รายละเอียดร่างคำร้อง ให้ คตส.เอาผิดนายกฯ และผู้เกี่ยวข้อง กรณีไอทีวี
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพมหานคร
๑๒ มีนาคม ๒๕๕๐
เรื่อง ขอให้ไต่สวนการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ของนายกรัฐมนตรีกับพวก เกี่ยวกับการทำโครงการโดยทุจริตที่ทำให้รัฐเสียหาย
เรียน คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ
สิ่งที่ส่งมาด้วย ๑.คำสัมภาษณ์ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐต่อกรณีไอทีวี
ข้าพเจ้าผู้มีนามข้างท้ายนี้ขอร่วมกันกล่าวหาและกล่าวโทษพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี,คุณหญิง ทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และนายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ดังจะกราบเรียนต่อไปนี้
ข้อ ๑. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๓๕ ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.)เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการและกระทรวงเจ้าสังกัดเพื่อจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์และดำเนินบริการส่งวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ และสปน. ได้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมดำเนินโครงการฯ ตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. ๒๕๓๕ แล้วตกลงทำสัญญาให้บริษัท สยามอินโฟเทนเมนท์ จำกัด ปัจจุบันจดทะเบียนแปรสภาพนิติบุคคลและเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เข้าร่วมงาน ตามสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ ฉบับลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๓๘ มีกำหนดอายุสัญญา ๓๐ ปี และต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเข้าร่วมงานฯ ข้อ ๑.๒ และ ข้อ ๖.๑ โดยแก้ไขเพิ่มเติมฉบับลงวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๓ โดยให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทสามารถถือหุ้นได้เกินร้อยละ ๑๐ ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และเลื่อนกำหนดการจ่ายค่าตอบแทนปีที่ ๓ จากวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๔๑ เป็นวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๔๓
ต่อมาบริษัทดังกล่าวได้ยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อขอแก้ไขเงื่อนในสัญญา อนุญาโตตุลาการได้ชี้ขาดให้เป็นคุณแก่บริษัทฯ ในการปรับผังรายการให้มีบันเทิงมากขึ้น และลดค่าผลตอบแทนที่ต้องจ่ายให้รัฐ เป็นผลทำให้บริษัทได้ดำเนินการปรับสัดส่วนผังรายการและการค้างชำระค่าผลตอบแทนให้แก่รัฐซึ่งมิได้เป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญาเข้าร่วมงานฯ
ในเวลาต่อมา สปน.เห็นว่าคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงส่งเรื่องดังกล่าวให้กับสำนักงานอัยการสูงสุดให้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๗ ซึ่งบริษัทฯ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดอีกครั้ง ปรากฏต่อมาว่าศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาเห็นพ้องด้วยกับศาลปกครองกลางเช่นกัน พิพากษายืนในการเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๙
สปน. จึงได้ดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยให้บริษัทฯปฏิบัติตามสัญญาเข้าร่วมงานฯ และชำระหนี้ที่ค้างชำระค่าผลตอบแทนที่ต้องจ่ายให้รัฐจำนวน ๒,๒๑๐ ล้านบาท และอาศัยเงื่อนไขในสัญญาเข้าร่วมงานฯในข้อ ๑๑ สปน.ได้คำนวณค่าปรับในอัตราร้อยละ ๑๐ (สิบ) ของค่าตอบแทนที่ สปน.จะได้รับในปีนั้นๆ โดยคิดเป็นรายวันจำนวน ๙๗,๗๖๐ ล้านบาท
สปน. จึงใช้สิทธิ์ในการแจ้งให้บริษัทปฏิบัติตามสัญญาและจ่ายเงินค้างชำระผลตอบแทนและค่าปรับดังกล่าวที่ต้องจ่ายให้กับ สปน. ภายใน ๔๕ วัน และทวงถามเป็นครั้งที่สองและให้เวลาอีก ๓๐ วัน บริษัทฯ ก็ยังไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาฯที่ได้กำหนดเอาไว้แต่ประการใด สปน.โดยมติคณะรัฐมนตรีจึงใช้สิทธิ์ตามเงื่อนไขในสัญญาเข้าร่วมงานข้อ ๑๓ บอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๔๙ เวลา ๒๔.๐๐ น.
ข้อ ๒.
จากการบอกเลิกสัญญาเป็นผลให้ในวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๐ เวลา ๒๔.๐๐ น. คลื่นวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟที่ใช้ในการถ่ายทอดต้องกลับคืนมาเป็นของรัฐ เพราะเป็นทรัพย์สมบัติของชาติมาแต่เดิม และบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จะต้องส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดซึ่งตกเป็นของรัฐตามสัญญาเข้าร่วมงานฯข้อ ๑๓ ในสภาพเรียบร้อย ตามสภาพของการใช้งานปกติและได้รับการบำรุงรักษาอย่างถูกวิธีปราศจากการชำรุดบกพร่อง และสามารถดำเนินการต่อไปได้ตามปกติ และจะต้องมีการตรวจสอบรับมอบทรัพย์สินให้เป็นไปโดยถูกต้องเพื่อประโยชน์ของชาติต่อไป ก่อนหน้านั้นได้ปรากฏข่าวว่านายกรัฐมนตรีได้รับปากและสั่งการให้รัฐบาลรับเอาพนักงานของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) มาเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของรัฐ ซึ่งมีการทักท้วงโดยทั่วไปว่าเป็นการ
ผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๔๒ เพราะเป็นเสมือนการล็อกสเป็กและเลือกปฏิบัติ มีพฤติกรรมมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่เฉพาะพนักงานและผู้ผลิตรายการของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)ให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐเท่านั้น
ในขณะเดียวกันได้ปรากฏว่าคำแถลงของรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติให้ สปน. เป็นผู้บริหารจัดการคลื่นวิทยุโทรทัศน์ที่กลับคืนมาเป็นของรัฐ โดยโครงการนี้จะใช้อาคารสำนักงานชินวัตร ซึ่งบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เช่าต่อไป และจะต้องรับเอาพนักงานของบริษัทดังกล่าวในอัตราเงินเดือนและค่าตอบแทนเดิม โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินจากงบกลางประมาณ ๑,๒๐๐ ล้านบาทเพื่อการดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งถูกทักท้วงจากประชาชนจำนวนมากว่าเป็นการกระทำที่ทุจริตและผิดกฎหมาย โดยปรากฏคำให้สัมภาษณ์ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อสาธารณชนและสื่อสารมวลชน (ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๑.)
เมื่อเกิดกระแสทักท้วง สำนักนายกรัฐมนตรีก็ได้ชี้แจงว่าจะไม่มีการจ่ายเงินจากงบกลาง แต่จะให้ อสมท. จ่ายเงินไปก่อนจำนวน ๔๐๐ ล้านบาท เพื่อเป็นค่าจ้างพนักงานบริษัทดังกล่าวทั้งหมด ซึ่งยังคงยืนยันในการล็อกสเป็กที่จะให้อภิสิทธิ์รับเอาพนักงานของบริษัทดังกล่าวเข้ามาเป็นภาระของรัฐดังเดิม เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบอันมีลักษณะใช้เล่ห์อุบาย ซึ่งประชาชนจำนวนมากก็ได้ทักท้วงอีกว่าเป็นการกระทำโดยทุจริตและผิดกฎหมายและไม่ได้เป็นไปตามที่ได้แถลงข่าวหลังจากที่ได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐
เมื่อถูกทักท้วงเช่นนั้น วันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๐ หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์) จึงได้แถลงว่าจำเป็นจะต้องปิดการถ่ายทอดโทรทัศน์ไอทีวีเป็นการชั่วคราว (ไม่ออกอากาศต่อเนื่อง) จะต้องย้ายอุปกรณ์ทั้งหมดออกจากอาคารชินวัตรเพื่อตัดตอนปัญหาที่จะก่อให้เกิดการเสียรูปคดีในอนาคต และให้พนักงานไอทีวีต้องขอค่าชดเชยและค่าเสียหายเอาจากบริษัทฯเอง ตลอดจนให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาในเรื่องการเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทฯต่อไป ในขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีก็ได้กล่าวขออภัยพนักงานบริษัทนั้นที่ไม่สามารถเปิดดำเนินการโทรทัศน์ให้ต่อเนื่องได้
โดยปรากฏต่อมาว่าคณะรัฐมนตรีได้ประชุมเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๐ ลงมติว่า
๑. รับทราบผลการดำเนินงานและปัญหาอุปสรรค ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ
๒. ให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์) รับไปประสานกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ดำเนินการเรื่องนี้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (คุณหญิงทิพาวดีฯ)หารือคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วยว่า หากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจะมอบหมายกรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้ดำเนินกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยูเอชเอฟ จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ก่อนดำเนินการต่อไป
วันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๐ สปน. ได้มีหนังสือยกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานฯกับ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) และสำนักนายกรัฐมนตรีได้ส่งคำปรึกษาไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าคลื่นวิทยุโทรทัศน์ที่รัฐรับกลับคืนมานั้นจะมอบให้กรมประชาสัมพันธ์เอาไปบริหารจัดการนั้นเป็นการ ขัดต่อมาตรา ๘๐ ตาม พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๓๕ หรือไม่?
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งเป็นกรรมการกฤษฎีกาได้ดำเนินการพิจารณาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน โดยที่ไม่ปรากฏว่ามีการเรียกประชุมตามระเบียบหรือไม่และไม่ปรากฎผลการประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าอย่างไร ก็ให้สัมภาษณ์ว่าสามารถกระทำได้ไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๓๕ แต่ก็ได้สงวนความคิดเห็นไว้โดยนัยสำคัญว่าถามมาข้อเดียวก็ตอบข้อเดียว ไม่เกี่ยวกับข้อสัญญาอื่น ๆ
ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเจตนาการตั้งคำถามที่ไม่หารือให้ครบรอบด้านในด้านกฎหมาย โดยในวันเดียวกัน ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ได้เดินทางไปยังสถานีโทรทัศน์ไอทีวี และได้พูดตกลงสมรู้ร่วมคิดกับพนักงานไอทีวีและผู้ผลิตรายการเดิมของบริษัทฯให้ดำเนินการออกอากาศหลังเที่ยงคืนวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๐ ต่อไป โดยเพียงแค่เปลี่ยนโลโก้สถานีจาก ITV เป็น TITV เท่านั้น อันเป็นการเจตนาฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
กระทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้แถลงข่าวถึงข้อควรระวังและการตัดตอนการออกอากาศมิให้เสียรูปคดีในการฟ้องร้องกับบริษัทฯ และอ้างว่านายกรัฐมนตรีเป็นผู้สั่งให้ออกอากาศต่อเนื่องตลอดจนแสดงความยินดีกับพนักงานไอทีวี
ในขณะเดียวกันนั้นพนักงานของบริษัทดังกล่าวก็ได้ฟ้องคณะรัฐมนตรีและสำนักนายกรัฐมนตรีต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๐ และขอคุ้มครองชั่วคราวให้เปิดถ่ายทอดโทรทัศน์ต่อไปได้ ปรากฏว่าศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ความคุ้มครองชั่วคราวในการออกอากาศต่อเนื่องโดยให้ สปน.เป็นผู้ดำเนินการเองหรือจ้างผู้อื่นต่อไป แต่มิได้กำหนดว่าให้ออกอากาศต่อเนื่องอย่างไรหรือให้อำนาจหรือให้ความคุ้มครองให้โครงการนี้ดำเนินการโดยผิดกฎหมายหรือโดยทุจริตแต่ประการใด
ข้อ ๓. ปรากฏว่าในวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๐ เวลาหลัง ๒๔.๐๐ น. สถานีโทรทัศน์ดังกล่าวยังคงเปิดถ่ายทอดเหมือนเดิมทุกประการ มีรายการข่าว มีรายการบันเทิง มีรายการโฆษณา และดำเนินการโดยพนักงานของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ในสถานที่อาคารชินวัตรเหมือนเดิมทุกประการ ซึ่งแตกต่างจากคำแถลงของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ปรากฏข่าวต่อมาว่ารัฐบาลโดยสำนักนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์บริหารจัดการโครงการนี้
กรมประชาสัมพันธ์ก็ได้บริหารจัดการคลื่นความถี่นี้โดยให้พนักงานบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ดำเนินการบริหารจัดการสถานีโทรทัศน์ดังกล่าวเหมือนเดิม และมีข่าวปรากฏในวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๐ ว่ากรมประชาสัมพันธ์ได้ว่าจ้างเหมาให้พนักงานบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ผลิตรายการในอัตราค่าจ้างประมาณเดือนละ ๖๐ ล้านบาท โดยมีพนักงานประมาณ ๑,๐๑๐ คน หรือเฉลี่ยเป็นค่าจ้างคนละประมาณ ๖๐,๐๐๐ บาทต่อเดือน และระบุว่าโครงการนี้จะมีรายได้เดือนละ ๑๓๐ ล้นบาท หรือปีละ ๑,๕๖๐ ล้านบาท
โดยวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๐ ได้ปรากฏคำสัมภาษณ์ของปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีว่า จะ มีการทำสัญญาว่าจ้างกันต่อไป ซึ่งหมายความว่าใน
ขณะดำเนินโครงการออกอากาศโดยมีการโฆษณาอยู่ในขณะนี้ก็ไม่ได้มีการทำสัญญาว่าจ้างใด ๆ ต่อกัน ทั้งกับพนักงานและผู้ผลิตรายการ อันเป็นการเจตนาจงใจปล่อยให้คลื่นความถี่ยูเอชเอฟถูกละเมิดนำไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ทั้งในแง่โฆษณาและรายได้ให้กับกลุ่มบุคคลที่ยังไม่ได้มีสัญญาใดๆ กับหน่วยงานของรัฐ นอกจากนี้การกระทำดังกล่าวยังทำให้หน่วยงานของรัฐหมิ่นเหม่ที่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายและจำนวนอุปกรณ์ที่ยังไม่ได้รับมอบ อีกทั้งยังต้องเป็นผู้รับผิดชอบและค่าใช้จ่ายในการเช่าอุปกรณ์และสถานที่ของเอกชนโดยมิชอบอีกด้วย โดยปัจจุบันก็ยังมีการออกอากาศในลักษณะดังกล่าวอยู่อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังมีเจตนาอำพรางโดยการสอบถามสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อหาความชอบธรรมให้กรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้ดูแลการบริหารคลื่นความถี่นี้ ทั้งๆ ที่ในทางปฏิบัติ
กลับให้กลุ่มบุคคลที่ไม่ได้มีสัญญาใดๆ กับหน่วยงานของรัฐและไม่ได้มีใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ได้บริหารและจัดการคลื่นดังกล่าวทั้งหมดอย่างผิดกฎหมาย อันเป็นการเจตนานำคลื่นความถี่ยูเอชเอฟซึ่งเป็นทรัพยากรของคนทั้งประเทศไปเอื้อประโยชน์ทั้งในรูปของรายได้จากการโฆษณาให้กับผู้ผลิตรายการเดิมที่เคยผลิตให้บริษัทไอทีวีและรายได้สำหรับมาจ่ายเงินเดือนให้กับเฉพาะพนักงานของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) อีกด้วย
การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ปฏิบัติตามต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ ส่วนที่ ๒ การซื้อการจ้าง ข้อ ๒๗, ๓๔, ๑๓๐ มีการกระทำที่เจตนาส่อไปในทางทุจริตและทำเป็นเหตุให้ทางราชการเสียหาย อีกทั้งยังปรากฏว่ายังมีพฤติกรรมที่เจตนาที่มิต้องการให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยเป็นการกระทำที่ไตร่ตรองเอาไว้ก่อนด้วยเจตนาทั้งในรูปแบบการแถลงข่าวทั้งในที่สาธารณะและพฤติกรรมที่ปรากฏ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ และมีการปฏิบัติที่ฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี พ.ศ. ๒๕๓๕ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ อีกด้วย ข้อ ๔. การดำเนินโครงการสถานีโทรทัศน์ดังกล่าวนี้มีชื่อว่า TITV เป็นการดำเนินการโดยบุคคลซึ่งมีตำแหน่งดังกล่าวข้างต้น ร่วมกันและดำเนินการในลักษณะที่ทุจริต คือแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ทำให้รัฐเสียหาย และผิดกฎหมายหลายประการ กล่าวคือ
๔.๑ เมื่อสำนักนายกรัฐมนตรีบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานฯ กับบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) แล้ว จะต้องรับเอาคลื่นวิทยุโทรทัศน์ที่ใช้ในการถ่ายทอดไอทีวีและทรัพย์สินที่ตกเป็นของรัฐตามสัญญาสัมปทานกลับคืนมาเป็นของรัฐ ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบความมีอยู่ ความถูกต้องแท้จริง ตลอดจนความชำรุดบกพร่องทั้งหลายเพื่อบันทึกทำหลักฐานลงเป็นบัญชีทรัพย์สินของรัฐ ซึ่งจะตกเป็นสมบัติของรัฐและต้องบริหารจัดการต่อไปตามกฎหมายบ้านเมือง รวมทั้งจะต้องทวงถามเอาเงินค่าสัมปทานที่ค้างอยู่จำนวน ๒,๒๑๐ ล้านบาท และค่าปรับอีกประมาณ ๙๗,๗๖๐ ล้านบาท
แต่ปรากฏว่าคณะบุคคลผู้มีตำแหน่งดังกล่าวละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
๔.๒ หลังจากเลิกสัญญาในวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๐ เวลา ๒๔.๐๐ น. แล้ว หรือไม่ว่าในเวลาไหน ๆ สำนักนายกรัฐมนตรีหรือกรมประชาสัมพันธ์ไม่มีสิทธิ์และไม่มีอำนาจที่จะใช้สอยอาคารสำนักงานของเอกชน แต่คณะบุคคลผู้มีตำแหน่งดังกล่าวกลับละเมิดใช้อาคารชินวัตรเป็นที่ดำเนินโครงการนี้โดยที่ไม่ปรากฏว่ามีการทำสัญญาเช่าหรือข้อตกลงอย่างอื่น อันเป็นเหตุทำให้รัฐเสี่ยงภัยและเสี่ยงต่อความเสียหาย
๔.๓ หลังจากรับเอาคลื่นโทรทัศน์มาดำเนินการแล้ว ไม่ปรากฏว่าได้มีการรับเอาทรัพย์สินกลับมาเป็นของรัฐแต่ประการใด แต่คณะบุคคลดังกล่าวได้ให้พนักงานบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ใช้ทรัพย์สินของรัฐในการดำเนินโครงการต่อไป อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนและทำให้รัฐเสียหาย เพราะในขณะนั้นพนักงานบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ยังไม่ได้ทำสัญญาใด ๆ กับรัฐ ไม่มีสิทธิ์ที่จะใช้สอยทรัพย์สินของรัฐในการดำเนินโครงการนี้
๔.๔ ตั้งแต่เวลา ๐๐.๐๑ น. ของวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๐ ต่อเนื่องตลอดมา โครงการนี้ยังคงถ่ายทอดโทรทัศน์โดยมีรายการข่าว รายการบันเทิง ที่รับรายการมาจากผู้ผลิตรายการและมีรายการโฆษณา โดยที่ไม่ปรากฏว่ากรมประชาสัมพันธ์ได้เข้าทำสัญญาว่าจ้างผลิตรายการหรือตกลงรับจ้างโฆษณา เท่ากับว่ารับเอาทรัพย์สินของผู้อื่นมาดำเนินการโดยที่ไม่ทำสัญญาว่าจ้างหรือซื้อขาย และปล่อยให้มีการโฆษณาโดยที่รายได้ไม่ตกเป็นของรัฐ หากแต่ตกไปเป็นของใครก็ไม่มีความชัดเจน จึงเป็นการกระทำโดยทุจริตและผิดกฎหมาย
๔.๕ ที่มีการแถลงข่าวว่ากรมประชาสัมพันธ์ว่าจ้างเหมาให้พนักงานบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ในอัตราค่าจ้างเดือนละประมาณ ๖๐ ล้านบาท หรือเฉลี่ยคนละประมาณ ๖๐,๐๐๐ บาทต่อเดือนนั้นเป็นการล็อกสเปก เป็นการให้อภิสิทธิ์เฉพาะพนักงานไอทีวี อันเป็นการกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เป็นการสร้างแบบอย่างที่ผิดในบ้านเมือง ซึ่งจะเป็นแบบอย่างให้ส่วนราชการทั้งหลายทำผิด ทำให้รัฐเสียหาย และทุจริตต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด
๔.๖ ขณะที่มีการเริ่มโครงการนี้ได้มีการปล่อยให้ลูกจ้างเอกชนเข้ามาดำเนินโครงการบริหารจัดการสถานีโทรทัศน์โดยไม่มีอำนาจและโดยผิดกฎหมาย และโดยที่ไม่มีใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์
๔.๗ การว่าจ้างลูกจ้างบริษัทดังกล่าวเป็นการกระทำโดยผิดกฎหมายเพราะไม่มีการเปิดให้มีการประกวดราคาอย่างโปร่งใส เป็นการกีดกันผู้อื่นไม่ให้มีโอกาสเข้ารับจ้างหรือเป็นลูกจ้าง ทั้งอัตราค่าจ้างก็สูงเกินส่วน อย่างน้อยที่สุดก็เกินกว่าอัตราที่กรมประชาสัมพันธ์จ่ายเป็นเงินเดือนหรือค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างของกรมประชาสัมพันธ์เอง เป็นการให้อภิสิทธิ์เหนือกว่าข้าราชการและลูกจ้างของกรมประชาสัมพันธ์ ตลอดจนส่วนราชการอื่น
๔.๘ การดำเนินโครงการดังกล่าวโดยการว่าจ้างปีละประมาณ ๑,๕๖๐ ล้านบาท เป็นการดำเนินโครงการเกินกว่า ๑,๐๐๐ ล้านบาท ร่วมกับเอกชน จึงอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน พ.ศ. ๒๕๓๐ ซึ่งต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติ แต่กลับละเว้นฝ่าฝืนและย่ำยีกฎหมายบ้านเมืองโดยไม่นำพาต่อความรู้สึกของประชาชนและข้าราชการทั้งประเทศ
การกระทำผิดต่อกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เกี่ยวข้องนอกจากจะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ต่อการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว ยังมีพฤติกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการกระทำดังกล่าวอีกด้วย
พวกข้าพเจ้านอกจากจะอยู่ในฐานะประชาชนผู้เสียภาษีอากรที่ต้องรักษาผลประโยชน์ของชาติแล้ว พวกข้าพเจ้ายังเป็นผู้บริโภคข่าวสารจากสถานีโทรทัศน์คลื่นความถี่ยูเอชเอฟอีกด้วย พวกข้าพเจ้าจึงอยู่ในฐานะเป็นผู้ที่ได้รับเสียหายจากการบริโภคข้อมูลข่าวสารจากกลุ่มบุคคลที่กระทำผิดต่อกฎหมายที่ร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ก่อให้เกิดการบิดเบือนข้อมูล โฆษณาชวนเชื่อ และไม่นำเสนอข้อเท็จจริงในกรณีการกระทำผิดกฎหมายและละเมิดคลื่นความถี่ดังกล่าวอีกด้วย
การดำเนินโครงการดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินโครงการโดยทุจริต โดยผิดกฎหมาย เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนและทำให้รัฐเสียหายอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ คตส. ที่จะตรวจสอบไต่สวนการกระทำของบุคคลผู้มีตำแหน่งดังกล่าวข้างต้น และหากพาดพิงถึงผู้ใดที่จะต้องรับผิด จึงขอได้โปรดดำเนินการไต่สวนเพื่อพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน และเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างในการย่ำยีกฎหมายบ้านเมืองอีกต่อไป
ขอแสดงความนับถือ
( นายการุณ ใสงาม )
อดีตสมาชิกวุฒิสภา
สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
( นายวีระ สมความคิด )
ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน
( ทันตแพทย์ศุภผล เอี่ยมเมธาวี )
เลขาธิการ สมัชชาประชาชนภาคอีสาน 19 จังหวัด
http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9500000028470