'ปณิธาน'มองทะลุลีลาสิงคโปร์ 'เขาคงมั่นใจว่าทักษิณจะกลับมา'
22 มกราคม 2550 13:39 น.
ปกรณ์ พึ่งเนตร
-
"ท่าทีของสิงคโปร์ชัดเจนมาก เหมือนมั่นใจมากเลยว่าคุณทักษิณจะกลับมามีอำนาจอีก" เป็นความเห็นของ ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่วิเคราะห์บทบาทของรัฐบาลสิงคโปร์ จากกรณีเปิดบ้านให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้าไปโลดแล่นท้าทายความรู้สึกคนไทย ทั้งการได้จับเข่าคุยกับรองนายกรัฐมนตรีเมืองลอดช่อง และการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อถล่มรัฐบาล และ คมช.แบบไม่ยั้ง
อย่างไรก็ดี บทบาทของประเทศเพื่อนบ้านที่แสนดีอย่างสิงคโปร์ดังกล่าวนั้น เป็นเพียง 1 ใน 2 มิติที่ปณิธานให้น้ำหนักมากที่สุด
โดยเขาได้ขยายความในมิติ "แทงหวยการเมือง" ดังที่เกริ่นเอาไว้ตอนต้นว่า สิงคโปร์แสดงท่าทีแปลกๆ ตั้งแต่เมืองไทยเกิดการรัฐประหารใหม่ๆ แล้ว
โดยเฉพาะการแสดงจุดยืนของเอกอัครราชทูตประจำสหประชาชาติของสิงคโปร์ และอดีตผู้นำที่ยังเรืองอำนาจอย่าง ลีกวนยู ที่ความเห็นของทั้งสองค่อนข้างเป็นลบกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนอกวิถีทางประชาธิปไตยของไทย จากนั้น รัฐมนตรีต่างประเทศของสิงคโปร์ยังกล่าวในที่ประชุมอาเซียนซัมมิท ทำนองว่า ไม่สนับสนุนการปกครองแบบเผด็จการทหารในภูมิภาคนี้ ซึ่งแม้นัยยะสำคัญจะส่งไปถึงรัฐบาลทหารพม่า แต่ก็มองข้ามไม่ได้เช่นกันว่า อาจจะกระทบชิ่งถึง คมช. และรัฐบาลที่มีหน่อเนื้อจากการรัฐประหารของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ด้วย
"ท่าทีของสิงคโปร์นับว่าน่าสนใจ เพราะอย่าลืมว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่เข้าใจระบบการเมืองไทยสูงมาก และมักจะรู้ล่วงหน้าก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงเสมอ เพราะเขาศึกษาเราอย่างจริงจัง เนื่องจากมีการค้าการลงทุนในประเทศไทยจำนวนมหาศาล ขณะที่ชาวสิงคโปร์เองก็เข้ามาเที่ยวเมืองไทยไม่น้อยในแต่ละปี"
ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ ปณิธาน มองว่า สิงคโปร์คงไม่เล่นบทนี้โดยไม่คิดหน้าคิดหลัง หรือเชื่อมั่นในตัว พ.ต.ท.ทักษิณ มากเสียจนไม่สนใจถึงผลกระทบที่จะตามมาจากความสัมพันธ์อันแนบแน่นและยาวนานกับไทย
"นั่นย่อมแสดงว่าเขาประเมินแล้วว่า สถานการณ์การเมืองในระยะสั้น 1-3 เดือนนี้ ยังมีความผกผันสูง อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีกครั้ง และ คมช.จะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ หรือไม่ก็หากมีการเลือกตั้งภายในปีนี้ คุณทักษิณก็ยังมีโอกาสสูงที่จะกลับมา เขาจึงกล้าทำ ทั้งๆ ที่รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยก็ยืนยันว่า ได้เตือนสิงคโปร์ล่วงหน้าแล้ว" กระนั้นก็ตาม ยังมีอีกมิติหนึ่งที่ปณิธานให้น้ำหนักไม่น้อยกว่ามิติแรก นั่นก็คือการลงทุนทางธุรกิจอันสลับซับซ้อนในประเทศไทย
"กรณีเทมาเส็กซื้อหุ้นชินคอร์ปนั้น เป็นแค่กรณีเดียวที่เสมือนยอดภูเขาน้ำแข็งที่เรามองเห็น แต่ยังมีการลงทุนอันสลับซับซ้อนอีกมากมายที่เราไม่รู้ และอาจทำให้สิงคโปร์ไม่มีทางเลือก จนต้องตัดสินใจกดดันรัฐบาลไทย"
ปณิธาน บอกต่อว่า หากพิจารณาเหตุผลแวดล้อมอื่นๆ ก็พอจะอธิบายท่าทีของสิงคโปร์ในประเด็นพิพาทครั้งนี้ได้เช่นกัน โดยเฉพาะสถานะ "นายหน้า" เชื่อมโยงการค้าการลงทุนระหว่างโลกตะวันตกกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน จึงทำให้สิงคโปร์มีความต้องการอย่างออกนอกหน้าที่อยากเห็นสภาวะการเมืองในภูมิภาคนี้สงบราบคาบและมีเสถียรภาพ เพื่อผลประโยชน์ในแง่เศรษฐกิจของตนเอง
"ฉะนั้นเมื่อเกิดอะไรที่ผิดปกติขึ้น เขาจะกังวลมาก ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติรัฐประหาร ความเคลื่อนไหวของขบวนการก่อการร้าย หรือแม้แต่ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เพราะเขาเป็นประเทศเล็กๆ ที่ไม่มีทรัพยากรอะไรเลย เขาอยู่ได้จากการค้าขาย และการเมืองที่มีเสถียรภาพเท่านั้น จึงจะเอื้อกับการค้าการลงทุน" ปณิธาน ระบุ พร้อมสรุปว่า นั่นอาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สิงคโปร์ไม่ใคร่จะยอมรับรัฐบาลชุดปัจจุบันของไทย ซึ่งตรงกันข้ามกับรัฐบาลชุดที่แล้วอย่างสิ้นเชิง
ส่วนมาตรการตอบโต้ทางการทูตที่ไทยดำเนินการกับสิงคโปร์ไปแล้วนั้น แม้ปณิธานจะเชื่อว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ก็เห็นว่ายังไม่ตรงประเด็นและไม่ชัดเจนเท่าที่ควร กระทั่งสิงคโปร์ยังไม่สามารถรับสัญญาณที่ส่งจากรัฐบาลไทยได้
"ในระยะสั้นต้องเพิ่มมาตรการทางการทูตไปอีกขั้นหนึ่ง โดยเฉพาะการหยิบประเด็นด้านการทหารขึ้นมาพิจารณา เพราะสิงคโปร์ต้องพึ่งพาไทยมาก ทั้งเรื่องพื้นที่ฝึก สถานที่เก็บอาวุธ และการใช้ไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ถ่วงดุลกับประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศที่ไม่เป็นมิตรกับสิงคโปร์ ซึ่งน่าเชื่อว่าหากยกเรื่องนี้ขึ้นมา จะทำให้สิงคโปร์หยุดคิดและปรับท่าทีได้"
ปณิธาน ยังเสนอว่า ในบริบทของรัฐบาลและ คมช.เอง ก็ต้องปรับตัวเช่นกัน โดยจะต้องเร่งจัดการกับระบอบทักษิณ และเอาคนผิดมาลงโทษให้ได้ โดยเฉพาะในข้อหาทุจริตคอร์รัปชัน จากนั้นก็ส่งสัญญาณไปทั่วโลก เพื่อให้รับทราบว่าใครก็ตามที่ยังให้การสนับสนุนอดีตรัฐบาลอยู่ ก็เท่ากับสนับสนุนระบอบที่ไม่ถูกต้อง "คุณทักษิณ มักย้ำอยู่เสมอว่าเขามาจากการเลือกตั้ง และมีนโยบายการค้าแบบเสรี ฉะนั้นรัฐบาลต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าคุณทักษิณกระทำผิดจริง โดยใช้กระบวนการตรวจสอบที่โปร่งใส ยุติธรรม และทั่วโลกยอมรับ พร้อมทั้งทำความเข้าใจในนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงว่าคือทุนนิยมแบบผสม ไม่ใช่การปิดประเทศเหมือนเวเนซูเอลา เพื่อแก้ข้อกล่าวหาของคุณทักษิณ"อย่างไรก็ดี เขาย้ำว่า มาตรการของไทยจะแกว่งไปแกว่งมาไม่ได้ เพราะสิงคโปร์ไม่ใช่ประเทศเพื่อนบ้านธรรมดา แต่มีฐานะเป็นพันธมิตรที่ดีของไทยมาตลอด จึงไม่ต่างอะไรกับคนในครอบครัวเดียวกัน ซึ่งแม้จะทะเลาะเบาะแว้งกันบ้าง แต่สุดท้ายก็ต้องหันมาคืนดีกัน
"ผมจึงอยากให้คิดเรื่องนี้ยาวๆ เพราะอย่างไรเสียทั้งสองประเทศก็ยังต้องอยู่ร่วมกันต่อไป การพยายามปลุกกระแสเรื่องชาตินิยมโดยใช้สิงคโปร์เป็นเหยื่อนั้น ทำได้ง่ายและสบประโยชน์ในระยะสั้นก็จริง แต่มันอันตราย และจะส่งผลเสียหายมากกว่าในระยะยาว" ปณิธาน กล่าวในที่สุด
http://www.bangkokbiznews.com/viewNews.jsp?newsid=149596