มติชนรายวัน วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10594*หมายเหตุ* - หลังจากมีการร้องเรียนต่อกรมสอบสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เกี่ยวกับความไม่โปร่งใสในการเปิดประมูลสินเชื่อ กลุ่มที่อยู่อาศัยขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ของสถาบันการเงิน 56 แห่งที่ถูกปิดกิจการ ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ พาดพิงถึงนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งขณะนี้ ดีเอสไอได้ส่งสำนวนการกล่าวโทษต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการ
ล่าสุด นายธารินทร์ได้เขียนคำชี้แจง "
ข้อเท็จจริงในด้านนโยบายเกี่ยวกับ ปรส." "มติชน" จึงนำเนื้อหาบางส่วนของการชี้แจงมานำเสนอ
ภายหลังพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน 2540 เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2540 รัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้จัดตั้งคณะกรรมการ ปรส. ชุดแรกขึ้น เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2540 โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขฟื้นฟูฐานะ ของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ เป็นอันดับแรก โดย ปรส. มีฐานะเป็นองค์กรอิสระ มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการดูแลบริษัทเงินทุนที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ ขณะที่บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) เป็นองค์กรอิสระที่จัดตั้งเพื่อเตรียมเข้าประมูลซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ของสถาบันการเงินที่ไม่สามารถฟื้นฟูฐานะได้
ทั้ง ปรส. และ บบส. ได้จัดตั้งขึ้นเสร็จก่อนที่รัฐบาลชวน 2 จะเข้ามาบริหารประเทศในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ปรส.นั้น รัฐมนตรีว่การกระทรวงการคลังเป็นเพียงผู้รักษาการตามพระราชกำหนด ไม่มีอำนาจแทรกแซง การดำเนินงานของ ปรส. เนื่องจากพระราชกำหนดให้อำนาจและหน้าที่ในการดำเนินการประมูลทรัพย์สิน เป็นของคณะกรรมการ ปรส. แต่ผู้เดียว ส่วน บบส.นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไป โดยสามารถสั่งให้ บบส. ชี้แจงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็น ทำรายงาน ตลอดจนสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการดำเนินงานได้
ความเสียหายและพันธะที่รัฐบาลชวน 2 ต้องแบกรับต่อจากรัฐบาลก่อนเพื่อให้คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลชวน 2 ได้รับทราบสถานการณ์และภาระของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ที่ได้เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จึงได้รายงานตัวเลขข้อเท็จจริงต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในช่วงแรกๆ ว่า ณ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2540 ยอดการช่วยเหลือของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ที่ได้ผูกพันไว้จากที่เคยมีประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2539 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการช่วยเหลือธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) (บีบีซี) เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1 ล้านล้านบาท ในเวลาเพียง 10 เดือนเศษ ประกอบไปด้วย การช่วยเหลือสภาพคล่องธนาคารพาณิชย์ 5 แห่ง สถาบันการเงินที่ยังคงเหลืออีก 10 กว่าแห่ง และโดยเฉพาะการช่วยเหลือประชาชนผู้ออมของสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการเป็นการชั่วคราวจำนวน 58 แห่ง
เนื่องจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ มีภาระมากในการแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงินของประเทศ จึงได้อาศัยวิธีการกู้ยืมเงินระยะสั้นในตลาดเงิน เพื่อรองรับภาระของตัวเองเกือบทั้งหมด หนี้สินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จึงเป็นหนี้สาธารณะ ซึ่งเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นก็จะต้องตกเป็นภาระของรัฐบาล ตามกฎหมายที่ได้ออกไปก่อนหน้าแล้ว
คณะกรรมการ ปรส. ชุดแรกสั่งปิดถาวร56ไฟแนนซ์ในวันที่ 8 ธันวาคม 2540 หรือประมาณ 3 สัปดาห์หลังจากรัฐบาลชวน 2 เข้าบริหารราชการแผ่นดิน คณะกรรมการ ปรส. ชุดแรก ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลก่อนหน้านั้น ได้สั่งปิดกิจการสถาบันการเงิน 56 แห่ง เป็นการถาวร ส่วนอีก 2 แห่งให้เปิดดำเนินกิจการต่อไปได้ ซึ่งการสั่งปิดนี้เป็นอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของคณะกรรมการ ปรส. ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย โดยคณะกรรมการ ปรส. ได้รายการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อทราบเท่านั้น
เมื่อคณะกรรมการ ปรส. ชุดแรกได้ใช้อำนาจทางกฎหมายสั่งปิดกิจการสถาบันการเงิน 56 แห่งเป็นการถาวรแล้ว ก็ได้ลาออกจากตำแหน่งทั้งชุดเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2540 กระทรวงการคลังจึงได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ให้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการ ปรส. ชุดใหม่ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2540 เช่นกัน
ดังนั้น การดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงินข้อที่ 1 คือแก้ไขฟื้นฟูฐานะของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ ถือว่าได้เสร็จสิ้นแล้ว ส่วนวัตถุประสงค์ข้อที่ 2 ที่กำหนดให้ช่วยเหลือผู้ฝากเงิน และเจ้าหนี้ที่สุจริตของสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการนั้น ปรากฏว่าผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ที่สุจริต และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ได้เข้ามาเป็นเจ้าหนี้แทนเสียเป็นส่วนใหญ่ไปก่อนหน้าแล้ว เพราะฉะนั้นหน้าที่ของคณะกรรมการ ปรส. ชุดใหม่จึงเป็นเรื่องของการชำระบัญชีบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ 56 แห่ง
กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อ ปรส.กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อ ปรส. เป็นเงิน 769,284.83 ล้านบาท และเจ้าหนี้อื่นยื่นคำขอรับชำระหนี้จำนวน 104,688.98 ล้านบาท รวมเป็น 873,973.81 ล้านบาท นับเป็นสัดส่วนการขอรับชำระหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ร้อยละ 88 และของเจ้าหนี้อื่นร้อยละ 12 เป็นที่น่าสังเกตว่ายอดหนี้ที่เจ้าหนี้ทั้งหมดยื่นขอรับชำระหนี้นี้ มีหนี้เสียอยู่เป็นจำนวนมาก
การสร้างความโปร่งใสในการดำเนินงานของ ปรส.เนื่องจาก ปรส. โดยผลของกฎหมาย เป็นองค์กรอิสระ มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการดำเนินกิจการโดยผ่านคณะกรรมการของ ปรส.เท่านั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่มีอำนาจทางกฎหมายที่จะไปกำหนดนโยบายให้ ปรส. ในการพิจารณาขายสินทรัพย์ของ 56 สถาบันการเงินได้ แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็ได้มีการแนะนำให้ ปรส. ทำการประเมินผลของการขายสินทรัพย์ว่าจะได้เงินคืนมาในสัดส่วนเท่าไร ซึ่งต่อมาประธานกรรมการ ปรส. ได้ชี้แจงว่าจากการประเมินของที่ปรึกษาเฉพาะกิจและผู้จัดการพิเศษของแต่ละสถาบันการเงิน คาดว่าน่าจะได้รับเงินจากการจัดการสินทรัพย์ประมาณร้อยละ 42 ของมูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมดที่ได้รวบรวมไว้
ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ข้อแนะนำแก่ ปรส. ในการดำเนินการว่า1.ให้ ปรส. ดำเนินการโดยมีเป้าหมายได้รับชำระคืนประมาณร้อยละ 42 ตามที่ ปรส. เองได้ประเมินไว้ตั้งแต่แรก
2.ให้ดำเนินการโดยรวดเร็ว เพราะสินทรัพย์เสื่อมคุณภาพเร็ว และเสื่อมคุณภาพไปมากแล้ว จากการสั่งปิดกิจการโดยไม่ได้มีมาตรการรองรับที่ชัดเจน
3.ราคาประมูลขายสินทรัพย์ไม่ควรต่ำกว่าราคาอ้างอิงภายใน (bench-mark price) ในการประมูลแต่ละครั้ง
4.ในกระบวนการประมูลแต่ละครั้งของ ปรส. ให้ดำเนินการอย่างโปร่งใส เป็นที่รับทราบในวงกว้าง และให้มีกระบวนการตรวจสอบที่เข้มแข็ง ที่สำคัญให้ระมัดระวังอย่าให้มีการทุจริตเกิดขึ้นในกระบวนการของ ปรส.
5.ไม่ขัดข้องในการที่ ปรส. จะสร้างกำลังซื้อในการประมูล โดยเปิดโอกาสให้กว้าง มีผู้ประมูลทั้งไทยและต่างชาติ ทั้งนี้ เพื่อจะให้ได้ราคาดีที่สุด และนำเงินคืนแก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ มากที่สุด
6.ไม่ขัดข้องกับการที่คณะกรรมการ ปรส. ห้ามลูกหนี้เข้าประมูลหนี้ของตนเอง ไม่เช่นนั้นจะเป็นการส่งสัญญาณ ให้ผู้ประกอบกิจการไทยทั้งหมด ซึ่งเป็นลูกหนี้อยู่ในระบบการเงินของประเทศว่า รัฐบาลส่งเสริมวัฒนธรรมให้เลิกชำระหนี้ ล้มบนฟูกได้ อันจะนำไปสู่ความเสียหายใหญ่หลวงที่สุดต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจของประเทศ
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้วางมาตรการตรวจสอบติดตามการดำเนินงานตามกฎหมายของ ปรส. โดยแต่งตั้ง นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ จากสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้แทนกระทรวงการคลัง เข้าไปเป็นกรรมการ ตามกฎหมาย ปรส. แทนที่จะตั้งบุคคลภายในกระทรวงการคลังเอง เพื่อที่จะให้ผู้แทนกระทรวงการคลังมีส่วนช่วยคณะกรรมการ ปรส.ในการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย พร้อมทั้งได้ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นผู้ตรวจสอบบัญชีของ ปรส. และยังได้จัดจ้างผู้ประเมินอิสระเข้ามาตรวจสอบและประเมินการทำงานของ ปรส. จำนวน 2 ครั้ง
ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังได้ปรับปรุงกฎหมาย เพื่อส่งเสริมให้มีการแก้ไขปัญหากรณีพิพาททางด้านการเงินอย่างรวดเร็ว และทรงไว้ซึ่งความเป็นธรรม
ดูแลไม่ให้เสียประโยชน์แก่ต่างชาติที่เกี่ยวข้อง1.ในการดูแลกิจการของสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการจำนวน 56 แห่งนั้น เดิม ปรส. ภายใต้คณะกรรมการ ปรส.ชุดแรก ได้พิจารณาข้อเสนอของธนาคารโลก ในการที่จะว่าจ้างบริษัทร่วมทุนต่างชาติเข้ามาเป็นผู้จัดการพิเศษ ทำหน้าที่บริหารงานสถาบันการเงินเสมือนผู้จัดการบริษัท เป็นผู้ควบคุมการดำเนินงานและการชำระบัญชีของสถาบันการเงินที่ถูกสั่งปิดกิจการ แต่ปรากฏว่าบริษัทที่ปรึกษาเหล่านี้ได้เรียกร้องค่าตอบแทนจากคณะกรรมการ ปรส. ชุดต่อมา เป็นจำนวนเงินสูงถึง 1,600 ล้านบาท และยังปฏิเสธไม่รับผิดชอบตามกฎหมายทั่วไปหากมีความเสียหายเกิดขึ้นในการปฏิบัติหน้าที่
ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงได้ขอให้ประธานกรรมการตามมาตรา 30 ของ พ.ร.บ.สถาบันการเงิน ซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงการคลังไปใช้บริษัทของไทย คือ บริษัท สินบัวหลวง คอนซัล-แตนซี่ จำกัด เข้ามาดำเนินการแทน โดยบริษัทไทยดังกล่าวจะขอคิดค่าให้บริการตามต้นทุนที่แท้จริงบวกกำไรปกติ ซึ่งจะรวมเป็นยอดเงินประมาณ 200 กว่าล้านบาท ผลของการดำเนินการตามคำแนะนำนี้ นอกจากจะส่งเสริมให้บริษัทไทยเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการแทนบริษัทต่างชาติแล้ว ยังได้ประหยัดเงินให้กับ ปรส. ไปเป็นจำนวน 1,300 กว่าล้านบาท
2.กรณีที่ประธานกรรมการตามมาตรา 30 ของบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ ได้เข้ามาขอคำแนะนำเกี่ยวกับการที่ บริษัทเลแมน บราเธอร์ส ลูกหนี้ของบริษัทเงินทุนเอกธนกิจได้ใช้สิทธิในการหักกลบลบหนี้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้ให้คำแนะนำว่า สมควรที่จะดำเนินคดีกับบริษัทเลแมน บราเธอร์ส ในสหรัฐอเมริกา และในส่วนของลูกหนี้ต่างประเทศ หรือในประเทศรายอื่นที่มีพฤติกรรมเช่นเดียวกับบริษัทเลแมน บราเธอร์ส ก็ควรดำเนินการฟ้องร้องเรียกเงินคืนทุกกรณี
ต่อมา ปรากฏว่าไม่มีสำนักงานกฎหมายที่มีชื่อเสียงใดๆ ในรัฐนิวยอร์ก ยินยอมจะว่าความให้ เนื่องจาก บริษัทเลแมน บราเธอร์ส เป็นกิจการยักษ์ใหญ่ 1 ใน 5 ในวงการวาณิชธนกิจของประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ผลจากความพยายามของกระทรวงการคลัง ที่ช่วยหาสำนักงานกฎหมายขนาดเล็กในรัฐนิวยอร์กมาว่าความให้ได้ ทำให้บริษัทเงินทุนเอกธนกิจ สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีในรัฐนิวยอร์กได้ ซึ่งหากชนะคดีในท้ายที่สุดก็จะทำให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ และเจ้าหนี้อื่นได้รับเงินคืนเพิ่มขึ้น
3.เคยมีผู้เข้าร่วมประมูลที่เป็นต่างชาติ คือ บริษัทจีอี แคปปิตอล ขออนุญาตมาที่กระทรวงการคลัง จะออกตราสารหนี้สินในประเทศเป็นเงินบาท เพื่อลดภาระที่ต้องนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาหากชนะการประมูล แต่เพื่อสนับสนุนการสร้างทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลังจึงไม่อนุญาต ซึ่งหากอนุญาตก็เท่ากับว่าบริษัทต่างชาติก็ไม่ต้องนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในประเทศในการประกอบกิจการ ทั้งๆ ที่ควรจะนำเงินตราต่างประเทศเข้ามา เพราะเป็นผู้ประกอบการต่างชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย ก็จะไม่ได้รับประโยชน์ในด้านการเสริมสร้างทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยในขณะนั้น
ผลการดำเนินการของ ปรส. และ บบส.กระบวนการของ ปรส. ที่คาดว่าในท้ายที่สุดกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จะได้รับชำระคืนประมาณร้อยละ 39 ของเงินต้นคงค้างหนี้ โดยผู้ที่ชนะการประมูลสินทรัพย์จาก ปรส. เป็นผู้ลงทุนไทยร้อยละ 55.57 ของยอดสินทรัพย์ที่นำมาประมูล เป็นต่างชาติอีกร้อยละ 44.43 ทั้งนี้ บบส. ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ เป็นผู้ประมูลชนะรายใหญ่ที่สุด สามารถซื้อสินทรัพย์จาก ปรส. ไปจำนวน 197,047 ล้านบาท หรือร้อยละ 29.08% ของสินทรัพย์ที่ ปรส. จำหน่ายได้ทั้งหมด
