ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
29-03-2024, 15:30
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  ชายคาพักใจ  |  ง่ายๆ สำหรับคนนอนไม่หลับ 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
ง่ายๆ สำหรับคนนอนไม่หลับ  (อ่าน 1242 ครั้ง)
Upasaka
สมาชิกสามัญขั้นที่ 2
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 57



« เมื่อ: 28-02-2007, 20:57 »

คัดบางส่วนมา

ลำดับ ๑ การเตรียมตัว

         ๑. ผู้นับลมหายใจ จะต้องอยู่ในอิริยาบถที่นิ่ง เช่น นั่งหรือนอน จะยืนก็ได้แต่ต้องมีที่พิง
ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรยืน เพราะเวลาจิตสงบ ร่างกายจะหมดการทรงตัว หัวเข่าจะอ่อนทรุดลง
ทำให้ตกใจตื่น นั่งบนเก้าอี้ที่มีพนักพิง เป็นดีที่สุด

         ๒. ปล่อยตัวตามสบาย อย่าเกร็งส่วนใดส่วนหนึ่ง

         ๓. มือทั้งสองข้าง ต้องวางไว้บนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น วางบนตักบนพนักเก้าอี้
หรือวางราบไปตามตัว (ในท่านอน) แล้วแต่ลักษณะของสถานที่ ความมุ่งหมายก็คือ
ไม่ให้มือตกเวลาจิตสงบ ซึ่งจะทำให้ตกใจตื่น

         ๔. เมื่อพร้อมแล้ว ให้หลับตาเสีย

ลำดับ ๒ ดูภาวะของจิต

         เมื่อหลับตาแล้ว ให้ตรวจดูภาวะของจิตก่อน เมื่อเลือกวิธีนับลม
ให้เหมาะกับจิตของเราในขณะนั้น ลองสังเกตดูว่า ขณะนั้นจิตของท่านอยู่ในอาการอย่างไร ?
ในสามลักษณะ ดังต่อไปนี้

         ก. จิตติดอารมณ์ คือ ความคิดแจ่มใสดี เป็นลักษณะที่บอกว่า จิตเอาการเอางานดีมาก
แต่เราต้องการจะให้จิตหยุดคิด เพื่อพักผ่อนหลับนอนเสียที หรือเพื่อจะเปลี่ยนเรื่องคิดใหม่ก็ตาม

         ข. จิตโสมนัส คือ จิตกำลังคิดอะไรเพลิดเพลิน มีความดีใจมาก เช่น ได้รับรางวัล
สอบไล่ได้ ได้ยศ คนรักเข้าใจกัน เป็นต้น

         เพราะความดีใจนั่นเอง ทำให้จิตหยุดคิดไม่ลง แต่ก็เป็นความคิดเรื่อยเปื่อย
จับต้นจับปลายไม่ได้

         ค. จิตโทมนัส คือ จิตคิดในเรื่องที่น้อยใจ เสียใจ แล้วก็หยุดคิดไม่ลง เช่น
เสียใจเพราะความวิบัติ กลุ้มใจ เพราะคนรักเป็นอื่น น้อยใจที่สอบตก หรือถูกรังแก
หรือเป็นถ้อยเป็นความกัน เป็นต้น

         แต่สังเกตุได้ว่า จิตกำลังอยู่ในอารมณ์ประเภทที่ไม่พอใจ แล้วคิดอะไรเรื่อยเปื่อย
ไม่มีต้นไม่มีปลายเหมือนกัน

ลำดับ ๓ ลองลม

         เมื่อรู้ภาวะของจิตแล้ว อย่าเพิ่งลงมือนับลม แต่ให้ลองสังเกตลมก่อน
เพื่อเริ่มเอาจิตเข้าสัมผัสกับลม และเริ่มบังคับลมด้วยกระแสจิต

         เริ่มแรก ลองหายใจเข้า-หายใจออกดู ทำสักสามสี่ครั้ง เพื่อลองดูว่าหายใจขนาดไหน
 จึงจะเป็นที่สบายที่สุดและพอดีที่สุด เมื่อจับได้แล้ว ก็เริ่มใช้ลมขนาดนั้นต่อไป

         โปรดทราบไว้ด้วยว่า การหายใจที่เราหายใจกันอยู่ตามปกตินี้ หามีขนาดเท่ากันไม่
แล้วแต่อารมณ์ของจิต เช่น ขณะถูกขัดใจดีใจ อยากได้ ชัง เหล่านี้เป็นต้น
ทำให้ลมหายใจสะดุดเป็นพัก ๆ และไม่สม่ำเสมอ

พอจับขนาดลมได้แล้ว ให้ทำดังนี้
         - หายใจเข้า-ออก ทางจมูกช่องขวา ๓ ครั้ง
         - หายใจเข้า-ออก ทางจมูกช่องซ้าย ๓ ครั้ง
         - หายใจเข้า-ออก พร้อมกันทั้งสองช่อง ๓ ครั้ง

         การที่จะให้ลมหายใจเข้าออก ช่องนั้นช่องนี้ตามที่เสนอไว้นี้เป็นแต่เพียงให้นึกเอาเท่านั้น
ไม่ต้องถึงกับอุดจมูกหรือทำอย่างอื่นใด เพราะตามธรรมดาความคิดของคนเรา
ก็มีส่วนสัมพันธ์กับลมหายใจอยู่แล้ว

ลำดับ ๔ นับลม

         บัดนี้ ถึงตอนที่ท่านจะเริ่มทำสมาธิ ด้วยการนับลมแล้วท่านจงตั้งใจว่า
ท่านจะต้องเอาใจจดจ่อ อยู่ที่ลมหายใจตลอดเวลา และทำต่อเนื่องกันไป
ไม่มีหยุดพัก หรือเว้นในระหว่างเลย ทั้งจะต้องรักษากติกาด้วยความซื่อสัตย์ด้วย

การนับ ให้นับเป็นคู่ ๆ และนับในใจ เริ่ม "หนึ่ง" ลมเข้า แล้วทำเสียงยาวไปจนสุดลมเข้า
แล้วเริ่ม "หนึ่ง" ลมออก ทำเสียงยาวไปจนสุดลมออกอีก
เที่ยวที่สองเริ่ม "สอง" ลมเข้า และ "สอง" ลมออกทำเช่นเดียวกับเที่ยวที่หนึ่ง

ข้อควรสังเกต
         - ถ้าจิตอยู่ในประเภท ก. และ ข. ให้นับแนบ "รวมจิต"
         - ถ้าจิตอยู่ในประเภท ค. ให้นับแนบ “ขยายจิต”
         - การนับแบบ "รวมจิต" ให้นับจากเลขมาก ไปหาเลขน้อยคือ
๑-๑, ๒-๒, ๓-๓, ๔-๔, ๕-๕, ๖-๖, ๗-๗, ๘-๘, ๙-๙,๑๐–๑๐.

         พอเที่ยวที่สอง ก็ลดลงมาหนึ่งคู่ คือ ถึงเลข ๙-๙ เที่ยวที่สามก็ลดลงมาหนึ่งคู่
คือถึงเลข ๘-๘ ลดลงมาเที่ยวละ ๑ คู่

จนถึง ๑-๑ แล้วก็ตั้งต้น ๑-๑ ถึง ๑๐–๑๐ อีก

         - การนับแบบ "ขยายจิต" ให้นับจากเลขน้อย ไปหาเลขมาก คือ
เที่ยวที่หนึ่ง ๑-๑, เที่ยวที่สอง ๑-๑, ๒-๒ เที่ยวที่สาม ๑-๑, ๒-๒, ๓-๓.

         กล่าวคือ เพิ่มขึ้นเที่ยวละ ๑ เลข จนถึง ๑๐–๑๐. อีก

กติกานับลม

         ๑. ความมุ่งหมายสำคัญของการนับลม อยู่ที่การเอาจิตจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจตลอดเวลา
การนับให้ถือว่าเป็นเพียงวิธีหนึ่งเท่านั้น

         ฉะนั้น ท่านจะต้องบังคับให้จิตจอจ่ออยู่กับลม อย่าให้ขาดระยะ
หากท่านปล่อยให้จิตเผลอแวบไปเรื่องอื่น แม้ว่าการนับจะติดต่อกันจนตลอดก็ไม่ได้ผล

         ๒. ขณะที่กำลังนับนั้น จะมีบางระยะที่จิตเผลอ ท่านจะเกิดความสงสัยว่า
“นี่เรานับมาถึงขนาดไหนแน่?”

         หากเกิดสงสัยอย่างนี้ แสดงว่าวิถีจิตของท่านขาดตอน จะต้องทำโทษตัวเอง
โดยเริ่มนับตั้งแต่ต้นมาใหม่ คือ เริ่มแต่ "หนึ่ง ๆ"…

         จงอย่ารำคาญต่อการลงโทษทำนองนี้ เพราะการลงโทษนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกจิต

         ๓. อย่ามีความคิด คือ คิดอยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เช่นอยากให้ตัวหลับ อยากให้จิตสงบ
หรืออยากเห็นนิมิตต่าง ๆ ก็ตามจงตั้งหน้านับแต่ลมอย่างเดียว

         ๔. ขณะที่จิตจะเข้าภวังค์นั้น หากท่านเห็นนิมิตบางอย่าง เช่น เห็นฝนตก เห็นน้ำบ่า
เห็นไฟแลบเข้าตาหรือเห็นภาพประหลาดๆ และบางทีก็เกิดวูบวาบในตัว บางคนเกิดคันตามผิวหนัง
เหมือนมดกัดพร้อมๆ กันทั้งตัว

         อาการเหล่านั้น เป็นเพียง "มายาของจิต" อย่าสนใจ อย่าดีใจหรือเสียใจ
ตั้งใจนับลมอย่างเดียว ประเดี๋ยวมันก็จะหายไปเอง นิมิตดังกล่าวนี้
เกิดแต่คนบางคนเท่านั้น และไม่เหมือนกันเสมอไป

         ๕. ท่านที่นับลมเพิ่มพักผ่อน คือ จะให้หลับเพียงชั่วงีบเดียว ควรตั้งใจไว้ก่อนว่า
"จะหลับกี่นาที?" เมื่อนับลมไปถึงตอนที่จิตเผลอ ก็ให้ปล่อยไปตาม
ให้จิตเข้าสู่นิทราอันแสนสุขได้ทีเดียว แล้วจิตจะตื่นตัวขึ้นตามเวลาที่ตั้งใจไว้

ข้อควรทราบ

         วิธีที่นับลมที่ได้ผล ควรทำอย่างนี้ คือ พอเริ่มต้นให้เอาจิตจ่อไว้ที่ปากช่องจมูก
พอหัวลมหายใจเข้ามากระทบช่องจมูก ให้เอาจิตจับที่หัวลมนั้น แล้วให้จิตนำลมเข้าไปในท้อง
จนถึงท้องน้อย แล้วนำกลับออกมา ตลอดเวลานั้นนึกนับในใจว่า หนึ่ง…

         คือ นับยาวไปตามลม จนหัวลมออกมาถึงปากช่องจมูกจิตของเราหยุดอยู่ตรงนั้น
(อย่าเลยออกไป)แต่คอยดูลมที่ผ่านออก จนถึงหางสุดของลม การนับหนึ่งจึงลิ้นสุด

         แล้วก็เริ่มจับลมคู่ที่สองต่อไป เปลี่ยนแต่การนับเป็นสอง…เท่านั้น ความยุ่งยากนี้
อาจมีอยู่ในระยะแรก ๆ เท่านั้น พอชำนาญหน่อยก็เป็นไปเอง

         เท่าที่ข้าพเจ้า (พ.อ.ปิ่นฯ) ปฏิบัติมาด้วยตนเอง ได้พบเห็นอาการของจิตอย่างหนึ่ง
คือก่อนที่จิตจะสงบนั้น ปรากฎว่าลมหายใจหยาบมาก เหมือนกับเอาเชือกปอหยาบ ๆ
มาสอดเข้าในท้อง แล้วชักเข้าชักออก

         บางทีทนไม่ไหวต้องเลิก แต่ทำไป ๆ หน่อยอาการนั้นก็หายทีนี้ลมหายใจกลับละเอียดมาก
มีลักษณะใสปนเขียวเหมือนใยแก้ว และเย็บซาบซ่านบอกไม่ถูก ทำให้สบายมาก
ข้าพเจ้าทดลองบังคับให้สายลมหายใจ ผ่านวกวนไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
ตามที่อาจารย์แนะนำ ปรากฏว่าทำได้บ้างนิดหน่อยเพราะจิตยังไม่ชำนาญพอ

         ที่ว่านี้ เป็นตอนที่นำจิตเข้าภวังค์ในสมาธิ เลยขั้นเล่นลมหายใจไปแล้ว แต่เล่าไว้
เผื่อท่านผู้ใดทำไปถึงขั้นนั้น จะได้ไม่ต้องสงสัย

         อย่างไรก็ตาม สำหรับท่านที่ขี้วิตก ข้าพเจ้าขอรับรองว่า การเล่นลมหายใจอย่างนี้
จะไม่ทำให้สติปัญญาวิกลวิการไปเลย

         มีแต่จะสร้างพลังทางใจ และเพิ่มพูนกำลังปัญญาเหมาะสมอย่างยิ่ง
สำหรับท่านที่หวังความก้าวหน้า และต้องการความสุขทางใจ.

..........................

หมายเหตุ
วิธี "พักจิต" หรือการทำสมาธิ เพื่อการ "นอนหลับง่าย"ตามแนวของท่าน พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์
ี้มีวิธีปฏิบัติสมบูรณ์อยู่ในตัวแล้ว

         แต่มีข้อที่ควรทราบ คือ บางคนนับแบบ "ตามลม" เข้า-ออก ไม่สะดวกหรือทำไม่ได้
ก็ควรจะนับแบบ "ปักหลัก" คือ ไม่ตามลมเข้าและออก แต่กำหนดจุดที่ลมกระทบ
ไว้ที่บริเวณจมูก ทำอุปมาเหมือนยามเฝ้าประตู ก็ได้.

หนังสือ บันทึกธรรม ฉบับดับทุกข์
เรียบเรียง  โดย  ธรรมรักษา
http://www.dhammajak.net/book/dukkha/dukkha21.php
บันทึกการเข้า
so what?
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2,729


« ตอบ #1 เมื่อ: 28-02-2007, 21:41 »

ขอบคุณสำหรับวิทยาทานครับ

ท่าทางจะง่ายจริงๆอย่างว่า
เพราะแค่อ่านวิธีปฏิบัติไม่ถึงครึ่งทาง ผมก็เริ่มง่วงแล้ว

Mr. Green Mr. Green

บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
    กระโดดไป: