ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
19-04-2024, 13:28
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สภากาแฟ  |  หลักกฎหมายและแนวปฎิบัติการส่งซินาตร้าข้ามแดน 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
หลักกฎหมายและแนวปฎิบัติการส่งซินาตร้าข้ามแดน  (อ่าน 859 ครั้ง)
sootyod
สมาชิกสามัญขั้นที่ 2
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 74



« เมื่อ: 06-07-2007, 18:09 »

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9500000078187

หลักกฎหมายและแนวปฎิบัติการส่งผู้ร้ายข้ามแดน 
 
โดย สราวุธ เบญจกุล 5 กรกฎาคม 2550 09:09 น.
 
 
       แนวคิดเกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
       
       ปัจจุบันลักษณะของการก่ออาชญากรรมมีความสลับซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้การกระทำความผิดต่างๆสามารถที่จะกระทำข้ามพรมแดนระหว่างประเทศสองประเทศหรือมากกว่านั้น ปัญหาคือหากผู้กระทำความผิดในประเทศหนึ่งแล้วหลบหนีไปอยู่อาศัยหรือไปหลบซ่อนยังอีกประเทศหนึ่ง ประเทศผู้เสียหายย่อมไม่มีทางที่จะดำเนินคดีความผิดอาญากับบุคคลดังกล่าวได้ เพราะการที่ประเทศผู้เสียหายจะเข้าไปจับกุมผู้กระทำความผิดในประเทศอื่นเพื่อมาดำเนินคดี ก็เป็นการล่วงละเมิดอำนาจอธิปไตยของประเทศอื่นๆนั้น ขณะเดียวกันหลักทั่วไปที่ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในการดำเนินคดีอาญา คือ การนำตัวบุคคลผู้กระทำความผิดมาปรากฎตัวต่อศาล เพราะการฟ้องคดีอาญานั้นศาลไม่อาจพิพากษาลงโทษคดีอาญาแก่บุคคลผู้ไม่มาปรากฎตัวต่อศาลหรือพิพากษาไปเพียงฝ่ายเดียวอย่างเช่นในคดีแพ่งได้ เพราะฉะนั้นวิธีการที่ดีที่สุดในการเยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ความร่วมมือของประเทศทั้งสองประเทศดังกล่าว โดยประเทศผู้เสียหายนั้นจะต้องทำการร้องขอไปยังประเทศที่ผู้กระทำความผิดนั้นไปอาศัยหรือหลบซ่อนอยู่ ให้ดำเนินการส่งตัวบุคคลดังกล่าวมาเพื่อดำเนินคดีอาญา และลงโทษตามกฎหมายของประเทศผู้เสียหาย ซึ่งความร่วมมือระหว่างประเทศทางอาญานี้เรียกว่า “การส่งผู้ร้ายข้ามแดน”
       
       วัตถุประสงค์ของการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
       
       การส่งผู้ร้ายข้ามแดนเป็นความร่วมมือทางกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม โดยจัดส่งผู้ที่กระทำความผิดหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดและหลบหนีไปยังประเทศอื่นคืนไปยังประเทศที่ความผิดเกิดขึ้น ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา ตามปกติการกระทำความผิดนั้นจะต้องกระทำขึ้นในเขตอำนาจศาลของประเทศที่ร้องขอและบุคคลผู้กระทำผิดได้หลบหนีมาอยู่ในเขตอำนาจศาลของประเทศที่รับคำร้องขอ และการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจะต้องเป็นการร้องขอโดยผ่านพิธีการทางการทูต
       
       ผู้ที่อาจถูกส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดนได้
       
       1. ผู้กระทำความผิดเป็นบุคคลในสัญชาติของประเทศผู้ร้องขอ กรณีนี้ถือเป็นหลักสากลที่ทั่วโลกยอมรับให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกันได้เสมอ เช่น คนไทยทำความผิดอาญาในประเทศไทยแล้วหลบหนี้ไปอยู่ในสหรัฐอเมริกาประเทศไทยก็ขอให้สหรัฐอเมริกาส่งตัวคนไทยผู้นี้ข้ามแดนมาเพื่อพิจารณาคดีหรือเพื่อรับโทษตามคำพิพากษาของศาลไทยในประเทศไทยได้ การที่ประเทศผู้ร้องขอต้องการบุคคลสัญชาติของตนเอง ประเทศผู้รับคำขอก็จะอนุญาตให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามคำขอเสมอ
       
       2. ผู้กระทำผิดเป็นบุคคลในสัญชาติของประเทศผู้รับคำขอ เป็นกรณีที่บุคคลในสัญชาติของประเทศหนึ่งกระทำความผิดแล้วหลบหนี้กลับไปยังประเทศของตน ตามหลักทั่วไปประเทศเจ้าของสัญชาติผู้กระทำความผิดจะไม่ยอมส่งตัวผู้กระทำความผิดนั้นกลับไปให้ประเทศอื่นพิจารณาพิพากษาคดี โดยยึดถือหลักที่ว่า “ไม่ยอมส่งคนสัญชาติตนข้ามแดนให้ประเทศอื่น” ก็สามารถกระทำได้ เช่น คนไทยไปกระทำความผิดทางอาญา ณ ประเทศฟิลิปปินส์แล้วหลบหนีกลับมายังประเทศไทย ประเทศไทยจะไม่ส่งคนไทยผู้นี้ข้ามแดนเพื่อไปให้ศาลฟิลิปปินส์พิจารณาพิพากษาคดีก็กระทำได้
       
       3. ผู้กระทำความผิดเป็นบุคคลในสัญชาติของประเทศที่สาม ในกรณีนี้ตามธรรมเนียมปฎิบัติระหว่างประเทศ ประเทศผู้รับคำร้องขอจะต้องแจ้งให้ประเทศที่สามที่เป็นเจ้าของสัญชาติผู้กระทำผิดทราบเสียก่อนที่จะดำเนินการขั้นต่อไป เพื่อรักษาสัมพันไมตรีอันดีงามระหว่างประเทศ ซึ่งในทางปฏิบัติประเทศเจ้าของสัญชาติผู้กระทำความผิดก็จะสอบถามข้อเท็จจริงแห่งคดี แต่ไม่อาจห้ามมิให้ประเทศผู้รับคำขอส่งตัวข้ามแดนได้
       
       ความผิดที่ส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้
       
       ความผิดที่จะถึงขนาดที่จะนำมาซึ่งการส่งตัวข้ามแดนนั้น ต้องเป็นความผิดทางอาญาที่มีโทษทางตามกฎหมายให้ลงโทษประหารชีวิต จำคุก หรือทำให้ปราศจากเสรีภาพเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี ตามกฎหมายทั้งในประเทศผู้ร้องขอให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนและประเทศผู้รับคำร้องขอ และความผิดนั้นจะต้องไม่ขาดอายุความตามกฎหมายของประเทศที่ร้องขอ ประการสำคัญคือความผิดนั้นต้องไม่ใช่ความผิดทางการเมือง หรือความผิดที่เกี่ยวกับศาสนา
       
       หลักกฎหมายและแนวทางปฎิบัติ
       
       ในปัจจุบันประเทศไทยมีสัญญา อนุสัญญา และสนธิสัญญาเพื่อการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับต่างประเทศทั้งหมด 14 ประเทศ คือ 1. สหราชอาณาจักร 2. สหรัฐอเมริกา 3.แคนาดา 4. ออสเตรเลีย 5. เบลเยี่ยม 6.จีน 7.อินโดนีเซีย 8. ฟิลิปปินส์ 9. ลาว 10.กัมพูชา 11.มาเลเซีย 12.เกาหลีใต้ 13.บังกลาเทศ 14 .ฟิจิ หลักกฎหมายภายในของประเทศไทยเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ปรากฎอยู่ใน พ.ร.บ. ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2472 ตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีคือ ศาลอาญา
       
       หลักการในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน ดังกล่าวข้างต้นกำหนดไว้ว่า แม้จะไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกันก็ตาม ถ้ารัฐบาลไทยเห็นสมควรก็อาจส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ต้องคำพิพากษาให้ลงโทษข้ามแดนให้แก่ประเทศผู้ร้องขอได้ แต่ความผิดที่จะให้มีการส่งตัวข้ามแดนนั้นจะต้องเป็นความผิดซึ่งกฎหมายไทยกำหนดให้ลงโทษจำคุกไม่น้อยกว่าหนึ่งปี โดยจะต้องมีคำร้องขอจากรัฐบาลต่างประเทศมายังรัฐบาลไทย และจะต้องมีหลักฐานประกอบคำร้องคือ ในกรณีที่ให้ส่งตัวบุคคลที่ต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำผิดต้องมีสำเนาคำพิพากษาของศาลที่ได้พิจารณาคดีนั้น ในกรณีขอให้ส่งบุคคลซึ่งต้องหาว่ากระทำผิด จะต้องมีหมายหรือสำเนาหมายสั่งจับของเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ในประเทศที่ร้องขอ
       
       การส่งผู้ร้ายข้ามแดนเริ่มด้วยมีคำร้องขอจากรัฐบาลต่างประเทศโดยพิธีการทางการทูต กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศจะส่งคำร้องขอไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้พนักงานอัยการนำคดีขึ้นสู่ศาลที่มีอำนาจตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม กระทรวงมหาดไทยจะสั่งให้จับจำเลยหรือจะขอให้ศาลออกหมายจับก็ได้ เมื่อจับจำเลยได้แล้ว ต้องนำตัวขึ้นสู่ศาลโดยเร็วและดำเนินการไต่สวนตามวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งไม่จำต้องพิจารณาโดยละเอียดว่าผู้ต้องหาจะมีความผิดตามข้อกล่าวหาที่ขอให้ส่งตัวข้ามแดนหรือไม่ หากแต่จะต้องเป็นที่พอใจว่า จำเลยเป็นผู้ถูกร้องขอให้ส่งตัวข้ามแดนแน่ไม่ใช่จับมาผิดแล้วสับตัวกัน นอกจากนั้นกฎหมายไทยยังได้กำหนดให้ศาลอุทธรณ์เป็นองค์กรตุลาการที่มีอำนาจสูงสุดในการพิจารณาเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดน คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ถือเป็นที่สุดทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ประเทศผู้ร้องขอเมื่อได้รับตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปแล้วจะควบคุม ดำเนินคดี หรือลงโทษจำเลยในความผิดอย่างอื่นนอกเหนือจากความผิดที่อนุญาตให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนไม่ได้
       
       สรุป
       
       เจตนารมณ์ของการส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นก็เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยให้แก่สังคม ซึ่งทุกประเทศในโลกจำเป็นต้องมีส่วนร่วมด้วยเท่าที่เกี่ยวข้องกับตน ทุกประเทศต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการปราบปรามอาชญากรรมและต้องไม่ยินยอมให้ผู้กระทำความผิดทางอาญาจากประเทศหนึ่งหลบหนีมาซ่อนตัวอยู่ในดินแดนประเทศของตน ทั้งนี้เพื่อความสงบสุขของสังคมประชาชาติ ประกอบกับเพื่อให้กฎหมายและศาลเป็นที่เคารพของประชาชนสืบต่อไป
       
       สราวุธ เบญจกุล
       รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
       และโฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม
 
 
บันทึกการเข้า

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
พรรณชมพู
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 5,073


« ตอบ #1 เมื่อ: 06-07-2007, 18:21 »

ขอบคุณค่ะ จะได้เอาไว้ศึกษากรณีซินาตร้า 
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
    กระโดดไป: