ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
29-03-2024, 20:35
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สภากาแฟ  |  ว่าด้วยคอร์รัปชัน หน้าต่างความคิด : เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว กรุงเทพธุรกิจ 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
ว่าด้วยคอร์รัปชัน หน้าต่างความคิด : เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว กรุงเทพธุรกิจ  (อ่าน 862 ครั้ง)
********Q********
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 8,520


I'm Looking At You.


เว็บไซต์
« เมื่อ: 26-01-2008, 14:11 »



ว่าด้วยคอร์รัปชัน

หน้าต่างความคิด : เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว  กรุงเทพธุรกิจ  วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2551

เริ่มเห็นหน้าค่าตารัฐบาลใหม่กันชัดเจนขึ้นแล้ว พอจะรู้กันแล้วว่า พรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรคได้ชิ้นปลามันมากน้อยแค่ไหน ต้องคอยติดตามกันต่อไปว่า รัฐบาลใหม่ของเราชุดนี้จะสร้างผลงานเข้าตาประชาชนหรือไม่

คนสำคัญหลายคนในรัฐบาลใหม่ยังมีคดีที่ยังไม่ได้ข้อสรุปติดตัว แถมยังมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านด้วย รับรองได้เลยว่าหลังจากเลยช่วงดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ต้องมีเรื่องสนุกๆ ให้เราได้รับทราบรับฟังกันแน่นอน นี่ยังไม่พ้องพูดถึงการขุดคุ้ยของสื่อซึ่งน่าจะเข้มข้นไม่แพ้กัน หากรัฐบาลชุดใหม่ต้องการจะอยู่ให้ยาว คงจะต้องระมัดระวังตัวอยู่กับร่องกับรอยให้ดี

ปัญหาคอร์รัปชันในวงการเมืองไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย ตราบใดการซื้อสิทธิขายเสียงยังมีอยู่ การคอร์รัปชันก็คงลดลงไปได้ยาก วิธีการลดการซื้อสิทธิขายเสียงแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด คือการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ให้การศึกษาที่เหมาะสม ส่งเสริมให้พวกเขาตระหนักถึงความสำคัญของการเลือกตัวแทนของตนเข้าไปทำหน้าที่ในสภา

การจะแก้ปัญหาในระดับประเทศแบบนี้ ต้องอาศัยรัฐบาลที่มีความจริงใจ ปัญหาการคอร์รัปชันนี้ถืออุปสรรคสำคัญคอยขัดขวางการพัฒนาประเทศของประเทศด้อยพัฒนา และประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศในโลก มีนักเศรษฐศาสตร์ และนักรัฐศาสตร์หลายคนได้ทำการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง บางคนศึกษาปัญหาการคอร์รัปชันของประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ บางคนสนใจปัญหาการคอร์รัปชันในภาพรวม

บ้านเราเองก็มีนักวิชาการหลายท่านออกมาพูดถึงเรื่องนี้อยู่เสมอ ผมจึงขอไม่พูดถึงการวิเคราะห์ในระดับประเทศ แต่จะสรุปเอาผลการศึกษาจากงานวิจัยหลายชิ้น ซึ่งทำการเปรียบเทียบปัญหาการคอร์รัปชันของประเทศต่างๆ ผลการศึกษาพบว่าระดับการคอร์รัปชันของประเทศมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับปัจจัยหกประการด้วยกัน คือ

ประการแรก คือ ศาสนา ประเทศที่มีผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ มีระดับการคอร์รัปชันน้อยกว่าค่าเฉลี่ยอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากความเชื่อพื้นฐานของนิกายโปรเตสแตนต์ ค่อนข้างจะไม่ค่อยไว้ใจรัฐบาล ความเชื่อนี้ทำให้สังคมให้ความสำคัญกับการตรวจสอบกำกับรัฐบาล สนับสนุนให้มีการเปิดโปงเรื่องไม่ดีไม่งามทั้งหลาย และพร้อมที่จะแสดงออกถึงความไม่พออกพอใจกับการทำงานของรัฐบาล

ถ้าเป็นแบบนี้แสดงว่าประเทศไทยซึ่งเป็นสังคมพุทธคงจะต้องอยู่คู่กับการคอร์รัปชันอย่างนั้นหรือ

ขอฟันธงไปเลยว่าไม่ใช่ เพราะถ้าเรามองผลการศึกษาให้ลึกไปกว่านั้น จะพบว่าศาสนาไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ วัฒนธรรมการไม่ยอมรับการคอร์รัปชันซึ่งแฝงมากับศาสนาต่างหากที่เป็นตัวกำหนดระดับการคอร์รัปชัน ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นศาสนาไหนถ้ามีการปลูกฝังวัฒนธรรมนี้ให้หยั่งรากลึกในสังคมแล้ว ก็จะช่วยให้การคอร์รัปชันลดลงไปได้ทั้งนั้น

ประการที่สอง คือ การตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ เมื่อทำการเปรียบเทียบประเทศซึ่งตั้งอยู่ในทวีปเดียวกันพบว่า ประเทศที่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษมีระดับการคอร์รัปชันต่ำกว่าประเทศที่เป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส สเปน หรือไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใครเลย

ผู้ศึกษาเชื่อว่าสาเหตุสำคัญ ก็คือตอนประเทศเหล่านี้ตกเป็นเมืองขึ้น อังกฤษได้นำเอากฎหมายแบบคอมมอนลอว์ของตนมาบังคับใช้ ในระบบกฎหมายแบบนี้ ผู้พิพากษาจะตัดสินคดีโดยอิงจากคำตัดสินคดีลักษณะเดียวกันในอดีต ต่อมา เมื่อประเทศเหล่านี้เป็นอิสระก็ยังคงใช้ระบบกฎหมายแบบนี้อยู่ และยังอิงคำตัดสินกับคำตัดสินที่เกิดขึ้นในอดีตในประเทศของตนหรือกรณีที่เกิดขึ้นในอังกฤษ จึงทำให้มาตรฐานและวัฒนธรรมในการตัดสินกฎหมาย ถูกยกระดับให้สูงขึ้นกว่าประเทศซึ่งระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน แต่ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษมาก่อน

ประการที่สาม คือ โครงสร้างการกระจายอำนาจ สำหรับประเทศซึ่งมีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน และมีขนาดของพื้นที่ใกล้เคียงกัน การกระจายอำนาจมีแนวโน้มจะเกิดการคอร์รัปชันมากกว่า เพราะนักการเมืองในระดับประเทศและนักการเมืองในระดับท้องถิ่นต่างก็แย่งกันเบียดเบียนประชาชนและนักธุรกิจ จนกลายเป็นการคอร์รัปชันสองต่อ

ประการที่สี่ คือ รายได้ต่อหัวของประชาชน รายได้ต่อหัวของประชาชนไม่ได้เป็นแค่ตัววัดว่าประชาชนแต่ละคน มีเงินมากน้อยแค่ไหน ดัชนีตัวนี้ยังเป็นตัวชี้วัดเกี่ยวกับระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในภาพรวมอีกด้วย ประเทศที่ประชาชนมีรายได้ต่อหัวสูง ประชาชนก็มักจะมีการศึกษาดี มีการงานมั่นคง ให้ความสนใจกับข้อมูลข่าวสารความเป็นไปของบ้านเมือง จึงทำให้การคอร์รัปชันเกิดขึ้นได้ยาก

ปัจจัยประการที่ห้า คือ การเปิดประเทศ การเปิดประเทศไม่ได้จำกัดอยู่แค่การทำงานค้าขายกับประเทศอื่น แต่ยังรวมไปถึงการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารความเป็นไปในโลกด้วย


การเปิดประเทศหมายถึงการแข่งขันกับประเทศอื่น เป็นการบีบบังคับให้ธุรกิจในประเทศปรับปรุงประสิทธิภาพ ลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพของสินค้า กดดันให้รัฐบาลต้องปรับตัวให้ทันกับเกมเศรษฐกิจโลก เพราะหากตนเองทำงานไม่ดี แข่งกับคนอื่นไม่ได้ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชน หากประชาชนมีชีวิตที่แย่ลงรัฐบาลก็อาจจะถูกลงโทษในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ทำให้ต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น ไม่โกงกินกันมูมมามจนน่าเกลียด

ปัจจัยประการสุดท้าย คือ ความต่อเนื่องของประชาธิปไตย จากผลการศึกษาพบว่า ระดับความเป็นประชาธิปไตยในปัจจุบันนั้น ไม่สำคัญเท่ากับความต่อเนื่องของกระบวนการประชาธิปไตย ประเทศที่มีกระบวนการประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง ไม่มีการปฏิวัติรัฐประหาร มีแนวโน้มที่จะมีระดับการคอร์รัปชันลดลงในระยะยาว ระยะยาวในที่นี้ไม่ใช่ห้าปีสิบปี จากการวิเคราะห์เชิงสถิติพบว่าประเทศที่มีการคอร์รัปชันน้อยจะมีความต่อเนื่องของกระบวนการประชาธิปไตย ปลอดจากอุบัติเหตุทางการเมืองติดต่อกันไม่ต่ำกว่ายี่สิบปี

อย่างไรก็ตาม ผลที่ได้นี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า ประชาชนต้องการประชาธิปไตย มีความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญของประชาธิปไตย และมองการณ์ไกลเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมในระยะยาว มากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัวในระยะสั้น หากสมมติฐานข้อนี้ไม่เป็นจริง ต่อให้กระบวนการประชาธิปไตยมีความต่อเนื่องยาวนานแค่ไหน ก็ไม่อาจลดทอนระดับการโกงกินให้น้อยลงไปได้

ถ้าเอาผลการศึกษานี้มาใช้เป็นบรรทัดฐานวัดประเทศไทยในปัจจุบันก็จะเห็นว่าเรายังต้องล้มลุกคลุกคลานกันอีกนาน ประวัติศาสตร์การเมืองไทยบอกเราว่า เราคงฝากความหวังกับนักการเมืองได้ไม่มากนัก ทางหนึ่งที่เราพอจะทำได้ คือช่วยกันสร้างสังคมที่ดีในระดับครอบครัว สร้างวัฒนธรรมความโปร่งใสในการทำงาน สนใจติดตามข่าวสารบ้านเมือง ค่อยๆ สร้างจากจุดย่อย ช่วยกันคนละไม้ละมือ จนกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ในสังคมล้อมคอกนักการเมืองให้อยู่กับร่องกับรอย อาจจะต้องใช้เวลานานหน่อย แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลย เวลาผ่านไปเราก็ย่ำอยู่กับที่อยู่ดี

บันทึกการเข้า

********Q********
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 8,520


I'm Looking At You.


เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 26-01-2008, 17:04 »




ถ้าต้องการแก้คอร์รัปชันจริงๆ ก็เลิกพูดปกป้องว่าทำไมไทยต้องมีอะไรรุงรังเลอะเทอะ

แต่ไม่ยอมตัดสินใจเริ่มลงมือทำกันเสียที
บันทึกการเข้า

********Q********
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 8,520


I'm Looking At You.


เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 28-01-2008, 21:06 »



ประเด็นคอร์รัปชัน ก็คงได้แตดูกันว่า หน่วยงานใดในประเทศนี้

ดีขึ้นจนเห็นชัด ก็อยากเห็นหน่วยงานราชการไทย ดูงานจากหน่วยงานที่พัฒนาได้ดีกว่า

ระดับรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงต้องคอย ติดตามตรวจสอบ กำชับกำชาเสมอๆ
บันทึกการเข้า

หน้า: [1]
    กระโดดไป: