ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
29-03-2024, 03:46
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สภากาแฟ  |  ฟังเสกสรรค์ ประเสริฐกุลพูดเรื่องพุทธธรรม {1} 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
ฟังเสกสรรค์ ประเสริฐกุลพูดเรื่องพุทธธรรม {1}  (อ่าน 845 ครั้ง)
pornchokchai
สมาชิกสามัญขั้นที่ 2
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 53


« เมื่อ: 21-02-2008, 18:44 »



โสภณ พรโชคชัย {2}

   ผมได้มีโอกาสไปฟัง อ.เสกสรรค์แสดงปาฐกถาข้างต้น ได้ข้อคิดที่น่าสนใจหลายประการ ผมฟังท่าน นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว กล่าวเปิดงานอย่างเปี่ยมเมตตาว่า “หน้าที่ของคนแก่ (เช่นท่าน) ก็คือทำอย่างไรให้คนหนุ่มสาวดีกว่าเราให้ได้” นี่เป็นคำพูดที่ท้าทายความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง และได้มาฟังคำกล่าวปิดงานของ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่ว่า เราไม่ควรเชื่อสิ่งที่ฟังทันที ควรตั้งคำถามและไตร่ตรองก่อน ผมจึงเขียนบทความนี้และส่งให้ อ.เสกสรรค์ได้ดูในวันรุ่งขึ้นของการแสดงปาฐกถา แต่ท่านก็ไม่ได้ทักท้วงอะไรมา ผมจึงขออนุญาตเผยแพร่ให้เกิดบรรยากาศ “สังคมอุดมปัญญา” ที่ใช้วิจารณญาณไตร่ตรอง


โลกาภิวัฒน์ที่ถูกทำให้สับสน

   อ.เสกสรรค์กล่าวว่าโลกาภิวัฒน์ทำให้วัฒนธรรมท้องถิ่น วัฒนธรรมชาติถูกทำลาย ผู้คนนิยมวัตถุกันมากขึ้น กระตุ้นชีวิตแบบไร้รากและอวดอัตตา ผมว่าปรากฏการณ์เช่นนี้มีมานานก่อนกระแสโลกาภิวัฒน์เสียอีก วัฒนธรรมที่เข้มแข็งกว่าย่อมครอบงำวัฒนธรรมที่อ่อนแอกว่า เช่น สาวชนบทนิยมหนุ่มชาวเมือง วัยรุ่นไทยยุค 2500 คลั่งเอลวิส วัยรุ่นสมัย อ.เสกสรรค์ก็เห่อญี่ปุ่น สาวฉันทนาทำงานแลกยีนส์ตัวโปรด หรือพ่อค้าชอบขี่รถเบนซ์ เป็นต้น

   นอกจากนั้นที่ อ.เสกสรรค์กล่าวว่าการศึกษาขั้นสูงเป็นเพียงบัตรเครดิต ก็เป็นจริงมาตั้งแต่สมัย “ฉันจึงมาหาความหมาย” ของ อ.วิทยากร เชียงกูล เมื่อเกือบ 40 ปีมาแล้ว {3} ความเสื่อมถอยของการรักษาศีลธรรมก็ไม่ใช่เพิ่งมีให้เห็นในยุคนี้ ในช่วงสงครามที่ผู้คนต้องช่วงชิงเพื่อความอยู่รอด มีความโหดร้ายและเสื่อมทรามมากกว่าช่วงโลกาภิวัฒน์ยิ่งนัก อาจกล่าวได้ว่าวัฒนธรรมของชาติมักถูกเก็บไว้มิดชิดและนำมาแสดงเฉพาะในยามที่ต้องการแสดงอัตลักษณ์ เช่น การรำวงเพื่ออวดอ้างความเป็นไทยในต่างแดน เป็นต้น

   การที่บางครั้งผู้ใหญ่กลัวว่าคนหนุ่มสาวจะไม่รู้จักกลั่นกรองเรื่องโลกาภิวัฒน์นั้น โดยหยิบยกเอาข้อด้อยหรือตัวอย่างคนหนุ่มสาวบางกลุ่มมาอ้างอิง เป็นสิ่งที่ควรทบทวนใหม่ คนหนุ่มสาวลองของใหม่แสดงถึงการมีความคิดก้าวหน้า ไม่ย่ำอยู่กับที่ เราต้องเชื่อมั่นในวิจารณญาณในการรับรู้และปรับแก้ของคนหนุ่มสาว เราก็ต้องเชื่อมั่นในกระบวนการขัดเกลาทางสังคมของประชาชนโดยไม่รู้สึกขัดใจกับตัวเราในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ ไม่เช่นนั้นเราก็จะกลายเป็น “ไดโนเสาร์ – เต่าล้านปี” เช่นที่เราเคยมองผู้ใหญ่ยุคก่อนเรา


รัฐบาลอ่อนแอลง?

   ท่านกล่าวว่าโลกาภิวัฒน์ทำให้รัฐชาติอ่อนแอลง แต่ด้านดีก็ทำให้ประชาชนได้รับการปลดปล่อย ท่านยังว่า รัฐบาลประชาธิปไตยหรือเผด็จการของไทยก็ไม่อาจต้านทานกระแสโลกาภิวัฒน์ได้ เพราะผู้บริหารประเทศไม่ได้ถูกออกแบบมาให้มีความสามารถดังกล่าว ผมไม่แน่ใจว่าในโลกนี้จะมีรัฐบาลใดได้ถูกออกแบบมาดังที่ อ.เสกสรรค์วาดหวัง และผมแปลกใจที่ขนาด อ.เสกสรรค์ในฐานะดุษฎีบัณฑิตทางด้านรัฐศาสตร์และอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ยังไม่เชื่อมั่นในการบริหารกลไกของรัฐ

   กรณีการค้าข้ามชาติที่ส่งผลสะเทือนในบางด้านและบางระดับก็มีมานานแล้ว ตั้งแต่สนธิสัญญาบาวริ่ง {4} ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ 100 ปีที่แล้ว เพียงแต่ในสมัยนั้นอัตราความเร็วของความเปลี่ยนแปลงอาจช้ากว่า อย่างไรก็ตามอำนาจรัฐของไทยก็ยังคงอยู่ และจำนวนประเทศเพื่อนบ้านที่เคยเป็นอาณานิคมก็กลับมีอธิปไตยเพิ่มขึ้น การสมคบกันระหว่างชนชั้นนายทุนใหญ่ของไทยกับนายทุนข้ามชาติก็มีมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมี และการสลายตัวของความเป็นชาติในอนาคต ซึ่งอาจกินเวลาอีกหลายร้อยหลายพันปี ก็คงพอคาดเดาความเป็นไปได้ แต่คงไม่ใช่ในช่วงสั้น ๆ ที่ยังมีการรบพุ่งอย่างเข้มข้นระหว่างชาติและศาสนาเช่นทุกวันนี้


โลกาภิวัฒน์ไม่ได้ดี/เลว

   ในความเป็นจริง กระแสและรูปธรรมของโลกาภิวัฒน์ ไม่ได้ดีหรือเลวในตัวมันเอง อ.เสกสรรค์อาจกล่าวว่า อินเตอร์เน็ตก็ไม่เสรี ถือเป็นกองหนุนของทุนนิยมโลก สื่อต่าง ๆ ก็เป็นการโฆษณาสินค้าและความคิดแบบทุนนิยม แต่ความจริงก็คือ สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงสื่อเท่านั้น ขึ้นอยู่กับคนนำไปใช้ และแน่นอนที่ในยุคที่นายทุนเป็นใหญ่ เวทีของสื่อเหล่านี้ย่อมมีนายทุนเป็นผู้แสดงหลัก แต่ผู้เห็นเป็นอื่นก็สามารถใช้เวทีเหล่านี้เช่นกัน

   สิ่งที่พระเจ้ามิลินกับพระนาคเสนถกกันเมื่อ 2,000 ปีมาแล้ว {5} หรือการเผยแพร่ความเชื่อทางศาสนาที่เพิ่งเริ่มเมื่อมีการตั้งพุทธสมาคมแห่งกรุงลอนดอนเมื่อปี 2467 ที่ อ.เสกสรรค์ยกขึ้นมาอ้าง คงไม่แพร่หลายเท่าปัจจุบันนี้หากไม่มีอินเตอร์เน็ทและกระแสโลกาภิวัฒน์เข้ามาช่วย และจากการแลกเปลี่ยนกันนี้ ทำให้เกิดการบูรณาการธรรมะครั้งใหญ่ที่สกัดเอาแต่แก่นธรรมโดยละทิ้งลักษณะและจารีตของแต่ละนิกายออกไป

   เป็นที่น่ายินดีที่เดี๋ยวนี้ พุทธศาสนิกชนก็นำอินเตอร์เน็ตอันเป็นรูปธรรมของโลกาภิวัฒน์มาใช้กันเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่พึงตรวจสอบก็คือ เราได้ทำอย่างเข้มข้น ต่อเนื่อง หรือได้ใช้อย่างหลากหลายหรือไม่ “ธรรมกาย” เป็นองค์กรหนึ่งที่น่าสนใจยิ่งในการใช้สื่อโลกาภิวัฒน์อย่างมีประสิทธิภาพสูงยิ่ง มีเว็บไซต์หลากหลาย และยังมีสื่อโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมของตนเองด้วย {6} จนเผยแพร่ความคิดไปได้อย่างกว้างไกลและมีประสิทธิผล แต่เสียดายบางท่านอาจไม่เห็นข้อดีนี้เพราะเพียงแค่ไม่ชอบ “ธรรมกาย”

   อย่างไรก็ตามการที่พุทธศาสนิกชนบางส่วนไม่สามารถเผยแพร่ธรรมะออกไปได้กว้างไกลนั้น ไม่ใช่เพราะขาดทักษะด้านโลกาภิวัฒน์เท่านั้น แต่อยู่ที่การติดกรอบของตนเอง มีอัตตาสูง ซึ่งทำให้คนอื่นปฏิเสธตั้งแต่แรกพบแล้ว เช่น “แฟชั่น” การแต่งกาย ทรงผม ภาษาและการพูด หรือการแสดงออกที่ตายตัวเฉพาะกลุ่ม ซึ่งผิดกับภาพลักษณ์ของพระพุทธเจ้าที่สามารถทำให้ผู้คนศรัทธาและประทับใจตั้งแต่แรกพบ


ข้อเท็จจริงเรื่องการฆ่าตัวตาย

   อ.เสกสรรค์กล่าวว่า การฆ่าตัวตายในประเทศไทยมีเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ นี่เป็นความเข้าใจผิด ในปี 2549 มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 5.7 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน เป็นตัวเลขที่ลดลงจากปี 2548 ที่ 6.3 คน ปี 2547 ที่ 6.9 คน และปี 2546 ที่ 7.1 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน {7} และหากเปรียบเทียบกับทั่วโลก ไทยจัดอยู่อันดับที่ 72 จาก 100 ประเทศ ซึ่งถือว่าต่ำมาก ประเทศอันดับต้น ๆ ได้แก่ ลิทัวเนีย (91.7 คน) รัสเซีย (82.5 คน) เบเรรุส (73.1 คน) ศรีลังกา (61.4 คน) ญี่ปุ่น (50.6 คน) และ คิวบา (36.5 คน) ซึ่งเป็นประเทศที่มีความเครียดหรือปัญหาความมั่นคงภายใน {8}

   เรื่องความเชื่อว่าการฆ่าตัวตายมีมากขึ้น อาจดูเป็นเพียงความเข้าใจผิดเล็ก ๆ แต่ที่ผมขอบ่งชี้ก็เพราะว่าเรามักใช้ความเข้าใจผิดที่ขาดข้อมูลและการไตร่ตรองเท่าที่ควรนี้มาสร้างความรู้สึกที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ผู้ที่ฟังโดยศรัทธาในตัวผู้พูดก็อาจเกิดความเชื่อหรือความหลงตาม ๆ กันไปโดยขาดการพิสูจน์หรือใช้วิจารณญาณ


การหันเข้าหาศาสนา

   มีปรากฏการณ์ให้เห็นอยู่ทั่วไปที่คนไม่มีศาสนาหันมานับถือศาสนา หรือบางคนก็เปลี่ยนศาสนา ทั้งนี้เป็นเพราะความตกต่ำสุดขีดในชีวิตการงานและครอบครัว  อ.เสกสรรค์ก็เคยเล่าว่า “. . . เผชิญความทุกข์อันเนื่องมาจากการคิดต่างจากกระแสหลัก การยืนต้านสังคม . . . อย่างต่อเนื่องยาวนาน มันพาผมมาถึงจุดที่หมดแรง กระทั่งนำไปสู่ชีวิตส่วนตัวที่ล้มเหลว . . . ผมกับภรรยาได้แยกทางเดินกัน . . . มันสั่นคลอนความรู้สึกนึกคิดของผมถึงขั้นราก. . .” {9} “ผมล้มแรง ๆ มาหลายครั้งแล้ว” และท่านเองก็เคยรู้สึกเป็น “สิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์” {10} นี่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ อ.เสกสรรค์ซึ่งไม่แตกต่างจากบุคคลทั่วไป

   ท่านยังกล่าวว่า “(ประมาณปี 2545) . . . ได้พาผมย้ายความคิดจากทางโลกมาสู่ทางธรรมมากขึ้นแบบรู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง . . . ผมแปลกใจมากเพราะเดิมเป็นคนที่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมาเยอะ อย่าให้ผมพรรณนาเลยว่าทำอะไรมาบ้าง ผมเป็นคนที่ทำบาปมาเยอะมาก วันดีคืนดีพบตัวเองมีจิตใจแบบนี้ มันอธิบายไม่ถูกเหมือนกันว่าเป็นไปได้อย่างไร” {11} ข้อนี้พึงอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็ไม่น่าแปลกใจ เป็นการกลับเข้าสู่ภาวะปกติของมนุษย์ที่ผ่านการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมาจนเกินควรนั่นเอง


ศาสนากับการเยียวยา

   ท่านชี้ให้เห็นว่า คนเราต้องสร้างสันติสุขในใจด้วยการกอบกู้สติสัมปชัญญะ ผมเชื่อว่าคนปกติที่ไม่ยึดติดกับอัตตาจนเกินไปหรือไม่ได้เตลิดไปไกลด้วยฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมากมาย ก็มีสติอยู่แล้ว ในแง่หนึ่งศาสนาสามารถใช้บำบัดผู้ป่วยทางจิตหรือผู้ติดยาเสพติด และยังสามารถใช้เยียวยาสังคมได้ด้วย อย่างไรก็ตามบางครั้งศาสนากลายเป็นสิ่งเสพติดที่ผู้เสพจำนวนหนึ่งรู้สึกดีในขณะเสพ เช่น นั่งสมาธิหรือสมาคมอยู่ในกลุ่มผู้นับถือลัทธินิกายเดียวกัน แต่เมื่ออยู่ในสังคมทั่วไป ก็กลับมารุ่มร้อนเหมือนเดิม

   อ.เสกสรรค์บอกว่า พุทธธรรมอยู่เหนือวิทยาศาสตร์ที่ยังอธิบายหลายอย่างไม่ได้ ท่านว่าวิทยาศาสตร์เข้าใจแต่สิ่งภายนอกตัวและกายภาพ แต่ปฏิเสธการดำรงอยู่ของจิต ข้อนี้ผมขอเห็นแย้งเพราะทั้งปรัชญาจิตนิยมและวัตถุนิยมต่างเห็นการดำรงอยู่ของทั้งวัตถุและจิต เพียงแต่ให้น้ำหนักต่างกัน วิทยาศาสตร์แบ่งเป็นวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์สังคม พุทธศาสตร์ก็เป็นวิทยาศาสตร์สังคมที่สามารถพิสูจน์ได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ที่พระพุทธเจ้าเชื้อเชิญให้พิสูจน์มานับ 2551 ปีแล้ว กาลามสูตรก็แสดงถึงความเป็นวิทยาศาสตร์โดยเนื้อแท้ {12}

   ช่วงหนึ่งของปาฐกถา ท่านกล่าวว่าองค์ทะไลลามะแห่งทิเบต {13} ได้รับการยอมรับแม้กระทั่งจากคนในรัฐบาลของสหรัฐอเมริกา เพราะพระองค์สอนให้คนทั่วโลกรักและเข้าใจจีนทั้งที่จีนจะรังแกทิเบต ข้อนี้ผมขอมองต่างมุม กล่าวคือ การที่สหรัฐอเมริกายกย่ององค์ทะไลลามะ ก็เพื่อเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมืองระหว่างประเทศกับจีน สหรัฐอเมริกาเชื่อคำสอนของพระองค์จริงหรือ คำสอนของพระองค์เป็นแค่คำหวานหรือไม่ ท่านติช นัท ฮันห์ พระนิกายเซ็นชาวเวียดนามก็ยังเคยพาชาวยิวกับชาวปาเลสไตน์ไปแลกเปลี่ยนความเห็นกันด้วยความรักและความเมตตาเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้ผล {14}


ตัวตนของ อ.เสกสรรค์

   ท่านเคยเป็นผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 (สมัยนั้นผมเรียนอยู่ ม.ศ.2) เคยเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในช่วง ปี 2518 – 2523 บุคคลทั่วไปอาจยึดติดกับภาพผู้นำนักศึกษาของท่านมากไป ความจริงมีผู้นำหลายคนในช่วงนั้น และอุดมการณ์ของคนหนุ่มสาวในยุคนั้นก็เป็น “แฟชั่น” ที่ไม่มีรากหยั่งลึกอะไร และการเข้าร่วมกับพรรคข้างต้น ก็มีผู้เข้าร่วมมากมาย หลายคนสร้างวีรกรรมยิ่งกว่าท่าน ท่านเองก็ไม่ใช่ผู้นำพรรค การพ่ายแพ้ของพรรคก็ไม่ได้เป็นเพราะท่านแต่อย่างใด เราไม่ควรผูกท่านไว้กับภาพลักษณ์ 10 ปีแรก ๆ ของท่าน

   แม้ อ.เสกสรรค์มีงานเขียนมากมาย {15} แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่ผลงานทางวิชาการที่ต่อยอดความรู้ทางคณะรัฐศาสตร์ที่ท่านรับราชการอยู่ รายการเอกสารและวีดีทัศน์ของท่าน ณ สำนักหอสมุดกลาง ธรรมศาสตร์ แม้จะมีถึง 58 รายการ แต่ส่วนมากเป็นบทกวีหรืองานอื่น {16} ข้อนี้อาจแตกต่างจากนักวิชาการอื่นที่เป็นอดีตผู้นำนักศึกษาที่มักมีผลงานวิชาการมากมาย เช่น รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ ศ.ดร.สมบัติ ธำรงค์ธัญวงศ์ ศ.ดร.ธงชัย วินิจกุล รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข เป็นต้น ผมเข้าใจว่าฐานะของอาจารย์มหาวิทยาลัยไทยอาจมีอิสรภาพมาก แต่หากเป็นในสหรัฐอเมริกา ข้าราชการที่เขียนหนังสืออื่นออกมาขายอาจถูกตรวจสอบในประเด็นการใช้เวลาและทรัพยากร


การมีส่วนร่วม

   ในงานแสดงปาฐกถานี้ ผู้จัดงานขอให้ผู้เข้าร่วมงาน “บริจาคตามกำลังทรัพย์” ผมสอบถามดูทราบว่ามีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน ผมยืนนับเงินที่บริจาคในกล่องพลาสติกได้ประมาณ 6,000 บาท แสดงว่าคนหนึ่งบริจาคเป็นเงิน 30 บาท และผมได้ใส่เพิ่มอีก 1,000 บาท อย่างไรก็ตามเชื่อว่าต้นทุนการจัดงานทั้งค่าดูแลสถานที่ ของชำร่วยวิทยากร การประสานงาน การประชาสัมพันธ์ แรงงานของผู้จัดงาน ฯลฯ รวมกันแล้วคงเป็นเงินจำนวนไม่น้อย

   แต่ผู้จัดงานก็คงไม่คิดหวังเอากำไรจากการนี้และยินดีให้เปล่าเพื่อการกุศล แต่ผู้เข้าร่วมก็ควรเล็งเห็นถึงต้นทุนของสิ่งที่เรามารับ ด้วยการร่วมบริจาค เพื่อไม่เป็นการเบียดเบียนและที่สำคัญเป็นการสมทบทุนสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป จิตสำนึกการจ่ายเพื่อรับบริการนี้สำคัญมากในการยกระดับจิตใจโดยเริ่มที่ตัวเราเองก่อนโดยเฉพาะกลุ่มที่มุ่งหวังช่วยคนอื่น เช่น องค์กรอาสาสมัครเอกชนต่าง ๆ



   ในตอนท้ายของการแสดงปาฐถกา ทั้ง อ.เสกสรรค์และ อ.สุลักษณ์ต่างก็ชี้ให้เห็นว่า เราต้องศึกษาให้รู้จริงก่อนเชื่อ ถือเป็นคำสอนที่พึงสังวรเป็นอย่างยิ่ง การเชื่อโดยศรัทธาครูอาจารย์โดยขาดการใช้วิจารณญาณก็เป็นข้อเตือนใจหนึ่งในกาลามสูตร ผมเชื่อว่าเราต้องมีข้อมูลที่แน่นหนา ตรวจสอบได้ และมีการศึกษาวิจัยโดยใช้ปัญญาพิจารณา การเชื่อตาม ๆ กันโดยไม่ได้ศึกษาสภาพที่เป็นจริงก็ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่ อ.เสกสรรค์เคยสังกัด พังมาแล้ว อย่าให้พุทธศาสตร์กลายเป็นไสยศาสตร์ จิตนิยมหรือสิ่งที่ปฏิเสธวิทยาศาสตร์ไปเป็นอันขาด


หมายเหตุ:

   {1} ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล แสดงปาฐกถาเสมพริ้งพวงแก้ว ครั้งที่ 14 เรื่อง “พุทธธรรมในยุคโลกาภิวัตน์” จัดโดย มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2551 ณ เรือนร้อยฉนำ คลองสาน กรุงเทพมหานคร โปรดดู File เสียงที่ http://www.semsikkha.org/semmain/3-report/org_report/ram/sem_lec14th/lecture.wma หรืออ่านสรุปได้ที่ http://www.prachatai.com/05web/th/home/11182

   {2} โสภณ พรโชคชัย เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์และการพัฒนาเมือง จบวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตด้านการวางแผนพัฒนาเมือง จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย ขณะนี้เป็นประธานกรรมการมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย กรรมการหอการค้าไทยสาขาอสังหาริมทรัพย์ สาขาจรรยาบรรณและสาขาเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นกรรมการสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินอาเซียน และกรรมการที่ปรึกษาสถาบันประเมินค่าทรัพย์สินสหรัฐอเมริกา Email: sopon@thaiappraisal.org

   {3} อ.วิทยากร เชียงกูล เขียน “ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมาย สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว”ที่ http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=birdwithnolegs&month=04-2007&date=17&group=4&gblog=4

   {4} สัญญาบาวริ่ง ในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดดูที่ http://home.kku.ac.th/history/suwit/course/418113.pdf

   {5} โปรดดูรายละเอียดที่ มิลินทปัญหา วรรคที่ 1-7 http://www.dhammathai.org/milin/milin01.php และ http://www.geocities.com/i4058980/milin/ml12.htm

   {6} โปรดดูรายละเอียดที่ http://www.dmky.com/

   {7} ข่าว “เผยสถิติฆ่าตัวตายคนไทยลด จับตา ‘ระยอง’ มาแรงเสี่ยงแซงทุกจังหวัด” http://www.dmh.go.th/sty_libnews/news/view.asp?id=7653

   {8} โปรดดูตารางขององค์การอนามัยโลก http://www.who.int/mental_health/prevention/suicide/suiciderates/en และดูเพิ่มเติมในแผนที่โลกที่ http://www.who.int/mental_health/prevention/suicide/suicideprevent/en 

   {9} จากวารสาร ปาจารยสาร ตุลาคม-พฤศจิกายน 2549 หน้า 44-45

   {10} โปรดดูบทความ “ความปวดร้าวของค้างคาว” http://www.suvinai-dragon.com/way_kwampuad.html

   {11} ตามข้อ 8

   {12} กาลามสูตร 10 คือ อย่าปลงใจเชื่อ 1.ด้วยการฟังตามกันมา 2.ด้วยการถือสืบ ๆ กันมา 3.ด้วยการเล่าลือ 4.ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์ 5.ด้วยตรรก 6.ด้วยการอนุมาน 7.ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล 8.เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน 9.เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อ และ 10.เพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา เราจะเชื่อก็ต่อเมื่อพิจารณาเห็นด้วยปัญญา (ที่มาคือ http://larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/002684.htm)

   {13} โปรดดูรายละเอียดเกี่ยวกับองค์ทะไลลามะที่ http://www.skyd.org/html/priest/dalai.html

   {14} โปรดดู บทความ “ธรรมะจากท่านติช นัท ฮันห์” http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ID=8401&Key=HilightNews   

   {15} โปรดดูรายการหนังสือประมาณ 30 เล่ม และบทความอีกบางส่วนได้ที่ http://www.geocities.com/siamintellect/intellects/sakesan/articles.htm

   {16} โปรดดู http://search.library.tu.ac.th/ipac20/ipac.jsp?profile=pridi&menu=search&submenu=advanced#focus และพิมพ์ชื่อ อ.เสกสรรค์ ที่ Author Keyword
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
    กระโดดไป: