ครม.อนุมัติปลูกจีเอ็มโอลงไร่นาทดลองเฉพาะแปลงราชการ
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีส่งของขวัญปีใหม่ อนุญาตให้ทดลองพืชจีเอ็มได้เฉพาะแปลงปลูกของราชการ แต่ต้องระบุพื้นที่และชนิดพืชชัดเจน และประชาพิจารณ์คนในพื้นที่ก่อนขอ ครม.อนุมัติปลูกเป็นกรณีๆ ไป ฝากเร่ง กม.ไบโอเซฟตี้ก่อนกระจายพืชตัดต่อพันธุกรรม เล็งทำจีเอ็มมะละกอ สบู่ดำ และพริก
นายไชยา ยิ้มวิไล โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.50 ว่าจากการที่คณะกรรมการกลั่นกรองฯ คณะที่ 2 ซึ่งมีนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติการทดลองวิจัยพืชดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายธีระ สูตะบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) มี 2 ประเด็นสำคัญในการอภิปราย
ประเด็นแรกจากมติของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ คณะที่ 2 ที่ต้องการให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ดำเนินการในเรื่องของร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพของเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ พ.ศ. ... ให้เป็นไปตามขั้นตอน กล่าวคือเป็นการช่วยให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเร่งดำเนินการในเรื่องนี้ในตัวร่าง
และประเด็นที่สองในระหว่างที่ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพของเทคโนโลยีสมัยใหม่ พ.ศ. ... ยังไม่มีผลบังคับใช้ เห็นควรดำเนินการใน 3 แนวทางคือ 1.ให้กระทรวงเกษตรฯ รับไปเตรียมความพร้อมในการจะขยายการทดลองวิจัยพืชดัดแปลงพันธุกรรม ให้ไปอยู่ในระดับแปลงทดลองของทางราชการ กล่าวคือ ไม่ให้มีการเผยแพร่ออกไป ให้มีการทดลองใช้เฉพาะแปลงในส่วนราชการ ไปศึกษาทดลองวิจัย
2.ให้มีการระบุพื้นที่และชนิดของพืชให้ชัดเจน รวมทั้งมาตรการในการควบคุมอย่างเข้มงวด พร้อมทั้งให้ไปศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ที่ทำการทดลอง
และแนวทางที่ 3 คือจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 67 เสียก่อน
ทั้งนี้ ควรมีการศึกษาโดยใช้กระบวนการแบบบูรณาการและการมีส่วนร่วม เพื่อให้ได้ข้อยุติความเห็นร่วมกัน แล้วจึงเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติในแต่ละพื้นที่ต่อไป
อย่างไรก็ดี ที่ประชุม ครม.มีมติต่อเรื่องนี้โดยสรุปว่า จะดำเนินการทดลองเผยแพร่พืชจีเอ็มโอนั้น ต้องรอให้กฎหมายไบโอเซฟตีออกมาเสียก่อน และให้ทดลองเฉพาะในแปลงของส่วนราชการ อีกทั้งในที่ประชุมยังมีการอภิปรายกันมากถึงเรื่องพืชที่จะนำมาทดลอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มะละกอ สบู่ดำ และพริก
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000153419 คณะรัฐมนตรีกลายเป็นซานตาคลอสสำหรับนักวิจัยจีเอ็มโอทันที หลังจากที่มีมติคณะรัฐมนตรีรับวันคริสต์มาส อนุญาตให้มีการทดสอบพืชจีเอ็มโอภาคสนามได้ "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" ได้สอบถามไปยังนักวิจัยที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการพืชดัดแปลงพันธุกรรม ต่างรอคอยวันนี้มานานหลายปี และยินดียิ่งที่ ครม. สนับสนุนงานวิจัย ทำให้คุยกับต่างชาติได้ว่าไทยไม่ได้หล้าหลัง
ดร.สุพัฒน์ อรรถธรรม นักวิจัยและอาจารย์คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยากำแพงแสน ที่มีมะละกอดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) อยู่ในโรงเรือนพร้อมทดลองภาคสนามมานานแล้ว เปิดเผยว่า เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่มีมติ ครม. อนุญาตให้นักวิจัยทดสอบพืชจีเอ็มโอภาคสนามได้ ถึงแม้จะมีเงื่อนไขให้ทดลองได้เฉพาะในพื้นที่ของทางราชการและพิจาณาอนุมัติเป็นกรณีๆ ไป
"อย่างน้อยๆ การตัดสินใจของรัฐบาลในครั้งนี้ก็แสดงว่าประเทศไทยได้เปิดประตูแง้มออกมารับเทคโนโลยีนี้แล้ว สังคมโลกก็จะได้รู้ว่าประเทศไทยไม่ได้ปิดกั้นซะทีเดียว ทีนี้เราก็สามารถพูดเรื่องมะละกอจีเอ็มโอกับต่างชาติได้ในเวทีการประชุมของเครือข่ายเทคโนโลยีชีวภาพด้านมะละกอของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว" ดร.สุพัฒน์ กล่าว ซึ่งขณะนี้เขาทดสอบการต้านทานไวรัสใบด่างจุดวงแหวนของมะละกอจีเอ็มโออยูในโรงเรือนมาถึง 4 รุ่น และพร้อมก้าวสู่การทดสอบภาคสนามมาหลายปีแล้ว
ทั้งนี้ ดร.สุพัฒน์ บอกว่าจะต้องศึกษาเงื่อนไขและรายละเอียดของมติ ครม. ครั้งนี้ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะขออนุญาตทดสอบมะละกอจีเอ็มโอภาคสนามหรือไม่ ซึ่งหากยุ่งยากมากเกินไปก็อาจต้องพักเอาไว้ก่อน เพราะอยากให้การทดลองออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด ไม่อยากให้มีเรื่องผิดพลาดเกิดขึ้น อย่างไรก็ดี ตนก็รอการทดสอบพืชจีเอ็มโอภาคสนามมานานแล้วจนรู้สึกเฉื่อยชาต่อเรื่องนี้ไปบ้าง และเชื่อว่าถึงตนไม่ทำก็คงมีนักวิจัยคนอื่นๆ ดำเนินการทดสอบแน่นอน
ด้าน ดร.วิไล ปราสาทศรี นักวิจัยของกรมวิชาการเกษตร สถานีทดลองพืชสวนท่าพระ จ.ขอนแก่น กล่าวภายหลังทราบข่าวน่ายินดีที่นักวิจัยต่างรอคอยมานานว่า มติ ครม. ในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมงานวิจัยเกี่ยวกับพืชจีเอ็มโอในประเทศไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
"ต้องขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีเป็นอย่างมากที่ผลักดันงานวิจัยด้านพืชจีเอ็มโอ ซึ่งจะช่วยต่อยอดจากงานด้านนี้ของไทยให้ก้าวไกลมากขึ้นในระดับหนึ่ง และเป็นการเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรองรับเทคโนโลยีนี้ที่จะมีบทบาทมากในอนาคต" ดร.วิไล กล่าว
ขณะนี้ ดร.วิไล ก็ยังดำเนินการทดลองมะละกอจีเอ็มโออยู่ในระดับห้องทดลองและโรงเรือน ส่วนเรื่องที่จะขออนุญาตทดสอบภาคสนามต่อไปนั้น ดร.วิไล บอกว่าคงต้องดูนโยบายของกรมวิชาการเกษตรหลังจากนี้เสียก่อนว่าจะดำเนินการต่อเรื่องนี้อย่างไรบ้าง เพราะเมื่อต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา เพิ่งมีการแต่งตั้งอธิบดีกรมวิชาการเกษตรคนใหม่