ออที เกอะ ตอที
ออก่อ เกอะ ตอก่อ
ได้กินจากน้ำ ต้องรักษาน้ำ
ได้กินจากป่าต้องรักษาป่า
ปลายปี 2548 จากเทือกภูสูงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา
พฤ โอ่โด่เชา หนุ่มปกาเกอญอ หรือกะเหรี่ยงวัยสามสิบต้นๆ ผู้สร้างตำนานนักเดินเท้าหลายร้อยไมล์ เพื่อถามหาหัวใจ
เพื่อนร่วมชาติ ในการปกป้องผืนป่าต้นน้ำ ซึ่งเป็นที่เกิดกายและหวังให้เป็นที่ฝังกายในท้ายที่สุดของชีวิตเขา
มีสักกี่คนที่จะเข้าใจ แม้ในคำถามนั้นจะมีคำตอบให้แล้ว
อย่างหมดจด...
" มาเดินทำไม ใครจ้างมาหรือเปล่า " หลายคนถามเขาตาม
รายทางที่ยาวไกล จากเชียงใหม่ถึงกรุงเทพฯ
" ครับ ผมรับจ้างมาครับ " เขาตอบซื่อๆ
" ผมรับจ้างต้นไม้ รับจ้างก้อนหิน รับจ้างลูกเมียพี่น้องของผม
และที่สำคัญผมรับจ้างหัวใจตัวเอง "
..................................................
การออกเดินทางไกลด้วยเท้า นอกจากต้องการการร่วมมือลงชื่อ เพื่อสนับสนุนกฏหมายป่าชุมชน อันมีเนื้อหาสาระสำคัญว่า " คนที่อยู่กับป่าต้องมีสิทธิ์อยู่ในป่า และร่วมรักษารักป่า "
แล้วนั้น พฤ ยังปรารถนาให้คนต่างถิ่นได้เข้าใจในวิถีชีวิต
ของปกาเกอญอที่ไม่อาจแยกออกมาจากป่าได้
แต่แล้ว เมื่อเขามาถึงกรุงเทพฯเมืองฟ้า บทสรุปที่ให้กับตัวเองก็คือ
" คนที่นี่เขาไม่เข้าใจว่าป่าของเราคืออะไร จะโทษเขาก็ไม่ได้
เพราะเขาไม่รู้จักจริงๆ "
......................................................
แล้วป่าของพวกเขาคืออะไรเล่า
" เมื่อผมเกิดมา สายสะดือของผมจะถูกนำไปผูกติดไว้ที่ต้นไม้ใหญ่ เพื่อฝากขวัญให้ต้นไม้ดูแล หากไม้ใหญ่ได้รับการทำลายก็เหมือนขวัญของผมถูกทำลาย ผมอาจเจ็บป่วยและตายได้ "
" เราทุกคนจึงมีต้นไม้แห่งชีวิตคนละต้น ที่ต้องดูแล "
" เมื่อเราตายลง ต้นไม้บางชนิดเท่านั้นที่จะนำมาใช้กับคนตาย และไผ่กอใดที่ถูกตัดมาใช้สำหรับแบกศพแล้วจะไม่มีการตัดมาใช้ในงานอื่นอีก จะใช้เฉพาะแบกคนตายเท่านั้น "
" เราทำไร่หมุนเวียน ไม่ใช่ไร่เลื่อนลอย เราทำไร่เสร็จแล้ว ที่ดินถูกทิ้งไว้ให้ไม้โต อีกสี่ห้าปีเราจึงย้อนมาถางป่านั้นทำไร่อีกครั้ง นี่คือการดูแลผืนดิน เราไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี"
" การทำนายที่ดินว่าจะทำไร่ได้ผลผลิตดีหรือไม่ เราจะตัดไม้ขนาดเท่าแขนมีความยาว 1 วา แล้วผู้เฒ่าจะภาวนาขอสิ่งศักดิ์สิทธ์ให้แสดง ถ้าไม้ยาวขึ้นแสดงว่าสามารถเข้าไปทำกินในที่ดินนั้นได้ ถ้าไม่ยาวขึ้นหรือสั้นกว่าจะล้มเลิกการทำไร่ในที่ดินแปลงนั้น การเสี่ยงทายจะใช้วิธี นำไม้นั้นไปกระทุ้งให้ทั่วบริเวณแล้วนำมาวัดว่ายาวเพิ่มขึ้นหรือสั้นลง "
" หรือการเสี่ยงทายโดยเอาดินมากำมือหนึ่ง ใส่ไว้ใต้หมอนหนุนนอน คืนนั้นถ้าไม่ฝันอะไร ก็สามารถเข้าไปทำกินได้ "
.....................................................
เพลง " ทา " ในเบื้องต้นบทนั้น หรือบทอื่นๆ เป็นบทร้องที่มีมาแต่โบราณ โดยเฉพาะงานศพ ที่หนุ่มสาวจะได้มีโอกาสมาร่วมร้องเพลงทาเกี้ยวพาราสีกัน เนื้อร้องที่สืบทอดมาจากความทรงจำรุ่นแล้วรุ่นเล่า กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป เพราะวิถีชีวิตกำลังถูกทำให้เปลี่ยนไป และหากพวกเขาต้องถูกไล่ให้ออกมาจากป่า อย่างไม่มีความผิดใดๆทั้งสิ้น แม้วันนี้จะมีสาเหตุมาจากการ " เกิดผิดที่ " โดยสำนึกสามัญ พวกเขาย่อมมีสิทธิ์ที่จะมีชีวิตอย่างสันติสุขเฉกเช่นเดียวกับคนร่วมแผ่นดินอื่นๆ
" บ่อเอ๋ย ขอให้เย็นไว้
บ่อเอ๋ย ขอให้ร้อนไว้
หน้าร้อนขออย่าให้แห้ง
หน้าฝนขออย่าให้ไหลหลาก
จงคงสถาพเจ้าไว้
นกกาจะได้มาอาศัย
บิเบ ทำรัง
บิแย ทำรัง
ทำรังพร้อมๆทำลายรัง
หวังให้ลูกหลานตกรังตาย "
" ทา " บทนี้ สื่อถึงพิธีกรรมที่ " ฮีโข่ " หรือหมอผี ต้องตระหนักในการเลือกทำเลตั้งหมู่บ้านเพื่อความสงบสุขร่มเย็นตลอดไป บัดนี้ หมู่บ้านจะสงบสุขหรือไม่ ไม่ได้อยู่กับหมอผีอีกแล้ว แต่อยู่กับกฏหมายของรัฐ จะบันดาลให้เป็นไป
" ทา " อีกบทหนึ่ง ที่บอกให้คนข้างนอกได้รู้ว่าทำไมพวกเขาจึงรักป่ายิ่งนัก
" ไปอยู่สถานที่เก่าของแม่
ไปอยู่สถานที่เก่าของพ่อ
ส้มที่แม่ปลูกทิ้งไว้
ส้มโอที่พ่อปลูกทิ้งไว้
เรากินเรารักษา กินแล้วเรารักษา
จะคุ้มกินตลอดไป ถึงลูกถึงหลาน "
.......................................................
อา.......หัวใจที่งดงาม " ปกาเกอญอ " กำลังโดนบีบคั้น ชายหนุ่มคนนั้น เป็นตัวแทนร้องทุกข์แทนพี่น้องคนอื่นๆนับหมื่นคน บนดอยสูง ที่บังเอิญเกิดมาในป่าใหญ่ ที่เคยเป็นป่าไพรร่มเย็น แต่วันนี้กลับร้อนรนด้วยผลประโยชน์แห่งรัฐ
ขอให้งานแห่งชีวิตของเธอสำเร็จด้วยเถิด พฤ โอ่โดเชา ในเมื่อสิ่งที่เธอทำหาใช่เพื่อเธอแต่เพียงลำพังไม่ แต่เธอทำเพื่อชาวโลกทุกคนได้มีน้ำสะอาดดื่ม มีอากาศบริสุทธิ์หายใจ
ขอเพียงแค่ " เงื้อมมือของกฏหมายบางข้อ ปล่อยพวกเขาลง ปล่อยให้เขาได้ดำเนินไปตามวิถีดั้งเดิม แล้วทุกคนจะมีแต่ได้ อย่างแท้จริง " .......ทบทวนดู การไล่คนที่สมถะและรักป่าออกจากป่า แล้วให้พ่อค้านายทุนที่โลภโมโทสันสัมปทานป่า เพื่อผลกำไร
ใครกันที่ขาดทุน........