"เขาจะเป็นนักกฎหมายที่มีอนาคต" ขอให้รักษาเนื้อรักษาตัวไว้ให้ดีๆ
หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ในรั้วเหลืองแดง ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ดินแดนแห่งเสรีภาพทุกตารางนิ้ว นักวิชาการแต่ละคนต่างมีจุดยืนและทรรศนะที่แตกต่างกัน
บางท่านเห็นเป็นโอกาสที่จะเข้าไปช่วยรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำงานด้านกฎหมาย
บางท่านก็ช่วยชาติ โดยการเข้าไปเขียนรัฐธรรมนูญปี 2550
บางท่านชิงชังระบอบทักษิณ ก็หนุนช่วยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ล้างระบอบทักษิณ
บางคนก็ชูธง เชียร์ขบวนการตุลาการภิวัตน์
บางท่านก็เลือกที่จะอยู่เงียบๆ ไม่เลือกข้าง
แต่สำหรับ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เลือกที่จะคัดค้านการรัฐประหาร และวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญปี 2550 อย่างเปิดเผย ทั้งการออกแถลงการณ์และการอภิปรายบนเวทีสาธารณะ จนเขาถูกปล่อยข่าวทำลายว่า สงสัยทักษิณยกลูกสาวให้อาจารย์หนุ่ม เป็นการตอบแทนความกล้าหาญ
อาจารย์วรเจตน์บ่นกับนักข่าวว่า...ไม่เห็นแคร์ ผมมีภรรยาแล้ว ผมไม่ได้เป็นพวกทักษิณ จุดยืนของผมคือ หลักการประชาธิปไตย (ครับ) ไม่ใช่ระบอบทักษิณ ขอโทษ
เคยมีนักข่าวถามว่า ตอนพวกอาจารย์ธรรมศาสตร์เข้าชื่อขับไล่ทักษิณ ได้ร่วมลงชื่อกับเขาหรือเปล่า
ดร.วรเจตน์ตอบว่า ผมไม่ได้ลงชื่อกับพวกอาจารย์กลุ่มนั้น จริงๆ แล้วผมจะไปไล่คุณทักษิณได้อย่างไร เขามาจากประชาชน 16 ล้านเสียง เขามาจากเสียงประชาชน (นะ...คุณ)
อย่างไรก็ตาม ความเห็นของ ดร.วรเจตน์มักกลายเป็นเสียงส่วนน้อย ท่ามกลางสังคมที่ไหลตามกระแสแบบไร้หลัก แต่กระนั้นเพื่อนนักวิชาการหลายต่อหลายคนก็วิจารณ์ ดร.วรเจตน์ว่า... ความคิดของอาจารย์หนุ่ม...(ไร้) เดียงสา... ไปหน่อย
เพราะหลายครั้ง ความเห็นของอาจารย์หนุ่มไปเข้าทางกลุ่มผลประโยชน์ แบบเต็มๆ
แต่กระนั้นคนที่ชื่นชมอย่างเปิดเผยก็มีหลายคน จากหลักวิชาการที่แม่นยำของ ดร.วรเจตน์ ได้รับการยกย่องว่า ความรู้ด้านกฎหมายไม่แพ้ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบัน พระปกเกล้า อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ
ขณะที่ ดร.บวรศักดิ์ หรืออาจารย์ปื๊ดทำนายว่า นักวิชาการผู้นี้ต่อไปจะเป็นหลักของบ้านเมือง จะเป็นนักกฎหมายที่มีอนาคต ฉะนั้นขอให้รักษาเนื้อรักษาตัวไว้ให้ดีๆ
เช่นเดียวกับ ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ นักกฎหมายมหาชนจากจุฬาฯ บรรณาธิการเว็บไซต์
www.pub-law.net ที่ออกปากชื่นชมว่า ดร.วรเจตน์เป็นนักกฎหมายมหาชนที่ควรได้รับการยกย่องในจุดยืนทางวิชาการ
หากอยากดูจุดยืนของอาจารย์วรเจตน์ ครั้งหลังสุดอาจดูได้จากแถลงการณ์เรื่องการปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญฉบับออกเสียงประชามติ
เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 ที่ออกแถลงการณ์ร่วมกับ รศ.ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา ดร.ฐาปนันท์ นิพิฎฐกุล อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ธีระ สุธีวรางกูร
อาจารย์วรเจตน์และพวกได้ร่วมกันประกาศ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับออกเสียงประชามติ ดังกล่าว ด้วยเหตุผล 6 ประการ ดังนี้
1.ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะที่มาของร่างรัฐธรรมนูญไม่ถูกต้อง
2.ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะความไม่มีเหตุผลของกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ
3.ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย
4.ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะบทบัญญัติว่าด้วยการนิรโทษกรรมทำลายหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ
5.ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะความไม่เป็นธรรมในการออกเสียงประชามติ
6.ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อปฏิเสธระบบทหารและอำมาตยาธิปไตย เหตุผลของ ดร.วรเจตน์ถูกนำไปใช้รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของพวกทักษิณและไม่ใช่พวกทักษิณ อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ แล้วที่สุดความเห็นทางวิชาการ ก็ถูกแปลมาเป็นเสียงไม่เห็นชอบรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่สูงมาก ทะลุ 10.7 ล้านเสียง ในขณะที่เสียงเห็นชอบ 14.7 ล้านเสียง ถามว่า คนไทยที่ฟังความเห็นของอาจารย์วรเจตน์ แล้วไปโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ มีเยอะหรือไม่
คำตอบคือ...มากไม่ใช่เล่น
ฉะนั้นแล้ว อย่างที่ ดร.บวรศักดิ์กล่าวไว้อาจถูกต้องที่สุดคือ อาจารย์วรเจตน์ต้องรักษาเนื้อรักษาตัวไว้ให้ดีๆ
สังคมไทยที่เพี้ยนไปมาก อาจต้องการหลักการที่มั่นคง มิใช่ไม้หลักปักเลน แบบคนรุ่นก่อน
ทุกวันนี้อาจารย์วรเจตน์ยังสอนหนังสือแทบ ทุกวัน บางวันก็เดินไปประชุมวิธีพิจารณาทางปกครองที่ท่าพระอาทิตย์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
"ผมไม่เคยเบื่อชีวิตนักวิชาการ ผมยังสนุก กับการสอนหนังสือ ผมยังอยากมีเวลาอ่านหนังสือดีๆ ครับ" ดร.วรเจตน์กล่าว
หน้า 48
http://matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02spe02170151&day=2008-01-17§ionid=0223 ผมมีความเชื่อถือ สนิทใจว่าอาจารย์วรเจตน์ จะเป็นนักกฎหมายที่ดีและซื่อตรงกว่า ดร.บวรศักดิ์ด้วยซ้ำไป...
เหตุผลของ ดร.วรเจตน์ถูกนำไปใช้รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของพวกทักษิณและไม่ใช่พวกทักษิณ อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ แล้วที่สุดความเห็นทางวิชาการ ก็ถูกแปลมาเป็นเสียงไม่เห็นชอบรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่สูงมาก ทะลุ 10.7 ล้านเสียง ในขณะที่เสียงเห็นชอบ 14.7 ล้านเสียง...................จริงเหรอ เสียงไม่เห็นชอบรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่สูงมาก ทะลุ 10.7 ล้านเสียง....
ในจำนวนนั้นไม่ได้ถูกปลุกระดมจาก นปก. ม๊อบจลาจลสนามหลวง อีแอบบ้าน 111
และคนรักจำเลยหนีหมายจับของศาลยุติธรรมไทย ให้เกลียดชัง คมช. และรัฐบาลสุรยุทธ์...
ไม่ใช่'รากหญ้า'ที่งมงายทักษิณและผลประโยชน์จากโครงการ'ประชานิยม'