ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
19-04-2024, 04:57
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  ห้องสาธารณะ  |  อำนาจตุลาการ : บทบาทศาลกับการแก้วิกฤติชาติ ( คัดมาให้อ่าน ) 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
อำนาจตุลาการ : บทบาทศาลกับการแก้วิกฤติชาติ ( คัดมาให้อ่าน )  (อ่าน 2573 ครั้ง)
Can ไทเมือง
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13,486



เว็บไซต์
« เมื่อ: 13-05-2006, 05:45 »

อำนาจตุลาการ

"ชา มหาคุณ" อธิบายไว้ในบทความหนังสือพิมพ์มติชน เมื่อวันเสาร์ ที่ 6 พฤษภาคม ว่า

การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีแม้เป็นอำนาจของศาลซึ่งต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมายก็จริงอยู่

แต่ต้องไม่ลืมว่า ศาลใช้อำนาจนี้ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

ผู้พิพากษาจึงเปรียบเสมือน "ข้าในพระองค์"

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสต่อผู้พิพากษาประจำศาล ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนรับหน้าที่ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549

ความว่า

"ประชาชนบอกว่าศาลดียังมีความซื่อสัตย์สุจริต มีความรู้ เพราะได้เรียนรู้กฎหมายมา และพิจารณากฎหมายที่ต้องศึกษาดีๆ ประเทศชาติจึงจะรอดพ้นได้ ถ้าไม่ทำตามหลักกฎหมาย หลักการปกครองที่ถูกต้อง ประเทศชาติไปไม่รอดอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เพราะว่าไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถึง 500 คน ทำงานไม่ได้ ผู้พิพากษาศาลฎีกาจะบอกได้ ศาลอื่นๆ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ไม่มีข้อที่จะห้ามได้มากกว่า ศาลฎีกามีสิทธิที่จะพูด ที่จะตัดสิน ฉะนั้น ก็ขอให้ท่านได้พิจารณาเอาไปพิจารณา เอาไปปรึกษากับผู้พิพากษาศาลอื่น ศาลปกครองว่าจะทำอะไรแล้วรีบทำ ไม่งั้นบ้านเมืองล่มจม..."

จากพระราชดำรัสดังกล่าว ในฐานะ "ข้าในพระองค์" ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมทุกคนต้องรับใส่เกล้าฯ และนำพระบรมราโชวาทดังกล่าวไปปฏิบัติ เพื่อประสาทความยุติธรรมให้แก่ประชาชนโดยเสมอหน้ากันให้สมกับที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย

ทั้งนี้ "วิชา มหาคุณ" ระบุว่า

นี่นับเป็น "ครั้งแรกในประวัติศาสตร์" การศาลยุติธรรมที่องค์พระประมุขทรงมีพระราชดำรัสโดยตรงถึงผู้พิพากษาศาลฎีกา และทรงไว้วางพระราชหฤทัยขอร้องให้ช่วยกันแก้ไขวิกฤตการณ์ของบ้านเมือง



เมื่อเป็นครั้งแรกในประวัติศศาสตร์ ที่ "อำนาจตุลาการ" เข้ามามีส่วนในการแก้ไขวิกฤต "การเมือง"

จึงเป็นธรรมดา ที่ผู้คนในสังคม จะจับตามากเป็นพิเศษ

เพราะนี่อาจ เป็นทางเลือกใหม่ ของการแก้ไข "ปัญหาของบ้านเมือง" ได้

อย่างไรก็ตาม เพราะเหตุที่เป็นเรื่องใหม่ของทั้ง สังคม และของสถาบันตุลาการ เอง

จึงทำให้มีการตั้งข้อสังเกต ดั่งเช่นที่นักวิชาการ อย่าง "พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์" ตั้งข้อสังเกตไว้ในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 10 พฤษภาคม 2549 ว่า

"ศาลจะเน้นการดำรงรักษาขั้นตอนและกระบวนการ โดยแสดงออกซึ่งความเป็นกลาง และไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ของการตัดสินใจของตน มากไปกว่าการ "ให้หลักประกัน" ถึงกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน และการตัดสินใจทางกฎหมายเพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมือง

หรือศาลจะเป็นสถาบันทางการเมืองที่ทำหน้าที่มากกว่าการตัดสินตามขั้นตอนและตัวบท โดยเป็นสถาบันทางการเมืองที่ส่งเสริมให้เกิดการบรรลุวัตถุประสงค์หรืออุดมการณ์/อุดมคติทางสังคมบางประการ ที่มากไปกว่าเรื่องของเสรีภาพทางการเมืองและความเสมอภาคในโอกาสของการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน รวมทั้งความขัดแย้งและการเผชิญหน้าทางการเมือง"

ข้อสังเกตเช่นนี้ ทำให้บทบาทของสถาบันตุลาการน่าจับตามองยิ่ง



หากเราติดตามบทบาทของ สถาบันตุลาการ นับตั้งแต่มีพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 25 เมษายน

จะพบความโน้มเอียง ไปตามข้อสังเกต "ที่สอง" ของ "พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์" มากกว่า

นั่นคือ

"ศาลจะเป็นสถาบันทางการเมืองที่ทำหน้าที่มากกว่าการตัดสินตามขั้นตอน และตัวบท(กฏหมาย)"

ทั้งนี้ หากติดตามการเคลื่อนไหวของตุลาการ

ไม่ว่า การประชุมใหญ่ผู้พิพากษาศาลฎีกาและผู้บริหารศาลยุติธรรมทั่วประเทศเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2549

การประชุมประมุข 3 ศาล อันประกอบด้วย นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด และ นายผัน จันทรปาน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2549

และล่าสุดเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2549

จะพบอย่างชัดแจ้งว่า นอกเหนือจาก การเดินตามข้อกฎหมายแล้ว

สถาบันตุลาการยังก้าวไปสู่ กรอบทางรัฐศาสตร์ กรอบทางการเมือง ที่เปิดกว้างมากขึ้นในแง่การใช้ดุลยพินิจ และการวินิจฉัย

อย่างมติร่วมกัน ร่วมกันของ 3 ประธานศาล นอกจากจะแลกเปลี่ยนความเห็นข้อกฎหมายในหลายประเด็นแล้ว

ยังมีความเห็นพ้องต้องกันใน 3 ประเด็น คือ

1.แต่ละศาลจะเร่งรัดการพิจารณาพิพากษาคดีตามเขตอำนาจของแต่ละศาลให้เสร็จโดยเร็ว ทันต่อความจำเป็นของความเร่งด่วนของแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

2.การพิจารณาคดีความในแต่ละศาลที่จะต้องให้ใช้และตีความกฎหมายบทเดียวกันนั้นต้องระมัดระวังให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อป้องกันความขัดแย้งและสับสนของประชาชน

3.การดำเนินการของแต่ละศาลจะต้องยึดถือความเป็นอิสระของศาลตามเขตอำนาจของแต่ละศาล ที่จะต้องดำเนินไปตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายด้วยความสุจริตและยุติธรรม

ขณะเดียวกัน นายจรัล ภักดีธนากุล เลขาธิการศาลฎีกา ยังได้เป็นตัวแทนถ่ายทอดความรู้สึกของ 3 ศาลไปยังประชาชนว่า

"ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าศาลจะไม่ล่าช้ากว่าเหตุการณ์บ้านเมือง ศาลจะไม่ขัดแย้งกันเองในข้อกฎหมายบทเดียวกัน เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นประชาชนจะสับสนทำให้แตกแยกกันเองได้ จึงมั่นใจว่า ข้อสรุปในวันนี้ จะมีส่วนช่วยให้แก้ปัญหาบ้านเมืองได้ในช่วงแรก ส่วนช่วงต่อไปจะต้องรอฟังผลคำพิพากษาที่กำลังทยอยออกมา"

ซึ่งจะเห็นว่า มีกระอายของ "รัฐศาสตร์" เข้ามาผสมผสานกับ "นิติศาสตร์" อย่างชัดเจน



และชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อ ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

ปรากฏว่านอกเหนือจากแง่มุมข้อกฎหมาย ที่ทำให้การเลือกตั้งไม่ชอบแล้ว

น่าสังเกตว่า ในคำวินิจฉัยกลาง ได้มีการดำเนินการ ตามมติของ 3 ประมุขศาล คือมุ่งเน้น "ป้องกันความขัดแย้งและสับสนของประชาชน" ด้วยการกำหนดอย่างชัดเจนลงไปเพื่อไม่ต้องมานั่งตีความกันอีกว่า การเลือกตั้งมิชอบ จะหมายรวมถึงอะไรบ้าง

ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้ระบุชัดเจน ลงไปว่า

1)เมื่อการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเสียแล้ว ย่อมส่งผลให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรับรองทั้งหมดต้องเสียไปด้วย

2)เมื่อการเลือกตั้งอันเนื่องจากการยุบสภาผู้แทนราษฎรตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 ได้ล่วงพ้นหกสิบวันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 116 วรรคสอง ไปแล้ว และเพื่อให้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นต่อไป มีความเที่ยงธรรมและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงให้องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการให้มีพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป โดยกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับ เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 116 วรรคสองต่อไป

การกำหนดวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนไม่ต้องตีความจนนำไปสู่ภาวะ "ตีบตัน" เหมือนดั่งกรณีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเช่นนี้

เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่มีกฎหมายกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องทำ

แต่เพื่อให้การแก้ไขวิกฤตการเมืองคราวนี้ดำเนินไปอย่างราบรื่น ศาลรัฐธรรมนูญจึงใช้คำวินิจฉัยกลาง บอกถึงแนวทางปฏิบัติเอาไว้โดยชัดเจน

นี่ก็ย่อมแสดงให้เห็นว่า มีการใช้ "รัฐศาสตร์" เข้ามาเป็นองค์ประกอบอย่างมิต้องสงสัย



ยิ่งไปกว่านั้น หากพิจารณาคำแถลงของ นายจรัญ ภักดีธนากุล เลขาธิการประธานศาลฎีกา เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ถึงผลการประชุมประมุข 3 ศาล ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าการเลือกตั้งมิชอบ

อันประกอบด้วย

1)ประธานทั้ง 3 ศาลมีมติตรงกันว่า ภารกิจของศาลยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากจะต้องดูแลและรับภาระในการแก้ปัญหาบ้านเมือง เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปัญหาด้านคดีความเพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาที่เกิดจากความขัดแย้งทางความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ซึ่งอาจลุกลามไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงของประชาชน

2)ด้วยเหตุดังกล่าวประธานทั้ง 3 ศาล เห็นพ้องต้องกันว่า ศาลจำเป็นจะต้องรับภาระดูแล ให้การดำเนินการการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นใหม่ เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ให้จบสิ้นด้วยความเรียบร้อยถูกต้องเป็นที่ถูกใจของประชาชน

3)อำนาจของศาลในการเข้าไปช่วยดูแลการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ มี 2 แนวทาง

แนวทางที่ 1 กกต. ขอความสนับสนุนช่วยเหลือจากศาลให้เข้าไปช่วยดำเนินการจัดการเลือกตั้ง แต่ช่องทางนี้อาจมีปัญหาที่จะต้องวิเคราะห์ว่า ถ้าองค์กรจัดการเลือกตั้งคือ กกต. ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการจัดเลือกตั้งที่ไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ และศาลเองอาจไม่ได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ให้เข้าไปร่วมจัดการเลือกตั้ง

แนวทางที่ 2 เป็นไปได้หรือไม่ ถ้า กกต. จะแสดงความรับผิดชอบ แสดงความเสียสละลาออก เปิดโอกาสให้ศาลได้เข้าไปดูแลในการจัดการเลือกตั้ง ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 138 (3) ในการแต่งตั้ง กกต. ใหม่

"เรื่องนี้ไม่มีใครไปบังคับ กกต. ได้ เพียงแต่ว่าสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้จำเป็นต้องอาศัยความเสียสละของผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ถ้าการเสียสละ แล้วเปิดทางให้กระบวนการที่น่าจะราบรื่น ถือเป็นคุณูปการที่ได้มอบให้กับประชาชน" นายจรัญระบุ



จะเห็นว่า การประกาศดูแลการเลือกตั้งต่อไป การเรียกร้องให้ กกต. ร้องขอให้ศาลเข้าไปช่วยเหลือในการจัดเลือกตั้ง หรือ การเรียกร้องให้ กกต. ลาออก เพื่อเปิดทางให้สรรหา กกต. ชุดใหม่นั้น ไม่ใช่เรื่องของ "ตัวบทกฎหมาย" ที่อำนาจให้แก่สถาบันตุลาการอย่างแน่นอน

หากแต่เป็นการดำเนินการ ไปตามกรอบดังที่ "วิชา มหาคุณ" ว่าไว้ คือสนองพระพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยขอร้องสถาบันศาล ให้ช่วยกันแก้ไขวิกฤตการณ์ของบ้านเมือง

ขณะเดียวกัน ยังเป็นการตัดสินใจทางเมืองที่ลึกซึ้งมากไปกว่าการเน้นการทำหน้าที่เพียงแค่การ "ธำรงรักษาไว้ซึ่งกระบวนการทางกฎหมาย"

ซึ่งนี่ย่อมเป็น "ย่างก้าวใหม่" ที่น่าสนใจของ การใช้ "อำนาจ" ของสถาบันตุลาการ

แน่นอนว่าคงต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์และถกเถียงกันต่อไปว่าจะมีแง่บวกหรือลบอย่างไร

แต่ในเฉพาะหน้า "เสียงขานรับ" จากสังคมต่อการใช้อำนาจของสถาบันตุลาการตอนนี้ดูจะเป็น "บวก" ท่วมท้น

ส่งผลให้ "สถาบันตุลาการ" ขณะนี้ โดดเด่นในสังคมไทยยิ่ง


( มติชนสุดสัปดาห์ )

หมายเหตุคนลอกมา.... เสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่าไปนับรวมในราชดำเนินนะครับ

ประเดี๋ยวจะผิดหวัง อิ อิ
บันทึกการเข้า

หน้า: [1]
    กระโดดไป: