ก้าวให้พ้นความรุนแรงคอลัมน์ เดินหน้าชน โดย จุฬาลักษณ์ ภู่เกิดต้องยอมรับว่าช่วงเวลานี้ สถานการณ์บ้านเมืองเปราะบางอย่างยิ่ง หากมีใครฉวย
จังหวะสร้างเหตุอะไรมาสักอย่าง ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดความรุนแรงถึงขั้นเสียเลือดเนื้อ
เกิดขึ้นได้ไม่ยาก
หลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทยต้องเผชิญกับการเปิดเกมรุก
อย่างต่อเนื่องจากรัฐบาลและ คมช. แรงต้านสะสมจากความรู้สึกว่าไม่ได้รับความ
เป็นธรรม ก็ปะทุขึ้นเป็นการชุมนุมอันร้อนแรงของ "แนวร่วม" ที่ท้องสนามหลวง ซึ่ง
แม้ประธาน คมช. จะยืนยันว่าไม่หนักใจเพราะ "หนักกว่านี้ก็ยังผ่านมาแล้ว" แต่กุนซือ
คู่ใจนายกฯสุรยุทธ์อย่าง พล.อ.วัธนชัย ฉายเหมือนวงศ์ อดีตแม่ทัพภาค 3 กลับยอม
รับว่าเป็นเรื่องใหญ่ของรัฐบาล
น่าสังเกตว่าซีกฝ่ายของผู้
เกิด*เกมรุกยกนี้พยายามส่งสัญญาณว่าช่วงเวลานี้สังคม
จะถึงขั้นวิกฤต โดยอ้างว่าเป็นไปตามดวงชะตาของบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นหมอดูระดับ
ศ.ดร. อย่างนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตเลขาธิการ ครม. ยุคทักษิณ ที่ฟันธงว่าห้วง
ระหว่างวันที่ 16-18 มิถุนายนนี้ ดวงเมืองจะร้อนแรงสุดสุด ให้เตรียมตั้งรับกันให้ดี หรือ
กระทั่ง พล.อ.วัธนชัย เองที่ทุบโต๊ะเปรี้ยงว่าหลังวันที่ 15 มิถุนายน ฝีจะแตกและทุก
อย่างจะจบ ก็พยายามอรรถาธิบายด้วยหลักวิชาทางโหราศาสตร์เช่นกัน
ทำให้ที่เคยเชื่อว่าทิศทางความเป็นไปของบ้านเมืองนี้กำหนดชี้นำโดย
บางคนบาง
กลุ่มถูกท้าทายพอประมาณ เพราะแม้ไม่เชื่อก็ไม่อยากลบหลู่ แต่ก็ยังคาใจตรงที่ว่านี่
อาจจะเป็นอีกยุทธวิธีของคนกลุ่มเดิมๆ นั่นแหละ ที่พยายามเอาโหราศาสตร์มาอำพราง
เป้าประสงค์ที่แท้จริงบางอย่างเช่นที่เคยเป็นกลยุทธที่ใช้กันมาแต่โบร่ำโบราณในอดีต
ในการ "รบ" เพื่อเอาชนะอีกฝ่าย
ความตึงเครียดที่เกิดจากความแตกแยกขัดแย้งที่ครอบงำสังคมอยู่ในเวลานี้ ทำให้อด
หวนคิดไปถึงช่วงก่อนที่จะเกิดเหตุล้อมปราบขบวนนักศึกษาประชาชนเมื่อ 30 ปีที่แล้ว
ไม่ได้ เพราะมีหลายจังหวะก้าวที่คุ้นๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจรัฐก็
จะ
ถูกหาว่าเป็นพวกก่อกวนป่วนเมือง ไม่หวังดีต่อประเทศเหมือนกัน ทั้งยังเป็นผู้มุ่ง
ประสงค์ร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ต่างกัน โดยในวันก่อนล้อมปราบเมื่อ 6 ตุลาคม
2519 ก็ถึงขั้นมีกระบวนการตกแต่งภาพถ่ายในหนังสือพิมพ์ให้กลายเป็นว่านักศึกษาที่
ชุมนุมต้านการกลับมาของเณรถนอม กิตติขจร ซึ่งมีภาพทรราชย์จากเหตุการณ์ 14 ตุลา
2516 ติดตัว มีเจตนาแสดงละครส่อไปในทางอาฆาตมาดร้ายต่อองค์รัชทายาท นำไป
สู่การปลุกกระแสความเคียดแค้นเกลียดชัง ตามมาด้วยการเข่นฆ่าอย่างโหด***มอย่าง
ที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นได้ในสังคมไทย
ในยุคนั้นนักศึกษาประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้
ถูกป้ายสีว่าเป็น "คอมมิวนิสต์"
ที่เลวร้ายถึงขั้นที่พระผู้ใหญ่บางรูปยืนยันว่าฆ่าทิ้งได้โดยไม่บาป ทั้งหลังปฏิบัติการ
ล้อมปราบในธรรมศาสตร์ เครือข่ายชมรมวิทยุเสรีของพันโทอุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
ซึ่งใช้รายการ "เพื่อแผ่นดินไทย" เรียกร้องมาตลอดให้รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
แห่งพรรคประชาธิปัตย์ประกาศกฎอัยการศึกและ "จัดการ" กับนักศึกษาสัก 3 หมื่นคน
เพื่อที่ชาติและประชาชนอีก 43 ล้านคนจะได้อยู่เป็นสุข ก็ยังประโคมข่าวย้ำตามมาอีก
ว่าในธรรมศาสตร์มีอุโมงค์ลับของพวก "ญวน-แกว" ที่กำลังเป็นคอมมิวนิสต์
มาวันนี้
กระบวนการสร้างภาพปีศาจก็ยังคงดำเนินมาต่อเนื่อง เพียงแต่เป้าหมายได้เปลี่ยน
จากนักศึกษาผู้ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ มาเป็น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย
ที่เป็นตัวแทนทุนนิยมสามานย์ ขณะที่การตามเข่นฆ่าทำลาย ก็ได้วิวัฒนาการรูปแบบ
จากฆ่าเผาทั้งเป็นกลางสนามหลวง มาเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทางการเมืองแทน
หลายคนที่เคยผ่านเหตุการณ์เคยพยายามวิเคราะห์ย้อนหลัง แล้วมาเทียบเคียงปัจจุบัน
ว่าที่ขบวนนักศึกษาถูกรุกฆาตเสียยับเยินเพราะ "ซ้ายจัด" เกินไปที่ชูหนทางสังคมนิยม
จนออกหน้าออกตา เลยกลายเป็นผลร้ายกับตัวเอง ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณและพรรค
ไทยรักไทยก็โตเร็วและ "รุก" เร็วเกินไป แถมยังไม่ยอม "พอ" เลยมีชะตากรรมเช่นนี้
แต่ที่สุดแล้ว มันก็เป็นเช่นนั้นเอง ตามหลักอิทัปปัจจยตา
เวลานี้ระหว่าง คมช.และม็อบสนามหลวง ที่เป็น
"ศัตรู" (อย่างน้อยก็ในความเข้าใจ
ของ พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ที่เชื่อว่านั่นคือกองกำลังของ พ.ต.ท.ทักษิณ - ศัตรู
หมายเลขหนึ่ง) ต่างฝ่ายต่างหวาดระแวงและโยนไปว่าอีกฝ่ายพยายามสร้างเงื่อนไข
ให้เกิดความรุนแรงเพื่อ "ปิดเกมเร็ว"
จึงไม่แปลกที่ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก คมช. จะพยายามโดดเดี่ยวม็อบสนาม-
หลวงและสร้างภาพความชอบธรรมให้ตนเอง ด้วยการออกมา
ตอกลิ่มความคลางแคลงใจ
ของสังคมที่มีต่อม็อบว่า มวลชนที่สนามหลวงนั้น ไม่ใช่มุ่งต้านเผด็จการ เรียกร้องประชา-
ธิปไตยอย่างที่อ้าง หากเป็นแค่ "กลุ่มนิยมทักษิณ" เท่านั้น
"วันนี้ยืนยันว่า คมช.ไม่ใช่เผด็จการ ดังนั้นชื่อแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ
คงเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นเพื่อหวังผลทางจิตวิทยาและให้ต่างชาติมีความรู้สึกว่ากลุ่มพีทีวีที่มี
ส.ส. ไทยรักไทย เข้าร่วม เป็นกลุ่มที่นิยมประชาธิปไตย แต่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
ประชาชนคงทราบดี คิดว่าใช้ว่า กลุ่มพีทีวีและกลุ่มผู้นิยมอดีตนายกฯทักษิณ เป็นคำที่
ชัดเจนที่สุด และต่อไปผมก็จะเรียกอย่างนี้ตลอด"
ไม่อาจคาดเดาได้ว่ากว่าข้อเขียนชิ้นนี้จะออกไป สถานการณ์อันเปราะบางจะพัฒนา
ไปเช่นไร แต่หาก
ฝ่ายใดอึดกว่า ไม่เป็นฝ่ายก่อเหตุ หรือเปิดช่องให้ใครมาสวมรอย
สร้างเหตุแห่งความ
รุนแรงได้ ก็คงถือว่า
เป็นผู้ชนะในยกนี้
ที่สำคัญจะเป็นบทพิสูจน์ว่าอย่างน้อย 15 ปี 30 ปีผ่านไป สังคมไทยได้เรียนรู้ที่อยู่
กับความขัดแย้งที่แหลมคมขึ้นทุกทีอย่างมีสติและวุฒิภาวะ ก้าวพ้นไปสู่สังคมศิวิไลซ์
ได้อีกขั้น
มติชน วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10689http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01act05160650&day=2007/06/16§ionid=0130ขออย่าให้เกิดเรื่องร้ายอีกเลย
* น่าจะ เปิด