มีประวัติพรรคประชากรไทย สมัยสมัครเป็นหัวพรรคไหมครับ
เช่น เลือกตั้งครั้งไหน ได้ ส.ส. เท่าไร
เอาเท่าที่ค้นหาได้นะครับ.. นับกันตั้งแต่คุณสมัครเริ่มเป็น สส.ประชาธิปัตย์ ก็แล้วกัน
![](http://oldforum.serithai.net/Smileys/default/slime_smile.gif)
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
การเลือกตั้ง 26 มกราคม 2518 กำหนดให้มี ส.ส.ทั่วประเทศได้ 269 คน พื้นที่ กทม. มี 26 ที่นั่ง
พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้ 23 จาก 26 ที่นั่ง และได้ สส.
ทั้งประเทศ 72 ที่นั่ง นายสมัคร สุนทรเวช ขณะนั้นลงสมัคร สส. ในนามพรรคประชาธิปัตย์
และชนะการเลือกตั้งได้เป็น สส.กรุงเทพฯ ครั้งแรก ในครั้งนี้ สส.กรุงเทพฯ จากพรรคอื่นๆ
มีเพียง นายประทวน รมยานนท์ และ พ.อ.ประกอบ ประยูรโภคราช จากพรรคชาติไทย
และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม 3 คนเท่านั้น
การเลือกตั้ง 4 เมษายน 2519 มี ส.ส.ได้ 279 คน ประชาธิปัตย์ได้ สส. กรุงเทพฯ ครบทุกเขต
และได้ สส. รวมทั้งประเทศ 114 ที่นั่ง ขณะที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคมสอบตก
นายสมัคร สุนทรเวช ได้เป็น สส.พรรคประชาธิปัตย์สมัยที่ 2 แม้จะได้รับคะแนนเสียงมากมายทำให้
มรว.เสนีย์ หัวหน้าพรรคได้เป็นนายกฯ แต่ก็เกิดเรื่องวุ่นวายทะเลาะแตกแยกกันเองในพรรค จนกระทั่ง
มรว.เสนีย์ ถูกขนานนามว่า “ฤษีเลี้ยงลิง” และในที่สุดเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 และมีสิ่งที่ไม่คาดคิด
เกิดขึ้นคือ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ รมต.กลาโหม ที่เป็นทหารเรือเกษียณอายุ กลับก่อรัฐประหาร
การเลือกตั้ง 22 เมษายน 2522 มี ส.ส.ได้ 301 คน และ กทม.มี สส.ได้ 32 คน นายสมัครแยกตัวจาก
ประชาธิปัตย์ ตั้งพรรคประชากรไทย ได้ ส.ส. ในเขตกรุงเทพฯ ถึง 29 ที่นั่ง และได้ สส.จากต่างจังหวัด
มาอีก 3 ที่นั่ง รวมเป็น 32 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์เหลือ สส. กรุงเทพฯ คนเดียวคือ พ.อ.ถนัด คอมันตร์
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนกิจสังคมเหลือ ส.ส. 2 คน คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ และนายเกษม ศิริสัมพันธ์
การเลือกตั้ง 18 เมษายน 2526 ส.ส.มี 324 คน ส.ส.กทม.เพิ่มเป็น 36 คน พรรคประชากรไทย ยังคง
ได้รับความนิยมได้ ส.ส.กรุงเทพฯ ถึง 24 ที่นั่ง และได้ สส.รวมทั้งประเทศ 36 ที่นั่ง ขณะที่ประชาธิปัตย์
ได้ สส. ในกรุงเทพ 8 ที่นั่ง เลือกตั้งครั้งนี้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ได้เป็น สส.ประชาธิปัตย์ สมัยแรก
การเลือกตั้ง 27 กรกฎาคม 2529 ส.ส. 347 คน ประชากรไทยได้ สส.ทั้งประเทศ 24 ที่นั่ง เป็น สส.
พื้นที่กรุงเทพฯ 16 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ได้ สส.ทั่วประเทศ 100 ที่นั่งเป็น สส.กรุงเทพฯ 16 ที่นั่ง
การเลือกตั้ง 24 กรกฎาคม 2531 มี ส.ส. 357 คน กทม.มี ส.ส.เพิ่มเป็น 37 คน พล.ต.จำลองก่อตั้ง
พรรคพลังธรรม ได้ สส. ในกรุงเทพฯ 10 ที่นั่ง ประชากรไทย ได้ สส.กรุงเทพฯ 19 ที่นั่ง จากที่ได้
ทั้งประเทศ 37 ที่นั่ง โดยมีปวีณา หงสกุลเป็น สส. กรุงเทพฯ หน้าใหม่ ประชาธิปัตย์ได้ สส.กรุงเทพฯ
เพียง 5 ที่นั่ง จากที่ได้ทั้งประเทศ 48 ที่นั่ง ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม แยกมาตั้งพรรคมวลชนได้ สส.ทั้งหมด
5 ที่นั่ง (ในจำนวนนี้ไม่ทราบว่าเป็น สส.กรุงเทพฯ กี่ที่นั่ง)
การเลือกตั้ง 22 มีนาคม 2535 หลัง รสช.ยึดอำนาจ มี ส.ส.ได้ 360 คน พรรคพลังธรรม ได้ สส. กทม.
รวม 35 คนจากทั้งหมด 38 คน ส่วนประชากรไทยและประชาธิปัตย์เกือบสูญพันธุ์ โดยประชากรไทย
เหลือ สส.กรุงเทพฯ เพียง 2 คน คือ นายสมัครและนางลลิตา ฤกษ์สำราญ และได้ สส.ทั่วประเทศ 7 คน
ส่วนประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.ในเขตกรุงเทพฯ และภาคกลาง เพียงคนเดียวคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ที่เป็น สส.หน้าใหม่ลงสมัครเป็นครั้งแรก
การเลือกตั้ง 13 กันยายน 2535 หลังพฤษภาทมิฬ พรรคพลังธรรมยังครองพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ 23 ที่นั่ง
จาก 35 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์กลับมาได้ สส.กรุงเทพฯ 9 ที่นั่ง และได้ สส. ทั่วประเทศรวม 79 เสียง
ขณะที่พรรคประชากรไทยเหลือ สส. เพียงคนเดียวคือ นายสมัคร สุนทรเวช
การเลือกตั้ง 2 กรกฎาคม 2538 มี สส.ได้ 391 คน หารายละเอียดยังไม่ได้แต่รู้ว่าพรรคพลังธรรมยังคงครองพื้นที่ กทม.
ประชาธิปัตย์ได้ สส.กรุงเทพฯ 7 ที่นั่ง และได้ทั้งประเทศ 86 ที่นั่ง แต่ยังน้อยกว่าชาติไทยที่ได้ตั้งรัฐบาล
ยังหาจำนวน สส.ประชากรไทยไม่เจอ แต่นายสมัครเข้าร่วม ครม.บรรหาร ด้วยในตำแหน่งรองนายกฯ
และพบชื่อ สส. แล้วอีก 2 คนคือ นายสุมิตร สุนทรเวช น้องชายนายสมัคร และ นางปวีณา หงสกุล
ในครั้งนี้ พรรคมวลชน ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ได้ 3 ที่นั่ง ได้ร่วมรัฐบาล รตอ.เฉลิมได้เป็นรัฐมนตรี
17 พฤศจิกายน 2539 มี สส.ได้ ส.ส. 393 คน ประชาธิปัตย์กลับมาครองพื้นที่ กทม.หลังจากทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภา
โดยได้ สส.กทม. 29 ที่นั่ง ชนะพรรคพลังธรรมเกือบทุกเขต ครั้งนั้นพรรคประชากรไทยได้ สส.รวม 18 ที่นั่ง โดยได้ผู้สมัคร
กลุ่มปากน้ำ ของนายวัฒนา อัศวเหม มาสมทบ สำหรับในพื้นที่กรุงเทพฯ ยังเช็คจำนวน สส.ไม่ได้ แต่มี พบรายชื่อ สส.แล้ว
คือ นายสมัคร สุนทรเวช นางลลิตา ฤกษ์สำราญ นายห้างทอง ธรรมวัฒนะ นายสุมิตร สุนทรเวช สำหรับนางปวีณา หงสกุล
ไปลงสมัครในสังกัดพรรคชาติพัฒนา ยังคงได้เป็น สส.กรุงเทพฯ ส่วนพรรคมวลชน เหลือ สส. 2 ที่นั่ง ยังคงได้ร่วมรัฐบาล
และ รตอ.เฉลิม ยังได้เป็น รัฐมนตรี
ในปี 2540 หลัง พล.อ.ชวลิตลาออก เกิดกรณีกลุ่มงูเห่า สส. ประชากรไทย ที่ได้รับเลือกตั้งมา
เมื่อ 17 พฤศจิกายน 2539 รวม 12 คน แยกตัวจากพรรคไปสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งรัฐบาลชวน 2
ในปี 2543 นายสมัคร ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในนามผู้สมัครอิสระ
และในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ มา เช่น ในปี 2544 , 2548 พรรคประชากรไทยก็ไม่เคยมี ส.ส.อีกเลย
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
แก้ไขเพิ่มเติมไปอีกหน่อย จากที่คุณ Anthony ทักท้วงมานะครับ
![](http://oldforum.serithai.net/Smileys/default/slime_smile.gif)