Silence of the Lamp: ครป. องค์กรนี้ยังรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย
(อยู่) อีกหรือ ประวิตร โรจนพฤกษ์ คำถามสำคัญอันหนึ่งที่สื่อกระแสหลักโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ควรตั้งได้เสียทีก็คือ เมื่อไหร่
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) จะเปลี่ยนชื่อ โดยเฉพาะการตัดคำว่า
ประชาธิปไตย ออกจากชื่อองค์กรไปเสียที
ผู้เขียนขอเดาอย่างหยาบๆ ว่า ให้ตายก็ไม่มีวัน
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมขององค์กรที่ชื่อ ครป. ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หรือแม้
กระทั่ง 1 ปีที่ผ่านมา มีลักษณะขัดกับหลักการประชาธิปไตย โดยเฉพาะประชาธิปไตย
แบบที่มีส่วนร่วมจากประชาชนมากขึ้นทุกที
ก่อนหน้าที่ ครป. จะแถลงข่าวเรื่องการร่วมก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
แกนนำ ครป. ก็รู้ดีว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งที่สุดก็กลายเป็นผู้นำที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด
ในกลุ่มพันธมิตรฯ เพิ่งได้เข้าไปขอพบ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เพื่อขอให้ทหารยืนอยู่ข้าง
ประชาชน ซึ่งถ้าให้แปลตรงๆ ก็หมายถึงว่า ขอให้ทหารกระทำการรัฐประหาร จัดการ
ทักษิณ และคำขอร้องนี้เป็นจริงภายในเวลาไม่ถึงสิบเดือน เมื่อเกิดรัฐประหารขับไล่นายกฯ
ทักษิณ ชินวัตร ผู้ซึ่งเป็นผู้นำทางการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่า โกงกินและใช้อำนาจในทางที่
ผิดมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
หลังรัฐประหาร 5 วัน จึงได้ยินเสียงนายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการ ครป. ออกมาพูด
อ้อมแอ้มกับสื่อทำนองว่า ตนมิได้สนับสนุนรัฐประหาร แต่มันได้เกิดขึ้นแล้ว แต่หลังจาก
นั้น ครป. ก็ขยันทำหน้าที่เป็นเสมือนพี่เลี้ยงและติวเตอร์ให้กับกลุ่มที่ก่อการรัฐประหาร
และฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง โดยพูดเสนอแนะผ่านทางสื่อเป็นระยะๆ ทุกสัปดาห์ แถมมีการให้
คะแนนเป็นรายเดือนว่า รัฐบาลที่ทหารแต่งตั้งของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นั้นสอบผ่าน
ไม่ผ่าน
ในขณะเดียวกัน หนึ่งในที่ปรึกษาและอดีตประธาน ครป. คือ รศ.สุริชัย หวันแก้ว ก็ได้รับ
และยอมรับการแต่งตั้งจากทหารให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาอุปโลกน์หรือที่เรียกว่า
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยนิตินัย ซึ่ง อ.สุริชัย นั้น ยังได้เขียนบทความ เรื่อง ข้ามพ้น
จากกับดักคำถามที่เรียวแคบ ลงมติชน ทำนองว่า สังคมมีทางเลือกน้อย
หลังจากรัฐประหารไม่นาน ฝุ่นยังไม่ตกพื้น นายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการนิตยสาร
ฟ้าเดียวกัน ก็ออกมาเขียนแฉ กล่าวหาว่า ครป. ได้เขียนโครงการขอเงินจากรัฐมนตรีสำนัก
นายกฯ ของรัฐบาลทหารเป็นจำนวน 16 ล้านบาท (ดู ฟ้าเดียวกัน ฉบับ ม.ค.-มี.ค. 2550
หน้า 3-4 แต่ถอนการขอทุนไปในภายหลัง ด้วยเหตุผลอันใดไม่ทราบชัด) แถมนายธนาพล
ยังออกมาเปิดโปงว่า นายสุริยะใสไปร่วมงาน สตรีสูงศักดิ์ ซึ่งจัดเลี้ยงฉลองชัยชนะพันธมิตร
กู้ชาติ เมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา โดยที่มี พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร แกนนำรัฐประหาร
ผู้ที่ภายหลังขนานนามตนเองว่า วีรบุรุษแห่งชาติ ไปร่วมงานด้วยอย่างชื่นมื่น
ตอนแรก ครป. ก็แฮปปี้กับรัฐบาลขิงแก่ และเคยเชียร์ว่า สมควรแล้วที่รัฐบาลสุรยุทธ์จะ
ใช้สื่อในกำมือเพื่อโปรโมทพีอาร์รัฐบาลชุดใหม่ที่แต่งตั้งโดยทหารและ ครป. (ขอโทษ
พิมพ์ผิด ที่จริงต้องเป็น คมช.) แต่ ครป. ก็ไม่เคยตั้งคำถามวิจารณ์การที่ทหารแต่งตั้ง
พรรคพวกนายพลหลายคนไปนั่งตามบอร์ดองค์กรรัฐวิสาหกิจต่างๆ เป็นว่าเล่นเต็มไปหมด
หรือไม่สนใจจะตั้งข้อสงสัยว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญมีปัญหาไม่ยอมรับการจัดสรร
การศึกษาพื้นฐาน 12 ปี ซึ่งรัฐต้องออกค่าใช้จ่าย โดยอ้างว่ารัฐขาดงบประมาณ แต่กลับ
อนุมัติให้เขียนเพิ่มงบทหารจัดซื้ออาวุธยุปโธปกรณ์ที่ทันสมัยและมีเทคโนโลยี โดยที่ไม่มี
ใครในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญตั้งคำถาม
แต่พอกาลผ่านไป 6 เดือน นายพิภพ ธงไชย ประธาน ครป. ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ลงใน
หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ฉบับวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ว่าถึงเวลาเปลี่ยนตัวนายกฯ แล้ว
เพราะสุรยุทธ์ทำงานไม่เข้าตา ทั้งยังเสนอถึงกระทั่งว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ซึ่งเป็นผู้นำ
รัฐประหาร ควรมารับตำแหน่งรองนายกฯ เพื่อดูแลด้านความมั่นคง ครป. ยังพูดขู่ว่ากลุ่ม
พันธมิตรนั้นพร้อมที่จะออกมาเคลื่อนเพื่อผลักดันเปลี่ยนแปลงตัวนายกฯ หากจำเป็น
ในสภาพที่นักการเมืองพรรคฝ่ายค้านไร้สมรรถภาพ (มาหลายสมัยแล้ว) องค์กรอย่าง ครป.
ได้กลายเป็นแหล่งป้อนข่าวและสร้างข่าวให้กับหนังสือพิมพ์รายวันอย่างด่วนแดกทั้งสองฝ่าย
ซึ่งสื่อก็มักง่ายและรับอย่างสำเร็จรูป ได้ทุกสัปดาห์ หรือสัปดาห์ละหลายครั้ง (นักข่าวสาย
การเมืองจากหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งบอกว่า ครป. ก็เป็นแฟนประจำที่ [หนังสือพิมพ์] ใช้บริการ
แถมยังไม่ใช่ฉบับเดียว แต่แทบทุกฉบับ [ครป.] ติดตามและทันเหตุการณ์ในประเด็นการเมือง
จนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ทันกับความต้องการของสื่อมวลชนทุกครั้ง และสององค์กรนี้รู้จังหวะ
เส้นสายกลไกของสื่อดี ไม่เคยปล่อยให้ช่องว่างทางข่าวสารโดยเฉพาะวันหยุดที่ไม่ค่อยมีข่าว
ให้สูญเปล่า)
ปัญหาก็คือ องค์กรที่ใช้ชื่อ ประชาธิปไตย องค์กรนี้ เริ่มทำตัวคล้ายกับโบรกเกอร์ทาง
อำนาจการเมือง หาใช่องค์กรรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยอย่างแท้จริงอีกต่อไปไม่ คน 2-3 คน
ในองค์กรดูเหมือนจะสามารถตัดสินใจอะไรต่างๆ และอ้างเสียงประชาชน (ในแง่นี้ก็ไม่ต่าง
จากนักเลือกตั้งที่โกงกินจำนวนหนึ่งที่อ้างเสียงประชาชน เพียงแต่พวกนักเลือกตั้งอย่างน้อย
ก็ได้ลงทุนซื้อเสียง) ในขณะเดียวกัน ตัวผู้แทน ครป. คือนายสุริยะใส (ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะ
แทนแต่เพียงตนเองและพี่น้องอีกจำนวนไม่กี่คน) สามารถสร้างกระแสเป็นข่าวหน้าหนึ่งได้
โดยไม่ต้องถามเสียงประชาชน แต่อ้างว่าเป็นองค์กรประชาชน (ดู วิวาทะเรื่อง องค์กรผี
หรือ องค์กรที่ไม่มีฐานประชาชน ที่เปิดประเด็นโดยใจ อึ๊งภากรณ์ ตั้งแต่ปี 2544) มี
แนวโน้มพัฒนาไปสู่การเมืองแบบชูตัวบุคคลเป็นหลัก (ซึ่งก็คือตัวนายสุริยะใสและพิภพเอง)
เห็นได้จากหนังสือที่เพิ่งพิมพ์ออกใหม่โดยสำนักพิมพ์โอเพ่นที่ว่าด้วย พันธมิตรประชาชนเพื่อ
ประชาธิปไตย ซึ่งชื่อนายสุริยะใส หรือผู้เขียนนั้นมีขนาดตัวอักษรใหญ่กว่าชื่อเรื่องของหนังสือ
ประมาณ 3-4 เท่าก็ว่าได้ แถมหน้าปกเป็นรูปนายสุริยะใสขนาดเต็มจอ และพื้นหลังเป็นสีเหลือง
แจ๊ดอีกต่างหาก
มันน่ากลัวว่าการเมืองแบบ ครป. นี้กำลังกลายเป็นการเมืองแบบ elite หรือคนกลุ่มน้อยแบบ
ใหม่ ที่สื่อกระแสหลักให้ความสำคัญมากเกินไปอย่างเกินจริง (over represented and over
hype) ในขณะที่เสียงประชาชนไม่ได้เป็นแม้กระทั่งข่าวรองตามหน้าหนังสือพิมพ์
การเมืองเช่นนี้ เป็นการเมืองแบบกบเลือกนาย (politics of regime change) ที่เชื่อว่า
บ้านเมืองจะมีทางออก หากได้ผู้นำดี และชาติจะพ้นภัย จึงไล่ได้ตั้งแต่ยุคทักษิณยันสุรยุทธ์
แต่ที่น่าแปลกใจคือว่า ทำไม ครป. ไม่เคยถามถึงความรับผิดชอบของกลุ่มทหารที่เรียก
ตนเองว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) คนอย่างนายสุริยะใสหรือพิภพ คิดว่า
คมช. ควรรับผิดชอบไหม และควรรับผิดชอบอย่างไร หากแต่งตั้งนายกฯ (อย่างไม่ชอบธรรม)
ผิดคน และที่มากกว่านั้นก็คือ ครป. ควรรับผิดชอบด้วยหรือไม่ อย่างไร กับสภาพเละตุ้มเป๊ะ
ทางการเมืองปัจจุบัน และในฐานะที่ช่วยต่อ ท่อน้ำเลี้ยง ให้เผด็จการทหารมากว่า 6 เดือน
น่าเสียดายว่า ในสังคมที่คำว่า ประชาธิปไตย ถูกบิดเบือนจนจำหน้าตาไม่ได้ กลุ่มคนบางคน
ที่อ้างตนว่าเป็นประชาธิปไตย หรืออยู่เพื่อประชาธิปไตย สามารถทำอะไรได้หลายๆ อย่างที่
ขัดกับหลักประชาธิปไตยโดยมิต้องรับผิดชอบ โดยสื่อ (กระแสหลักและกระแสรองอีกจำนวน
หนึ่ง) มิสนใจตรวจสอบ
แต่ผู้เขียนไม่แปลกใจ เพราะว่าแม้แต่กลุ่มทหารที่ทุกวันนี้ตั้งตนเป็นคณะมนตรีฯ ก็โฆษณาตั้งแต่
เริ่มรัฐประหารไปได้ไม่กี่ชั่วโมงแล้วว่า เป็นคณะปฏิรูปการปกครองระบอบ ประชาธิปไตย อันมี
พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)
แถมเกือบ 7 เดือนหลังรัฐประหารผ่านไปแล้ว สื่อจำนวนมากก็ยังเชื่อว่า พวกทหารเหล่านั้นมา
ช่วยสรรค์สร้างประชาธิปไตยให้สังคมจริง
(หมายเหตุ -- ผู้ช่วยจากประชาไท เพิ่งพิมพ์บทความเสร็จก็มีข่าวด่วนเข้ามือถือจากไอ.เอ็น.เอ็น.
โพลิติกส์ ว่า 15.11 น. ครม. ขึ้นเงินเดือนตอบแทนคน คมช. อีก ร้อยละ 15 ส่วนตอบแทนเพื่อ
อะไรนั้นผู้เขียนไม่แน่ใจ หลังจากพิมพ์ไปได้ 1 นาที อีกข่าวจาก ไอ.เอ็น.เอ็น.เจ้าเก่าเข้ามาบอก
ว่า พันธมิตรเซ็งรัฐงานอืดปาหี่อำนาจเก่า นัดถก 5 แกนนำ 10 เม.ย. ฟื้นกลุ่ม)
http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2_print.php?mod=mod_ptcms&ContentID=7613&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai