิงสธรรม

นี้คือหนทางธรรมอันเป็นอาริยวิถี

ใครใช้หนทางอธรรมอันเป็นอนาริยวิถีจะพ่ายแพ้ในที่สุดเพราะธรรมย่อมชนะอธรรมเสมอ

อาริยวิถีย่อมชนะใจสาธารณะ


เราคนไทยด้วยกันอย่าไปแบ่งเป็นพวกรักทักษิณกับพวกเกลียดทักษิณเลย แต่เป็นพวกที่รักความถูกต้องดีงามในบ้านเมืองด้วยกัน หนีห่างจากอนาริยวิถี ใช้อาริยวิถี ไม่ใช้อำนาจครอบงำด้วยประการใดๆ แต่เคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ทำให้ประชาธิปไตยเป็นธรรมาธิปไตย และประเทศไทยสามารถก้าวหน้าไปสู่ความเจริญอย่างแท้จริงได้ในที่สุด และเราคนไทยมีความภูมิใจร่วมกันในความถูกต้อง


ประเวศ วะสี
 

ที่มาคมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/2008/04/04/x_pol_k001_197054.php?news_id=197054
บันทึกการเข้า

Can ไทเมือง
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13,486



เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 06-04-2008, 12:18 »

แถลงการณ์ 41 อจ.นิติฯ 8 มหาวิทยาลัย ค้านแก้ไขม. 237 หนีผิดคดีทุจริตเลือกตั้ง-ยุบพรรค
มติชน  วันที่ 02 เมษายน 2551 - เวลา 21:09:22 น. 
 
'การแก้ไขมาตรา 237  เมื่อมีการกระทำผิดแล้ว  จึงทำลายระบบนิติศาสตร์ของประเทศลงอย่างสิ้นเชิง  ซึ่งคณาจารย์นิติศาสตร์เห็นว่าไม่ควรมีการกระทำหรือสนับสนุนให้กระทำดังกล่าวอย่างยิ่ง'

-----------------------

ตามที่มีข่าวเป็นการทั่วไปว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองหลายพรรคตระเตรียมที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 237  ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550  นั้น  คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ดังมีรายชื่อท้ายนี้(จำนวน 26 คนจากมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนรวม 6 แห่ง)มีความเห็นดังต่อไปนี้


1.มาตรา 237  ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550  บัญญัติว่า 

“ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดกระทำการ  ก่อ  หรือสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา  หรือระเบียบหรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง  ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลดังกล่าวตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 

ถ้าการกระทำของบุคคลตามวรรคหนึ่ง  ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารของพรรคการเมืองผู้ใด  มีส่วนรู้เห็น  หรือปล่อยปละละเลย  หรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้ว  มิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม  ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ตามมาตรา 68  และในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น  ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองดังกล่าวมีกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง” 

บทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นได้รับการบัญญัติขึ้นใหม่โดยอาศัย  “ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทย”  ที่เป็นปัญหาอยู่จริงที่พรรคการเมืองทั้งหลายมักปฏิเสธความรับผิดจากการดำเนินงานของหัวหน้าพรรคและกรรมการพรรคที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

 การยอมให้พรรคการเมืองปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่าพรรคการเมืองเป็น  “สถาบัน”  มิได้ร่วมกระทำผิดกับ  “คนในพรรค”  ย่อมทำให้การเมืองไทยวนเวียนอยู่กับการทุจริตอย่างไม่มีหนทางแก้ไข  หลักการให้หน่วยงานต้องรับผิดร่วมกับบุคคลในหน่วยงานนั้นตามที่บัญญัติในมาตรา 237  นี้  ความจริงมิใช่เรื่องใหม่  เพราะในระบบกฎหมายไทยก็มีบทบัญญัติในเรื่องนี้หลายประการ  เช่น  ในมาตรา 425  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า 

“นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้าง”

เมื่อลูกจ้างไปทำละเมิดผู้อื่น  นายจ้างจะปฏิเสธว่าตนเองไม่ได้กระทำละเมิดจึงไม่ต้องรับผิดก็ไม่ได้  หรือในกรณีพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ  พ.ศ. 2542  มาตรา 9  ก็บัญญัติว่า

“ในกรณีที่กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคล  ให้ถือว่าหุ้นส่วนผู้จัดการ  กรรมการผู้จัดการ  ผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจในการดำเนินงานในกิจการของนิติบุคคลนั้น  หรือผู้ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลในเรื่องนั้น  เป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิดด้วย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิดนั้น”

2.บทบัญญัติมาตรา 237  ดังกล่าวข้างต้นอาจจะได้รับการประเมินจากคนบางกลุ่มว่า เป็นการให้ยาแรงเกินขนาดก็ได้  จึงมีผู้พยายามแก้ไขมาตราดังกล่าวข้างต้น  ซึ่งในทางทฤษฎีกฎหมายรัฐธรรมนูญ  คณาจารย์นิติศาสตร์ก็เชื่อว่า  รัฐธรรมนูญทุกฉบับสามารถแก้ได้  โดยมาตรา 291  ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550  ก็บัญญัติกระบวนการแก้ไขไว้โดยชัดแจ้งว่า 

“การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้

(1) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐจะเสนอมิได้

(2)ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ

(3)การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ  ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย  และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น  ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

(4)การพิจารณาในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา  ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมด้วยการออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา  ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ

(5)เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน  เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สามต่อไป

(6)การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย  ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย  และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

(7)เมื่อการลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวแล้ว  ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย  และให้นำบทบัญญัติมาตรา 150  และมาตรา 151  มาใช้บังคับโดยอนุโลม”
การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่สิ่งผิดปรกติที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้

3.แต่การแก้ไขก็มิใช่สามารถทำได้ตาม  “อำเภอใจ”  ทุกอย่าง  โดยอ้างความชอบธรรมจากการมีเสียงข้างมากของสภา  ทั้งนี้เพราะความชอบธรรมมิได้เกิดจากการมีเสียงข้างมากในสภาเท่านั้น  แต่ยังหมายถึงเสียงข้างมากในสภาที่สอดคล้องกับความถูกต้องตามหลักนิติธรรมของประเทศที่ปกครองในระบบประชาธิปไตยด้วย 

คงไม่มีใครปฏิเสธว่ารัฐธรรมนูญหรือกฎหมายย่อมแก้ไขได้  แต่การแก้ไขต้องกระทำ  “ก่อน”  ที่จะมีการกระทำผิดรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายขึ้น  หากประเทศสามารถเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายได้หลังจากการกระทำผิดแล้ว 

หลักเรื่องความถูกผิด  หลักเรื่องการปกครองโดยกฎหมาย  หลักนิติธรรมที่ใช้ในการปกครองประเทศก็จะพังทลายอย่างไม่เป็นท่า  ใครจะรับประกันว่าถ้าพรรค  ถ้าพวก  ของผู้มีอำนาจ  กระทำผิดกฎหมาย  เขาเหล่านั้นจะไม่แก้ไขกฎหมายเพื่อให้ตัวเองหลุดพ้นจากความรับผิด  หรือหลักกฎหมายของบ้านนี้เมืองนี้คือ  ถ้าพรรค  ถ้าพวกทำผิดก็จะแก้กฎหมายไม่ให้ผิด  แต่ถ้าประชาชนทำผิดก็ต้องรับผิดตามกฎหมายไปมาตรฐานความถูกผิดจะอยู่ที่ไหน

การแก้ไขมาตรา 237  เมื่อมีการกระทำผิดแล้ว  จึงทำลายระบบนิติศาสตร์ของประเทศลงอย่างสิ้นเชิง  ซึ่งคณาจารย์นิติศาสตร์เห็นว่าไม่ควรมีการกระทำหรือสนับสนุนให้กระทำดังกล่าวอย่างยิ่ง

4. การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทั้งหลายย่อมสามารถทำได้  แต่ไม่ควรทำโดยผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องนั้น  หลักการนี้เป็นหลักการทั่วไปที่พัฒนามาจากการคัดค้านฝ่ายตุลาการดังบัญญัติไว้ในมาตรา 11  (1)  แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่บัญญัติว่า 

“เมื่อคดีถึงศาล  ผู้พิพากษาคนหนึ่งคนใดในศาลนั้นอาจถูกคัดค้านได้  ในเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้  (1) ถ้าผู้พิพากษานั้นมีผลประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องอยู่ในคดีนั้น...” 

หลักการนี้ต่อมาขยายมาสู่การดำเนินงานของฝ่ายบริหารดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13  ของพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ. 2539  ว่า 

“เจ้าหน้าที่ดังต่อไปนี้จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้

(1)เป็นคู่กรณีเอง

(2)เป็นคู่หมั้นหรือคู่สมรสของคู่กรณี

(3)เป็นญาติของคู่กรณี  คือ  เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานไม่ว่าชั้นใดๆ  หรือเป็นพี่น้องหรือลูกพี่ลูกน้องนับได้เพียงภายในสามชั้น  หรือเป็นญาติเกี่ยวพันทางแต่งงานนับได้เพียงสองชั้น

(4)เป็นหรือเคยเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้พิทักษ์หรือผู้แทนหรือตัวแทนของคู่กรณี

(5)เป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้  หรือเป็นนายจ้างของคู่กรณี

(6)กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง”

และในท้ายที่สุดได้ขยายมาสู่ฝ่ายนิติบัญญัติดังจะเห็นได้จากมาตรา 122  ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550  ที่บัญญัติว่า 

“สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย  โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ  มอบหมาย  หรือความครอบงำใดๆ  และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต  เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย  โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์”

การแก้ไขมาตรา 237  ของรัฐธรรมนูญของสมาชิกรัฐสภาจึงเป็นการดำเนินการที่มีการ  “ขัดกันแห่งผลประโยชน์”  โดยชัดแจ้ง  และย่อมเป็นกรณีที่ถือว่าสมาชิกรัฐสภาเหล่านั้น  “ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ”  อันจะนำไปสู่การถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ตามมาตรา 270  ของรัฐธรรมนูญ

5.คณาจารย์นิติศาสตร์เห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นสิ่งที่ควรสนับสนุนหากการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวมิใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือกลุ่มของตนแต่เป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของสังคมและของประเทศ  ทั้งนี้  สมาชิกรัฐสภาย่อมสามารถแสดงให้สังคมเชื่อได้ว่า  การแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของสังคมและของประเทศ 

หากสมาชิกรัฐสภาจะแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยโดยให้มีผลบังคับใช้กับความผิดที่เกิดจากการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นหลังจากประกาศใช้มาตรา 237 ที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้วเท่านั้น  การให้บทบัญญัติมาตรา 237 มีผลบังคับใช้ทันทีเพื่อให้เกิดผลประโยชน์แก่บุคคลหรือพรรคการเมืองที่มีมลทินจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้

6.คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ที่มีรายชื่อท้ายนี้ขอยืนยันว่า เราไม่ประสงค์จะฝักใฝ่ในทางการเมืองหรือก่อให้เกิดผลได้เสียกับใครโดยเฉพาะ  เราไม่ได้คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีเหตุมีผล 

เราเชื่อว่า สมาชิกรัฐสภาที่เข้าสู่ตำแหน่งตามวิถีระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันจะไม่ดำเนินการใด ๆ ที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมซึ่งเป็นเสาหลักของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 วรรคสอง 

แต่หากด้วยเหตุผลไม่ว่าประการใด ทำให้สมาชิกรัฐสภากระทำการในสิ่งที่มิได้เป็นไปตามหลักนิติธรรมตามที่กล่าวมาข้างต้นเสียแล้ว ประเทศไทยก็คงไม่สามารถอ้างตนได้ว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศได้

นอกจากนี้ ยังเท่ากับสมาชิกของรัฐสภากระทำการในสิ่งที่ตนได้ประณามในรอบปีที่ผ่านมาและทำลายระบอบประชาธิปไตยที่ตนเพรียกหามาโดยตลอด

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ คณบดี ศ. ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ รศ. ดร. อุดม รัฐอมฤต รศ. ดร. ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ ผศ.ดร.สมเกียรติ วรปัญญาอนันต์ รศ.ดร.วิจิตรา วิเชียรชม ผศ.ดร.วีรวัฒน์ จันทโชติ ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ ดร.เอกบุญ วงศ์สวัสดิ์กุล

คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.ธิติพันธ์ เชื้อบุญชัย คณบดี ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์

สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

อาจารย์ เธียรชัย ณ นคร ประธานสาขานิติศาสตร์ อาจารย์ คมสันต์ โพธิ์คง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม

ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก อดีตคณบดี

คณะนิติศาตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

อาจารย์ ศรุต จุ๋ยมณี รองคณบดี อาจารย์รพีพรรณ อัตนะ อาจารย์จิรานันท์ ชูชีพ อาจารย์ หทัยกาญจน์ กำเนิดเพชร อาจารย์กรรภัทร ชิตวงศ์ อาจารย์กรกฎ ทองขะโชค อาจารย์ หทัยกาญจน์ กำเนิดเพชร อาจารย์กรรภัทร ชิตวงศ์ อาจารย์กรกฎ ทองขะโชค อาจารย์ ธนากร โกมลวนิช

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

อาจารย์นิดาวรรณ เพราะสุนทร รองคณบดี อาจารย์ ชาญชัย ดิเรกคุณาธรณ์ รองคณบดี

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย แม่ฟ้าหลวง

อาจารย์ นิรมัย พิศแข

มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต

อาจารย์โชคดี นพวรรณ อาจารย์กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ นักวิชาการอิสระด้านนิติศาสตร์

http://www.matichon.co.th/news_title.php?id=1728
บันทึกการเข้า

Can ไทเมือง
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13,486



เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 06-04-2008, 12:22 »

แถลงการณ์พันธมิตรฯ ฉบับที่ 5/2551

 เรื่อง "พร้อมต่อต้านอาชญากรประชาธิปไตยเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญฟอกความผิดให้ตัวเอง"โดยมีข้อความดังนี้

ตามที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้จัดการสัมมนารายการ ยามเฝ้าแผ่นดินภาคพิเศษ ในวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2551 ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามแถลงการณ์ฉบับที่ 3/2551 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2551 ดังที่ทราบแล้วนั้น

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขอกราบขอบพระคุณพี่น้องประชาชนเกือบ 2 หมื่นคนที่ได้มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้จำนวนมากจนล้นหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งแรงใจจากพี่น้องประชาชนทั่วประเทศและทั่วโลกกว่า 10 ล้านคนที่ได้เข้าร่วมสัมมนาผ่านการรับชมทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวีอย่างกว้างขวาง ตลอดจนขอขอบพระคุณในความร่วมมือเป็นอย่างดีจากพี่น้องสื่อสารมวลชนหลายแขนงที่มีการนำเสนอข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ดังกล่าวสู่ประชาชน

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขอแสดงความคารวะต่อจิตใจที่ยิ่งใหญ่ของพี่น้องประชาชนที่ยืนหยัดเข้าร่วมงานสัมมนาด้วยความกล้าหาญนานกว่า 7 ชั่วโมงอย่างไม่ท้อถอย แม้ว่าพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์บางส่วน จะถูกข่มขู่ คุกคาม และถูกทำร้ายร่างกายด้วยการขว้างปาวัตถุของแข็งจากเหล่าอันธพาลที่รับใช้ระบอบทักษิณก็ตาม แต่พี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ก็หาได้แสดงความหวาดหวั่นต่อเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ กลับยังคงยึดมั่นในหลักธรรม สันติ สงบ อหิงสาและปราศจากอาวุธ อยู่เช่นเดิมไม่เคยเปลี่ยนแปลง

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ถือว่าความสำเร็จเกินความคาดหมายครั้งนี้ คือการประกาศเจตนารมณ์ของภาคประชาชนผู้บริสุทธิ์เพื่อคัดค้านการกระทำอันเหิมเกริมของรัฐบาลนอมินี ที่แทรกแซงตัดตอนคดีความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ครอบครัว และพวกพ้อง ไม่ให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลทุกวิถีทาง

แต่รัฐบาลนอมินีก็หาได้แสดงความสำนึกไม่ กลับยังคงประกาศเดินหน้าเร่งรัดที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 237 เพื่อหลบเลี่ยงบทลงโทษการกระทำความผิดต่อกฎหมายเลือกตั้งที่จะนำไปสู่การยุบพรรค และมาตรา 309 เพื่อนำไปสู่การขัดขวางหรือยุบเลิกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)ต่อไป โดยมีเป้าหมายที่จะตัดตอนคดีความทั้งหลายที่กำลังดำเนินต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ครอบครัว และพวกพ้องไม่ให้เข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาล อันเป็นความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อมุ่งหวังที่จะลบล้างความผิดของตัวเองและพวกพ้องทั้งสิ้น โดยไม่เคารพและยำเกรงต่อประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ที่ลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ 14 ล้านคนแม้แต่น้อย

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลนอมินีนอกจากจะส่งข้าราชการที่รับใช้ระบอบทักษิณไปบริหารในกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อบิดเบือนและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ในการดำเนินคดีความทั้งหลายที่มีต่อคนในระบอบทักษิณแล้ว ยังมีการใช้ข้าราชการจากกรมสอบสวนคดีพิเศษไปเป็นเครื่องมือเพื่อกลั่นแกล้งข้าราชการที่ซื่อสัตย์สุจริตและทำลายนักการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม ตลอดจนข่มขู่คุกคามต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งที่กำลังพิจารณาคดียุบพรรคการเมืองอย่างชัดเจน พร้อมๆกับการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงการจัดตั้งงบประมาณและการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องเข้าไปมีอำนาจและมีอภิสิทธ์เหนือข้าราชการอื่น ไม่เป็นธรรมาภิบาล ไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรม

พฤติกรรมดังกล่าวแสดงให้เห็นว่านักการเมืองในระบอบเผด็จการรัฐสภาโดยทุนนิยมสามานย์ ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง มิได้มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่มุ่งพัฒนาประเทศชาติเพื่อให้คนในชาติมีความสุขถ้วนหน้า ดังที่ได้รณรงค์หาเสียงไว้ต่อประชาชนอย่างแท้จริง ฝ่ายบริหารที่ฉ้อฉลได้ร่วมมือกับฝ่ายนิติบัญญัติที่ไร้จริยธรรม ได้กระทำทุกวิถีทางเพื่อทำลายอำนาจในกระบวนการยุติธรรม มุ่งประสงค์ลบล้างความผิดของตัวเองและพวกพ้องเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศนอกเหนือไปจากครรลองที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ นักการเมืองแห่งระบอบเผด็จการรัฐสภาโดยทุนนิยมสามานย์เหล่านี้ จึงไม่สามารถที่จะสร้างสรรค์และจรรโลงความชอบธรรมทางการเมืองแก่ระบอบการปกครองของประเทศโดยรวมได้อีกต่อไป

นอกจากนี้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ยังให้สัมภาษณ์ว่ามีขบวนการที่จะทำการปฏิวัติรัฐประหารจากกลุ่มอำนาจที่ไม่ใช่ฝ่ายกองทัพไทยนั้น อาจตีความได้ว่านายสมัครได้ออกมาเปิดโปงเพื่อทำลายขบวนการยึดอำนาจจากผู้อยู่เบื้องหลังที่แท้จริงฝ่ายของฝ่ายตนเอง ซึ่งอาจรวมถึงตำรวจ ทหารบางส่วน และมวลชนที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อต้องการทำการปฏิวัติรัฐประหารและนำไปสู่การล้มล้างคดีความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว ดังที่ได้มีความสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้วางแผนเดินสายหาเสียงสนับสนุนจากมวลชนที่ขาดข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึงเอาไว้เป็นการล่วงหน้าแล้วในขณะนี้

ทั้งหมดนี้เป็นการพิสูจน์ที่แสดงให้เห็นว่านายสมัคร สุนทรเวช กำลังหมดอำนาจลง เป็นการวางแผนของระบอบทักษิณเอาไว้ล่วงหน้าเพียงเพื่อยึดอำนาจรัฐ แก้ไขปัญหาตัวตัวเองและพวกพ้อง ตลอดจนการวางแผนรัฐประหารตัวเองและเข้ายึดสถานีโทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์ช่อง 11 และเอ็นบีที เพื่อเป็นการเตรียมการล่วงหน้าสำหรับเป็นเครื่องมือสื่อสารมวลชนของฝ่ายรัฐประหารที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ตามที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เคยแถลงการณ์เตือนสังคมไทยไว้ล่วงหน้าในฉบับที่ 2/2551 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2551 และแสดงให้เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังคงเป็นปัญหาวิกฤตของแผ่นดินต่อไป

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงได้มาประชุมกันเพื่อกำหนดจุดยืนต่อสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้นดังต่อไปนี้

1. พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขอประกาศจุดยืนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 237 และมาตรา 309 นั้น มีเป้าหมายเพื่อหลีกเลี่ยงบทลงโทษการกระทำความผิดต่อกฎหมายเลือกตั้งของตัวเองและพวกพ้อง ตลอดจนทำลายและตัดตอนกระบวนการยุติธรรมเพื่อล้มล้างคดีความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ครอบครัว และพวกพ้องในชั้นศาล อันเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมและความเสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมาย มุ่งประสงค์ลบล้างความผิดของตัวเองและพวกพ้องให้มีอภิสิทธิ์อยู่เหนือกฎหมาย ไม่มีธรรมาภิบาล ทำลายความสมดุลระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการ ซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญที่ได้ผ่านรับรองโดยประชามติจากประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ ถือเป็นการกระทำไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชน เป็นการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ เป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง บุคคลใดแก้ไขรัฐธรรมนูญตามอำเภอใจเช่นนี้ถือได้ว่าบุคคลนั้นเป็น “อาชญากรระบอบประชาธิปไตย” เสมือนการปกครองที่เป็นเผด็จการทรราชย์ทางสภาโดยทุนนิยมสามานย์ ซึ่งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะขัดขวางไม่ให้การกระทำดังกล่าวทุกรูปแบบ เกิดขึ้นโดยเด็ดขาดด้วยวิถีทางตามรัฐธรรมนูญ

2. ปวงชนชาวไทยมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ในมาตรา 70 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงขอใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้ตามมาตรา 69

เมื่อปรากฎว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้กระทำไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคแรก

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงขอใช้สิทธิในฐานะผู้ทราบการกระทำดังกล่าวยื่นเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว หรือยุบพรรคการเมืองดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสองและวรรคสาม

3. เนื่องจากมีการกระทำที่ประจักษ์ชัดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประกอบไปด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคร่วมรัฐบาลที่กำลังจะเสียประโยชน์จากรัฐธรรมนูญมาตรา 237 มาตรา 309 และมาตราอื่นๆ อันเป็นการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ซึ่งเป็นการกระทำที่มิชอบต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 122

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงมีมติใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 164 ในการรณรงค์และรวบรวมรายชื่อประชาชนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคน เพื่อใช้สิทธิร้องขอต่อประธานวุฒิสภาให้วุฒิสภามีมติตามมาตรา 274 ถอดถอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนซึ่งกระทำความผิดตามรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 270 ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้

4. นอกจากนี้หากยังมีการดื้อรั้นที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ในมาตรา 237 และ มาตรา 309 เพื่อลบล้างความผิดของตัวเองและพวกพ้องต่อไป หรือการเคลื่อนไหวที่จะล้มล้างรัฐธรรมนูญนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็พร้อมที่จะประกาศเคลื่อนไหวเพื่อเชิญชวนพี่น้องประชาชนทั่วประเทศมาร่วมกันคัดค้านและการต่อต้านการทำดังกล่าว ทุกรูปแบบ ตามวิถีทางรัฐธรรมนูญทันที

5. พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขอเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพเจตนารมณ์ของประชาชน โดยเฉพาะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพรรคการเมืองต่างๆที่ร่วมรัฐบาลอยู่ในขณะนี้ หากไม่ต้องการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติที่เป็นภัยต่อระบอบประชาธิปไตยครั้งนี้ ขอให้ประกาศต่อสาธารณชนในการที่จะถอนตัวออกจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ฉ้อฉลต่อประชาชนทั้งประเทศทันที

ด้วยจิตคารวะ
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
วันที่ 2 เมษายน 2551
บันทึกการเข้า

Can ไทเมือง
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13,486



เว็บไซต์
« ตอบ #6 เมื่อ: 06-04-2008, 13:14 »

หวั่นสถานการณ์การเมืองปมปฏิวัติ

นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงกรณีที่มีโหรทำนายว่าจะเกิดปฏิวัติรอบสองว่า หมอดูคงทำนาย โดยนำสถานการณ์ที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ไปผูกกับดวงเมือง ซึ่งคิดว่าเป็นเงื่อนไขที่อาจทำให้เกิดการปฏิวัติได้ ไม่ว่าจะเป็นการเกิดวิกฤติการเมืองในสภาเอง พฤติกรรมนักการเมือง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 และ 309 เพื่อประโยชน์ของนักการเมืองเองที่จะถูกตรวจสอบการกระทำผิดทุจริตการเลือกตั้ง การคอรัปชั่น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทย ฝ่ายทหารยังมีอิทธิพลกดดันต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอยู่ จนกว่าพรรคการเมืองไม่ใช่พรรคของใครคนใดคนหนึ่งที่จะใช้แสวงหาประโยชน์

ส่วนการรัฐประหารที่ผ่านมา แม้จะล้มเหลวเพราะผู้นำการรัฐประหารไม่เก่งพอ แต่บางส่วนก็ถือว่าก้าวหน้า เช่น พัฒนาเรื่องสิทธิเสรีภาพให้ดีขึ้น กล้าที่จะแสดง เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ มากกว่าในปี 2540 องค์กรอิสระปลอดจากการเมืองยิ่งขึ้น สังคมเกิดกระบวนการเรียนรู้ทางความคิดที่จะแก้ปัญหาเพื่อจะนำประเทศไปสู่นิติรัฐ

นายพิภพย้ำว่า แม้สถานการณ์การเมืองปัจจุบันอาจจะนำไปสู่การปฏิวัติยึดอำนาจได้อีก แต่ส่วนตัวก็ไม่อยากให้เกิดการรัฐประหารขึ้น ซึ่งฝ่ายการเมืองสามารถใช้การยุบสภายุติความขัดแย้งได้ ส่วนทหารไม่ต้องเข้ามายึดอำนาจแต่ใช้วิธีการตะล่อมกดดันการเมือง ไม่ให้นักการเมืองทำตามใจชอบ แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ตัวเอง

"ที่ผ่านมา 3 อำนาจอธิปไตย อำนาจบริหารโดยรัฐบาล อำนาจนิติบัญญัติ ถูกรวมไว้ด้วยกัน แต่อำนาจตุลาการถูกละทิ้งไปด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 และ 309 ที่จะเข้ามาตรวจสอบการกระทำผิดของนักการเมือง ทั้งที่อำนาจตุลาการเป็น 1 ใน 3 อำนาจอธิปไตย ที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" นายพิภพกล่าว

ชี้แก้ ม.309 ชนวน ปชช.ต้าน

นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า การที่นายกรัฐมนตรียืนยันที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา จะทำให้สถานการณ์มีความรุนแรงขึ้นจนถึงขั้นดุเดือด เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะมาตรา 237 ที่ว่าด้วยการยุบพรรค ไม่ได้มีคำอธิบายตรงไหนว่าประชาชนจะได้ประโยชน์ แต่หากรัฐบาลจะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่ว่าด้วยเรื่องการเซ็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศหรือแก้ไขให้การเลือกตั้ง ส.ส.เขตกลับไปเป็นแบบเดิม คือ แบบเขตเดียวเบอร์เดียวนั้น คิดว่าประชาชนจะสามารถเข้าใจได้ และไม่ติดใจในการเลือกแก้บางมาตรา

“หากรัฐบาลยังดึงดันที่จะแก้ไขมาตรา 309 นั้นเป็นเรื่องใหญ่แน่ เพราะนัยสำคัญไม่ได้เป็นเพียงการตัดถ้อยคำ หรือเพิ่มถ้อยคำในมาตราดังกล่าวเท่านั้น เพราะมองว่าเจตนาเพื่อแก้ไขประกาศ คปค.บางฉบับ เช่น ประกาศที่ว่าด้วยการตัดสิทธิทางการเมืองของอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน และประกาศ คปค.ที่ว่าด้วยการจัดตั้ง คตส. อาจจะเกิดวิกฤติใหญ่ทางการเมือง ทำให้ประชาชนออกมาคัดค้านมาก” นายสมคิดกล่าว


"อ๋อย"เสนอเร่งแก้รธน.180 วัน

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ระบุว่า เมื่อมีรัฐธรรมนูญที่เป็นเผด็จการแล้ว ก็ย่อมมีกระแสต้านเป็นธรรมดา แต่กระแสต้านต้องอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ ทุกฝ่ายต้องพยายามไม่ทำให้กระแสต้านกลายเป็นเรื่องรุนแรง รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐต้องช่วยกันป้องกันดูแล และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอย่ามาอ้างเรื่องนี้เป็นเหตุผลสู่การยึดอำนาจอีก

นายจาตุรนต์กล่าวว่า การยึดอำนาจที่ผ่านมาสร้างความเสียหายต่อประเทศอย่างยับเยิน หากมีการยึดอำนาจอีก ความเสียหายยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ดังนั้น ถ้ามีการชุมนุมต่อต้านก็เป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ ไม่ควรไปกีดกัน แต่ต้องสู้กันด้วยเหตุผล อย่าหวังว่าจะไม่มีความขัดแย้งแตกต่างทางความคิด

นายจาตุรนต์กล่าวเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ข้อ คือ 1.แก้รัฐธรรมนูญแบบทั้งฉบับ โดยแก้เรื่องสำคัญที่เป็นปัญหา โดยมาตราใดไม่เป็นปัญหาให้คงไว้ โดยการแก้ไขให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาเป็นหลัก 2.กำหนดระยะเวลาการแก้ให้ชัดเจนไม่เกิน 180 วัน 3.ในการแก้รัฐธรรมนูญควรเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย แต่จะมี ส.ส.ร.หรือไม่ ให้เป็นเรื่องที่คณะแก้รัฐธรรมนูญจะพิจารณาอีกครั้ง

จี้ กกต.สกัดแก้ รธน.มาตรา 237

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่หัวหน้าพรรคพลังประชาชนระบุว่าแก้รัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์ของบุคคลที่จะลงเลือกตั้งใหม่ ไม่ใช่เพื่อตนเองเพราะจะไม่ลงเลือกตั้งอีกว่า ไม่เป็นความจริง เพราะจะเห็นได้ว่าการเสนอแก้ไขมาตรา 237 หากสามารถแก้ไขได้ก่อนที่คดีการยุบพรรคจะส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะทำให้กระบวนการพิจารณาไม่สามารถทำได้ และกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องคดีที่ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี จำนวน 12 คน ก็ยังสามารถทำงานในตำแหน่งได้ต่อไป ส่วนมาตรา 309 ชัดเจนเลยว่า เป็นการตัดตอนกระบวนการยุติธรรมที่จะเอาผิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ

ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ต้องตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษา โดยมี ส.ส. และบุคลากรภายนอกที่มีความรู้ ร่วมพิจารณาเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่าประเด็นการแก้ไขมาตรา 237 ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรที่จะแสดงจุดยืนอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ นายองอาจกล่าวว่า กกต.ในฐานะองค์กรที่เป็นผู้ปฏิบัติ หากเข้าสู่วาระของการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างจริงจังแล้ว กกต.ก็ควรที่จะออกมาแสดงจุดยืนที่ชัดเจน ว่าจะทำให้เกิดปัญหาการทุจริตการเลือกตั้ง การซื้อเสียงอย่างไร

 
 
http://www.komchadluek.net/2008/04/05/x_main_a001_197364.php?news_id=197364
บันทึกการเข้า

Can ไทเมือง
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13,486



เว็บไซต์
« ตอบ #7 เมื่อ: 06-04-2008, 13:32 »

ประเมินจากข่าวและการเคลื่อนไหวในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของพรรคพลังประชาชน พอจะแยกแยะได้คร่าว ๆ ดังนี้

ผิดถูกไม่ว่ากันนะครับ.....

เป้าหมายของฝ่ายรัฐบาล มีความมุ่งวังที่จะแก้ไข มาตรา 237 และ 309 เป็นประเดิม

ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาล ที่จะเข้าร่วมจริงจัง ก็มีเพียงพรรชาติไทย เพราะได้รับผลกระทบ แต่คงหนุนเฉพาะ มาตรา 237 ส่วน 309 ชาติไทยไม่สนับสนุน

มัชฌิมา แม้จะโดนยุบพรรค แต่ สส.ในสภาไม่กระทบ จึงยังกั๊ก ๆ

เพื่อแผ่นดิน เฉยๆ กับ 2 มาตราดังกล่าว

รวมใจไทยชาติพัฒนา ยังคงสงวนท่าที

มองในมุมนี้ ฝ่ายรัฐบาลก็ไม่ค่อยเป็นเอกภาพ โอกาสที่จะดึงดันแก้ไข สองมาตราสำคัญคงเป็นไปได้ยาก

มองฝ่ายต่อต้าน ต่างมองออกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นการเร่งแก้ไขเพื่อตัวนักการเมืองเอง

ทุกส่วนมองว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นย่อมกระทำได้ แต่การแก้ไขนั้น น่าจะมีการศึกษาอย่างถ่องแท้ ถึงผลดี ผลเสีย

ถึงที่สุดก็ต้องไปจบลงในแบบที่ว่า น่าจะมี สสร.ชุดใหม่ ที่เปิดกว้างให้ทุกส่วนของสังคมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างชวาง

พรรคฝ่ายค้านที่มีเพียงพรรคเดียว ให้กลับไปศึกษากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ด้วยซ้ำ

ดังนั้นความเลื่อนไหวในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล คงไม่สามารถดำเนินการให้ผ่านไปได้โดยง่าย

เว้นแต่พรรคพลังประชาชนจะยอมรับฟังเสียงจาก ฝ่ายค้าน นักวิชาการ ผู้อาวุโสในสังคม องค์กรประชาชน องค์กรนักวิชาการ สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป

นาทีนี้ ประเทศไทยมาใกลเกินกว่าที่นักการเมืองในระบบจะยึดสิทธิ์ของประชาชนไปใช้แต่เพียงฝ่ายเดียว

หากดึงดันอ้างประชาธิปไตยเพียงครึ่งเดียว ต้องระวังว่าเจ้าของอำนาจที่แท้จริงซึ่งได้รับรองรัฐธรรมนูญนี้ไว้แล้ว

จะออกมาเดินขบวนขับไล่รัฐบาลที่กำลังจะฉ้อฉลอำนนาจประชาชน....

เหตุการณ์ของอดีตก่อนมีการปฏิวัติ 19 กันยานยน 2549 ก็พิสูจน์กันมาแล้วว่า หากรัฐบาลไม่รับฟังเสียงประชาชนจะมีผลลัพท์อย่างไร
บันทึกการเข้า

Can ไทเมือง
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13,486



เว็บไซต์
« ตอบ #8 เมื่อ: 06-04-2008, 14:06 »

“อภิสิทธิ์” เตือนรัฐบาลอย่าแก้ รธน.เพื่อตัวเอง
ไทยรัฐ[6 เม.ย. 51 - 13:11]
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคประชาธิปัตย์จัดพิธีทำบุญครบรอบ 62 ปีของการก่อตั้งพรรค โดยเมื่อเวลา 08.00 น. วันนี้ (6 เม.ย.) บรรดาสมาชิกพรรค ส.ส. และกรรมการบริหารพรรค ทยอยเดินทางมาร่วมงานอย่างคึกคัก อาทิ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค นายบัญญัติ บรรทัดฐาน รองประธานสภาที่ปรึกษาพรรค นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน รองหัวหน้าพรรค นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค นายกรณ์ จาติกวณิช รองเลขาธิการพรรค ตลอดช่วงเช้ามีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้พรรคได้จัดให้มีพิธีทำบุญ ทั้งศาสนาอิสลาม พราหมณ์ และพุทธ โดยในเวลา 09.19 น. นายอภิสิทธิ์ ทำพิธีสักการะองค์พระแม่ธรณีบีบมวยผม ซึ่งเป็นองค์สัญลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์

นายอภิสิทธิ์ กล่าวกับผู้ที่มาร่วมงานตอนหนึ่งว่า ปีนี้พรรคประชาธิปัตย์มีอายุครบ 62 ปี ที่ผ่านมา มีผู้สืบทอดสืบสานความคิดและอุดมการณ์ของพรรคอย่างต่อเนื่อง ผ่านสถานการณ์การเมืองที่หลากหลาย บางยุคบ้านเมืองไม่มีความเป็นประชาธิปไตย และบางยุคมีประชาธิปไตยที่ไม่เต็มรูปแบบ ขณะที่ในบางยุคเป็นประชาธิปไตยที่เฟื่องฟู แต่ไม่ว่าในยุคใดหรือสถานการณ์ใด เราได้ทำงานการเมืองตามแนวทางและอุดมการณ์ที่เราศรัทธา

หน.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า ในสถานการณ์การเมืองขณะนี้ พรรคมีความห่วงใยต่อระบอบประชาธิปไตยและบ้านเมือง พรรคฯ จะทำงานการเมืองด้วยความรับผิดชอบ และสร้างสรรค์ด้วยการมุ่งทำงานฝ่ายค้านในสภาฯ ตรวจสอบและรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม โดยได้เพิ่มบทบาทด้วยการตั้งคณะรัฐมนตรีเงา โดยหยิบยกปัญหาบ้านเมือง เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ เป็นเรื่องหลัก ๆ ที่ต้องคิดและหาคำตอบ แต่น่าเสียดายว่าขณะนี้ รัฐบาลกลับหมกมุ่นอยู่กับปัญหาของตัวเองและพวกพ้อง อีกทั้งยังนำเสนอประเด็นความขัดแย้งในสังคม แทนที่จะใช้แนวทางความสร้างสรรค์ และมุ่งแก้ไขปัญหาความทุกข์ร้อนของประชาชน

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ช่วงเวลานี้ เราต้องมีความหนักแน่นในการทำหน้าที่ช่วยกันประคับประคองให้เกิดความสมานฉันท์ สามัคคี และทำให้ความแตกต่างทางความคิดได้รับแก้ไขด้วยเหตุผลตามหลักประชาธิปไตย ท่ามกลางความเห็นที่แตกต่าง ที่นำไปสู่ความขัดแย้งและแตกแยกในสังคม นอกจากนี้พรรคฯ ต้องรักษาความถูกต้องในบ้านเมือง และพร้อมแสดงจุดยืนชัดเจนที่จะคัดค้านสิ่งใดที่ไม่ถูกต้อง โดยทุกฝ่ายต้องมีและใช้สิทธิเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตย รวมถึงยึดหลักนิติรัฐและนิติธรรม

“ขอฝากไปถึงรัฐบาลว่า ประชาธิปัตย์พร้อมให้โอกาสรัฐบาล ที่มาจากการเลือกตั้งได้ทำงานเต็มที่ และเคารพในการตัดสินใจของประชาชน เพราะต้องการเห็นบ้านเมืองกลับสู่ระบบตามปกติ จึงอยากให้รัฐบาลและผู้มีอำนาจได้ใช้โอกาสและความปรารถนาดีนี้ มุ่งแก้ไขปัญหาของประชาชนมากกว่าตัวเอง โดยรัฐบาลต้องล้มเลิกการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง แล้วสังคมจะช่วยผลักดันให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองได้สำเร็จ การใช้เสียงข้างมากมาทำอะไรก็ได้นั้น จะกลายเป็นว่ารัฐบาลนำพาบ้านเมืองกลับสู่วิกฤติ และความล้มเหลวของการเมืองไทย จึงหวังว่ารัฐบาลจะทบทวนท่าทีของตัวเอง ทำให้รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง” หน.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ในโอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์ก้าวสู่ปีที่ 63 ทางพรรคฯ ตั้งใจทำหลายอย่างให้เกิดขึ้น และพิสูจน์การทำหน้าที่ฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง โดยจะขยายงานมวลชนทุกพื้นที่ เพื่อให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคของประชาชนชาวไทยมากขึ้น โดยผ่านการจัดเวทีสมัชชาประชาชนและโครงการอื่น ๆ รวมถึงต้องทำสาขาพรรคให้เข้มแข็ง มุ่งสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งหน้าที่ ต้องการมี ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งในสภาฯ เพื่อ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ จะนำนโยบายเข้าไปใช้บริหารประเทศ และทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุขต่อไป
 
 
บันทึกการเข้า

หน้า: [1]
    กระโดดไป: