วันเสรีภาพสื่อโลก ตื่นเผชิญรัฐพันธุ์ใหม่คุกคามหนัก3 พฤษภาคม 2549 19:47 น.
นักวิชาการชี้สื่อโลกเผชิญ "ยุคพันธุ์ทุน-รัฐตกแต่งพันธุกรรมใหม่" ผู้มีอำนาจต้องการครอบงำ หลอมรวม และบูรณาการเป็นเจ้าของข้ามสื่อทุกภาคส่วน อาจทำผ่าน'นอมินี' เพื่อสร้างประชานิยมอุปถัมภ์ กุมเบ็ดเสร็จทั้งโครงสร้างสื่อ โครงสร้างสังคม*กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
---------------------------
ตั้งแต่วานนี้(2พ.ค.) กลุ่มนักศึกษาด้านสื่อสารมวลชน หรือวารสารศาสตร์ จากสถาบันอุดมศึกษา ร่วมออกเดินรณรงค์ในกรุงเทพฯ มหานคร เพื่อให้สังคมตระหนักถึงเสรีภาพของสื่อมวลชน
และวันนี้ (3พ.ค.) กลุ่มเพื่อนสื่อ(Friends Of Press) นำโดย พิเชียร อำนาจวรประเสริฐ ประธาน"ชมรมตุลาประชาธิปไตย" มามอบดอกไม้ให้กำลังใจแก่ตัวแทนสื่อมวลชนชาติเอเซีย เพื่อแสดงจุดยืนอยู่เคียงข้าง เนื่องในวันวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ซึ่งกำหนดขึ้นวันที่ 3 พฤษภาคม ของทุกปี
ซึ่งสมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เครือข่ายสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนเอเชียอาคเนย์(ซีป้า) และองค์การยูเนสโก้ขององค์การสหประชาชาติ จัดสัมมนาสื่อหัวข้อ อาการกลายพันธ์การคุกคามสื่อในประเทศไทย และประสบการณ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในการสัมมนาครั้งนี้ มี ดร.พิรงรอง รามสูต รณะนันท์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ(คปส.) นายตุลสถิตย์ ทับทิม อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ ของสมาคมนักข่าวฯ นางเมลินดา ควินตอส เดเฮซุ ผู้อำนวยการบริหารศูนย์ศึกษาเพื่อการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพสื่อและความรับผิดชอบ ประเทศฟิลิปปินส์ และนายเมยาตามะ ซูโยดินันกลัท บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์จาร์กาตาร์โพสต์ อินโดนีเซีย
รื้อโครงสร้างสื่อวิทยุทีวี ตามมาตรา40
เริ่มจาก ดร.พิรงรอง เสนอรายงานเรื่อง ภาพรวมการคุกคามสื่อของประชาธิปไตยไทย โดยชี้ให้เห็นว่า การคุกคามสื่อในเมืองไทยแบ่งเป็น 3 ยุคคือ
ยุคที่ 1 พันธุ์เผด็จการ ปี2475 - 2516 จากสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีระบบเซ็นเซอร์ ออก พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484 ใช้สื่อมวลชนเผยแพร่ลัทธิชาตินิยม ควบคุมเบ็ดเสร็จผ่านการจับกุม และกวาดล้างโดยตำรวจ มีการปิดโรงพิมพ์ ใช้วิทยุเพื่อโฆษณาชวนเชื่อฝ่ายรัฐ เช่น รายการนายมั่น-นายคง มีลักษณะเดียวกับรายการวิทยุในเช้าวันเสาร์
ต่อมาสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีการกวาดล้างนักหนังสือพิมพ์แบบเฉียบขาด ออกประกาศคณะปฎิวัติฉบับที่17 ลิดรอนเสรีภาพหนังสือพิมพ์ ห้ามออกหนังสือพิมพ์การเมือง และออกหัวหนังสือพิมพ์ใหม่
รัฐบาลมีหนังสือพิมพ์ของตนเองชื่อ สารเสรี เป็นกระบอกเสียงให้ตัวเอง ยุคนี้เองถือเป็นการเริ่มต้นของระบบ"ซองขาว" ในวงการหนังสือพิมพ์ ซึ่งเข้มข้นมากยิ่งขึ้นในยุคเผด็จการถนอม กิตติขจร
ยุคที่ 2 พันธุ์อำนาจเก่า-ทุนใหม่ ปี2517-2543 ยุคนี้มีการตั้ง ก.บว. อำนาจในการควบคุมค่อยๆ เคลื่อนย้ายจากอำนาจรัฐ เข้าสู่ทุนใหม่ แต่ก็ยังเป็นทุนของคนไม่กี่กลุ่ม แต่รัฐธรรมนูญใหม่ พ.ศ.2540 ก็ให้อำนาจทุนเจ้าของสื่อในการขัดขืนต่อต้านมากขึ้น
ยุคที่ 3 พันธุ์ทุน-รัฐตกแต่งพันธุกรรมใหม่ หรือ Genetically modified capital ( GMC) ปี 2544 -2549 เป็นยุคที่ผู้มีอำนาจต้องการครอบงำ หลอมรวม และบูรณาการเป็นเจ้าของข้ามสื่อทั้งหมดทุกภาคส่วน
ถ้าไม่ทำเองก็ใช้พันธมิตรทางการเมือง ดำเนินการแทน เพื่อปฏิสัมพันธ์กันภายใต้ระบอบประชานิยมอุปถัมภ์ พร้อมกับควบคุมเบ็ดเสร็จในแง่โครงสร้างสื่อวิทยุโทรทัศน์ด้วย เช่น กลุ่มชินคอร์ปอเรชั่น มีฐานอยู่ใน 4 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ กลุ่มธุรกิจสื่อสารไร้สาย กลุ่มธุรกิจดาวเทียม และธุรกิจระหว่างประเทศ กลุ่มธุรกิจสารสนเทศและอิเล็กทรอนิกส์ และ กลุ่มสื่อสารมวลชนและโฆษณา
นอกจากนี้ ยังมีการใช้วิทยุและโทรทัศน์ของรัฐ สร้างวาทกรรมประจำวันและสัปดาห์ จัดวาระข่าว จัดตั้งข้อความเอ็สเอ็มเอสในรายการโทรทัศน์ รวมไปถึงออกกฏหมาย ที่เอื้อให้คุมสื่อได้เด็ดขาด เช่น การออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในสามจังหวัดภาคใต้ ใช้กระบวนการยุติธรรมสร้างความหวาดกลัว เช่น การฟ้องร้องหมิ่นประมาท ตั้งแต่ปี 2546-2548 มีมูลค่ารวมประมาณ 4.5 พันล้านบาท
ดร.พิรงรอง เสนอแนวทางที่จะลดการคุกคามสื่อว่า ต้องพิจารณาจากส่วนต่างๆ ของสื่อสารมวลชน ในสื่อสิ่งพิมพ์จะไม่ค่อยเป็นปัญหาเท่าไร แต่ส่วนวิทยุโทรทัศน์ โครงสร้างยังเป็นปัญหา จึงต้องไปแก้ตรงนั้น เพราะวิทยุโทรทัศน์จะมีอิทธิพลมากสำหรับคนไทย เนื่องจากคนไทยอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ไม่มาก เท่ากับการดูโทรทัศน์
ดังนั้น การจะปรับเปลี่ยนค่านิยม ต้องไปรื้อโครงสร้างตามมาตรา 40 อาจต้องจัดสรรคลื่นความถี่กันใหม่ เพื่อให้ภาคประชาชนส่วนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาครัฐ หรือเอกชน ที่มุ่งหวังแต่เรื่องกำไร เข้าไปมีส่วนทำเนื้อหามากขึ้น เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติ ค่านิยมแก่ประชาชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ใช่ว่าจะใช้เวลาเพียงข้ามคืนแล้วจะเสร็จ แต่ต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร แต่ก็ยังดีกว่าไม่เริ่มทำอะไรเลย
มีขบวนการเปลี่ยนทัศนคติเชิงลบต่อสื่อ
นายตุลสถิตย์ กล่าวว่า การคุกคามสื่อในปัจจุบัน ใช้ทั้งอำนาจรัฐและอำนาจเงิน เข้าไปแทรกแซงกระบวนการทำงานของสื่อมวลชน จนทำให้เกิดบรรยากาศแห่งกลัวขึ้นอย่างกว้างขวาง แม้แต่นักข่าวตัวเล็กๆ ที่หาข่าวอยู่สนามข่าว ปัจจุบันนี้ก็ไม่กล้าที่จะเปิดเผยชื่อของตัวเอง เนื่องจากกลัวว่าจะได้รับผลกระทบ
ในขณะที่รัฐบาลนี้ มีเสียงข้างมากคุมได้ทั้งหมด แต่องค์กรตรวจสอบง่อยเปลี้ยเสียขา มีเพียงสื่อมวลชนเท่านั้น ที่เป็นสถาบันเดียวที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล แต่วันนี้ถ้าเข้าไปดูในเว็ปไซต์ จะพบว่าสื่อถูกตั้งคำถามมากมาย ในเรื่องจรรยาบรรณ
ทั้งที่ สื่อทำหน้าที่ขุดคุ้ยหาความจริงอีกด้านหนึ่ง ที่ไม่ใช่ข้อมูลจากฝ่ายรัฐบาลให้ประชาชนได้รู้ ถ้าเป็นในอดีตประชาชนจะสนับสนุนการทำงานของสื่อเป็นอย่างมาก ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่หนังสือพิมพ์แนวหน้า และคมชัดลึก ทำให้เราเห็นว่า มีขบวนการที่พยายามเปลี่ยนแปลงทัศนคติของประชาชนที่มีต่อสื่อ
สื่อถูกคุกคามต้อง'เซ็นเซอร์'ตัวเอง
น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า สถานการณ์การคุกคามสื่อจากผู้มีอำนาจ ทำให้สื่อไม่สามารถทำหน้าที่ในบทบาทของตัวเองได้อย่างเต็มที่ จะต้องคอยเซ็นเซอร์ตัวเองตลอดเวลา โดยเฉพาะการรายงานข้อเท็จจริงที่ตรงไปตรงมา ทั้งนี้ เหตุการณ์การคุกคามสื่อที่เกิดขึ้นขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นที่หนังสือพิมพ์แนวหน้า หนังสือพิมพ์คมชัดลึก หรือหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
"ขอเรียกร้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ จัดการเอาตัวผู้อยู่เบื้องหลังขบวนการคุกคามสื่อมาลงโทษให้ได้ เพราะที่ผ่านมาแม้จะมีการดำเนินคดี แต่ก็สาวไม่ถึงตัวผู้บงการ หรือเงียบหายไป ทำให้สื่อเกิดความไม่มั่นใจต่อความปลอดภัยในการทำงาน"
สื่อฟิลิปินส์ถูกจับจ้องยิ่งกว่า'บิ๊กบราเธอร์'
นางเมลินดา กล่าวว่า ในประเทศฟิลิปปินส์นั้น แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย แต่นางมาคาปากัล อาร์โรโย ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ได้ใช้การประกาศภาวะฉุกเฉิน ที่ให้อำนาจ ทหาร ตำรวจ เข้ามาควบคุมสื่อ นางอาร์โรโย่ ประกาศห้ามไม่ให้มีการชุมนุม เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์การเดินขบวนเพื่อโค่นล้มมากอส นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบหนังสือพิมพ์ฝ่ายค้าน ตลอดจนการจับกุมคอลัมนิสต์ ที่เขียนวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล
"การคุกคามสื่อในสมัยอาร์โรโย ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องหลายรูปแบบ ทั้งการตักเตือนทางโทรศัพท์ เข้าควบคุมองค์กรสื่อ นอกจากนี้ยังมีการคุกคามเป็นพิเศษ กับองค์กรข่าวที่ทำข่าวแบบสืบสวนสอบสวนแบบเจาะลึก โดยจะส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสะกดรอยตาม มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย กับการนำเสนอข่าวต่างๆ ที่เป็นผลเสียกับรัฐบาล การสืบหาแหล่งข่าว เป็นที่รับรู้กันในบรรดาสื่อมวลชนว่า
ในขณะที่กำลังทำข่าว ก็จะมีคนจ้องดูการทำงานของนักข่าวตลอดเวลา ยิ่งกว่ารายการบิ๊กบราเธอร์ สิ่งเหล่าทำให้เกิดอาณาจักรความกลัวไปทั่วฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะนักข่าวใหม่ๆ ทั้งนี้ในพื้นที่ต่างจังหวัด จะมีการสังหารนักข่าวอย่างต่อเนื่อง แต่เท่าที่ทราบ การสังหารดังกล่าวไม่ได้มาจากนโยบายของรัฐ แต่มาจากพวกมาเฟียท้องถิ่น นักหนังสือพิมพ์ชาวฟิลิปปินส์ กล่าว
นางเมลินดา กล่าวว่า ในฟิลิปปินส์มีการรวมตัวของสื่อมวลชน เพื่อตั้งคำถามถึงความชอบธรรมในการกระทำของกับอาร์โรโย่ ที่บอกว่ามีสิทธิที่จะจับตามองการทำงานของสื่อ เพื่อความมั่นคงของประเทศ ว่าใครเป็นคนตัดสิน และ สื่อต่างๆ ได้รวมตัวเข้ากับองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ)ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อต่อต้านการคุกคามสื่อ เพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพสื่ออย่างแท้จริง รวมถึงเพื่อขยายประเด็นการคุกคามสื่อ ให้เป็นที่รับรู้กว้างขวางมากขึ้น
อินโดนีเซียถึงขั้นใช้กำลังคุกคามสื่อ
ด้านนายเมยาตามะ กล่าวว่า สถานการณ์คุกคามสื่อของอินโดนีเซีย จะเป็นรูปแบบการใช้กฎหมาย รวมทั้งปรากฏการใช้กลุ่มกำลังต่างๆ โจมตีการทำหน้าที่ของสื่อ โดยพรรคการเมืองต่างๆ ของอินโดนีเซีย จะมีกลุ่มกองกำลังต่างๆ ที่ค่อนข้างบู๊ให้การสนับสนุน นอกจากนี้สื่อจำนวน 70 เปอร์เซ็นต์ของอินโดนีเซีย จะถูกควบคุมโดยกลุ่มธุรกิจต่างๆ เนื่องจากมองเห็นว่า การควบคุมสื่อนอกจากเพื่อผลกำไรแล้ว ยังสามารถกำหนดยุทธศาสตร์ทางการเมืองได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของสื่อและประชาธิปไตย จะต้องดำเนินการมากกว่านี้ โดยให้สังคมยอมรับคุณค่าของการเป็นประชาธิปไตย คือ
1.สื่อต้องตอบสนองต่อสังคม มองตัวเองอย่างถ่อมเนื้อถ่อมตัว ไม่ใช่อยู่ในสถานะพิเศษ
2.สื่อต้องเข้าใจว่าไม่มีใครผูกขาดข้อมูล เนื่องจากมีการสื่ออิเลคทรอนิกส์กันอย่างแพร่หลายในขณะนี้
3. สื่อต้องมีความรับผิดชอบ โดยควรสนับสนุนให้เกิดสื่อประชาชน ออกไปอย่างกว้างขวางทั่วทุกภูมิภาคกรุงเทพธุรกิจ