ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
24-04-2024, 10:20
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  ชายคาพักใจ  |  วงการเพลงไทย '49 เมเจอร์ฟุบ อินดี้เฟื่อง 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
วงการเพลงไทย '49 เมเจอร์ฟุบ อินดี้เฟื่อง  (อ่าน 2037 ครั้ง)
Kittinunn
Aloha007
Global Moderator
ขาประจำขั้นที่ 3
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 3,127


ไปได้สวย...ด้วยเกียร์ต่ำ!!!


เว็บไซต์
« เมื่อ: 29-12-2006, 14:05 »

ไม่ว่าสถานการณ์จะดีหรือเลวเพียงใด วงการเพลงไทยได้ฝ่าฟันอุปสรรคมาตลอดทั้งปี 2549 ในยุคสมัยที่เทปคาสเซ็ทสูญพันธุ์ และแผ่นซีดีอาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้ายอีกต่อไปแล้ว เพราะอนาคตเบื้องหน้า กำลังมีหลายสิ่งหลายอย่างรอคอยอยู่ อนันต์ ลือประดิษฐ์ รายงาน

ปีพุทธศักราช 2549 กำลังผ่านไป

หากมีใครสักคนตั้งคำถามขึ้นมาว่า ปีนี้ วงการเพลงไทยเป็นอย่างไร

คำตอบหลักๆ อาจจะไม่แตกต่างไปจากปีก่อนหน้านั้นเท่าใดนัก


เช่น ยอดขายเทปและซีดียังไม่ดีขึ้นกว่าเดิม เทปผีซีดีเถื่อนยังแพร่ระบาดโดยทั่วหน้า ไหนจะเจอกับปัญหาเอ็มพี 3 การเบิร์นแผ่น และดาวน์โหลดอีกต่างหาก เรียกได้ว่าวงการเพลงบ้านเราแทบจะต่ำเตี้ยติดดิน มองไม่เห็นอนาคตกันเลยทีเดียว

ดังที่ ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา นักการตลาด เซเลบฯ และ ดีเจคลื่นเพลง ในเครือ คลิก เรดิโอ ตั้งข้อสังเกตว่า

"ปีนี้ ที่เห็นได้ชัด คือการที่หน่วยงานต่างๆ ออกมารณรงค์ให้ประชาชนช่วยซื้อเทปซีดีของแท้ และเลิกอุดหนุนเทปผีซีดีเถื่อน แต่ดูเหมือนรณรงค์เท่าไร ก็ไม่ได้ผล ปราบเท่าไร ก็ไม่หมด เพราะเอาเข้าจริงๆ เรื่องนี้คงห้ามไม่ได้ ดีไม่ดี ตัวคนรณรงค์นั่นแหละ อาจจะเป็นคนทำด้วยซ้ำ !"

แนวคิดดังกล่าวของ ดีเจช้างน้อย สอดรับกับมุมมองของนักเปียโนรุ่นใหม่อย่าง หนึ่ง จักรวาร เสาธงยุติธรรม ซึ่งตอนนี้ ได้ชื่อว่าเป็นมืออะเรนเจอร์ที่มีงานชุกชุมที่สุดคนหนึ่งของวงการ

"ตอนนี้สำหรับนักดนตรีแล้ว เราคงทำงานออกมาแล้วหวังรายได้จากซีดีล้วนๆ เหมือนเมื่อก่อนไม่ได้ ซีดีเป็นแค่ผลผลิตหนึ่ง ถึงอย่างไรนักดนตรีต้องออกมาเล่นสด และถ้าคุณยิ่งเล่นได้ทุกแนว คุณจะอยู่รอดได้ในสถานการณ์แบบนี้..."


ฤาหมดยุคซูเปอร์สตาร์

หากนำตัวเลขทางบัญชีของบริษัทค่ายเพลงยักษ์อย่าง จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ที่เสนอต่อตลาดทรัพย์แห่งประเทศไทยมาพิจารณา เราพบว่าตลอดทั้ง 3 ไตรมาสในปีนี้ แม้ผลประกอบการจะดีขึ้น แต่รายได้ส่วนใหญ่มาจากการฟื้นตัวของธุรกิจสื่อ มากกว่ารายได้จากการขายซีดีที่มีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งที่มีความพยายามในการออกอัลบั้มเป็นจำนวนไม่น้อยก็ตาม

ไม่ว่าจะเป็นผลงานของศิลปินระดับแนวหน้าของค่าย เช่น ธงไชย แมคอินไตย์ (ออกหลายชุดในปีเดียวกัน), เสก โลโซ, อัสนี-วสันต์, มาช่า และ บิ๊ก แอสส์ เป็นต้น หรือในส่วนอัลบั้มของศิลปินหน้าใหม่ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า อัลบั้มหลายชุดไม่ประสบความสำเร็จในเชิงยอดขายเท่าที่ควร

พรเทพ เฮง นักวิจารณ์ดนตรี เจ้าของนามปากกา 'พอลเฮง' ตั้งข้อสังเกตอีกมุมมองหนึ่งว่า สาเหตุที่ทำให้วงการเพลงบ้านเราดูทรงๆ ในปีนี้ น่าจะเกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเมืองเป็นสำคัญ โดยเป็นมาก่อนหน้าการรัฐประหารนับปีแล้ว นั่นคือกระแสการต่อต้านผู้นำรัฐบาลชุดก่อน ซึ่งเป็นชนวนหนึ่งที่ทำให้การเมืองไทยไม่มีเสถียรภาพ

"สถานการณ์เช่นนี้ ไม่แตกต่างจากสถานการณ์ในปี พ.ศ.2534 ที่ รสช. ยึดอำนาจ เราจะเห็นว่าในยุคนั้น วงการเพลงพากันซึมเซาเช่นกัน ค่ายเพลงอย่างนิธิทัศน์ยังต้องเอาเพลงเก่าๆ มาให้ แซม ยุรนันท์ ภมรมนตรี ร้อง ถือเป็นวงวัฏจักรที่คล้ายกันกับในเวลานี้"

"ตัวอย่างของสถานการณ์ ซูเปอร์สตาร์ อย่าง เบิร์ด ธงไชย เห็นได้ชัด เพราะเมื่อทำอัลบั้มออกมาขายแล้ว แป้ก ! ทำให้ทีมงานต้องรีบงัด 'แผนบี' ขึ้นมาแทนที่ ด้วยการเอาเพลงลูกทุ่งเอาเพลงเก่ามาให้เบิร์ดร้องใหม่ เพื่อเอาใจแม่ยก ในเมื่อดัชนีวัดความสำเร็จของบุคคลระดับซูเปอร์สตาร์ยังอยู่ในระนาบนี้ ย่อมสะท้อนว่าภาพรวมของวงการเพลงไทยสากล มีแต่ทรงกับทรุดเท่านั้น"

อย่างไรก็ดี ในทัศนะของ เจษฎา พัฒนถาบุตร ประธานบริษัท แจ็ค ซาวด์ ซิสเต็ม จำกัด ผู้คลุกคลีอยู่ในอุตสาหกรรมบันเทิงมายาวนาน แม้โดยภาพหลักจะเห็นไม่แตกต่างจาก พรเทพ นัก แต่ก็ไม่ถึงกลับมองโลกในแง่ร้ายจนเกินไป

"วงการเพลงเวลานี้ มีการเปลี่ยนแปลงเกือบทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งแนวคิดในการบริหารจัดการ ช่องทางการนำเสนอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราจะพบเห็นว่าศิลปินใหม่ที่มีความสามารถจะไม่พึ่งพาค่ายเพลงหลักเหมือนที่ผ่านมา ศิลปินเหล่านี้พยายามหาทางออกใหม่ๆ ให้แก่ตัวเอง"

เมื่อศิลปินเพลงมีแนวโน้มจะพึ่งพาค่ายเพลงน้อยลง ก็เช่นเดียวกันกับการที่ค่ายเพลงต้องมองหาช่องทางอื่นๆ ในการแสวงหารายได้เพิ่มขึ้น ยอดจำหน่ายซีดีจึงไม่ใช่คำตอบสุดท้ายอีกต่อไป


ไปไกลกว่าซีดี

แนวโน้มที่กำหนดทิศทางความเป็นไปในอนาคตของวงการเพลง มาจากการแสวงหารายได้อื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน ทั้ง อี-บิสเนส, การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์, โชว์บิซ และ รายได้จากการบริหารศิลปิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โชว์บิซ หรือธุรกิจการจัดการแสดงบันเทิง เช่น พวกคอนเสิร์ตทั้งหลาย ซึ่งกำลังจะกลายเป็นกุญแจสำคัญในการหารายได้ของค่ายเพลงในอนาคต

ตัวอย่างที่ชัดเจนในปี 2549 คือคอนเสิร์ตอัสนี-วสันต์ ซึ่งส่งผลให้แกรมมี่ ดันคอนเสิร์ตของศิลปินรายอื่นๆ ตามมา ทั้ง มาช่า วัฒนพานิช และ ใหม่ เจริญปุระ

เหนืออื่นใด โชว์บิซ ไม่ได้ผูกขาดหรือจำกัดเฉพาะค่ายเพลงขนาดใหญ่เท่านั้น หากค่ายเพลงระดับรองๆ ลงมา ก็มีส่วนในการแสดงบทบาทหลักบ่อยครั้ง ดังที่รับรู้กันว่าค่ายเพลงอินดี้มีกิจกรรมในลักษณะนี้ กับลูกค้าที่มีความต้องการใช้ผลงานดนตรีกรรม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมการตลาดขององค์กรนั้นๆ ดังกรณีของ สมอลล์ รูม, เลิฟ อิส หรือ ลักซ์ มิวสิค เป็นต้น

กรณีขององค์กรภาคเอกชนด้านการธนาคารแห่งหนึ่ง ควักเงิน 18 ล้านบาทสำหรับกิจกรรมการแสดงดนตรีที่เขาใหญ่เมื่อเร็วๆ นี้ พอจะบ่งบอกถึงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้กระมัง

หากคิดจากสมการเช่นนี้ นั่นหมายความว่า แม้ยอดขายซีดีจะตกลง แต่ค่ายเพลงโดยทั่วไป ไม่อาจละทิ้งการผลิตอัลบั้มป้อนออกสู่ท้องตลาดได้ เพราะด้านหนึ่งต้นทุนของเทคโนโลยีมีราคาต่ำลง ขณะที่เทคโนโลยีสามารถให้คุณภาพของงานสูงขึ้น การผลิตอัลบั้มจึงเป็นไปอย่างสะดวกกว่ายุคก่อน

ในเวลาเดียวกัน การออกอัลบั้ม ซึ่งถือเป็นการผลิตสินค้าชิ้นหนึ่ง จำเป็นจะต้องมองการณ์ไกล มากกว่าแค่ยอดขายซีดีอย่างที่เคยเป็นมา สิ่งที่ผู้บริหารค่ายเพลงจะต้องนึกถึงนับจากนี้ไป คือศิลปินที่ออกอัลบั้มแต่ละรายนั้น มีศักยภาพเพียงพอในการแสดงสดมากน้อยแค่ไหน หรือในกิจกรรมส่งเสริมการขายอื่นๆ สามารถเอาศิลปินไปพ่วงกับโปรโมชั่นอื่นใดได้บ้างหรือไม่

ในกรณีนี้ อัลบั้มเพลงจึงไม่ได้มีหน้าที่เป็นตัวสินค้าโดยตรงเท่านั้น แต่ในอีกด้านหนึ่งยังทำหน้าที่เป็นสื่ออ้างอิง (reference) ถึงบุคลิกภาพที่เตรียมไว้สำหรับโชว์ หรือกิจกรรมทางการตลาดต่างๆ การออกอัลบั้มในระยะหลัง จึงมิได้มุ่งหวังยอดขายเท่านั้น แต่มุ่งขายไอเดีย ขายการโชว์ตัวความเป็นคนมีชื่อเสียง (celebrity) ขายสิ่งที่จะเกี่ยวพันไปกับสินค้าอื่นๆ เช่น กั้งซะโนวา กับ ทรู เป็นต้น

"ต้องยอมรับว่ารายได้ของศิลปินเพลงไม่ได้มาจากระบบทั้งหมดอีกต่อไปแล้วในวันนี้ นักดนตรีที่หวังรายได้จากยอดขายเทปซีดี คงไม่พอ หากต้องมองหารายได้ทางอื่นด้วย นอกจากพวกดาวน์โหลดแล้ว ยังมีการออกแสดงสด" แจ็ค เจษฎา ตั้งข้อสังเกต และเสริมว่า

"ผมเชื่อว่าโชว์บิซน่าจะมาแรงในปีหน้า แต่ร้านค้าคงรับราคาโชว์สูงๆ ไม่ได้ ดังนั้น ตรงนี้น่าจะมีการปรับไปสู่จุดสมดุล เช่น โชว์ของศิลปินครั้งละ 6-8 หมื่นบาท ถือว่าไม่แพง แต่ไม่แมทช์ เพราะสเกลของร้านค้าที่มีผู้ชม 2-3 ร้อยคน คงสู้ไม่ไหว ดังนั้น ตัวศิลปิน หรือคนบริหารจัดการศิลปิน ต้องปรับตัว อาจจะลดรายละเอียดของโชว์ลง"

สอดรับกับมุมมองของ จักรวาร มือเปียโนที่สารภาพความจริงให้ฟังว่า แค่มีงานมิวสิคไดเร็คเตอร์ เดือนละ 2 งาน ก็พออยู่ได้แล้ว

"แนวคิดในการทำคอนเสิร์ตตอนนี้เริ่มเปลี่ยนไป โดยเฉพาะค่ายเพลงใหญ่ จากเดิมเคยเน้นว่า จะต้องเล่นเหมือนแผ่นทุกประการ ตอนนี้เราเน้นว่าจะไม่เล่นเหมือนแผ่นนะ ต้องมีการอะเรนจ์ให้แตกต่าง แต่เดิมคอรัสต้องเหมือนเป๊ะ ซึ่งมันไม่ได้ นักร้องบางคนทั้งอัลบั้มมีแต่เพลงช้า เวลามาเล่นสด คงทำอย่างนั้นไม่ได้ ซึ่งเท่ากับว่าตอนนี้ หากจะมีคอนเสิร์ต หากจะมีการเล่นสด นักร้องต้องปรับตัวด้วย จะท่องจำเหมือนแผ่นคงไม่ได้แล้ว" โปรดิวเซอร์คนเดียวกันกล่าว

ขณะที่ พรเทพ เสริมด้วยข้อเท็จจริงว่า

"หรือแม้แต่อาร์เอสในวันนี้ ก็ไม่เน้นการออกอัลบั้มเต็มอีกแล้ว ขายแค่อีพี 5 เพลงเท่านั้น หรือเพลงไหนฮิต ก็เน้นขาย ริงโทน ไปเลย และอย่างที่ทราบข่าวกันว่า ตอนนี้อาร์เอสขายโรงงานปั๊มซีดีไปแล้ว"

ส่วน ช้างน้อย มองว่า ตอนนี้มีคนทำเพลงจำนวนไม่น้อยที่มีผลงานเผยแพร่ในสื่อ เป็นที่รู้จักกันดีเป็นเวลานานนับปี ก่อนที่พวกเขาจะผลิตผลงานบันทึกเสียงออกมา ดังนั้น ซีดีจึงไม่ใช่ทางออก หรือเป้าหมายปลายทางของศิลปินอีกต่อไป ในทางตรงกันข้าม กลับจำเป็นอย่างยิ่งที่คนในวงการเพลงจะนำปัจจัยที่ฉุดรั้งมาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับผู้ชมผู้ฟังหรือกลุ่ม audience เสียใหม่

เช่น แทนที่จะปล่อยให้มีการดาวน์โหลดอย่างผิดกฎหมาย ก็หันมาสนับสนุนส่งเสริมอย่างเป็นเรื่องเป็นราวไปเลย เพื่อให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

"ตัวอย่างในต่างประเทศบอกเราว่า การดาวน์โหลดสามารถเพิ่มลูกเล่นกราฟฟิกต่างๆ ลงไปได้ ค่ายเพลงหรือศิลปินน่าจะเอาตรงนี้มาพัฒนาเป็นจุดขายใหม่ หรือกรณีของการปรับเปลี่ยนให้เป็น ipod friendly ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้แก่คนที่ใช้อุปกรณ์พกพาเหล่านี้ เป็นต้น"

ช้างน้อย ยังเพิ่มเติมมุมมองว่า บทบาทของโทรศัพท์เคลื่อนที่ ได้กลายมาเป็นหัวข้อหนึ่งของบทเพลงในวันนี้ นับจากเพลง มิส คอลล์ ของ ซินญอริตา เป็นต้นมา มีเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับโทรศัพท์เป็นจำนวนมาก ซึ่งสะท้อนถึงแนวทางของการทำธุรกิจเพลงว่าอิงอยู่กับรายได้จากการขายดาวน์โหลดริงโทนเช่นเดียวกัน

ว่าด้วยค่ายใหญ่-อินดี้

ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ แม้ยอดขายซีดีลดลง แต่ปริมาณการเสพฟังเพลงไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด แต่นอกจากการเพิ่มของฐานคนฟังโดยทั่วไปแล้ว การเพิ่มจำนวนขึ้นของนักร้องนักดนตรีรุ่นใหม่ที่พากันทยอยออกมาสร้างสีสันให้แก่วงการเพลงในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงต่อเนื่องจาก 2-3 ปีก่อนหน้านั้น ยังมีส่วนทำให้วงการเพลงที่ดูอับเฉา กลับไม่ซึมเซาเสียทีเดียวนัก

ศิลปินรุ่นใหม่ที่มีความสามารถเหล่านี้ เข้ามาอาศัยเวทีค่ายเพลงใหญ่น้อยในการแสดงฝีมือและความสามารถทางดนตรี จนอาจจะกล่าวได้ว่า แม้จะมีไม่มีใครที่ทรงอิทธิพลในวงการเพลงเหมือนเมื่อทศวรรษก่อน (ดังกรณีของ เบิร์ด ธงไชย) แต่การขาดผู้ทรงอิทธิพลก็เปิดโอกาสให้สังคมได้เลือกเสพเลือกฟังนักร้องนักดนตรีอย่างหลากหลายมากขึ้น และด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารที่มิได้มีเพียงทีวีและวิทยุเหมือนที่ผ่านมา จึงทำให้ธรรมชาติของตลาดคนฟังเพลงไทยสากลในทุกวันนี้ แบ่งออกเป็นกลุ่มต่างๆ มากมาย (segmented) ตามแนวและสไตล์ดนตรีที่แต่ละกลุ่มชื่นชอบ

โอกาสที่เราจะเห็นศิลปินรายหนึ่งเดินเข้าห้องอัด จากนั้นออกอัลบั้มสักชุดแล้วมียอดขายหลายๆ แสนก๊อบปี้จนถึงล้านก๊อบปี้เหมือนในอดีต คงเป็นไปได้น้อยเต็มที ศิลปินที่พอจะมีศักยภาพในวันนี้ อาจจะมียอดขายในระดับหลัก 5 หมื่น - แสนชุดเท่านั้น แต่เขาและเธอเหล่านั้นจะมีกิจกรรมอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย

"โชคดีที่วงการเพลงไม่ได้อิงอยู่กับซาวด์หลักเดิมๆ ทำให้ทางเลือกในการฟังอื่นๆ กลายเป็นทางออก เช่น เรามีนักจัดรายการเพลงคลื่นแฟท เป็นต้น" เจษฎา ตั้งข้อสังเกตอีกครั้ง พร้อมกับเสริมว่า

"และหากสังเกตสักหน่อยเวลาไปเดินตามแผงเทปวันนี้ จะพบว่า ผู้จัดจำหน่ายรายย่อยเกิดขึ้นมากมาย นอกจาก 'เอ็มจีเอ' แล้ว ยังมี 'เฮีย' ยังมีผู้จัดจำหน่ายโนเนมอีกเต็มไปหมด ซึ่งบางครั้งเห็นเทปซีดีเหล่านี้แล้วไม่รู้ว่าใครจัดจำหน่าย นั่นแสดงว่าเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบ"

สอดรับกับความเห็นของ ช้างน้อย ที่มีโอกาสใกล้ชิดการจัดงาน 'แฟท เฟสติวัล' ซึ่งเขาเปรียบเทียบว่าเหมือน 'มอเตอร์โชว์' ของวงการเพลง

"เรื่องการเมือง ผมไม่อยากให้ไปซีเรียสมากนัก แต่ที่เห็นชัดๆ คือกรณีของ แฟท เฟสต์ ซึ่งคนทำเพลงจริงๆ เขาจะรอจังหวะโอกาสตรงนี้ เพื่อนำเสนอผลงาน โดยเฉพาะหลังงาน แฟท เฟตส์ หลังจากที่เขามีโอกาสได้ทดสอบตลาดแล้ว จากนั้นจะรู้ว่าควรจะก้าวต่อไปอย่างไร"

เมื่อถามถึงวงการเพลงไทยในอนาคต พอลเฮง นักวิจารณ์ฝีปากกล้า ฟันธงตั้งแต่แรกได้ยินคำถามว่า

"ปีหน้าจะมีปรากฏการณ์เพลงอินดี้ฮิตระเบิด เพราะจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เมื่อตลาดเพลงถึงทางตันเอามากๆ จะมีเพลงที่เป็นตัวแทนของยุคสมัยเกิดขึ้น เหมือนที่ โมเดิร์นด็อก เคยสร้างมาแล้วเมื่อ 10 ปีก่อน"

"เป็นที่สังเกตว่า ปี 2549 วงการเพลงไม่มีเพลงที่จัดเป็น 'บิ๊ก ฮิต' เลย นอกจากในระดับล่างลงไป เพลงอย่าง สาวกระโปรงเหี่ยน หรือเพลงของ บี้ ไอ นีด ซัมบอดี แล้ว ก็ไม่มีเพลงที่ไปไหนมาไหนคนร้องกันได้อย่างกว้างขวาง"

ในมุมมองของ พรเทพ วงการเพลงไทยปีหน้า คงไม่ต่างจากปี 2549 ทิศทางไม่น่าจะดีกว่าด้วยซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสถานการณ์การเมืองยังไม่คลี่คลายไปในทางที่ดีกว่านี้

"เอาเข้าจริงๆ เรื่องนี้ต้องพิจารณาพร้อมไปกับเศรษฐกิจมหภาค ล่าสุด คือกรณีของตลาดหุ้น ซึ่งต้องถือว่านักลงทุนในธุรกิจบันเทิงก็มีอารมณ์อ่อนไหวไม่แพ้กัน ดังนั้น ทุกคนจึงเลือกจะ เพลย์ เซฟ มากกว่า ในช่วงที่การเมืองไม่นิ่ง ไม่ชัดเจน นโยบายเรื่องสื่อของรัฐยังไม่คืบหน้าไปถึงไหน อย่าลืมนะครับว่าบริษัทเพลงยักษ์ใหญ่ตั้งหลักจากสื่อด้วยกันทั้งนั้น พวกเขาใช้สื่อเพื่อการโปรโมท"

อย่างไรก็ตาม พรเทพเชื่อว่าตลาดเพลงอินดี้ยังมีสีสันต่อไป และจะเป็นทางออกของคนฟังเพลง แม้โดยตัวอินดี้จะเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (niche market) แต่คนฟังจำพวกนี้ มีทั้งความตั้งใจซื้อ (will to purchase) และกำลังซื้อ (purchasing power) ซึ่งจะค่อยๆ เติบโตขึ้นมา โดยเฉพาะกับค่ายอินดี้ที่แฟนเพลงสามารถฝากความไว้เนื้อเชื่อใจได้ อย่าง สมอลล์รูม ยอดขายอาจจะไม่ถึงหลักแสน แต่ด้วยยอดขายหลักหมื่นก็ทำให้พออยู่ได้เช่นกัน

"กระนั้น ผมเชื่อว่าอินดี้ที่มีอยู่ แต่คงไม่มีโอกาสเติบโตขึ้นไปในระดับที่เคยเกิดขึ้นกับ เบเกอรี มาแล้ว" พรเทพ ตั้งข้อสังเกต

วันนี้ วงการเพลงไทยอาจเริ่มมองเห็นแสงสว่างรำไร แต่มีอุปสรรคอีกหลายประการยังรออยู่เบื้องหน้า โดยเฉพาะในธุรกิจโชว์บิซ ซึ่งยังมีข้อจำกัดในตัวเอง ทั้งศักยภาพของศิลปิน ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานสำหรับการแสดง พื้นที่และเวทีในการแสดงที่มีจำกัด ไปจนถึงการตั้งราคาการแสดงที่การอิงอยู่กับ 'อีเวนท์ มาร์เก็ตติ้ง' ทำให้ต้นทุนของการแสดงสูงเกินจริง และบ่อยครั้งเป็นการตอบสนองความต้องการของลูกค้ามากกว่าคนฟัง

นั่นดูเหมือนว่า เมื่อผละจากดาบสองคมของเทคโนโลยี ซึ่งทำให้ยอดขายซีดีตกต่ำลง วงการเพลงกำลังถูกผลักอย่างสุดขั้วไปอีกด้านหนึ่ง เป็นเรื่องของการนำดนตรีไปรับใช้การตลาด และนั่นจะกลายเป็นภาวะฟองสบู่ในอนาคตหรือไม่ ถือเป็นเรื่องน่าติดตามไม่แพ้กัน.

...

ขอบอกอย่างหนึ่ง โปรดระวังเพลงอินดี้ของปลอมและของจงใจเลียนแบบจากค่ายใหญ่  

แกรมมี่ก็ส่งลูกชายคุมสนามหลวงการดนตรี ส่วนอาร์เอสก็มีอาร์ทิสตรี้ เฮ้อ...
บันทึกการเข้า

“ผมเขียนไปในบล็อกนั้น แบบข้างบนนี้เหมือนกัน นึกว่า จะโพสต์ ปรากฏว่า เขาบอกว่า ต้อง สมัครสมาชิกก่อน ผมขี้เกียจ เลยมาโพสต์ที่นี่แทน อ้อ ตอนเขียน ผมใส่คำว่า ทุเรศ และ น่าสมเพช ไปด้วย” (อ.สมศักดิ์ เจียมธีระสกุล-เว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน - ข้อความในเสรีไทย โดย Snowflake)

Cherub Rock
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4,183


น้องๆ ช่วยไปบอกผู้หญิงคนนั้นที ว่าเลิกมองผมได้แล้ว


« ตอบ #1 เมื่อ: 29-12-2006, 14:49 »

 49 อัลบั้มยอดเยี่ยมประจำปี 2549

ส่ง ท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ด้วย 49 อัลบั้มของปีที่กำลังผ่านไปอย่างช้าๆ สอดรับกับความแช่มช้าของรัฐบาลขิงแก่ แต่ก็ดีกว่ารัฐบาลหน้าเหลี่ยมเป็นไหนๆ แม้หลายคนหลายกลุ่มอาจไม่ชอบใจบ้างก็ตาม ทำไงได้เกิดเป็นคนไทยจำเป็นต้องทำใจว่า ‘ทีใครทีมัน’ ก็แล้วกัน

หลาย คนอาจสงสัยว่าผมขาดหายไปไหน ไม่เห็นส่งต้นฉบับมาให้อ่านบ้างเลย จริงๆ แล้วได้หายไปไหนแต่ยังคงเวียนว่ายวกวนอยู่แถวๆ นี้แหละ แค่หมดอารมณ์และหมดกำลังใจเขียนไปดื้อๆ ซะงั้น เนื่องจากช่วงต้นปีที่ผ่านมาจนถึงการรัฐประหารไล่คนหน้าเหลี่ยมให้พ้นไปจาก แผ่นดินไทยของ คมช. ผมแทบคิดอะไรไม่ได้ทำอะไรไม่ถูก เพราะสภาพของบ้านเมืองในช่วงนั้น ท้องฟ้าไม่สดใสในเรื่องของความรื่นเริงบันเทิงใจเอาเสียเลย จึงกลายเป็นข้ออ้างในการไม่ส่งต้นฉบับของผมไปด้วย หวังว่าผู้อ่านทุกคนคงเข้าใจความรู้สึกของผมนะครับ

กลับมาครั้ง นี้เลยได้ไปรวบรวมคัดเลือกคอลัมน์วิจารณ์และแนะนำอัลบั้ม จากนิตรสารต่างๆ ที่ผมเขียนอยู่เป็นประจำมาเป็นของขวัญให้กับทุกคนในวันปีใหม่นี้ เพื่อเป็นการไถ่โทษที่หายไปเสียนานเลยนำมาให้อ่านกันอย่างจุใจและหายคิดถึง ใครพลาดอัลบั้มไหนของทั้งปีที่ผ่านมาก็เลือกซื้อหากันตามสบาย แต่ยังไงก็ขอออกตัวไว้ก่อนว่า ทั้งหมดนี้เป็นการคัดเลือกโดยความชอบและรสนิยมส่วนตัวของผมคนเดียวเท่านั้น ใครที่ไม่เห็นด้วยหรือไม่ถูกใจก็ไม่ว่ากัน และทั้ง 49 อัลบั้มนี้ก็ไม่ได้เรียงลำดับตามความยอดเยี่ยม เพราะมันมีความดีงามและความไพเราะที่แตกต่างกัน แต่ยอดเยี่ยมเท่าๆ กัน.



http://www.onopen.com/2006/editor-spaces/1303


สนใจไดูต่อได้ตามลิงค์ครับ
ยาวมักๆ

การเมืองเริ่มเครียด ฟังเพลงดีฝ่า 
บันทึกการเข้า

"นายกรัฐมนตรีกำลังใช้รัฐสภาประกอบพิธีกรรมสถาปนาอำนาจของตนเองโดยเห็นรัฐสภาเป็นเพียงแค่ตรายาง และปล่อยให้มีการทำร้ายประชาชนถือว่าหมดความชอบธรรมแล้ว" รสนา โตสิตระกูล
นทร์
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 7,441



เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 29-12-2006, 23:04 »

เพลงไหนฮิต ก็เน้นขาย ริงโทน ไปเลย และอย่างที่ทราบข่าวกันว่า ตอนนี้อาร์เอสขายโรงงานปั๊มซีดีไปแล้ว"

สะท้อนภาพวงการเพลงบ้านเราได้ดี

..... แผ่น mp3 ที่พันทิปเริ่มจะขายไม่ค่อยออกแล้ว

..... ต่อไปคงมีกลุ่มผู้ขาย mp3 ที่พันทิบ ไปประท้วงรัฐบาลกันบ้าง 
บันทึกการเข้า

"ประชาชน อย่าทิ้งประเทศชาติ"
หน้า: [1]
    กระโดดไป: