ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
24-04-2024, 13:46
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สภากาแฟ  |  ร่างแก้ไข รธน.ฉบับ'หมกเม็ด'มีผลย้อนหลังนิรโทษกรรมยุบพรรค-ตัดสิทธิชาวบ้าน 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
ร่างแก้ไข รธน.ฉบับ'หมกเม็ด'มีผลย้อนหลังนิรโทษกรรมยุบพรรค-ตัดสิทธิชาวบ้าน  (อ่าน 1261 ครั้ง)
พรรณชมพู
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 5,073


« เมื่อ: 02-04-2008, 20:11 »

http://www.matichon.co.th/news_title.php?id=1725

อ้างถึง
ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขใน 8 ประเด็นด้วยกันคือ

1.เรื่องสิทธิและเสรีภาพในทางการเมืองจะกระทำมิได้เว้นแต่อาศัยบทบัญญัติของกฎหมายได้เฉพาะเท่าที่จำเป็น

2.การยกเลิกการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคกรณีถูกยุบพรรคตามมาตรา 68 

3.การเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชน 10,000 คน สามารถทำได้ในทุกหมวดจากเดิมที่ทำได้เฉพาะหมวด 3และหมวด 5

4.เรื่องสนธิสัญญาที่มีการจำกัดสิทธิประชาชนในการเข้าถึงรายละเอียดของสนธิสนธิสัญญาก่อนที่จะแสดงเจตนาผูกพัน(ของรัฐสภา) 

5.แก้ไขมาตรา 237 วรรคสอง ให้ตัดโทษยุบพรรคทิ้งเมื่อหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็นหรือทราบถึงการกระทำในการทุจริตเลือกตั้ง แต่ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการพรครายนั้นแทน 

6.แก้ไขมาตรา 266 ให้ ส.ส.และ ส.ว.เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของข้าราชการประจำ เจ้าหน้าที่รัฐได้ ถ้าก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน

7. ให้ยกเลิก มาตรา 309 ที่ระบุว่า บรรดาการใดๆ ที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่า เป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่า ก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐะรรมนูญนี้ ให้ถือว่า การนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้

8.ให้มาตรา 68 และ มาตรา 237 ที่แก้ไขแล้วใช้บังคับย้อนหลังถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2550 ซึ่งเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ซึ่งเท่ากับเป็นการนรโทษกรรมการกระทำผิดที่อาจนำไปสู่การยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมกาารบริหารพรรคทั้งหมด
******
บันทึกหลักการและเหตุผล
******
หลักการ

แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังต่อไปนี้

(1) กำหนดสิทธิและเสรีภาพทางการเมือง (เพิ่มส่วนที่ 3/1 มาตรา 38/1 และมาตรา 38/2 และยกเลิกมาตรา 65)

(2) กำหนดให้กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการตามมาตรา 68 วรรคสอง แต่พรรคการเมืองยังคงเพิกเฉย ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 68)

(3) กำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเสนอร่างพระราชบัญญัติต่อรัฐสภาได้ทุกประเภทโดยไม่มีข้อจำกัด (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 163 วรรคหนึ่ง)

(4) กำหนดขั้นตอนการจัดทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ เพื่อมิให้เป็นอุปสรรคต่อการเจรจาเพื่อทำหนังสือสัญญาดังกล่าว (ยกเลิกมาตรา 191 วรรคสาม และแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190 วรรคสี่)

(5) กำหนดเหตุในการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองให้ชัดเจนขึ้น (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 237 วรรคสอง)

(6) กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาอาจใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภากระทำการที่มุ่งหมายให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน หรือประโยชน์สาธารณะ หรือเป็นการกระทำเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชนได้ (เพิ่มมาตรา 266 วรรคสอง)

(7) ยกเลิกบทเฉพาะกาลมาตรา 318 (ยกเลิกมาตรา 309)

เหตุผล

เนื่องจากหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยังขาดหลักการเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองบางประการ ประกอบกับสมควรเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิในการเสนอพระราชบัญญัติได้ทุกประเภท ไม่จำกัดเฉพาะตามบทบัญญัติในหมวด 3 และหมวด 5 เท่านั้น และโดยที่บทบัญญัติมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดขั้นตอนการทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศไว้หลายขั้นตอน ทำให้การเจรจาหรือการทำหนังสือสัญญาในบางเรื่องที่เปิดเผยไม่ได้ ไม่สามารถกระทำได้

นอกจากนี้ การที่มาตรา 237 วรรคสอง บัญญัติเหตุของการยุบพรรคการเมืองไว้อย่างกว้าง และไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ทำให้การมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ยุบพรรคการเมืองกระทำได้โดยง่าย อันขัดต่อวัตถุประสงค์ของการจัดให้มีและการดำรงอยู่ของพรรคการเมืองที่เป็นองค์กรสำคัญองค์กรหนึ่งในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และปรากฏข้อเท็จจริงในปัจจุบันว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาไม่สามารถดูแลปัดเป่าทุกข์บำรุงสุขของประชาชนได้ เพราะเกรงว่าจะไปกระทำการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหม่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น อันขัดต่อมาตรา 262 (1)

ตลอดทั้งบทบัญญัติตามมาตรา 309 มีผลทำให้บุคคลซึ่งถูกกระทบกระเทือนซึ่งสิทธิและเสรีภาพซึ่งรัฐธรรมนูญรองรับไว้ อันเนื่องมาจากกฎ การใดๆ หรือการกระทำใดๆ ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ไม่สามารถฟ้องต่อศาลหรือองค์กรที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องว่ากฎ การนั้น หรือการกระทำนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญได้ สมควรแก้ไขบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้หลักการของรัฐธรรมนูญเป็นไปตามการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงจำเป็นต้องตรารัฐธรรมนูญนี้
***************

ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

มาตรา 1 รัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า 'รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช...'

มาตรา 2 รัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้

มาตรา 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นส่วนที่ 3/1 สิทธิและเสรีภาพทางการเมืองมาตรา 38/1 และมาตรา 38/2 ของหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

-----------------

ส่วนที่ 3/1

สิทธิและเสรีภาพทางการเมือง
---------------
มาตรา 38/1 บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพทางการเมือง การใช้สิทธิทางการเมืองให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

การจำกัดสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองจะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม

มาตรา 38/2(เดิมคือ มาตรา 65) บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชนและเพื่อดำเนินกิจกรรมในทางการเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์นั้นตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้

การจัดองค์กรภายใน การดำเนินกิจการ และข้อบังคับของพรรคการเมืองต้องสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือสมาชิกพรรคการเมืองตามจำนวนที่กำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งเห็นว่ามติหรือข้อบังคับในเรื่องของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกอยู่นั้น จะขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีสิทธิร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย

ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติหรือข้อบังคับดังกล่าวขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้มติหรือข้อบังคับนั้นเป็นอันยกเลิกไป

มาตรา 5 ให้ยกเลิกมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

มาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

'มาตรา 68 บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้มิได้

ในกรณีนี้บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว

ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการตามวรรคสอง แต่พรรคการเมืองยังคงเพิกเฉย ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้'

มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 163 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

'มาตรา 163 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนมีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติได้'

มาตรา 8 ให้ยกเลิกวรรคสามของมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

มาตรา 9 ให้ยกเลิกความในวรรคสี่ของมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

'ในกรณีที่การปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนหรือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้นอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรม'

มาตรา 10 ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

'หากหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใด มีส่วนรู้เห็นหรือทราบถึงการกระทำของบุคคลตามวรรคหนึ่งนั้นแล้ว มิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองดังกล่าวตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา'

มาตรา 11 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของมาตรา 266 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

'ความใน (1) ไม่ใช่บังคับกับการกระทำที่มุ่งหมายให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนหรือประโยชน์สาธารณะ หรือเป็นการกระทำเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชน'

มาตรา 12 ให้ยกเลิกมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

มาตรา 13 บทบัญญัติในมาตรา 68 และบทบัญญัติในวรรคสองของมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2550 เป็นต้นไป


นำมาให้อ่านกันนะคะ คงมีผู้ถกเถียงกันมากแล้ว แต่ที่เน้นสีแดงไว้ให้นั้น คือกำหนดที่จะประกาศใช้  ดังนั้นขั้นตอนไหน ใช้เวลาเท่าไร เขาได้คำนวนมาแล้ว

ที่สำคัญ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อผ่านสภาแล้ว ต้องได้รับการโปรดเกล้าลงพระปรมาภิไทย ซึ่งระยะเวลาในส่วนนี้ ไม่มีผู้ใดกำหนดกฎเกณฑ์ได้  แต่รัฐบาลสมัครและพรรคพลังประชาชน ทำได้ค่ะ ถึงกล้ากำหนดวันที่ไว้แล้ว 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 02-04-2008, 20:13 โดย พรรณชมพู » บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
    กระโดดไป: