ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
28-04-2024, 13:21
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สภากาแฟ  |  ชี้ผู้นำเข้ามะกันตื่นเต้น สั่งผลไม้ไทย2พันตัน/เดือน 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
ชี้ผู้นำเข้ามะกันตื่นเต้น สั่งผลไม้ไทย2พันตัน/เดือน  (อ่าน 2126 ครั้ง)
ScaRECroW
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,000


สุสูสัง ลภเต ปัญญัง - ผู้ฟังดี ย่อมเกิดปัญญา


เว็บไซต์
« เมื่อ: 22-06-2007, 08:37 »


วอชิงตัน ดีซี (ไทยทาวน์ยูเอสเอนิวส์) : อทป. ฝ่ายการเกษตร ยืนยันผลไม้ไทยหกชนิดเข้าอเมริกาภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า แม้อาจถูกคัดค้านโดยภาคเกษตรในฮาวายและฟลอริด้า เชื่อนำรายได้เข้าไทยปีละกว่าสามพันล้าน ขณะเกษตรกรไทย ที่เคยโล๊ะสับปะรดไปทำปุ๋ย เพราะราคาต่ำเกินเหตุ จะได้รับผลประโยชน์โดยตรง

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการเกษตร) สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ให้สัมภาษณ์นายกร เทพนรรัตน์ ผู้สื่อข่าวพิเศษไทยทาวน์ฯ ประจำกรุงวอชิงตัน ดีซี ถึงความคืบหน้าของการนำเข้าผลไม้ไทยหกชนิด คือมะม่วง มังคุด ลำไย เงาะ ลิ้นจี่ สับปะรด ว่าหลังจากผ่านขั้นตอนต่างๆ มาแล้ว คาดว่าจะสามารถนำผลไม้ไทยเข้าสหรัฐฯ ได้อย่างช้าภายในต้นปี 2007 นี้

“เราก็ได้รับการยอมรับจากกระทรวงเกษตรฯ สหรัฐอเมริกาว่ารายงานของเราครบถ้วนสมบูรณ์ ก็นำรายงานฉบับนี้ไปเสนอใน Propose Rule ซึ่งเมื่อเสนอแล้วก็หมายถึงว่า กระบวนการของการพิจารณาและออก Final Rule หรือการออกระเบียบการอนุญาตนำเข้าผลไม้ทั้ง 6 ชนิดนี้ เริ่มเข้าสู่กระบวนการอย่างเป็นทางการแล้ว และเมื่อ 25 กันยายนที่ผ่านมา ก็ครบกำหนดของการให้ข้อคิดเห็นต่างๆ ซึ่งเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อครบกำหนดเวลาไปแล้ว จะไม่มีการอนุญาตให้ข้อคิดเห็นหรือท้วงติงใดๆ อีก คิดว่าการพิจารณาคงเสร็จสิ้นในเร็วๆ นี้ และคงจะออก Final Rule ได้ อย่างช้าคงต้นปี 2550”

ส่วนแผนการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคในอเมริการู้จักผลไม้ไทยทั้งหกชนิดนั้น นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ กล่าวว่าเป็นหน้าที่ของกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์

“ทางกรมส่งเสริมการส่งออก มีสำนักงานส่งเสริมการส่งออกอยู่ในเมืองสำคัญๆ ถึง 4 แห่ง คือ ลอส แองเจลิส นิวยอร์ค ไมอามี่ ชิคาโก บวกกับกระทรวงพาณิชย์ฯ ซึ่งมีสำนักงานที่ปรึกษาฝ่ายการพาณิชย์อยู่ที่วอชิงตัน ดี ซี ซึ่งทั้งห้าสำนักงานนี้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตร เท่าที่ผมทราบนั้น ทั้ง 4 สำนักงานของสำนักงานส่งเสริมการส่งออก ได้มีการทำ Trade Promotion, Road Show มีการออกสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือแม้กระทั่งจ้างเชฟที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของสหรัฐอเมริกาให้เป็น Presenter ในเรื่องของผลไม้ทั้ง 6 ชนิดนี้ด้วย”

อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการเกษตร) กล่าวด้วยว่า ระบบการฉายรังสีอิเล็กตรอน เพื่อทำให้แมลงศัตรูพืชไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้ อันเป็นกรรมวิธีที่รัฐบาลสหรัฐฯ ยอมรับนั้น จะไม่ทำให้ผลไม้ไทยเน่าเสียเร็ว แต่มีข้อดีอยู่มาก เช่นทำให้ผลไม้มีอายุนานขึ้น เพราะเป็นการชะลอการสุกของผลไม้, เป็นการกำจัดแมลงศัตรูพืชต่างๆ  อีกทั้งได้รับการยอมรับว่า รังสีอิเล็กตรอน มิได้มีผลตกค้าง หรือผลข้างเคียงใดๆ ต่อผู้บริโภค

“เราก็ได้มีการศึกษาทดลองและทดสอบความทนทานของการฉายรังสีกับผลไม้ทั้ง 6 ชนิดนี้ด้วย ผลก็ปรากฏว่า ส่วนใหญ่ก็ไม่มีผลอะไร ทั้งในเรื่องของรสชาติ, Shelf Life, เรื่องของผิว ของสีของผลไม้ แต่อาจจะมีบ้างกับผลไม้ที่เปลือกบางจริงๆ เช่น มะม่วง ก็จะมีแค่พันธุ์เดียวคือพันธุ์น้ำดอกไม้ อาจทำให้มีจุดดำบ้าง แต่ก็เป็นส่วนน้อยมาก” อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการเกษตร) กล่าว และว่าเท่าที่ตนทราบ ผู้นำเข้าส่วนใหญ่ต้องการนำเข้ามะม่วงดิบ ซึ่งจะไม่มีผลกระทบใดๆ กับการฉายรังสีอิเล็กตรอน

เช่นเดียวกับระยะเวลาที่ใช้ในการขนส่งทางเรือมายังสหรัฐฯ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เชื่อว่าจะไม่มีผลต่อคุณภาพของผลไม้ไทยเช่นกัน

“ส่วนใหญ่เราจะส่งทางเรือ เพราะประหยัดต้นทุน แต่อย่างเงาะหรือมะม่วงเปลือกบางมากๆ บางพันธุ์ เราก็คงต้องส่งมาทางเครื่องบิน อยากอธิบายว่า ในเรื่องของการขนส่ง นอกจากกระบวนการฉายรังสีที่จะยืดอายุการสุกของผลไม้แล้ว การใช้ความเย็นหรือ Cold Treatment ที่เราใช้ส่งออกไปยังญี่ปุ่น ยุโรป หรือออสเตรเลียก็ใช้กระบวนการนี้ ใช้ตู้ Container ที่รักษาอุณหภูมิที่เหมาะสม เพราะฉะนั้น การขนส่งทางเรือก็ไม่เป็นเรื่องที่มีปัญหาครับ”

ด้านความสนใจของผู้นำเข้าในสหรัฐฯ นั้น อัครราชทูตที่ปรึกษากล่าวว่าทางสำนักงานฯ ได้ติดต่อผู้นำเข้ารายใหญ่ ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกของประเทศ ได้รับความสนใจมาก

“ในระยะเริ่มต้น เราคงส่งเข้ามาในตลาดเอเชียก่อน เงื่อนไขอย่างแรกของเราก็คงเป็นเพราะปริมาณผลไม้ที่เราส่งออกอาจจะมีไม่มากพอด้วยซ้ำไป แต่ในระยะยาว แน่นอนครับ เราอยากจะเห็นผลไม้ไทยวางใน Giant Food, Safeway หรือซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆ ทั่วสหรัฐฯ”

ทั้งนี้ การนำเข้าผลไม้จากประเทศไทยนั้น จะทำให้นำรายได้เข้าประเทศจำนวนมาก อีกทั้งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ให้จำหน่ายผลผลิตในราคาดีขึ้น

“ที่ผมได้ไปคุยกับผู้นำเข้ารายใหญ่ แต่ละชนิดเขาคิดว่าจะนำเข้าประมาณ 100 ตัน ต่อสัปดาห์ มีหกชนิดก็ประมาณ 2,400 ตันต่อเดือน ถ้าคิดเป็นตัวเลขแล้ว เราคงมีรายได้เข้าปีละใกล้เคียง 3,000 ล้านบาท ถ้ามองตัวเลขนี้แล้ว เราก็คิดว่าจะเป็นรายได้มากพอสมควรที่กลับเข้ามาในประเทศ ถ้าเราสามารถจะทำตลาดได้อย่างต่อเนื่องและมีการเพิ่มตลาดอีกในอนาคตด้วย” และว่าการนำเข้าผลไม้มายังสหรัฐฯ จะส่งผลโดยตรงถึงเกษตรกรไทย

“ยกตัวอย่างง่ายๆ ในปีนี้ สับปะรดของเราเหลือราคาเพียงลูกละ 1 บาท ราคาซื้อหน้าสวน หรือบางทีเขาบอกเลยว่า เอาไปเลย เอาไปทำปุ๋ยเลยแล้วกัน ให้กันไปเลย สินค้าเกษตรนั้นราคาแกว่งมาก อย่างเงาะ เราเข้าไปในสวน กิโลละ 3 บาท ถ้ามาสหรัฐฯ จะได้ราคาประมาณปอนด์ละ 5 ดอลลาร์หรือ 200 บาทต่อกิโล ราคามันต่างกันเยอะมาก”

ส่วนการแข่งขันทางการตลาดกับผลไม้พื้นเมืองหรือผลไม้นำเข้าจากที่อื่นนั้น นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ กล่าวว่ามีการพูดถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับผลไม้จากฮาวายและฟลอริด้ามากพอสมควร ทำให้มีการกังวลว่า อาจเกิดแรงกดดันให้การประกาศใน Final Rule ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปีหน้า อาจถูกเลื่อนออกไป แต่ตนคาดว่าจะไม่มีผลใดๆ เพราะจำนวนสินค้านำเข้าของไทยไม่น่าจะมากพอที่จะส่งผลกระทบใดๆ.

http://www.thaitownusa.com/frontnews/frmNews_View.aspx?NewsNo=0610000247
บันทึกการเข้า

Politic is nothing but the continuation of [the sin of] 7 by other means.

ท่านคิดว่า นรม. ควรทำอย่างไรเมื่อพบว่ากฏหมายบางฉบับมีช่องโหว่?
ก.ใช้อำนาจ นรม.ที่ได้รับมาจากประชาชนแก้กฏหมายเพื่อปิดช่องโหว่เหล่านั้น เพราะเป็นประโยชน์ของแผ่นดิน
ข.ฉวยโอกาสใช้ช่องโหว่เหล่านั้นเพื่อประโยชน์ของตนเองและคนรอบข้าง แล้วก็อ้างว่าคนอื่นเขาก็ทำกัน
ScaRECroW
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,000


สุสูสัง ลภเต ปัญญัง - ผู้ฟังดี ย่อมเกิดปัญญา


เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 22-06-2007, 08:37 »

สหรัฐไฟเขียวผลไม้ไทย นำเข้าได้ตั้งแต่23ก.ค.นี้
แอลเอ (ไทยทาวน์ยูเอสเอนิวส์) : ผลไม้ไทยหกชนิด คือลิ้นจี่ ลำไย มะม่วง เงาะ สับปะรด และมังคุด พาเหรดเข้าอเมริกาได้ตั้งแต่ 23 กรกฎาคม ศกนี้ หลังกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ประกาศกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ควบคุมผลไม้ไทยให้ประชาชนรับทราบในวันที่ 21 มิถุนายน

 

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ และสำนักงานตรวจสอบสุขอนามัยสัตว์และพืช (Animal and Plant Health Inspection Service -APHIS) ได้ออกประกาศระเบียบสุดท้าย หรือ Notice of this final rule ให้ประชาชนรับทราบถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้ในการควบคุมและตรวจสอบการนำเข้าผลไม้จากประเทศไทยหกชนิด คือ ลิ้นจี่ ลำไย มะม่วง เงาะ สับปะรด และมังคุด เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ 21 มิถุนายน ถือเป็นทะเบียนแจ้งความของรัฐบาลกลาง หรือ federal register ที่จะส่งผลให้การอนุญาตนำเข้าผลไม้ไทยมีผลบังคับใช้ในอีกหนึ่งเดือน คือในวันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้

โดยมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดของแมลงศัตรูพืช ที่อาจติดมากับผลไม้ทั้งหกชนิดของไทยนั้น มีหลายขั้นตอน เช่นผลไม้จะต้องปลูกในพื้นที่ที่ลงทะเบียนและได้รับการดูแลควบคุมโดยหน่วยงานอารักขาพืชแห่งชาติ (the national plant protection organization of Thailand), และผลไม้ดังกล่าวต้องผ่านการฉายรังสี (แกมม่า) ในปริมาณที่กำหนด (ระดับ 400 gray) ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ผลไม้ไทยที่จะนำเข้าสหรัฐฯ จะต้องมีใบรับรองสุขอนามัย (phytosanitary certificate) เพื่อยืนยันว่าผลไม้แต่ละกล่องได้ผ่านการฉายรังสีแล้วในประเทศไทย

ในกรณีของลิ้นจี่นั้น ใบรับรองสุขอนามัยดังกล่าว จะต้องระบุว่าผลไม้ได้ผ่านการตรวจสอบแล้วว่าปราศจากเชื้อราเพอร์โรโนไฟโธรา (Peronophythora litchi) และไม่อนุญาตให้จำหน่ายลิ้นจี่กับลำไยจากไทยในรัฐฟลอริดา เพราะเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อไรกำมะหยี่ (rust mite, Aceria Litchi) จากประเทศไทย

ทั้งนี้ จากรายงานผลการสัมมนาในหัวข้อ “ขั้นตอนการนำเข้าผลไม้ไทยมายังสหรัฐฯ” (U.S. Import Procedures for Imported Thai Fruits) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อต้นเดือนมิถุนายน โดยนางเจน อี ลีวี่ ผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ และนายโรเจอร์ เอฟ เวสท์ ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานตรวจสอบสุขอนามัยสัตว์และพืช ระบุถึงระเบียบปฏิบัติต่างๆ เอาไว้ค่อนข้างละเอียด เช่น

ข้อกำหนดด้านบรรจุภัณฑ์/หีบห่อสำหรับผลไม้ที่ส่งมายังสหรัฐฯ

1. ผลไม้ต้องได้รับการฉายรังสีและบรรจุในหีบห่อหรือกล่องกระดาษเพียงครั้งเดียวโดยไม่มีการบรรจุใหม่ (repackage)

2. แท่นไม้วางรองสินค้าสำหรับขนย้ายจะต้องถูกมัดหรือห่อหุ้มติดกับกล่องผลไม้เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายหรือเปิดกล่องผลไม้

3. ห้ามเปิดกล่องผลไม้ที่ผ่านการฉายรังสีแล้วในสถานที่ที่ศัตรูผลไม้/ แมลงผลไม้อาจเล็ดลอดเข้าไปได้

4. เก็บกล่องผลไม้ที่ผ่านการฉายรังสีแล้วไว้ในห้องที่สามารถป้องกันไม่ให้ศัตรูผลไม้/ แมลงผลไม้เข้าไปได้และต้องนำตาข่ายมาคลุมกล่องผลไม้ทุกกล่องตลอดเวลา

ข้อกำหนดด้านฉลากสินค้า

ต้องติดฉลากสินค้าที่กล่องผลไม้ทุกกล่อง : 1 ฉลาก ต่อ 1 กล่อง มีรายละเอียดของเลขที่กล่อง, ชื่อโรงงานฉายรังสี, วันที่ฉายรังสี, วันบรรจุกล่อง พร้อมระบุว่ากล่องนี้ได้ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโรคแล้ว

ข้อกำหนดด้านเอกสาร (Document Requirements)

1.   ผู้ส่งออกผลไม้ไปยังสหรัฐฯ ต้องแสดงใบรับรองสุขอนามัย (Phytosanitary Certificate) ซึ่งออกโดยกรมวิชาการเกษตรสำหรับการส่งผลไม้ที่ผ่านการฉายรังสีแล้วทุกครั้ง (shipment) ต่อเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ

2. ผู้ส่งออกผลไม้ไปยังสหรัฐฯ ต้องมีใบอนุญาตการนำเข้า (Import Permit : PPQ Permit) โดยต้องยื่นคำขอผ่านเว็บไซต์ www.aphis.usda.gov หากข้อมูลครบถ้วนถูกต้อง กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ อาจพิจารณาให้ใบอนุญาตการนำเข้าภายใน 30 วันโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ โดยสามารถยื่นขอใบอนุญาตได้ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันประกาศระเบียบสุดท้าย (final rule) เรื่องการอนุญาตให้นำเข้าผลไม้ไทยหกชนิดให้ประชาชนทราบ

3. ผู้ส่งออกต้องแสดงใบรับรองการฉายรังสีของศูนย์ฉายรังสีอาหารและผลิตผลการเกษตร สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติต่อเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ

เมื่อสินค้ามาถึงด่านตรวจแล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร (Agriculture Specialist) ของกรมศุลกากรสหรัฐฯ และของหน่วยงานป้องกันชายแดน จะทำการตรวจสอบความสะอาดของผลไม้จากใบรับรองสุขอนามัยและฉลากสินค้าที่ติดอยู่ข้างกล่อง รวมถึงการสุ่มตรวจผลไม้เพื่อค้นหาแมลง หรือเชื้อโรคที่ได้ประกาศห้ามไว้ (target pests) หากตรวจพบ ผลไม้ดังกล่าวจะถูกส่งกลับทันที โดยไม่มีการกักกันไว้เพื่อฆ่าเชื้อโรค

ทั้งนี้ นับจากเดือนมิถุนายน ปี 2002 เป็นต้นมา กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้อนุญาตให้นำเข้าเงาะ ลำไย และลิ้นจี่ จากรัฐฮาวายเข้ามาสู่แผ่นดินใหญ่ได้ โดยผลไม้เหล่านั้นต้องผ่านกรรมวิธีการฉายรังสี (Irradiation) และกรรมวิธีอื่นๆ เช่นการอบด้วยอากาศร้อน (High temperature forced air), การอบไอร้อน (Vapor heat) และการแช่น้ำร้อน (Hot water) ด้วย แต่ผลไม้จากฮาวายมีน้อยและไม่ค่อยได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากนัก ดังนั้นการที่ผลไม้ไทยสามารถเข้ามาวางตลาดอเมริกาได้ จึงเป็นเรื่องที่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยอย่างมาก

โดยที่ผ่านมา สหรัฐฯ อนุญาตให้มีการนำเข้าผัก-ผลไม้สดจากประเทศไทยเพียงไม่กี่ชนิด เช่นมะพร้าวอ่อน ขิง มะขาม และทุเรียน และมีการนำเข้าผลไม้แช่แข็ง เพียงสองชนิด คือมังคุดและทุเรียนเท่านั้น.

http://www.thaitownusa.com/frontnews/frmNews_View.aspx?NewsNo=0706000237
บันทึกการเข้า

Politic is nothing but the continuation of [the sin of] 7 by other means.

ท่านคิดว่า นรม. ควรทำอย่างไรเมื่อพบว่ากฏหมายบางฉบับมีช่องโหว่?
ก.ใช้อำนาจ นรม.ที่ได้รับมาจากประชาชนแก้กฏหมายเพื่อปิดช่องโหว่เหล่านั้น เพราะเป็นประโยชน์ของแผ่นดิน
ข.ฉวยโอกาสใช้ช่องโหว่เหล่านั้นเพื่อประโยชน์ของตนเองและคนรอบข้าง แล้วก็อ้างว่าคนอื่นเขาก็ทำกัน
ScaRECroW
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,000


สุสูสัง ลภเต ปัญญัง - ผู้ฟังดี ย่อมเกิดปัญญา


เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 22-06-2007, 08:38 »

‘ทรงศีล’เผยตัวเลขส่งออก ปี2006ทะลุเป้า18พันล้าน
แอลเอ (ไทยทาวน์ยูเอสเอนิวส์) : ผอ.ไทยเทรดเผยตัวเลขส่งออกมาอเมริกาช่วง 11 เดือนของปี 2006 ทะลุเป้ากว่า 18,000 ล้านดอลลาร์ ระบุแผนการตลาดของปี 2007 “ข้น” เชื่อทะลุเป้าที่ตั้งเอาไว้อีกแน่นอน

นายทรงศีล สุเสวี ผอ.สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ลอส แอนเจลิส เปิดเผยกับไทยทาวน์ฯ ถึงตัวเลขสินค้าส่งออกมายังประเทศสหรัฐฯ ของปี 2006 ที่รัฐบาลตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะต้องขยายตัว 15 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อนหน้านั้น โดยนายทรงศีลกล่าวว่า แม้ว่าขณะนี้สามารถสรุปตัวเลขได้เพียงแค่ 11 เดือน คือเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน แต่ยอดส่งออกเพิ่มขึ้นแล้วถึง 16.9 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่าสินค้าส่งออกประมาณกว่า 18,000 ล้านดอลลาร์

นายทรงศีลกล่าวด้วยว่า กลุ่มสิ่งทอ คือสินค้าส่งออกมายังสหรัฐฯ ที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น เช่นเสื้อผ้าสำเร็จรูป และเคหะสิ่งทอ หรือสิ่งทอที่ใช้สำหรับประดับตกแต่งบ้านเรือน สามารถทำยอดส่งออกมาเป็นอันดับสอง รองจากสินค้าเครื่องไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่สินค้าอาหารสำเร็จรูปก็กำลังน่าจับตามองเช่นกัน

“เคยว่ากันว่าสิ่งทอของไทยเป็น sunset industry คือไม่มีอนาคต ไปไม่รอดแล้ว จริงๆ ไม่ใช่ ช่วงที่ตกนั้นเราปรับตัว มีการนำเครื่องจักรที่ดีกว่า ประหยัดกว่าเข้าไปใช้แทนที่ ดีไซน์ใหม่ ปรับการตลาดใหม่ ตอนนี้เราดีขึ้นมากแล้ว” ผอ.สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศกล่าว

ส่วนปี 2007 นี้ นายทรงศีลกล่าวว่ารัฐบาลตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะมีการเพิ่มตัวเลขสินค้าส่งออกมายังสหรัฐฯ อีก 15 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งตนคิดว่าน่าจะทำได้ตามเป้าหมาย

“จากแผนงานเราในปี 2007 เราจะมีการจัดคณะผู้แทนการค้าจากอเมริกาเหนือทั้งหมดไปประเทศไทย ไปเจรจาการค้าถึง 11 ชุด ขณะเดียวกันก็จะมีการเข้าร่วมการแสดงสินค้าต่างๆ ในภูมิภาคต่างๆ ในอเมริกาเหนือไม่น้อยกว่า 31 งาน เพราะฉะนั้นจากแผนงานหลักๆ นี้ เราเชื่อว่าจะเข้าเป้าหมายแน่นอน”

เมื่อถามถึงกิจกรรมการเผยแพร่ชื่อของ “หอมมะลิไรซ์” ให้เป็นที่รู้จักของผู้นำเข้าข้าวสหรัฐฯ แทนชื่อ “จัสมินไรซ์” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่กรมส่งเสริมการส่งออกได้ดำเนินการต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่สามนั้น นายทรงศีล สุเสวี กล่าวว่า จากการสำรวจตลาด ทราบว่าขณะนี้ชื่อของ “หอมมะลิไรซ์” เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปแล้ว

ส่วนประเด็นเหตุการณ์วุ่นวายที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมานั้น นายทรงศีล สุเสวี กล่าวว่าอาจจะมีผลกระทบกับการค้าระหว่างประเทศบ้างในช่วงต้น แต่ไม่ถือว่าผลกระทบใดๆ

“ช่วงแรกๆ เขาอาจจะจับตาว่าเกิดอะไรขึ้น ก็จะมีผลกระทบต่อการค้าการลงทุนบ้าง แต่เมื่อธนาคารพาณิชย์ก็ทำงานตามปกติ ท่าเรือก็ทำงานตามปกติ การขนส่งทางอากาศก็เป็นปกติ เมื่อไม่มีผลอะไร การค้าก็กลับเข้าสู่สภาพเดิมทันที”

ในประเด็นความคืบหน้าของความพยายามนำเข้าผลไม้ไทยหกชนิด คือมะม่วง มังคุด ลำไย เงาะ ลิ้นจี่ สับปะรด อันเป็นความพยายามที่มีมานานกว่าเจ็ดปีนั้น ผอ.สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ แอลเอ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างทำประชาพิจารณ์ ฟังความเห็นของนักธุรกิจและเกษตรกรในอเมริกา ซึ่งมีผู้คัดค้านการนำเข้าผลไม้ไทยสามราย

“เขาต้องฟังความเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สมาคมการค้าต่างๆ หรือการเพาะปลูกผลไม้ของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ฮาวายมีคนยื่นคัดค้านสามราย ซึ่งได้มีการทำความเข้าใจกันแล้วว่า ผลไม้ที่เราจะนำเข้ามาไม่ได้เป็นผลไม้ประเภทเดียวกับที่ฮาวายปลูก การคัดค้านต่างๆ ก็เบาบางเรา ผมเชื่อว่าทางการอเมริกาคงจะรวบรวมความเห็นทั้งหมดได้ภายในเดือนสองเดือนข้างหน้านี้ และก็ทำการแก้ไขกฎระเบียบการนำเข้าในเร็วๆ นี้”

นายทรงศีลกล่าวด้วยว่า ผู้คัดค้านการนำเข้าผลไม้ของไทย เป็นเกษตรกรผู้เพาะปลูกผลไม้ขนาดกลาง ที่กังวลว่าการนำผลไม้ไทยเข้ามาจะทำให้มีการบริโภคผลไม้ของฮาวายน้อยลง และไม่มีการคัดค้านจากองค์กรขนาดใหญ่.

http://www.thaitownusa.com/frontnews/frmNews_View.aspx?NewsNo=0701000362
บันทึกการเข้า

Politic is nothing but the continuation of [the sin of] 7 by other means.

ท่านคิดว่า นรม. ควรทำอย่างไรเมื่อพบว่ากฏหมายบางฉบับมีช่องโหว่?
ก.ใช้อำนาจ นรม.ที่ได้รับมาจากประชาชนแก้กฏหมายเพื่อปิดช่องโหว่เหล่านั้น เพราะเป็นประโยชน์ของแผ่นดิน
ข.ฉวยโอกาสใช้ช่องโหว่เหล่านั้นเพื่อประโยชน์ของตนเองและคนรอบข้าง แล้วก็อ้างว่าคนอื่นเขาก็ทำกัน
ScaRECroW
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,000


สุสูสัง ลภเต ปัญญัง - ผู้ฟังดี ย่อมเกิดปัญญา


เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 22-06-2007, 08:39 »

‘ทรงศีล’เชื่อผลไม้ไทยบูม ทำยอดหมื่นล้านในปีแรก
แอลเอ (ไทยทาวน์ยูเอสเอนิวส์) : เปิดตัวผลไม้ไทยหกชนิด “เงาะ ลิ้นจี่ มังคุด ลำไย มะม่วง สับปะรด” ในงานแสดงสินค้าอาหาร “เวสเทิร์น ฟู้ดฯ” ฉลุย “ผอ.ไทยเทรด” เผยได้รับความสนใจจากผู้นำเข้าผลไม้ยักษ์ใหญ่ “เมลิสซ่า’ส เวิร์ล” และรายเล็กๆ อีกเพียบ เชื่อปีแรกทำยอดขายไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท และขยับ 30-40 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

บรรยากาศการออกร้านของกรมส่งเสริมการออก และหน่วยงานอื่นๆ ของไทย ในงาน The Western Food and Hospitality Expo ที่แอลเอ คอนแวนชั่น เซ็นเตอร์ ระหว่างวันที่ 26-28 สิงหาคมนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเป็นไปอย่างคึกคัก มีผู้ร่วมงาน ซึ่งทั้งหมดเป็นบุคคลในอุตสาหกรรมอาหารของสหรัฐฯ แวะเวียนมาเยี่ยมชมไม่ขาดสาย

ในส่วนของกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์นั้น นายทรงศีล สุเสวี ผอ.สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ลอส แอนเจลิส กล่าวว่าการออกร้านในงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลักสองอย่าง คือประชาสัมพันธ์ข้าวหอมมะลิของไทยให้เป็นที่รู้จักในชื่อ “ไทยหอมมะลิไรซ์” แทน “จัสมินไรซ์” และเป็นการเปิดตัวผลไม้ไทยหกชนิด คือเงาะ ลิ้นจี่ มังคุด ลำไย มะม่วง และสับปะรด ที่เชื่อว่าจะสามารถนำเข้ามาจำหน่ายในสหรัฐฯ ได้ภายในปีนี้

ในส่วนของการเปิดตัวผลไม้ไทยหกชนิดนั้น นายทรงศีล สุเสวี กล่าวว่าได้รับความสนใจจากนักธุรกิจในอเมริกามาก ทั้งนักธุรกิจชาวเอเชีย และอเมริกันที่ไม่เคยรู้จักผลไม้ไทยมาก่อนเลย

“ที่น่าสนใจที่สุดก็คือ เมลิสซ่า’ส เวิร์ล วาไรตี โปรดิวซ์ ซึ่งปัจจุบันนำเข้าผลไม้ 2,100 รายการจากทั่วโลก เขาตั้งใจมากที่จะเป็นผู้จัดจำหน่ายผลไม้ไทยของเรา เรียกได้ว่าเป็นผู้นำเข้าผลไม้รายใหญ่ที่สุดของอเมริกาเลยก็ว่าได้ ส่วนรายเล็กๆ ก็แวะมาเยอะมาก” นายทรงศีล สุเสวี กล่าว

ส่วนความคืบหน้าของความพยายามนำเข้าผลไม้ไทยซึ่งยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 1999 นั้น ผอ.ศูนย์ส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ แอลเอ กล่าวว่า เหลือขั้นตอนอีกเล็กน้อย คืออยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ ก่อนที่จะแก้ไขใน The Federal Register (FR) เชื่อว่าจะได้รับอนุญาตภายในปีนี้อย่างแน่นอน

“เขาเปิดทำประชาพิจารณ์มาแล้วสองเดือน ก็มีคนคัดค้านบ้างเหมือนกัน ส่วนใหญ่เป็นผู้นำเข้าสินค้าผลไม้ ของอเมริกา เขาเกรงว่าผลไม้เราจะมาดัมพ์ตลาด ซึ่งเราก็ชี้แจงไปแล้วว่าดัมพ์ไม่ได้แน่ เพราะว่าการขนส่งของเราไกลเหลือเกิน ค่าระวางเราแพงมาก ค่าทรีตแมนท์เราก็สูงมาก ดัมพ์ตลาดไม่ได้เพราะต้นทุนเราสูงกว่ามาก พอมีการชี้แจงกันไปแล้ว ก็เป็นที่เข้าใจ ก็เชื่อว่าไม่มีการคัดค้านอีกต่อไป”

นายทรงศีลกล่าวด้วยว่า สหรัฐฯ ยอมรับเทคโนโลยีสองอย่าง คือการฉายรังสีแกมม่า และการฉายรังสีอีเล็กตรอน ว่าสามารถควบคุมแมลงศัตรูพืชในผลไม้ของไทยที่ได้ผล

“การฉายรังสีแกมม่านั้น ได้รับการต่อต้านจากผู้บริโภคมาก บรรดาอาจารย์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ฮาวายเขารณรงค์ต่อต้านกัน ว่าอาจจะมีผลข้างเคียง แม้จะพิสูจน์ไม่ได้ แต่ก็กลัวว่าจะส่งผลในระยะยาว ที่เหลือก็คือการฉายรังสีอีเล็คตรอน คือการใช้กระแสไฟฟ้าบ้านส่องผ่านเลนส์ควบคู่กับลำแสงเอ็กซเรย์ เป็นวิธีการปลอดภัย เราคงจะเน้นเทคโนโลยีอันนี้” นายทรงศีลกล่าว และว่าขณะนี้ ภาคเอกชนกำลังดำเนินการก่อสร้างโรงงานฉายรังสีอิเล็กตรอนอยู่ เชื่อว่าจะสำเร็จภายใน 5-6 เดือนข้างหน้า

นายทรงศีล สุเสวี กล่าวต่อไปว่า ตนประเมินตัวเลขนำเข้าผลไม้ไทยทั้งหกชนิดเอาไว้ว่า ในปีแรกจะอยู่ระหว่าง 8,000-10,000 ล้านบาท เพราะเป็นปีเริ่มต้น และจะขยายปริมาณนำเข้าทุกปี ปีละ 30-40 เปอร์เซ็นต์

“วิธีประชาสัมพันธ์ของเราในชั้นแรก เน้นไปยังกลุ่มผู้ค้า ผู้นำเข้า ผู้ขายส่งรายใหญ่ๆ ก่อน เราต้องบอกให้เขารู้ก่อนว่าผลไม้หกตัวของเราจะเข้ามา แต่ละอย่างหน้าตาอย่างไร ก็จัดทำโปสเตอร์ประมาณสองหมื่นแผ่น ทำซีดีรอม 2 หมื่นแผ่น ทำโบรชัวร์ต่างๆ แจกจ่ายไปยังกลุ่มนักการค้าต่างๆ ในชั้นที่สอง เราก็จะร่วมมือกับกลุ่มผู้ค้าปลีก พวกสโตว์ ซูเปอร์สโตว์ต่างๆ จัดทำอินสโตว์โปรโมชั่น ให้ชิมในร้าน หรืออาจจะมีไทยฟรุตเฟสติวัล หรืออะไรให้เขาชิมกัน เป็นแผนต่อไปครับ” นายทรงศีล สุเสวี กล่าวในที่สุด.

http://www.thaitownusa.com/frontnews/frmNews_View.aspx?NewsNo=0608000485
บันทึกการเข้า

Politic is nothing but the continuation of [the sin of] 7 by other means.

ท่านคิดว่า นรม. ควรทำอย่างไรเมื่อพบว่ากฏหมายบางฉบับมีช่องโหว่?
ก.ใช้อำนาจ นรม.ที่ได้รับมาจากประชาชนแก้กฏหมายเพื่อปิดช่องโหว่เหล่านั้น เพราะเป็นประโยชน์ของแผ่นดิน
ข.ฉวยโอกาสใช้ช่องโหว่เหล่านั้นเพื่อประโยชน์ของตนเองและคนรอบข้าง แล้วก็อ้างว่าคนอื่นเขาก็ทำกัน
ScaRECroW
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,000


สุสูสัง ลภเต ปัญญัง - ผู้ฟังดี ย่อมเกิดปัญญา


เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 22-06-2007, 08:40 »

‘สมศักดิ์’แฉกรณีผลไม้เข้าอเมริกา ติดขัดเพราะ’เนวิน’ขอส่วนแบ่ง
แอลเอ (ไทยทาวน์ยูเอสเอนิวส์) : สมศักดิ์ กูรมะโรหิต แฉเกลี้ยง “เนวิน ชิดชอบ” คือผู้อยู่เบื้องหลังกรณีไม่สามารถนำผลไม้ไทยหกชนิดเข้าอเมริกา ทั้งที่สหรัฐฯ “ไฟเขียว” กับเครื่องฉายรังสี ‘ชัวร์บีม’ ว่าป้องกันการขยายพันธุ์ของแมลงศัตรูพืชที่อาจติดมากับผลไม้ไทยได้

ตอนสายของวันอาทิตย์ที่ 13 สิงหาคม ณ บริเวณหน้าสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอส แอนเจลิส ถนนลาร์ชมอนท์ นายสมศักดิ์ กูรมะโรหิต เจ้าของบริษัท เอสเอสเค โปรดิวซ์ฯ ซึ่งเป็นธุรกิจนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมาจำหน่ายในสหรัฐฯ ได้เดินทางมาร่วมประท้วงขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในสหรัฐฯ และประชาชนที่มีความคิดเห็นตรงกัน จำนวนประมาณ 50 คน รวมทั้งนายสุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินชื่อดังของไทย ซึ่งอยู่ระหว่างเดินทางมาเปิดแสดงในลอส แอนเจลิส ด้วย

ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ กูรมะโรหิต เป็นผู้ริเริ่มความพยายามในการนำเข้าผลไม้จากประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 1999 โดยร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตเครื่องฉายรังสีอิเล็กตรอน ‘ชัวร์บีม’ ซึ่งกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ ยอมรับว่าสามารถทำให้แมลงศัตรูพืชที่อาจติดมากับผลไม้ต่างๆ ไม่สามารถเจริญพันธุ์ได้ และมีการติดตั้งเครื่องดังกล่าวตามเมืองท่าหลายแห่งในสหรัฐฯ แล้ว โดยสิ่งที่กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ ต้องการในครั้งนั้นคือรายชื่อของแมลงศัตรูพืช (Pest Risk Assessment : PRA) ในผลไม้ไทยหกชนิด ที่ถูกเลือกเป็นผลไม้นำร่องของโครงการนี้ คือเงาะ ลิ้นจี่ มังคุด ลำไย มะม่วง สับปะรดจากกรมวิชาการเกษตรของไทยเท่านั้น

โดยในคราวนั้น นายสมศักดิ์ กูรมะโรหิต ได้ร่วมทุนกับนักธุรกิจและบุคคลต่างๆ ในลอส แอเจลิส เพื่อดำเนินการซื้อเครื่องฉายรังสีอิเล็กตรอนชัวร์บีมไปติดตั้งในโรงงานที่ประเทศไทย มีการเชิญนักวิชาการของบริษัทชัวร์บีมไปเมืองไทยเพื่อปรึกษาในเรื่องการติดตั้ง อีกทั้งมีการแจ้งข่าวกับสื่อมวลชนไทยลอส แอนเจลิส ว่าจะนำผลไม้ไทยทั้งหกชนิดเข้ามาเป็นของขวัญปีใหม่ “มิลเลนเนี่ยม” กับคนไทยในอเมริกาด้วย แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีวี่แววว่าชาวไทยในอเมริกาจะได้รับประทานผลไม้ไทยทั้งหกชนิดแต่อย่างใด และเมื่อไทยทาวน์ฯ พยายามติดตามความคืบหน้าเรื่องนี้ไปยังภาครัฐบาล ก็ได้รับคำตอบว่าเรื่องทั้งหมดค้างอยู่ที่กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ โดยครั้งล่าสุด นายปราการ วีรกุล อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการเกษตร) ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี กล่าวกับไทยทาวน์ฯ เมื่อเดือนมิถุนายน ศกที่ผ่านมาว่า กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ อยู่ระหว่างการทำแผนงานหรือวิธีปฏิบัติสำหรับลดความเสี่ยงศัตรูพืชในผลไม้ไทยทั้งหกชนิด ก่อนที่จะทำหนังสือถึงรัฐบาลสหรัฐฯ ขออนุญาตให้นำเข้าผลไม้ไทยใน The Federal Register (FR) ซึ่งเชื่อว่าน่าจะยื่นเรื่องได้สิ้นเดือนมิถุนายน 2005 และโดยปกติ การพิจารณาอนุญาตในเอฟอาร์ จะใช้เวลาประมาณหนึ่งปี จึงเชื่อว่าในราวเดือนมิถุนายน 2006 จะมีการนำเข้าผลไม้ไทยทั้งหกชนิดเข้าสหรัฐฯ ได้

ต่อเรื่องที่เป็นประเด็นคาใจของคนไทยในอเมริกาดังกล่าวนี้ นายสมศักดิ์ กูรมะโรหิต ได้กล่าวปราศรัยต่อหน้ากลุ่มพันธมิตรฯ ในลอส แอนเจลิสว่า อุปสรรคสำคัญที่สุดไม่ใช่อยู่ที่ทางการสหรัฐฯ แต่อยู่ที่นายเนวิน ชิดชอบ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ต้องการ “ส่วนแบ่ง” โดยไม่คำนึงว่าหากสามารถนำผลไม้เข้าสหรัฐฯ ได้ จะมีผลประโยชน์ในเรื่องรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมหาศาล และส่งผลประโยชน์ต่อเนื่องถึงเกษตรกรผู้ผลิตผลไม้ในประเทศไทยด้วย

"อันนี้ มันไม่ใช่ผลประโยชน์ส่วนตัวของใครนะ มันเป็นประโยชน์ของประเทศชาติ ถ้าเราได้เพอร์มิทมานี่ เพอร์มิทอันนี้ไม่ใช่ของผม เป็นของคนไทยทั้งประเทศ ชาวไร่ชาวสวน จะเอาผลไม้หกชนิดเข้าอเมริกาได้ โดยผ่านกรรมวิธีและกฎข้อบังคับที่เขาวางเอาไว้ ผ่านการฉายรังสีจะอะไรก็แล้วแต่นะฮะ อันนี้ไม่ใช่ของผม ท่านตอบว่าไงรู้มั้ย ‘ไม่สนใจนะ’ ผมก็ว่าไม่สนใจได้ยังไง ‘ผมไม่อยากเอาตัวผมนี่ ไปเกี่ยวข้องกับการขายเครื่องของพวกคุณ’ ผมว่า ‘ขายเครื่องอะไร ผมไม่ใช่เจ้าของบริษัทชัวร์บีม ผมไม่ใช่เจ้าของบริษัทไอโซโทป ‘นั้นแหละ มันก็เหมือนเป็นนายหน้า คนอื่นจะจ้องหาว่าผมได้เปอร์เซ็นต์นะ’ แต่ผมมองหน้าเห็นมันอยากได้มาก น้ำลายมันจะไหลอยู่แล้ว ผมบอกว่าไม่ใช่อย่างนั้นนะคุณ เข้าใจมั้ย ‘ผมไม่สนใจคุณหล่ะ’ ผมลุกขึ้นชี้หน้ามันเลยฮะ ถ้าคนอย่างมึงเป็นรัฐมนตรีอยู่ ประเทศไทยไม่มีความเจริญ มีแต่เลียอย่างเดียว เลีย เลีย เพื่อหาทางไปเป็นรัฐมนตรี ผมคว้ากระเป๋าเดินออกไปเลย มันก็มองหน้าผมนะ หน้ามันแดงแจ๊ดเลยนะ ไม่มีใครเคยด่ามัน วันรุ่งขึ้น มันออกวิทยุด่าผม หาว่าผมจะมาหลอกชาวสวน” นายสมศักดิ์เล่า และว่าตนเคยอยู่ในวงการสื่อมวลชน มีเพื่อนวงการหลายคน รวมถึง “ซูม” ซึ่งเป็นคอลัมนิสต์ชื่อดังของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐด้วย

“ซูมเขียนลงไปในคอลัมน์ซอกแซกหน่อยเดียวเท่านั้น คุณเชื่อไหม มันวิ่งเลยนะ วิ่งมากราบซะที่โรงพิมพ์ แล้วให้ชวนหาผมไปกินข้าวมื้อหนึ่ง เขาก็โทรมาหาผมว่าจะไปไหม ผมกินไม่ได้ ผมจะอ๊วก ไปกินกับมัน ผมจะอ๊วก ดีไม่ดี ผมอาจจะเอาแก้วไวน์สาดหน้ามัน" นักธุรกิจชื่อดังของแอลเอกล่าว

นายสมศักดิ์กล่าวด้วยว่า จากประสบการณ์ในอาชีพสื่อมวลชนเมื่อ 34 ปีที่แล้ว ทำให้ตนรู้จักนักการเมืองเป็นจำนวนมาก “ผมจากมาแล้ว 34 ปี สันดานของนักการเมืองโดยเฉพาะในพรรคไทยรักไทยยังเหมือนเดิม ยังอยู่ในขุมนรกเหมือนเดิม มันไฮเทคขึ้นมา วิธีโกงของมันแนบเนียนกว่า คือมีชั้นสูงขึ้น แนบเนียนขึ้น จบนอร์ธเวสเทิร์นฯ หลายคนนี่ คือผมบอกว่า ทักษิณอยู่ไม่ได้ครับ ทานกระแสพวกเราไม่ได้" นายสมศักดิ์ กูรมะโรหิตกล่าวในที่สุด.

http://www.thaitownusa.com/frontnews/frmNews_View.aspx?NewsNo=0608000233
บันทึกการเข้า

Politic is nothing but the continuation of [the sin of] 7 by other means.

ท่านคิดว่า นรม. ควรทำอย่างไรเมื่อพบว่ากฏหมายบางฉบับมีช่องโหว่?
ก.ใช้อำนาจ นรม.ที่ได้รับมาจากประชาชนแก้กฏหมายเพื่อปิดช่องโหว่เหล่านั้น เพราะเป็นประโยชน์ของแผ่นดิน
ข.ฉวยโอกาสใช้ช่องโหว่เหล่านั้นเพื่อประโยชน์ของตนเองและคนรอบข้าง แล้วก็อ้างว่าคนอื่นเขาก็ทำกัน
อังศนา
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
กระทู้: 1,860


Can't fight the moonlight!


เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 22-06-2007, 09:06 »

 

..คนไทยในเมืองไทยคงจะกินผลไม้ราคาแพงขึ้นบ้าง 
แต่ไม่เป็นไร ชาวสวนผลไม้เขาทุกข์ระทมมานานแล้ว

อ้อ.. นายเหลือบห้อยนี่มันแสบจริงๆ 
ขอให้ไปแล้วไปลับอย่าได้สะเออะกลับมาอีกเลย

บันทึกการเข้า

แม้ผืนฟ้า มืดดับ เดือนลับละลาย 
ดาวยังพราย ศรัทธา เย้ยฟ้าดิน (จิตร ภูมิศักดิ์)
คนไทยคนหนึ่ง
ขาประจำขั้น 2
******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 744


« ตอบ #6 เมื่อ: 22-06-2007, 09:15 »

น่าจะจับไปฉายแสง ชัวร์บีม ไม่ให้แพร่พันธ์ ซะให้เข็ด
บันทึกการเข้า
login not found
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 3,523



« ตอบ #7 เมื่อ: 22-06-2007, 09:26 »

ส่งออกได้ก็ดี แต่.......
ระวังซ้ำรอยข้าวหอมมะลิก็แล้วกัน
บันทึกการเข้า
ปุถุชน
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 10,332



« ตอบ #8 เมื่อ: 22-06-2007, 09:48 »

น่าจะจับไปฉายแสง ชัวร์บีม ไม่ให้แพร่พันธ์ ซะให้เข็ด

ถ้าการฉายแสงนี้ จะระงับการแพร่พันธุ์ของมันได้
ผมยินดีร่วม ออกค่าใช้จ่ายด้วยคนหนึ่ง เพื่อให้ประเทศไทยมีความเสี่ยง'มลพิษ'น้อยลง....

ถ้าทำได้น่าจะขยายโครงการถึงแกนนำ ทรท.และคนรักเหลี่ยม ลี สิงกะโปโตกด้วย...
พวกที่ชอบแอบอ้างว่าไม่ได้ Pro-Thaksin แต่ไม่ได้ Anti-Thaksin ตัวดี.......ฮ่า ฮ่า ฮ่า ฮ่า

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22-06-2007, 09:53 โดย ปุถุชน » บันทึกการเข้า

“หัวใจของการเมือง คือ ความไม่เห็นแก่ตัว หากเห็นแก่ตัวและพรรคของตัวแล้ว จะเห็นแก่มวลชนได้อย่างไร ดังนั้น นักการเมืองควรมีศีลธรรม ยึดถือธรรม บูชาธรรมยิ่งกว่าคนธรรมดา เมื่อเราทราบดีว่า การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมปัจจุบันมีปัญหาที่ต้องแก้ไข หากผู้ที่อาสาเข้ามายังจะใช้วิธีการเดิมๆ อีก ย่อมจะแก้ไขไม่ได้ เพราะปัจจุบันเป็นผลของอดีต และจะเป็นเหตุของอนาคต ต้องคิดให้ดี พูดให้ดี และทำให้ดี ในอนาคตจึงจะมีความหวังได้ มิฉะนั้นผู้สนับสนุนผู้ถูกร้อง(พ.ต.ท.ทักษิณ) จะต้องผิดหวังในที่สุด”


อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประเสริฐ นาสกุล ได้มีคำวินิจฉัยส่วนตัวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีความผิดในคดีซุกหุ้น......
ScaRECroW
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,000


สุสูสัง ลภเต ปัญญัง - ผู้ฟังดี ย่อมเกิดปัญญา


เว็บไซต์
« ตอบ #9 เมื่อ: 29-06-2007, 09:04 »

นิวยอร์คไทมส์เชียร์’มังคุด’ จะไปได้สวยสุดในอเมริกา
นิวยอร์ค (นิวยอร์คไทมส์) : นิวยอร์คไทมส์ ตีพิมพ์ข่าวการอนุญาตให้นำเข้าผลไม้ไทยหกชนิด ชี้ค่าขนส่งทางอากาศที่แพงระยับ อาจมีผลต่อความนิยมของผู้บริโภค พร้อมระบุ “มังคุด” น่าจะมีอนาคตมากที่สุดในกลุ่มผลไม้หกชนิดของไทย

หนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทมส์ ตีพิมพ์บทความเรื่อง Welcome at the Border: Thai Fruits, Once Banned โดย เดวิด คาร์พ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน โดยอ้างถึงประกาศระเบียบสุดท้าย หรือ Notice of this final rule ของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ และสำนักงานตรวจสอบสุขอนามัยสัตว์และพืช (Animal and Plant Health Inspection Service -APHIS) ให้ประชาชนรับทราบถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้ในการควบคุมและตรวจสอบการนำเข้าผลไม้จากประเทศไทยหกชนิด คือ ลิ้นจี่ ลำไย มะม่วง เงาะ สับปะรด และมังคุด เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ซึ่งจะมีผลให้ผลไม้ไทยสามารถเข้าสู่สหรัฐฯ ได้ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม เป็นต้นไป

บทความดังกล่าว ได้อ้างคำกล่าวของนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์, อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการเกษตร) สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ที่กล่าวว่า แม้สหรัฐฯ จะอนุญาตให้มีการนำเข้าได้ในวันที่ 23 กรกฎาคม แต่กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ จะต้องใช้เวลาในการตรวจสอบเพื่ออนุญาตในส่วนของโรงงานฉายรังสี และกระบวนการต่างๆ อีกสักระยะ เชื่อว่าผลไม้ไทยจะเริ่มเข้าอเมริกาได้ในราวเดือนกันยายน

นายเดวิด คาร์พ ระบุในบทความของเขาด้วยว่า ประเทศไทยถือเป็นผู้ผลิตผลไม้เขตร้อนรายใหญ่ที่สุดของโลก รวมถึงสับปะรด เงาะ และมังคุด แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ผู้บริโภคชาวอเมริกันจะยอมจ่ายเงินแพงๆ สำหรับค่าขนส่งทางอากาศ ซึ่งถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาความสดของผลไม้เหล่านี้หรือไม่ อีกทั้งบอกด้วยว่า รสชาติอันเป็นที่เลื่องลือของมังคุดสดๆ จากเมืองไทย ซึ่งยังไม่มีวางจำหน่ายในสหรัฐฯ น่าจะเป็นผลไม้ที่ถูกมองหามากที่สุด ไม่ว่าราคาจะสูงเท่าใดก็ตาม

บทความของเดวิด คาร์พ ระบุต่อไปว่า ที่ผ่านมา ได้มีการส่งผลไม้สดจากประเทศไทยมายังคานาดา ซึ่งมีอากาศหนาวเย็นจนไม่ต้องกังวลเรื่องการระบาดของศัตรูพืชเมืองร้อน แต่มีปริมาณส่งออกไม่มากนัก และเป็นการขนส่งทางอากาศ และว่าผู้ส่งออกชาวไทยมีความหวังว่าจะสามารถส่งผลไม้ในปริมาณที่มากขึ้นมายังสหรัฐฯ โดยเป็นการขนส่งทางเรือ และอ้างคำพูดของอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการเกษตร) ว่า มะม่วงที่นำเข้าสหรัฐฯ ส่วนใหญ่จะเป็นมะม่วงดิบ ที่รับประทานได้ขณะเนื้อยังแข็ง

“ส่วนผลกระทบจากการขนส่งทางเรือ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 20 วันนั้น ยังเป็นเรื่องที่ต้องรอดูกันต่อไป” บทความระบุ และว่าที่ผ่านมา มีการนำผลไม้ที่ผ่านการฉายรังสี เช่น เงาะ ลำไย และลิ้นจี่จากฮาวายมาแล้ว และเป็นผลไม้คุณภาพสูง แต่ผลไม้อาบรังสีจากประเทศไทย อาจจะมีผลที่แตกต่างออกไปก็ได้

นอกจากนั้น ยังมีการกล่าวถึงความห่วงใยเรื่องผลกระทบที่ผู้บริโภคอาจจะได้รับจากการรับประทานผลไม้ฉายรังสี แม้จะมีการยืนยันโดยสำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ และองค์การอนามัยโลกแล้วว่าการฉายรังสีดังกล่าวไม่มีผลต่อสุขภาพแต่อย่างใด

“ที่ผ่านมา มีผลไม้ของไทยเพียงชนิดเดียวที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าสหรัฐฯ ในรูปของผลไม้สด นั่นคือทุเรียน ซึ่งมีกลิ่นเหม็นกระฉ่อน” บทความดังกล่าวระบุในย่อหน้าสุดท้าย

ทั้งนี้ บทความดังกล่าวมีภาพประกอบเป็นรูปมังคุดถูกผ่าให้เห็นเนื้อในขาวสะอาด พร้อมคำบรรยายว่า รสชาติที่คุ้มค่าแก่การรอคอย มังคุดสดแต่ผ่านการฉายรังสี จะเริ่มเดินทางจากประเทศไทยสู่อเมริกาภายในปีนี้


ทั้งนี้ นายทรงศีล สุเสวี ผอ.อาวุโส สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ลอส แอนเจลิส เปิดเผยว่า ผลไม้ทั้งหกชนิดดังกล่าวนั้น สามารถปลูกในประเทศสหรัฐฯ ได้เพียงสองชนิดคือมะม่วงและสับปะรด แต่ผลิตได้เป็นจำนวนน้อย เพียงพอกับการป้อนตลาดท้องถิ่นเท่านั้น โดยแหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่ฟลอริด้าและฮาวาย

โดยรัฐฮาวาย ซึ่งเป็นหมู่เกาะที่แยกตัวออกจากแผ่นดินใหญ่ เป็นเพียงรัฐเดียวที่สามารถปลูกผลไม้ไทยได้ครบทั้งหกชนิด แต่มีกำลังผลิตไม่มากนัก กล่าวคือในปี 2005 สามารถผลิตลำไยได้ 1.42 แสนปอนด์ ราคาที่ไร่ปอนด์ละ 3.09 ดอลลาร์, ผลิตลิ้นจี่ ได้ 1.11 แสนปอนด์ ราคาปอนด์ละ 2.61 ดอลลาร์, ผลิตมะม่วงได้ 5.3 แสนปอนด์ ราคาที่ไร่ 1.11 ดอลลาร์ต่อปอนด์, ผลิตเงาะได้ 4 แสนปอนด์ ราคาปอนด์ละ 2.51 ดอลลาร์ และผลิตสับปะรดได้ 2.12 แสนปอนด์ ราคาที่ไร่ 30 เซ็นต์ต่อปอนด์

ส่วนสถิติการนำเข้ามะม่วงของสหรัฐฯ จากฮาวายและประเทศอื่นๆ ในปี 2005 คือ 5.15 ร้อยล้านปอนด์, มังคุด 5.2 หมื่นปอนด์ และสับปะรด 12.73 ร้อยล้านปอนด์.


 



 
 http://www.thaitownusa.com/frontnews/frmNews_View.aspx?NewsNo=0706000333
 
 
 
นำเสนอข่าวโดย : ภาณุพล รักแต่งาม
ที่มา : ไทยทาวน์ ยูเอสเอนิวส์
 
 
บันทึกการเข้า

Politic is nothing but the continuation of [the sin of] 7 by other means.

ท่านคิดว่า นรม. ควรทำอย่างไรเมื่อพบว่ากฏหมายบางฉบับมีช่องโหว่?
ก.ใช้อำนาจ นรม.ที่ได้รับมาจากประชาชนแก้กฏหมายเพื่อปิดช่องโหว่เหล่านั้น เพราะเป็นประโยชน์ของแผ่นดิน
ข.ฉวยโอกาสใช้ช่องโหว่เหล่านั้นเพื่อประโยชน์ของตนเองและคนรอบข้าง แล้วก็อ้างว่าคนอื่นเขาก็ทำกัน
หน้า: [1]
    กระโดดไป: