"มาร์ค"เฉือน"แม้ว"โพลเด็กหนุนนั่งเก้าอี้นายกฯโดย
ผู้จัดการออนไลน์ 17 พฤษภาคม 2549 12:02 น. ผลสำรวจความคิดเห็นเยาวชน ระบุปัญหาการเมืองไทยหลังใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เกิดจากปัญหาจริยธรรมของนักการเมือง รวมทั้งภาพลักษณ์ของพรรคการเมืองก็เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเมืองไทย ขณะที่"อภิสิทธิ์"เฉือนชนะ เด็กต้องการให้เป็นนายกรัฐมนตรี มากกว่า"ทักษิณ” ดร.อรัสธรรม พรหมมะ ประธานคณะกรรมการศูนย์ประชามติ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า ศูนย์ประชามติได้สำรวจความคิดเห็นของเยาวชนในกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,474 คน เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา หัวข้อ “อนาคตการเมืองไทยที่เยาวชนต้องการ” พบว่า ตามแนวคิดของเยาวชนที่มีต่อการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นนั้น เมื่อให้เปรียบเทียบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 37.2 เห็นว่า นายอภิสิทธิ์ เหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุด รองลงมาคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ร้อยละ 36.4 ร.ต.อ.ปุระชัย ร้อยละ 26.4 นอกจากนี้ ร้อยละ 53 ยังเห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ควรลงเลือกตั้งครั้งต่อไป ร้อยละ 47 เห็นว่าควรลงเลือกตั้ง ส่วนพรรคการเมืองที่เหมาะจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในสายตาเยาวชน คือพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 34.7 พรรคไทยรักไทยร้อยละ 34.5 ไม่เหมาะทั้งสองพรรคร้อยละ 30.8 ในการจัดการเลือกตั้งครั้งต่อไป เยาวชนร้อยละ 59.8 เห็นว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดปัจจุบันควรลาออกร้อยละ 40.2 เห็นว่ายังไม่ควรลาออก
| อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ |
สำหรับสาเหตุของปัญหาการเมืองไทยหลังใช้รัฐธรรมนูญ 2540
เยาวชนร้อยละ 78.4 เห็นว่าเกิดจากปัญหาจริยธรรมของนักการเมือง ร้อยละ 11.6 เห็นว่าเกิดจากความยากจนของประชาชน เป็นเหตุให้ด้อยการศึกษาไม่เท่าทันนักการเมือง จึงเกิดการขายเสียง และร้อยละ 10 เห็นว่าเกิดจากปัญหาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ร้อยละ 36.8 เห็นว่าภาพลักษณ์ของพรรคการเมืองเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเมืองไทยมากที่สุด รองลงมาร้อยละ 32.9 เห็นว่าภาพลักษณ์ของผู้สมัครรับเลือกตั้ง และร้อยละ 30.3 เห็นว่าเงิน
เมื่อถามว่าการเมืองไทยภาคประชาชนในอนาคตจะเป็นอย่างไร ร้อยละ 57.6 เห็นว่าประชาชนยังถูกนักการเมืองหลอก ร้อยละ 42.4 มองว่าภาคประชาชนจะเข้มแข็งขึ้น ในด้านการแก้ปัญหาความยากจนของคนไทยร้อยละ 69.8 เห็นว่านักการเมืองในอนาคตไม่สามารถแก้ได้ ร้อยละ 30.2 เห็นว่าแก้ได้ ต่อข้อถามที่ว่าถ้ามีโอกาสต้องการจะเป็นนักการเมืองหรือไม่ เยาวชนร้อยละ 51.3 ตอบว่าไม่เป็น ร้อยละ 26.3 ไม่แน่ใจ และร้อยละ 22.4 ตอบว่าจะเป็น