อุณหภูมิ ทาง การเมือง จาก เรื่อง "ที่มา" ของ "นายกฯ" ประณีต ลึกซึ้ง อ่อนไหว
คอลัมน์ วิภาคแห่งวิพากษ์มีความแตกต่างกันหรือไม่ระหว่างสถานการณ์ทางสังคมเมื่อเดือนมีนาคม 2523 กับ สถานการณ์ในเดือนมีนาคม 2550
แตกต่างกันอย่างแน่นอน
อย่างน้อยปฏิกิริยาอันเกิดแต่ "ข้อเสนอ" จากบางส่วนในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ว่า นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง
ก็เป็นปฏิกิริยาอันเป็นเงาสะท้อนของความแตกต่างอย่างเด่นชัดยิ่ง
สถานการณ์เมื่อเดือนมีนาคม 2523 สภาผู้แทนราษฎรยินยอมให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่เพียงเพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 เปิดช่องให้
หากแต่กระแสในทางสังคมก็ไม่ได้มีปฏิกิริยาต่อต้านอย่างแข็งขันอีกด้วย
ตรงกันข้าม เมื่อเรื่องแบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2535 แม้ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 จะเปิดหนทางให้อย่างเต็มที่
แต่ปฏิกิริยาทางสังคมกลับไม่ยินยอมให้เหมือนกับเมื่อเดือนมีนาคม 2523
บทเรียนที่แลกมาด้วย "เลือด" จากสถานการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะปล่อยให้ผ่านเลยไปอย่างไร้ประโยชน์
ในทาง "ธรรมชาติ" เมื่อฤดูกาลเปลี่ยนองค์ประกอบอันเป็นรายละเอียดของสถานการณ์ก็ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
จาก "ฤดูหนาว" มาเป็น "ฤดูร้อน" เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเด่นชัดยิ่ง
ระยะที่อยู่ในความหนาวเหน็บ เสื้อผ้าอาภรณ์อาจจำเป็นต้องหนาและมีมากตัว แต่ระยะที่เข้าสู่ความร้อนรุ่ม เสื้อผ้าอาภรณ์อาจจำเป็นต้องบางเบาและไม่ต้องมีมากตัว
ยิ่งเมื่อเข้าสู่ "ฤดูฝน" ยิ่งจำเป็นต้องตระเตรียมเพื่อรับกับองค์ประกอบอย่างใหม่
ใครก็ตามที่ดำรงชีวิตอย่างไม่สนใจต่อสภาวะการแปรเปลี่ยนของฤดูกาลอันเป็นเรื่องทางธรรมชาติ ยากอย่างยิ่งที่จะดำเนินไปได้อย่างมีความสุข
ในทาง "ธรรมชาติ" เป็นเช่นนี้ ในทาง "สังคม" ก็เช่นเดียวกัน
สังคมไทยเปลี่ยนผ่านจุดยุคเมื่อเดือนมีนาคม 2523 มาอย่างยาวนาน ความฝันที่จะมีคนนอกเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างชนิดลอยมาเหนือเมฆแบบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จึงกลายเป็นเรื่องผิดปกติ
ยิ่งเมื่อมาถึงเดือนมีนาคม 2550 ยิ่งกลายเป็นเรื่องผิดปกติ
ผิดปกติอย่างไรขอให้สัมผัสจากกระแสคัดค้านที่กระหึ่มจากทุกสารทิศก็คงจะรู้สึก
ข้อเสนอว่าด้วยนายกรัฐมนตรีมาจาก "คนนอก" อาจได้รับการเห็นด้วยจาก พล.อ.สุจินดา คราประยูร อดีตนายกรัฐมนตรี
นี่ย่อมมิได้เป็นเรื่องแปลกและเหนือความคาดหมาย
แม้ว่าในเดือนมิถุนายน 2535 นายอานันท์ ปันยารชุน ก็เป็นนายกรัฐมนตรี "คนนอก" ที่มิได้มาจากการเลือกตั้ง
แต่ก็ต้องยอมรับว่านั่นอยู่ในสถานการณ์ "พิเศษ" ทางการเมือง
หากเป็นสถานการณ์ที่ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง หากเป็นสถานการณ์ที่แต่ละพรรคการเมืองเพิ่งไปเสนอตัวให้ประชาชนเลือก
เชื่อเถิดว่าโอกาสของ "คนนอก" มีเหลืออยู่น้อยเป็นอย่างยิ่ง
เพราะว่าประชาชนได้ผ่านสถานการณ์เมื่อเดือนมีนาคม 2523 มาแล้วและรู้ว่าเป็นอย่างไร
เพราะว่าประชาชนได้ผ่านสถานการณ์เมื่อเดือนมีนาคม 2535 มาแล้วและรู้ว่าเป็นอย่างไร
เพราะว่าประชาชนได้สัมผัสกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาแล้วและรู้ว่า "อำนาจ" ที่มีอยู่ในมือของตนนั้นมีความสำคัญและมีความหมายอย่างไรในทางการเมือง
ใครบังอาจท้าทาย "อำนาจ" นี้ของประชาชน ก็มีโอกาสถูกประชาชนให้ "บทเรียน" แน่นอน
ไม่ว่าจะเป็นการโยนหินถามทางอันเท่ากับเป็นการหยั่งอุณหภูมิทางการเมือง
แต่เสียงตอบรับที่ปรากฏก็เด่นชัดอย่างยิ่ง ว่าปรอทซึ่งสะท้อนถึงระดับความต้องการทางการเมืองในหมู่ประชาชนนั้นเป็นอย่างไร
ฤดูกาลได้เปลี่ยนไปแล้ว หากใครไม่ยอมเปลี่ยนตาม ก็ยากที่จะอยู่ได้อย่างมีสุข
http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01col01130350&day=2007/03/13§ionid=0116ฟังเพลง ปลอบโยนหัวใจตามลิงค์นี้
http://www.oknation.net/blog/roungkaw/2007/03/13/entry-2