ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
28-04-2024, 20:58
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  ชายคาพักใจ  |  โครงการหลวงในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
โครงการหลวงในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  (อ่าน 5851 ครั้ง)
หาเพื่อนหยิงคุยแก้เหงาครับ
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,131


กูรู้มึงต้องอ่าน ฮ่าๆ ขำขำนะจ๊ะ


เว็บไซต์
« เมื่อ: 01-10-2007, 07:55 »

โครงการพระราชดำริฝนหลวง
    ที่มาโครงการพระราชดำริฝนหลวง
                       "...แต่มาเงยดูท้องฟ้า มีเมฆ ทำไมมีเมฆอย่างนี้ ทำไมจะดึงเมฆนี่ลงมาให้ได้ก็เคยได้ยินเรื่องการทำฝน ก็มาปรารภกับคุณเทพฤทธิ์ ฝนทำได้มี มีหนังสือ เคยอ่านหนังสือทำได้..."
              โครงการพระราชดำริฝนหลวง เป็นโครงการที่ก่อกำเนิดจาก   พระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงห่วงใยในความทุกข์ยากของพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดาร ที่ต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เพื่ออุปโภคบริโภคและเกษตรกรรม อันเนื่องมาจากภาวะแห้งแล้งซึ่งมีสาเหตุมาจาก ความผันแปร และคลาดเคลื่อนของฤดูกาลตามธรรมชาติ กล่าวคือ ฤดูฝนเริ่มต้นล่าเกินไป หรือหมดเร็วกว่าปกติหรือฝนทิ้งช่วงยาวในช่วงฤดูฝน จากพระราชกรณียกิจในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในทุกภูมิภาคอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอนับแต่เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ จนตราบเท่าทุกวันนี้ ทรงพบเห็นว่าภาวะแห้งแล้ง ได้ทวีความถี่ และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงยิ่งขึ้นตามลำดับ เพราะนอกจากความผันแปรและคลาดเคลื่อนของฤดูกาลตามธรรมชาติแล้ว การตัดไม้ทำลายป่า ยังเป็นสาเหตุให้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ราษฎร ในทุกภาคของประเทศ ทำความเสียหายแก่เศรษฐกิจโดยรวมของชาติเป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปี พ.ศ. 2498 ครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ตามเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินทรงสังเกตเห็นว่ามีเมฆปริมาณมากปกคลุมท้องฟ้า แต่ไม่สามารถก่อรวมตัวกัน จนเกิดเป็นฝนได้ เป็นเหตุให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงระยะยาวทั้ง ๆ ที่เป็นช่วงฤดูฝน ทรงคิดคำนึงว่า น่าจะมีมาตรการทางวิทยาศาสตร์ ที่จะช่วยให้เมฆเหล่านั้นก่อรวมตัวกันจนเกิดเป็นฝนได้ ทรงเชื่อมั่นว่า ด้วยลักษณะของภูมิอากาศ และภูมิประเทศของประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคเขตร้อน และอยู่ในอิทธิพลของฤดูมรสุมของทวีปเอเชีย โดยเฉพาะฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งเป็นฤดูฝน และเป็นฤดูเพาะปลูกประจำปีของประเทศไทย จะสามารถดัดแปรสภาพอากาศ ให้เกิดเป็นฝนตกได้ อย่างแน่นอน
ตามที่ทรงเล่าไว้ใน The Rainmaking Story  จากปี พ.ศ. 2498  เป็นต้นมา ทรงศึกษาค้นคว้า และวิจัยทางเอกสาร ทั้งด้านวิชาการอุตุนิยมวิทยา และการดัดแปรสภาพอากาศ ซึ่งทรงรอบรู้ และเชี่ยวชาญ เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ จนทรงมั่นพระทัย จึงพระราชทานแนวคิดนี้แก่ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยประดิษฐ์ทางด้านเกษตรวิศวกรรม ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขณะนั้น   ซึ่งในปีถัดมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้หาลู่ทางที่จะทำให้เกิดการทดลองปฏิบัติการในท้องฟ้าให้เป็นไปได้

การทดลองในท้องฟ้าเป็นครั้งแรก
ปี พ.ศ. 2512 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดตั้งหน่วยบินปราบศัตรูพืชกรมการข้าว และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนในการสนองพระราชประสงค์   ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล จึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบว่า พร้อมที่จะดำเนินการตามพระราชประสงค์แล้ว ดังนั้นในปีเดียวกันนั้นเอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการทดลองปฏิบัติการจริงในท้องฟ้าเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1-2  กรกฎาคม 2512 โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้งให้ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นผู้อำนวยการโครงการ และหัวหน้าคณะปฏิบัติการทดลอง เป็นคนแรก และเลือกพื้นที่วนอุทยานเขาใหญ่เป็นพื้นที่ทดลองเป็นแห่งแรก โดยทดลองหยอดก้อนน้ำแข็งแห้ง (Dry Ice หรือ Solid Carbon dioxide) ขนาดไม่เกิน 1 ลูกบาศก์นิ้ว เข้าไปในยอดเมฆสูงไม่เกิน 10,000 ฟุต ที่ลอยกระจัดกระจายอยู่เหนือพื้นที่ทดลองในขณะนั้น ทำให้กลุ่มเมฆทดลองเหล่านั้นมีการเปลี่ยนแปลงทางฟิสิกส์อย่างเห็นได้ชัดเจน เกิดการกลั่นรวมตัวกันหนาแน่น และก่อยอดสูงขึ้นเป็นเมฆฝนขนาดใหญ่ ในเวลาอันรวดเร็วแล้วเคลื่อนตัวตามทิศทางลมพ้นไปจากสายตา ไม่สามารถสังเกตได้เนื่องจากยอดเขาบัง แต่จากการติดตามผลโดยการสำรวจทางภาคพื้นดิน และได้รับรายงานยืนยันด้วยวาจาจากราษฎรว่า เกิดฝนตกลงสู่พื้นที่ทดลองวนอุทยานเขาใหญ่ในที่สุด นับเป็นนิมิตหมายบ่งชี้ให้เห็นว่าการบังคับเมฆให้เกิดฝนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้

              พระปฐมบรมราโชวาท
           เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร  เพื่อทอดพระเนตรการทดลอง  ทำฝนหลวงของคณะเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2512   ที่สนามบินบ่อฝ้าย อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทให้คณะปฏิบัติการฯ พยายามอดทนต่อความยากลำบาก เพราะเป็นงานที่มีความสำคัญยิ่งในการ ช่วยให้ประชาชนคลายความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำ ทรงแนะนำให้ศึกษาข้อมูลและปัจจัยที่เกี่ยวข้องทางภาคพื้นดินให้มากยิ่งขึ้น เช่น แผนภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ทางภาคพื้นดินในอาณาบริเวณนั้น การสร้างเปอร์เซ็นต์ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศตอนใกล้พื้นดินให้สูงขึ้น พร้อมกับทรงสาธิตให้คณะเจ้าหน้าที่ดูวิธีการสร้างความชื้นสัมพัทธ์โดยโปรดเกล้าฯ ให้รถดับเพลิงของพระราชวังไกลกังวลมาพ่นละอองน้ำให้เป็นฝอยขึ้นในอากาศ แล้วเสด็จฯ เข้าไปในละอองน้ำที่ฉีด เพื่อนำเครื่องมือเข้าไปวัดความชื้นโดยไม่หวั่นว่าพระวรกายจะเปียกเปื้อนแต่ประการใด ปรากฏว่าสามารถสร้างความชื้นสัมพัทธ์ได้ตามที่ทรงรับสั่ง นอกจากนั้นยังทรงแนะนำว่าควร เพิ่มหน่วยสังเกตการณ์ภาคพื้นดินเพื่อจะได้ศึกษาปริมาณน้ำฝนตามจุดต่างๆ และได้ข้อมูลอื่นๆ ละเอียดยิ่งขึ้น
จากพระบรมราโชวาทพระราชทานในครั้งนั้น เป็นพระปฐมบรมราโชวาทที่คณะปฏิบัติการทดลองได้น้อมรับใส่เกล้าใส่กระหม่อม และได้ปฏิบัติตามสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
1. การวิจัยและค้นคว้าทดลองเป็นสิ่งสำคัญต้องดำเนินการต่อเนื่องไปไม่มีที่สิ้นสุด
2. อย่าสนใจต่อข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่ก่อให้เกิดความท้อแท้ใจให้มุ่งมั่นพัฒนาต่อไป
3. ให้บันทึกรวบรวมไว้เป็นตำรา


โครงการแก้มลิง


 "โครงการแก้มลิง" เป็นส่วนหนึ่งของโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลตามแนวพระราชดำริ โดยประกอบด้วยโครงการขุดลอกคลองระบายน้ำและกำจัดวัชพืช โครงการปรับปรุงและก่อสร้างสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำ ตามที่ได้เกิดสภาวะน้ำท่วมหนักในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๘ อันสืบเนื่องมาจากฝนตกหนักในลุ่มน้ำตอนบน ทำให้ปริมาณน้ำจำนวนมากไหลหลากท่วมพื้นที่อย่างรุนแรงในลุ่มแม่น้ำยมและน่าน เสริมกับปริมาณน้ำล้นอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ไปหลากท่วมพื้นที่ทางด้านท้ายน้ำอย่างหนักและส่งผลกระทบต่สภาวะน้ำท่วมในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งรวมถึงเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นเวลานานกว่า ๒ เดือน คืนวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๘
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่ดูแลปัญหาน้ำท่วมเข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทานแนวพระราชดำริการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่บริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑลโดยทรงเปรียบเทียบการกินอาหารของลิง หลังจากที่ลิงเคี้ยวกล้วยแล้วจะยังไม่กลืน แต่จะเก็บไว้ภายในแก้มทั้งสองข้าง แล้วค่อย ๆ ดุนกล้วยมากินในภายหลัง เช่นเดียวกับกรณีการผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยารวมทั้งน้ำที่ขึ้นมาตามซอยต่าง ๆ เมื่อน้ำทะเลหนุน ให้ไปเก็บไว้ที่บึงใหญ่ที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ชายทะเล และมีประตูน้ำขนาดใหญ่สำหรับปิดกั้นน้ำบริเวณแก้มลิง สำหรับฝั่งตะวันตกจะอยู่ที่คลองชายทะเล ด้านฝั่งตะวันออกบริเวณแก้มลิงจะอยู่ที่คลองสรรพสามิต เมื่อเวลาน้ำทะเลลดลงให้เปิดประตูระบายน้ำออกไป บึงจะสามารถรับน้ำชุดใหม่ต่อไป
สำหรับแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ คือ
ประการแรก    สร้างคันกั้นน้ำโดยปรับปรุงแนวถนนเดิม
ประการที่ ๒   จัดให้มีพื้นที่สีเขียว (Green Belt) ตามพระราชดำริเพื่อกันการขยายตัวของเมือง และเพื่อแปรสภาพให้เป็นทางระบายน้ำ เมื่อมีน้ำหลาก
ประการที่ ๓    ดำเนินการขุดลอกคลอง ขยายคลองที่มีอยู่เดิมและขุดใหม่นอกแนวคันกั้นน้ำ
ประการที่ ๔    สร้างสถานที่เก็บน้ำตามจุดต่าง ๆ
ประการที่ ๕    ขยายช่องทางรับน้ำที่ผ่านทางรถไฟและทางหลวง กรมทางหลวงได้ดำเนินการตาม "โครงการพระราชดำริแก้มลิง" โดยใช้แนวถนนสุขุมวิทเป็นคันกั้นน้ำทะเลที่หนุนท่วมขึ้นมาบนชายฝั่งทะเล และใช้พื้นที่ด้านในของถนนสุขุมวิทเป็นพื้นที่พักน้ำที่ไหลมาจากตอนบน พร้อมทั้งประสานงานกับกรมชลประทานและกรมโยธาธิการดำเนินการก่อสร้างสถานีสูบน้ำตามคลองต่าง ๆ เลียบถนนสุขุมวิทตามแนวคลองชายทะเล โดยมีประสิทธิภาพในการสูบน้ำตามคลองต่าง ๆ คือ คลองตำหรุ คลองบางปลาร้า คลองบางปลา คลองเจริญราษฎร์ คลองด่าน คลองชลหารพิจิตร รวมปริมาณน้ำที่สามารถสูบออกทะเล ๒๖๗ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้น้ำตามคลองต่าง ๆ ของพื้นที่ด้านบนสามารถไหลลงสู่ด้านล่างได้สะดวกรวดเร็วขึ้น
การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลตามแนวพระราชดำริ  "แก้มลิง" มีลักษณะและวิธีการดังนี้
๑. ดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ตอนบน ให้ไหลลงคลองพักน้ำขนาดใหญ่ที่บริเวณชายทะเล
๒. เมื่อระดับน้ำทะเลลดต่ำกว่าระดับน้ำในคลอง ก็ทำการระบายน้ำจากคลองดังกล่าว โดยใช้หลักทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลก (Gravity Flow) ตามธรรมชาติ
๓. สูบน้ำออกจากคลองที่ทำหน้าที่ "แก้มลิง" นี้ เพื่อทำให้น้ำตอนบนค่อย ๆ ไหลมาเองตลอดเวลา ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่วมพื้นที่ลดน้อยลง
๔. เมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับน้ำในลำคลอง ให้ทำการปิดประตูระบายน้ำ โดยยึดหลักน้ำไหลลงทางเดียว (One Way Flow)
หลักการ ๓ ประการ ที่จะทำให้โครงการแก้งลิงมีประสิทธิภาพบรรลุผลสำเร็จตามแนวพระราชดำริ คือ การพิจารณา
๑. สถานที่ที่จะทำหน้าที่เป็นบ่อพักและวิธีการชักนำน้ำท่วมไหลเข้าสู่บ่อพักน้ำ
๒. เส้นทางน้ำไหลที่สะดวกต่อการระบายน้ำเข้าสู่แหล่งที่ทำหน้าที่บ่อพักน้ำ
๓. การระบายน้ำออกจากบ่อพักน้ำต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
"โครงการแก้มลิงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา" ใช้คลองชายทะเลตั้งอยู่ริมทะเลด้านจังหวัดสมุทรปราการทำหน้าที่เป็นบ่อพักน้ำหรือบ่อรับน้ำ ส่วน "โครงการแก้มลิง ในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา" ทำหน้าที่รับน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อระบายออกทะเลด้านจังหวัดสมุทรสาคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริเพื่อให้การระบายน้ำท่วมออกทะเลเร็วขึ้นด้วยวิธีการต่าง ๆ อาทิ โครงการแก้มลิง "แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง" ซึ่งใช้หลักการในการควบคุมน้ำในแม่น้ำท่าจีน คือ เปิดระบายน้ำจำนวนมากลงสู่อ่าวไทยเมื่อระดับน้ำทะเลต่ำ       
โครงการแก้มลิงแม่น้ำท่าจีนตอนล่างจะมีประสิทธิภาพสมบูรณ์ต้องดำเนินการครบระบบ ๓ โครงการด้วยกัน คือ
๑. โครงการแก้มลิง "แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง
๒. โครงการแก้มลิง "คลองมหาชัย-คลองสนามชัย"
๓. โครงการแก้มลิง "คลองสุนัขหอน"

                โครงการแก้มลิงนับเป็นนิมิตหมายที่จะนำพาชาวไทยให้รอดพ้นจากทุกข์ภัย ที่นำความเดือนร้อนแสนลำเค็ญมาสู่ชีวิตที่อบอุ่นปลอดภัย ซึ่งแนวพระราชดำริอันเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านน้ำท่วมนี้ มีพระราชดำริเพิ่มเติมว่า "...ได้ดำเนินการในแนวทางที่ถูกต้องแล้ว ขอให้รีบเร่งหาวิธีปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพต่อไป เพราะโครงการแก้มลิงในอนาคตจะสามารถช่วยพื้นที่ได้หลายพื้นที่..."


โครงการระบายน้ำเลียบถนนบางพลี-ลาดกระบัง ถนนร่มเกล้า


"...การจัดการควบคุมระดับน้ำในคลองสายต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดระบบระบายน้ำในกรุงเทพมหานครนั้น สมควรวางระบบให้ถูกต้องตามสภาพการณ์และลักษณะภูมิประเทศซึ่งควรแบ่งออกเป็น ๒ แผนด้วยกันคือ แผนสำหรับใช้กับในฤดูฝนหรือในฤดูน้ำมากนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการป้องกันน้ำท่วมและเพื่อบรรเทาอุทกภัยเป็นสำคัญ แต่แผนการระบายน้ำในฤดูแล้งนั้น ก็ต้องจัดอีกแบบหนึ่งต่างกันออกไป เพื่อการกำจัดหรือไล่น้ำเน่าเสียออกจากคลองดังกล่าวเป็นหลัก..."
พระราชดำรัส ๔ ธันวาคม ๒๕๓๘


จากสภาวะน้ำท่วมอย่างรุนแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หังทรงห่วงใยในความเดือดร้อนที่เกิดกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในกรุงเทพฯ ได้พระราชดำริการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมไว้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในระยะสั้นนั้น ให้เร่งดำเนินการเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลโดยใช้ประโยชน์จากคลองที่อยู่ฟากฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯให้เป็นทางระบายน้ำ ส่วนในระยะยาว ให้ดำเนินการดังนี้
- จัดให้มีพื้นที่สีเขียวรอบ ๆ พื้นที่กรุงเทพฯ ให้สามารถแปรสภาพเป็นทางระบายน้ำและเป็นพื้นที่สำหรับเป็นทางไหลผ่านของน้ำที่ท่วมหลากเพื่อออกสู่แม่น้ำได้สะดวกมากขึ้น
- สร้างสถานีเก็บกักน้ำตามจุดต่าง ๆ เช่น ตามบึงขนาดใหญ่
- สร้างทำนบป้องกันน้ำจากด้านตะวันออก ไม่ให้ไหลเข้ากรุงเทพฯตลอดจน ขุดคลองหลักต่าง ๆ ในพื้นที่ด้านตะวันออก เพื่อให้เป็นทางน้ำไหลลงสู่อ่าวไทย
- ขุดลอกทางน้ำที่มีอยู่เดิม อาทิ คลองแสนแสบ คลองผดุงกรุงเกษม คลองกระจะ และคลองอื่น ๆ ที่เชื่อมต่อกับคลองแสนแสบ
ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๒๖ ได้เกิดน้ำท่วมหนักในกรุงเทพฯ อีกครั้ง ด้วยพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยพสกนิกรของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จ ฯ ตรวจพื้นที่น้ำท่วมและทรงแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ด้วยพระองค์เองถึง ๖ ครั้งด้วยกัน
๘ ตุลาคม เสด็จ ฯ โดยเฮลิคอปเตอร์ ทอดพระเนตรน้ำท่วมบริเวณซอยศูนย์วิจัย ลาดพร้าว บางกะปิ พระโขนงและสำโรง
๑๙ ตุลาคม เสด็จ ฯ โดยเรือยนต์ของกองพันทหารช่างที่ ๑ รักษาพระองค์ไปตามคลองแสนแสบ เพื่อตรวจการก่อสร้างทำนบคลองแสนแสบตามพระราชดำริ
๒๗ พฤศจิกายน เสด็จ ฯ โดยรถยนต์พระที่นั่งทอดพระเนตรสภาพน้ำท่วมบริเวณซอยศูนย์วิจัย
๑๔ พฤศจิกายน เสด็จ ฯ โดยรถยนต์พระที่นั่ง ทอดพระเนตรสภาพนั้าท่วมบริเวณเขตพระโขนงและแขวงบางนา
๒๔ พฤศจิกายน เสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่ง ทอดพระเนตรสภาพน้ำท่วมบริเวณคลองพระยาราชมนตรีและทรง พระดำเนินลุยน้ำผ่านทุ่งนาไปยังประตูระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี เป็นระยะทางประมาณ ๑ กิโลเมตร
๒๗ พฤศจิกายน เสด็จ ฯ โดยรถยนต์พระที่นั่ง ทอดพระเนตรสภาพน้ำท่วมบริเวณคลองลาดกระบังและคลองหนอง บอนผ่านตามแนวถนนบางพล
กรมทางหลวงได้น้อมรับพระราชดำริ ด้วยการจัดเร่งระบายน้ำบนพื้นที่ด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ ให้ไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยโดยเร็วที่สุด เพื่อมิให้น้ำสะสมจนท่วมขังก่อความเดือนร้อนต่อประชาชน โดยให้สำนักทางหลวง แขวงการทาง ดูแลขุดลอกคลองตามธรรมชาติที่ไหลผ่านทางหลวงให้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะรองรับปริมาณน้ำให้ไหลผ่านได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งได้ประสานงานร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรุงเทพมหานคร กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า ในการดำเนินงานขุดลอกคูคลอง การปรับปรุงประตูระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำและขยายช่องทางน้ำที่ตีบตันแคบลง เพื่อให้การระบายน้ำมีประสิทธ์ภาพสามารถเร่งระบายลงสู่ทะเลอ่าวไทยได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นพื้นที่รองรับน้ำที่ไหลบ่ามาจากทางด้านเหนือระบายลงสู่ทะเลอ่าวไทยโดยแม่น้ำสายหลัก คือ แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนด้านทิศตะวันตก ในส่วนของด้านตะวันออกเป็นพื้นที่ลุ่ม มีคลองและแม่น้ำเส้นเล็กๆ เช่น แม่น้ำนครนายก แม่น้ำบางปะกง เป็นเส้นทางระบายน้ำแต่ความสามารถในการระบายน้ำมีข้อจำกัด ทำให้มักเกิดปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ส่วนนี้ ต่อเนื่องลึกเข้าไปสู่พื้นที่ชั้นกลางและชั้นในของกรุงเทพฯ
สาเหตุของน้ำท่วมในพื้นที่ด้านตะวันออกเพราะเป็นพื้นที่ลุ่ม อีกทั้งยังรองรับน้ำจากส่วนต่าง ๆ กัน ดังนี้
๑. น้ำจากด้านเหนือ ไหลบ่ามาจากเขื่อนเจ้าพระยา ที่จังหวัดชัยนาท และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่จังหวัดลพบุรี ไหลข้ามพื้นที่ด้านตะวันออกลงสู่ทะเลทางด้านใต้ ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางของน้ำค่อนข้างมาก เนื่องจากพื้นที่มีความลาดชันต่ำ ทำให้น้ำไหลได้ช้า จนเกิดการสะสมของปริมาณน้ำจำนวนมากในพื้นที่ กลายเป็นปัญหาน้ำท่วมขัง ปัจจุบัน กรมทางหลวงได้ขุดลอกท่อและโครงสร้างทางระบายน้ำตามรอยพระหัตถ์เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งช่วยให้การระบายน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกำหนดให้น้ำเหนือที่ไหลจากด้านเหนือไหลเข้าสู่คลองระพีพัฒน์ แยกใต้บริเวณอำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ไหลลงสู่คลอง ๑๓ และ ๑๔ ซึ่งจะมีปริมาณน้ำส่วนหนึ่งไหลไปตามคลองรังสิตมาตามคลอง ๑๓ ผ่านพื้นที่เขตหนองจอกลงสู่คลองแสนแสบ แล้วเบี่ยงไปทางด้านตะวันออกลงสู่คลองนครเนืองเขตไหลลงแม่น้ำบางปะกงลงสู่ทะเลต่อไป สำหรับคลองที่มีการขุดลอกและปรับปรุงประตูระบายน้ำเพื่อรองรับเส้นทางระบายน้ำตามลายพระหัตถ์ ได้แก่ ปากคลอง ๓๓ ปากคลองลาดผักขวง ปากคลอง ๑ อ และท้ายคลอง ๑ อ การเสริมคันคลองลาดผักขวงและคลอง ๑ อ (บางส่วน) การปรับปรุงประตูน้ำพระธรรมราชา และการก่อสร้างประตูระบายน้ำกลางคลองรังสิตประยูรศักดิ์ การดำเนินงานดังกล่าวจะช่วยให้ปริมาณน้ำจากด้านเหนือไม่ต้องไหลผ่านพื้นที่ลุ่มด้านตะวนออกของกรุงเทพฯ ทั้งหมด โดยน้ำส่วนใหญ่จะเร่งระบายลงสู่แม่น้ำนครนายก แม่น้ำบางปะกงและแม่น้ำปราจีน เพื่อระบายลงสู่ทะเลอ่าวไทย
๒. ปริมาณน้ำฝนและน้ำใช้น้ำทิ้งของอาคารบ้านเรือน โรงงานของประชาชนจำนวนมากในพื้นที่รับน้ำ (Catchment Area) ด้านตะวันออก เป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดน้ำท่วมขัง เนื่องจากมีการก่อสร้างอาคารโครงสร้างต่าง ๆ โดยเฉพาะการถมดินก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ (หนองงูเห่า) ทำให้กีดขวางการไหลของน้ำและสูญเสียพื้นที่รองรับน้ำกว่า ๒๐,๐๐๐ ไร่ ที่เคยใช้เป็นพื้นที่กักเก็บน้ำทางด้านฝั่งตะวันออก ก่อนที่จะค่อยๆ ระบายไหลไปตามคูคลองซึ่งมีขนาดเล็ก ความสามารถในการเร่งระบายมีจำกัด เช่น คลองลาดกระบัง คลองบางโฉลง คลองจระเข้ใหญ่ และคลองเสาธง ก่อนจะไหลสู่คลองสำโรง คลองชายทะเล ลงสู่อ่าวไทย และเนื่องจากความลาดชันของท้องคลองมีน้อย น้ำที่ไหลด้วย Gravity Flow จึงต้องใช้เวลานานในการไหลระบายลงสู่ทะเลด้านใต้ ทำให้น้ำเอ่อล้นท่วมพื้นที่ ๒ ข้างคลอง ซึ่งเดิมมีโครงการพระราชดำริป้องกันไม่ให้น้ำท่วมขังทางด้านตะวันออกนี้ ไหลเข้าท่วมพื้นที่ตัวเมืองสมุทรปราการและพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นกลาง ได้แก่ เขตดอนเมือง บางเขน บึงกุ่ม ลาดพร้าว บางกะปิ สวนหลวง ประเวศ พระโขนง และพื้นที่ใน เช่น คลองเตย ราชเทวี ปทุมวัน สาทร ป้อมปราบ พญาไท
กรมทางหลวงจึงทำการก่อสร้างคันกั้นน้ำ ตั้งแต่ถนนสุขุมวิท (ทางหลวงหมายเลข ๓) เลียบทางหลวงสายบางพลี-ลาดกระบัง สาย ๓๑๑๙ ร่มเกล้า ถนนนิมิตรใหม่ ถนนหทัยราษฎร์ และถนนสุขาภิบาล ๕ (สายไหม) สิ้นสุดบริเวณจุดบรรจบคลองสองสายใต้กับคลองหกวา ในส่วนของกรมชลประทาน ได้มีการศึกษาแนวทางเร่งการระบายน้ำ โดยการขุดอุโมงค์จากบริเวณชายทะเลอ่าวไทยลอดไปออกคลองสำโรง เพื่อดึงน้ำจากพื้นที่ตะวันออกให้ไหลลงสู่ทะเลด้านใต้ได้เร็วขึ้น
๓. การขึ้น-ลงของน้ำทะเลอ่าวไทย ทำให้น้ำทะเลหนุนไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ด้านล่างบริเวณไกล้ทะเลขณะน้ำขึ้น และน้ำจากพื้นที่ด้านบนไม่สามารถระบายไหลลงสู่ด้านล่างได้สะดวก เกิดน้ำท่วมขังในด้านทิศตะวันออก กรมทางหลวงจึงได้ดำเนินการตามโครงการพระราชดำริแก้มลิง โดยใช้แนวถนนสุขุมวิทเป็นคันกั้นน้ำทะเลที่หนุนท่วมขึ้นมาบนชายฝั่งทะเล และใช้พื้นที่ด้านในของถนนสุขุมวิทเป็นพื้นที่พักน้ำที่ไหลมาจากตอนบน พร้อมทั้งประสานกับกรมชลประทานและกรมโยธาธิการดำเนินการก่อสร้างสถานีสูบน้ำตามคลองต่าง ๆ เลียบถนนสุขุมวิทตามแนวคลองชายทะเล โดยมีประสิทธิภาพในการสูบน้ำ ดังนี้
๓.๑ คลองตำหรุ ๒๔ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
๓.๒ คลองบางปลาร้า ๔๒ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
๓.๓ คลองบางปลา ๔๒ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
๓.๔ คลองเจริญราษฎร์ ๗๕ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
๓.๕ คลองด่าน ๒ ๒๔ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
๓.๖ คลองชลหารพิจิตร ๖๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

จากการดำเนินการในครั้งนี้ สามารถรวมปริมาณน้ำที่สามารถสูบออกทะเล ๒๖๗ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้น้ำตามคลองต่าง ๆ ของพื้นที่ด้านบนสามารถไหลลงสู่ด้านล่างได้สะดวกรวดเร็วขึ้น เป็นการสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีพระประสงค์จะให้พสกนิกรกรุงเทพฯ และปริมณฑล รอดพ้นจากภัยน้ำท่วม


โครงการปลูกหญ้าแฝก
".....การที่จะมีต้นไม้ไปชั่วกาลนานนั้น สำคัญอยู่ที่การปลูกป่า และปลูกป่าบริเวณต้นน้ำซึ่งเป็นยอดเขาและเนินสูงนั้น ต้องมีการปลูกป่าโดยไม้ยืนต้นและปลูกไม้ฟืน ซึ่งไม้ฟืนนั้นราษฎรสามารถนำไปใช้ได้ แต่ต้องมีการปลูกทดแทนเป็นระยะ ส่วนไม้ยืนต้นจะช่วยให้อากาศมีความชุ่มชื้น เป็นขั้นตอนหนึ่งของระบบการให้ฝนตกแบบธรรมชาติ ทั้งยังช่วยยึดดินบนเขาไม่ให้พังทลายเมื่อเกิดฝนตกอีกด้วย ซึ่งถ้ารักษาสภาพป่าไม้ไว้ดีแล้ว ท้องถิ่นก็จะมีน้ำใช้ชั่วกาลนาน...."
พระราชดำรัส ๑๔ เมษายน ๒๕๒๐


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยในปัญหาปริมาณป่าไม้ของประเทศ ซึ่งปัจจุบันได้ลดลงอย่างรวดเร็ว พระองค์ท่านได้พยายามคิดค้นหาวิธีนานาประการที่จะเพิ่มปริมาณของป่าไม้ในประเทศไทยให้มากขึ้นอย่างมั่นคงและถาวร โดยมีวิธีการที่เรียบง่ายและประหยัดในการดำเนินงาน ตลอดจนเป็นการส่งเสริมระบบวงจรป่าไม้ในลักษณะธรรมชาติดั้งเดิม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคำนึงถึงความสอดคล้องเกื้อกูลกันระหว่างการพัฒนาและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด ความเข้าใจถ่องแท้ถึงธรรมชาติและสภาวะตามธรรมชาติ ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติของพระองค์นั้น ทำให้เกิดแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหลากหลาย โดยเฉพาะเรื่องทรัพยากรป่าไม้ซึ่งพระองค์ได้เสนอแนวคิดเรื่อง " ปลูกป่า ๓ อย่าง เพื่อประโยชน์ ๔ อย่าง" กล่าวคือเพื่อมิให้เกษตรกรเข้าบุกรุกทำลายป่าไม้เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ จึงควรให้ดำเนินการปลูกป่า ๓ อย่าง
เพื่อประโยชน์ ๔ อย่าง คือ ป่าสำหรับไม้ใช้สอย ป่าสำหรับเป็นไม้ผล และ ป่าสำหรับเป็นเชื้อเพลิง ป่าหรือสวนป่าเหล่านี้นอกจากเป็นการเกื้อกูลและอำนวยประโยชน์ใน ๓ อย่างนั้นแล้ว ป่าไม้ไม่ว่าเป็นชนิดใดก็จะอำนวยประโยชน์ในการอนุรักษ์ดินและน้ำและคงความชุ่มชื้นไว้ อันเป็นการอำนวยประโยชน์อย่างที่ ๔ ซึ่งเป็นผลพลอยได้ "การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก" เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเข้าพระทัยอย่างลึกซึ้งถึงวิถีธรรมชาติ โดยได้พระราชทานแนวคิดว่า บางครั้งป่าไม้ก็เจริญเติบโตขึ้นเองตามธรรมชาติ ขอเพียงอย่าเข้าไปรบกวนและทำลายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หากปล่อยไว้ตามสภาพชั่วระยะเวลาหนึ่ง ป่าไม้ก็จะขึ้นสมบูรณ์เอง การระดมปลูกป่าด้วยความไม่เข้าใจ เช่น ปอกเปลือกหน้าดินซึ่งมีคุณค่ามากออกไปและปลูกพันธุ์ไม้ซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นและระบบนิเวศบริเวณนั้น นอกจากต้นไม้ที่ปลูกจะตายโดยไม่ได้ประโยชน์แล้ว ยังทำลายสภาพแวดล้อมอีกด้วย แนวความคิดที่ลึกซึ้งนี้จึงเป็นที่มาของคำว่า "ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก" ซึ่งเป็นที่ยึดถือกันในหมู่ผู้รู้ทั่วไป
ภารกิจหลักของกรมทางหลวง คือการก่อสร้างและบำรุงทางหลวงทั่วประเทศ และการก่อสร้างทางหรือขยายทาง ในบางครั้งในบางพื้นที่นั้นจำเป็นต้องตัดต้นไม้ที่มีอยู่สองข้างทางเดิมออกบ้าง เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณจราจรที่เพิ่มขึ้น ที่ผ่านมากรมทางหลวงไม่เคยทอดทิ้งความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม การก่อสร้างทางแต่ละสายทางจะรักษาต้นไม้ที่มีอยู่เดิมไว้ให้มากที่สุด หากจำเป็นต้องตัดก็จะมีการปลูกเพิ่มเติม โดยมีแนวทางการปลูกต้นไม้สองข้างทางกำหนดเป็นแบบมาตรฐานไว้ในแผนงานก่อสร้างทางทุกสายทาง ซึ่งการปลูกต้นไม้ดังกล่าวนี้นอกจากจะเป็นประโยชน์ทางด้านวิศวกรรมและภูมิสถาปัตย์แล้ว ยังทำให้เกิดความสวยงาม ร่มรื่น และเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมอีกด้วย จากภารกิจดังกล่าว
กรมทางหลวงยังดำเนินการปลูกต้นไม้ในพื้นที่นอกเขตทางที่เป็นที่ดินสงวนซึ่งกระจายอยู่ในพื่นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในรูปแบบของการจัดทำเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนและในลักษณะของสวนป่า เพื่อให้เกิดความร่มรื่น สวยงาม และเป็นการสร้างความเขียวขจีให้กับประเทศ และการดำเนินการอันสำคัญยิ่งสำหรับกรมทางหลวงก็คือ
โครงการปลูกต้นไม้เพื่อถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังต่อไปนี้
๑. โครงการปลูกซ่อมแซมต้นไม้ในโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติเริ่มต้นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ จากมติคณะรัฐมนตรี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นายชวน หลีกภัย ได้อนุมัติให้จัดทำโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชปีที่ ๕๐ ขึ้น โดยความร่วมมือร่วมใจระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งกระทรวงคมนาคมและกรมทางหลวงได้เริ่มดำเนินการปลูกต้นไม้เพื่อร่วมโครงการดังกล่าว นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๓๗-๒๕๓๙ ตามแผนงานการปลูกป่าสองข้างทางหลวงแผ่นดินและทางรถไฟ โดยมีเป้าหมายที่จะปลูกต้นไม้บริเวณสองข้างทางหลวงทั่วประเทศในสายทางต่าง ๆ รวมระยะทาง ๒๐,๐๐๐ กิโลเมตร จำนวน ๑๕ ล้านต้น บนเนื้อที่ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ไร่ ซึ่งในครั้งนั้นใช้ชื่อโครงการว่า " ป่าเขียวขจีสองข้างทางหลวง" โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
- สนองพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการปลูกต้นไม้รักษาสิ่งแวดล้อม
- เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าตามนโยบายรัฐบาล
- เพื่อให้ต้นไม้ให้ความร่มรื่น สวยงาม เป็นที่อยู่อาศัย และแหล่งอาหารของสัตว์ป่า
- เพื่อลดมลภาวะและป้องกันภัยธรรมชาติ
- เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกให้ทุกคนช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม
๒. โครงการปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติในวโรกาสทรงมีพระชนมายุ ๗๒ พรรษา โครงการนี้กรมทางหลวงจัดทำขึ้นเพื่อปลูกต้นไม้ยืนต้นที่จะเติบโตเป็นต้นไหญ่ ให้ร่มเงา และมีดอกสวยงามตลอดสองข้างทางหลวงและในเกาะกลางบริเวณถนนที่จะเข้าสู่ตัวเมืองสำคัญและเข้าสู่จังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมายุครบ ๖ รอบ โดยมีระยะเวลาดำเนินการ ๒ ปี คือตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๑-๒๕๔๒ จำนวน ๕๔๓,๙๒๕ ต้น ใน ๒๔๙ สายทาง ซึ่งกรมทางหลวงได้ดำเนินการปลูกต้นไม้ในโครงการนี้แล้วเสร็จรวมทั้งสิ้น ๗๑๒,๙๒๓ ต้น นอกจากนี้ กรมทางหลวงยังมีโครงการปลูกต้นไม้เนื่องในวโรกาสสำคัญ ๆ เช่น โครงการปลูกต้นไม้สองข้างทางและในเกาะกลางถนน กำหนดระยะเวลา ๕ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๒-๒๕๔๕ จำนวน ๓,๖๔๘,๗๗๙ ต้น ใน ๕๙๓ สายทาง โดยใน พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้ดำเนินการปลูกไปแล้ว ๑,๐๙๖,๙๓๗ ต้น ใน พ.ศ. ๒๕๔๒ ปลูกไปแล้วจำนวน ๙๑๗,๒๗๐ ต้น และใน พ.ศ. ๒๕๔๓ ปลูกไปแล้วจำนวน ๗๔๗,๒๒๒ ต้น
โครงการปลูกซ่อมแซมต้นไม้ในโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๒-๒๕๔๖ จำนวน ๔,๗๙๖,๒๓๒ ต้น ใน๘๒๔ สายทาง ซึ่งใน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ดำเนินการปลูกไปแล้วจำนวน ๑,๑๖๑,๕๓๒ ต้น และใน พ.ศ. ๒๕๔๓ ปลูกไปแล้วจำนวน ๑,๐๙๙,๒๒๕ ต้น โครงการปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติครบรอบ ๑๐๐ ปี สมเด็จย่า ณ บริเวณชุมทางต่างระดับพุทธมณฑลสาย ๒ โครงการปลูกต้นไม้ โครงการ ๙ นาที ๙ ล้านต้น เพื่อล้นเกล้า ฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓ โดยร่วมกับกรมป่าไม้จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้บริเวณพื้นที่สำนักงานตามความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การปลูกต้นไม้ตามสถานที่ต่าง ๆ นั้น กรมทางหลวงได้คัดเลือกพันธุ์ไม้โดยยึดหลักความเหมาะสมกับพื่นที่ในแต่ละภาคของประเทศ เช่น สะเดา ขี้เหล็ก สักทอง มะขาม หางนกยูง ราชพฤกษ์ ต้นปีบ ทรงบาดาล เฟื่องฟ้า เป็นต้น
ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา กรมทางหลวงได้ให้ความสำคัญกับการปลูกต้นไม้พร้อม ๆ ไปกับการก่อสร้างและบำรุงรักษาเส้นทาง ทั้งนี้เพื่อให้ต้นไม้บริเวณสองข้างทางและในพื้นที่ดินของกรมทางหลวงทั่วประเทศเป็นแหล่งป่าไม้ที่ให้ความร่มรื่น เขียวขจี ก่อให้เกิดความชุ่มชื้นแก่แผ่นดิน เป็นการสืบสานแนวพระราชดำริในการปลูกป่าของ " พ่อของแผ่นดิน


โครงการทางคู่ขนานลอยฟ้า


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงห่วงใยบัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ และได้พระราชทานพระราชดำริในแนวทางตลอดจนวิธีการแก้ไขปัญหาที่ได้ผลสำเร็จมาแล้วอย่างต่อเนื่อง " โครงการพระราชดำริทางคู่ขนานลอยฟ้า " เป็นอีกหนึ่งโครงการพระราชดำริที่แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาญาณที่ทรงมองการณ์ไกลเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาจราจรและน้ำพระทัยอันเปี่ยมล้น ด้วยพระเมตตากรุณาที่ทรงมีต่อพสกนิกร เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯเยี่ยมพระอาการประชวรของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่โรงพยาบาลศิริราชช่วงเดือนมิถุนายน ๒๕๓๘ ได้ทอดพระเนตรเห็นปัญหาการจราจรที่ติดขัดเป็นอย่างมากที่บริเวณสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ต่อเนื่องไปจนถึงถนนบรมราชชนนี จึงได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้ก่อสร้างทางคู่ขนานลอยฟ้าจากเชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าไปยังบริเวณสถานีขนส่งสายใต้แห่งใหม่ อีกทั้งยังทรงมีพระราชดำรัสเพิ่มเติมถึงการจราจรขาออกนอกเมืองตอนหนึ่งว่า
"... หากสร้างสะพานยกระดับขาออกให้ยาวเลยไปจากขนส่งสายใต้ จะมีประโยชน์มาก ...."
จากแนวพระราชดำรินี้ นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เชิญผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ( ร้อยเอกกฤษฏา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ) และปลัดกรุงเทพมหานคร ( นายประเสริฐ สมะลาภา ) มาประชุมร่วมกันเพื่อสนองพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาการจราจรให้ได้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ผลการประชุมสรุปได้ว่า กรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบก่อสร้างทางคู่ขนานลอยฟ้าจากแยกอรุณอัมรินทร์ถึงคลองบางกอกน้อย ระยะทางประมาณ ๓.๒ กิโลเมตร และกรมทางหลวงรับผิดชอบก่อสร้างจากคลองบางกอกน้อยไปจนถึงแยกพุทธมณฑลสาย ๒ โดยให้รูปแบบสะพาน เสาและคานมีลักษณะเป็นรูปแบบเดียวกันหมด เป็นระยะทาง ๙.๔ กิโลเมตรและจากบริเวณทางยกระดับสิรินธรไปจนเลยทางแยกพุทธมณฑลสาย ๒ อีก ๑ กิโลเมตร นอกจากนี้ กรมทางหลวงยังได้ก่อสร้างขยายช่องจราจรระดับพื้นราบจากเดิมที่มี ๘ ช่องจราจร เพิ่มขึ้นเป็น ๑๒ ช่องจราจรพร้อมทั้งมีการปลูกต้นไม้ที่เกาะกลาง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบตามคำกราบบังคมทูล และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จฯ ทรงวางศิลาฤกษ์เริ่มโครงการดังกล่าวในวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๓๙ และเสด็จฯทรงเปิดทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๔๑ และทรงประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จฯไปตามทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี หลังจากเสด็จพิธีตัดริบบิ้นแถบแพรเปิดทางแล้ว นายศรีสุข จันทรางศุ อธิบดีกรมทางหลวงสมัยนั้น ได้เล่าในภายหลังถึงพระกระแสรับสั่งว่าทรงมีพระราชดำรัสว่า " การก่อสร้างเส้นทางสายนี้ทำได้ยาก การจราจรมีปัญหา ๒ หน่วยงานร่วมกันทำดีมาก ทำสำเร็จได้ ขอชมเชย " นอกจากนี้ยังทรงถามถึงเรื่องทางระบายน้ำบนสะพานว่าทำอย่างไรและ " อยากถามอะไรหน่อย อยากรู้มานาน การระบายน้ำ ระบายอย่างไร " ซึ่งอธิบดีกรมทางหลวงได้กราบบังคมทูลถวายรายงาน จากนั้น ทรงพระกรุณาฉายภาพอธิบดีกรมทางหลวงและปลัดกรุงเทพมหานครที่ยืนคู่กัน ณ บริเวณ Joint ซึ่งเป็นที่ปลาบปลื่มแก่บุคคลทั้งคู่ยิ่งนัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงเล่าว่า พระองค์เสด็จฯแปรพระราชฐานไปหัวหินตั้งแต่ถนนยังไม่ลาดยาง จนมีการพัฒนาเรื่อยมา ขณะนี้ สามารถเสด็จฯ ไปหัวหินได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น
สำหรับรายละเอียดโครงการก่อสร้างทางคู่ขนานลอยฟ้าในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงนั้น เริ่มตั้งแต่ตอนชุมทางต่างระดับสิรินธร-แยกพุทธมณฑล กม.๓+๓๘๖ ถึง กม.๑๓+๒๐๐ บนทางหลวงหมายพิเศษหมายเลข ๓๓๘ สายบางกอกน้อย - นครชัยศรี ระยะทางประมาณ ๙.๔ กิโลเมตร โดยลักษณะโครงการเป็นสะพานยกระดับสูง ๑๕.๐๐ เมตร กว้าง ๑๙.๕๐ เมตร ขนาด ๔ ช่องจราจร แยกทิศทางไปกลับข้างละ ๒ ช่องจราจร กว้างช่องละ ๓.๕๐ เมตร มีทางขึ้นลง ๒ แห่ง นอกจากนี้ ยังขยายถนนในระดับพื้นล่างเพิ่มจาก ๘ ช่องจราจร แบ่งเป็น ๑๒ ช่องจราจร แบ่งเป็นช่องทางด่วน ๖ ช่องจราจร กว้างช่องละ ๓.๕๐ เมตร และทางคู่ขนานด้านละ ๓ ช่องจราจร กว้างช่องละ ๓.๐๐ เมตร พร้อมทั้งก่อสร้างสะพานกลับรถ ( U- Turn ) อีก ๒ แห่งเพื่อใช้กลับรถด้วย
กรมทางหลวงเป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างเอง โดยว่าจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการ ๓ ราย คือบริษัทบุญชัยพาณิชย์ ( ๑๙๗๙ ) จำกัด ก่อสร้างตอนที่ 1 บริษัท พี พี ดี คอนสตรัคชั่น จำกัด ก่อสร้างตอนที่ ๒ และบริษัทอิตาเลี่ยนไทยดีเวล้อปเม้นต์ จำกัด ( มหาชน ) ก่อสร้างตอนที่ ๓ โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวมทั้งสิ้น ๔,๔๖๑,๖๐๙,๖๘๐ บาท ระยะเวลาในการก่อสร้าง ๖๐๐ วัน เริ่มต้นสัญญาวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๓๙ สิ้นสุดสัญญาวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๔๑
หลังจากที่โครงการทางคู่ขนานลอยฟ้าจากชุมทางต่างระดับสิรินธร - แยกพุทธมณฑลสาย ๒ แล้วเสร็จและเปิดดำเนินการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ได้ช่วยระบายการจราจรจากพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ผ่านสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า สู่ถนนบรมราชชนนี ถนนสิรินธร ทางหลวงพิเศษสายบางกอกน้อย - นครชัยศรี ให้สามารถสัญจรไปมาด้วยความสะดวก รวดเร็วและมีความปลอดภัยยิ่งขี้น เนื่องจากมีช่องจราจรรองรับถึง ๑๖ ช่องจราจร และยิ่งเพิ่มความคล่องตัวให้กับยานพาหนะที่จะใช้เส้นทางนี้เดินทางสู่ภาคใต้ ภาคตะวันตก ภาคกลางตอนล่าง และพื้นที่ระหว่างชานเมืองอื่น ๆ ในบริเวณดังกล่าว ให้มีการจราจรสะดวก คล่องตัวเป็นการช่วยลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจและปัญหาสุขภาพจิตอันเนื่องมาจากการจราจรติดขัดได้เป็นอย่างดี และนี่คือความปลาบปลี้มและภาคภูมิใจของกรมทางหลวง ที่ได้มีโอกาสสนองพระกรุณาธิคุณพระบาทสทเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสร้างทางตามแนวพระราชดำริเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรคับคั่งของกรุงเทพ ฯ


โครงการถนนคร่อมคลองประปา


เป็นโครงการอเนกประสงค์อันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อให้ศึกษาสภาพคลองประปาในอนาคต เพราะหากชุมชนมีความหนาแน่น น้ำในคลองประปาคงสกปรก หรือขนาดของคลองอาจเล็กเกินไป สมควรศึกษาว่าตามแนวใต้คลองประปาจะสร้างเป็นท่อลำเลียงน้ำขนาดใหญ่ได้หรือไม่ หรืออาจย้ายโรงกรองน้ำสามเสนไปไว้ที่โรงสูบน้ำสำแล เพื่อผลิดน้ำประปาส่งเข้าระบบท่อลอดใต้คลองประปา ส่วนตามแนวคลองประปาหากทำเป็นถนนหรือระบบขนส่งมวลชน ๑-๒ ชั้น ผ่านตัวเมืองชั้นในออกไปสู่ชานเมืองได้ก็จะเป็นประโยชน์มาก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๖ กระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้ขยายถนนเลียบคลองประปา ช่วงหน้าโรงกรองน้ำบางเขน-ถนนเลียบคลองรังสิต เป็น ๔ ช่องจราจร เพื่อเชื่อมต่อกับถนนประชาชื่น และใน พ.ศ. ๒๕๓๘ ในการประชุมโครงการแก้ไขปัญหาจราจรตามแนวพระราชดำริ มีมติระงับโครงการถนนเลียบคลองประปาไว้ก่อน และให้กรมทางหลวงทำการศึกษา เรื่องรูปแบบโครงการถนนคร่อมคลองประปา จากนั้นในเดือนมีนาคม ๒๕๓๙ การประปานครหลวงได้สรุปความเป็นไปได้และผลกระทบของการปิดคลองประปาว่า สามารถทำได้ถ้าจำเป็น แต่จะทำให้คุณภาพของน้ำดิบด้อยลงกว่าปัจจุบันและมีผลทำให้ต้นทุนการผลิตน้ำประปาสูงขึ้น ซึ่งในระหว่างการออกแบบนั้น ได้ขอให้กรมทางหลวงประสานงานกับการประปานครหลวงด้วย
ต่อมาเมื่อ ๑๖ เมษายน ๒๕๓๙ ในพระราชพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมว่า ถนนคร่อมคลองประปาควรเป็นลักษณะโครงสร้างคร่อมคลองประปา โดยทั้งหมดเป็นผิวจราจร ไม่จำเป็นต้องมีช่องแสง เพราะน้ำไหล จึงไม่เน่า มีหน้าต่างด้านข้างเปิดปิดได้ ภายในมีช่องทางให้เดินเข้าไปดูแลรักษาคลองประปาอาจทำเป็นลักษณะถนนคร่อมคลอง ๒ ชั้น ช่วงจากโรงกรองน้ำสามเสนถึงบางซื่อมีทางด่วนอยู่ข้าง ๆ ต้องปิดให้คลองประปาเป็นอุโมงค์ส่งน้ำเหมือนทุกเมืองในโลก และไม่ควรมีการเวนคืนที่ดินในเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๐ กรมทางหลวงได้ดำเนินการออกแบบโครงสร้างคร่อมปิดคลองประปา ที่มีความกว้างของคลอง ๓๔ เมตร โดยมีสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) เป็นที่ปรึกษา เดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระกระแสรับสั่งว่า เศรษฐกิจของประเทศอยู่ระหว่างชะลอตัว เห็นควรให้ระงับโครงการไว้ก่อน กระทรวงคมนาคมจึงสั่งให้ชะลอโครงการนี้โดยให้กรมทางหลวงดำเนินการศึกษาโครงการต่อไป เพื่อจะได้ทราบถึงปัญหาที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อนำกราบบังคมทูล

ต่อมา ในเดือนกันยายน ๒๕๔๒ กรมทางหลวงได้จัดจ้างสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) เพื่อศึกษาข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งประกอบด้วย

- รูปแบบโครงการที่เป็นไปได้ทางวิศวกรรมเบื้องต้น ได้แก่ ด้านจราจร งานทาง ชลศาสตร์ คุณภาพน้ำ โครงสร้าง และการก่อสร้าง

- งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างสรุปและเสนอแนะในการดำเนินโครงการต่อไป จากนั้น กรมทางหลวงได้ประสานงานกับการประปานครหลวง เพื่อให้โครงการถนนคร่อมคลองประปาเป็นไปตามแนวพระราชดำริ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๔

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสในการเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความก้าวหน้า การก่อสร้างสะพานพระราม ๘ ความว่า
"...บึงมักกะสันน้ำเน่า เพราะไม่ถูกแสงแดด แต่คลองประปาใช้หลักการเดียวกันไม่ได้ เพราะน้ำดีไหล ไม่มีวันเน่า ปัจจุบันเปิดไว้ ความสกปรกเข้าได้เต็มที่ ต้องปิด ทำเป็นอุโมงค์ส่งน้ำเข้ามา...
"...เดิมทีที่เลิกโครงการ เพราะเกิดปัญหาเศรษฐกิจ ไม่มีเงิน ปัจจุบันอยากให้ทำ ประเทศอื่น แหล่งน้ำเอาไว้นอกเมืองแล้วส่งเป็นอุโมงค์เข้ามา ที่ประเทศเราตรงข้าม ให้ฝุ่นตะกั่วลงไป...
"...ถ้ามีปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำ ให้ทำน้ำสะอาดก่อนเข้า ต่อไปน้ำจะมาจากเขื่อนป่าสัก คุณภาพน้ำจะดีขึ้น ถ้าเอาน้ำสะอาดเข้ามา ระบบปิดจะไม่เพิ่มความสกปรก กรมทางฯ กับการประปา ลองไปศึกษาให้ดีถ้าระบบเปิดจะเพิ่มความสกปรก ทำถนน ๒ ข้างแล้วตรงกลางเป็นคลองประปา ความสกปรกยิ่งเข้ามากขึ้น..."
จากการศึกษาและประสานงานกับการประปานครหลวง พอสรุปรูปแบบโครงการเบื้องต้นเป็น ๔ ช่วง คือ
๑. ช่วงโรงกรองน้ำสามเสน-โรงสูบน้ำบางซื่อ ระยะทาง ๑๓.๑ กิโลเมตร เป็นรูปแบบท่อส่งน้ำดิบด้วยแรงดัน ขนาด ๒ เมตร ๒ ท่อ และใช้พื้นที่คลองประปาเดิมเป็นช่องจราจรขาเข้าเมือง
๒. ช่วงโรงสูบน้ำบางซื่อ-โรงกรองน้ำบางเขน ระยะทาง ๘.๖ กิโลเมตร เป็นรูปแบบโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก (คสล.) ปิดคร่อมคลองประปาซึ่งลดขนาดคลองเหลือ ๑๒ เมตร โดยใช้พื้นที่ด้านบนเป็นช่องทางรถมวลชน และใช้พื้นที่คลองประปาที่เหลือเป็นช่องจราจรขาเข้าเมือง
๓. ช่วงโรงกรองน้ำบางเขน-คลองบางหลวง ระยะทาง ๑๒ กิโลเมตร เป็นรูปแบบโครงสร้าง คสล. ยกระดับปิดคลองประปา กว้าง ๓๐ เมตร โดยใช้พื้นที่ด้านบนเป็นผิวจราจรขาเข้าและออก
๔. ช่วงคลองบางหลวง-ทางหลวงหมายเลข ๓๔๗ ระยะทาง ๕ กิโลเมตร เป็นรูปแบบถนน ๒ ข้าง ขนานกับคลองประปา
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ คือ
๑. ประโยชน์ด้านการประปา
- ได้โรงสูบน้ำบางซื่อใหม่ และเปลี่ยนระบบส่งน้ำช่วงสามเสน-บางซื่อเป็นท่อแรงดัน
- ได้คลองประปาแบบปิด ที่กันความสกปรกเข้าและสามารถเข้าไปดูแลรักษาได้ช่วงบางซื่อ-บางเขน
- ได้ปิดคลองและขยายความจุคลองประปาช่วงบางเขน-คลองบางหลวง
- ได้คันกั้นน้ำท่วม ไม่ให้น้ำเสียไหลลงคลองประปาช่วงคลองบางหลวง-สำแล

๒. ประโยชน์ด้านจราจร
- ทำให้โครงข่ายของโครงการจตุรทิศสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
- เสริมและประสานโครงข่ายถนนในพื้นที่
- ช่วยแบ่งเบาภาระการจราจรบนเส้นทางตามแนวโครงการ
- ได้ทางรถมวลชนเพื่อเสริมโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน




ขออณุญาติก๊อบเอามาลงให้อ่านกัน เผื่อพวกเชลียเหลี่ยมจะได้ซึมซับบ้าง
โครงการดังกล่าวที่ผมยกมายังไม่หมดเพียงเท่านี้ ยังมีอีกหลายโครงการ
ที่ยังไม่ได้นำมาลง แต่ขอโพสลิ๊งให้เข้าไปอ่านกันนะคับ

http://www.ezytrip.com/Royal_project/
http://kanchanapisek.or.th/kp12/
http://www.oceansmile.com/King/KingFram.htm
 
 

บันทึกการเข้า

ขอมอบ เพลงนี้ให้กับพี่น้อง พันธมิตรทุกคนฮะ


http://www.imeem.com/sakujo/music/04_GaHIQ/09_avenged_sevenfold_strength_of_the_worldmp3/

strength of the world
หน้า: [1]
    กระโดดไป: