เมื่อ ทักษิณ ทำผิด ทักษา .. ความ ขึด จึงบังเกิดสิริมงคล จันทร์ขาว
กลุ่มใต้ดินเสวนา / เครือข่ายคนทำงานต้านยาเสพติด
ท่ามกลางกระแสการเมืองยุคอัศวินผู้สถาปนาตนเป็นผู้กุมบังเหียนโลกาภิวัฒน์ ยุคของการผลักไสวัฒนธรรมชุมชนไปสู่ความเป็นชายขอบโดย นำระบบ มูลค่า เข้ามาแทนที่ คุณค่า ยุคของนายกที่อ้างตัวว่าเป็นคนเมือง (แซ่คู) ที่บรรพบุรุษเป็นคนจีนอพยพมาจากจันทบุรีตั้งแต่ปี 2451 (นายคูซุ่นเส็ง)เพื่อเป็นจ้าภาษีนายอากรประมูลบ่อนเบี้ย อ.แม่ริม สันทราย ดอยสะเก็ด จนนางทองดีผู้เป็นภรรยาถูกยิงเสียชีวิตขณะไปเก็บภาษีที่แม่ริม ก่อนจะย้ายไปตั้งหลักปักฐานที่บ้านกาดสันกำแพง (จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำไมตระกูลชินวัตรถึงวนเวียนอยู่กับเรื่อง ภาษี) การมีเชื้อสายจีนจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นายก (ที่อ้างว่าเป็น) คนเมือง เข้าไม่ถึงเรื่อง นิเวศวัฒนธรรม แต่ใช้ทุนนำหน้าโดยขาดปัญญาไตร่ตรองตามหลักคติชนวิทยา จึงส่งผลต่อความขึดที่เกิดขึ้นกับเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมที่เชียงดาว น้ำท่วมตัวเมือง 4 ครั้งในรอบปี (2548) น้ำทำการเกษตรขาดแคลนในหน้าแล้ง ฝนตกในฤดูหนาว ฯลฯ
เมื่อพระยาเม็งรายสร้างบ้านแปงเมืองนพบุรีฯที่ผู้ชำนาญได้คำนวณไว้ว่าเริ่มสร้างเมื่อวันที่ 12 เมษายน 1839 ด้วยผังเมืองรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาวด้านละ 500 วา ตามคติแนวคิดว่าเมืองเป็นสิ่งมีชีวิต มีร่างกาย มีดวงชะตาเป็นตัวกำหนดความเจริญและความเสื่อมของเมือง จึงมีดวงเมืองตามคัมภีร์มหาทักษาเป็นตัวกำหนด การเลือกทำเลที่ตั้งเมืองมีชัยมงคล 7 ประการ คือ
1)จุดศูนย์กลางของเวียงคือสะดือเมือง (ศาลากลางเก่า) เป็นเสาหลักเมืองเดิมของพวกลั๊วะ
2)มีความลาดเทจากเชิงเขาทิศตะวันตกไปสู่ลำน้ำปิง โดยตัวเมืองอยู่กลาง สามารถควบคุมชลประทานได้ดี
3)ทิศเหนือเป็นที่ราบป่าละเมาะ (ข่วง) ทิศตะวันตกมีภูเขาเป็นแนวปราการใช้เป็นพื้นที่ตั้งมั่นป้องกันข้าศึก
4)ทิศใต้เป็นที่ราบ ป่าละเมาะ ใช้เป็นแนวป้องกันท้ายเวียง มีดอยอ่างกา (อินทนนท์) เป็นปราการ
5)ทิศตะวันตกของเมืองมีเทือกเขาใหญ่ (ดอยสุเทพ) มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ เป็นทั้งปราการ และแหล่งน้ำหล่อเลี้ยง (วนานคร : เมืองใกล้ชิดกับป่า)
6)ทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีหนองน้ำใหญ่ (ปัจจุบันถูกถมไปแล้ว)
7)ทิศตะวันออกมีลำน้ำปิงเป็นปราการและเส้นทางคมนาคม (กู่ขาวเป็นจุดที่ลำน้ำคดและใกล้ตัวเมืองมากที่สุด เป็นพิกัดอ้างอิงการวางผังเมือง)
ซึ่งในตัวเมืองมีทักษาเวียงเชียงใหม่ ดังนี้
1) อายุเมือง ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (แจ่งหัวลิน) พระเจ้าแผ่นดิน
2) เดชเมือง ทิศเหนือ (ประตูหัวเวียงและประตูช้างเผือก) การเมืองการปกครอง
3) ศรีเมือง ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (แจ่งศรีภูมิ) พระเจ้าแผ่นดิน
4) มูลละเมือง ทิศตะวันออก (ประตูเชียงเรือก / ประตูท่าแพ) การพาณิชยกรรม
5) อุตสาหะเมือง ทิศตะวันออกเฉียงใต้ (แจ่งขะต๊ำ) การอุตสาหกรรม
6) มนตรีเมือง ทิศใต้ (ประตูท้ายเวียง / ประตูเชียงใหม่) ที่พักขุนนางเจ้าหน้าที่
7) กาละกิณีเมือง ทิศตะวันตกเฉียงใต้ (แจ่งกู่เฮือง / ประตูสวนปรุง) ที่ว่างและสุสานที่เผาศพ
บริวารเมือง ทิศตะวันตก (ประตูสวนดอก) ที่พักไพร่พลเมือง
ด้วยหลักทักษาดังกล่าวจึงมีการแบ่งเมืองเป็นสัดส่วนคล้ายร่างกายมนุษย์ (the city as human organisms) ดังนี้
ส่วนบน : อยู่ทางทิศเหนือเมืองได้แก่อายุเมือง เดชเมือง และศรีเมือง เป็นทิศแทนที่พระมหากษัตริย์ประกอบด้วยสถานที่หลักๆคือ
1)วัดเชียงหมั้น (มั่น) เป็นที่ประทับพระยาเม็งราย
2)เวียงแก้วหอคำ ปราสาทราชมณเฑียร (วัดมณเฑียร) พอราชมณเฑียร (วัดดับภัย)
3)หอคลังสมบัติ (วัดหม้อคำตวง)
4)โรงม้าหลวงและราชรถ (วัดควรค่าม้า) โรงช้างต้น (วัดล่ามช้าง)
5)ข่วงหลวงเพื่อรวมพล (วัดหัวข่วง)
ส่วนกลางของเมืองหรือสะดือเมือง มีทักษาเมืองได้แก่มูลละเมืองและบริวารเมือง มีสถานที่ เช่น วัดสะดือเมือง (ใกล้อนุสาวรีย์สามกษัตริย์) วัดลีเชียงพระ (วัดพระสิงห์) กาดลี (ประตูท่าแพถึงวัดพระสิงห์ อันเป็นที่มาของแนวคิดถนนคนเดิน) วัดกู่หลวง (เจดีย์หลวง) และบริเวณที่ต่ำกว่าสะดือเมืองลงมาตามทักษาเมืองคือ อุตสาหะและมนตรีเมือง เป็นบ้านขุนนางและไพร่พลที่เปรียบเสมือนขาและเท้าที่เป็นกลุ่มพวกและช่าง เช่นวัดพวกเปีย (พิณเปี๊ยะ) พวกหงษ์ พวกแต้ม ช่างหล่อ ช่างแต้ม (บริเวณประตูเชียงใหม่) และด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้บริเวณแจ่งกู่เฮืองตรงกับทักษากาลกิณีเมืองเป็นที่ตั้งของเรือนจำและป่าช้า ประตูสวนปรุง เป็นประตูทางออกของผีและสิ่งอัปมงคลไปสู่ป่าช้าหายยา (เป็นทิศที่มีการจัดทำเมกกะโปรเจคต์ เช่น ไนท์ซาฟารี พืชสวนโลก ฯลฯ)
นอกจากในเมืองแล้วนอกเขตเมืองก็ยังมีการวางผังกำแพงเมืองชั้นนอกเป็นแบบราหูอมจันทร์ มีลักษณะการใช้พื้นที่คือ
1)ทิศเหนือ อยู่บนหัวเวียงเป็ฯที่ก่อสร้างศาสนสถาน (ย่านช้างเผือก-ข่วงสิงห์) เป็นที่รวมกำลังพลรบ ณ ข่วงช้างเผือกและข่วงสิงห์
2)ทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ เป็นที่รับน้ำ (ถูกถมไปแล้ว)
3)ทิศตะวันออกเป็นบริเวณเพื่อการค้าขาย (หากนายกจะทำสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อการค้าขายก็ควรไปทำที่สันกำแพง)
4)ทิศตะวันออกเฉียงใต้และทิศใต้เป็นที่ใช้ทำสวนและที่นา (พื้นที่รับน้ำจากฝายผญาคำที่นายกจะสั่งทุบ) ทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นป่าช้าและทิศกาลกิณี (แม่เหียะ-หนองควาย)
5)ทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือเป็นป่าปฐมภูมิเพื่อความชุ่มชื้นและให้แหล่งน้ำ เป็นเขตอรัญญิกที่ต้องการความสงบในการบำเพ็ญธรรม
6)เวียงบริวาร คือ เวียงสวนดอกเวียงรูปสี่เหลี่ยม (พ.ศ.1914) เวียงเจ็ดลินรูปวงกลม (พ.ศ.1973)
นอกจากนี้ด้านการปกครองยังไม่ได้มีเฉพาะอำนาจของกษัตริย์หากแต่ยังมีอำนาจจากสิ่งเหนือธรรมชาติที่เป็นสัญลักษณ์ของการควบคุม ปกบ้าน ป้องเมืองและเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจ กล่าวคือ ทิศเหนือมีเจ้าหลวงคำแดง เจ้าแห่งเทวาอารักษ์อยู่ที่อ่างสลุงดอยหลวงเชียงดาว (ที่มีการพยายามสร้างกระเช้าไฟฟ้า) ดอยสุเทพมีสุเทวะฤาษี เทวาอารักษ์ ปูแสะดูแลดอยลูกเหนือ (ดอยสุเทพ) ย่าแสะดูแลดอยลูกใต้ (ดอยคำ) ฝายผญาคำมีเจ้าพ่อผญาคำดูแลเป็นต้น
ความขึด ที่บังเกิดกับเชียงใหม่ในช่วงที่ดร.ทักษิณดำรงตำแหน่งนายกนั้นไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ดินถล่ม ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทางคติชนวิทยาให้เหตุผลทางวัฒนธรรมอธิบายว่าเป็นการเตือนและการลงโทษจากสิ่งเหนือธรรมชาติที่ถูกล่วงเกินไม่ให้ปุถุชนก้าวล้ำเส้นหรือเพื่อหยุดความทะยานอยากของมนุษย์ที่ต้องการเอาชนะธรรมชาติ โดยเฉพาะจากโครงการเมกกะโปรเจคต์ (โมหะโปรเจคต์) ทั้งหลาย กล่าวคือ
1)โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี (สวนสัตว์กลางคืน) มูลค่าการลงทุนประมาณ 1.155.9 ล้านบาท
2)โครงการอุทยานช้าง ในเนื้อที่ 6.000 ไร่ ติดกับไนท์ซาฟารี 600 ล้านบาท
3)โครงการพืชสวนโลก ภายใต้การดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ งบประมาณ 500 ล้านบาท
4)โครงการสปา ระดับโลก ใกล้โครงการพืชสวนโลก (ไม่ทราบงบประมาณ)
5)โครงการอควาเรี่ยม ภายในสวนสัตว์เชียงใหม่ 300 ล้านบาท
6)โครงการพัฒนาลานครูบาศรีวิชัย บริเวณเชิงดอยสุเทพเป็นคอมเพล็กซ์รับสถานีรถไฟฟ้า
7)โครงการธีมปาร์ค หรือสวนสนุก และ เครื่องเล่นระดับโลก (ไม่ทราบงบประมาณ)
โครงการพัฒนระบบขนส่งมวลชนแบบโมโนเรล (รถไฟรางเดี่ยว) เชื่อมระหว่างเชิงดอยสุเทพเข้าสู่เมืองเชียงใหม่ 200 ล้านบาท
9)โครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ 1.450 ล้านบาท
10)โครงการศูนย์กลางไม้ตัดต่อประดับพืชเกษตร 300 ล้านบาท
11)โครงการถนนวงแหวน ด้านตะวันตกหางดง-มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 322 ล้านบาท
12)โครงการถนนเลี่ยงเส้นทางหลักเชียงใหม่-แม่ริมสี่ช่องจราจร จากกองพันสัตว์ต่าง โค้งผ่านป่าสมบูรณ์ของดอยสุเทพ-ฟาร์มงูแม่ริม 340 ล้านบาท
13)โครงการห้องพักสไตล์รีสอร์ท-ร้านอาหารภายในสวนสัตว์ 715 ล้านบาท
14)โครงการกระเช้าลอยฟ้า เชื่อมต่อแหล่งท่องเที่ยวต่างๆรอบดอยสุเทพ ระยะทาง 15 กิโลเมตร 8 สถานี ได้แก่ ไนท์ซาฟารี-อุทยานช้าง-น้ำตกห้วยแก้ว-สวนสัตว์เชียงใหม่-ธีมปาร์ค-สปา-พืชสวนโลก-ลานครูบา โดยจะเป็นเคเบิลคาร์ที่วิ่งสวนกันไปมางบประมาณ 1.000 ล้านบาท หรือแม้แต่โครงการกระเช้าไฟฟ้าข้ามหัวเจ้าหลวงคำแดงที่เชียงดาว โครงการทุบรื้อฝ่ายเพื่อการท่องเที่ยวทางน้ำ ซึ่งล้วนแต่เป็นการพยายามสลายความเป็น วนานคร แทบทั้งสิ้น
หากยิ่งฝืนทำต่อโดยยึดระบบ มูลค่า มากกว่า คุณค่า ในทางวัฒนธรรมแล้ว ความขึดจะยิ่งเกิดกับท่านและคำว่า "ขึด" แปลว่า "กาลกิณี" "แจ่ง" แปลว่า "มุมเมือง" "ข่วง" แปลว่า "ลาน" "เวียง" แปลว่า "เมือง" "กาด" แปลว่า "ตลาด"
บทความนี้เป็นเอกสารซีร็อกซ์ที่ผมได้มาจากพันธมิตรเชียงใหม่ครับ เอามาพิมพ์อีกที การใช้ตัวหนาตัวเอนมันหายไปตอนคัดลอกและวาง การเว้นวรรค แก้คำผิด และการจัดหน้าผมทำเอง ไม่เข้าใจคำไหนถามได้ครับ???
(เพื่อให้สมาชิกอ่านเนื้อหาให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น ขออนุญาตคุณยืนต้น เจ้าของกระทู้ แก้ไขข้อความและรูปแบบให้นะครับ ขอบคุณครับ
- Aloha007)