ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
20-04-2024, 08:34
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สภากาแฟ  |  การริบทรัพย์ในประเทศสหรัฐอเมริกา 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
การริบทรัพย์ในประเทศสหรัฐอเมริกา  (อ่าน 2959 ครั้ง)
taworn09220
ขาประจำ
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 302


« เมื่อ: 21-01-2007, 11:45 »

การริบทรัพย์ในประเทศสหรัฐอเมริกา

          หลักการริบทรัพย์ในประเทศสหรัฐอเมริกามีรากฐานมาตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม โดยกฎหมายให้อำนาจรัฐบาลในการยึดเรือและสินค้าบนเรือที่ฝ่าฝืนกฎหมายศุลกากรและกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แม้ว่าในกรณีที่เจ้าของเรือที่ถูกริบนั้นจะไม่ได้รู้เห็นกับการกระทำความผิดก็ตาม หลักการดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดว่ารัฐบาลมุ่งเน้นวัตถุที่เป็นเรือที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมากกว่าที่จะมุ่งเน้นลูกเรือหรือกัปตันเรือ ต่อมาหลักการดังกล่าวจึงนำมาซึ่งกระบวนการในการริบทรัพย์ทางแพ่ง (Civil Forfeiture)
          ในปี ค.ศ. 1969 สภาคองเกรสได้นำหลักการหลักการริบทรัพย์ดั้งเดิมนี้มาใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้กับองค์กรอาชญากรรมและปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติด โดยสภาคองเกรสมีความมุ่งประสงค์ที่จะใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อเป็นเครื่องมือในการตัดทอนอำนาจทางเศรษฐกิจ  กล่าวคือ  กำไรและทรัพย์สินที่ใช้ในขบวนการอาชญากรรมดังกล่าว  ต่อมาช่วงประมาณปี ค.ศ. 1970  สภาคองเกรสได้ผ่านกฎหมาย 3 ฉบับซึ่งเน้นให้เห็นถึงการออกกฎหมายของสหพันธรัฐในการริบทรัพย์ทางอาญาและการริบทรัพย์ทางแพ่ง  กล่าวคือ  กฎหมาย RICO, CCE และ BSA  โดยกฎหมาย  RICO  มุ่งเน้นการปราบปรามและริบทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรม  กฎหมาย CCE มุ่งเน้นการริบทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด  ในขณะที่ BSA  มุ่งเน้นการริบทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน
          ทรัพย์สินที่เข้าข่ายที่จะถูกริบได้ตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา  มีดังนี้
          1. ทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติด (Property Related to Drug Crimes)
          2. ทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน (Property Related to Money-Laundering Crimes)
          3. ทรัพย์สินที่อาจถูกริบได้ตามกฎหมายอื่น
          ทรัพย์ที่ใช้ในการอำนวยความสะดวกในการกระทำความผิดบางอย่างก็อาจเข้าข่ายที่จะถูกริบได้ อย่างไรก็ตามจะต้องปรากฎหลักฐานว่าทรัพย์นั้นจะต้อง "เกี่ยวข้อง" หรือ "มีส่วนร่วม" ในอาชญากรรมที่ฝ่าฝืนกฎหมายสหพันธรัฐ ยกตัวอย่าง การที่รัฐบาลจะริบเรือของผู้ค้ายาเสพติดได้นั้นรัฐจะต้องพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าเรือลำดังกล่าวถูกใช้ในการกระทำความผิดครั้งใด หรือถูกมุ่งประสงค์ที่จะใช้ในการกระทำความผิดครั้งใดหรือทำให้การสืบสวนขยายผลปยังการกระทำความผิดได้
          4. ในปี ค.ศ. 197037ที่สภาครองเกรสได้ผ่านกฎหมาย "Racketeer Influenced and Corrupt Organization Act" หรือเรียกกันว่า "RICO" ถือเป็นกฎหมายฉบับแรกของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ให้อำนาจสหพันธรัฐในการริบทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดในคดีอาญาได้38 กฎหมาย RICO ให้อำนาจสหพันธรัฐที่จะยึดทรัพย์สินโดยเฉพาะเงินได้อันเนื่องมาจากกิจกรรมขององค์กรอาชญากรรม("pattern of racketeering activity") ซึ่งสภาครองเกรสมุ่งหวังที่จะให้กฎหมาย RICO เป็นเครื่องมือทางกฎหมายสำคัญที่จะทำลายอำนาจการเงินทางเศรษฐกิจ (Economic power) ขององค์กรอาชญากรรมและมีเป้าหมายที่สำคัญในการบั่นทอนแรงจูงใจในทรัพย์สินอันเกี่ยวพันกับขบวนการค้ายาเสพติดโดยใช้มาตรการการริบทรัพย์เป็นเครื่องมือทางกฎหมาย39
           ในปี ค.ศ. 1984 สภาครองเกรสได้ผ่านกฎหมายอีกฉบับที่มีชื่อว่า "Continuing Criminal Enterprise Act" หรือ CCE โดยมุ่งหวังให้เป็นเครื่องมือในการทำสงครามกับขบวนการอาชญากรรมค้ายาเสพติดเป็นสำคัญ40 และต่อมาในปี 1986 สภาคองเกรสได้พิจารณาแก้ไขกฎหมายที่มีชื่อว่า "Comprehensive Drug Abuse Prevention and Control Act" หรือ CDAPCA โดยมีบทบัญญัติเพิ่มเติมให้รัฐมีอำนาจยึดและริบผลกำไรที่ได้มาจากการค้ายาเสพติด รวมไปถึงเครื่องมือที่ถูกใช้ในกระบวนการค้ายาเสพติดด้วย41  หลังจากนั้นกฎหมาย CDAPCA  ก็ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมืออยางมีประสิทธิภาพในการปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติดทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ โดยบทแก้ไขในกฎหมายฉบับนี้ได้บัญญัติให้อำนาจอัยการแห่งสหพันธรัฐ (federal prosecutors) ในการดำเนินคดีเพียงคดีเดียวอันเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่สำคัญในการขอให้มีการริบทรัพย์ของผู้กระทำความผิดในคดียาเสพติด42 ภายใต้กฎหมาย RICO  เมื่อรัฐบาลจะเริ่มกระบวนการริบทรัพย์อันเกี่ยวเนื่องกับคดียาเสพติดนั้น มีข้อสังเกตที่สำคัญสองประการที่ต้องพึงพิจารณา กล่าวคือ ต้องมีการกระทำความผิดตามที่กฎหมาย RICO  กำหนดไว้โดยเฉพาะนั้นก่อน  ดังนั้นหากรัฐไม่สามารถดำเนินการกับผู้กระทำความผิดได้ รัฐก็ไม่อาจที่จะยึดหรือริบทรัพย์สินและกำไรอันเกี่ยวเนื่องกับยาเสพติดนั้นได้43 ดังที่ระบุไว้ในรายงานประจำปีของกระทรวงยุติธรรมของประเทศสหรัฐอเมริกา (Attorney General's 1991 Annual report) ว่าเนื่องจากการริบทรัพย์ทางอาญานั้นถูกกำหนดให้เป็นโทษทางอาญา ดังนั้นจึงตั้งอยู่บนเงื่อนไขว่ารัฐบาลจะต้องจะดำเนินคดีกับจำเลยให้ได้ก่อนจึงจะสามารถใช้มาตรการการลงโทษเช่นนี้ได้ คำกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นว่าหลักการเรื่องกรริบทรัพย์ตามกฎหมาย RICO นี้ไม่อาจจะนำมาใช้ปฏิบัติได้หากรัฐยังไม่สามารถพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ แม้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินที่ขอให้ริบเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดก็ตาม
ปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการนำหลักทรัพย์มาใช้โดยการออกกฎหมายใหม่มารับรองนั้นอาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติได้ ทั้งนี้ เนื่องมาจากกฎหมายนั้นเองอาจไม่สามารถนำมาใช้ได้อย่างประสิทธิภาพในทางปฏิบัติ

การริบทรัพย์ทางแพ่ง (Civil Forfeiture Preceedings) ในสหรัฐอเมริกา 44

          การริบทรัพย์ทางแพ่งคือกระบวนการทางกฎหมายมุ่งที่ระทำต่อตัวทรัพย์ มิใช่ต่อบุคคลที่เป็นอาชญกรรม โดยทฤษฎีแล้วถือว่าตัวทรัพย์สินเองที่กระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย เพราะสนับสนุนให้เกิดอาชญากรรมขึ้น การริบทรัพย์ทางแพ่งนี้กำหนดให้รัฐเป็นผู้มีภาระการพิสูจน์ "เหตุอันควรสงสัย" (Probable Cause)  ว่าทรัพย์นั้นฝ่าฝืนกฎหมายสหพันธรัฐ จากนั้นภาระการพิสูจน์ก็จะตกเป็นของผู้อ้างขอคืนทรัพย์ที่ถูกริบ (Claimant) โดยจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าทรัพย์ดังกล่าวไม่เข้าข่ายที่จะถูกริบตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามการริบทรัพย์ทางแพ่งนี้แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
          1. การริบทรัพย์ชั้นศาล (Judicial Civil Forefeiture Actions)
          การริบทรัพย์ชั้นศาลนี้จะใช้ระยะเวลานานและมีขั้นตอนยุ่งยากกว่าการริบทรัพย์ของฝ่ายบริหาร โดยมีขั้นตอนโดยสรุปดังนี้
          เริ่มด้วยการยึดทรัพย์ก่อนการสอบสวน (pre-seizure) และการยึดทรัพย์โดยการออกหมายยึดทรัพย์ (seizure warrant US District Court Magistrate หรือ US Marshals Service และต่อมาจะมีการเก็บรักษาและประเมินราคาทรัพย์ที่ยึดไว้โดย US Marshals Service รัฐมีหน้าที่ต้องประกาศการยึดทรัพย์ดังกล่าวกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์นั้นเป็นเวลา  3 อาทิตย์ต่อเนื่องกันในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีความมุ่งหมายในการยึดและริบทรัพย์ดังกล่าว หากมีผู้มีส่วนได้เสียก็สามารถยื่นคำร้องขอคัดค้านตามกระบวนการที่กำหนดไว้ได้ หากมีผู้คัดค้านยื่นคำร้องเพื่อขอคืนทรัพย์ (expedited release) อัยการสหพันธรัฐจะมีหน้าที่ที่จะต้องตอบกลับผู้คัดค้านดังกล่าวภายใน 20 วัน ตั้งแต่วันได้รับคำร้อง
          2. การริบทรัพย์ของฝ่ายบริหาร (Civil Forfeiture Administrative Proceedings)45
          ระบบกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาเปิดช่องให้หน่วยงานฝ่ายบริหารของรัฐบาลกลางมีอำนาจยึดทรัพย์ที่ฝ่าฝืนกฎหมายของสหพันธรัฐโดยวิธีการริบทรัพย์ของฝ่ายบริหาร อย่างไรก็ตาม ทรัพย์ที่จะถูกริบตามวิธีนี้ได้ต้องมีมูลค่าไม่เกิน 500,000 เหรียญ แต่หากเป็นทรัพย์สินประเภทยานพาหนะที่ใช้ในการเคลื่อนย้ายสิ่งผิดกฎหมายและตั๋วเงินหรือตราสารทางการเงินอาจถูกริบได้โดยไม่คำนึงถึงมูลค่าของทรัพย์นั้น
          หลังจากที่หน่วยงานของสหพันธรัฐยึดทรัพย์ดังกล่าวแล้ว หน่วยงานนั้นจะต้องแจ้งความประสงค์ในการริบทรัพย์นั้น (notice of intent to forfeit) ไปยังบุคคลหรือหน่วยงานทั้งหมดที่อาจมีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง (potential claimants) ในทรัพย์ที่ถูกยึดให้ทราบเพื่อโต้แย้งกรรมสิทธิ์ภายในระยะเวลาที่กำหนด เมื่อผู้ใดต้องการจะโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ถูกยึด บุคคลนั้นจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่เรียกว่า "in forma pauperis petition" ซึ่งเมื่อมีการยื่นคำร้องโต้แย้งกรรมสิทธิ์ดังกล่าวต่อศาลหน่วยงานของสหพันธรัฐนั้นจะต้องยื่นเรื่องไปยังอัยการของสหพันธรัฐ (US Attorney) เพื่อต่อสู้คดีในกระบวนการริบทรัพย์ในชั้นศาล
          กระบวนการริบทรัพย์ของฝ่ายบริหารนี้ใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ถึง 5 เดือน จึงจะเสร็จสิ้น โดยมีกระบวนการตามลำดับดังนี้
          1. กระบวนการก่อนยึดทรัพย์ (Pre-sezure investigation) โดยจะต้องพิจารณาเรื่องเหตุอันควรสงสัยก่อนจะเข้ายึดทรัพย์และการประเมินราคาและการตรวจสอบความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ถูกยึด (appraisal and title investigation)
          2. การเข้ายึดโดยมีและไม่มีหมายของหน่วยงานรัฐ หรือการออกหมายของหน่วยงานรัฐเพื่อยึดทรัพย์
          3. การเข้ายึดทรัพย์ และประเมินราคาในทรัพย์ที่ถูกยึด
          4. การแจ้งการยึดทรัพย์แก่บุคคลที่อาจเกี่ยวข้อง (Notice of seizure to all potential claimants) ภายในกำหนด 3 สัปดาห์ติดต่อกันในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น โดยมีวัตุประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นเจตจำนงของรัฐบาลในการริบทรัพย์เพื่อให้บุคคลดังกล่าวแสดงว่าจะโต้แย้งกรรมสิทธิ์และยื่นคำร้องขอให้ปล่อยหรือคืนทรัพย์ (expedited release)
          5. เมื่อมีผู้โต้แย้งกรรมสิทธิ์โดยยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ (expedited release) ผู้อำนวยการของหน่วยงานของสหพันธรัฐจะต้องตอบผลดังกล่าวกลับภายใน 20 วัน นับแต่วันได้รับคำร้อง
          6. การประกาศแจ้งการริบทรัพย์ (decree of forfeiture) ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ถูกยึดภายในกำหนด 20 วันนับแต่วันที่มีประกาศหนังสือพิมพ์วันสุดท้ายผู้อำนวยการของหน่วยงานสหพันธรัฐมีอำนาจออกประกาศแจ้งการริบทรัพย์ได้
          7. การร้องขอให้ยกเลิกการริบทรัพย์ (remission or mitigation) ในกรณีที่มีการร้องขอให้มีการยกเลิกการริบทรัพย์ เมื่อผู้อำนวยการหน่วยงานตรวจสอบหลักฐานแล้วเห็นว่าผู้ร้องขอนั้นไม่รู้เห็นกับการกระทำผิดก็มีอำนาจคืนทรัพย์ดังกล่าวได้ (granting partial relief)
          8. การจัดการกับทรัพย์ที่ถูกริบ (disposition) โดยใช้วิธีการโอนเงินจากบัญชีของหน่วยงานดังกล่าวไปยังกองทุนริบทรัพย์หรือโดยการใช้ทรัพย์สินที่มิใช่เงินสดในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่หรือโดยขายทรัพย์ดังกล่าว ฯลฯ

กระบวนการริบทรัพย์ทางอาญา (Criminal Forfeiture Proceeding) ในประเทศสหรัฐอเมริกา46

          ในขณะที่การริบทรัพย์ทางแพ่งมุ่งเน้นตัวทรัพย์เป็นประธานของความผิด (property in rem) การริบทรัพย์ทางอาญามุ่งเน้นถึงตัวบุคคลซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญาโดยทรัพย์ที่ถูกริบนั้นถูกนำมาใช้หรือถูกตั้งใจให้นำไปใช้หรืออำนวยความสะดวกในการกระทำความผิดของผู้ต้องหา
          ข้อแตกต่างที่สำคัญของการริบทรัพย์ทางแพ่งและทางอาญาตามกฎหมายของประเทศอเมริกามีดังนี้
          1. การริบทรัพย์ในทางแพ่งไม่ขึ้นกับผลของการดำเนินคดีอาญากับผู้ต้องหา  ดังนั้นไม่ว่าผลการที่รัฐดำเนินคดีอาญากับผู้ต้องหาจะเป็นอย่างไร การริบทรัพย์ในทางแพ่งยังคงดำเนินกระบวนการไปได้ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ ในทางตรงกันข้ามการริบทรัพย์ทางอาญาถือเป็นโทษอย่างหนึ่งทางอาญา ดังนั้นผลของคดีอาญาจะมีความสำคัญที่จะกำหนดว่ารัฐจะริบทรัพย์ของผู้ต้องหาได้หรือไม่ หากผู้ต้องหาหรือจำเลยถึงแก่ความตาย โทษย่อมระงับไปตามกฎหมาย การริบทรัพย์จึงไม่สามารถทำได้โดยปริยาย
          2. มาตรฐานในการพิสูจน์การริบทรัพย์คดีอาญาจะมีภาระการพฺสูจน์ที่สู.กว่าคดีแพ่ง โดยโจทก์จะต้องพิสูจน์ให้ปราศจากข้อสงสัย (beyond reasonable doubt)
          3. ห้ามมิให้นำสืบพยานบอกเล่าในการต่อสู้ในคดีริบทรัพย์ทางอาญา
          4. กฎหมายที่เกี่ยวกับการริบทรัพย์ทางอาญาของประเทศสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่จะอนุญาตให้มีการสับเปลี่ยนหรือแทนที่ทรัพย์สินที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้กระทำผิดได้ในกรณีที่มีการปะปนกันของทรัพย์ที่มิชอบด้วยกฎหมายกับทรัพย์ที่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ สามารถยึดทรัพย์สินตามมูลค่าได้
          กระบวนการริบทรัพย์ทางอาญาของประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ภายใต้การบังคับใช้ของกฎหมาย Speedy Trial Act ซึ่งบังคับให้ต้องมีการพิจารณาคดีภายใน 70 วัน นับแต่วันที่จำเลยปรากฎตัวโดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
          1. ขั้นตอนก่อนการแจ้งข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวน ซึ่งรวมไปถึงการพิจารณาเหตุอันควรสงสัย การประเมินราคาทรัพย์และตรวจสอบเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์
          2. ขั้นตอนการออกหมายเพื่อใช้ในการสงวนรักษาทรัพย์บางประเภทก่อนจะมีการแจ้งข้อกล่าวหา
          3. การแจ้งข้อกล่าวหาในความผิดต่อสหพันธรัฐโดยคณะลูกขุนใหญ่ (Federal grandjury) ต่อผู้ต้องหา รวมถึงทรัพย์ที่เข้าข่ายจะถูกริบ
          4. ขั้นตอนการออกหมายเพื่อใช้ในการสงวนรักษาทรัพย์บางประเภทหลังที่มีการแจ้งข้อกล่าวหา
          5. ขั้นตอนที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลยกข้อกล่าวาที่สหพันธรัฐมีต่อจำเลย
          6. ขั้นตอนการพิจารณาชั้นศาลและมีคำสั่งให้ริบทรัพย์
          7. ออกคำสั่งเบื้องต้นให้ริบทรัพย์โดยศาล ซึ่งมีผลโดยตรงให้เจ้าหน้าที่ US Marshall มีอำนาจเข้ายึดทรัพย์ดังกล่าว
          8. ขั้นตอนการเข้ายึดทรัพย์ในเบื้องต้น, เก็บรักษาหรือประเมินราคาทรัพย์ที่ริบ
          9. ขั้นตอนที่เจ้าหน้าที่ US Marshal แจ้งคำสั่งเบื้องต้นในการริบทรัพย์ไปยังผู้เกี่ยวข้องกับทรัพย์และเปิดเผยต่อสาธารณะซึ่งใช้ระยะเวลา 30 วัน ยกเว้นกรณีที่มีการอ้างโต้แย้งกรรมสิทธิ์
        10. ขั้นตอนการพิจารณาคำร้องของผู้โต้แย้งกรรมสิทธิ์โดยผู้พิพากษา
        11. ออกคำสั่งถึงที่สุดให้ริบทรัพย์ในกรณีที่ศาลยกคำร้องของผู้โต้แย้งกรรมสิทธิ์ คำสั่งดังกล่าวมีรวมไปถึงการจำหน่ายหรือขายทอดตลาดทรัพย์ที่ถูกริบ
        12. การขอให้ศาลยกเลิกการริบทรัพย์ หากมีการยื่นคำร้องของผู้โต้แย้งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ถูกยึด สำนักงานอัยการสูงสุดมีอำนาจในการปล่อยทรัพย์ให้กับเจ้าของทรัพย์ที่ไม่รู้เห็นกับการกระทำผิดได้
        13. การจัดการหรือจำหน่ายทรัพย์โดยวิธีการโอนเงินสดจากหน่วยงานของสหพันธรัฐไปยังกองทุนการริบทรัพย์ หรือโดยการนำทรัพย์ที่มิใช่เงินสดมาใช้ในราชการ หรือขายทรัพย์ดังกล่าวไป ฯลฯ

หลักการผลการบังคับริบทรัพย์ย้อนหลัง (Relation Back Doctrine) ในประเทศสหรัฐอเมริกา

          หลัก relation back doctrine ถือว่าการริบทรัพย์มีผลย้อนหลังไปยังเวลาที่ทรัพย์ที่ถูกริบ
นั้นถูกใช้โดยผิดกฎหมาย หรือย้อนหลังไปถึงเวลาที่มีการกระทำให้เกิดการริบทรัพย์ได้ หลักดังกล่าวนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันกรณีที่อาชญากรเคลื่อนย้ายหรือหน่วงเหนี่ยวหรือซ่อนทรัพย์เพื่อมิให้ถูกยึดโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยผลของหลัก relation back doctrine นี้ กรรมสิทธิ์ของทรัพย์ที่ถูกริบจะตกเป็นของรัฐบาลตั้งแต่ในเวลาที่มีการกระทำให้เกิดการริบทรัพย์นั้น และส่งผลให้ผู้กระทำความผิดไม่อาจซ่อนหรือหน่วงทรัพย์ดังกล่าวให้พ้นจากการริบทรัพย์ได้ ข้อยกเว้นประการเดียวจากหลักนี้คือกรณีที่เจ้าของกรรมสิทธิ์อ้างในกรรมสิทธิ์ของทรัพย์ว่าไม่รู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดที่ก่อให้เกิดการริบทรัพย์นั้น ที่เรียกว่า "innocent owner"
          Innocent owner โดยหลักแล้วจะต้องเป็นบุคคลที่ไม่รู้เห็นหรือไม่ได้ยินยอมกับการกระทำความผิดและรวมไปถึงจะต้องไม่สามารถที่จะรู้ถึงการกระทำความผิดนั้นได้ ทั้งนี้ Innocent owner จะต้องพิสูจน์ความเป็นเจ้าของผู้บริสุทธิ์ในทรัพย์ที่ถูกริบในชั้นศาลดดยมาตรฐานการนำสืบประเภท preponderance of the evidence ซึ่งเป็นมาตรฐานการนำสืบที่ต่ำกว่า beyond reasonable doubt แต่สูงกว่า probable cause

การริบทรัพย์ในประเทศออสเตรเลีย48

          ประเทศออสเตรเลียมีกฎหมายที่เรียกว่า "Proceeds of Crime Art 1987" ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ระบบ conviction-based model กฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐในการติดตามยึด อายัด และริบทรัพย์ของผู้กระทำความผิด (criminal asset) เนื่องจากการใช้แนวความคิด conviction-based system นี้เองจึงห้ามมิให้มีคำสั่งริบทรัพย์หรือคำสั่งใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์จนบุคคลผู้กระทำความผิดจะถูกตัดสินว่าผิดหรือมีการพิสูจน์แล้วฟังได้ว่ามีความผิดเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม กฎหมายของประเทศออสเตรเลียให้อำนาจอัยการสูงสุด (Director of Public Prosecution) ในการระงับการเคลื่อนไหวในสิทธิของทรัพย์ที่ถูกยึดหลักจากผู้กระทำผิดถูกแจ้งข้อหาทางอาญา หรือภายใน 48 ชั่วโมง ก่อนที่จะมีการแจ้งข้อกล่าวหากับบุคคลดังกล่าว
          กฎหมาย Proceeds of Crime Act 1987 เป็นกฎหมายริบทรัพย์ของประเทศเครือจักรภพอังกฤษ กฎหมายนี้กำหนดให้รัฐมีอำนาจใช้มาตรการยึด อายัด และริบทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดอาญา หรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดอาญาตามที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะในมาตรา 81 และ 82 ของกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินไว้ โดยกำหนดด้วยว่าสถาบันการเงินจะต้องรักษา "ร่องรอยการเงิน" เอาไว้โดยต้องเก็บรักษาเอกสารที่เกี่ยวข้องไว้เป็นเวลาเจ็ดปี โดย
          มาตรา 81 กำหนดความผิดหลักสำหรับความผิดฐานฟอกเงิน โดยกำหนดโทษจำคุก 20 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 เหรียญออสเตรเลีย สำหรับบุคคลธรรมดา สำหรับนิติบุคคลปรับไม่เกิน 600,000 เหรียญออสเตรเลีย
          มาตรา 82 กำหนดความผิดในลักษณะไม่ร้ายแรงสำหรับการรับ หรือการครอบครองเงินหรือทรัพย์สินซึ่งต้องสงสัยว่าเป็นรายได้จากการกระทำความผิดอาญา โดยกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และ/หรือปรับไม่เกิน 5,000 เหรียญออสเตรเลีย สำหรับบุคคลธรรมดา หรือไม่เกิน 15,000 เหรียญออสเตรเลีย สำหรับนิติบุคคล
          โดยรวมแล้วเป้าหมายของกฎหมายฉบับนี้เพื่อให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐในการติดตามทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดและบั่นทอนอำนาจทางเศรษฐกิจของอาชญากรโดยอาศัยการริบทรัพย์เป็นเครื่องมือทางกฎหมาย
           อัยการสูงสุดของประเทศออสเตรเลียอาจใช้อำนาจในการริบทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดได้ภายใต้มาตรา 19 ของกฎหมาย Proceeds of Crime Act 1987 เมื่อปรากฎว่าผู้ต้องกระทำความผิดถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อกล่าวหาที่เป็นความผิดต่อกฎหมายสหพันธรัฐของประเทศออสเตรเลีย คำว่า "ทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด" ("Tainted property") ตามกฎหมายฉบับนี้หมายถึง "ทรัพย์ที่ถูกนำไปใช้หรือที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดหรือได้จากการกระทำความผิด เช่น ทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ตามมาตรา 19(3) ของกฎหมายดังกล่าว หากจะมีการออกคำสั่งริบทรัพย์ที่ระบุอย่างเฉพาะเจาะจงนั้น ศาลจะต้องใช้ดุลพินิจอย่างละเอียดรอบคอบว่าการริบทรัพย์เช่นว่านั้นจะกระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลอื่นด้วยหรือไม่
          มาตรา 26 ของกฎหมาย Proceeds of Crime 1987 ให้อำนาจอัยการสูงสุดที่จะออกคำสั่งที่เรียกว่า "Pecuniary penalty orders"49 โดยสามารถริบกำไรที่ได้จากการกระทำความผิดให้ตกเป็นของเครือจักรภพอังกฤษ (the Commonwealth) ได้ด้วย โดยสามารถบังคับใช้ได้กับทรัพย์สินใดของบุคคลใด ๆ ก็ตามที่พิสูจน์ว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ซึ่งศาลของสหพันธรัฐจะเป็นผู้ประเมินว่าค่าของรายได้หรือกำไรจากการกระทำความผิดนั้น ๆ เป็นจำนวนเท่าไร

ร่างกฎหมาย Proceed of Crime 2001 ของประเทศออสเตรเลีย

          ในปี พ.ศ. 2544 รัฐบาลกลางของประเทศออสเตรเลียได้มีความพยายามที่จะผ่านร่างกฎหมาย Proceeds of Crime Bill 2001 โดยร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ตระหนักถึงการริบทรัพย์อันถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะปราบปรามอาชญากรรมระดับองค์กร ซึ่งกฎหมายฉบับดังกล่าวให้เป็นอำนาจของอัยการสูงสุดที่เรียกว่า "the Commonwealth Driector of Public Prosecutions("DPP") ที่จัดการภายใต้กฎหมายดังกล่าว
          ตามร่างกฎหมาย Proceeds of Crime 2001 นั้นได้ยอมรับแนวความคิดเรื่อง "การริบทรัพย์ทางแพ่ง" (civil forfeiture) มาใช้ด้วย ทั้งนี้ ตามกฎหมายฉบับนี้นั้นมาตรฐานภาระการพิสูจน์ทางแพ่งเพื่อใช้ในการริบทรัพย์ของผู้กระทำความผิด แม้ว่าจะไม่มีคำพิพากษาของศาลเกี่ยวกับผู้กระทำความผิดก็ตาม ส่วนทรัพย์ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดที่อยู่ในข่ายที่จะริบ (proceeds) ตามกฎหมายฉบับนี้นั้น ได้แก่ ทรัพย์ที่ได้มาโดยทั้งหมดหรือบางส่วนจากการกระทำความผิดแม้ว่าจะเป็นการได้มาจากการซื้อขายกันก็ตาม เครื่องมือที่ใช้ในการกระทำความผิด (instrument) หมายถึงเครื่องมือหรืออุปกรณ์ใด ๆ ที่ถูกใช้ในการกระทำความผิด หรือที่ผู้กระทำความผิดมีเจตนาที่จะใช้เพื่อกระทำความผิดแม้ว่าจะยังมิได้มีการใช้ก็ตาม และหมายความรวมถึงเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดด้วย ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ต้องการที่จะขยายความให้ครอบคลุมทรัพย์ที่ใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด และแม้ว่าทรัพย์ที่ถูกริบนั้นจะยังไม่ได้ถูกใช้ในการระทำความผิด แต่หากรัฐมีหลักฐานพิสูจน์ต่อศาลได้ว่าทรัพย์นั้นถูกเตรียมเพื่อจะนำมาใช้ในการกระทำความผิด ทรัพย์ดังกล่าวก็เข้าข่ายที่จะถูกริบตามกฎหมายฉบับนี้ได้
          ขั้นตอนและวิธีการริบทรัพย์ตามร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ
          (1) ความผิดอาญาทั่วไป (indictable offence) เมื่อบุคคลใดต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดทางอาญาต่อสหพันธรัฐ บุคคลดังกล่าวอาจต้องถูกริบทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้น หรือถูกปรับตามจำนวนเท่ากับผลกำไรที่ได้จากการกระทำความผิดดังกล่าว และเครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดที่ถูกนำมาใช้ในการกระทำความผิดนั้นอยู่ในข่ายที่จะริบได้
          (2) ความผิดอาญาร้ายแรง (serious offence) เมื่อผู้ใดต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิดอาญาร้ายแรง ทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดของบุคคลดังกล่าวจะถูกริบเป็นของรัฐ ทั้งนี้ ภาระการพิสูจน์จะตกอยู่กับผู้กล่าวอ้างทรัพย์นั้นคืน โดยต้องพิสูจน์ว่าทรัพย์นั้นได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย ทรัพย์หรือเครื่องมือใด ๆ ที่ถูกนำมาใช้ในการกระทำความผิดก็อาจถูกริบได้ตามกฎหมาย
          (3) การริบทรัพย์ทางแพ่ง (civil forfeiture) บุคคลใด ๆ อาจต้องคำสั่งศาลให้ริบทรัพย์ทางแพ่งนี้ได้ เมื่อรัฐพิสูจน์ได้ว่าตัวทรัพย์นั้นเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดที่ถูกกล่าวหา การริบ ทรัพย์ทางแพ่งนี้แสดงให้เห็นว่าในปัจจุบันประเทศออสเตรเลียก็ยอมรับหลักการริบทรัพย์ในทางแพ่งซึ่งมองทรัพย์เป็นประธานของการกระทำความผิด แม้ว่ารัฐไม่อาจพิสูจน์ความผิดของผู้กระทำความผิดได้ อย่างไรก็ตามข้อแตกต่างที่สำคัญของการริบทรัพย์ทางแพ่งก็คือ รัฐไม่อาจริบเครื่องมือหรืออุปกรณ์ของผู้กระทำความผิดได้เช่นตามข้อ (1) และ (2) ตามที่ได้กล่าวมา ทั้งเนื่องมาจากการจะริบเครื่องมือหรือ อุปกรณ์ของผู้กระทำความผิดได้นั้นจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อได้มีการพิสูจน์ให้ศาลเห็นแล้วว่าผู้ต้องหากระทำความผิด ทั้งนี้ เป็นไปตามระบบ (conviction-based system)
          นอกจากนี้กฎหมายในการริบทรัพย์ของประเทศออสเตรเลียนั้นมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับกฎหมายที่สำคัญดังนี้
          1. กฎหมาย Cash Transaction Report Act 1988 ได้ปรับปรุงแก้ไขและเปลี่ยนชื่อเป็น
Financial Transaction Report Act 1988-FTR Act โดยกฎหมาย Cash Transaction Report Act 1988 ได้กำหนดให้มีหน่วยงานที่เรียกว่า Cash Transaction Report Agency (CTRA) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือการสืบสวนผู้หลบเลี่ยงภาษีและผู้กระทำความผิดซึ่งนำเงินรายได้จากอาชญากรรมเข้าสู่ระบบ
การเงิน นอกจากนี้ยังมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนการติดตามแหล่งที่มาของรายได้จากอาชญากรรมและการให้รายงานการโอนเงินสด ทั้งนี้ได้อาศัยประสบการณ์ของประเทศสหรัฐอเมริกาตามกฎหมาย Bank Secrecy Act (1970) โดยหน่วยงาน CTRA มีหน้าที่ตรวจสอบการโอนเงินสดของผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับเงินสด อย่างไรก็ตาม ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม กฎหมายดังกล่าวโดยขยายให้การรายงานรวมไปถึงคำสั่งให้โอนเงินระหว่างประเทศ (International Funds Transfer Instruction - IFTI) เข้าสู่หรือออกจากประเทศออสเตรเลียโดยทางเครื่องมืออิเลคโทรนิกหรือโทรเลขด้วย ซึ่งการเพิ่มอำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน CTRA เช่นนี้ เป็นผลให้มีการเปลี่ยนชื่อของ CTRA ใหม่กลายเป็นชื่อว่า "Austrac" ในที่สุด
          2. กฎหมาย Telecommunications (Interception)-Amendment Act 1987 เป็นกฎหมาย
ที่เพิ่มอำนาจในการติดตามและรับทราบข่าวทางอุปกรณ์สื่อสาร เช่นโทรศัพท์ซึ่งแต่เดิมนั้นมีการใช้วิธีการนี้สำหรับความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดบางประการ ต่อมาได้กำหนดให้หน่วยงานที่จำเป็นต้องติดตามและลอบฟังการสื่อสารเท่านั้นที่สามารถขออนุญาตได้คือหน่วยงานที่เรียกว่า Australian Federal Police เท่านั้น
          3. กฎหมาย Mutual Assistance in Criminal Matters Act 1987 หรือกฎหมายความ
ร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา เป็นกฎหมายที่ออสเตรเลียมีความมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงแก้ไขตั้งแต่ปี ค.ศ. 1985 ทั้งในลักษณะความตกลงสองฝ่ายและความตกลงหลายฝ่าย โดยเฉพาะอาชญากรรมซึ่งมีลักษณะเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ เป็นผลให้ต้องขจัดปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับเขตอำนาจอธิปไตยในการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความผิดโดยให้มีความร่วมมือระหว่างรัฐในการดำเนินคดีอาญาตามที่กำหนดไว้ กฎหมายดังกล่าวได้กำหนดหลักการพื้นฐานด้านกฎหมายสำหรับประเทศออสเตรเลียในการทำความตกลงกับประเทศต่างๆ โดยแต่ละฝ่ายสามารถร้องขอความช่วยเหลือในการสืบสวนสอบสวน ฟ้องคดี และดำเนินคดีทางอาญาอันเป็นผลให้คำสั่งยึด อายัดและริบทรัพย์ของประเทศออสเตรเลียสามารถดำเนินการบังคับได้นอกอาณาเขต และประเทศอื่นๆ ก็สามารถดำเนินการได้เช่นเดียวกัน

การริบทรัพย์ในประเทศแคนาดา50

          แนวความคิดเรื่องการริบทรัพย์ของประเทศแคนาดานั้นแตกต่างไปจากของประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมองว่าการริบทรัพย์ของบุคคลซึ่งยังมิได้ต้องคำพิพากษาของศาลว่ากระทำความผิดนั้นเป็นการไม่สมควรเนื่องจากเป็นการกระทำที่ยังไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม และปฏิเสธแนวความคิดที่มีการริบทรัพย์ของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายปกครองโดยยังไม่ผ่านกระบวนการทางศาล อย่างไรก็ตามเนื่องจากความจำเป็นทางด้านภูมิศาสตร์ที่ประเทศแคนาดามีอาณาเขตดินแดนติดกับประเทศสหรัฐอเมริกา และยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องระหว่างกันจำนวนมาก ปัญหาการฟอกเงินที่เกิดจากการทำธุรกิจของทั้งสองประเทศนี้จะยากที่จะแก้ไขหากไม่มีความร่วมมือกันของทั้งสองประเทศ ดังนั้นหากประเทศสหรัฐอเมริกาผ่านกฎหมายว่าด้วยการริบทรัพย์อย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ประเทศแคนาดาจึงไม่มีกฎหมายเรื่องการริบทรัพย์เพื่อต่อต้านกับปัญหาดังกล่าว ความกดดันนี้เองที่เป็นเหตุสำคัญให้ประเทศแคนาดาต้องเข้าร่วมให้ความสำคัญเรื่องการริบทรัพย์ โดยเฉพาะเมื่อประเทศสหรัฐอเมริกาได้ผ่านร่างกฎหมาย RICO ในช่วงปี ค.ศ. 1970 อย่างไรก็ตามหลักการสำคัญของการริบทรัพย์ของประเทศแคนาดายังคงแตกต่างจากของประเทศสหรัฐอเมริกา คือ การริบทรัพย์ของประเทศแคนาดาตั้งอยู่บนพื้นฐานของการที่มีคำวินิจฉัยของศาลยุติธรรมว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดขึ้นแล้วก่อนที่จะให้อำนาจรัฐในการริบทรัพย์ของผู้กระทำความผิด (conviction-based-system)

การให้ความช่วยเหลือทางอาญาซึ่งกันและกันของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (European Union)51 ความเป็นมา

          การให้ความร่วมมือทางอาญาในประเทศยุโรปได้มีการพัฒนาการอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดพัฒนาการอย่างรวดเร็วดังกล่าวเนื่องมาจากการร่วมกันแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในกลุ่มประเทศยุโรปภายใต้บังคับแห่งอนุสัญญาที่เรียกกันว่า "Treaty of Maastricht" ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2536 และกำหนดให้ความร่วมมือทางกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นวัตถุประสงค์หลังของ "ผลประโยชน์ร่วมกัน" ของประเทศสมาชิกในกลุ่มสหภาพยุโรป52
          ก่อนหน้าที่จะมีอนุสัญญาดังกล่าว ความร่วมมือในด้านกฎหมายอาญา (criminal law co-operation) ได้มีมาในยุโรปตั้งแต่ปี ค.ศ. 1957 ภายใต้การทำงานของ Council of Europe, องค์กรระหว่างประเทศทั้งในรูปแบบของ international และ intergovernmental organization ซึ่งมีประเทศสมาชิกจำนวน 41 ประเทศ โดยประเทศสมาชิกจำนวน 15 ประเทศจากกลุ่มสหภาพยุโรป และกลุ่มประเทศยุโรปตอนกลางและยุโรปตะวันออกเช่น ประเทศฮังการี, โปแลนด์. สหภาพโซเวียต และยูเครน
          ต่อมาเมื่อช่วงปี ค.ศ. 1970 ได้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างชัดเจนเพื่อพยายามแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายระหว่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศอิตาลี. สเปน และเยอรมัน จนกระทั่งช่วงปี ค.ศ. 1980 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจำนวนหนึ่งได้สร้างมาตรการความร่วมมือระหว่างกันทางอาญาให้มีทิศทางที่ชัดเจนและเป็นทางการมากขึ้นโดยกำหนดให้มี working group ในการทำงานของ the European Political Co-operation ตามกฎหมายของสหภาพยุโรปที่เรียกว่า the Single European Act in 1987 และมีการบัญญัติข้อตกลงที่เรียกว่า Schengen Implementation Agreement หรือ schengen Convention ในปี ค.ศ. 1990 ข้อตกลงดังกล่าวได้รับการยอมรับว่าเป็นหลักการสำคัญสำหรับประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป โดย Schengen Convention มีผลผูกพันประเทศสมาชิก 13 ประเทศในจำนวน 15 ประเทศ ยกเว้นประเทศอังกฤษและไอร์แลนด์ ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวมีผลใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2542 ใน the Treaty of Amsterdam
          ความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปทางอาญาตาม Schengen agreement มีเป้าหมายหลักในการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหลังจากที่กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปได้เปิดพรมแดนให้มีการผ่านและเข้าออกได้อย่างเสรี โดยความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยป้องกันและปราบปรามการผ่านเข้าออกระหว่างประเทศสมาชิกโดยผิดกฎหมายและอาชญากรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ได้กำหนดมาตรการขึ้นมาที่เรียกว่า "compensatory measures" เพื่อช่วยในการให้ความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกัน

หลักการพื้นฐาน

          กฎหมายหลักในเรื่องการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปได้กำหนดอยู่ในอนุสัญญา the Council of Europe Convention of 1959 on Mutual Assistance in Criminal Matters ซึ่งต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดย protocol of 1978 โดยหลักการแล้วการร้องขอความช่วยเหลือทางกฎหมายทุกประเภทภายในกลุ่มประเทศยุโรปต้องอยู่ภายใต้หลักการพื้นฐานของอนุสัญญาดังกล่าว อนุสัญญาดังกล่าว(กำหนดให้ขยายรวมถึงการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในการดำเนินกระบวนการทางอาญาในขอบเขตที่กว้างที่สุด โดยกำหนดให้ประเทศที่ถูกร้องขอให้ดำเนินการโดยวิธีการใช้ letters rogatory เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานที่จะต้องใช้ในการดำเนินคดีอาญา นอกจากนี้ยังได้กำหนดให้มีการส่งมอบเอกสารในชั้นศาลและการนำพยานบุคคล, พยานผู้เชี่ยวชาญ และผู้ต้องหาเพื่อดำเนินคดีอาญา
          อนุสัญญาดังกล่าวได้กำหนดหลักการสำคัญโดยให้มี "ผู้ประสานงานกลาง" (Central Authority) ซึ่งได้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของประเทศสมาชิก ในกรณีที่เร่งด่วนหน่วยงานทางตุลาการ (judicial authority) อาจขอความช่วยเหลือโดยใช้วิธีการใช้ letter rogatory ไปยังหน่วยงานทางตุลาการของประเทศผู้รับคำร้องโดยตรง ทั้งนี้อาจขอความร่วมมือในการใช้ตำรวจสากล (Interpol) เพื่อช่วยเหลือทางอาญา อย่างไรก็ตามเมื่อประเทศผู้รับคำร้องขอดำเนินการเสร็จแล้วต้องส่ง letter rogatory กลับประเทศผู้ร้องโดยผ่าน Central Authority หรือผู้ประสานงานกลาง
          ตามอนุสัญญาดังกล่าวประเทศสมาชิกอาจปฏิเสธคำร้องซึ่งกระทบกระเทือนกับผลประโยชน์และความมั่นคงของประเทศและความผิดเกี่ยวกับการเมืองและงบประมาณของประเทศ ซึ่งต่อมา Protocol ปี 1978 ได้ยกเลิกข้อยกเว้นเกี่ยวกับความผิดที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณของประเทศออกไป อย่างไรก็ตามประเทศที่ลงนามในอนุสัญญาฉบับนี้อาจปฏิเสธคำร้องขอให้ยึดและอายัดทรัพย์สินบนพื้นฐานดังนี้
          (1) การดำเนินคดีซ้ำ (double criminality)
          (2) ความผิดที่ไม่อาจส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ (non-extraditionable offence) หรือ
          (3) กรณีที่ไม่ใช่ความผิดของประเทศผู้รับคำร้อง (non-compatibility with its law)
          อนุสัญญาปี 1959 ได้มีกฎหมายของประเทศสหภาพยุโรปอีกหลายฉบับที่ออกมา
สนับสนุนและบังคับใช้ในภายหลัง เช่น the special arrangements between the Nordic countries and the Benelux Treaty of 1962 (แก้ไขโดย Protocol of 1974) มีบทบัญญัติในเรื่องการให้ความช่วยเหลือทางอาญาไว้ใน the 1990 Council of Europe Convention on money laudering, search, seizure and cofiscation of the proceeds from crime และยังมีความร่วมมือทางอาญาไว้ใน Schengen Convention of 1990 อีกด้วย
          Schengen agreement มีข้อสังเกตที่สำคัญว่าข้อตกลงดังกล่าวจะไม่ใช้บังคับกับประเทศอังกฤษและประเทศไอร์แลนด์ อย่างไรก็ตามมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนบังคับใช้ในอนาคต บทบัญญัติเรื่องความร่วมมือทางอาญาตาม Schengen Convention ถูกกำหนดให้เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการบังคับใช้อนุสัญญาปี ค.ศ. 1959 และ the Benelux Treaty ซึ่งถือเป็นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงความร่วมมือทางอาญาของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปครั้งสำคัญ โดย Schengen Convention ได้วางมาตรการที่สำคัญไว้ดังนี้
          (1) การให้ความช่วยเหลือทางอาญาให้รวมไปถึงกระบวนการบริหารทางปกครอง
(administrative proceedings) ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีอาญาด้วย (Article 49)
          (2) กำหนดให้มีความร่วมมือทางอาญาเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีบริโภคและ
ภาษีสรรพสามิต, ภาษีมูลค่าเพิ่ม และงานเกี่ยวกับศุลกากร (Article 50)
          (3) การปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือสำหรับการค้นและยึดถูกจำกัดเช่นเดียวกับ
อนุสัญญา ค.ศ. 1959 (Article 51)
          (4) ให้มีการส่งเอกสารชั้นศาลโดยตรงไปยังประเทศสมาชิก (Article 52)
          (5) คำร้องขอให้ช่วยเหลือทางอาญาอาจถูกส่งโดยตรงไปยังหน่วยงานตุลาการของ
ประเทศผู้รับคำร้อง (Article 53)
          ภายในประเทศกลุ่มสมาชิกยุโรป การให้ความช่วยเหลือทางอาญาระหว่างประเทศสมาชิกได้ถูกมากโดยเฉพาะเมื่อได้มีการบังคับใช้ของอนุสัญญา Maastricht Treaty ซึ่งมีการกำหนดรูปแบบการให้ความร่วมมืออย่างเป็นทางการ โดยมีลำดับขั้นตอนดังนี้
          (1) ในปี ค.ศ. 1997 The EU Council ได้จัดตั้ง Action Plan โดยมุ่งในการต่อสู้กับ
อาชญากรรมที่จัดตั้งขึ้นในรูปองค์กร โครงการดังกล่าวใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ, ศุลกากร และความร่วมมือทางตุลาการระหว่างประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป นอกจากนี้ยังรวมถึงการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินด้วย
          (2) ในปี ค.ศ. 1998 ได้มีการจัดตั้ง the 1998 Action Plan of EU Council and the
Commission on how best to implement the provisions of the Amsterdam Treaty on an area of freedom, security and justice โครงการดังกล่าวถือเป็นการเร่งสนับสนุนให้มีการพัฒนาการให้ความช่วยเหลือในกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศสมาชิก โดยเฉพาะในการปฏิบัติการของตำรวจสากล
          (3) ในเดือนธันวาคมปี ค.ศ. 1997 the EU Council ได้จัดตั้ง Joint Action โดยเป็นการ
สร้างรูปแบบการประเมินการบังคับใช้กฎหมายของประเทศสมาชิกเรื่องให้ความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันและปราบปรามองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ Joint Action ยังได้กำหนดให้มีการประเมินประเทศสมาชิกว่าได้มีการให้ความช่วยเหลือทางอาญาตามที่ถูกร้องขอเพียงใด การประเมินดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการสร้างมาตรการที่เข้มแข็งในการให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศ และความจำเป็นในการสร้างกฎหมายและระเบียบฝ่ายบริหารในกฎหมายภายในของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอีกด้วย
          (4) ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1998 the EU Council ได้จัดตั้ง Joint Action on Money
Laundering, the identification of instrumentalities and the proceed of crime ขึ้นมา มาตรการดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการบังคับตามอนุสัญญา The 1990 Council of Europe Convention on Money Laundering และ The 1998 United Nations Convention against illicit traffic in narcotic drugs and psychotropic substances
          เมื่อประมาณกลางปี ค.ศ. 1998 คณะกรรมการสหภาพยุโรป (The EU Council) ได้ออกบังคับมาตรการที่สำคัญ 2 มาตรการ คือ
               (ก.) A Joint Action on the Creation of the European Judicial Network
โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลักในการสร้างเครือข่ายติดต่อระหว่างกันในกระบวน
การยุติธรรมระหว่างประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปและผู้ประสานงานกลางเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการให้ความช่วยเหลือทางอาญาและสร้างการประสานงานอย่างใกล้ชิดโดยวิธี direct contacts ทั้งนี้จะต้องมีการประชุมเป็นประจำที่กรุง Brussels เพื่อประชุมหารือและแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ
               (ข.) A Joint Action on Good Practice in Mutual Legal Assistance in Criminal Matter
          โครงการดังกล่าวจัดตั้งขึ้นโดยมุ่งหวังให้ประเทศสมาชิกแห่งสหภาพยุโรปปฏิบัติการให้
ความช่วยเหลือทางอาญาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะมีการตรวจสอบการปฏิบัติงานอย่างเป็นประจำทุกระยะเพื่อปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ
          (5) The EU Council ยังได้จัดตั้งอนุสัญญา The Convention on Mutual Assistance and Co-operation between Customs Authorities (Naples II) ในปี คศ.1997 อนุสัญญาดังกล่าวำมีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศด้วย โดยได้วางหลักเกณฑ์ที่สำคัญไว้ว่า ในกรณ๊ที่มีการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาขึ้นในอาณาเขตใต้บังคับแห่งอนุสัญญาฉบับนี้หรือภายในบังคับของหน่วยงานทางตุลาการใด ให้หน่วยงานทางตุลาการที่มีเขตอำนาจเหนือนั้นมีอำนาจตัดสินใจว่าการปฏิบัติตามคำร้องขอความช่วยเหลือนั้นจะอยู่ภายใต้บังคับของอนุสัญญาฉบับนี้ หรือจะบังคับตามข้อกำหนดที่เกี่ยวกับการให้ความร่วมมือทางอาญาโดยทั่วไปตามปกติ
          (6) มาตรการที่สำคัญประการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการให้ความช่วยเหลือทางอาญาได้ถูกกำหนดขึ้นในเดือนเมษายน ปี คศ. 1996 เรียกว่า "Joint Action" กำหนดให้มีสำนักงานติดต่อของข้าราชการตุลาการ (Iiaison magistrates) โดยมุ่งหมายเพื่อพัฒนาการความร่วมมือทางกระบวนการตุลาการภายในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป โดยในปัจจุบันมีสำนักงาน Iiaison magistrates ในประเทศฝรั่งเศส,เยอรมัน,อิตาลี,เนเธอร์แลนด์ และสเปน
          ในปัจจุบัน the EU Council Working party on Co-operation in Criminal Matters ได้มีความพยายามร่วมกันพัฒนาความร่วมมือทางอาฯาระหว่างประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปโดยการผ่านร่างอนุสัญญาขึ้นมาใหม่ที่เรียรว่า Draft Convention on Mutual Assistance in Criminal Matters Between Member States of the European Union อนุสัญญาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นเครื่องมือในการบังคับใช้อนุสัญญาที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้แก่ อนุสัญญาปี คศ.1959 อนุสัญญา Benelux และอนุสัญญา Schengen ทั้งนี้ร่างอนุสัญญาใหม่ดังกล่าวมีบทบัญญัติที่สำคัญดังนี้
          1. การพัฒนาต่อเนื่องจากอนุสัญญา Schengen
          Article 2 การให้ความช่วยเหลือทางอาญาให้การขยายรวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือในขั้นการดำเนินงานของฝ่ายบริหารที่อาจเกี่ยวข้องกับกระบวนการชั้นศาลต่อไป
          Article 5 ให้มีการจัดส่งเอกสารที่ใช้ในชั้นศาลจากประเทศสมาชิกด้วยกันโดยวิธีการไปรษณีย์
          Article 6 อนุญาตให้มีการส่งคำร้องขอโดยตรงระหว่างหน่วยงานทางตุลาการของประเทศสมาชิก อย่างไรก็ตามบางทีกรณีอาจให้ส่งคำร้องขอความช่วยเหลือผ่านผู้ประสานงานกลางได้
          Article 7 ให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างประเทศสมาชิกโดยตรง
          Article 12 อนุญาตให้ใช้วิธีการ Control Delivery ในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ
          2. กรณีในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับอนุสัญญา Schegen
          Article 4 ประเทศผู้รับคำร้องขอต้องปฏิบัติตามวิธีการที่กำหนดไว้ในคำร้อง ยกเว้นแต่การปฏิบัติดังกล่าวจะขัดต่อหลักกฎหมายพื้นฐานของประเทศผู้รับคำร้อง ซึ่งหลักดังกล่าวถือเป็นพัฒนาการใหม่สำหรับการให้ความช่วยเหลือทางอาญาระหว่างประเทศและเป็นที่เชื่อว่าจะทำให้เกิดผลสำเร็จในการให้ความช่วยเหลือทางอาญาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีชื่อว่า "Forum Regit Actum"
          Article 9 ของอนุสัญญาปี คศ.1959 เป็นเรื่องที่ประเทศผู้ร้องขอต้องการให้บุคคลผู้ถูกคุมขังอยู่ในประเทศผู้รับคำร้องมาดำเนินคดีในประเทศผู้ร้อง ส่วน Article 9 เป็นกรณีที่ประเทศผู้ร้องต้องการที่จะเคลื่อนย้ายบุคคลที่ถูกคุมขังในประเทศของตนไปยังประเทศผู้รับคำร้องเพื่อดำเนินคดีอาญา
          Article 10 ได้กำหนดวิธีการรับฟังพยานในชั้นศาลโดยวิธีการ vidio conference และถือเป็นก้าวหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาความร่วมมือทางอาญาของอนุสัญญานี้
          Article 11 เกี่ยวข้องกับการรับฟังพยานบุคคลและพยานผู้เชี่ยวชาญโดยวิธีการใช้ telephone conference
          Article 12, 13 และ 14 กำหนดวิธีการใช้มาตรการ controlled delivery, Joint investigation teams และ covert investigations ตามบทบัญญัติแห่ง Naples II Convention มาตรการดังกล่าวยังเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับวิธีการในการป้องกันและปราบปรามองค์กรอาชญากรรมและการแก้ไขช่องว่างในทางปฏิบัติระหว่างหน่วยงานตุลาการของประเทศสมาชิก และความร่วมมือระหว่างตำรวจสากล
          Article 15 ถึง 20 กำหนดการดักฟังการสื่อสารโดยวิธีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ดาวเทียม เพื่อเข้าถึงการสื่อสารขององค์การอาชญากรรม อย่างไรก็ตาม อนุสัญญาดังกล่าวได้ตระหนักถึงการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้วย
          ปัญหาเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศทางอาญาในกลุ่มประเทศสมาชิกยุโรป คือ ความไม่ชัดเจนระหว่างการให้ความช่วยเหลือทางอาญา และความร่วมมือในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจสากล เจ้าหน้าที่ศุลกากร และ joint investigation teams และปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งคือ ความไม่ชัดเจนทางข้อกฎหมายสำหรับผู้ปฏิบัติ โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ปฏิบัติต้องการรู้ว่าข้อกฎหมายใดที่เกี่ยวข้องกับการให้ความช่วยเหลือดังกล่าว และหน่วยงานใดหรือบุคคลใดที่มีอำนาจรับผิดชอบให้การปฏิบัติตามคำร้องความช่วยเหลือทางอาญา

การให้ความช่วยเหลือทางอาญาซึ่งกันและกีนของประเทศสหรัฐอเมริกา53

          ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ใช้วิธีการร่วมมือช่วยเหลือระหว่างประเทศในการดำเนินคดีอาญาเป็นจำนวนมาก โดยใช้วิธีการที่สำคัญดังนี้
          1. การให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศของเจ้าหน้าที่ตำรวจสากล (Police to Police Assistance)
          ความร่วมมือระหว่างประเทศในทางปฏิบัติส่วนใหญ่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาใช้นั้นเป็นการปฏิบัติร่วมกันของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตั้งขึ้นเฉพาะกิจระหว่างประเทศผู้ร้องและประเทศผู้รับคำร้องที่เรียกกันว่า cop to cop cooperation โดยไม่ตั้งอยู่บนเงื่อนไขบังคับของอนุสัญญาใดโดยเฉพาะหรือข้อตกลงระหว่างประเทศ แต่การให้ความช่วยเหลือดังกล่าวอาจอาศัยหลักต่างตอบแทนหรือผลประโยชน์ร่วมกันในการป้องกันอาชญากรรม หน่วยงานที่เป็นปัจจัยสำคัญในความร่วมมือดังกล่าวคือ The International Criminal Police Organization หรือ INTERPOL หน่วยงานดังกล่าวประกอบด้วย National Central Bureaus ซึ่งมาจากหน่วยงานตำรวจของประเทศสมาชิก โดย INTERPOL ทำหน้าที่เป็นหน่วนประสานงานระหว่างประเทศในการให้ความช่วยเหลือทางด้านข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการสืบสวนสอบสวนคดีอาญา
          2. Letters Rogatory
          แม้ว่าการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบ police to police liaison จะเป็นประโยชน์เป็น
อย่างมากในทางปฏิบัติ แต่ยังมีบางกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจของประเทศผู้รับคำร้องไม่อาจปฏิบัติตามคำร้องได้โดยปราศจากคำสั่งศาลหรือกระบวนการชั้นศาล ในกรณีดังกล่าวนี้จึงมีความจำเป็นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องขอความช่วยเหลือจากศาล
          Letter rogatory เป็นคำร้องจากศาลในประเทศผู้ร้องไปยังศาลของประเทศผู้รับคำร้องเพื่อขอให้ดำเนินการใช้อำนาจศาลในการช่วยเหลือศาลของประเทศผู้ร้อง ในขณะที่กระบวนการใช้ letter rogatory เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันและหว่างศาลต่างประเทศ ศาลในประเทศผู้ร้องขออาจออก letter ragatory ในนามของหน่วยงานตำรวจหรืออัยการของประเทศผู้ร้องได้ โดยรวบรวมและทุกประเทศมีกฎหมายเกี่ยวกับการบังคับใช้ letter rogatory หรือให้อำนาจศาลในการบังคับ letter rogatory ในฐานะที่เป็นมารยาทที่ดีในทางปฏิบัติระหว่างประเทศ
          3. Mutual Legal Assistance Treaties
          มาตรการให้ความร่วมมือระหว่างประเทศที่สำคัญนอกเหนือจากการใช้วิธี
letter rogatory คือการใช้อนุสัญญาเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือทางอาญา (mutual legal assistancr treaties หรือ MLATs ประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีอนุสัญญา MLAT กับประเทศอื่น ๆ จำนวน 31 ประเทศอันได้แก่ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์, ตุรกี, อิตาลี, เนเธอร์แลนด์, แคนาดา, เม็กซิโก, บาฮามาส์, ประเทศในเครือจักรภพ หมู่เกาะเคย์แมน, รัฐบริเวณหมู่เกาะแคริบเบี่ยน, ไทย, โมรอคโค, สเปน, อาร์เจนตินา, จาไมกา, อุรุกวัย, ปานามา, ฟิลิปปินส์, ฮังการี, เกาหลี, ออสเตรีย, อิสราเอล, แอนติกัว, ลิธัวเนีย, St.Vincent and the Grenadines, Grenada, Latvia, โปแลนด์, ออสเตรเลีย, ตรินิแดด, เบลเยี่ยม, ฮ่องกง และอยู่ระหว่างที่จะลงนามในอนุสัญญากับอีก 23 ประเทศ
          อนุสัญญา MLAT กำหนดภาระหน้าที่ของสมาชิกในการที่จะต้องให้ความช่วยเหลือทางอาญาต่อประเทศผู้ร้องในประเด็นที่สำคัญดังนี้
          (1) ส่งมอบเอกสารเกี่ยวกับบัญชีในธนาคารและเอกสารทางการเงิน
          (2) สืบสวนสอบสวนพยานบุคคล และส่งมอบคำให้การในชั้นสอบสวนหรือคำเบิกความ
ชั้นศาลของพยาน
          (3) ส่งมอบเอกสารหรือสำเนาเอกสารของทางราชการ รวมถึงรายงานการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
          (4) เคลื่อนย้ายบุคคลที่ถูกคุมขังจากประเทศสมาชิกด้วยกัน
          (5) ค้นและยึดทรัพย์
          (6) อายัดทรัพย์ที่เกี่ยวกับการกระทำผิดทางอาญาและส่งมอบคืน (repatriate) เจ้าของ
ที่แท้จริง
          กฎหมาย MALT ของประเทศสหรัฐอเมริกาไม่จำกัดการให้ความช่วยเหลือเพียงเท่าที่กำหนดไว้ในอนุสัญญากับประเทศสมาชิก แต่ยังอาจนำวิธีการและรูปแบบการให้ความช่วยเหลือวิธีอื่นมาบังคับใช้ได้เท่าที่ไม่ขัดกับกฎหมายของประเทศผู้รับคำร้อง ในขณะที่อนุสัญญา MLAT ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทำกับประเทศสมาชิกแตกต่างกันไป แต่กฎหมาย MLAT แต่ละฉบับมีหลักการพื้นฐานสำคัญ 5 ประการ ที่ส่งผลให้การปฏิบัติตามคำร้องตาม MLAT บรรลุวัตถุประสงค์ได้รวดเร็วและเห็นผลชัดกว่าความร่วมมือระหว่างประเทศโดยวิธีการอื่น ดังนี้
          (1) ขอบเขตของ MLAT
          อนุสัญญา MLAT ทุกฉบับจะมีขอบเขตจำกัดในการให้ความช่วยเหลือทางอาญา
อย่างไรก็ตาม การให้ความช่วยเหลือในช่วงแรกของการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะก่อนหน้าที่จะมีการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาซึ่งถือเป็นการลดช่องว่างที่วิธีการใช้ letters rogatory ใช้บังคับไม่ได้ในชั้นนี้
          (2) การปฏิเสธคำร้อง
          อนุสัญญา MLAT ทุกฉบับได้กำหนดกลักการพื้นฐานที่ประเทศสมาชิกอาจปฎิเสธที่จะ
ให้ความช่วยเหลือตามคำร้องได้ในกรณีที่คำร้องขอเกี่ยวกับ การกระทำความผิดทางการเมือง, การทหารที่ไม่เกี่ยวข้องกับความผิดอาญาพื้นฐาน หรือการปฏิบัติตามคำร้องขอนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญของประเทศผู้รับคำร้อง หรือขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศผู้รับคำร้อง เช่น ความมั่นคงของประเทศหรือนโยบายสาธารณะพื้นฐานของประเทศ
          (3) การจำกัดการใช้งานด้านข้อมูล
          อนุสัญญา MLAT ทุกฉบับได้จำกัดการใช้ข้อมูลหรือพยานหลักฐานตามที่ได้รับคำร้อง
ขอจากประเทศภาคีเฉพาะในกรณีตามที่ได้ร้องขอเพียงเท่านั้น ห้ามมิให้ประเทศผู้ร้องขอนำข้อมูลหรือพยานหลักฐานที่ได้จากประเทศผู้รับคำร้องไปใช้ในกรณีอื่นๆ นอกเหนือและผิดวัตถุประสงค์จากที่ระบุไว้ในคำร้องขอ หลักการดังกล่าวถูกกำหนดไว้เช่นเดียวกับหลัก the rule of specialty ในเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดยเป็นการยืนยันกับประเทศผู้รับคำร้องว่าข้อมูลที่ให้ไปจะถูกนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ตามคำร้องเท่านั้น
          (4) ผู้ประสานงานกลาง
          การจัดตั้งผู้ประสานงานกลางหรือ Central Authority ของประเทศภาคีสมาชิกเป็นการ
กำหนดทิศทางการให้ความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศให้มีมาตรฐานเดียวกัน โดยผู้ประสานงานกลางจะเป็นผู้ดำเนินการรับผิดชอบคำร้องให้สัมฤทธิ์ผล ซึ่งผู้ประส่านงานกลางส่วนใหญ่จะกำหนดจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หรืออัยการสูงสุดของประเทศภาคี ในทางปฏิบัติผู้ประสานงานกลางไม่ควรปฏิบัติหน้าที่เป็นเพียงไปรษณีย์ในการส่งคำร้องไปยังหน่วยงานปฏิบัติของประเทศผู้รับคำร้อง แต่ผู้ประสานงานกลางควรดำเนินการในเชิงรุกเพื่อให้การให้ความช่วยเหลือเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ
          (5) การริบทรัพย์
          การให้ความช่วยเหลือทางอาญาที่ประสบความสำเร็จในทางปฏิบัติมักจะมีการกำหนด
ให้มีการช่วยเหลือในการริบทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำผิดที่ถูกเคลื่อนย้ายมายังประเทศผู้รับคำร้อง อนุสัญญา MLAT ส่วนใหญ่กำหนดให้มีการแบ่งส่วนทรัพย์สินที่ได้มาจากการริบทรัพย์ระหว่างประเทศภาคีสมาชิก
          โดยสรุป จากประสบการณ์ทางปฏิบัติของประเทศสหรัฐอเมริกา การให้ความช่วยเหลือทางอาญาโดยวิธรการใช้อนุสัญญา MLAT กับประเทศภาคีส่งผลในทางปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการให้ความช่วยเหลือโดยวิธีการอื่นๆ
           


----------------------------------------------------------------------


37นับแต่ได้มีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ก่อตั้งรัฐธรรมนูญฯ ได้ยกเลิกแนวความคิดในการริบทรัพย์สินซึ่งเคยนำมาใช้อย่างกว้างขวางในประเทศอังกฤษ ดังปรากฎใน Amendment IV บทท้ายรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งมีการตื่นตัวในเรื่องปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งขึ้นในรูปแบบขององค์กร สภาครองเกรสจึงผ่านร่างกฎหมาย RICO นี้เพื่อป้องกันและปราบปรามปัญหาอาชญากรรมดังกล่าว
38 Alexander R. Cain, Section 1963(A)(1) of RICO and Article 240 of the Italian Penal Code: Two Potential Wwapons against Russian Organized Crime, New England International & Comparative Law Annual.
39 Pino Arlacchi. Nation Build Alliances to Stop Organized Crime, <http://usinfo.state.gov/journals/itgic/0801/ijge/gj08.htm>
40 Alexander R. Cain, Section 1963(A)(1) of RICO and Article 240 of the Italian Penal Code: Two Potential Weapons against Russian Organized Crime, New England International & Comparative Law Annual.
41 กฎหมายฉบับนี้มีสาระสำคัญเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับคดียาเสพติด พ.ศ.2534
42 คำแปลจาก "The statutory modifications made by Congress allow federal prosecutors to develop in one proceeding the facts necessary to establish guilt and jestify forfeiture."
43 ศาลอุทธรณ์แห่งสหพันธรัฐที่ 10 (The Tenth Circuit) อธิบายว่ามาตรการริบทรัพย์ตามกฎหมาย RICO 1963(a)(1) นั้น
44 James R. Richards, Transnational Criminal Organization, Cybercrime, and Money Laundering: A Handbook for Law Enforcement Officers, Auditors, and Financial Investigator, (Florida: CRC Press LLC.,1999), p.194-195.
45 lbid., p.196-197
46 lbid., p.197-198
47 lbid.,p.198.
48 จากเอกสารที่ได้จากรองอัยการสูงสุดของประเทศออสเตรเลียที่เข้าร่วมประชุมกับสำนักงานต่างประเทศ
(SYD/WORK/WGROUPS/DIRECTOR/JJJ/POC&money laundering/POCAGeneralOutline.doc)
49 Arie Freiberg. Confiscating the Proceeds of White-Collar Crime, Australian Institute of Criminality.
<http://library.wjin.net/
50 What is Federal Forfeiture ? http://www.civiforfeiture.com/
51 Hans G Nilsson. Merits of Multilateral Treaties on Extradition and on Mutual legal Assistance in Criminal Matters: Theory and Practice (Visiting experts' papers) in Part Two resource Material Series No.57 , Work Product of the 114th Internationnal Seminar: "International Cooperation To Combat Transnational Organized Crime-With Special Emphasis On Mutual Legal Assistance And Extradition" UNAFEI
<http://www.unafei.or.jp/>
52 Judicial co-operation in m criminal matters as a question of "common interest" to the Member States of the European Union.
53 John E. Harris, International Cooperation in Fighting Transnational Organized Crime: Special Emphasis on Mutual legal Assistance and Extradition
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
    กระโดดไป: