ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
25-04-2024, 12:22
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สภากาแฟ  |  นิพนธ์ : ขายฝัน สบชต. ดับไฟใต้! 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
นิพนธ์ : ขายฝัน สบชต. ดับไฟใต้!  (อ่าน 1200 ครั้ง)
ตี๋ สักมังกือ
สมาชิกสามัญขั้นที่ 3
****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 174


« เมื่อ: 09-03-2008, 11:01 »

นิพนธ์ บุญญามณี ผู้ประสานงานจังหวัดชายแดนใต้ พรรคประชาธิปัตย์ ขายฝัน "สบชต." เผยมีอำนาจเบ็ดเสร็จทั้งตั้งงบฯ และโยกย้าย ขรก.ทุกหน่วย รวมทั้ง ตร. ลบภาพ "เสือกระดาษ" ยุค ศอ.บต. แต่จะเป็นไปได้แค่ไหนต้องถามใจรัฐบาล

ท่ามกลางความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ทั้งยังมีการส่งสัญญาณที่สร้างความสับสนเป็นระยะของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย ซึ่งออกมาผุดแนวคิดรายวันทั้งเขตปกครองพิเศษ เมืองศาสนา เรื่อยมาถึงนโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างเด็ดขาด ซึ่งเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับชนวนเหตุความรุนแรงในพื้นที่

 สัญญาณต่างๆ เหล่านี้มีแต่สร้างความฮือฮา แต่ยังหา "เนื้อหาสาระ" ไม่ได้เลย ในการแก้ปัญหาอันสลับซับซ้อนเช่นนี้...





 แต่ในขณะที่รัฐบาลยังหันรีหันขวางอยู่นั้น ฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ก็ชิงจุดพลุเสียก่อน ด้วยการเสนอแนวคิดการจัดตั้ง สำนักงานบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (สบชต.) โดยเสนอเป็นร่างกฎหมายให้รัฐบาล และสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแล้ว

  นายนิพนธ์ บุญญามณี กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ประสานงานพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ขยายความเรื่องแนวคิด สบชต. ซึ่งจะมาเป็น "เจ้าภาพ" รับผิดชอบปัญหาภาคใต้แทน ศอ.บต.

 รุกคืบไปถึงขั้นว่าจะเสนอให้ "ยุบ ศอ.บต." อีกรอบ และให้ สบชต. มีทั้งกระเป๋าเงินใบใหญ่ และ "ดาบ" ที่สามารถแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการพลเรือนในพื้นที่ได้ รวมทั้ง "ตำรวจ" ด้วย ซึ่งถือว่า น่าสนใจ และเรียกเสียงฮือฮาได้อย่างมากทีเดียว !!!





@ จุดประสงค์ในการเสนอแนวคิดการจัดตั้ง สบชต. มีที่มาที่ไปอย่างไร

สาเหตุที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เสนอให้จัดตั้งหน่วยงานขึ้นมารับผิดชอบปัญหาภาคใต้โดยตรง เพราะเราเห็นข้อบกพร่องของการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในตลอดระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา หลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ตัดสินใจยุบ ศอ.บต. ทำให้เห็นว่า การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ขาด “เจ้าภาพ” ที่รับผิดชอบโดยตรง และทำให้เกิดช่องว่างในการแก้ปัญหา

 เพราะฉะนั้น พรรคจึงเสนอรูปแบบนี้ขึ้นมาเป็นเบื้องต้นก่อนว่า การจะแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องมีผู้รับผิดชอบปัญหานี้โดยเฉพาะ ไม่ใช่ว่าจะเป็นกฐินสามัคคี คือ ทุกคนเป็นเจ้าภาพหมด





@ ศอ.บต. ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาอีกหรือ

 เดิมเราเรียกร้องให้เอา ศอ.บต. คืนมา แต่วันนี้ปัญหามันบานปลายออกไปมากเกินกว่าอำนาจของ ศอ.บต. เดิมจะแก้ไขได้ วันนี้หน่วยงานที่จะมาแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ต้องมีอำนาจชัดเจนในการให้คุณ ให้โทษกับบุคลากร หรือข้าราชการที่ลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่ หรือกระทั่งให้ความดีความชอบ เลื่อนขั้นได้ และต้องสามารถของบประมาณสนับสนุนได้ด้วย

 เดิม ศอ.บต. มีผู้บังคับบัญชาระดับรองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็น ผอ.ศอ.บต. แต่ภายใต้โครงสร้างใหม่ สบชต. จะให้มีเลขาธิการสำนักงาน เป็นฝ่ายประจำ เป็นข้าราชการระดับ 11 และในกฎหมายที่ยกร่างกำหนดชัดเจนว่าให้หน่วยงานนี้ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี





 ส่วนนายกฯ จะมอบหมายให้รัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี ท่านใดมาดูแลก็เป็นสิทธิของนายกฯ ผมคิดว่า สบชต. ต้องเป็นหน่วยงานอิสระ ขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี คล้ายๆ กับกฤษฎีกา ทำนองนั้น

 โดยพรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นเสนอกฎหมายฉบับดังกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎรเป็นกฎหมายฉบับแรกที่ยื่นต่อสภา เมื่อวันที่ 30 มกราคม ที่ผ่านมา วันนี้อยู่ที่รัฐบาลว่าจะตัดสินใจยังไง


@ สบชต. ที่ตั้งขึ้นมาใหม่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้มากขึ้นกว่าเดิมอย่างไร

 ไม่ใช่ว่าพอตั้งองค์กรนี้ได้ปัญหาจะจบสิ้น แต่อย่างน้อยที่สุดมันทำให้การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผมคิดว่าปัญหาในจังหวัดชายแดนใต้จะให้ความสำคัญเฉพาะมิติใดมิติหนึ่งไม่ได้ เราจะต้องให้ความสำคัญไปพร้อมๆ กัน ทั้งในมิติของความมั่นคง ความยุติธรรม การแก้ปัญหาความยากจน และที่สำคัญ คือ การศึกษาของเยาวชน

 4-5 อย่างนี้แหละ ที่ผมคิดว่าเราจะต้องแก้ไขไปพร้อมๆ กัน หลังจากมีเจ้าภาพที่ชัดเจนแล้ว กระบวนการสร้างความยุติธรรมของรัฐจะเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง จะต้องไม่มีการทำให้ 2 มาตรฐานเกิดขึ้น


@ คล้ายจะมีความกังวลต่อการส่งสัญญาณของทั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีมหาดไทย โดยเฉพาะนโยบายปราบปรามยาเสพติด ซึ่งเกี่ยวพันกับการฆ่าตัดตอน และการอุ้มฆ่าในอดีต

 สิ่งที่ผมกังวลในขณะนี้ คือ การส่งสัญญาณในเชิงนโยบายที่ไม่ดีต่อสถานการณ์ใต้ ซึ่งกลัวว่าฝันร้ายในอดีตมันจะหวนกลับมาอีกในเรื่องความหวาดระแวงเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการฆ่าตัดตอน การอุ้มฆ่า หรือแม้กระทั่งการซ้อมผู้ต้องหา

 ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่เราต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดขึ้น เพราะมันจะเป็นการผลักให้ประชาชนไปอยู่อีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งเราต้องยอมรับว่า การแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้วันนี้มันคล้ายๆ กับสงครามแย่งประชาชน เพราะฉะนั้น ถ้าคุณไปทำอะไรที่เป็นการผลักให้ชาวบ้านไปอยู่อีกฝ่ายหนึ่ง เขาก็จะชนะโดยไม่ต้องออกแรงอะไรมาก


@ จะใช้เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานใดมาสังกัดหน่วยงานที่ตั้งขึ้นใหม่นี้

 ให้โอนมาจาก ศอ.บต. เดิม ทั้งทรัพย์สิน หนี้สิน และสิทธิต่างๆ ที่เป็นของ ศอ.บต. ให้เป็นของ สบชต. ทั้งหมด

@ ขอบเขตอำนาจในการสั่งการงบประมาณ หรือโยกย้ายกำลังพล ครอบคลุมหน่วยงานใดบ้าง

 เราคิดว่า ฝ่ายพลเรือนทั้งหมดจะต้องมาประสานงานกันที่นี่ โดยจะให้อำนาจกับผู้บังคับบัญชาแต่ละหน่วย เช่น อธิบดี หรือ ปลัดกระทรวงต่างๆ มอบอำนาจให้แก่เลขาธิการ สบชต. ดำเนินการแทนได้

@ ศอ.บต. เดิม จะไปอยู่ตรงไหน

 ศอ.บต. ก็จะไม่มี ยกเลิกไปเลย ยุบเลย

@ จะทำให้ ศอ.บต. มีอำนาจขึ้นมา โดยไม่ต้องตั้งหน่วยงานใหม่ได้หรือไม่

 ศอ.บต. ก็ต้องออกกฎหมายใหม่อยู่ดี เราคิดว่าไหนๆ ก็ออกกฎหมายแล้วก็ทำให้มันดีเสียทีเดียวเลย เราไม่ได้ตั้งกฎหมายใหม่ แต่เอา ศอ.บต. นั่นแหละ เพิ่มเขี้ยว เพิ่มเล็บให้ ศอ.บต. แล้วเรียกชื่อเสียใหม่แค่นั้นเอง ดีกว่าที่เขาเรียกว่า เป็น "เสือกระดาษ"

@ คนอาจจะมองว่า ประชาธิปัตย์เสนอให้ฟื้น ศอ.บต. ขึ้นมาแท้ๆ แต่จู่ๆ ก็จะมาเสนอให้ยุบอีก

 มันไม่มีอำนาจไงครับ เราคิดว่าจุดอ่อนของ ศอ.บต. วันนี้ ถ้าจะใช้รูปแบบเดิม มันไม่เพียงพอกับปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ทันกาลแล้ว เดิมเราจะให้เป็น ศอ.บต. เพื่อให้เป็นเอกภาพ แต่ว่าวันนี้มันไม่มีอำนาจในการของบประมาณ ต้องไปขอที่อื่น

@ ในส่วนของตำรวจ จะต้องอยู่ในการควบคุมดูแลของ สบชต. หรือไม่

 ตำรวจก็อยู่ที่นี่ หมายความว่า ให้ต้นสังกัดส่งเรื่องให้เขาย้ายได้เลย เลขาธิการ สบชต. สามารถแจ้งให้ต้นสังกัดย้ายออกได้เลย นี่คือที่มาที่ให้หน่วยงานนี้ขึ้นตรงต่อนายกฯ เพื่อที่จะให้นายกฯ มาตรวจสอบการใช้อำนาจ เพราะอำนาจของนายกฯ จะเกี่ยวข้องกับทุกกระทรวง

 ส่วนทหารไม่ใช่ว่าจะไม่แตะ ในเรื่องการบริหารงบประมาณ งาน กอ.รมน. งานหน่วยพัฒนาเคลื่อนที่ สามารถประสานกันได้ ยกเว้นเรื่องยุทธการ หรือการแต่งตั้งโยกย้ายของทหาร ก็ว่ากันไป เพราะเขามีกฎหมายเฉพาะอยู่


@ หลังจากเสนอร่างกฎหมายนี้ไปแล้ว รัฐบาลมีท่าทีอย่างไรบ้าง

 ยังไม่ทราบ แต่สภาส่งหนังสือมาว่า กฎหมายนี้เป็นกฎหมายการเงิน เพราะต้องใช้งบประมาณในการจัดตั้งหน่วยงานราชการ การจ้างเจ้าหน้าที่จึงถือเป็นกฎหมายการเงิน ต้องส่งให้นายกฯ รับรองก่อน เราส่งเป็นร่างกฎหมายไปแล้ว แต่รัฐบาลยังไม่ได้ติดต่อมา

@ มองกระแสข่าวเรื่องการซ้อมอุสตาส หรือนักศึกษาในพื้นที่ตอนนี้อย่างไร

 นี่คือสิ่งที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ ก่อนที่จะมีเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อปี 2547 ต้องไม่ลืมว่าเหตุการณ์ฆ่าตัดตอนมันมีส่วนที่เรียกว่าการอุ้มฆ่าในพื้นที่ ทำให้เกิดความโกรธแค้นในหมู่ญาติพี่น้องของคนที่ถูกอุ้มฆ่า จึงทำให้เหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้รุนแรงมากขึ้น

 วันนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 1-2 อาทิตย์ที่ผ่านมา เริ่มมีพฤติกรรมแบบนี้เกิดขึ้นอีกใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้ง 4 อำเภอของ จ.สงขลา มีการซ้อมครูระดับผู้บริหารโรงเรียนใน อ.จะนะ จ.สงขลา ผมไม่อยากเหมารวมว่า มันเป็นปรากฏการณ์ทั้งหมด แต่มันเริ่มมีลักษณะการบ่งชี้ว่าจะทำให้เกิดลมหวน นำเอาความผิดพลาดในอดีตกลับคืนมาหรือเปล่า


@ มองนโยบายดับไฟใต้ของรัฐบาลชุดปัจจุบันอย่างไร

 ผมยังไม่เห็นความชัดเจนของนโยบายรัฐบาลชุดนี้ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนเลย นอกจากจะพูดเป็นนามธรรมว่าจะให้มีความสมานฉันท์เกิดขึ้น พูดลอยๆ เท่านั้น

 มีแต่สัญญาณที่ส่อไปในเรื่องที่ทำให้น่าหนักใจมากขึ้น จนหวั่นว่าจะมีการนำเอาสิ่งที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์ของกฎหมายมาใช้อีก


@ แนวคิดของ ร.ต.อ.เฉลิม ที่เสนอให้ 3 จังหวัดภาคใต้เป็นเมืองศาสนา-ปลอดสถานบันเทิง เห็นด้วยหรือไม่

 ถ้าจะทำเมืองใหม่ผมไม่ว่า แต่จะไปทำของเดิมที่มีอยู่แล้ว ไปยกเลิกอย่างนี้ผมยังไม่เชื่อว่าจะสำเร็จ หลายคนคิดอย่างนี้มานานแล้ว พูดกันหลายรอบแล้ว แต่ว่าคุณเฉลิมต้องไปดูว่ามันจะไปกระทบ หรือลิดรอนสิทธิของคนในพื้นที่อย่างไร

@ กรณีการกลับประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะส่งผลอย่างไรต่อสถานการณ์ในพื้นที่

 ผมคิดว่าเรื่องนี้มันต้องแยกกันนะ ผมมองในแง่ดีว่า เมื่อคุณทักษิณไม่ได้มีหน้าที่ใดๆ ในการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองแล้ว การแก้ปัญหาภาคใต้ก็ไม่น่าจะผูกโยงกับคุณทักษิณอีกต่อไป

 เว้นแต่ว่าคุณทักษิณไม่ได้ยุติบทบาทเรื่องการเมือง หรือแสดงความเห็นด้วยกับการฆ่าตัดตอนอยู่


@ ข้อเสนอเรื่องเขตปกครองพิเศษ ซึ่งอาจจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรืออะไรที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง เห็นด้วยหรือไม่

 พรรคประชาธิปัตย์เขียนไว้ในร่างกฎหมาย สบชต. ให้ สบชต. มีอำนาจในการจัดตั้งเขตพัฒนาพิเศษ โดยอาจจะให้สิทธิพิเศษไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการใช้แรงงานต่างด้าว สิทธิในด้านภาษี

 แต่ว่าในเรื่องการปกครอง เรายังเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในรูปแบบการกระจายอำนาจเข้ามาแก้ปัญหาการปกครอง โดยการกระจายอำนาจให้พี่น้องประชาชนได้เลือกตัวแทนของเขาในทุกระดับ


@ รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดด้วยหรือเปล่า

 ขณะนี้เรากระจายอำนาจทุกระดับ จาก อบต. มาเทศบาล จากเทศบาลมาเทศบาลตำบล เทศบาลเมือง เทศบาลนคร แล้วไป อบจ.

 อบจ. ก็เหมือนกับ ผู้ว่าฯ กทม. อำนาจมันคล้ายกันในการพัฒนา ยกเว้นอำนาจการทหาร อำนาจการบังคับบัญชาอย่างอื่น ปัจจุบันถึงขนาดเลือกผู้บริหารเองแล้วนะในต่างจังหวัด นายก อบจ.ก็เหมือนกับเลือกผู้ว่าฯ มีอำนาจเพียงบางอย่างเท่านั้นที่ไม่มี


@ มีแนวคิดอะไรที่ทำให้ สบชต. มีความแปลกใหม่กว่าหน่วยงานอื่นๆ ที่เคยตั้งขึ้นมาแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้

 คือ เราไม่ถึงกับแปลกใหม่ แต่อย่างน้อยที่สุด การมีที่ปรึกษาของ สบชต. ให้ประชาชนเข้ามาเป็นสภาที่ปรึกษาใน สบชต. เป็นคนในพื้นที่ ทั้งผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา พระ ฯลฯ เราต้องการใช้สภาตรงนี้ให้มีความรู้สึกว่าคนทุกอาชีพอยู่รวมกันได้ในจังหวัดชายแดนใต้

@ มีอะไรอยากจะฝากถึงรัฐบาลเป็นพิเศษหรือไม่

 รัฐบาลต้องยืนยันในสองหลัก หลักแรก คือ ความยุติธรรม จะต้องไม่ทำอะไรที่ละเมิดกฎหมายบ้านเมืองอย่างเด็ดขาด

 หลักที่สอง คือ รัฐบาลจะต้องไม่ละทิ้งปัญหา รัฐบาลต้องทุ่มเทงบประมาณลงไปในการแก้ปัญหา ทั้งเรื่องความยุติธรรม ความยากจน และการศึกษา ถ้าเราบอกว่า รอให้เหตุการณ์สงบก่อนแล้วค่อยพัฒนานั่นคือการโหมเชื้อไฟของความรุนแรงในภาคใต้ให้มากขึ้น นั่นเท่ากับเข้าทางของขบวนการในภาคใต้

 ถ้าทำให้ประชาชนรู้สึกว่าภาคใต้ถูกทอดทิ้ง ภาคใต้ถูกรังแก แล้วขบวนการไปเสนอทางเลือกใหม่ให้แก่ประชาชน อันนี้อันตราย



ทีมข่าวความมั่นคง

http://www.komchadluek.net/2008/03/09/x_sat_q010_193109.php?news_id=193109
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
    กระโดดไป: