ขยะใต้พรม 5 ปี อุตฯท่องเที่ยว ไทยลงทุน นอมินีต่างชาติ เทกโอเวอร์
โดย ประชาชาติธุรกิจ วัน ศุกร์ ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2549 15:41 น.
5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ รัฐบาลไทยรักไทย บริหารประเทศ เกิดอะไรขึ้นบ้าง กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเมืองไทย ที่ถูกยกให้เป็นตัวขับเคลื่อนหลักปั๊มรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ ตั้งแต่ระดับชุมชนรากหญ้า ถึงธุรกิจขนาดใหญ่ระดับประเทศ เพิ่มเครื่องมือใหม่ด้วยการตั้ง กระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา
5 ปียุค ทักษิณ-จุฑามาศ
โดยแยกบทบาท การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นศูนย์พัฒนาตลาดและการขาย ศูนย์พัฒนาสินค้าบริการ ทางผ่านงบประมาณ เพื่อไปจัดตั้ง 3 องค์กรมหาชน 1,500 ล้านบาท ได้แก่ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ การ์ด จำกัด (ทีพีซี) บริษัท ไทย ลองสเตย์ จัดการ จำกัด (TLM) และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุม และนิทรรศการ (สสปน./TCEB)
ยุคอุ้มสม ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับ จุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการ ททท.ที่อดีตรักษาการรัฐบาล ไทยรักไทยจ้างกลับเข้ามาเป็นข้าราชการ ซี 10 หลังสัญญาอาชีพลูกจ้างสิ้นสุดลงเมื่อ 11 กันยายน 2549
และหากการเมืองไม่เปลี่ยนแปลงโดย คณะปฏิรูปประชาธิปไตยเสียก่อน นายประชา มาลีนนท์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา ประธานบอร์ด ททท.จะเสนอกระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรี พิจารณาให้เพิ่มโควตา ซี 11 แก่จุฑามาศ ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่ารักษาเก้าอี้ไว้ในฐานะเงาผู้ว่าการคุมการตลาด และวิธีจัดสรรงบประมาณ จนกว่าบางเรื่อง จะสิ้นสุดและกระบวนการสรรหาจะได้ผู้ว่าการ คนใหม่
ตลอด 5 ปีมี ขยะใต้พรม เกิดขึ้นใน อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศรุนแรงขนาดไหน บ่มเพาะผลกระทบกับความเสียหายระยะยาวไว้มหึมาเพียงใด ประเด็นหลักที่ถูกจับตามากที่สุดคือการวาดฝันปั่นสถิติตั้งเป้าทั้งรายได้และจำนวนว่า ภายในปี 2550 ประเทศไทยจะมีรายได้จาก นักท่องเที่ยวต่างชาติทะลุ 1 ล้านล้านบาท จำนวนกว่า 20 ล้านคน/ปีโชว์สถิติว่ามีกำลังซื้อมหาศาลที่จะผลักดันไทยสู่เป้าหมายความสำเร็จการเป็น มหานครท่องเที่ยวเอเชีย หรือ TOURISM CAPITAL OF ASIA ระหว่างนั้นก็เริ่มปูพรม บูมแหล่งท่องเที่ยว และ/หรือจะถือเป็นการปั่น ดีมานด์เทียม เพื่อล่อ ซัพพลาย แห่กันเข้าไปลงทุนก่อสร้างโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ภัตตาคาร และธุรกิจบริการ หวังถอนทุนคืนอย่างรวดเร็ว !?
ตั้งเป้าล่อ กลุ่มทุน ไทยเจ๊งฝรั่งรวย
หากความเป็นจริงทั้ง กำลังซื้อ-รายได้-จำนวนนักท่องเที่ยว ไม่ได้สวยหรูดังคำโฆษณาของ ททท. และอดีตรัฐบาล คงมีเพียงความลื่นไหลแบบวงจรของการปล่อยเงินกู้จากธนาคารเข้าสู่รากหญ้ากลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ราคาที่ดินตามแหล่งท่องเที่ยวพุ่งสูงขึ้น 3-10 เท่า ชีวิตความเป็นอยู่ของวิถีชุมชนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติเสื่อมโทรมทันตา
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นวันนี้ยากจะปฏิเสธได้ว่า ต้นเหตุหลักมาจากความเร่งรีบพัฒนาขยาย การลงทุนรุกล้ำธรรมชาติเพียงด้านเดียว ขาดการสร้างเกาะป้องกันความสูญเสียระยะยาว และ เม็ดเงินส่วนใหญ่หลั่งไหลต้องถูกเวียนกลับไปซ่อมแซมหรือ บางอย่างแทบจะฟื้นฟูกลับคืนมา ไม่ได้
นั่นคือเมื่อ ทุนภายในประเทศ เป็นทีมบุกเบิกอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ผ่านไปแล้ว 5 ปี ก็ยังไม่มีวี่แววจะ คืนทุน แถมดีลชำระหนี้และดอกเบี้ยเงินกู้คืนธนาคารเริ่มต้องทยอยจ่ายคืนพอดี
ตลอดปี 2549 จะพบว่าเทรนด์ที่มาแรงคือ กลุ่มต่างชาติ ใช้ผู้ถือหุ้นแทน (nominee) ในนามบุคคลและนิติบุคคล เข้าไปช็อปซื้อกิจการ (take over) ของถูกที่พร้อมเลหลังขายเกลื่อนประเทศ จากการทนสภาพหนี้และดอกเบี้ยไม่ไหว ประการสำคัญกำลังซื้อจากตลาดการท่องเที่ยว ไม่ได้สวยหรูตามที่ตั้งเป้าไว้
รวมทั้งมีปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าอยู่ตลอดเวลา อาทิ ซาร์ส ไข้หวัดนกระบาด การก่อการร้ายข้ามชาติ สงครามระหว่างประเทศ น้ำท่วมพายุถล่ม ภัยซึ่งเกิดจากมนุษย์และธรรมชาติ
นอมินีต่างชาติเทกฯท่องเที่ยว 4 ภาค
ส่งผลให้จังหวัดท่องเที่ยวสำคัญรอบชายฝั่งทะเลอันดามัน ภูเก็ต สมุย พังงา กระบี่ ถูกเทกโอเวอร์เป็นธุรกิจของต่างชาติไปกว่า 80% รอบชายฝั่งอ่าวไทย เกาะช้าง ตราด พัทยา ชลบุรี ก็มีสภาพไม่ต่างกัน ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจ รีสอร์ตธรรมชาติแถบภาคเหนือ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ ต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของและเปิดธุรกิจใหม่เกสต์เฮาส์ ผับ เอ็นเตอร์เทน เมนต์
โค้งสุดท้ายเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2549 คณะรัฐมนตรีอดีตรัฐบาลไทยรักไทยยังได้อนุมัติเมกะโปรเจ็กต์ การลงทุนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง ทะเลภาคใต้ตอนล่างเลียบอ่าวไทย 5 จังหวัด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี ด้วยเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 32,548 ล้านบาท โชว์สวยหรูว่าภายใน 5 ปี จะคืนทุน ดึงรายได้ เข้าระบบได้ถึง 1.94 แสนล้านบาท พร้อมกับการประกาศจะผนวก ชะอำ หัวหิน ตั้งเป็นจังหวัดใหม่ เป็นแหล่งใหม่ที่กลุ่มทุน ต่างชาติจ้องกันตาเป็นมันดาหน้าซื้อกิจการและ ยึดทำเลลงทุนกันอุตลุด
นอกจากธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ตามชุมชนรากหญ้ามูลค่าสูง โรงแรม รีสอร์ต ภัตตาคาร ร้านอาหาร กำลังเจอทางตัน เพราะ ไทยลงทุน เป็นหนี้ท่วมตัว ต่างชาติ เข้ามาถึงเป็นเจ้าของที่ดินและกิจการได้ ทันทีแล้ว
ภาพลวงกิจการไฮเอนด์ อีลิต-ลองสเตย์
ธุรกิจในเมืองใหญ่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ ถูกอดีตรัฐบาลวางตำแหน่งเป็น ศูนย์กลางภาค เชื่อมโยงตลาดอินเตอร์ ขนเงินลงทุนตั้งองค์กรมหาชน โดยให้ ททท.เป็นทางผ่านงบประมาณ เปิดทุนจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ชูภาพการตลาดสวยหรูจะยกประเทศไทยเป็น Business hub ชุมทางของนักลงทุนทั่วโลก เป็นกำลังซื้อไฮเอนด์ ที่สามารถใช้ 3 บริษัท เป็นช่องทางผ่านได้ แต่ต้องแถมสิทธิประโยชน์มากๆ อาทิ ให้ครอบครองที่ดิน ให้ถือหนังสือเดินทาง 5 ปี เพื่อดึงให้กำลังซื้อ
บริษัทที่อดีตรัฐบาลไทยรักไทยตั้งขึ้น โดย มอบหมายให้ จุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการเข้าไปเป็นประธานทุกแห่ง ในช่วงไล่เลี่ยกันตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา มีไทยแลนด์ พริวิเลจ การ์ด จำกัด (ทีพีซี) ทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท ทำธุรกิจขายอีลิตการ์ดบัตรอภิสิทธิ์การท่องเที่ยวและนักธุรกิจต่างชาติในไทย
ขณะนี้ระบุว่าขายสมาชิกใบละ 1-1.5 ล้านบาท ได้ 3,000 ใบ คิดเป็นเงินกว่า 2,500 ล้านบาท แต่ประชาชนไทยไม่รู้ว่าเงินสดดังกล่าวไปอยู่ ณ บัญชีใด
บริษัท ไทย ลองสเตย์ จัดการ จำกัด ทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท จู่ๆ อ้างขาดทุน ขายหุ้นให้พันตำรวจโทรวมนคร ทับทิมธงชัย ซึ่งถูกระบุว่าเป็นนอมินีของเจ๊ภาคเหนือเครือญาตินักการเมือง และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) งบฯ ก่อตั้ง 300 ล้านบาท
อาจเป็นเพียงองค์กรเดียวที่ได้ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เข้าไปเป็นประธานจัดแถว จนเดินได้ ตรงตามแผน ทำให้การขยายตลาดไมซ์ (meeting-incentive-convention-exhibition : MICE) ดึงรายได้อินเตอร์เข้าสู่ประเทศเพิ่ม ชัดเจนถึง 3 เท่า ปี 2549 ไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท
ขยะใต้พรมทั้งหมดถึงเวลาแล้วที่ รัฐบาล ซึ่งมาจากคณะปฏิรูประบอบประชาธิปไตยควร จัดเก็บให้เกลี้ยงโดยเฉพาะเรื่อง คน ที่สนองนโยบายจนโครงสร้างเศรษฐกิจบิดเบี้ยว กลายเป็น ต้นตอ บ่มเพาะปัญหาและความเสียหายระยะยาว !?
หน้า 36
http://news.sanook.com/travel/travel_32773.phpนอกจากข่าวรับสินบนจากนักธุรกิจอเมริกันแล้ว
ยังมีข่าวฉาวเกี่ยวการ'มั่วนิ่ม' การท่องเที่ยวไทย และผลประโยชน์การจัดตั้งองค์กร บริษัทต่าง ๆ....