ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
18-04-2024, 17:41
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สภากาแฟ  |  “New Emerging Asia : The Future of the Region” 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
“New Emerging Asia : The Future of the Region”  (อ่าน 870 ครั้ง)
taworn09220
ขาประจำ
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 302


« เมื่อ: 09-03-2007, 10:19 »

รัฐมนตรีอภิสิทธิ์บรรยายเรื่อง “New Emerging Asia : The Future of the Region”
หรือ “เอเชียใหม่ที่จะเกิดขึ้น : อนาคตของภูมิภาค”
ในการประชุม World Economic Forum ประเทศสิงคโปร์ วันพุธที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๒
อนาคตภูมิภาคเอเชียขึ้นอยู่กับใคร
“ผมอยากถือโอกาสนี้มองอนาคตของภูมิภาคออกไปในระยะยาว  เนื่องจากตลอดเวลาสอง สามวันที่ผ่านมา  เราได้ถกเถียงกันมาก  ในประเด็นของการปรับโครงสร้างและการปฏิรูป  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเงิน  ซึ่งแน่นอนที่สุดจะเป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจนว่าภูมิภาคของเราจะปรับเปลี่ยนไปในรูปแบบใด  หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้
ในประเด็นแรก  การที่เราจะมองว่าภูมิภาคเอเชียของเราจะออกมาเป็นแบบใดนั้น  ปัจจัยสำคัญที่จะมีส่วนกำหนดอนาคต  นอกจากปัจจัยหลักคือสถานการณ์วิกฤตปัจจุบันแล้ว  ยังมีสภาพการณ์ก่อนวิกฤต  และแน่นอนที่สุดการตัดสินใจและมาตรการของเราหลังจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ในเวทีการประชุมต่าง ๆ อาทิการประชุมสุดยอดทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออก และการประชุมเศรษฐกิจโลก (WEF) คำที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายมากที่สุดคือ โลกาภิวัตน์  และคำนี้ยังคงมีความสำคัญ  ในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคและในโลก  โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจและการเงิน
อย่างไรก็ดี  ในขณะที่เราพูดถึงการปฏิรูป หรือการก้าวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์  เราควรมองกลับไปถึงการกำเนิดของภูมิภาคเอเชียในรูปแบบใหม่ซึ่งไม่เหมือนใครในโลก  ซึ่งโดยมาตรฐานของระบบเศรษฐกิจในประเทศที่กำลังพัฒนา  ไม่ว่าจะเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศในยุโรปตะวันออก  เปรียบเทียบกับอาฟริกา หรือ ลาตินอเมริกา  เราจะเห็นว่าประเทศในเอเชียตะวันออกส่วนใหญ่  มีระบบเศรษฐกิจที่มีลักษณะเปิด และยอมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการผลักดันการเจริญเติบโต  ซึ่งตอบรับกับแนวคิดใหม่
ดังนั้น  ในขณะนี้เรากำลังมุ่งสู่การปฏิรูปอย่างรวดเร็ว  ผมอยากเรียนว่าธรรมชาติของระบบเศรษฐกิจในเรื่องของการเป็นระบบเปิดหรือความมีวินัยทางการเงินการคลัง  ยังคงเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของเอเชียสู่อนาคต  แต่แทนที่จะขยายความในประเด็นของเศรษฐกิจและการเงิน  ผมอยากจะมองต่อไปสู่ประเด็นที่สำคัญที่มักถูกมองข้ามไปอีกสองประการ คือ
ประการแรก  กระแสโลกาภิวัตน์และการเปิดเสรีในด้านต่าง ๆ จะมีผลกระทบที่พลิกผันทั้งในทางการเมืองและทางสังคม  ในด้านการเมืองการปกครองนั้น  เมื่อเราเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเสรีแล้ว  สิ่งที่จำเป็นที่สุดต่อความยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจเสรีนี้คือ การที่ประชาชนสามารถมีสิทธิ์ที่จะเลือก  ทั้งในฐานะประชาชนและในฐานะผู้บริโภค
เพราะว่าประชาชนก็คือผู้บริโภค  และเขาเหล่านี้ก็ต้องการที่จะใช้สิทธิ์ในการตัดสินใจเลือกทางเลือกต่าง ๆ เพราะว่าประชาชนก็คือผู้ใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง  เขาเหล่านี้จึงต้องการที่จะใช้สิทธิทางการเมือง  เพราะว่า ประชาชนก็คือพลเมืองซึ่งต้องการที่จะเลือกและตัดสินวิถีชีวิต และอนาคตของตนเอง
ดังนั้น  ผมจึงเชื่อว่าแนวคิดเรื่องสิทธิทางการเมืองและเรื่องสิทธิมนุษยชน  จะมีบทบาทที่สำคัญมากในการพัฒนาเอเชียในอนาคต  ยิ่งไปกว่านั้น  ผมมองว่าความคิด และความคาดหวังของประชาชน  จะถูกยกให้สูงขึ้นไปในอีกระดับหนึ่ง  ซึ่งจะไม่จำกัดอยู่เพียงการได้ใช้สิทธิทางการเมือง  หรือการมีเสรีภาพจากอำนาจรัฐ  แต่จะครอบคลุมไปถึงการ เรียกร้องทั้งระดับและมาตรฐานของสวัสดิการสังคมที่เขาควรจะได้รับ
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราเล็งเห็นถึงความสำคัญ  ของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  ทั้งในด้านการศึกษาและการสาธารณสุข  ซึ่งนอกจากจะเป็นผลดีในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้ว    ยังเป็นสิ่งที่ประชาชนคาดหวังว่าเขาควรจะได้รับการศึกษาที่ดี และมีสุขภาพที่ดี
ดังนั้นในทรรศนะของผม  ประชาธิปไตยเป็นแนวโน้มที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้  ประชาธิปไตยเป็นแนวโน้มเดียวที่สอดคล้องกับ กระแสโลกาภิวัตน์และการเปิดเสรี  นอกจากนี้  แรงกดดันทางสังคม และเสียงเรียกร้องทางสังคมในประเด็น เช่น ความเท่าเทียมกันในสังคม  ซึ่งเห็นได้ชัดว่าระบบเศรษฐกิจเสรี  และกลไกตลาดไม่สามารถรับรองได้เสมอไป    และผมไม่เชื่อว่า  ระบบการดำเนินงานและมาตรการของรัฐบาลแบบเดิม ๆ คือ การเรียกเก็บภาษีและแจกจ่ายกลับสู่ระบบ โดยวิธีการงบประมาณ  จะสามารถตอบปัญหาความเท่าเทียมกันในสังคมได้ในอนาคต
สิ่งที่เราจะได้เห็นคือการปฏิรูปโครงสร้างและระบบ  ซึ่งจะต้องตอบรับกับความท้าทายทางการเมืองและสังคมเหล่านี้  และแน่นอนที่การปฏิรูปเหล่านี้จะท้าทายการดำเนินงาน หรือสัมพันธภาพของระบบแบบเดิม  ซึ่งเราคงจะได้เห็นการต่อต้านจากเสียงบางส่วน
ประการที่สอง  ความหลากหลายของเอเชียในปัจจุบัน  ทำให้ผมเชื่อว่า  เราจะไม่เห็นว่ามีมาตรฐานหนึ่งมาตรฐานใดในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้  และเราคงสามารถรับประกันได้ว่าในการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ จะต้องมีความขลุกขลักบ้าง  ซึ่งความสามารถในการบริหารความเปลี่ยนแปลงจะเป็นปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จ
ในขณะที่ผมไม่สามารถรับประกันความราบรื่นของการเปลี่ยนแปลงได้  แต่ผมมั่นใจในผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลง  และมั่นใจว่าเวลาจะเป็นใจให้เรา  ประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมเพิ่มขึ้นจะเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียแห่งนี้
เอเชียสามารถที่จะเสริมสร้างจุดแข็งต่าง ๆ ที่เรามีมาก่อนวิกฤต  ความทุ่มเทต่องานจะนำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  อัตราการออมที่สูงจะนำไปสู่ความมั่นคง  ความอดทนจะนำไปสู่การหาข้อยุติทางการเมือง  และการมีสถาบันครอบครัวจะนำเราไปสู่ระบบสวัสดิการสังคม  ที่เราสามารถประคับประคองได้ 
แม้ว่าทุกประเทศจะต้องเผชิญกับโจทย์หลักที่คล้ายกัน  แต่ผมเห็นว่าความหลากหลายก็ยังจะคงมีอยู่  ทั้งในเรื่องของ  ภาษา  ศาสนา และวัฒนธรรม  และเราอาจจะเห็นความแตกต่างอีกเรื่องหนึ่งในภูมิภาค  แต่มักไม่มีการหยิบยกขึ้นมาคือ  ความเป็นท้องถิ่น
ซึ่งผมถือว่าเป็นปฏิกิริยาธรรมดาของบุคคล  หรือของสังคมที่ต้องการอนุรักษ์ความเป็นตัวของตัวเองเพื่อสู้กับคลื่นลมของกระแสโลกาภิวัตน์
ผมคิดว่าการปฏิรูป  และการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้  จะส่งผลกระทบอย่างมาก  ต่อรูปแบบของความร่วมมือในระดับภูมิภาคที่จะเกิดขึ้น  ความร่วมมือในรูปแบบใหม่นี้จะมีลักษณะสำคัญ  คือ มีการพบปะแลกเปลี่ยนระหว่างกันมากขึ้น  และมีความเข้าใจในความแตกต่างของกันและกันมากขึ้น  ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การแสวงหาจุดร่วมระหว่างกันบนความแตกต่าง
ผมอยากจะอ้างถึงคำกล่าวของ ฯพณฯนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย  ในพิธีเปิดการประชุมครั้งนี้เกี่ยวกับเรื่องการลบเลือน  หรือการจางหายไปของเส้นแบ่งระหว่างภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันออกเฉียงใต้  ซึ่งผมเล็งเห็นว่าความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
สิ่งสุดท้ายที่ผมอยากฝากไว้คือ  เวลาเราพูดกันในเวทีลักษณะนี้ในเรื่องของอนาคต  ผมไม่คิดว่าทุกอย่างได้ถูกกำหนดไว้แล้ว  แต่ผมเชื่อว่า  ทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวเราเอง  ขึ้นอยู่กับคนเอเชีย  ขึ้นอยู่กับเพื่อนของเราที่ได้นั่งอยู่ในห้องนี้  ที่จะร่วมกันต่อสู้ปัญหา  และร่วมกันเผชิญกับความท้าทายต่าง  ๆในอนาคต”
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
    กระโดดไป: