"ส่วนที่3 หมวดสิทธิเสรีภาพ ผมถือว่าเป็นหมวดที่กระทบรุนแรงสุด คือ
1) มาตราที่29 ซึ่งเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จะทำมิได้ แต่ รธน.50นี้ ระบุตอนสำคัญว่า เว้นแต่โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น โดยตัดคำว่า เท่านั้น ออก เพราะ คมช. กำลังผลักดัน พรบ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร ออกมาใช้ หาก รธน.50 และพรบ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร ผ่านมติและประกาศใช้ ทหารจะคุมประเทศอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
2) มาตราที่32 เกี่ยวกับการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้าย จากเดิมยกเว้นเพียงโทษประหารชีวิตตามคำพิพากษาเท่านั้น แต่ของใหม่ เพิ่มข้อความ โทษตามคำพิพากษาของศาลหรือตามที่กฎหมายบัญญัติ.... แสดงว่าโทษอะไรก็ได้ นอกจากนี้มาตรา33 ซึ่งระบุเกี่ยวกับ การเข้าไปในเคหสถานโดยปราศจากการยินยอมของผู้ครอบครอง จะกระทำมิได้ โดย เพิ่มข้อความ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ ในขณะที่ของเดิมให้อำนาจศาลเท่านั้น ของใหม่ให้อำนาจ คำสั่ง (ของผู้มีอำนาจใครก็ได้) ,หมายศาล และคำสั่งตามกฎหมายอื่น เมื่อบวกกับ พรบ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร ซึ่งให้อำนาจ อำนาจจับกุม คุมขัง สอบสวนกับทหารไว้ ประชาชนก็ไม่มีหลักประกันใดๆเลย
ส่วนที่11 เสรีภาพในการชุมนุมและสมาคม
3) มาตราที่64 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุม นั้น ได้เพิ่มวรรคสอง ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมมีเสรีภาพเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป ต่อไปนี้ใครได้อำนาจรัฐ จัดม็อบชนม็อบได้เลย ถูกกฎหมาย ใช้งบหลวงดำเนินการ ประชาชนที่รวมกลุ่มมาเรียกร้องจะถูกต่อต้านด้วยอำนาจรัฐทุกรูปแบบ กฎระเบียบวินัยข้าราชการ ต้องยกเลิก เพราะขัด รธน.มาตรานี้ ม็อบข้าราชการจะยิ่งใหญ่ เพราะได้เงินเดือน สั่งได้ ใช้ของหลวงมาดำเนินการได้
ส่วนที่13 สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
4) มาตรา 68 บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตาม รธน.นี้ ล้มล้างการปกครองมิได้ แต่เพิ่ม วรรคสี่ กรณีถูกศาลรธน.พิพากษาให้ยุบพรรค โดยให้ตัดสิทธิ์ทางการเมืองแก่ หัวหน้า และกรรมการบริหารพรรค การเมืองนั้นห้าปี เป็นบทลงโทษเดียวกับการลงโทษย้อนหลังใน คำสั่ง คปค. ซึ่งตุลาการรธน. ใช้ในการลงโทษยุบพรรคไทยรักไทย และยังระบุไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา300 ว่า ให้ ตุลาการ รธน.ที่แต่งตั้งโดยคณะผู้ยึดอำนาจนั้น ทำหน้าที่ตุลาการศาล รธน.ต่อไป อย่างถูกต้อง คือฟอกตัวให้ตุลาการ รธน. และ ออกใบรับรองคำพิพากษาของเดิม ในคราวเดียวกัน
หมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
ส่วนที่3 แนวนโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดิน
5) มาตรา 78 เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ข้อย่อยที่1 ระบุตอนหนึ่งว่า ....โดยต้องส่งเสริมการดำเนินการตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง...
ส่วนที่7 แนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ
6) มาตรา 83 รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการดำเนินการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งสองมาตรา จะก่อให้เกิดปัญหาการตีความไม่สิ้นสุด โครงการโน้นขัดแนวเศรษฐกิจพอเพียง โครงการนี้ขัดแนวเศรษฐกิจพอเพียง รัฐบาลต่อไปไม่ต้องทำงานพอดี เพราะมัวต้องชี้แจงว่าขัดไม่ขัด ยกตัวอย่าง รถไฟฟ้าใต้ดิน คุณว่าขัดหรือไม่ขัดแนวเศรษฐกิจพอเพียง ?????
หมวด6 รัฐสภา
7) มาตรา 94 ให้เลือกตั้งสส.แบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ คือแต่ละเขตมีสิทธ์เลือกได้ตั้งแต่หนึ่งถึงสามคน และประชาชนก็มีสิทธิ์เลือกได้ตามจำนวนผู้สมัครแต่ละเขต โดยสรุปแต่ละเขตคือเลือกได้ไม่เท่ากัน ทำลายพื้นฐานประชาธิปไตย หนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงลงอย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้ในข้อย่อย6 วรรคสอง ยังให้นับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการสนับสนุนการซื้อเสียงและการควบคุมเสียง เพราะหัวคะแนนตรวจสอบได้ว่าซื้อไปกี่เสียง และได้คะแนนมากี่เสียง เป็นระบบที่ย้อนยุคถอยหลังไปอีกยี่สิบสามสิบปี

มาตรา 95 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ กลับไปแบ่งตามพื้นที่กลุ่มจังหวัด โดยแบ่งเป็นแปดกลุ่มๆละ 10คน ซึ่งเป็นผู้แทนราษฎรที่มาจากส่วนท้องถิ่นไม่ต่างจากการได้มาของผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต ในขณะที่รัฐธรรมนูญเดิมสามารถใส่รายชื่อตามลำดับความสำคัญและความรู้ความสามารถของสมาชิกพรรค โดยทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้งเดียว อีกทั้งให้การนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง เป็นการสนับสนุนการซื้อเสียงและการควบคุมเสียง เช่นเดียวกับข้อข้างต้น
9) มาตรา 101 คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง(ทั้งแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ) กำหนดคุณสมบัติกีดกันพรรคใหม่ อย่างน่าเกลียด เช่น มีทะเบียนบ้านอยู่ในจังหวัดนั้นไม่น้อยกว่า5ปี (เดิม 1 ปี) เคยศึกษาในสถานศึกษาในจังหวัดนั้น ไม่น้อยกว่า5ปี(เดิม 2 ปี) เคยรับราชการในจังหวัดนั้น ไม่น้อยกว่า5ปี (เดิม 2 ปี) ในบทเฉพาะกาล ลดให้เหลือ 1ปี 2 ปี 2 ปี ตามลำดับ เฉพาะสำหรับครั้งแรกที่มีการเลือกตั้ง จะเห็นได้ว่า พรรคการเมืองใหม่ จะสรรหาสมาชิกใหม่ได้ยากขึ้น แม้นบทเฉพาะกาลลดระยะเวลาลง แต่หากรัฐบาลใหม่จาก รธน.นี้ ล้มลงเร็วกว่ากำหนดไม่ว่าเหตุใดก็ตาม พรรคซึ่งก่อตั้งใหม่ ก็จะประสบปัญหาการสรรหาผู้สมัครเพื่อลงแข่งขันรับเลือกตั้ง ในขณะที่พรรคเก่าแก่ มีสมาชิกและสร้างฐานในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ย่อมได้เปรียบ อีกทั้งการกำหนดคุณสมบัติบางอย่างโดยไม่ดูข้อเท็จจริงเช่น การที่เคยศึกษาในจังหวัดนั้นสูงถึง5ปี เพราะหากต้องการผู้มีวุฒิปริญญาตรี โดยส่วนใหญ่ก็จบการศึกษาไม่เกินสี่ปี หากต้องการ ปวส. ก็สองปี ปวช.ก็สามปี เท่านั้น แสดงว่าหากเราอยู่กรุงเทพ ไปเรียนที่เชียงใหม่ จบ ป.ตรี แล้วกลับมาทำงาน กรุงเทพ พออายุครบและญาติพี่น้องที่เชียงใหม่ก็สนับสนุนให้ลงสมัคร ก็ทำไม่ได้ ทั้งๆที่มีความรู้ และเคยอยู่ในพื้นที่กว่าสี่ปี หรือว่า รธน.ต้องการให้ทุกคนเรียนซ้ำชั้นอีกปีหรือไง"