เด็กดี
บุคคลทั่วไป
|
|
« เมื่อ: 14-10-2007, 23:31 » |
|
พระพุทธองค์ตรัสเป็นหลักไว้อย่างนี้ว่า เพราะเข้าไปยึดถือ (อุปาทาน / เสพติดนั่นแหละ) เอาซึ่งรูป ปักใจเข้าไปสู่รูป. เพราะเข้าไปยึดถือเอาซึ่งเวทนา ปักใจเข้าไปสู่เวทนา. เพราะเข้าไปยึดถือเอาซึ่งสัญญา ปักใจเข้าไปสู่สัญญา. เพราะเข้าไปยึดถือเอาซึ่งสังขาร ปักใจเข้าไปสู่สังขาร. เพราะเข้าไปยึดถือเอาซึ่งวิญญาณ ปักใจเข้าไปสู่วิญญาณ (ขันธ์ทั้ง ๕ ). ทิฏฐิ(ความเห็น)จึงเกิดขึ้นว่า นั่นเป็นเรา นั่นเป็นของเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา.
เมื่อมีความรู้สึกคิดนึกไปตามใจที่ให้ความสำคัญว่ารูปสวยก็พอใจ ก็เป็นสุขเวทนา, เมื่อรู้สึกคิดนึกไปตามใจที่ให้ความสำคัญว่ารูปไม่สวย ก็ไม่พอใจ ก็เป็นทุกขเวทนา, เมื่อรู้สึกเฉยๆต่อรูปนั้น ก็ไม่พอใจหรือพอใจก็ไม่ใช่ ก็เป็นอทุกขมสุขเวทนา. ใจจึงเป็นที่รองรับอารมณ์คือรูปที่เกิดจากทางตา เป็นที่รองรับอารมณ์คือเสียงที่เกิดจากทางหู, เป็นที่รองรับอารมณ์คือกลิ่นที่เกิดจากทางจมูก, เป็นที่รองรับอารมณ์คือรสที่เกิดจากทางลิ้น, เป็นที่รองรับอารมณ์คือสัมผัสที่เกิดจากทางกาย. เกิดเป็นทิฏฐิไปตามเจตนารมณ์นั้นๆ เป็นที่มาของอกุศลธรรมเป็นอเนก กล่าวคือ เมื่อพอใจต่อรูปเป็นต้นนั้น ก็เกิดความกำหนัด(ราคะ) เพลิดเพลิน เกิดความเพลิน(นันทิ) เกิดตัณหา, และตัณหานั่นแหละ เป็นปฏิกิริยาแสวงหาอารมณ์ในรูป เป็นต้นนั้น ให้เวทนาเพิ่มค่ายิ่งขึ้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตที่มีความกำหนัด ก็เป็นจิตที่มีความกำหนัดกล้า, เมื่อมีความกำหนัดกล้าในอารมณ์ จิตจึงเป็นจิตวิปริตแปรปรวน มีความปรารถนากล้า มีเจตนาแรงกล้า เมื่อชอบใจก็เพียรจะได้ด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ได้ด้วยเล่ห์ ก็จะเอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยมนต์ ก็จะเอาด้วยคาถา เกิดความเห็นแก่ตัวจัด เกิดโลภเพ่งเล็ง(อภิชฌา) จ้องจะเอาทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็นของตน เมื่อไม่ได้ดังใจก็โกรธอย่างรุนแรง เมื่อโกรธมากๆก็หลงลืมสติ ใช้ความรุนแรงมุ่งร้ายต่อทรัพย์ของผู้อื่น พยาบาท. เสพติดของมึนเมา ยาบ้า ใช้ความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ฉ้อโกง กินสินบาทคาดสินบน แก่งแย่ง ด่าทอ ทะเลาะวิวาท ใช้อาวุธไม่มีคม ใช้อาวุธมีคม จี้ชิงปล้นฆ่า แม้ระเบิดร้ายแรง กระทั่งเกิดสงครามรบพุ่ง แม้การพลีชีพ อกุศลธรรมเหล่านี้เกิดจากความยึดมั่น (อุปาทาน / เสพติดนั่นแหละ) ในขันธ์ทั้งหลาย ๕ ประการดังกล่าวแล้วเป็นมูลทั้งสิ้น. อกุศลธรรมเหล่านี้ครอบงำบุคคลใด, บุคคลนั้นจึงชื่อว่า ขาดจิตสำนึก.
การปลูกจิตสำนึกจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนทั่วไป จะปลูกจิตสำนึกด้วยการปฏิญาณตนต่อ ต่อหน้าพระพุทธรูป หรือต่อหน้าสงฆ์ ว่า เป็นชาวพุทธ(พุทธมามกะ) แล้วก็สวดระลึกถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้นก็อีกวิธีหนึ่ง แต่การปฏิบัติอย่างนี้ ก็ยังอยู่ห่างไกลจากจิตใจ ยังไม่ฝังใจหยั่งลงมั่น เพราะยังไม่เห็นธรรม เมื่อยังไม่เห็นธรรม ก็ยังไม่เห็นคุณประโยชน์อันเกิดแต่กุศลธรรม, ยังไม่เห็นโทษอันต่ำทรามที่เกิดจากอกุศลธรรม. และเมื่อยังไม่เห็นธรรม ก็ยังไม่เห็นพระพุทธองค์ ดังมีพุทธภาษิตว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต. จิตสำนึกจึงเกิดมีบ้าง ไม่เกิดมีบ้าง.
การปลูกจิตสำนึกให้ได้ผลที่ยั่งยืนคือ ทำทิฏฐิให้เป็นสัมมาทิฏฐิ คนส่วนมากเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิอยู่แล้ว แต่สัมมาทิฏฐิ มีอยู่ ๒ ส่วน. สัมมาทิฏฐิของผู้ที่ยังไม่รู้ว่า นี้คือ ทุกข์, นี้คือ เหตุให้เกิดทุกข์, นี้คือ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, นี้คือ แนวทางทางปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ นี้คือ สัมมาทิฏฐิที่เป็นสัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะ(กิเลส) มีส่วนแห่งบุญ มีอุปธิเป็นผล นี้ส่วนหนึ่ง. อีกส่วนหนึ่งคือสัมมาทิฏฐิที่เป็นอริยะ ไม่มีอาสวะ เป็นโลกตุตระ(เหนือโลก). (อุปธิ หมายถึงสิ่งที่เป็นของหนัก เช่นแบกของหนักเกิน หรือหนักอก หนักใจ หนักอึ้งในสมอง ในความคิด เป็นต้น).
พระพุทธองค์ทรงอุปมา อุปไมย ว่า ขณะพระอาทิตย์กำลังขึ้น สิ่งที่มีมาก่อน เป็นนิมิตล่วงหน้า นั่นคือรุ่งอรุณ. ข้อนี้ก็ฉันนั้น นั่นเป็นสิ่งที่มีมาก่อน เป็นนิมิตล่วงหน้า เพื่อการรู้พร้อมอย่างยิ่งตามที่เป็นจริงซึ่งอริสัจทั้งสี่ สิ่งนั้นคือ สัมมาทิฏฐิ.
เมื่อรู้ชัดซึ่งขันธ์ทั้ง ๕, เหตุให้เกิดขึ้นซึ่งขันธ์ทั้ง ๕, ความดับไม่เหลือซึ่งขันธ์ทั้ง ๕, แนวทางให้ถึงความดับไม่เหลือซึ่งขันธ์ทั้ง ๕ แล้ว, เท่ากับรู้ ทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ รู้ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ รู้แนวทางทางปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์(อริสัจทั้งสี่). ความรู้อย่างนี้ เป็นสัมมาทิฏฐิ. และความรู้อย่างนี้เป็น วิชชา. และเมื่อรู้ย่างนี้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตสำนึกย่อมเกิดขึ้น มีหิริ(ความละอายใจ) มีโอตตัปปะ(ความสะดุ้งกลัวต่อบาป).
พระพุทธองค์ทรงค้นพบอุบายออกพ้นไปจากทุกข์ อันเกิดจากอกุศลธรรมเหล่านี้, และทรงนำสาวกทั้งหลายไปอย่างนี้ว่า รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง. รูปไม่ใช่ตน เวทนาไม่ใช่ตน สัญญาไม่ใช่ตน สังขารทั้งหลายไม่ใช่ตน วิญญาณไม่ใช่ตน ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตน นี้เป็นอุบาย, ด้วยอุบายอย่างนี้ เป็นไปเพื่อการนำออกซึ่งความกำหนัดเพราะอำนาจความพอใจในขันธ์ทั้ง ๕ เสียได้, เป็นไปเพื่อการละซึ่งความกำหนัดเพราะอำนาจความพอใจในขันธ์ทั้ง ๕ เสียได้.
ขันธ์ทั้ง ๕ คือ รูปขันธ์ คือสิ่งที่มองเห็นหรือสัมผัสได้เป็นชิ้น เป็นอัน เป็นก้อนเป็นต้น. กรณีอย่างนี้ จัดเข้าในรูปขันธ์. เวทนาขันธ์ คือ ความรู้สึก, เวทนา ๓ คือสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา. กรณีอย่างนี้ จัดเข้าใน เวทนาขันธ์. สัญญา คือ ความสำคัญมั่นหมายจำได้. กรณีอย่างนี้ จัดเข้าใจสัญญาขันธ์. สังขาร คือการปรุงแต่ง หรือหมู่แห่งเจตนา ๖ กรณีอย่างนี้ จัดเข้าใน สังขารขันธ์. วิญญาณ คือการรู้แจ้ง เช่นรู้แจ้งทางตา ทางหู เป็นต้น. กรณีอย่างนี้ จัดเข้าใน วิญญาณขันธ์. ขันธ์ทั้ง ๕ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่ครอบจักรวาล. สิ่งมีชีวิตดำรงอยู่ในโลกนี้และสิ่งไม่มีชีวิตมีอยู่ในโลกนี้ ย่อมรวมลงในขันธ์ทั้งหลายเหล่านั้น..
และทรงจำแนกคำสอนส่วนมากแก่พุทธบริษัทอย่างนี้ ว่า มหาภูต(ธาตุ) ๔ อย่าง และรูปที่อาศัยมหาภูต ๔ อย่างเหล่านี้ด้วย นี้เรียกว่ารูป. ธาตุ ๔ อย่าง คือปฐวีธาตุ(ธาตุดิน) อาโปธาตุ(ธาตุน้ำ) เตโชธาตุ(ธาตุไฟ). วาโยธาตุ(ธาตุลม). นี้คือ ธาตุ ๔ อย่าง.
*คนทั่วไปกล่าวกันว่ารูป เพราะอาศัยความหมายอะไรเล่า ? เพราะกิริยาที่แตกสลายได้มีอยู่ในสิ่งนั้น ดังนั้น สิ่งนั้นจึงถูกเรียกว่ารูป. สิ่งนั้นแตกสลายได้เพราะความเย็นบ้าง เพราะความร้อนบ้าง เพราะความหิวบ้าง เพราะความกระหายบ้าง. เพราะถูกต้องเหลือบ ยุง ลมแดด และสัตว์เลื้อยคลานบ้าง.
ทรงอุปมาซึ่งรูป อย่างนี้ ว่า เปรียบเหมือนฟองน้ำก้อนใหญ่ที่ลอยมาตามน้ำ เมื่อเพ่งพินิจพิจารณาโดยแยบคาย ฟองน้ำนั้นย่อมเป็นของว่างเปล่า เป็นของหาแก่นสารไม่ได้ ก็ฟองน้ำนั้น จะมีแก่นสารได้อย่างไร อุปมานี้ ฉันใด, อุปไมย ก็ฉันนั้น คือรูปชนิดใดชนิดหนึ่งจะเป็นอดีต อนาคต หรือปัจจุบันก็ตาม เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีตก็ตาม. เมื่อเพ่งพินิจพิจารณาโดยแยบคาย รูปนั้นย่อมเป็นของว่างของเปล่า เป็นของหาแก่นสารไม่ได้ ก็แก่นสารในรูปนั้น จะมีได้อย่างไร.
ปฐวีธาตุ ที่เป็นภายในก็มี, ที่เป็นภายนอกก็มี. ปฐวีธาตุที่เป็นภายใน คือส่วนใดที่เป็นของแข็ง เป็นของหยาบ วิญญาณธาตุอาศัยแล้ว มีอยู่ในตน เฉพาะตน กล่าวคือ ผมทั้งหลาย ขนทั้งหลาย เล็บทั้งหลาย ฟันทั้งหลาย หนัง เนื้อ เอ็นทั้งหลาย กระดูกทั้งหลาย เยื่อในกระดูก ไต ตับ หัวใจ พังผืด ม้าม ปอด ลำไส้ ลำไส้สุด อาหารในกระเพาะ อุจจาระ, หรือแม้ส่วนอื่นอีกใดๆ ที่มีลักษณะอย่างนี้, นี้เรียกว่า ปฐวีธาตุ.
อาโปธาตุ ที่เป็นภายในก็มี, ที่เป็นภายนอกก็มี. อาโปธาตุที่เป็นภายใน คือส่วนใดเอิบอาบ เปียกชุ่ม วิญญาณธาตุอาศัยแล้ว มีอยู่ในตน เฉพาะตน กล่าวคือ น้ำดี เสลด หนอง โลหิต เหงื่อ มันข้น น้ำตา น้ำเหลือง น้ำลาย น้ำเมือก น้ำไขข้อ น้ำมูตร, หรือแม้ส่วนอื่นอีกใดๆ ที่มีลักษณะอย่างนี้, นี้เรียกว่า อาโปธาตุ.
เตโชธาตุ ที่เป็นภายในก็มี, ที่เป็นภายนอกก็มี. เตโชธาตุที่เป็นภายใน คือส่วนใดเป็นของเผา เป็นของไหม้ วิญญาณธาตุอาศัยแล้ว มีอยู่ในตน เฉพาะตน กล่าวคือ ธาตุไฟที่ทำกายให้อบอุ่น, ที่ทำกายให้ชราทรุดโทรม, ที่ทำกายให้กระวนกระวาย, ที่ทำให้อาหารซึ่งกินแล้ว ดื่มแล้ว เคี้ยวแล้ว ลิ้มแล้ว ให้แปรไปด้วยดี, หรือแม้ส่วนอื่นอีกใดๆ ที่มีลักษณะอย่างนี้, นี้เรียกว่า เตโชธาตุ.
วาโยธาตุ ที่เป็นภายในก็มี, ที่เป็นภายนอกก็มี. วาโยธาตุที่เป็นภายใน คือส่วนใดเป็นลม ไหวตัวได้ วิญญาณธาตุอาศัยแล้ว มีอยู่ในตน เฉพาะตน กล่าวคือ ลมพัดขึ้นเบื้องสูง ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมนอนอยู่ในท้อง ลมนอนอยู่ในลำไส้ ลมแล่นไปทั่วทั้งตัว และลมหายใจเข้าออก, หรือแม้ส่วนอื่นอีกใดๆ ที่มีลักษณะอย่างนี้, นี้เรียกว่า วาโยธาตุ.
สุขโสมนัสใดๆที่อาศัยรูป แล้วเกิดขึ้น สุขโสมนัสนี้ เป็นรสอร่อย(อัสสาทะ)ของรูป, รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ด้วยอาการใดๆ, อาการนี้ เป็นโทษ(อาทีนพ)ของรูป, การนำออกซึ่งความกำหนัดเพราะอำนาจความพอใจในรูปเสียได้ การละซึ่งความกำหนัดเพราะอำนาจความพอใจในรูปเสียได้ ด้วยอุบายใดๆ, อุบายนี้ เป็นอุบายออกพ้นไปได้จากรูป.
|