ทหารพรานปะทะเดือนอาร์เคเค เด็ดหัวได้ 8 ศพ
ขณะกำลังฝึกรบที่ฐานชั่วคราวบนเทือกเขาตะเว จ.นราธิวาส ยึดเอ็ม 16 อุปกรณ์สนามจำนวนมาก ม็อบสตรี-เด็ก ที่ยะลาปิดถนนกดดันปล่อยผู้ต้องสงสัย อุ้มเด็ก 1-2 เดือน ร่วมขบวนม็อบหวังต่อรองสร้างเงื่อนไขทหารพรานหญิงเข้าสลายเรียบร้อย
เหตุยิงปะทะระหว่างทหารพรานกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เปิดเผยเมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 2 มีนาคม ร.ต.ต.ศรเพชร ตันติอมรชัยกุล ร้อยเวร สภ.อ.ระแงะ จ.นราธิวาส รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ทหารพราน ชุดเฉพาะกิจที่ 4509 ว่ามีเหตุปะทะกับกลุ่มโจรติดอาวุธอาร์เคเค บนเทือกเขาตะเว บริเวณหลังหมู่บ้านกูตง หมู่ 3 ต.บองอ อ.ระแงะ เบื้องต้นมีกลุ่มก่อความไม่สงบเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 8 คน จึงรายงานให้ พ.ต.อ.มาโนช อนันต์ฤทธิกุล ผกก.สภ.อ.ระแงะ ทราบ พร้อมประสานไปยังเจ้าหน้าที่ทหารสังกัด ฉก.34 อ.ระแงะ ระดมกำลังตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครองกว่า 200 นาย เข้าเสริมกำลังทันที
จากนั้นจึงแบ่งกำลังเข้าเคลียร์พื้นที่ซึ่งใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง และไม่อนุญาตให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องร่วมเดินทางเข้าไปด้วย ทั้งนี้ต้องเดินเท้าขึ้นเทือกเขาระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร จากการตรวจสอบพบศพผู้เสียชีวิตนอนจมกองเลือดระเกะระกะอยู่ตามพุ่มไม้ ต้นยางพารา และตามพื้น รวม 8 คน ในที่เกิดเหตุพบรอยเลือดกระจายทั่ว และหยดเป็นทางเข้าไปในป่าลึก เจ้าหน้าที่เชื่อว่าน่าจะกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ได้รับบาดเจ็บและหลบหนีไปได้ส่วนหนึ่ง จากนั้นจึงลำเลียงศพทางเฮลิคอปเตอร์ลงมายังสนามโรงเรียนชุมชนสหพัฒนา ต.บองอ อ.ระแงะ เพื่อส่งไปชันสูตรพลิกศพที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เมือง จ.นราธิวาส เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีกลุ่มผู้หญิงและเด็กเริ่มก่อตัวเพื่อประท้วงเจ้าหน้าที่
สอบสวนทราบว่า ก่อนเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ทหารพราน สังกัด 4509 จำนวน 1 ชุดปฏิบัติการรวม 12 นาย สืบทราบว่าบนเทือกเขาดังกล่าวมีฐานปฏิบัติการของกลุ่มก่อความไม่สงบที่ใช้ฝึกอาวุธเพื่อเตรียมลอบโจมตีเจ้าหน้าที่ครั้งใหญ่อีกครั้ง จึงส่งกำลังทหารพรานชุดดังกล่าวเข้าพิสูจน์ จนกระทั่งพบกองกำลังอาร์เคเคประมาณ 15-17 นาย พร้อมอาวุธปืนยาวครบมือ กำลังซ้อมแผนการรบ และการใช้อาวุธแบบประชิดตัว
เจ้าหน้าที่จึงกระจายกำลังเข้าโอบล้อมพื้นที่ และเมื่อกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเห็นเจ้าหน้าที่เข้ามาจึงเปิดฉากกราดยิงใส่ เกิดปะทะกันนานกว่า 30 นาที จนเสียงปืนสงบลง เจ้าหน้าที่จึงกระจายกำลังเข้าตรวจสอบพบผู้เสียชีวิตดังกล่าว เบื้องต้นเชื่อว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บหลบหนีเข้าป่าลึกอย่างน้อย 2 คน โดยทิ้งอาวุธปืนสงครามประจำกายเอ็ม 16 รวม 2 กระบอก อาวุธปืนลูกซองอีก 1 กระบอก และเครื่องกระสุนอีกจำนวนหนึ่ง ส่วนทหารพรานปลอดภัยทั้งหมด
ส่วนผู้เสียชีวิต ได้แก่ นายอาหามะ หะยีมะเจ๊ะ อยู่บ้านเลขที่ 9/1 หมู่ 4 ต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส นายมะไฟซา ดอเลาะห์ บ้านเลขที่ 53 หมู่ 4 ต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส นายอับดุลฟาตา อลอเฮ็ง บ้านเลขที่ 29 หมู่ 9 ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส นายอิสมาแอ แวมะเม็ง บ้านเลขที่ 63/4 หมู่ 1 ต.กาวา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี นายสุกรี มะและ บ้านเลขที่ 15 หมู่ 9 ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส 6.นายมูฮัมมัสนูร์ มะยูโซะ อยู่บ้านเลขที่ 111/1 หมู่ 4 ต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส นายมะดือเระ สาและ อยู่บ้านเลขที่ 35 หมู่ 4 ต.กายูคละ อ.แว้ง จ.นราธิวาส แล นายนูรฮาฟีซี มูซอรี อยู่บ้านเลขที่ 72/1 หมู่ 4 ต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส
เผยได้ข้อมูลจากชาวบ้านแจ้ง
พ.อ.สมพล ปานกุล รองผบ.ฉก.3 นราธิวาส กล่าวว่า ปฏิบัติการครั้งนี้สืบเนื่องได้รับแจ้งข้อมูลจากประชาชนบริเวณดังกล่าวว่าพบกลุ่มชายฉกรรจ์จำนวนหนึ่งแต่งกายคล้ายทหารลงจากเขาเพื่อมาซื้อหาอาหาร เครื่องอุปโภค จึงวางแผนเข้าลาดตระเวนโจมตี อย่างไรก็ตาม พบว่าฝ่ายตรงข้ามแต่งกายด้วยเสื้อยืดสีดำ สวมกางเกงวอร์ม รองเท้ายางหุ้มส้น ส่วนอาวุธปืนเอ็ม 16 ที่ยึดได้ ตรวจสอบพบว่าเป็นอาวุธปืนที่ปล้นจากค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 (ค่ายปิเหล็ง) เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 นอกจากนี้ ยังยึดอุปกรณ์ภาคสนาม อุปกรณ์ใช้ฝึกร่างกาย เช่น บาร์เดี่ยว อุปกรณ์ใช้งัดข้อ เครื่องอุปโภคบริโภค ข้าวสารอาหารแห้ง เต็นท์ ไวท์บอร์ด และเอกสารภาษายาวีจำนวนหนึ่ง ที่สำคัญพื้นที่ดังกล่าวถูกดัดแปลงเป็นสนามฝึก คาดว่ากลุ่มผู้ก่อความไม่สงบใช้วิธีชักชวนเยาวชนที่หลงเชื่อให้ขึ้นมาบนเขาตะเว เพื่อฝึกฝนร่างกาย
รอง ผบ.ฉก.3 นราธิวาส กล่าวอีกว่า ผู้ก่อความไม่สงบที่ปะทะกันครั้งนี้คาดว่าเป็นกองกำลังติดอาวุธระดับดูแลพื้นที่ มีการเคลื่อนไหวอยู่บนเขาตะเวไม่เกิน 40 คน อายุระหว่าง 20-30 ปี ตั้งค่ายฝึกอาวุธและร่างกาย ส่วนกลุ่มที่พบและเกิดการปะทะน่าจะเป็นกลุ่มแนวร่วมย่อยที่เข้ามาฝึกทบทวนในพื้นที่ดังกล่าวจนเกิดการปะทะกัน
ม็อบสตรีปิดสะพานกดดันปล่อยผู้ต้องสงสัย
ส่วนเหตุการณ์ชุมนุมกดดันเจ้าหน้าที่ให้ปล่อยผู้ต้องหา เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 2 มีนาคม กลุ่มชาวบ้านซึ่งได้แก่ เด็ก สตรีมุสลิมประมาณ 100 คน ใช้ผ้าคลุมปิดบังใบหน้า ชุมนุมที่บริเวณหัวสะพานถนนเพชรเกษม ยะลา-บ้านเนียง หมู่ 3 บ้านลิดล ต.ท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา เป็นรอบที่สอง เพื่อกดดันให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวนายนิเซ็ง บาละอาแซ อายุ 43 ปี ผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ระเบิดในปั๊มน้ำมันคาลเท็กซ์ ที่คนร้ายวางระเบิดพลาดจนแขนขาดทิ้งไว้ในที่เกิดเหตุ ซึ่งก่อนหน้านี้มีการชุมนุมกดดันเจ้าหน้าที่ให้ปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา แต่การชุมนุมครั้งนี้มีการอุ้มเด็กอายุประมาณ 1-2 เดือน มาร่วมชุมนุมด้วย ซึ่งมีรายงานว่าเป็นลูกของนายนิเซ็ง
ทั้งนี้นายนิเซ็งถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปพร้อมยึดรถกระบะ รถจักรยานยนต์ไปด้วย ซึ่งจากการตรวจสอบคราบเลือดที่รถกระบะ พบว่าดีเอ็นเอตรงกับเลือดที่ได้จากแขนของคนร้ายที่ก่อเหตุ จึงนำตัวไปซักถามขยายผลที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
ต่อมาเมื่อเวลา 08.00 น. พ.ต.อ.ภูมิเพ็ชร พิพัฒน์เพ็ชรภูมิ ผกก.สภ.อ.เมืองยะลา ได้เข้าไปเจรจา แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอมเจรจาด้วย เรียกร้องจะขอพบนายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าฯ ยะลา เพียงผู้เดียว กระทั่งเวลา 08.30 น. นายกฤษฎา บุญราช รองผู้ว่าฯ ยะลา เป็นผู้แทนผู้ว่าฯ ยะลา เข้าเจรจา โดยเจ้าหน้าที่จะให้ภรรยาและบุตรของนายนิเซ็งไปพบนายนิเซ็งที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอมให้เดินทางไป พร้อมเรียกร้องให้นำนายนิเซ็งกลับมาที่จุดชุมนุมเท่านั้น ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องประสานกองกำลังอาสาสมัครทหารพรานหญิงจากกองร้อยทหารพรานที่ 41 ต.วังพญา อ.เมือง จ.ยะลา 50 นาย เข้าคุมพื้นที่
กระทั่งเวลา 09.00 น. กองกำลังทหารพรานหญิงมาถึงจุดชุมนุม พร้อมเข้าเจรจาให้ภรรยานายนิเซ็งไปพบสามี นอกจากนั้น ยังได้ขอร้องให้กลุ่มผู้ชุมนุมเปิดทางให้รถสัญจรผ่านได้ แต่ไม่เป็นผล ทหารพรานหญิงจึงเข้าไปแยกกลุ่มสตรีกับเด็ก พร้อมพยายามหาแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3-4 คน มาทำประวัติ แต่ไม่สามารถติดตามตัวได้ เนื่องจากผู้ชุมนุมสลายตัวไปคนละทิศทาง ทั้งนี้ทหารพรานหญิงที่เข้าทำหน้าที่ครั้งนี้ไม่มีการพกอาวุธแต่อย่างใด
เผยนำเด็กมาร่วมชุมนุมหวังสร้างเงื่อนไข
พ.อ.ทิม เรือนโต ผบ.ฉก.ทหารพรานที่ 41 จ.ยะลา กล่าวว่า การสลายการชุมนุมได้โดยไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บถือเป็นความสำเร็จระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบพบว่า ปัจจุบันกลุ่มผู้ชุมนุมมีความพยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบการชุมนุม โดยอุ้มเด็กเล็กอายุประมาณ 1-3 เดือนเข้ามาร่วมชุมนุมด้วยประมาณ 2-3 ราย ส่วนหนึ่งเชื่อว่าน่าจะมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเงื่อนไขกดดันให้เจ้าหน้าที่เร่งปล่อยตัวผู้ต้องหาเร็วขึ้น โดยอ้างความปลอดภัยของเด็กที่นำมาด้วยหากเกิดอันตรายถึงชีวิตจะได้โยนให้เป็นความผิดของเจ้าหน้าที่ได้ง่ายที่ปล่อยการชุมนุมยืดเยื้อ เนื่องจากวิธีการให้เด็กอายุ 7-8 ขวบ มาร่วมเป็นแนวกำแพงบังหน้าเริ่มไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะเจ้าหน้าที่รู้แผนและสามารถสลายการชุมนุมได้หลายครั้ง
ผบ.ฉก.ทหารพรานที่ 41 จ.ยะลา กล่าวอีกว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบเชิงลึกว่าเด็กเล็กที่กลุ่มผู้ชุมนุมอุ้มมาร่วมประท้วงด้วยนั้นมีผู้ปกครองนำมาจริงหรือไม่ เนื่องจากการนำเด็กเล็กมาชุมนุมท่ามกลางอากาศที่ร้อนจัดถือว่าอันตรายมากเสี่ยงต่อการเกิดอาการช็อกและเสียชีวิตได้ จึงไม่เชื่อว่าผู้ปกครองจะยอมนำบุตรหลานมาประท้วงจริง หรือ อาจถูกกดดันทางอ้อมให้เข้าร่วมชุมนุมโดยไม่เต็มใจ
"เราไม่เชื่อว่าพ่อแม่จะใจร้ายอุ้มลูกเล็กๆ มาร่วมชุมนุมท่ามกลางอากาศที่ร้อนจัดเพราะอันตรายถึงชีวิต โดยเชื่อว่าหากอยู่นานกว่า 3 ชั่วโมงเด็กมีปัญหาแน่นอน และจะนำมาสู่ปัญหาความรุนแรงตามแผนการที่กลุ่มผู้ก่อเหตุความไม่สงบวางไว้ ดังนั้นจึงต้องรีบเข้าสลายการชุมนุมอย่างเร่งด่วนเพื่อหยุดพฤติกรรมนี้ให้ได้ และขณะนี้กำลังเร่งตรวจสอบหาที่มาของเด็กเพราะกลัวจะถูกบังคับให้นำมาเป็นข้อต่อรองรัฐ" พ.อ.ทิม กล่าว
แหล่งข่าวจากชุด ฉก.ทหารพรานรายหนึ่ง กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกพบว่าคนร้ายที่ถูกสะเก็ดระเบิดจนแขนขาดเป็นครูสอนศาสนาหรืออุสตาสที่สอนในโรงเรียนอิสลามแห่งหนึ่งใน จ.ยะลา และเป็นคนในพื้นที่หมู่บ้านใกล้เคียงที่เกิดเหตุ ล่าสุดได้รับการยืนยันว่าเสียชีวิตแล้ว และญาติได้ทำพิธีฝังศพตามศาสนาอิสลามไปแล้ว
ชี้ไม่จำเป็นต้องให้ทหารนั่งรองผู้ว่าฯ
กรณีที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เสนอแนวคิดให้ทหารเข้าไปมีบทบาทในตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดฝ่ายความมั่นคง เพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
นายบุณยสิทธิ์ สุวรรณรัตน์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า ตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด อยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย หากทหารเข้ามาอยู่ในตำแหน่งนี้ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการการคัดเลือกและต้องมีการรับโอนกันให้ถูกต้อง ซึ่งค่อนข้างจะยุ่งยากหลายขั้นตอน ที่ผ่านมาผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่เอง เขาก็มีตำแหน่งอีกตำแหน่งที่ทำอยู่แล้ว คือ ตำแหน่ง ผอ.กอ.รมน.ของจังหวัด อีกทั้งรอง ผอ.กอ.รมน.ฝ่ายทหารที่เข้ามาดูแลความมั่นคงก็มีอยู่แล้วเช่นกัน จึงไม่เข้าใจเหตุผลว่าทำไมต้องเอาทหารมานั่งตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดฝ่ายความมั่นคงอีก เพราะจะเป็นการซ้ำซ้อนกัน
นายอัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง นักวิชาการด้านสันติวิธี และอดีตคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) กล่าวว่า ขณะนี้ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลเปลี่ยนแปลงโครงสร้างนโยบายการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนหรือยัง ถ้าชัดเจนแล้ว ทหารจะเข้าไปในจุดนั้นก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร คิดว่าไม่ถูกต้อง เนื่องจากมองว่าไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เพราะบทบาทหน้าที่ของฝ่ายปกครองกับทหารแตกต่างกัน
ขณะที่ นายอารีย์ วงศ์อารยะ รมว.มหาดไทย กล่าวว่า เป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะเสนอแนวคิด ซึ่งกระทรวงมหาดไทยไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ การจะเพิ่มรองผู้ว่าฯ ที่มีภารกิจด้านความมั่นคงถือว่าเป็นเรื่องดี เพื่อให้ผู้ว่าฯ ได้ทำงานในบทบาทอื่นที่กว้างขวางมากขึ้น อย่างไรก็ตามในประเด็นนี้ยังไม่ได้มีการหารือกับรัฐบาล
รมว.กลาโหมย้ำปิดช่องว่างสกัดคนร้ายก่อเหตุ
วันเดียวกัน พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวขณะเรียกประชุมเจ้าหน้าที่และหน่วยกำลังที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งตั้งอยู่ภายในค่ายสิรินธร อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ว่า ได้เน้นย้ำให้ผู้บังคับหน่วยทุกระดับชั้นพยายามลดช่องว่างในการทำงานเพื่อไม่ให้คนร้ายมีโอกาสก่อเหตุร้ายได้ พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากภาคเอกชนในการสอดส่องดูแลพื้นที่และแจ้งเบาะแสของการก่อความไม่สงบ ทั้งนี้ต้องเร่งแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ควบคู่กันไปด้วย เพราะเป็นการมอมเมาเยาวชนให้เข้าไปเป็นแนวร่วมและก่อเหตุสร้างสถานการณ์ความไม่สงบขึ้น จึงเน้นย้ำให้มีการสกัดกั้นและให้นำเยาวชนที่ติดยาเสพติดไปทำการบำบัดโดยเร็ว
พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) กล่าวถึงกรณีที่ผู้นำมาเลเซียระบุว่าภาคใต้ไทยเป็นแหล่งเพาะผู้ก่อการร้ายว่า ทางผู้นำทางทหารมาเลเซียแจ้งข่าวให้ทราบว่า หนังสือพิมพ์ของไทยลงข่าวไม่ถูกต้อง โดยเขาแจ้งว่าเขาไม่ได้พูดเช่นนั้น ส่วนความจริงเป็นเช่นไร ลึกลับ ซับซ้อนแค่ไหน ต้องไปถามผู้ที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ มาเลเซียให้ความร่วมมือแก้ปัญหาภาคใต้กับไทยอยู่
เมื่อถามว่า ปัญหาภาคใต้มีแนวโน้มขยายวงกว้างออกนอกประเทศหรือไม่ พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า ต้องเอาปัญหาให้อยู่เฉพาะในประเทศ ทั้งนี้ เรามีความกังวลในเรื่องนี้อยู่ เพราะหากปัญหาขยายออกไปจะส่งผลกับประเทศไทย และเชื่อว่าความรุนแรงคงไม่เข้ามาถึงพื้นที่กรุงเทพฯ ง่ายๆ ทั้งนี้คนไทยควรทำใจกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่ต้องเกิดขึ้น อย่าไปตื่นเต้นตกใจ แต่จะต้องระวังตัว และเป็นหูเป็นตาให้แก่บ้านเมือง
ป่วนโทรขู่วางบึ้มร้านทอง-แบงก์-โชว์รูมรถ
เมื่อเวลา 10.45 น. ศูนย์รวมข่าว สภ.อ.เมืองยะลา รับแจ้งว่ามีผู้ไม่หวังดีโทรศัพท์ขู่ลอบวางระเบิดภายในห้างร้านหลายแห่งในเขตเทศบาลนครยะลา ได้แก่ ธนาคารออมสิน สาขายะลา ร้านแสงเจริญนาประดู่ ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ บริษัท พิธานพาณิชย์ จำกัด สาขายะลา ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า และที่ห้างทองซังเต้ง 1 จึงแจ้งให้ พ.ต.อ.ภูมิเพ็ชร พิพัฒน์เพ็ชรภูมิ ผกก.สภ.อ.เมืองยะลา นำกำลังไปตรวจสอบ แต่ไม่พบวัตถุต้องสงสัยใดๆ จึงเชื่อว่าคนร้ายต้องการก่อกวนและสร้างสถานการณ์ความวุ่นวายในพื้นที่
วันเดียวกันมีผู้พบใบปลิวทิ้งไว้ใน ต.ยะหา อ.ยะหา จ.ยะลา พิมพ์ข้อความเป็นภาษามลายู อ้างว่าเหตุการณ์ระเบิดหลายจุดเมื่อคืนวันที่ 18 กุมภาพันธ์ เป็นฝีมือของกลุ่มนักรบปัตตานีดารุสลาม
นายนันทวัฒน์ เจริญวรรณ นายอำเภอจะแนะ จ.นราธิวาส พร้อมคณะครู นักเรียน และชาวบ้านกว่า 1,000 คน รวมพลังหน้าที่ว่าการอำเภอจะแนะ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ต่อต้านการกระทำของผู้ก่อเหตุไม่สงบที่ใช้อาวุธสงครามกราดยิงรถทหารที่พาคณะนักเรียนกลับจากทัศนศึกษาที่ จ.สงขลา ทำให้นักเรียนบาดเจ็บ 7 คน ในจำนวนนี้มีอาการสาหัส 1 คน คือ ด.ญ.ไลลา มะเด็ง นักเรียนโรงเรียนบ้านไอร์โซ อ.จะแนะ ที่ยังรักษาตัวอยู่ที่ห้องไอซียู โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์
http://www.komchadluek.net/2007/03/02/a001_95298.php?news_id=95298