เตาอบสุวรรณภูมิ [5 ก.พ. 50 - 17:05]
ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน ประธานฝ่ายติดตามการแก้ปัญหาสนามบินสุวรรณภูมิ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พานักข่าวไปตรวจสอบระบบปรับอากาศเครื่องบินและระบบไฟฟ้าที่สนามบินสุวรรณภูมิ บอกว่าระบบปรับอากาศมีความเย็นต่ำกว่ามาตรฐาน ระบบไฟฟ้าก็ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ เครื่องบินขนาดใหญ่ไม่ไว้วางใจและไม่ยอมใช้บริการ
วันนี้ผมก็มีเรื่อง
ระบบปรับอากาศภายในอาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นำมาเล่าสู่กันฟังอีกเรื่องด้วยความเป็นห่วงใยอย่างยิ่ง
ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเปิดใช้เมื่อปลายเดือนกันยายนปีที่แล้ว เป็นช่วงหน้าฝนแล้วก็ต่อด้วยหน้าหนาว อากาศยังไม่ร้อนนัก จึงยังไม่มีการทดสอบอุณหภูมิภายในอาคารผู้โดยสารในหน้าร้อน แต่กระนั้นผู้โดยสารก็บ่นกันมากว่าแอร์ไม่เย็น แต่นับจากสัปดาห์นี้เป็นต้นไป เมื่อลมหนาวระลอกสุดท้ายพัดผ่านไปแล้ว หน้าร้อนก็จะมาเยือนอย่างเป็นทางการ
อุณหภูมิภายในอาคารผู้โดยสารจะเป็นอย่างไร คงได้พิสูจน์กันแน่นอน
กลางเดือนที่แล้ว ผมก็ไปใช้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอีก แม้จะเป็นช่วงบ่ายคล้อย ผมเดินไปในอาคารทางเดินผู้โดยสาร ผ่านช่วงที่เป็นหลังคากระจก ไอร้อนวิ่งผ่านมากระทบวูบวาบเป็นระลอก ร้อนจนเหงื่อออก
แล้วหน้าร้อนในเดือนเมษายนที่จะถึงในอีกสองเดือนข้างหน้า ผมไม่แน่ใจว่า ภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะร้อนแค่ไหน
เรื่องนี้ผมไม่ได้คิดเองเขียนเอง แต่เป็นความเห็นของ
สมาคมสถาปนิกสยามที่มีหนังสือไปทักท้วงการออกแบบของ เอ็มเจทีเอ ก่อนที่จะมีการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิด้วยซ้ำ แต่ไม่เป็นผล โดยระบุว่า อาคารทางเดินผู้โดยสารมีผนังและหลังคาเป็นผืนเดียวกัน ตามความโค้งของรูปทรงไข่ไก่ ประกอบด้วย กระจก และ ผ้าใยสังเคราะห์เคลือบสารเทฟลอน ซึ่งเป็นวัสดุโปร่งแสง เช่นเดียวกับอาคารหลัก ผู้ออกแบบอ้างว่า ที่นำวัสดุทั้งสองมาใช้ก็เพื่อต้องการแสงธรรมชาติมาลดไฟฟ้าแสงสว่าง และจะมีเทคนิคพิเศษในการปรับอากาศ ทำให้อาคารเหล่านี้เป็นอาคารประหยัดพลังงาน
สมาคมไม่สามารถเชื่อถือการกล่าวอ้างของเอ็มเจทีเอได้ จากแบบขั้นต้นและข้อมูลจากเอ็มเจทีเอ
สมาคมฯสรุปความเห็นว่า ผนังและกระจกสลับกับผ้าใยสังเคราะห์ จะก่อให้เกิดปัญหาดังนี้ (ผมจะเอาเฉพาะเรื่องอุณหภูมิภายในอาคารก็แล้วกันนะครับ)อุณหภูมิภายในอาคาร ยากที่จะปรับอากาศให้อาคารรูปทรงไข่ที่มีความยาวรวมกันกว่า 3 กิโลเมตร (3,321 เมตร) ให้มีความเย็นสม่ำเสมอเท่ากันทุกพื้นที่ อาคารที่เปิดรับแสงอย่างโล่งแจ้งในเมืองไทยเช่นนี้ จะต้องวิบัติด้วยพลังงานความร้อน ซึ่งเกิดจากค่าใช้จ่ายในการต่อสู้กับพลังงานอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติเอ็มเจทีเอก็แจ้งกลับสมาคมฯว่า จะเพิ่มผ้าใบเป็น 2 หรือ 3 ชั้น ในระยะห่างกัน 10 ซม. เพื่อบรรจุแผ่นใยกันเสียงเข้าไป
แต่สมาคมฯเห็นว่า การแก้ปัญหาดังกล่าวไร้ตรรกะเป็นอย่างยิ่ง ผ้าใยสังเคราะห์ชนิดเคลือบเทฟลอนเป็นวัสดุที่มีราคาสูง เอ็มเจทีเอประมาณราคาไว้ 6,000 บาทต่อตารางเมตร แต่ราคาล่าสุดที่มีการใช้ในเมืองไทยตกประมาณ 10,000-15,000 บาทต่อตารางเมตร ถ้าซ้อน 2-3 ชั้น ราคาจะเพิ่มอีกเท่าไร
แล้วสมาคมสถาปนิกสยามก็ฟันธงว่า กระจกและผ้าใบมีปฏิกิริยาต่อแสงต่างกัน แสงแดดโดยตรงที่ผ่านทะลุหลังคาบางส่วนที่เป็นกระจกล้วนๆ ไม่มีอะไรมาบังตามรอยเชื่อมต่อของอาคารลงมาบนพื้นที่ใหญ่โตข้างล่าง จะทำให้บริเวณเหล่านี้เป็นเสมือนขุมนรกจะเป็น ขุมนรก หรือไม่ เดือนเมษายนนี้จะได้พิสูจน์กันครับ.ลม เปลี่ยนทิศ
http://www.thairath.co.th/news.php?section=society03&content=35791