ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
25-04-2024, 22:41
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สภากาแฟ  |  เปิดข้อกล่าวหา "ทักษิณ-พจมาน" 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
เปิดข้อกล่าวหา "ทักษิณ-พจมาน"  (อ่าน 947 ครั้ง)
********Q********
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 8,520


I'm Looking At You.


เว็บไซต์
« เมื่อ: 26-01-2008, 16:43 »




เปิดข้อกล่าวหา "ทักษิณ-พจมาน"
ประชาชาติธุรกิจ  วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3966 (3166)

ต้นมกราคมที่ผ่านมา คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้จัดทำบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กรณีกระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคล และประโยชน์ส่วนรวม กรณีทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่แปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต โดยส่งไปยังภูมิลำเนาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และภริยา เพื่อให้มาชี้แจงข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน "ประชาชาติธุรกิจ" สรุปบันทึก คตส.มานำเสนอท่านผู้อ่านดังนี้

เมื่อครั้งท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใน 2 วาระ ตามประกาศแต่งตั้งนายกฯ ลงวันที่ 9 ก.พ.2544 และลงวันที่ 9 มี.ค.2548 นั้น ท่านและคู่สมรสคือคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ยังคงถือไว้ซึ่งหุ้นในบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือบริษัทชินคอร์ป เป็นบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐ ทั้งนี้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมอันเป็นการกระทำที่เป็นการขัดกัน ระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม

ต่อมาในระหว่างที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกฯ ท่านได้ใช้อำนาจสั่งการและผลักดันให้ตรา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 และ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ภาษี สรรพสามิต พ.ศ.2527 พ.ศ.2546 กำหนดให้เก็บภาษีสรรพสามิตในกิจการโทรคมนาคม แล้วมีมติคณะรัฐมนตรีให้บริษัทคู่สัญญาสัมปทานโทรคมนาคมนำค่าภาษีดังกล่าวมาหักกลบลดภาระค่าสัมปทานได้ อันเป็นการเอื้อประโยชน์โดยมิชอบต่อธุรกิจสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเครือบริษัทชินคอร์ป

การกระทำทั้ง 2 กรณีข้างต้นเป็นความผิดที่มีมูลความผิดเกี่ยวเนื่องกัน แต่ต่างกรรมต่างวาระและต่างฐานความผิดกัน ดังจะขอกล่าวหาไปโดย ลำดับดังนี้

กรณีกระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม (อ่านประกอบ น.40)

ท่านและคู่สมรสยังคงถือไว้ซึ่งหุ้นบริษัทชินคอร์ป และบริษัทชินคอร์ปนั้นเป็นธุรกิจสัมปทาน อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายดังต่อไปนี้

ข้อ 1.ท่านและคู่สมรสยังคงถือไว้ซึ่งหุ้นบริษัทชินคอร์ป จำนวนรวม 1,496,799,250 หุ้น เป็น 2 ลักษณะคือ ถือหุ้นผ่านบริษัทที่ท่านและคู่สมรสเป็นเจ้าของ และถือหุ้นโดยใช้ชื่อบุตร และพี่น้องดังต่อไปนี้

1.1 พฤติการณ์คงถือไว้ซึ่งหุ้นบริษัทชินคอร์ป ผ่านบริษัทที่ท่านเป็นเจ้าของ

ท่านและคู่สมรสได้คงถือไว้ซึ่งหุ้นบริษัทชินคอร์ป โดยถือผ่านบริษัทที่ท่านเป็นเจ้าของรวม 2 บริษัท เป็นจำนวน 329,200,000 หุ้น และ 54,059,130 หุ้น (มูลค่าราคาพาร์ 1 บาท) โดยลำดับ คือ

1.1.1) ท่านได้จดทะเบียนตั้งบริษัท แอมเพิล ริช อินเวสต์เมนต์ จำกัด ("บริษัทแอมเพิล ริชฯ") ขึ้นตามกฎหมายเกาะบริติชเวอร์จิน มีวัตถุประสงค์เพื่อถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปโดยเฉพาะ โดยมีท่านเป็นเจ้าของบริษัทแอมเพิล ริชฯนี้แต่เพียงผู้เดียว จากนั้นในปี 2542 ท่านได้โอนหุ้นบริษัทชินคอร์ป บางส่วนที่ท่านถืออยู่ ให้บริษัทแอมเพิล ริชฯเป็นจำนวนหุ้นที่โอน 329,200,000 หุ้น จึงทำให้ท่านเป็นเจ้าของหุ้นบริษัทชินคอร์ปส่วนนี้ผ่านบริษัทแอมเพิล ริชฯ นับแต่บัดนั้น

ต่อมาเมื่อท่านได้โอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปส่วนที่เหลือให้เป็นชื่อบุตรและ พี่น้องในปี 2543 นั้น ท่านก็มิได้ระบุถึงการถือหุ้นบริษัทชินคอร์ป 329,200,000 หุ้นนี้ไว้ในรายงานการจำหน่ายหลักทรัพย์ (แบบ 246-2) แต่อย่างใด จนเมื่อขึ้นเป็นนายกฯ ก.พ.2544 แล้ว ท่านจึงได้ชี้แจงต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อ ต.ค.2544 ว่า แท้จริงนั้นท่านได้โอนหุ้นบริษัทแอมเพิล ริชฯทั้งหมดให้นายพานทองแท้ ชินวัตร ไปแล้วตั้งแต่ ธ.ค.2543

อันเป็นการอธิบายย้อนหลังโดยเลื่อนลอยไม่มีพยานหลักฐานใดมาสนับสนุน ซึ่งตามหลักฐานเอกสารเปิดบัญชี รับดูแลจัดการทรัพย์สินที่ธนาคารยูบีเอส เอจี สิงคโปร์ (ธนาคารยูบีเอสฯ) ได้ให้ไว้แก่บริษัทแอมเพิล ริชฯนั้น ได้ยืนยันข้อเท็จจริงโดยเอกสารเปิดบัญชีลงวันที่ 11 มิ.ย.2542 ว่า ท่านเป็นผู้มีอำนาจลงนามเบิกถอนทรัพย์สินแต่เพียงผู้เดียว จนถึง 29 มิ.ย.2548 จึงได้เปลี่ยนมาระบุเป็นนายพานทองแท้ ชินวัตร และ นางสาว พินทองทา ชินวัตร ซึ่งผู้มีชื่อทั้งสองไม่ทราบเรื่องการจัดการดูแลหุ้นบริษัท ชินคอร์ปจำนวนนี้ ในธนาคารยูบีเอสฯแต่อย่างใด

1.1.2) ท่านและคู่สมรส คือ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ยังได้เป็นเจ้าของบริษัท วินมาร์ค จำกัด (บริษัทวินมาร์ค) ซึ่งเป็นบริษัทตามกฎหมายเกาะบริติชเวอร์จินอีกบริษัทหนึ่ง และได้ใช้ชื่อบริษัทนี้ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปไว้ ปรากฏยอดทางบัญชีในเดือนมีนาคม 2544 ถึงเดือนมกราคม 2549 เป็นจำนวน 54,059,130 หุ้น ซึ่งตามหลักฐานในเอกสารเปิดบัญชีรับดูแล ทรัพย์สินที่ธนาคารยูบีเอสฯได้ให้ไว้แก่บริษัทวินมาร์ค ระบุว่า ท่านและคู่สมรสเป็น ผู้มีอำนาจเบิกถอนทรัพย์สินเช่นกัน

1.1.3) หลักฐานสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้เชื่อว่าท่านและภริยายังคงถือไว้ซึ่งหุ้นบริษัทชินคอร์ป ผ่านบริษัทแอมเพิล ริชฯ และบริษัทวินมาร์ค คือ พฤติการณ์จัดการดูแลหุ้นบริษัทชินคอร์ป ที่เกิดขึ้นในบัญชีธนาคาร ยูบีเอสฯ ในช่วงปี 2544 ที่ได้เริ่มมีการย้ายหุ้นบริษัทชินคอร์ปของบริษัท วินมาร์คจำนวน 54,059,130 หุ้น ซึ่งเปิดบัญชีฝากไว้ในนามธนาคารยูบีเอสฯ บัญชีเลขที่ 8002480002 ที่ธนาคารซิตี้แบงก์ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็น custodian ก่อน จากนั้นจึงได้มีการย้ายหุ้นบริษัทชินคอร์ป 100,000,000 หุ้น ของบริษัทแอมเพิล ริชฯ ไปฝากไว้กับธนาคารยูบีเอสฯ ในบัญชีเดียวกันกับบัญชีหุ้นบริษัทชินคอร์ป ของบริษัทวินมาร์ค บัญชีเลขที่ 8002480002 เมื่อเดือนสิงหาคม 2544

ปรากฏว่าเมื่อได้รับโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ป ของบริษัทแอมเพิล ริชฯแล้ว ธนาคารยูบีเอสฯก็ได้มีหนังสือรายงานต่อ ก.ล.ต.ว่า ธุรกรรมดังกล่าวได้ยังผลให้ธนาคารต้องรับดูแลจัดการหุ้นบริษัทชินคอร์ปของบุคคลหนึ่ง เพิ่มขึ้นเกินระดับ 5% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดตามหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต. จึงขอรายงานให้ ก.ล.ต.ได้ทราบ ซึ่งก็หมายความว่าตามข้อมูลของธนาคาร ยูบีเอสฯนั้น ธนาคารยูบีเอสฯได้พบว่า ทั้งบริษัทวินมาร์คและบริษัทแอมเพิล ริชฯ เป็นของบุคคลเดียวกัน ดังนั้นเมื่อหุ้นบริษัทชินคอร์ปของทั้ง 2 บริษัทมาอยู่ในการจัดการดูแลของธนาคารยูบีเอสฯ ธนาคารยูบีเอสฯจึงต้องนำหุ้น ทั้ง 2 จำนวนนี้มารวมเข้าด้วยกัน จากเดิมที่มีอยู่ 54,059,130 หุ้น รับเพิ่มอีก 100,000,000 หุ้น เป็น 154,059,130 หุ้น ซึ่งคิดเป็น 5.24% ของยอดหุ้นบริษัทชินคอร์ปทั้งหมด ซึ่งเมื่อเพิ่มจนเกินระดับ 5% แล้ว ธนาคารยูบีเอสฯจึงได้รายงานต่อ ก.ล.ต.ไทยตามกฎหมาย

ด้วยพยานหลักฐานสำคัญ 3 ประการเช่นที่ลำดับมา บริษัทแอมเพิล ริชฯ และบริษัทวินมาร์ค จึงยังเป็นของท่านและคู่สมรสตลอดมา ท่านทั้งสองจึงยังคงถือไว้ซึ่งหุ้นบริษัทชินคอร์ป ผ่านบริษัทแอมเพิล ริชฯ และบริษัทวินมาร์ค เป็นจำนวน 329,200,000 หุ้น และ 54,059,130 หุ้น ตามลำดับ

1.2 พฤติการณ์คงถือไว้ซึ่งหุ้นบริษัทชินคอร์ป โดยใช้ชื่อบุตรและพี่น้อง

ท่านและคู่สมรสได้ใช้ชื่อ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์, นายพานทองแท้ ชินวัตร, นางสาวพินทองทา ชินวัตร และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถือหุ้นไว้แทนตนเป็นจำนวน 1,113,540,120 หุ้น (มูลค่าราคาพาร์ 1 บาท) ดังนี้

1.2.1) ในช่วงปี 2534 ถึงกรกฎาคม 2543 ท่านและคู่สมรสได้ทำ หลักฐานให้นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ มีชื่อถือหุ้นบริษัทชินคอร์ป แทนตนเองรวม 91,339,900 หุ้น โดยพฤติการณ์ดังนี้

ก.หุ้นจำนวน 23,249,750 หุ้น เป็นหุ้นที่ท่านเคยต้องคดีจงใจแจ้งบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จโดยใช้ชื่อคนรับใช้และบริวารถือแทน และในการต่อสู้คดี ดังกล่าว นายบรรณพจน์ได้อ้างว่าในช่วงปี 2534 ถึงเดือนกรกฎาคม 2543 นั้น ท่านและคู่สมรสได้โอนหุ้นดังกล่าวให้แก่นายบรรณพจน์แล้ว ซึ่งมิได้มีหลักฐานใดมาสนับสนุนเลย

ข.หุ้นจำนวน 68,090,150 หุ้น เป็นหุ้นที่นายบรรณพจน์ถือแทนโดยได้มาจากการใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนเมื่อปี 2542 และปรากฏว่าได้ใช้เงินของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ชำระค่าหุ้น โดยนายบรรณพจน์ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้ถือไว้ และมิเคยมีการชำระหนี้คืนจนถึงปัจจุบัน ทำให้เชื่อว่าเป็นการใช้ชื่อซื้อหุ้นแทนเท่านั้น

อนึ่ง หุ้นบริษัทชินคอร์ปจำนวน 91,339,900 หุ้นนี้ ไม่รวมถึงหุ้นบริษัท ชินคอร์ปจำนวน 45,000,000 หุ้น ที่คู่สมรสของท่านได้โอนให้นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2540 เป็นจำนวน 4.5 ล้านหุ้น และเปลี่ยนจำนวนเป็น 45 ล้านหุ้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงมูลค่าราคาจดทะเบียนต่อหุ้น จากราคาหุ้นละ 10 บาท เป็นหุ้นละ 1 บาทในภายหลัง ซึ่งหุ้นจำนวนนี้ คณะกรรมการตรวจสอบฯ (คตส.) ได้มีมติเห็นควรให้เรียกเก็บภาษีไปแล้ว

1.2.2) ต่อมาในปี 2543 หลังจากที่ท่านได้ตั้งพรรคการเมือง และมี กฎหมายรัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2540 กับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ได้บัญญัติห้ามมิให้รัฐมนตรีคงถือไว้ซึ่งหุ้นธุรกิจสัมปทานแล้ว ขณะนั้นท่านและคู่สมรสยังถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปอยู่อีกจำนวนหนึ่ง คือ 1,022,200,220 หุ้น หรือ 34.07% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดในขณะนั้น และท่านกับคู่สมรสก็ได้นำชื่อบุตรและพี่น้องมาเป็นผู้ถือหุ้นแทน โดยท่านและคู่สมรสแจ้งเป็นรายงานต่อ ก.ล.ต.ว่า ได้ขายหุ้นทั้งหมดให้แก่บุตรและพี่น้องแล้ว เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2543 ดังรายการต่อไปนี้

ก.หุ้นจำนวน 733,950,220 หุ้น หรือ 24.99% ใช้ชื่อนายพานทองแท้ ชินวัตร เป็นผู้ถือหุ้นแทน โดยในรายงานระบุว่า นายพานทองแท้ซื้อจากท่านและจากคุณหญิงพจมาน ชินวัตร

ข.หุ้นจำนวน 268,250,000 หุ้น ใช้ชื่อนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ เป็น ผู้ถือหุ้นแทน โดยในรายงานระบุว่านายบรรณพจน์ซื้อจากคุณหญิงพจมาน ชินวัตร

ค.หุ้นจำนวน 20,000,000 หุ้น ใช้ชื่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้ถือหุ้นแทน โดยในรายงานระบุว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ซื้อจากท่าน

ง.ต่อมาเมื่อบุตรสาวของท่าน คือ นางสาวพินทองทา ชินวัตร ได้บรรลุนิติภาวะแล้ว ทำให้ไม่ต้องแจ้งทรัพย์สินรวม ไว้ในบัญชีแสดงทรัพย์สินและ หนี้สินของท่านที่ต้องยื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชื่อของนางสาวพินทองทา ชินวัตร จึงได้ถูกนำมาใช้แบ่งซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ป จากนายพานทองแท้ ชินวัตร 2 ครั้ง ในปี 2545 และ 2546 รวม 440,000,000 หุ้น จนเหลือหุ้นที่ใช้ชื่อนายพานทองแท้ ชินวัตรอยู่ 293,950,220 หุ้น โดยคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็นผู้ออกเงินซื้อหุ้นดังกล่าวให้แก่นางสาวพินทองทา ชินวัตร และเมื่อนายพานทองแท้ ชินวัตร รับเงินนี้มาแล้ว ก็ส่งคืนให้คุณหญิงพจมานทันที

1.2.3) ผู้มีชื่อถือหุ้นบริษัทชินคอร์ป ตามข้อ 1.2.1) และ 1.2.2) รวม 1,113,540,120 หุ้นนี้ ล้วนมีพฤติการณ์แสดงตรงกันว่าเป็นแต่เพียงผู้มีชื่อถือหุ้นแทนท่านและคู่สมรสเท่านั้น กล่าวคือ

ก.ผู้มีชื่อซื้อหุ้นทั้งปวงมิได้ชำระเงินค่าหุ้นแต่อย่างใด ใช้วิธีออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้คู่สมรสของท่านยึดถือไว้ ส่วนราคาที่ซื้อขายที่แจ้งไว้นั้นก็ขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดถึง 15 เท่า

ข.ผู้มีชื่อถือหุ้นทั้งปวงยกเว้นนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ มิเคยได้รู้เห็นร่วมประชุมบริษัท หรือรู้เห็นในการเจรจาขายหุ้นให้กองทุนเทมาเส็กเลย

ค.ผู้มีชื่อถือหุ้นทั้งปวงไม่ได้รับเช็คค่าเงินปันผลหุ้นบริษัทชินคอร์ปด้วยตนเอง เพราะบริษัทชินคอร์ปได้แจ้งไปยังบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด ให้จ่ายเงินปันผลทั้งหมดเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะเข้าบัญชี (A/C Payee Only) ของผู้มีชื่อถือหุ้น และส่งเช็คดังกล่าวให้แก่พนักงานบริษัทเท่านั้น จากนั้นพนักงานบริษัทชินคอร์ปคนสนิทของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ก็จะรับเช็คเงินปันผลทั้งปวงไปจัดการนำเข้าบัญชีต่างๆ มาโดยตลอด

ง.เมื่อมีการนำเช็คเงินปันผลเข้าบัญชีเงินฝากของผู้มีชื่อถือหุ้นทุกรายแล้ว เงินปันผลที่รับเข้าบัญชีจะถูกถ่ายโอนมายังท่านและคู่สมรส จนเกินจำนวน ที่อ้างว่าเป็นหนี้ค่าซื้อหุ้นเป็นอันมาก

ข้อ 2.บริษัทชินคอร์ป เป็นบริษัทธุรกิจรับสัมปทานจากรัฐใน 2 ธุรกิจด้วยกัน คือ ธุรกิจให้บริการสื่อสารดาวเทียม ธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่

ข้อ 3.การที่ท่านและคู่สมรสยังคงถือไว้ซึ่งหุ้นบริษัทชินคอร์ป จำนวน 1,496,799,250 หุ้น แล้วเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100 วรรคหนึ่ง (3) และวรรคสอง ประกอบด้วยประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช.เรื่อง กำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการตามความในมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 พ.ศ.2544 ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2544 กรณีนี้จึงเป็นความผิดตามมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว

การกระทำความผิดข้างต้นนี้ แม้บางส่วนจะกระทำโดยคู่สมรสของท่านก็ตาม แต่มาตรา 100 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ได้กำหนดให้ถือว่าการกระทำของคู่สมรสเป็นการกระทำของท่าน ท่านจึงตกเป็นตัวการผู้กระทำความผิด ตามข้อกล่าวหานี้แต่เพียงผู้เดียว โดยกระทำความผิดเป็น 2 กรรม 2 วาระด้วยกัน ทั้งเมื่อท่านเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 และสมัยที่สอง เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2548

จึงขอให้ท่านชี้แจงข้อกล่าวหาที่หนึ่งดังกล่าว

กรณีทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่แปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต

มาตรการแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต

เมื่อท่านเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยแรกนั้น โครงสร้างการประกอบกิจการโทรคมนาคมของไทย กำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน จากระบบผูกขาดโดยรัฐเข้าสู่ระบบเสรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และตามบทเฉพาะกาลในพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ซึ่งตามกฎหมายนี้รัฐบาลของท่าน มีหน้าที่ต้องผลักดันแปรสัญญาสัมปทานโทรศัพท์ให้เป็นไปตามกฎหมายดังกล่าว แต่ท่านและหน่วยงานในบังคับบัญชา หรือกำกับดูแลของท่านกลับไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และร่วมกันใช้อำนาจกำหนดมาตรการ แปรสัญญาโทรคมนาคม ไปเป็นมาตรการแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต

สรุปข้อกล่าวหา มาตรการแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิตนี้ ยังประโยชน์ต่อธุรกิจโทรคมนาคมของบริษัทของท่านอย่างสำคัญ และ ตัวท่านเองก็มีพฤติการณ์สั่งการให้ข้าราชการที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการอย่างสอดประสานกัน ในราชการที่ท่านมีส่วนได้ส่วนเสียอยู่อย่างชัดแจ้ง

โดยที่ภาระภาษีสรรพสามิตกับภาระค่าสัมปทาน เป็นภาระคนละประเภทกัน ที่ไม่อาจนำมาหักกลบลบกันได้ มติคณะรัฐมนตรีที่ให้ผู้รับสัมปทานนำ ค่าภาษีมาหักลดค่าสัมปทานลงจากเดิมจึงเป็นการมิชอบ เพราะการลดค่าสัมปทานใดๆ นั้น ต้องทำโดยการแก้ไขสัญญา ซึ่งก็มีกฎหมายร่วมทุนกำหนดขั้นตอนและขอบเขตการใช้อำนาจไว้โดยเฉพาะแล้ว ประโยชน์ที่เอกชนได้ไปจากมติคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้จึงเป็นประโยชน์ที่มิสมควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และท่านเป็นผู้สั่งการให้ข้าราชการต่างๆ ร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่ให้เกิดขึ้น เพื่อมุ่งให้ธุรกิจของตนได้รับประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

การกระทำของท่านดังกล่าว จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้น การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามมาตรา 152 และมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

จึงขอให้ท่านชี้แจงข้อกล่าวหาดังกล่าว

บันทึกการเข้า

********Q********
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 8,520


I'm Looking At You.


เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 26-01-2008, 16:45 »



พลิกแฟ้มคดี "ที่ดินรัชดาฯ-เอสซีฯ" เหตุผลที่ "หญิงอ้อ" เดินทางกลับ
มติชนรายวัน  วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10897

หนึ่งในเหตุผลการเดินทางกลับมาของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับมาประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2551 ก็เพื่อสู้คดีที่ดินรัชดาฯ และคดีการโอนหุ้นชินคอร์ป

ลองมาพลิกแฟ้มทั้งสองคดีดูว่ามีความเป็นมาอย่างไร

คดีการจัดซื้อที่ดินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (ที่ดินรัชดาภิเษก) อัยการได้ส่งเรื่องฟ้องศาลไปแล้ว และศาลก็ประทับรับฟ้องคดีทั้งหมด โดยศาลได้มีการอนุมัติออกหมายจับคุณหญิงพจมาน และ พ.ต.ท.ทักษิณด้วย

สำหรับคดีการจัดซื้อที่ดินรัชดาฯ มีสาระสำคัญอยู่ที่ ข้อกล่าวหาที่ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะจำเลยที่ 1 และคุณหญิงพจมาน ในฐานะจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกันกระทำการเป็นความผิด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4,100 และ 122 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1, 33, 83, 86, 90, 91, 152 และ 157 นอกจากนี้ ยังขอให้ริบเงิน 772 ล้านบาท ที่คุณหญิงพจมาน ชำระให้กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เป็นค่าซื้อขายที่ดิน เพราะเป็นทรัพย์สินหรือเงินที่ใช้ในการกระทำความผิด

ข้อเท็จจริงคือ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ได้เข้าซื้อที่ดินเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2538 เป็นที่ดินของบริษัท เงินทุนเอราวัณ ทรัสต์ จำกัด 2 แปลง เป็นเงิน 4,889,379,500 บาท แปลงแรก ติดถนนศูนย์วัฒนธรรม รวม 18 โฉนด เนื้อที่รวม 85-3-65 ไร่ ราคา 2,749,040,000 บาท แปลงที่ 2 ติดถนนเทียมร่วมมิตร รวม 13 โฉนด เนื้อที่ 35-2-69.0 ไร่ ราคา 2,140,357,500 บาท

ต่อมาในช่วงกลางปี 2544 กองทุนได้ปรับปรุงเกณฑ์บันทึกบัญชีทรัพย์สินรอการขายใหม่ทั้งหมดเพื่อรับรู้ผลการขาดทุน โดยที่ดินแปลงแรก ปรับลดเหลือ 1,310.0 ล้านบาท แปลงที่สอง เหลือ 754.50 ล้านบาท มีผู้แสดงความสนใจซื้อที่ดินแปลงที่ 2 เป็นจำนวนมาก แต่การเปิดประมูลครั้งแรกทางอินเตอร์เน็ตต้องถูกยกเลิก เนื่องจากผู้ลงทะเบียนไม่เสนอราคาประมูล

หลังจากนั้น กองทุนได้ทำการรังวัดที่ดินเพื่อรวมโฉนดทั้ง 13 และแบ่งแยกเป็น 4 โฉนด คงเหลือเนื้อที่รวม 33-0-78.9 ไร่ และได้ทำการประกาศขายที่ดินทั้ง 4 โฉนด โดยวิธีการประกวดราคา กำหนดให้เปิดซองวันที่ 16 ธันวาคม 2546 โดยผู้เข้าร่วมประกวดราคา ต้องวางเงินมัดจำเพื่อการยื่นซองประกวดราคาจำนวน 100 ล้านบาท ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต

ผลการประมูล คุณหญิงพจมานเป็นผู้เสนอราคาสูงสุด จำนวน 772 ล้านบาท และเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายกับกองทุน และ พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะคู่สมรส ได้ลงนามในหนังสือให้ความยินยอมในการทำสัญญาซื้อขาย พร้อมแนบบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทข้าราชการการเมือง ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย

คำถามที่ตามมาคือ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน กระทำความผิดอะไร เพราะการเข้าประมูลซื้อที่ดินครั้งนี้ ก็ดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอนของกองทุนทั้งหมด และราคาที่ดินที่คุณหญิงพจมานให้กับกองทุน ก็สูงกว่าราคาประมูลที่ตั้งไว้หลายสิบล้านบาท แถมการประมูลครั้งนี้ คู่แข่งของคุณหญิงพจมานก็เป็นบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ในประเทศไทย 2 ราย

คณะอนุกรรมการไต่สวนคดีนี้ของ คตส. อ้างว่า จากการตรวจสอบข้อมูลเอกสารหลักฐาน ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเชิญพยานหลายสิบปากมาให้การ พบข้อสังเกตในเหตุผิดปกติหลายประการ อาทิ การดำเนินงานของกองทุนที่มีลักษณะไม่ชอบมาพากลหลายประการ อาทิ การปรับลดราคาที่ดินให้ต่ำกว่าความเป็นจริง ในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม ในการประมูลครั้งที่สอง กองทุนไม่ได้กำหนดราคาขั้นต่ำไว้ จากเดิมที่ในการประมูลครั้งแรก กำหนดไว้ถึง 870 ล้านบาท จากการเชิญพยานรายหนึ่งมาชี้แจง ทราบว่า เหตุที่ไม่ได้มีการกำหนดราคาไว้ เป็นเพราะมีการกำหนดราคาในใจแล้ว โดยมีผู้บริหารระดับสูงในกองทุน และข้าราชการในกระทรวงการคลัง ที่รับทราบเท่านั้น

แต่หนังสือชี้ชวนให้บริษัทต่างๆ เข้าร่วมประมูล ไม่มีการกำหนดวันซื้อซอง ว่าจะต้องเป็นวันใด เป็นต้น

ทั้งหมดเป็นรายละเอียดที่ได้จากการตรวจสอบและไต่สวนข้อมูล แต่ดูเหมือนว่าประเด็นที่ คตส.จะให้น้ำหนักมากที่สุดในการนำมาใช้เป็นข้อกล่าวหาต่อ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมานในคดีนี้ จะเป็นประเด็นเรื่องข้อกฎหมายเป็นหลัก โดยเฉพาะการกระทำของบุคคลทั้งสอง เป็นความผิดตามกฎหมายใดบ้าง และ พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะเป็นนายกฯ เป็นตัวการร่วมกับคู่สมรสในการกระทำความผิดหรือไม่อย่างไร

คณะอนุกรรมการไต่สวนเห็นว่า ตามมาตรา 100 (1) ได้ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เข้าเป็นคู่สัญญา เมื่อประกอบวรรคสามด้วย คือ ใช้บังคับกับคู่สมรสว่ากิจการของคู่สมรสถือเป็นกิจการของเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยนั้น

ทั้งนี้ คำว่ากิจการที่บัญญัติไว้ในตอนต้นของมาตรา 100 นั้น ไม่ได้หมายถึงตัวองค์กร ดังนั้น กิจการตามมาตรา 100 จึงหมายถึงการกระทำความตามวงเล็บต่างๆ เมื่อคุณหญิงพจมานได้เข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ ที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้กำกับดูแลอยู่ จึงเข้าองค์ประกอบของมาตรา 100 (1) ประกอบวรรคสาม

เมื่อผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการไต่สวนที่เห็นว่า กองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐ นายกรัฐมนตรีมีอำนาจกำกับดูแล เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า คุณหญิงพจมาน คู่สมรสของนายกรัฐมนตรี และในการซื้อขายที่ดินแปลงนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ได้ทำหนังสือยินยอม คุณหญิงพจมาน และ พ.ต.ท.ทักษิณ กระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 100

ไม่มีใครรับทราบว่า ในอนาคตผลการพิจารณาคดีนี้ จะออกมาเป็นอย่างไร แต่ถ้าหากการพิจารณาคดีในส่วนของคุณหญิงพจมาน ถูกตัดสินว่ามีความผิด คดีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็คงจะถูกตัดสินว่ามีความผิดไปด้วย แต่ในทางตรงกันข้าม หากคดีในส่วนของคุณหญิงพจมาน ไม่มีความผิด พ.ต.ท.ทักษิณก็จะไม่มีความผิดในคดีนี้ไปด้วย

นอกจากนี้ยังมีคดีที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)สืบสวนพบ กรณีบริษัทนิติบุคคลแห่งหนึ่งปกปิดข้อมูลโครงสร้างการถือหุ้น ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ของปี 2546 และผู้ถือหุ้นใหญ่มิได้รายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหุ้นตามกฎหมาย โดยให้นิติบุคคลต่างประเทศเป็นผู้ถือหุ้นอำพราง อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535

เนื่องจากบริษัท เอสซี แอทเสทฯเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์บริษัทสุดท้ายที่ครอบครัวชินวัตร-ดามาพงศ์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่กว่าร้อยละ 65 หลังจากที่ครอบครัวนี้ขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มูลค่า 73,300 ล้านบาท ให้แก่บริษัท เทมาเส็กโฮลดิ้ง ของสิงคโปร์เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549

สำหรับข้อกล่าวหาว่า บริษัท เอสซี แอสเสทฯมีอยู่ด้วยกัน 2 ข้อหาคือ 1.ปกปิดข้อมูลโครงสร้างการถือหุ้นในการยื่นไฟลิ่ง และ 2.ผู้ถือหุ้นใหญ่มิได้รายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหุ้นตามกฎหมาย โดยให้นิติบุคคลต่างประเทศเป็นผู้ถือหุ้นอำพราง

ทั้ง 2 ข้อหาดังกล่าวเป็นผลที่เกี่ยวเนื่องจากการที่บริษัทเอสซี แอสเสทฯยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์หรือ ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2546 โดยแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างผู้ถือหุ้นว่า ครอบครัวชินวัตรเป็นถือหุ้นใหญ่รวมกัน 60.82% ประกอบด้วย น.ส.พิณทองทาถือหุ้นอยู่ 92.99 ล้านหุ้น คิดเป็น 28.97% น.ส.แพทองธารถือหุ้น 92.99 ล้านหุ้น คิดเป็น 28.97% คุณหญิงพจมานถือหุ้น 9.25 ล้านหุ้น คิดเป็น 2.88%

ขณะที่กองทุนส่วนบุคคลที่จัดตั้งในประเทศมาเลเซีย 2 กองทุนถือหุ้นรวมกันร้อยละ 19.05 คือ โอเวอร์ซี โกรว์ธ ฟันด์ ถืออยู่ 31.78 ล้านหุ้น คิดเป็น 9.9% และออฟชอร์ ไดนามิค ฟันด์ ถืออยู่ 29.385 ล้านหุ้น คิดเป็น 9.15% (ดูรายละเอียดในตารางที่ 2)

แต่จากข้อมูลเบื้องต้นเชื่อว่าทั้ง 2 กองทุนดังกล่าวน่าจะเป็นผู้ถือหุ้นแทน (นอมินี)ของครอบครัวชินวัตร เท่ากับว่า บริษัท เอสซี แอสเสทฯ ปกปิดข้อมูลโครงสร้างผู้ถือหุ้น เพราะถ้ากองทุนทั้งสองเป็นนอมินีของครอบครัวชินวัตรจริง จะทำให้ครอบครัวชินวัตรถือหุ้นอยู่ในบริษัท เอสซี แอสเสทฯถึง 79.87% (ไม่ใช่ 60.82%) มีอำนาจควบคุมบริษัทอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ข้อมูลเบื้องต้นที่ทำให้เชื่อว่ากองทุนทั้งสองน่าจะเป็นนอมินีของครอบครัวชินวัตรเกิดจากกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ได้โอนหุ้น 5 บริษัทที่ตนเองถืออยู่มูลค่าประมาณ 1,500 ล้านบาท ให้แก่บริษัท วินมาร์คบนเกาะบริติช เวอร์จิ้น เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2543 ดังนี้

1.บริษัท โอเอไอ พร็อพเพอร์ตี้ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด และแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน ในวันที่ 23 สิงหาคม ก่อนนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์) โอนให้ จำนวน 55,079,999 หุ้น 2.บริษัท เอสซี ออฟฟิซ ปาร์ค 59,999,998 หุ้น 3.บริษัท เวิร์ธ ซัพพลายส์ 12,240,000 หุ้น 4.บริษัท พี.ที. คอร์ปอเรชั่น 29,990,000 หุ้น 5.บริษัท เอสซีเค เอสเทต 5,549,980 หุ้น

ต่อมา บริษัท วินมาร์คฯ ได้โอนหุ้นบริษัท เอสซี แอสเสทฯจำนวน 61,165,144 หุ้น มูลค่าประมาณ 600 ล้านบาท ให้แก่กองทุนแวลู แอสเสทส์ ฟันด์ (Value Assets Funds Ltd.) ประเทศมาเลเซีย (เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2546) ก่อนที่จะแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2546 จากนั้นอีก 5 วันคือวันที่ 28 สิงหาคม 2546 แวลู แอสเสทส์ ฟันด์ได้โอนหุ้นที่ตนเองถืออยู่ทั้งหมด ให้แก่โอเวอร์ซี โกรว์ธ ฟันด์ และออฟชอร์ ไดนามิค ฟันด์ ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งในประเทศมาเลเซียเช่นเดียวกัน

เป็นการโอนหุ้นมูลค่ากว่า 600 ล้านบาท ก่อนยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต.เพียง 7 วัน (ยื่นไฟลิ่งเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2546) (ขณะที่หุ้นอีก 4 บริษัทที่เหลือ มูลค่าประมาณ 468 ล้านบาท บริษัท วินมาร์คฯได้โอนหุ้นคืนให้แก่ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร ในปี 2547 ได้แก่ บริษัท เอสซี ออฟฟิซ ปาร์ค, บริษัท เวิร์ธ ซัพพลายส์, บริษัท พีที คอร์ปอเรชั่น และบริษัท เอสซีเค เอสเทต)

ประเด็นที่น่าสงสัยคือกองทุนทั้งสองและบริษัทวินมาร์คฯเป็น "นอมินี" ของครอบครัวชินวัตรหรือไม่

มาคอยดูว่าทั้งสองคดีจะลงเอยอย่างไร ในขณะที่มีแนวโน้มว่าพรรคพลังประชาชนจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

บันทึกการเข้า

หน้า: [1]
    กระโดดไป: