ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
20-04-2024, 17:02
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สภากาแฟ  |  'การเมืองเรื่องชนชั้น' เกษียร เตชะพีระ 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
'การเมืองเรื่องชนชั้น' เกษียร เตชะพีระ  (อ่าน 1305 ครั้ง)
Can ไทเมือง
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13,486



เว็บไซต์
« เมื่อ: 12-03-2008, 06:30 »

'การเมืองเรื่องชนชั้น' เกษียร เตชะพีระ

13 มกราคม 2551    กองบรรณาธิการ

"ที่คุณกำลังเผชิญคือคนจริงๆ พลังของชนชั้นต่างๆ ที่ประกอบกันหลักๆ ก็คือคนจน คนชั้นล่าง กับกลุ่มทุนใหญ่ จับมือกันแล้ว 10 กว่าล้านเสียง ซึ่งทำให้เขาหายไปไม่ได้  สังคมไทยเปลี่ยนแล้ว  คนพวกนี้อยู่แล้ว  ต้องคิดกับเกมนี้ใหม่  จะจัดการสิ่งที่เรียกว่าระบอบทักษิณให้หายไป-ผมคิดว่าไม่ใช่ ระบอบทักษิณอยู่บนปรากฏการณ์ของสังคมการเมืองเศรษฐกิจที่แท้จริง

"เราจะหาทางอยู่กับการเมืองเรื่องชนชั้นอย่างไรที่จะไม่ให้ความขัดแย้งทางชนชั้นลุกลามไปฆ่าฟันกัน  หรือใช้กำลังเข้าหักหาญกันแบบ 19 กันยา. ผมไม่หวังสมานฉันท์ ผมหวังทะเลาะกันอย่างสันติ"


นักรัฐศาสตร์ผู้ริเริ่มคำนิยาม  "ระบอบทักษิณ" แต่ความหมายของเขาไม่ได้เป็นอย่างที่พันธมิตรหรือใครต่อใครเอามาใช้

เกษียรบอกว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ความหมายเปลี่ยนแปรไป   จะไปนั่งควบคุมให้คนอื่นใช้อย่างที่อยากหมายความคงไม่ได้  "มีคำตั้งเยอะที่ผมคิดแล้วตายไป สถานการณ์ทำให้คำคำนี้มันมีชีวิต แล้วพอมีชีวิตมันก็ไม่ใช่ของเรา"

"ระบอบทักษิณ"  ในความหมายของเกษียร คือรูปการณ์ที่อำนาจอย่างหนึ่งของคน 2 กลุ่ม คือนายทุนใหญ่รุ่นใหม่   กับเกษตรกรและแรงงานในเมือง ขึ้นมากุมอำนาจรัฐ "ซึ่งอำนาจของคน  2 กลุ่มไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนี้ก็ได้  ระบอบทักษิณคือการที่คน  2  กลุ่มขึ้นมาคว้าอำนาจรัฐ แต่ใช้มันอย่างลิดรอนสิทธิเสรีภาพที่เป็นปัญหามาก"

คำคำนี้สมชาย  หอมละออ  พูดขึ้นระหว่างสนทนากันทางโทรศัพท์ในช่วงที่มีการฆ่าตัดตอน แล้วให้เกษียรนำมาใช้   "คำนี้คิดขึ้นมาด้วยความห่วงใยต่อการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ  ปัญหาหลักคือการใช้อำนาจค่อนข้างเด็ดขาดไปเล่นงานในเรื่องสิทธิเสรีภาพ"

สังคมแยกชนชั้น

เกษียรเห็นว่าคะแนนเลือกตั้งที่ออกมาชี้ชัดเจนว่าพรรคพลังประชาชนหรือพรรคไทยรักไทยมีผู้สนับสนุนแน่นอนเกินสิบล้านคน

"มันมีความคงเส้นคงวาตลอดการเลือกตั้งหลายรอบที่ผ่านมา  ถ้ามองคะแนนของพรรคพลังประชาชนย้อนไป   พรรคไทยรักไทยก็ประมาณ  11  ล้านเสียงตอนแรกที่ขึ้นมาปี  2544 และก็ขึ้นไปสูงสุด  19 ล้านเสียง  ปี 2548 16 ล้านเสียงปี 2549 ไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ 10 กว่าล้านเสียง วันนี้พลังประชาชน  12  ล้านเสียง  มี-ไม่มีทักษิณ แต่ว่าในแนวนโยบายนี้จะมีคนในประเทศไทย 10 กว่าล้านคนที่พร้อมจะเลือกแนวนโยบายนี้ ซึ่งในแง่กลับกัน ฝ่ายที่ประกาศชัดว่าเป็นขั้วตรงข้ามกับพลังประชาชนก็คือประชาธิปัตย์  คะแนนก็ใกล้เคียงกัน   12  ล้านเสียง

"เห็นชัดเลยว่าความขัดแย้งมันตั้งป้อมกันชัดเจนระหว่างคนกลุ่มใหญ่ในสังคมไทย 2 กลุ่มที่มีกำลัง 10 กว่าล้านคน"

เขาเห็นว่านี่ไม่ใช่แค่ความขัดแย้งระหว่างเมืองกับชนบท    แต่เป็นความขัดแย้งทางชนชั้น

"ผมรู้สึกว่ามันมากกว่าความเป็นชนบทกับเมือง   เพราะเห็นแนวโน้มช่วงปลายคุณทักษิณ คนในเมืองที่เป็นกลุ่มแท็กซี่ชาวบ้านที่ลำบากเดือดร้อน อยู่ชั้นล่างหน่อย จะค่อนข้างเลือกไทยรักไทย

"ที่เราเห็นเป็นการปะทะกันทางการเมืองของบล็อกชนชั้น 2 บล็อก บล็อกแรกประกอบไปด้วยกลุ่มชาวบ้านทั้งหลาย  อาจจะเมืองหรือชนบทก็แล้วแต่ ค่อนข้างที่จะมีชีวิตที่ลำบากยากแค้น  เอื้อมไม่ถึงในยุคโลกาภิวัตน์  อย่างที่ อ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร บอกว่าประกอบไปด้วยชาวนาชาวไร่  ที่ต้องเข้ามาทำงานในเมือง  แต่ว่าเป็นเมืองแบบไม่เป็นระบบ  กลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่  และกลุ่มนี้ถ้าให้เขาเลือกนโยบายที่เห็นอยู่บนโต๊ะ   เขาเลือกแนวทางของไทยรักไทย บวกกับกลุ่มทุนใหญ่ซึ่งชอบอยู่แล้วกับแนวทางโลกาภิวัตน์ที่คุณทักษิณทำอยู่

"เป็นบล็อกระหว่าง 2  ชนชั้นใหญ่ๆ  กลุ่มทุนใหญ่ที่ประสบความสำเร็จจากโลกาภิวัตน์  กับชาวบ้านที่ประกอบไปด้วยเกษตรกรก็ดี   แรงงานนอกระบบก็ดี  ชื่นชมแนวทางที่เอื้ออาทร  ประชานิยม

"ฝั่งตรงข้ามคือชนชั้นกลาง  ดูจากตัวเลขของการแปลี่ยนแปลงของคะแนนในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่จำนวนหนึ่งที่ให้กับประชาธิปัตย์  คือกลุ่มคนที่ปรากฏตัวตามท้องถนนสมัยไล่ทักษิณ  บวกกับกลุ่มชนชั้นนำเดิมๆ พวกข้าราชการ กลุ่มที่ enjoy อำนาจก่อนที่คุณทักษิณจะเข้ามา

"ถ้าไม่มองเฉพาะเลือกตั้ง  23  ธ.ค.  แต่มองย้อนไป 4-5 ครั้งที่ผ่านมา การเมืองไทยเข้าสู่การเมืองชนชั้นแล้ว  นี่เป็นการเมืองแบบที่สังคมไทยพยายามหลีกเลี่ยงมาตลอด   

"ครั้งสุดท้ายที่เคยมีความพยายามพูดเรื่องชนชั้นกันอย่างจริงจัง  การเมืองเป็นเรื่องต่อสู้เกี่ยวกับชนชั้นต่างๆ  คือสมัย  14 ตุลา  6  ตุลา ซึ่งความพยายามหนีตรงนั้น เราก็ทำสงครามกัน สงครามปฏิวัติ กับ พคท. อะไรก็แล้วแต่ แต่ผมคิดว่าเราหนีไม่พ้น

"ความพยายามจะกำจัดคน  10  กว่าล้านคนให้หายไปจากประเทศ มันไม่ใช่นักศึกษาหัวรุนแรงฝายซ้ายไม่กี่คนที่เย้วๆอยู่ตามสนามหลวงหรือธรรมศาสตร์   ไม่ใช่  คำถามคือเราจะทำอย่างไรให้ Class Politics การเมืองเรื่องชนชั้นเป็นที่ยอมรับ"

"สังคมไทยเราหลบหนีเลี่ยงมาตลอด - ไม่ใช่ เราคนไทยเป็นเพื่อนร่วมชาติกัน ไม่ควรขัดแย้งกัน -  ผมคิดว่ารับดีกว่า  ประเด็นไม่ใช่หนีการเมืองเรื่องชนชั้น  ประเด็นคือหาทางอยู่กับการเมืองเรื่องชนชั้นอย่างไรที่จะไม่ให้ความขัดแย้งทางชนชั้นลุกลามไปฆ่าฟันกัน หรือใช้กำลังเข้าหักหาญกันแบบ  19  กันยา  เพราะฉะนั้นสมานฉันท์ถ้าทำได้ก็ดี  แต่ดูจากการเลือกตั้งดูจากแนวโน้มระยะยาวที่เห็นแล้ว เล็งเป้าที่อาจจะต่ำสักหน่อยแต่สมจริงดีกว่า 

"ผมไม่หวังสมานฉันท์ มันมีความแตกต่างแบ่งแยกที่ชัดเจนในการเมืองไทยในสังคมไทย ผมหวังทะเลาะกันอย่างสันติ

"เราอย่าหนีเลยความเป็นจริงที่ว่ามีความแตกต่างขัดแย้ง     และเราคงจะต้องทะเลาะกันแต่ต้องเก็บรับบทเรียน ว่าเราจะทะเลาะกันอย่างไรที่ไม่เหมือนกับบทเรียนที่ไม่ดีใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ในแง่หนึ่งใช้กำลังรัฐประหาร  นแง่หนึ่งคือมันมีบทเรียนจำนวนหนึ่งที่ต้องเก็บรับ ไม่ว่าจะบริหารจัดการอย่างไรให้การเมืองเรื่องชนชั้นดำเนินไปได้ในกรอบประชาธิปไตย และก็ดำเนินไปได้ในกรอบสันติวิธี

"ในช่วงก่อนที่จะมีพรรคไทยรักไทย การเมืองแบบรัฐบาลผสม รัฐบาลอยู่ไม่ครบ 4 ปีแล้วล้ม เป็นเรื่องปกติธรรมดา  แต่พรรคไทยรักไทยทำให้เรารู้สึกถึงพลังของความมั่นคงทางการเมือง ซึ่งเกิดจากพรรคการเมืองที่เข้มแข็งมาก  เพราะเหตุนั้นจึงมีความพยายามเนรมิตรัฐธรรมนูญ  2550  ขึ้น ลากดึงการเมืองไทยให้กลับไปสู่รัฐบาลผสม  คิดว่าด้วยอำนาจรถถัง  อำนาจรัฐประหาร  อาจจะพยายามจัดกติกาการเมืองใหม่ได้ 

"รัฐธรรมนูญ  2550  ที่เอื้อให้กับรัฐบาลผสม พยายามไม่ให้เกิดคนอย่างทักษิณและรัฐบาลที่มั่นคงพรรคเดียว  แต่เอาเข้าจริงในที่สุดคุณเปลี่ยนสังคมไทยไม่ได้  คุณเปลี่ยนเศรษฐกิจสังคมไทยไม่ได้  คุณทำให้สังคมเศรษฐกิจไทยที่เปลี่ยนไปแล้ว   และมีคน  10 กว่าล้านคนที่เขาเลือกแนวทางการเมืองนี้แล้วหายไปไม่ได้ ต่อให้แก้รัฐธรรมนูญก็ตาม

"ดังนั้นเขาก็กลับมาแล้ว   เขากลับมาในนามพรรคพลังประชาชน  ไม่ใช่การกลับมาของแค่พรรคที่เป็นนอมินีทักษิณ  หรือการกลับมาในนามสมาชิกไทยรักไทยที่ไปเกิดใหม่แล้วมาเลือกตั้งใหม่ นั่นกระจอก"

"แต่ที่คุณกำลังเผชิญคือคนจริงๆ   พลังของชนชั้นต่างๆ   ที่ประกอบกันหลักๆ  ก็คือคนจน คนชั้นล่าง  กับกลุ่มทุนใหญ่   จับมือกันแล้ว 10 กว่าล้านเสียง ซึ่งทำให้เขาหายไปไม่ได้

"ต่อให้คุณดัดแปลงรัฐธรรมนูญ ก็เป็นไปได้ว่ามันคงมีโอกาสจะขยับรัฐบาลง่ายกว่าแต่ก่อน แต่สุดท้ายแล้ว  10 กว่าล้านเสียงก็ยังจะเลือกแนวนโยบายที่เขาคิดว่าสนองผลประโยชน์เขามากที่สุด   ดังนั้นสิ่งที่คุณเจอใหญ่กว่านั้นเยอะ   

"ผมคิดว่าต้องคิดใหม่  ไม่ใช่คิดแค่-เฮ้ย  ยำๆ  มันหน่อยวะ เดี๋ยวก็เป็นรัฐบาลผสม ชักเข้าชักออก เฮ้ย แต่ที่คุณเจอคือ 10 กว่าล้านเสียง

"สังคมไทยเปลี่ยนแล้ว คนพวกนี้อยู่แล้ว เขาอยู่เพราะคุณดันทำเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ เดินเส้นนี้พวกเขาก็เกิดขึ้นมาสิ เขาอยู่ในชนบทคุณไปแย่งทรัพยากร เขาก็หลุดมา เป็นแท็กซี่ เป็นสามล้อ   มอเตอร์ไซค์รับจ้าง  แล้วทักษิณยื่นความมั่นคงบางอย่างให้  เพราะฉะนั้นต้องคิดกับเกมนี้ใหม่ 

"เปลี่ยนรัฐธรรมนูญหรือจะจัดการสิ่งที่เรียกว่าระบอบทักษิณให้หายไป ผมคิดว่าไม่ใช่ ระบอบทักษิณอยู่บนปรากฏการณ์ของสังคมการเมืองเศรษฐกิจที่แท้จริง"

ประชาธิปัตย์จะดำเนินนโยบายแบบนั้นไม่ได้หรือ

"ถ้า  2 พรรคออกมาดำเนินนโยบายไปในทางเดียวกัน เขาก็คงจะเลือกพรรคที่เห็นฝีมือและไว้ใจมากกว่า   เอาเข้าจริงผมคิดว่ามันมีแนวโน้มอย่างนั้น ตอนนี้หลายพรรคก็เริ่มดำเนินแนวทางแบบประชานิยมมากขึ้น  ฉะนั้นจะยิ่งเห็นว่ามันไม่ใช่อะไรที่คุณจะปฏิเสธได้  เพียงเพราะความที่คุณเกลียดทักษิณหรือเกลียดพลังประชาชน 

"มันมีคนกลุ่มหนึ่งอยู่ในสังคมจริงๆ และเขามีความต้องการ  แนวนโยบายสังคมเศรษฐกิจที่ผ่านมาก่อนที่ไทยรักไทยจะเกิดขึ้น  และของคุณสุรยุทธ์ที่ดำเนินมาก็ไม่ได้แก้ตรงนี้  ไม่ได้สนองเขา เขามีความจำเป็นมีความต้องการจำนวนหนึ่ง  และนโยบายของรัฐบาลนี้ไม่ได้สนองต่อเขา  อันนี้เคลียร์มากเลย

"ดังนั้นเพื่อที่จะทำให้เกิดความหลากหลายทางการเมืองต่อกลุ่มพลังกลุ่มนี้ ผมคิดว่าจะต้องใช้เวลานานสักหน่อย  ไม่ใช่คิดถึงแค่ว่าพรรคอื่นมาเลือกนโยบายแบบเดียวกับไทยรักไทย ราวกับว่าไม่มีนโยบายที่ดีกว่า

"เป็นไปได้ไหมที่จะมีพรรคการเมืองที่จินตนาการถึงนโยบายที่สนองตอบต่อคนกลุ่มนี้ในลักษณะที่แตกต่าง หรือแม้กระทั่งดีกว่าพลังประชาชนหรือไทยรักไทย และไม่เพียงสนองตอบต่อคนกลุ่มนี้  ยังสามารถดึงเอาคนกลุ่มอื่นที่ทุกวันนี้คล้ายๆ  ยืนอยู่คนละข้างกับพลังประชาชน นโยบายที่ทั้งชนชั้นกลางและคนจนสามารถได้ด้วยกัน

"ผมคิดว่าอันนี้เป็นโจทย์ที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ทิ้งไว้ในบทความของท่าน คือถ้าคุณไม่สามารถเสนอนโยบายที่สร้างแนวร่วมระหว่างชนชั้นกลางกับชนชั้นล่างได้  คุณเอาชนะทักษิณทางนโยบายไม่ได้ แล้วนโยบายแบบที่คุณสุรยุทธ์เดิน ไม่ชนะ"

ไม่ชนะแต่บางคนก็ยังคิดว่าจะใช้กำลัง ยังคิดว่าจะทำรัฐประหารอีก หรือใช้อำนาจพิเศษมาจัดการ

"ถ้าคุณพร้อมจะทำให้เมืองไทยเป็นพม่าก็ทำรัฐประหารอีกที คือพูดอย่างน่าเกลียดก็แล้วกันนะ ผมคิดว่าตอนนี้เมืองไทย spoiled เกินกว่าจะเป็นพม่าแล้ว เรา enjoy ความเติบโตทางเศรษฐกิจ เรา enjoy การเปิดประเทศ

"เพื่อที่จะเป็นพม่าเราจะต้องบดขยี้หลายอย่างในสังคมเศรษฐกิจไทยซึ่งเราเป็นคนบ่มเพาะให้เกิดขึ้น  จะมีคนเดือดร้อนมากถ้าเราทำแบบนั้น  ผมไม่คิดว่ามีคนสติดีที่ไหนจะทำ และเอาทั้งหมดนั้นเพื่ออะไร  เพื่อจัดการกับทักษิณคนเดียว  หรือแม้แต่จัดการสิ่งที่เรียกว่าพรรคพลังประชาชนหรือไทยรักไทยนอมินี  ผมว่าไม่ใช่

"คืออย่าโดนปรากฏการณ์ทางการเมืองตบตาตัวเอง แล้วคิดว่าปัญหามีแค่นี้

"รากมันคือความเปลี่ยนของสังคมไทย คือพลังคน 10 กว่าล้านคน ถ้าคุณรวมครอบครัวเขาด้วยจะมากกว่านี้อีก   สังคมไทยเปลี่ยนแล้ว  และความเปลี่ยนทางสังคมนี่แหละที่เป็นที่มาของปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เราเห็น แต่จะจัดการกับมันอย่างไร  โดยที่ไม่เป็นการฆ่าตัวตาย 

"รัฐประหารคือการฆ่าตัวตายของสังคมไทย ทำหนหนึ่งไม่ตายก็บุญแล้ว ถ้าอีกหนหนึ่งผมว่าฉิบหายแน่"

ทะเลาะกันอย่างสันติ

"ผมคิดว่ามันมีบทเรียนบางอย่างที่ควรเก็บ  คือถ้าเริ่มต้นจากที่เราเจอว่าตอนนี้เป็น  Class  Politics  จริงๆ   เป็นการเมืองเรื่องชนชั้น   และเริ่มต้นจากว่าคงดีถ้าสมานฉันท์   แต่สมมติมันหวังความสมานฉันท์ยาก คนไทยคงจะต้องทะเลาะกันไปสักพักหนึ่ง เรากำลังหวังให้ทะเลาะกันอย่างสันติ ในกรอบประชาธิปไตย  ทำอย่างไรจะมี Democratic Class Politics

"ผมคิดว่าบทเรียนหลักๆ  ดูจากบทเรียนของทักษิณ ดูจากบทเรียนของรัฐประหาร คือหนึ่งกองทัพต้องถอยออกไป  อย่าเอากองทัพเข้ามายุ่ง อย่าเอากำลังความรุนแรงที่จัดตั้งของกองทัพหรือตำรวจก็แล้วแต่ เข้ามาแทรกแซงการต่อสู้ขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มคนในสังคม พอคุณเอากองทัพเข้ามาฉิบหายหมด มันจะทำให้ความขัดแย้งรุนแรงยิ่งขึ้น   และนำไปสู่ปัญหาเยอะแยะตามมา  อย่างในรอบปีที่ผ่านมามีผลกระทบมากมาย  อันแรกกองทัพออกไป ออกไปในความหมายที่ว่าไม่ต้องเข้ามาแทรกแซงการเมือง  ถ้าจะมีบทบาททางการเมืองก็ในฐานะพลเมืองไทยคนหนึ่ง  มี  1 เสียงเท่ากันในการออกความเห็น แต่ไม่ใช่เอากำลังอาวุธเข้ามา

"และอาจจะโดยบังเอิญหรืออาจจะเป็นเรื่องที่ชวนคิด  ผมคิดว่าพระราชดำรัสหลายองค์หลักในช่วงเดือน  ธ.ค.ที่ผ่านมาต่อตุลาการต่อนายพลที่รับตำแหน่ง น่าสนใจว่าพระองค์ท่านรับสั่งว่าไม่ใช่ด้วยกำลังอาวุธยุทโธปกรณ์   การรักษาความสงบของบ้านเมืองคือการรักษาความเป็นธรรม โดยการให้มีความเป็นธรรมเกิดขึ้นในสังคม ทำอย่างไรไม่ให้สังคมไทยไปสู่จุดที่ใช้อาวุธเข้าหากัน   ผมคิดว่าน่าจะคิดอันนี้ให้ดี 

บทเรียนแรกคืออย่าเอากองทัพเข้ามายุ่งกับความขัดแย้ง  ยิ่งเอาเข้ามายิ่งแก้ยาก แทนที่จะมานั่งคิดว่าจะหานโยบายที่ทำให้ชนชั้นที่ต่างกันในสังคมไทยมีผลประโยชน์ร่วมกันและเดินหน้าไป   คุณต้องมาคิดว่าทำอย่างไรให้ทหารถอยกลับเข้ากรมกอง  ทำอย่างไรกับงบประมาณทหารที่เพิ่มขนาดนี้  กลายเป็นมีโจทย์มากขึ้นมหาศาล  ยิ่งยุ่งกันใหญ่   คุณต้องมาแก้โจทย์อีกจำนวนมาก เดิมเราไม่ต้องมาคิดเรื่องพวกนี้ ถ้าไม่มี  19 กันยา คุณไม่ต้องมาปวดหัวกับรัฐธรรมนูญ เราจะเอายังไงกับ กอ.รมน. ที่ถูกยกเป็นซูเปอร์ กอ.รมน.  สุดท้ายก็ต้องมาคิดโจทย์เพิ่มขึ้นอีก ทำให้สังคมไทยลำบากยิ่งขึ้น แทนที่มันจะแก้กันในเกม ในกฎติกา ดังนั้นกองทัพ out อย่ามายุ่งกับการเมือง

"อันที่สองคือโดยคำตัดสินในคดีฟ้องหมิ่นประมาทระหว่างคุณทักษิณกับคุณสนธิ  ลิ้มทองกุล  น่าสนใจมากว่าในศาลชั้นต้นคุณทักษิณชนะ แต่ว่ามีคำบางคำในคำพิพากษาที่น่าสนใจ บอกชัดเลย  อย่าดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเครื่องมือกำจัดคู่ขัดแย้งทางการเมือง  อันนี้คือบทเรียนใหญ่บทเรียนที่สองในรอบ 2-3  ปีที่ผ่านมา  อย่าดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเครื่องมือในการกำจัดคู่ขัดแย้ง นี่คือคำของศาลเลยนะครับ - ต้องท่องจำ เพราะคุณดึงขึ้นมามันทำให้ความขัดแย้งขยายตัวบานปลาย  มันทำให้ของที่เราควรจะรักร่วมกันทุกฝ่ายกลายเป็นของของบางกลุ่มบางฝ่าย จากการที่ทะเลาะกันเรื่องผลประโยชน์กลายเป็นศัตรูของชาติ ซึ่งหาทางประนีประนอมรอมชอมกันยากมาก

"นี่คือบทเรียนใหญ่บทเรียนที่สอง แทนที่จะทำให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มชนต่างๆ ในสังคมไทยน่าจะหาทางต่อสู้กันด้วยสันติ มันจะไม่สันติ เพราะคุณทำให้เห็นว่าคนที่ทะเลาะกับคุณเป็นศัตรูกับในหลวง  เพราะทุกคนรักในหลวง ผมคิดว่าคำพิพากษานี้น่าจะเอาไปสลักทองตอกไว้ที่ไหนสักที่ หรือบนทางด่วน ให้อ่านกันทั่วๆ

"อันที่สาม  เป็นบทเรียนจากรัฐบาลทักษิณ คุณทำให้ความขัดแย้งทางชนชั้นรุนแรง ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนทั้งหลายแก้ในระบอบประชาธิปไตยยากถ้าคุณทำ 2 อย่าง คุณทำลายพื้นที่สิทธิเสรีภาพกับคุณทำลายพื้นที่ประชาธิปไตย  ตราบใดที่พื้นที่  2 พื้นที่นี้ยังดำรงอยู่ ผมคิดว่าทะเลาะกันไปเถอะ  นี่คือบทเรียนตัวอย่างในรัฐบาลชุดที่ผ่านมา เช่น คุณไปปิดปากสื่อ ให้กอง บ.ก. ทีวีเอานักข่าวออกเป็นแผง หรือการไปลิดรอนสิทธิของคนที่เห็นต่าง โดนรังแกโดนกลั่นแกล้ง หรือมากกว่านั้นเพื่อสนองนโยบายไปเบียดสิทธิของคนอื่น  ไปตัดสิทธิ์โดยใช้ศาลเตี้ย

"นี่คือบทเรียนที่เราน่าจะเรียนรู้การทะเลาะกันระหว่างชนชั้นโดยไม่ต้องฆ่ากัน สำคัญมากคือต้องรักษาพื้นที่สิทธิเสรีภาพกับทุกฝ่าย  อย่ากลายเป็นสิทธิเสรีภาพของฝ่ายกูสำคัญ ถ้าฝ่ายมึงโดนเรื่องของมึง ถ้าเรารักที่จะทะเลาะกันอยางสันติ  ต้องเคารพสิทธิเสรีภาพ นี่คือสมบัติร่วมกันไม่ว่าคุณจะอยู่ชนชั้นไหน  ไม่ว่าจะอยู่พรรคไหนฝ่ายไหน และถ้ามันถูกละเมิด อันตรายกับคุณนะครับ ถ้าพื้นที่นี้ถูกละเมิดมีแนวโน้มที่จะทะเลาะกันนองเลือด คุณกำลังไล่คนที่เห็นต่างจากคุณให้ไปใช้วิธีนอกระบบ ฉะนั้นหลักการปกครองโดยกฎหมาย  หลักนิติธรรม สิทธิเสรีภาพของกลุ่มต่างๆ ต้องรักษา ส่วนพื้นที่ประชาธิปไตยก็คือคนเราต้องเท่ากัน และอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนจริงๆ

"พื้นที่ประชาธิปไตยหดไปเยอะเพราะรัฐประหาร  รัฐประหารแล้วคุณก็ริบอำนาจอธิปไตยไปใช้ คุณเอาไปให้คนอื่นใช้ คนอื่นที่คุณคิดว่าเป็นคนดีไว้ใจได้  เขาดีไม่ดีผมไม่รู้ แต่ในที่สุดไม่ใช่คนทุกคน มันไม่ใช่หลักประชาธิปไตย  หลักประชาธิปไตยคือทุกคนเท่ากัน และอำนาจต้องเป็นของทุกคนเท่ากัน พอคุณไปทำอย่างนี้อำนาจของคุณถึงมีคนก็ไม่รับ  ดังนั้นกฎหมายต่างๆ  ที่ออกมา พูดกันอยู่เรื่อยว่าจะแก้ใช่ไหม พ.ร.บ.ความมั่นคง  รัฐธรรมนูญ  รัฐบาลที่ตั้งขึ้นมาถึงแม้จะเป็นคนดีแต่กูไม่ได้เลือก  มันมีปัญหาระหว่างความดีกับการเลือกตั้ง 

"หลักประชาธิปไตยเป็นหลักอันหนึ่งซึ่งมันมีอยู่แล้วในโลก คนดีที่เราไม่ได้เลือกถึงแม้ดีมันคงสู้คนดีที่เราเลือกไม่ได้  ดังนั้นถ้าคุณคิดว่ามันเป็นปัญหาคุณก็คิดแต่ว่าทำอย่างไรที่จะการเลือกคนดีมันจะเป็นไปได้  เท่านั้นแหละ แต่การที่เพราะมึงเสือกเลือกคนที่ไม่ดีฉะนั้นมึงไม่ต้องเลือกเลย อันนี้มันก่อปัญหา  ก่อความขัดแย้งเยอะแยะไปหมด  และคุณก็อยู่ในโลกทุกวันนี้ไม่ได้ ถ้าไม่มีการเลือกตั้ง ในที่สุด 1  ปีผ่านไปคุณก็ต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง และแปลกแต่จริงเชื่อหรือไม่ พรรคที่คุณอยากจะยุบมันแทบเป็นแทบตาย ในที่สุดมันก็ได้รับการเลือกตั้งมามากที่สุด (หัวเราะ)

"ต้นทุนมันแพงมากเรื่องความชอบธรรม ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ฉะนั้น สองพื้นที่นี้ต้องคงไว้ พื้นที่สิทธิเสรีภาพซึ่งโดนละเมิดมากพื้นที่ประชาธิปไตยซึ่งถูกทำลายไปมาก ต้องเปิดเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เอาไว้ เป็นของคนไทยทุกคน แล้วสู้กันในกรอบ ไม่ต้องห่วงหรอกถ้ามันมีพื้นที่แบบนี้ผมคิดว่าไม่รุนแรง"

แต่สมมติสมัครมาเป็นนายกฯ ฝ่ายตรงข้ามก็คิดว่าไม่มีทางทะเลาะกันอย่างสันติได้

"ผมไม่คิดว่าง่ายนะครับ  และโดยส่วนตัวผมก็คงไม่ค่อยชอบนายกรัฐมนตรีที่เป็นคุณสมัคร ผมคงดีใจถ้าคนอื่นเป็นนายกฯ แต่เอาเถอะ ไม่ใช่เป็นปัญหาของผมคนเดียว เป็นปัญหาที่สังคมไทยต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วย 

"เราจะเรียนรู้ที่จะอยู่กับรัฐบาลเสียงข้างมากที่เราไม่ชอบอย่างไร ถ้าทันทีที่เราเจอรัฐบาลที่ได้เสียงข้างมากมาตามระบอบเสรีประชาธิปไตย แต่บังเอิญเราไม่ชอบแล้วเราจะรัฐประหารทุกครั้งหรือ เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับรัฐบาลเสียงข้างมาก ที่ได้รับเลือกตั้งมาหรือขึ้นมาตามครรลองประชาธิปไตย  แต่บังเอิญเราไม่ชอบ  แล้วเราจะทำอย่างไร เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้  โดยที่ไม่ออกนอกกรอบของระบบ

"การที่ผู้คนทั้งหลายจะอยู่กับรัฐบาลที่ตัวเองไม่ชอบได้เขาต้องมีสิทธิเสรีภาพที่จะไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล การที่เขาไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลไม่ได้ทำให้เขาเป็นคนไทยน้อยลงหรือทำให้เขาชั่ว พื้นที่สิทธิเสรีภาพของคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลเสียงข้างมากต้องมี   นอกจากนั้นยังต้องมีพื้นที่ประชาธิปไตย  เผื่อรอบหน้าคุณจะแพ้ไง  เผื่อรอบหน้าฝ่ายอื่นเขาชนะบ้าง ถ้ามีพื้นที่ 2 อันนี้เปิดรอรับอยู่ การอยู่กับรัฐบาลที่คุณไม่ชอบพอทนได้  คนอื่นทั่วโลกเขาก็อยู่กันมาแบบนี้ 

"รัฐบาลออสเตรเลีย  เพื่อนๆ  นักวิชาการผม  ไม่ชอบจอห์น  โฮเวิร์ดเลย แกทนอยู่กับโฮเวิร์ด 4 สมัย กว่าจะ vote ออกไปได้ แต่แกมีความหวัง  เพราะหนึ่งแกมีสิทธิเสรีภาพที่จะด่ารัฐบาล และสองรอบหน้ากูจะไม่เลือกมึง ในที่สุดมันก็มีวัน vote  ให้โฮเวิร์ดออกไปได้  ผมคิดว่าเราต้องผ่านอย่างนั้น  ในแง่กลับกันก็เป็นไปได้ว่าสักวันจะได้รัฐบาลที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับไทยรักไทยเดิมหรือพลังประชาชนปัจจุบัน   และบรรดาสมาชิกพลังประชาชนก็คงจะไม่ชอบรัฐบาล  ใจเย็นๆ  ผมก็ผ่าน  คุณจะรู้สึกเหมือนผม ไม่ชอบก็ด่าสิ ก็แสดงความคิดเห็นคัดค้านไป ตราบเท่าที่คุณมีสิทธิเสรีภาพ และรอบหน้าก็เลือกกันใหม่

"แต่ความขัดแย้งเฉพาะหน้ามันแหลมคมมาก กระทั่งคนชั้นกลางไปลงฝ่ายตรงข้ามเกือบทั้งหมด ความโกรธแค้นเกลียดชัง 2 ปีที่ผ่านมาทำให้ยังไม่ทันได้ตั้งสติ

"ยังไม่ทันได้ตั้งสติ  ดังนั้นรีบๆ ตั้งเสีย เพราะว่าคุณจะต้องอยู่กับสังคมซึ่งคุณเป็นคนส่วนน้อย คนส่วนใหญ่ที่มีจำนวนมากกว่าคุณเขาพบว่ามีพรรคการเมืองที่สนองประโยชน์เขาได้ดีกว่า  เขาก็เลือก และเสียงเขามากกว่า  อันนี้เป็นความจริงไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม

"เรามีทางเลือกอะไรบ้าง มีพื้นที่เสรีภาพ  มีพื้นที่ประชาธิปไตย ถ้าชนชั้นกลางซีเรียสเรื่องนี้พอก็ต้องคิดหาทางสนับสนุนหรือช่วยกันสร้างพรรคการเมืองที่จะสนองต่อผลประโยชน์ของพวกเขาและผลประโยชน์ของคุณเอง cover ผลประโยชน์ของ  2 กลุ่มได้ดีกว่าพลังประชาชนหรือไทยรักไทยเดิม  ไม่อย่างนั้นคุณก็เป็นเสียงข้างน้อยตลอดไป  คุณมีปัญญาสร้างไหมหรือไม่มี  คุณมีปัญญาจินตนาการไหมหรือไม่มีปัญญาจินตนาการ มันจะมีไม่ได้เชียวหรือ พรรคการเมืองที่มีแนวทางนโยบายที่สนองตอบผลประโยชน์ทั้งกลุ่มใหญ่และกว้างพอที่จะสนองต่อผลประโยชน์ของคนทั้ง 2 กลุ่ม ถ้าไม่มี-คิด 

"ผมคิดว่าชนชั้นกลางที่มีสติ ในรอบปีกว่ากระเป๋าสตางค์สะเทือน น้ำมันแพง เศรษฐกิจไม่กระเตื้อง ก็น่าจะมีสติพอที่จะเห็นต้นทุนที่จะปฏิเสธการทะเลาะกันอีกครั้ง"

คนชั้นกลางส่วนหนึ่งก็เลือก ปชป.เพราะกลัวการทะเลาะกัน

"ก็คงมีคนจำนวนหนึ่งที่อยากให้เรื่องมันจบๆ อยากจะกลับมาทำมาหากิน สำหรับคนแบบนี้ผมว่าเหนื่อยเหมือนกัน   ผมก็เห็นใจ  แต่อยากจะเรียนว่ามันยังไม่จบ ไม่ใช่ว่ามีใครอยากจะทะเลาะกัน แต่เพราะสังคมไทยมันเปลี่ยน สังคมไทยมันแบ่ง สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่เสมอภาคมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก 

"เส้นทางพัฒนาที่เราเดินมาเราเลือกเส้นทางโลกาภิวัตน์  มันสร้างคนที่มีชีวิตที่ไม่มั่นคง ไปสร้างคนที่หลุดจากพื้นฐานทรัพยากรเดิมของเขา เกษตรกร คนที่รับจ้าง คนที่ขับแท็กซี่ ถ้าลูกเมียป่วยหนักทียุ่งเลยนะ  ดังนั้นเขามีผลประโยชน์ว่าทำไมเขาถึงอยากจะเลือกทักษิณ เพราะทำให้เขามีทางเลือกในแนวนโยบาย 

"ถ้าคุณคิดว่าคุณอยากจะแก้ปัญหานี้อย่างถึงราก คุณก็คิดถึงแนวทางพัฒนาที่ไม่ใช่แบบโลกาภิวัตน์  แล้วคุณเอาจริงหรือเปล่าล่ะ คุณก็ไม่ทำ เพราะคุณรู้ว่าโลกาภิวัตน์มันดี คุณชอบ มันทำให้เศรษฐกิจบูม  นักท่องเที่ยวมาเยอะ คุณก็เอา พอคุณเอาคุณก็สร้างคนแบบนี้ขึ้นมาอีกแล้ว จากทุกหมู่บ้านในสังคมไทย 

"คุณเดินเส้นทางนี้คุณก็  create คนเหล่านี้ขึ้นมาเรื่อยๆ แล้วเขาเป็นเพื่อนร่วมชาติคุณ คุณต้องหาทางออกให้เขาด้วย  ไม่ใช่ว่าคุณจะเดินแนวทางพัฒนาแบบนี้ คนพวกนี้คุณไม่แยแสสนใจ คุณเอาตัวรอดคนเดียว

"เขามาเคาะประตูบ้านคุณแล้วครับ  และเขามาในนามพรรคพลังประชาชนและพรรคไทยรักไทย  ขอแสดงความยินดีด้วย  คุณต้องอยู่กับเขา   และเขาเสือกเป็นจำนวนมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลด้วย (หัวเราะ)  คุณชอบแบบนี้  ขณะเดียวกันก็มีผลพวงคนกลุ่มนี้เกิดขึ้น ก็อยากจะปิดประตูไม่แยแส แต่ว่าเฮ้ยไม่ได้แล้วครับ  เขาเคาะประตูบ้านคุณและเขามาในนามพรรคพลังประชาชนแล้ว 

"ถ้าคุณอยากจะหาทางออกที่ดีกว่านี้  อยากจะหาแนวทางนโยบายที่ดีกว่านี้ ถ้าคุณไม่เห็นด้วยกับแนวทางนโยบายของไทยรักไทยคุณก็ต้องคิดนโยบายแนวทางใหม่สิ ที่ทำให้คนเขาอยู่ด้วยกันอย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรีเสมอภาคกัน".
บันทึกการเข้า

Caocao
ขาประจำขั้น 2
******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 557



« ตอบ #1 เมื่อ: 12-03-2008, 06:52 »

ขอบคุณลุงแคน นับเป็นบทความที่น่าสนใจมากครับ
ในความคิดเห็นส่วนตัวเชื่อว่า ไม่ว่าเราจะฝันถึงโลกสีใด คนเราก็ไม่เคยเท่ากันได้จริงๆ มันไม่เคยมีหรอกครับ คำว่าเสมอภาค
เพียงแค่ว่าแนวทางของการรอมชอม คือทำให้ทุกฝ่ายไม่รู้สึกว่าตัวเองเสียผลประโยชน์ ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนการทะเลาะกันแบบสันตินี่เห็นด้วยอย่างยิ่ง
บันทึกการเข้า

หลับเถิดทหารกล้า ปวงประชาจะคุ้มครอง
Can ไทเมือง
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13,486



เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 12-03-2008, 07:20 »

การทำพรรคการเมือง คือการประสานผลประโยชน์ ของชนทุกกลุ่ม

ก็สืบเนื่องจากกระทู้มาราธอน นั่นแหละครับ ภาพรวมกับส่วนย่อย


ทะเลาะกันอย่างสันติ ถือเป็นเรื่องปกติของระบอบประชาธิปไตย

ผมบอกทุกทีแหละ ถ้าทักษิณมันไม่โกง ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ใช้อำนาจมากเกินไป ไม่แทรกแซงองค์กรอิสระโค่นมันยาก
บันทึกการเข้า

สหายนำชัย
สมาชิกสามัญขั้นที่ 2
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 84


« ตอบ #3 เมื่อ: 12-03-2008, 10:55 »

พวกไชโยโห่ร้องที่ทหารออกมากระทำรัฐประหาร ควรสำเหนียกไว้ให้มากว่าตัวเองได้แสดงออกถึงความถดถอยต่อแนวคิดการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

คนเราขัดแย้งได้ เห็นต่างได้ ถกเถียงเพื่อหาระยะห่างที่เหมาะสมต่อการอยู่ร่วมได้
แต่ไม่ควรดึงให้ทหาร ( สัญลักษณ์แห่งความรุนแรง ) เข้ามาเกี่ยวข้อง.... ด้วยประการทั้งปวง

ที่สำคัญควรเรียนรู้ที่จะอยู่อย่างผู้มีเสียงข้างน้อย ให้เป็นและให้ได้
พูดง่าย ๆ แพ้ให้เป็น

อย่าตะแบง เพียงเพราะไม่ถูกใจตัวเอง ไม่ได้อย่างใจตัวเอง
บันทึกการเข้า

เพราะ...

   ผมเชื่อมั่นในความเป็นคน
   ผมเชื่อมั่นในอำนาจและการตัดสินใจของประชาชน
   ผมเชื่อมั่นในสิทธิเสรีภาพทางความคิดและการกระทำ อันหลากหลาย 
 
เหตุนี้.... ผมจึงเชื่อมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย
   
...นิรนาม...
วิหค อัสนี
ขาประจำขั้น 2
******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 946



« ตอบ #4 เมื่อ: 12-03-2008, 13:37 »

ยอมรับว่าเป็นบทความที่สมเหตุสมผล และแสดงมุมมองได้น่าคิดดีครับ

บันทึกการเข้า

_______ดังนี้แล
__เปลวไฟจักลุกโชน
___หามีวันดับลงได้
_ตราบที่ในมือพวกสูเจ้า
ยังแต่น้ำมันเตาให้ราดรดไป
Can ไทเมือง
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13,486



เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 12-03-2008, 15:33 »

จะว่าไปตอนนั้น พันธมิตรก็ไม่คิดว่าทหารจะทำนะครับ

ผมก็เตรียมแพ็คเสื้อผ้า ไปลุยวันที่ 22 อยู่เหมือนกัน

แต่มันก็เป็นความโล่งใจเปลาะหนึ่ง คนที่ไชโยก็คือกลุ่มที่รำคาญเต็มที

ถ้าปล่อยไว้อีกต่อไปก็ไม่ทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้น มีรัฐบาลก็เหมือนไม่มี

นายกก็หนีปัญหา ผลุบๆ โผล่ๆ

มันเหมือนตกกะไดพลอยโจน ก็ต้องเลยตามเลย

ถ้าเป็นทหารฝ่ายทักษิณทำเอง ใช้กฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉิน ผมว่าคงตายกันเยอะ

เมื่อกลับมาตั้งลำ ทำการสอบสวน ทำให้มีการตรวจสอบใช้สิทธิ์ทางศาล ก็ต้องยอมๆกันไป

ถ้าปล่อยให้มีเลือกตั้ง ตาม พรฎ. ในขณะที่ทักษิณกุมอำนาจ การเมืองจะเจ็บกว่านี้ ฝ่ายค้านรับประกันไม่มีที่ยืน

ขนาดมีอำนาจในมือ กดดันทุกรูปแบบ การเลือกตั้งในสภาพเผด็จการ ยังทำได้แค่นี้

ก็ต้องยอมรับสภาพ จะอยู่แบบเสียงส่วนน้อยแบบไหน ให้พอมีความสุขบ้าง
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12-03-2008, 15:36 โดย CanCan » บันทึกการเข้า

แอบอ่าน ซุ่มเงียบ
ขาประจำ
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 249


stand, fight, live or die for what?


« ตอบ #6 เมื่อ: 12-03-2008, 16:10 »

ปัญหาทางชนชั้นแก้ได้ง่ายๆด้วยการ ตั้งพรรคใหม่แล้วก็หานโยบายใหม่ๆ จริงหรือ
มันน่าจะเป็นปัญหาจากท้ศนคติของคนมากกว่าอย่างอื่น

ผมว่า ชนชั้นกลางส่วนใหญ่ไม่ได้มีปัญหากับนโยบายของ ไทยรักไทยนะ ออกจะสนับสนุนเสียด้วยซ้ำ
ปัญหาคือการฉวยโอกาศฉ้อโกง ในการดำเนินนโยบายต่างหาก
บันทึกการเข้า

IF YOU DON'T STAND FOR SOMETHING, YOU MIGHT FALL FOR ANYTHING.
Can ไทเมือง
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13,486



เว็บไซต์
« ตอบ #7 เมื่อ: 12-03-2008, 16:22 »

การแก้ปัญหาทางชนชั้น คือการลดความแตกต่างด้านรายได้ สร้างชนชั้นกลางให้มากขึ้น

หรือหันไปสร้างกลุ่มพอเพียง ที่ทำอาชีพให้ พออยู่ พอกิน พอเพียง

การสร้างนโยบายจูงใจประชาชนให้เลือกเป็นสิ่งจำเป็น หากไม่ทำให้ดีกว่า จูงใจได้มากกว่า ก็ต้องยอมรับผลการเลือกตั้ง

และต้องทำหน้าที่ฝ่ายเสียงข้างน้อยให้ดีที่สุด...


อย่าทำเป็นรำไม่ดี โทษปี่โทษกลอง ต้องมาโทษตัวเองที่ดียังทำดีไม่พอ ยังไม่เข้าตาประชาชน

นโยบายของไทยรักไทย มิใช่สิ่งใหม่ในสังคมไทย แต่นำเสนอผ่านสื่อ ผ่านการสัมนา ผ่านการปาฐกถามานาน

แต่ไม่ได้รับการพิจารณาจากพรรคเทวดา ไทยรักไทยก็แค่นำนโยบายจากนักวิชาการ นักธุกิจ ข้าราชการสายประชาชนเช่นแพทย์เป็นต้น

นำแนวทาง "ศิลปาชีพ" มาตบแต่งใหม่ ใส่ชื่อใหม่ นำเสนอให้เป็นระบบ ผ่านการบริหารจัดการไปตามรูปแบบใหม่

ไม่ใช่สิ่งที่ตกมาจากฟากฟ้า หรือความวิเศษในตัวทักษิณแต่อย่างใด


แม้แต่ หัวหน้าพรรค ปชป. ยังยอมรับว่า ทอดทิ้งชาวอีสานมานานนับสิบปี แล้วจะโทษใครดีละครับ

ที่สำคัญตอนเป็นรัฐบาลก็มัวแต่กินเส้น ไม่กินเส้น

จนเกิดวาทะกรรม "อุ้มคนรวย ไม่ช่วยคนจน"

ต้องถามว่าสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร อนาคตจะสร้างพรรคในแนวทางไหน

จะเป็นพรรคเทวดา ที่ยึดชนชั้นกลางเหยียบหัวคนจนต่อไปหรือไม่ ก็ต้องไปคิดเอาเอง


ถ้าจะเป็นพรรคของชนส่วนน้อย ก็ต้องเป็นฝ่ายค้าน ถ้าเป็นพรรคของคนส่วนใหญ่ ก็เป็นรัฐบาล

หลักมันมีอยู่แค่นี้เอง
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12-03-2008, 16:44 โดย CanCan » บันทึกการเข้า

หน้า: [1]
    กระโดดไป: