เมืองไทยระยะเปลี่ยนผ่าน
ปาฐกถานำสำหรับการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 8
โดย ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
13 ธันวาคม 2550
หอประชุม ไบเทค บางนา
0 0 0
ท่านประธาน ท่านคณบดี มิตรสหายในวงวิชาการ และท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ
ก่อนอื่น คงต้องขอขอบคุณทุกท่านที่กรุณาให้เกียรติผมเป็นผู้แสดงปาฐกถานำสำหรับการประชุมวิชาการครั้งนี้
เนื่องจากสถานการณ์ที่ผ่านมานับเป็นวิกฤตหนักหน่วงและส่งผลกระทบถึงผู้คนทุกหมู่เหล่า ผมเชื่อว่าท่านทั้งหลายคงรู้สึกคล้ายกัน คืออยากให้บ้านเมืองของเราคลี่คลายไปสู่สภาวะปกติสุขโดยเร็ว ในฐานะนักวิชาการ ทุกท่านคงมุ่งหวังมาร่วมกันค้นหาความจริงเกี่ยวกับปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ ตลอดจนช่วยกันแสวงหาทางออกให้กับประเทศชาติ ด้วยความปรารถนาดี
อย่างไรก็ตาม ผมต้องขอออกตัวไว้ก่อนว่าในฐานะคนๆ หนึ่ง ผมมีความรับรู้จำกัดเกินกว่าจะชี้ชัดคำตอบในเรื่องใด และคงทำได้เพียงแค่สมทบส่วนในการตั้งข้อสังเกตหรือจุดประเด็นให้ท่านทั้งหลายนำไปช่วยพิจารณา
กล่าวสำหรับการทำความเข้าใจสถานการณ์ ผมขออนุญาตเสนอหลักธรรมในการค้นหาความจริงสักสองสามข้อ ซึ่งแม้จะไม่ได้มาจากทฤษฎีรัฐศาสตร์โดยตรง แต่ก็น่าจะเป็นประโยชน์อยู่ไม่น้อย
หลักธรรมข้อแรกเป็นจุดเน้นของพุทธศาสนานิกายเซน ท่านสอนให้มองความจริงตามที่มันเป็นอยู่โดยไม่ใส่ทัศนะ ทฤษฎี หรือจินตภาพใดๆ เข้าไปปะปน พูดอีกแบบคือ อย่ารีบจับความจริงมาใส่กรอบคิด เพราะจะได้ความจริงไม่ครบ เมื่อข้อมูลหลายอย่างถูกสกัดโดยตะแกรงความคิด สุดท้ายก็จะเห็นโลกที่เราอยากเห็น ไม่ใช่โลกที่คลี่คลายอยู่ในความเป็นจริง หรือพอโลกไม่เป็นไปตามที่คิด ก็จะเกิดอาการผิดหวังไม่พอใจ
เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับนักรัฐศาสตร์อย่างพวกเรา ลำพังปัจเจกบุคคลคิดอะไรไม่สอดคล้องกับความจริง ความทุกข์อาจตกอยู่กับเจ้าตัว แต่ยามใดที่ปัญญาชนชี้แนะเรื่องการเมืองขัดแย้งกับความเป็นจริง ผลกรรมและความทุกข์ย่อมไม่ตกอยู่กับตัวท่านเพียงผู้เดียว หากยังส่งต่อไปยังผู้อื่นทั้งแผ่นดิน
ถามว่าแล้วตอนนี้ ตัวละครทางการเมืองทั้งหลาย ไม่ว่าฝ่ายค้านฝ่ายปกครอง ฝ่ายที่สูญเสียอำนาจ ฝ่ายที่กำลังกุมอำนาจ ตลอดจนฝ่ายที่อยากขึ้นสู่อำนาจ พร้อมด้วยเพื่อนมิตร บริวาร และผู้สนับสนุนของทุกฝ่าย คิดสอดคล้องกับความจริงมากน้อยแค่ไหน?
เรียนตรงๆ ว่า โดยลักษณะของการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจ (หรือการแสดงอำนาจของตนด้วยการต่อต้านอำนาจอื่น) สัจธรรมย่อมถูกทำลายไปตั้งแต่แรกแล้ว ตราบใดที่ทุกฝ่ายต่างชูธง ผูกขาดความถูกต้อง ยกความเห็นเป็นความเชื่อ ยึดความเชื่อเป็น ความจริง โดยวิธีคิดย่อมไม่อาจสะท้อนโลกได้อย่างแจ่มกระจ่างและครบถ้วน
เท่าที่เห็นและเป็นอยู่ในโลกของการเมือง ผู้คนไม่เพียงมีอุปทานในความคิดของตน หากดูแนวโน้มที่ผ่านมาแล้วการผสมความจริงเข้ากับความเห็น ดูจะเป็นองค์ประกอบสำคัญของโลกแบบนั้นด้วย
ต่อมาเป็นหลักธรรมข้อที่สอง ซึ่งพระท่านสอนไว้ว่าในการพิจารณาปรากฏการณ์ใดๆ เราควรมองเห็นความเชื่อมโยงของเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์นั้นๆ ไม่ใช่มองอย่างแยกส่วนซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินผิดถูกแบบตัดตอน
ผมเชื่อว่าหลายท่านคงจะคุ้นเคยกับพระธรรมคำสอนในเรื่องนี้อยู่แล้ว ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุก็เน้นนักเน้นหนาว่า หลักอิทิปปัจจยตา มีความสำคัญถึงขั้นเป็นหัวใจของพุทธศาสนาเลยทีเดียว (พุทธทาสภิกขุ 2549 น.9)
การมองโลกแบบแยกส่วนและตัดตอน ไม่เพียงทำให้บุคคลชอบตั้งตนเป็นแกนหมุนของจักรวาลเท่านั้น (ส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว) หากยังนำไปสู่ทัศนะแบบขาวล้วนดำล้วน แยกคนแยกโลกออกเป็นสองส่วนเสมอ
จริงอยู่ ในทางปฏิบัติมุมมองแบบทวิลักษณะหรือจับคู่ขัดแย้ง (Dualism) อาจจะจำเป็นอยู่บ้าง เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะจุด แต่ถ้าขยายความจนเลยเถิด ก็จะหลุดลอยจากภาพรวมของความจริง ซึ่งเกาะเกี่ยวกับทุกชิ้นส่วน และไม่เคยหยุดนิ่งให้ยึดติด
ตามหลักอิทัปปัจจยตา ไม่มีสิ่งใดในโลก ไม่ว่าคน สัตว์ พืช สิ่งของ เหตุการณ์ สถานการณ์ ฯลฯ สามารถเกิดขึ้นได้ลอยๆ โดยไม่มีที่มาที่ไป ยกเว้นตัวหลัก อิทัปปัจจยตา ซึ่งเกิดเองมีเองเป็นอสังขตะธรรม
ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า เมื่อสิ่งนี้มีอยู่ สิ่งนี้ย่อมมี เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้ย่อมเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ย่อมไม่มี เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้ย่อมดับไป (เล่มเดียวกัน น.38) พูดภาษาชาวบ้านก็คือ ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นตามเงื่อนไขขับเคลื่อน ผลมาจากเหตุ ถ้าเหตุหมดไป ผลของมันก็หมดไป ในโลกไม่มีเรื่องบังเอิญ
สำหรับหลักธรรมข้อที่สาม ผมคงต้องขออนุญาตเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน คือโดยหลักอนิจจัง ซึ่งเป็นหนึ่งในไตรลักษณ์ เราควรต้องมองเห็นการแปรเปลี่ยนเลื่อนไหลของสรรพสิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นสถานการณ์การเมือง อย่าไปคิดว่าสิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไม่ได้ หรือการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องไม่ดีตลอดเวลา กล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือ เราไม่ควรมองคำนิยาม คุณค่าความหมาย หรือบทบาท ตัวแสดง ตลอดจนองค์ประกอบทางการเมืองทั้งหลายอย่างหยุดนิ่งตายตัว
การเมืองไทยโดยเนื้อแท้แล้วมีระบบหรือไม่ สามารถตีเส้นแบ่งชัดเจนว่าเป็นระบอบอะไรได้แค่ไหน หรือว่าในความเป็นจริง สัมพันธภาพของผู้คนในประเทศนี้ล้วนล่องลอยไปในสายธารของเหตุการณ์ มีตัวบุคคลตลอดจนพลังต่างๆ ผุดโผล่และถอยจมไปตามคลื่นลมกระแสน้ำ หาได้มีฉากใดหยุดนิ่งให้นิยาม และยิ่งไม่มีรูปนามให้ยึดถือ ในเมื่ออำนาจคือกระบวนการที่คนบังคับคนไฉนจึงต้องหาคำแก้ตัวที่ต่างกัน ?
คำถามเหล่านี้ แค่พวกเราฉุกคิดขึ้นมาเป็นระยะๆ บางทีอาจช่วยให้โลกร้อนน้อยลง
ท่านผู้มีเกียรติครับ
ผมทราบดีว่า หลักธรรมทั้งสามข้อ ... ทั้ง อนิมิตตา อิทัปปัจจยตา และหลักอนิจจา ที่ผมนำมาทบทวนสู่กันฟังนั้น ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ แต่ที่หยิบยกขึ้นมาในที่นี้ ก็เพียงเพราะอยากชวนเชิญทุกท่านรวมทั้งตัวเอง มาร่วมกันพิจารณาสถานการณ์เบื้องหน้าด้วยความสงบเยือกเย็น
ในระยะประมาณสองปีมานี้ เราคงต้องยอมรับว่าความขัดแย้งระหว่างกลุ่มพลังทางการเมืองต่างๆ ทำให้สังคมไทยไม่ค่อยได้รับอนุญาตให้อ่านความจริงอย่างครบถ้วนเท่าใด ผู้คนทุกหมู่เหล่ากลายเป็นเป้าหมายที่ถูกชักชวนให้มาเลือกข้างขัดแย้งกันในทุกประเด็น จนเกิดเป็นความสับสนหาคำตอบแทบไม่ได้
ดังที่ รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ ได้ชี้ไว้ในระหว่างแสดง ปาฐกถา 14 ตุลาคม 2550 เมื่อสองเดือนก่อน ท่านปรารภว่าสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ ไม่เพียงแต่เป็นวิกฤตครั้งร้ายแรงในรอบ 15 ปี สำหรับกระบวนการสร้างประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลาฯ 2516 หากยังเป็นช่วงแห่งความอึมครึมสับสนทางอุดมการณ์ การเมือง และศีลธรรมอย่างไม่เคยมีมาก่อนในรอบ 34 ปีของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ .... น้อยครั้งนักที่ขาวกับดำจะคลุมเครือกลืนเข้าหากันเป็นเทาไปทั่วขบวนการประชาชนเท่าครั้งนี้ (เกษียร เตชะพีระ, ปาฐกถา 14 ตุลาประจำปี 2550)
แน่นอน เราคงต้องยอมรับว่าเบื้องหลังความขัดแย้งที่ล้อมรอบการตีความสาระของประชาธิปไตย คือประเด็นเรื่องอำนาจ เพราะฉะนั้น หากจะเข้าใจสถานการณ์จากจุดใจกลาง ก็คงต้องพิจารณาเรื่องนี้ให้ชัดเจนเสียก่อนที่จะไปวิเคราะห์หลักการหรือทฤษฎีที่แต่ละฝ่ายประดิษฐ์ขึ้น