9 ตุลาคม พ.ศ. 2550 09:30:00
กรมอุตุนิยมระบุวันร้อนตับแลบเกิน 44 องศา ที่อ.เมือง จ.ตากทำลายสถิติรอบ 54 ปี ส่วนวันเย็นต่ำกว่า 16 องศาลดลงหนักสุดที่เชียงรายและนครสวรรค์
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : อุตุนิยมสรุปวันร้อนเกิน44องศาทำลายสถิติ56ปี
กรมอุตุนิยมชี้วันร้อนตับแลบเกิน 44 องศาทำลายสถิติรอบ 56 ปี ส่วนวันเย็นต่ำกว่า 16 องศาลดลงหนักสุดที่เชียงราย และนครสวรรค์
ในโอกาสครบรอบ 20 ปีหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ จัดเสวนาเรื่อง Life Shock Climate Change โดยมี ดร.จิรพล สินธุนาวา อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศ.นพ.ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยนางจงกลนี อยู่สบาย ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา
นางจงกลนี อยู่สบาย ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า จากการติดตามภาวะโลกร้อนในส่วนของเมืองไทย พบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีสัญญาณที่บ่งบอกถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะความรุนแรงของภัยธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ พบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วประเทศในเดือนพ.ย.2549 ซึ่งอยู่ในช่วงต้นฤดูหนาวสูงกว่าปกติ 1.7 องศาเซลเซียสสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในรอบ 56 ปีของประเทศ ขณะที่เดือนธ.ค.2549 อุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่าปกติประมาณ 1 องศาเซลเซียส จากอุณหภูมิเฉลี่ย 24 องศาฯ
ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนวันที่มีอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำกว่า 16 องศาฯ ตั้งแต่พ.ศ.2494 จนถึงปัจจุบันมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะที่เชียงรายและนครสวรรค์ ซึ่งพบว่าจากการเก็บสถิติของสถานีตรวจอากาศเชียงราย จากเดิมเมื่อปี 2494 วันที่ต่ำกว่า 16 องศาฯจำนวน 90 วันแต่ในปี 2549 จำนวนวันที่เย็นเหลือเพียง 70 วัน
นางจงกลนี กล่าวอีกว่า ในทางกลับกันในช่วงฤดูร้อนปีนี้ ก็พบว่าอุณหภูมิทั่วไปก็สูงกว่าค่าเฉลี่ย และบางพื้นที่มีอากาศร้อนจัด ทำลายสถิติเดิมที่เคยบันทึกไว้ โดยที่ อ.เมือง จ.ตากเมื่อช่วงเดือนเม.ย.นี้อุณหภูมิทะลุไป 44 องศาฯ และ มีวันที่ร้อนถึง 25 วัน ทำลายสถิติวันร้อนสุดในรอบ 54 ปีที่กรมอุตุนิยมวิทยา เคยเก็บข้อมูลเอาไว้ว่าเมื่อปี 2526 ที่ร้อนสุด 43.7 องศาฯ และมีวันร้อนสุดรวม 16 วัน ส่วนรองลงมาคือที่สถานีตรวจวัด อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ เม.ย.ปีนี้อุณหภูมิ 42.1 องศาฯ มีวันร้อน 24 วันจากเดิมสถิติ 41.7 องศาฯและมีวันร้อน 14 วันเมื่อปี 2535 สำหรับในเดือนมี.ค.ของปีนี้ในหลายพื้นที่ก็มีอากาศร้อยเกิน 40 องศาฯ เช่น ที่ท่าตูม จ.สุรินทร์ อุณหภูมิ 41.1 องศาฯจำนวนวันร้อน 31 วันจากสถิติเดิม ปี 2541 ร้อนสุดที่ 40.6 องศาฯและจำนวนวันร้อน 17 วัน
ภาพรวมแนวโน้มอุณหภูมิในประเทศไทยสูงขึ้นประมาณ 1 องศาฯ ซึ่งส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ย อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย และต่ำสุดเฉลี่ยด้วย สำหรับปริมาณฝนขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจน แต่หากพิจารณาในช่วง 5-10 ปี ปริมาณฝนเพิ่มขึ้น ส่วนพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนที่เข้าไทยในช่วงปีนี้มีจำนวน 3 ลูกแล้ว ล่าสุดคือพายุเลกิมาที่ทำให้พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือได้รับผลกระทบเกิดน้ำท่วมหนัก แต่ก็ส่งผลให้บางพื้นที่ของภาคอีสานที่แห้งแล้งดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ถึงจะไม่สามารถฟันธงว่าพายุที่พัดผ่านมีความแรงมากขึ้นหรือไม่ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือความเปราะบางของสภาพแวดล้อมมีผลโดยตรงที่จะทำให้เกิดความรุนแรงของผลกระทบ เช่น ความเสี่ยงจากดินถล่ม เป็นต้นนางจงกลนี กล่าว
ด้านดร.จิรพล กล่าวว่า แนวทางในการรับมือผลกระทบที่จะตามมากับภาวะโลกร้อนสำหรับเมืองไทย สิ่งที่หนักใจเป็นเรื่องของสุขภาพของคนเมือง ถ้าไม่พร้อมและอยู่ในความประมาทก็มีโอกาสที่จะเผชิญกับโรคได้ง่าย โดยเฉพาะเชื้อโรคที่มาจากอาหาร เช่น พวกที่นิยมอาหารประเภทยำทะเล ปลาหมึก หอย ลาบ แบบสุกๆดิบๆที่ปกติก็มีความเสี่ยงจะเจอกับเชื้อโรค เป็นทุนเดิมอยู่แล้วยิ่งมีปัจจัยจากอุณหภูมิที่ร้อนขึ้น การบริโภคอาหารดังกล่าวจะยิ่งเปิดช่องให้เชื้อโรคมากขึ้น ทั้งนี้อยากให้หันมาตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยการดูแลสุขภาพ หมั่นออกกำลังกายมากขึ้นอย่าผลัดผ่อน
นพ.ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่เพียงแต่เกิดจากโลกร้อน แต่เกิดจากภาวะอากาศที่แปรปรวน ที่ส่งผลกระทบไม่เพียงแต่มนุษย์เท่านั้น แต่ส่งผลถึงสัตว์ และพืชในน้ำ ทะเล ที่ก่อให้เกิดแหล่งรังโรค โรคอุบัติใหม่ที่มีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจากการตรวจพิษในสัตว์น้ำทะเล เราไม่เพียงแต่พบพิษในปลาปักเป้าแต่ยังตรวจพบพิษในปลาชนิดอื่นรวมทั้งหอยเพิ่มมากขึ้น ที่เกิดจากการสังเคราะห์พิษของสาหร่ายและสะสมพิษในตัวปลา โดยในปี 2521 ที่ประเทศแคนนาดามีรายงานความผิดปกติจากการกินหอยแมลภู่ ที่พบผู้ป่วยถึง 120 คน ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต ซึ่งแม้แต่ในปลาปักเป้าพบว่า ขณะนี้ไม่เพียงแต่พบสารพิษเตโตรโดทอกซิน (tetrodotoxin) ที่เกิดจากแบคทีเรียเท่านั้น แต่ยังพบการสะสมของสารพิษอื่นอีก 4-5 ชนิดที่ตรวจพบในหอยเช่นกัน
นพ.ธีรวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับผลกระทบจากโลกร้อนนั้น ที่น่าเป็นห่วงคือการเสียชีวิตจากโรคระบาด เนื่องจากเชื้อไวรัสนั้น เมื่ออากาศมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 0.5-1.5 องศาเซลเซียส เชื้อไวรัสจะสามารถปรับตัวและแพร่เชื้อได้เร็วขึ้น มีความสามารถในการปรับตัวในแหล่งรังโรคในสัตว์และพื้นที่แล้ว ยังทนต่อสภาวะแวดล้อม และมีความรุนแรงของตัวเชื้อ นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่แปรปรวนยังส่งผลให้คนและสัตว์อยู่ร่วมกันมากขึ้น ทำให้เชื้อสามารถติดต่อสู่กันได้ง่ายขึ้นเช่นกัน รวดเร็วและรุนแรง โดยเฉพาะในกลุ่มเชื้อไวรัสอาร์เอ็นเอที่ดื้อต่อยาได้ง่าย จำเป็นที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือ ในการสร้างระบบป้องกัน นพ.ธีรวัฒน์ กล่าวว่า ในภาวะโลกร้อนที่เชื้อโรคมีวิวัฒนาการในตัวเองมากขึ้น จำเป็นที่ต้องช่วยกันป้องกัน ซึ่งการกินอาหารสุกๆ ดิบๆ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรค ซึ่งหากเลิกพฤติกรรมดังกล่าวจะช่วยในการป้องกันโรคได้อย่างมหาศาล อย่างเช่น อาหารประเภทลาบ ลู่ โดยกระทรวงสาธารณสุขเต้องควบคุมออกเป็นกฎหมายบังคับแม้ว่าจะเป็นพฤติกรรมการกินของคนไทยที่มีมานาน ซึ่งเพียงแค่ขอความร่วมมือเท่านั้นไม่พอ สำหรับการออกกฎหมายนี้ถือเป็นมาตรการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน
เพราะที่ผ่านมาเรารู้มานานแล้วว่า การกินอาหารสุกๆ ดิบๆ เป็นสาเหตุก่อโรค ทั้งยังเป็นแหล่งรังโรคที่เกิดจากพยาธิ อย่างเช่น พยาธิใบไม้ในตับ และมะเร็งในท่อน้ำ ซึ่งเป็นโรคที่มีผู้ป่วยอันดับ 1 ในภาคอีสาน ทำให้เสียงบประมาณในการรักษาพยาบาลหลายพันล้านบาทต่อปี ซึ่งหากทำได้จะช่วยประหยัดงบในการรักษา นอกจากนี้ยังมีพยาธิตัวตืดที่อยู่ในเนื้อหมูที่ก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้
ต้องเลิกพฤติกรรมการกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ของประชาชน โดยออกกฎหมายควบคุมผู้ค้า ร้านขายอาหาร ที่ต้องห้ามขายอย่างเด็จขาด หากใครจะกินอาหารแบบนี้ต้องทำกินเองที่บ้าน ถ้าใครกินแล้วเกิดการเจ็บป่วยควรกำหนดให้สามารถเบิกค่ารักษาได้เพียงแค่ครึ่งหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากเป็นการป่วยที่เกิดจากพฤติกรรมการกินที่ป้องกันได้ ดังนั้นจะต้องมีส่วนรับผิดชอบในการดูแลตนเอง นพ.ธีรวัฒน์ กล่าว และว่า ในการออกกฎหมายนี้ไม่จำเป็นต้องมีการทำประชาพิจารณ์ เนื่องจากในเรื่องนี้เรามีข้อมูลบ่งชี้อย่างชัดเจน ถือเป็นการคุ้มครองประชาชน ซึ่งในต่างประเทศได้มีการออกกฎหมายในลักษณะนี้เช่นกัน ในกรณีนี้รวมถึงปลาดิบ เนื่องจากมีการตรวจพบพิษในเนื้อปลา อย่างไรก็ตามยอมรับว่าการกินปลาดิบเป็นวัฒนธรรมทางญี่ปุ่น ซึ่งหากร้านใดจำหน่ายเนื้อปลาและเกิดปัญหาขึ้น จะต้องมีส่วนในการรับผิดชอบเช่นกัน
http://www.bangkokbiznews.com/2007/10/09/WW10_WW10_news.php?newsid=190143