ปิยมหาราชานุสรณ์ เฉลิมพระราชสมัญญา"ปิยมหาราช" เล่าเรื่อง ร.5 ด้วยรูปภาพโดย กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมพ.ศ.2551 เป็นปีที่มีความหมายสำคัญปีหนึ่งในหน้าพงศาวดารไทย
เพราะเมื่อ 100 ปีมาแล้ว ได้มีเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องด้วยพระราชวงศ์จักรีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสมัยรัตนโกสินทร์
นั่นคือ งานพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก อันเป็นพระราชพิธีมหามงคลที่มีความหมายยิ่งปลายรัชกาลที่ 5 กล่าวคือ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2451 อันเป็นสมัยที่มีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติมาครบ 40 ปีบริบูรณ์ ขึ้นปีที่ 41 นับเป็นการครองราชย์ยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์องค์ใดในพระราชวงศ์จักรีก่อนหน้านั้น คือ รัชกาลที่ 1 ถึงที่ 4 ยังความปลาบปลื้ม
ปีติมาสู่พสกนิกรทุกหมู่เหล่าทั่วทั้งแผ่นดินในยุคนั้น
ทางราชการได้จัดให้มีงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ โดยเริ่มต้นในวันที่ 29 พฤศจิกายน ร.ศ.126 (พ.ศ.2450) อันเป็นปีที่ทรงครองราชย์มาครบ 39 ปี ย่างขึ้นปีที่ 40 เสมอด้วยรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย)
รัชกาลที่ 5 จึงได้เสด็จฯไปยังมณฑลพิธี ณ กรุงเก่า (จ.อยุธยา) เพื่อสักการะบูชาดวงพระวิญญาณของพระเจ้าแผ่นดินไทยในอดีตกาล พิธีนี้เรียก งานพระราชพิธีรัชมงคล ที่กรุงเก่า จัดตามพิธีกรรมแบบโบราณ ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน-4 ธันวาคม 2450
พอถึงเดือนพฤศจิกายนปีถัดไป (พ.ศ.2451) ได้ทรงมีพระบรมราชโองการให้พระบรมวงศานุวงศ์ ปรึกษากันจัดงานสมโภชราชสมบัติครบ 41 ปีขึ้น โดยคณะกรรมการอันประกอบด้วย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เป็นองค์ประธาน ได้มีมติให้จัดงานฉลองสมโภชติดต่อกัน 3 วัน3 คืน ระหว่างวันที่ 11-13 พฤศจิกายน 2451
กำหนดการสำคัญๆ ของงาน คือ (1) การกราบบังคบทูลถวายพระบรมรูปทรงม้า (2) การแห่กระบวนรถมอเตอร์คาร์เฉลิมพระเกียรติ และ (3) การเลี้ยงพระราชทานและอุทยานสโมสร เป็นต้น
"ไฮไลต์" ของงานพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ร.ศ.127 ตกอยู่ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2451 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ผู้เป็นแม่งานได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯไป ทรงเปิดผ้าแพรคลุมพระบรมรูปทรงม้า ณ ลานพระราชวังดุสิต
อันว่า พระบรมรูปทรงม้า องค์นี้นับเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระมหากษัตริย์แห่งแรกของสยามประเทศ ที่ทรงเสด็จฯไปเป็นแบบสร้างถึงกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
โดยในตอนแรกทรงมีพระราชดำริที่จะใช้เงินบริจาค ซึ่งพระบรมวงศานุวงศ์เก็บรวบรวมกันถวายจากงานเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 50 พรรษา ในรัชกาลที่ 5 พ.ศ.2446 หรือบางทีเรียก งานพระราชพิธีทวีธาภิเษก มาใช้ในการสร้างพระบรมรูปทรงม้า แต่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ได้ทูลขอร้องให้ประชาชนมีโอกาสร่วมบริจาคเพิ่มเติมด้วย และจะให้เป็นเรื่องของงานรัชมังคลาภิเษกคราวนี้แทน
ต่อมาปรากฏว่ามีผู้บริจาคมากถึง 5 เท่า จากกองทุนเดิมที่เคยรวบรวมได้ 200,000 บาท คราวหลังเก็บได้ถึง 1 ล้าน 2 แสนบาท จึงได้ทูลขอพระบรมราชวินิจฉัยให้พระบรมรูปทรงม้าเป็นอนุสรณ์ของงานนี้แทน
อนึ่ง ระหว่างการเสด็จประพาสกรุงฝรั่งเศส พ.ศ.2450 นั้น นอกจากจะได้เสด็จฯไปประทับเป็นแบบหล่อพระบรมรูปฯแล้ว ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างของที่ระลึกเพิ่มเติม สำหรับงานมหามงคลครั้งนี้โดยเฉพาะ
มีอาทิ เหรียญเสมาห้อยคอเด็ก และ เหรียญรัชมังคลาภิเษก โดยว่าจ้างโรงกษาปณ์ฝรั่งเศสจัดทำ และยังได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์ แสตมป์ที่ระลึกเป็นตราพระบรมรูปทรงม้า จารึกอักษรแจ้งการรัชมังคลาภิเษกบนดวงแสตมป์ ของที่ระลึกที่กล่าวถึงนี้ถูกนำออกใช้และแจกพระราชทานตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน ศกนั้นเป็นต้นไป
พอถึงวันงาน (11 พฤศจิกายน 2451) เวลา 08.00 น. ตอนเช้าอันเป็นศุภฤกษ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประทับ ณ ปะรำพิธีเบื้องหน้าพระบรมรูปทรงม้า และได้ทรงกล่าวสุนทรพจน์ขอบพระทัยประชาชน ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจจัดงานถวายฉลองสิริราชสมบัติเป็นที่พึงพอพระทัย ทั้งยังได้ตรัสย้อนหลังไปถึงความเปลี่ยนแแปลงและก้าวหน้าของสยามตลอด 40 ปีที่ผ่านมา
ปิดท้ายด้วยพระพจนารถอันลึกซึ้งกินใจตอนท้ายว่า
"เราขอแสดงความขอบใจท่านทั้งหลาย พร้อมกันกับด้วยพระบรมวงษานุวงษ์ ทั้งอาณาประชาราษฎรของเรา ในการที่ได้ยกย่องให้เกียรติอันยิ่งใหญ่แก่ตัวเราแต่เวลายังมีชีวิตร จะเปนที่ตั้งแห่งความพอใจของเราอยู่เปนนิจนิรันดร บัดนี้เรามีความยินดีรับคำเชื้อเชิญของท่านทั้งหลายแล้ว และจะได้เปิดถาวรอนุสาวรี อันเปนเครื่องหมายแห่งความสโมสรสามัคคีของชาติชาวสยาม ขอให้ตั้งอยู่เปนเครื่องหมายน้ำใจของชาติอันใหญ่ อันจะมีสืบไปทุกชั่วทุกชั้นในกาลภายน่า"พร้อมกันนี้ทรงรับการถวายพระราชสมัญญานาม "ปิยมหาราช" ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงคิดขึ้นเพื่อทูลเกล้าฯ ถวาย อันมีความหมายว่า "ทรงเป็นมหาราชาผู้เป็นที่รักของประชาชน" ซึ่งระบุอยู่บนแผ่นทองสำริดที่ฐานของพระบรมรูปทรงม้า ตราบจนทุกวันนี้
http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01pra01200351&day=2008-03-20§ionid=0131